“อย่ารีบตัดสินใคร จนกว่าจะได้ สวมรองเท้ามอคคาซินของเค้า” จดหมายจากครอบครัวของเด็กชายที่ถูกตี
“อย่ารีบตัดสินใคร จนกว่าจะได้ สวมรองเท้ามอคคาซินของเค้า” จดหมายจากครอบครัวของเด็กชายที่ถูกตี
- เมื่อเผยแพร่เรียงความของเด็กชายชั้น ป.6 เรื่อง ‘ความรักของแม่’ เล่าเรื่องที่ตัวเองถูกทำโทษด้วยการโดนตี มีความเห็นเข้ามาหลากหลาย
- กองบรรณาธิการ mappa จึงเผยแพร่จดหมายจากครอบครัวเพื่อบอกเล่าความรู้สึกและที่มาที่ไปของเรียงความฉบับนั้น
- ทางกองบรรณาธิการใช้โอกาสนี้ขออภัยต่อการเผยแพร่ ชื่อ-นามสกุล (ซึ่งได้ลบออกไปแล้ว) และขออภัยต่อความเห็นหลากหลายทั้งแง่บวกแง่ลบ ซึ่งไม่มากก็น้อยส่งผลกระทบต่อครอบครัว
เรียงความ ‘ความรักของแม่’
“ความรักของแม่” เป็นวลีที่ผมได้ยินบ่อยมากในช่วงวันแม่ ผู้ใหญ่มักบอกว่า แม่เป็นผู้มีพระคุณ เพราะท่านให้กำเนิดและเลี้ยงดูเรามาตั้งแต่เด็ก เราจึงต้องเชื่อฟังคำสั่งสอน และบอกอะไรก็ต้องทำ แต่ผมไม่เห็นด้วยเท่าไหร่ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นก็เปรียบเหมือนกับว่า ผมกับแม่เป็นหุ่นยนต์และผู้ให้คำสั่ง ซึ่งทั้งผมและแม่ไม่อยากเป็นแบบนั้น คงมีบางคนถามว่าแล้วผมอยากเป็นแบบไหน
“ความรักของแม่” ในความคิดผม คือสิ่งธรรมดาที่แม่ทำเพื่อดูแลผมอยู่ทุกวัน เช่น เตรียมอาหารที่มีประโยชน์ บอกให้ผมกินนม สอนการบ้านข้อที่ยากๆ ให้ผม ผมกับแม่ไม่ได้ดีต่อกันทุกวัน บางวันผมก็ดื้อกับแม่ และไม่ยอมทำหน้าที่ตามกิจวัตรประจำวัน และเถียงกับแม่ และแม่ก็ไม่ได้ใจดีกับผมทุกวัน บางครั้งแม่ก็ดุและตีผมแรงๆ ทั้งที่เคยบอกว่า แม่ไม่เชื่อในสุภาษิตที่ผมเรียนที่โรงเรียนอันหนึ่ง คือ “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” เพราะคนที่รักกันจะไม่ทำร้ายกัน
ทุกครั้งที่แม่ตีผม แม่จะบอกผมว่า แม่ไม่ได้ตีเพราะรัก แต่เพราะว่าแม่ไม่รู้จะจัดการอย่างไรเวลาผมดื้อมากๆ และหลังถูกตีผมก็ไม่อยากทำตัวดีขึ้น หรือผมอาจทำตัวแย่ลงด้วยซ้ำ
ผมชอบเวลาที่แม่ใจเย็น และใจดี ให้เวลาผมอยู่กับตัวเอง เวลาที่ผมทำตัวไม่ดีให้ผมได้บอกความรู้สึกของผม และก็ใจเย็นลง และคิดได้ว่าสิ่งไหนควรทำ สิ่งไหนไม่ควรทำ
และถึงแม้เราจะทำไม่ดีต่อกันในบางครั้ง ผมก็ไม่เคยคิดว่า แม่ไม่รักผม หรือผมไม่รักแม่ เพราะความรักแสดงออกได้หลายแบบ
สัตว์บางชนิดออกลูกมาก็ไม่ได้เลี้ยงลูก แต่มันก็ยังเป็นแม่ลูกกัน เช่น เต่าทะเลที่ออกไข่ไว้ริมหาดทราย และทิ้งให้ลูกมันออกมาจากไข่ เอาชีวิตรอดด้วยตัวเอง และว่ายลงทะเลไป มนุษย์อย่างผมถือว่าโชคดี เพราะถ้าถูกทิ้งไว้ให้เอาชีวิตรอดด้วยตัวเอง เหมือนพวกเต่าทะเล ผมคงไม่ได้โตมาถึงทุกวันนี้
สำหรับผม ไม่ว่าทั้งตอนไหนก็ตาม แม่ก็ยังรักผม ผมรู้สึกได้อย่างชัดเจน เหมือนที่แม่เคยบอกว่า ต่อให้ผมดื้อและทำผิดไปบ้าง แม่ก็ยังรักและจะสอนให้ผมเป็นคนดีต่อไป
วันที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๔
ด.ช.พุธ (นามสมมติ) ป.๖
จดหมายจากครอบครัว
หลังจากเผยแพร่เรียงความของน้องพุธไป ความคิดเห็นเข้ามาหลากหลายมากมายเข้ามาที่เพจ เว็บไซต์ และครอบครัว ด.ช.พุธ เอง
ครอบครัว ด.ช.พุธ จึงเขียนจดหมายแสดงความรู้สึกต่อความเห็นที่เข้ามาและบอกเล่าเบื้องหลังของเรียงความฉบับนี้
……………………………………………
จากที่เพจการศึกษาเด็กได้อ่านเรียงความลูกชายแล้วติดต่อมาเพื่อขอนำไปใช้ประกอบการเขียนบทความ
วันนั้น
ก่อนตัดสินใจอนุญาต
พ่อแม่ลูกนั่งคุยกันว่า
โอเคไหม
ที่จะให้พี่เขานำไปใช้
ลูกบอกว่า
“ได้ครับ
ถ้ามันจะดีกับคนอื่น
ให้เค้าได้เข้าใจความรู้สึกของเด็ก”
เราถามภรรยา
ด้วยความเป็นห่วงว่า
ในอีกแง่หนึ่ง
เรียงความนี้อาจทำให้มีคนเข้าใจ
แม่ไปในด้านลบ
เธอก็บอกว่า
ไม่เป็นไร
เพราะมันเป็นเรื่องในอดีต
ที่ผ่านมานานแล้ว
ปัจจุบันเอง
บ้านเราก็ใช้วิธีอื่นแทนแล้ว
เธอเห็นว่า
การที่ลูกเปิดใจเขียนเล่าเรื่องนี้
ให้ได้รับรู้ในเรียงความบทนี้
ยิ่งทำให้เราเข้าใจกันมากขึ้น
ว่าเขารู้สึกอย่างไร
หากบทความนี้
จะมีประโยชน์กับครอบครัวอื่น
โดยที่เขาสามารถเข้าใจความรู้สึก
ของเด็กได้ โดยไม่ต้องตี
ให้รู้สึกทุกข์ใจทั้งสองฝ่าย
เหมือนที่เราเคยผ่านมา
เธอก็ยินดี
เมื่อนั่งพิศอ่านเรียงความลูก
ไปทีละบรรทัดอย่างตั้งใจ
อ่านไปพลางนึกถึงสีหน้าเขา
แล้วก็สัมผัสได้
ถึงความซื่อตรงและจริงใจ
ที่เขาอยากจะบอกกับเรา
ย่อหน้าสุดท้ายนั้นจับหัวใจเรา
เขียนปิดท้ายได้อย่างหมดจด อิ่มเอมใจ
วันนี้ ลูกอายุเพียง 11ขวบ
เราเองก็พึ่งรับบทบาทพ่อแม่
มานานเท่ากับอายุลูก
ยังต้องเรียนรู้ต่อไป
เติบโตไปด้วยกันนะครับ
เดิมที
วัตถุประสงค์ของบทความนี้
น่าจะขยายความ
มาจากบทความเก่า
(รักวัวให้ผูก
รักลูกให้….)
พอมีเรียงความเป็นส่วนขยาย
ก็สื่อสารได้ชัดเจนมากขึ้น
เมื่อบทความลงเพจ
จาก Feedback ที่อ่าน
แม้ว่า ผู้ที่ได้อ่านและแชร์ไป
อาจมีบางส่วน ตีความต่างไป
ก็ถือว่าเป็นดุลยพินิจของผู้อ่านไปละกัน
ท้ายที่สุด
เรื่องนี้เตือนใจเราหลายอย่าง
เหมือนสุภาษิตอินเดียนแดง
ในวรรณกรรมเยาวชน
“สองดวงจันทร์”
กล่าวไว้ว่า
“อย่ารีบตัดสินใคร
จนกว่าจะได้
สวมรองเท้ามอคคาซินของเค้า”
เช่นผม
ที่กังวลว่าแม่ลูกจะเดือดร้อน
จากที่คนแชร์ไปด่า
หรือแสดงความเห็นหยาบคาย
โดยไม่ไตร่ตรองถึงเนื้อหาให้ถี่ถ้วน
แต่พอเอาให้พวกเค้าดู
ภรรยาบอก
คนๆนั้น เขาแปลกๆ
ไม่ต้องไปใส่ใจหรอก
ลูกก็คงบอกตามภาษาของวัยเขาว่า
IDK (แปลว่า I don’t care )
อืม พอนึกตามดูแล้ว
ก็เขาไม่รู้จักครอบครัวเรา
และสถานการณ์ของเราดีพอ
เขาถึงสรุปไปตามมุมมองของเขา
เสียเวลาเปล่าจะไปอธิบาย
สรุปว่า
พูดไปสองไพเบี้ย
นิ่งเสียตำลึงทอง
ส่วนตัวแล้ว คิดว่า
คงไม่ต้องเพิ่มอะไร
ในบทความหรอกครับ
ถามเพิ่มอีกนิด
เรื่องชื่อ-สกุลของเด็กในบทความ
จะไม่มีผลกระทบอะไร
ในอนาคตใช่ไหมครับ
หากบรรณาธิการเห็นสมควรแล้ว
ก็ไม่เป็นไรครับ
นี่ก็คงจะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผ่านไป…
Writer
mappa
illustrator
กรกนก สุเทศ
เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง