ครูไม่ได้เป็นครู – เด็กไม่ได้เป็นเด็ก โดมิโนปัญหาสุขภาพจิตในโรงเรียน จากมุมมอง “ครูแนน ปาริชาต”

ครูไม่ได้เป็นครู – เด็กไม่ได้เป็นเด็ก โดมิโนปัญหาสุขภาพจิตในโรงเรียน จากมุมมอง “ครูแนน ปาริชาต”

  • ปัญหาสุขภาพจิตวัยรุ่นในช่วงก่อนและหลังสถานการณ์โควิด-19 แตกต่างกัน โดยก่อนการระบาด วัยรุ่นมักจะเผชิญกับปัญหาด้านอัตลักษณ์และความสัมพันธ์ ทว่าหลังจากยุคโควิด-19 ปัญหาที่พบมักจะเป็นความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาทางเศรษฐกิจ ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และความรู้สึกโดดเดี่ยว
  • อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ครูไม่สามารถดูแลสุขภาพจิตของเด็กในโรงเรียนได้ คือภาระงานนอกเหนือการสอนที่มากเกินไป รวมทั้งทรัพยากรและงบประมาณที่ไม่เพียงพอ
  • แนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตของวัยรุ่น ควรเริ่มจากการลดภาระงานของครู ให้ครูได้ดูแลเด็กอย่างเต็มที่ จัดการปัญหาเชิงโครงสร้างเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี และการปล่อยให้เด็กได้ลองผิดลองถูกในการใช้ชีวิต โดยมีผู้ใหญ่อยู่เคียงข้าง

ปัจจุบัน ปัญหาสุขภาพจิตแทบจะกลายเป็นปัญหาหลักของสังคมสมัยใหม่ ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนในทุกด้าน ตัวเลขประมาณการจากฐานข้อมูลของกรมสุขภาพจิต เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 พบว่า มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในประเทศไทยราว 1.35 ล้านคน และการสำรวจออนไลน์ของ Rocket Media Lab ระหว่างวันที่ 11 กรกฎาคมถึง 30 กันยายน 2565 ซึ่งมีผู้ตอบแบบสอบถามออนไลน์ทั้งหมด 506 คน ระบุว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 21 – 30 ปี ร้อยละ 46.2 และยังมีผู้ที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น อายุ 13 – 20 ปี ร้อยละ 6.7

เมื่อพิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพจิตของวัยรุ่น องค์กรยูนิเซฟระบุว่า ปัจจุบัน การฆ่าตัวตายคือสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 ของวัยรุ่นไทย โดยการสำรวจภาวะสุขภาพนักเรียนทั่วโลกในส่วนของประเทศไทยเมื่อปี 2564 (2021 Global School-based Student Health Survey) พบว่า ร้อยละ 17.6 ของวัยรุ่นอายุ 13 – 17 ปี มีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมา ข่าวเยาวชนฆ่าตัวตายปรากฏในหน้าสื่อเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากความเครียดจากการเรียน และปัญหาด้านอัตลักษณ์ ทว่าที่ผ่านมาเรากลับยังไม่เห็นการป้องกันหรือแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมจากผู้เกี่ยวข้องแต่อย่างใด

“เราอาจจะไม่สามารถพูดได้หรอกว่ามันคือโรคซึมเศร้า อันนั้นเป็นการวินิจฉัยทางการแพทย์ แต่เราบอกได้ว่า ความรู้สึกเศร้า หรือความรู้สึกว่าฉันไม่ดีพอ ความรู้สึกว่าโลกมันไม่ได้น่าอยู่ ไม่รู้ว่าจะทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร ไม่รู้ว่าอนาคตมันจะดีกว่านี้ได้อย่างไร หรือความรู้สึกว่า ฉันแบกโลกทั้งใบ และฉันไม่ดีพอสักที ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม มันคือมวลบรรยากาศที่เราพบได้ในเด็กมัธยมโดยทั่วไปเลย” 

นี่คือข้อสังเกตจาก “ครูแนน” ปาริชาต ชัยวงษ์ ครูโรงเรียนเบญจมราชานุสรณ์ จังหวัดนนทบุรี หนึ่งในครูผู้ทำหน้าที่ “เบาะรองรับ” ให้นักเรียนที่กำลังประสบปัญหาสุขภาพจิต ผ่านการพูดคุย ให้คำปรึกษาเบื้องต้น ไปจนถึงส่งต่อนักเรียนที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือไปยังระบบดูแลช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต

ก่อนและหลังโควิด ปัญหาสุขภาพจิตในวัยรุ่นไม่เหมือนกัน

ครูแนนเริ่มต้นบทสนทนาด้วยข้อสังเกตส่วนตัวจากประสบการณ์การให้คำปรึกษานักเรียนว่า ปัญหาสุขภาพจิตของวัยรุ่นในช่วงก่อนและหลังจากยุคโควิด-19 นั้นแตกต่างกัน โดยก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 ปัญหาที่เด็กๆ ต้องเผชิญมักจะมาจากพัฒนาการตามช่วงวัยของวัยรุ่น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องอัตลักษณ์ ความสัมพันธ์กับเพื่อน หรือปัญหาการเรียน 

ครูแนนเรียกปัญหาเหล่านี้ว่าเป็นปัญหา “เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด” ตามปกติ ซึ่งสามารถแก้ไขเบื้องต้นได้ด้วยวิธีการที่เรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า Zoom in คือการชวนพูดคุย เปิดโอกาสให้เด็กได้สะท้อนความรู้สึกนึกคิด ตั้งคำถามเพื่อให้เด็กได้ทบทวนความต้องการของตัวเอง รวมทั้งจินตนาการถึงทางออกของปัญหาว่ามีกี่ทาง และผลที่จะตามมาจากการเลือกทางแก้ปัญหาต่างๆ คือเป็นวิธีการที่แสดงให้เด็กเห็นว่ายังมีผู้ใหญ่ที่พร้อมรับฟังเสียงของพวกเขา และเดินเคียงข้างขณะที่พวกเขากำลังเผชิญปัญหานั่นเอง

ทว่าการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนทุกกลุ่มในทุกด้าน ไม่เว้นแม้กระทั่งเด็กและเยาวชน ที่ต้องหันมาเรียนออนไลน์ ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในบ้าน และต้องเผชิญกับบรรยากาศตึงเครียดภายในบ้านอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ถดถอยจากสถานการณ์โรคระบาด ซึ่งส่งผลให้พ่อแม่ผู้ปกครองเกิดความเครียด นำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้ง ไปจนถึงการใช้ความรุนแรงในครอบครัว

นอกจากนี้ ชีวิตที่อยู่กับหน้าจอเป็นส่วนใหญ่ ต่อเนื่องนานถึง 2 ปี ทำให้วัยรุ่นยุคโควิดมีพื้นที่ในการทดลองใช้ชีวิตน้อยลง จากโลกภายนอกที่พวกเขาสามารถพบปะเพื่อนๆ ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน หดเหลือเพียงหน้าจอสี่เหลี่ยมที่ใครๆ ต่างก็โพสต์โชว์ชีวิตที่มีความสุขและความสำเร็จ นำไปสู่การเปรียบเทียบ และความรู้สึกไม่มั่นคงในจิตใจ ซึ่งครูแนนมองว่า ปัญหานี้มีต้นตอมาจากโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการพูดคุยหรือเยียวยาเบื้องต้นเพียงอย่างเดียว และจำเป็นต้องใช้วิธีการรับมือที่ต่างออกไป

“เราจำเป็นจะต้องมองในภาพที่ใหญ่ขึ้น เราเรียกกระบวนการนั้นว่าการ Zoom out ก็คือนอกจากคุยกับเด็กเพื่อที่จะสำรวจว่าเขากำลังรู้สึกอะไร เกิดอะไรขึ้นแล้ว เราต้องมองให้กว้างขึ้นมาอีกว่า บริบทแวดล้อมที่ทำให้เขาเกิดปัญหาสุขภาพจิตในขณะนั้น มันประกอบไปด้วยปัจจัยอะไรบ้าง เราจะได้สามารถที่จะสื่อสารกับเขา แล้วก็หาวิธีแก้ปัญหาที่มันจะช่วยให้ความรุนแรงมันบรรเทาลงได้จริงๆ”

อย่างไรก็ตาม ขณะที่ปัญหาสุขภาพจิตดูเหมือนจะแค่เปลี่ยนรูปแบบไปเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาด แต่ที่จริงแล้ว ปัญหาเรื่องตัวตนของวัยรุ่นและพื้นที่ในการทดลองใช้ชีวิตที่มีอยู่น้อยนิด ก็ยังคงอยู่และไม่เคยได้รับการแก้ไข เมื่อมีสถานการณ์โรคระบาดและมาตรการล็อกดาวน์เข้ามากระตุ้น ก็ยิ่งทำให้ปัญหาสุขภาพจิตของวัยรุ่นทวีความรุนแรงมากขึ้น

“เด็กๆ ไม่ได้มีลานชุมชนที่เขาไปเล่นดนตรีได้ในวันเสาร์อาทิตย์ ไม่มีห้องซ้อมดนตรีที่ฟรี แล้วก็มีเครื่องดนตรีครบ ไม่มีสนามกีฬาที่ไปเล่นกีฬาได้ช่วงเลิกเรียน ลานสเก็ต ที่ซ้อมเต้น cover โดยที่ไม่ต้องนั่งรถเข้าไปในเมือง พอมันไม่มีพื้นที่อื่นๆ ในการที่จะให้เขาได้ลองใช้ชีวิต มันก็เลยทำให้ทุกอย่างจำกัดแคบมาอยู่ที่หน้าจออย่างเดียวเท่านั้น ร่วมกันกับที่พ่อแม่ก็รู้สึกเหนื่อยล้าจากงานและภาระที่แบกไว้ ไม่ได้อยากจะพาไปไหน ถ้าเราไม่มีรถส่วนตัว เราจะพาลูกออกไปเดินพิพิธภัณฑ์ ไปลานดนตรีในสวน เราจะทำอย่างไร แค่คิดก็เหนื่อยแล้วน่ะ ไปพิพิธภัณฑ์แล้วก็ซื้อข้าวซื้ออะไรกลับมา 1 วันใช้เงินไปเท่าไร”

“เราไม่ได้มีโครงสร้างพื้นฐานอะไรเลยที่จะสนับสนุนให้เด็กได้ลองใช้ชีวิตอย่างที่เป็นเด็กจริงๆ” ครูแนนกล่าว

เมื่อเด็กไม่ได้เป็นเด็ก

“เรารู้สึกว่าช่วงหลังๆ มานี้ เด็กโทษตัวเองบ่อยกว่าที่เคย คำที่เราจะได้ยินบ่อยๆ เลยก็คือ หรือว่าจริงๆ มันเป็นเพราะหนูเองที่หนูจัดการมันไม่ได้ เพราะว่าคนอื่นก็อยู่ได้” ครูแนนเล่าถึงสัญญาณอันตรายเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตของนักเรียน ที่เต็มไปด้วยความรู้สึกผิด ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกผิดที่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเอง จนทำให้ทะเลาะกับพ่อแม่ รู้สึกผิดที่ผลการเรียนไม่ดีอย่างที่พ่อแม่คาดหวัง ไปจนถึงความรู้สึกผิดที่ไม่สามารถช่วยพ่อแม่หาเงินได้ แม้ว่าตัวเด็กเองจะอายุเพียงสิบกว่าปีเท่านั้น

สำหรับสาเหตุของความรู้สึกผิดเหล่านี้ ครูแนนให้ความเห็นว่า น่าจะมาจากค่านิยมของสังคมที่เชื่อในการแข่งขัน ทุกคนต้องแสวงหาความเป็นเลิศ ต้องออกไปใช้ชีวิต และใครที่ไม่ประสบความสำเร็จตามบรรทัดฐานของสังคม ก็จะเป็นคนที่ล้มเหลว ประกอบกับความเชื่อว่า “การศึกษาคือการลงทุน” ที่พ่อแม่ “ลงทุน” ซื้อการศึกษาที่มีคุณภาพและสังคมที่ดีให้ลูก และคาดหวัง “ผลตอบแทน” นั่นคือการที่ลูกมีผลการเรียนที่ดีและประสบความสำเร็จ ส่งผลให้โอกาสที่เด็กจะได้ลองผิดลองถูกและเรียนรู้จากความผิดพลาดหดแคบลง 

“การโยนความรับผิดชอบมาให้ปัจเจกในระดับผู้ใหญ่ มันส่งผลไปถึงทัศนคติของเด็กที่มองตัวเองด้วย เขาไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นเด็กที่กำลังลองผิดลองถูกนะ เขาไม่ได้รู้สึกว่าฉันกำลังเดินเข้าไปในป่าพร้อมกับเพื่อนๆ เพื่อจะดูซิว่า มีอะไรในป่าให้ฉันศึกษาบ้าง แต่เขารู้สึกว่า เขากำลังปีนเอเวอร์เรสต์น่ะ และมันคือการปีนเอเวอร์เรสต์ด้วยตัวเองคนเดียว ซึ่งถึงแม้จะมีคนปีนอยู่ข้างๆ แต่ว่าคนที่จะต้องสู้กับอากาศและความสูงของภูเขา และก็ต้องปีนอยู่นั่นน่ะ ก็คือตัวเขาคนเดียว ดังนั้น มันเป็นความรู้สึกโดดเดี่ยวอยู่ข้างใน ถึงแม้ว่าจะมีคนแวดล้อมอยู่ข้างๆ มากมาย แต่ว่าเขากลับรู้สึกว่าเขาแข่งกับทุกคน นี่ยังไม่นับว่ามีเด็กจำนวนมากที่ปีนโดยไม่มีอุปกรณ์อะไรเลย”

คำที่เราพูดกับเด็กบ่อยมากเลยในช่วงปีหลังมานี้ ก็คือ มันไม่ใช่ความผิดของหนู ที่หนูเหนื่อย ที่จะต้องทำงานพิเศษ มันไม่ใช่ความผิดของหนูเลยที่หนูทำงานไม่ทัน เรียนได้ไม่เท่าเพื่อน แล้วเกรดออกมาไม่ดี แล้วไปถึงผลการเรียนที่พ่อแม่คาดหวังไม่ได้ ไม่เป็นไร คือเขาถูกสอนให้รับผิดชอบในเรื่องที่เกินกว่าช่วงวัยของเขาไปเยอะมากๆ เขาถูกคาดหวังให้เจอคำตอบว่าตัวเองเป็นใคร ให้ประสบความสำเร็จทั้งที่นี่เป็นแค่วัยแห่งการเริ่มต้นค้นหาเท่านั้นเอง เราก็เลยรู้สึกว่า อันนี้ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งเหมือนกันที่จำเป็นต้องสื่อสารในเรื่องที่กว้างขึ้นกว่าแค่เรื่องสุขภาพจิต” ครูแนนกล่าว

ครูไม่ได้เป็นครู โดมิโนปัญหาที่กระทบถึงเด็ก

นอกเหนือจากครอบครัว ครูเป็นอีกคนหนึ่งที่อยู่ใกล้ชิดกับชีวิตของวัยรุ่นมากที่สุด และมองเห็นถึงปัญหาและความเจ็บปวดของวัยรุ่นมากที่สุดเช่นกัน ครูหลายคนมีความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต และมีความตั้งใจจริงที่จะแก้ปัญหาหรือเยียวยาความรู้สึกของลูกศิษย์ ทว่าฝั่งของครูเองก็ต้องเผชิญกับอุปสรรคอย่าง “ภาระงาน” ที่นอกเหนือจากการสอนและดูแลนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นโครงการต่างๆ ที่ถูก “สั่งการ” มาจากหน่วยงานด้านนโยบาย ที่ผู้สั่งการอาจจะเข้าใจว่าเด็กๆ จะสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้จากโครงการเหล่านี้ รวมทั้งการให้ครูทำงานอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสอน 

อุปสรรคอีกอย่างหนึ่ง คือการให้ครูสอนควบชั้นหรือสอนไม่ตรงตามวิชาเอกที่เรียนจบมา ทำให้ครูต้องใช้เวลาไปกับการเตรียมการสอนหลายวิชา หรือเตรียมสอนในวิชาที่ตัวเองไม่เชี่ยวชาญ ซึ่งภาระงานทั้งหมดนี้ดึงเวลาของครูออกไปจนหมด ไม่เหลือเวลาให้ครูได้ใกล้ชิดกับนักเรียน และไม่เหลือแม้กระทั่งเวลาส่วนตัวของตัวเอง ครูหลายคนก็ประสบปัญหาสุขภาพจิต และเมื่อถูกคาดหวังให้เป็นแม่คนที่สองผู้เสียสละเพื่อเด็กๆ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจึงอาจเรียกได้ว่าเป็น “เตี้ยอุ้มค่อม”

มุมมองทางเศรษฐกิจที่เชื่อว่าลงทุนน้อยที่สุดแล้วให้ผลกำไรมากที่สุดคือดีที่สุด มันส่งผลในการจัดสรรทรัพยากร โดยเฉพาะผู้คนในระบบการศึกษา มันทำให้คนคิดว่าจ้างครูคนหนึ่งแล้วทำได้ทุกอย่าง มันคือความคุ้มค่า มันก็เลยทำให้งานเยอะ แต่คนที่ถูกจัดสรรมาน้อย สุดท้ายคนสั่งการมองว่าอันนี้คือการออกแบบเชิงนโยบายที่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจแล้ว แต่ผลที่ออกมาก็คือ เด็กไม่มีใครเดินไปข้างๆ หรือถ้ามีก็เป็นการเดินแบบเตี้ยอุ้มค่อมน่ะ แบกกันไปอย่างทุลักทุเล”

ครูแนนเล่าว่า แม้ว่าที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการจะพยายามพูดถึงการดูแลสวัสดิภาพและความปลอดภัยของเด็กในโรงเรียน แต่กลับไม่ได้จัดสรรงบประมาณหรือทรัพยากรใดๆ ให้โรงเรียนอย่างเพียงพอ

“สมมติว่าเด็กต้องการพบจิตแพทย์ เราประเมินร่วมกันทั้งหมดแล้วว่าเด็กต้องการพบจิตแพทย์จริงๆ เงินที่เด็กจะไปหาหมอ มาจากไหนเหรอ ถ้าเป็นแบบรัฐบาลก็คือ 50 บาท แต่ว่าเข้าไปปุ๊บ ใช้เวลานานมากกว่าเด็กจะได้เจอหมอ แต่ถ้าเป็นเอกชน ชั่วโมงละ 700 – 800 บาท เด็กใช้เงินจากไหนในการซัพพอร์ต”

“ระบบของการสั่งการลงมาว่าต้องการอะไร จากโรงเรียน จากครู หรือจากเด็ก มันง่ายมากเลยนะ แต่ว่ากระบวนการทำงานที่จะทำให้มันเกิดขึ้นจริงๆ มันยาก เพราะว่าเราไม่ค่อยได้รับการจัดสรรทรัพยากรอะไรลงมา เพื่อให้งานมันบรรลุผลสำเร็จได้จริง” ครูแนนระบุ

คืนครูให้นักเรียน คืนพ่อแม่ให้ลูก คืนความเป็นเด็กให้เด็กๆ

แม้ทุกวันนี้จะเริ่มมีเสียงเรียกร้องให้มีนักจิตวิทยาในโรงเรียน ซึ่งน่าจะเป็นทางออกที่ดีในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตของวัยรุ่น แต่ครูแนนมองว่า การมีนักจิตวิทยาในโรงเรียนเป็นการแก้ปัญหาในเบื้องต้นเท่านั้น สิ่งสำคัญที่ควรทำอย่างเร่งด่วน คือการ “คืนครูให้กับเด็กๆ” โดยการลดภาระงานโครงการต่างๆ ลง เพื่อให้ครูได้ใช้เวลากับนักเรียนมากขึ้น ซึ่งผู้ที่จะมีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้เบื้องต้นเลย คือผู้บริหารโรงเรียน ที่นอกจากจะต้องระดมทรัพยากรและเงินทุนมาจ้างกำลังคนเพิ่มสำหรับทำหน้าที่ที่ไม่ใช่การสอน ยังต้อง “อำนวยการ” ให้ครูได้ทำงานสอนอย่างเต็มที่ โดยคัดเลือกและตัดโครงการที่ไม่จำเป็นต่อการเรียนการสอนของโรงเรียนออกไป

“ในฐานะผู้อำนวยการหรือรองผู้อำนวยการ สิ่งที่ทำได้คือการอำนวยการค่ะ การปัดทิ้งโครงการที่ไม่จำเป็น การไม่รับ ไม่ทำ ไม่เอา ไม่จำเป็นที่จะต้องเอาทุกๆ โครงการมาให้ครูทำ ไม่จำเป็นที่จะต้องอยากได้โล่ อยากได้รางวัล อยากได้ใบประกาศ อยากให้โรงเรียนติดมาตรฐาน สนใจผลลัพธ์ในเชิงชื่อเสียงโรงเรียน ที่จะเป็นแบรนดิ้งของโรงเรียนให้น้อยลง แล้วสนใจกระบวนการที่เกิดขึ้นระหว่างครูกับเด็กในโรงเรียนให้มากขึ้น อันนี้คือสิ่งที่ผู้บริหารสามารถทำได้ภายใต้ข้อจำกัดที่เขามี” ครูแนนให้ความเห็น

นอกจากนี้ ครูแนนยังกล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะผู้กำหนดนโยบาย ก็ต้องมองเห็นว่า สิ่งที่สำคัญจริงๆ สำหรับเด็กและครู คือเวลาและทรัพยากร ดังนั้น กระทรวงจึงควรลดจำนวนคนสั่งการและคนออกนโยบาย แล้วเพิ่มคนในระดับปฏิบัติการให้มากขึ้น จัดสรรงบประมาณในการดูแลผู้ปฏิบัติงานในโรงเรียนให้มากขึ้น รวมทั้งยืนยันว่า “การเรียนฟรี” ต้องฟรีจริงๆ

“ถ้ากระทรวงไม่ยืนยันว่าเรียนฟรีต้องฟรีอย่างจริงจัง 100% มันก็จะกลับมาเป็นปัญหาที่ระดับโรงเรียนน่ะค่ะ ว่าโรงเรียนเก็บค่าเทอมทำไมล่ะ อ้าว… ก็คนมันไม่พอ พอคนมันไม่พอก็ทำให้จำเป็นต้องระดมทรัพยากรทุกทาง เพื่อจะจ้างคนมาทำงานให้ได้มากขึ้น เพื่อให้ครูไม่ต้องสอนควบชั้น เพื่อให้ครูไม่ต้องสอนไม่ตรงเอก มันก็วนไปที่การจัดสรรทรัพยากรในระดับมหภาคอยู่ดี” ครูแนนกล่าว

อย่างไรก็ตาม ปัญหาสุขภาพจิตนั้นไม่ใช่ปัญหาที่จะแก้ได้ในระดับปัจเจกบุคคล แต่เป็นยอดของภูเขาน้ำแข็งขนาดใหญ่ ที่ต้องแก้ไขตั้งแต่ระดับโครงสร้างทางสังคม 

“เราอาจจะต้องกลับไปทบทวนคำถามแบบพื้นฐานสุดๆ เลยก็ได้ว่า ถ้าเราอยากจะสร้างสังคมที่คนได้โตมามีคุณภาพชีวิตที่ดี คำว่าคุณภาพชีวิตที่ดีต้องประกอบไปด้วยอะไรบ้าง การศึกษาที่ดี อากาศที่ดี การคมนาคมขนส่งที่ทำให้มีเวลามากขึ้น ให้คนออกแบบจัดการชีวิตตัวเองได้ ค่าแรงที่มั่นคงพอที่จะทำให้พ่อแม่ไม่ต้องกังวลว่า ถ้าวันหนึ่งฉันป่วย ลูกจะได้เรียนหนังสือไหม หรือว่าระบบการดูแลคนแก่ที่เป็นแรงงานในการขับเคลื่อนประเทศมาทั้งชีวิต พอแก่ขึ้นมา ตอนนี้ได้เดือนละ 600 – 800 มันก็ทำให้คนในวัยกลางคนที่เป็นพ่อแม่ต้องแบกคนแก่ แล้วก็ต้องดึงลูกไปด้วย”

“พอเรากลับมาตั้งคำถามเรื่องคุณภาพชีวิตที่ดี เราจะเห็นเลยว่า คนหนึ่งคนจะโตขึ้นมาได้ มันจำเป็นต้องมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เขาโต เด็กต้องการพื้นที่ทดลอง เด็กต้องการที่จะได้เป็นเด็ก แล้วก็ได้ลองผิดลองถูก เพื่อสุดท้ายจะได้รู้ว่าชอบอะไร ต้องการอะไร แต่ถ้ามันเปราะบางและไม่มั่นคงขนาดนี้ การทดลองในการใช้ชีวิตมันก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ดังนั้น ถ้าเราอยากให้เขามีสุขภาพจิตที่ดี เราจำเป็นที่จะต้องพูดถึงโครงสร้างอื่นๆ ในการที่มนุษย์คนหนึ่งจะเติบโตขึ้นมาด้วย” ครูแนนกล่าว

เหนือสิ่งอื่นใด การจะป้องกันปัญหาสุขภาพจิตของวัยรุ่นได้ ผู้ใหญ่ต้องมองเห็นความสำคัญของเด็ก และคอยอยู่เคียงข้าง ประคับประคองเด็กๆ เหล่านี้ให้พวกเขาสามารถก้าวผ่านช่วงวัยแห่งความสับสนไปสู่การเป็นผู้ใหญ่ได้
ถ้าเรารับรู้ไปด้วยกันว่า เด็กคือคนสำคัญของเรา คือคนสำคัญของคนในบ้าน คือคนสำคัญของคุณครูที่โรงเรียน แล้วก็สำคัญสำหรับตัวเขาเอง สิ่งที่เราสามารถทำได้ก็คือการยืนยันว่า ‘เราจะเดินผ่านมันไปด้วยกันนะ ไม่ว่าหนูกำลังจะเจอกับอะไร เราอาจจะมีเวลาให้หนูน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เราอาจจะไม่สามารถให้ชีวิตที่หนูสามารถที่จะได้ทดลองทุกอย่างอย่างที่ตัวเองต้องการได้ด้วยสภาพสังคมในเวลานี้ แต่ไม่ว่าจะต้องเดินผ่านอะไร หนูไม่ได้ต้องผ่านมันไปด้วยตัวคนเดียวนะ’ อันนี้คือสิ่งที่เราผู้ใหญ่จำเป็นต้องยืนยันกับเขา” ครูแนนสรุป

Writer
Avatar photo
ณัฐธยาน์ ลิขิตเดชาโรจน์

บรรณาธิการและแม่ลูกหนึ่ง ผู้เรียนรู้ความเป็นมนุษย์ผ่านการเติบโตของลูกชาย มีหนังสือและเพลงเมทัลร็อกเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ และมีชีวิตอยู่ได้ด้วยกาแฟและขนมทุกชนิด

Photographer
Avatar photo
ฉัตรมงคล รักราช

ช่างภาพ และนักหัดเขียน

illustrator
Avatar photo
อุษา แม้นศิริ

มนุษย์กราฟิกผู้ชื่นชอบงานภาพประกอบ สีฟ้า ดนตรี และมีนกน้อยสองตัวเป็นของตัวเอง

Related Posts

Related Posts