ไม่ต้องแบกความหวังของใคร จงโตไปเป็นผู้ใหญ่ในแบบที่ยังชอบตัวเองอยู่

ไม่ต้องแบกความหวังของใคร จงโตไปเป็นผู้ใหญ่ในแบบที่ยังชอบตัวเองอยู่

พูดคุยกับ คงเดช จาตุรันต์รัศมี ผู้กำกับภาพยนตร์ นักเขียน นักแต่งเพลง แต่ไม่ได้คุยเรื่องหนัง หนังสือ และเพลง เราพูดคุยกันถึงซาวด์และซอง ลูกสาวฝาแฝดวัย 14 ปี ของเขา และประสบการณ์โฮมสคูล ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับลูกๆ คำถาม การหาคำตอบ ระบบการศึกษา ทางเลือกของชีวิต และที่ทางบนโลกใบนี้ของคนรุ่นใหม่

โควิด-19 ข้าว 126 กล่อง คำถามจากเด็กหญิง 2 คนที่พ่อตอบไม่ได้ 

มาตรการการล็อคดาวน์ไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับบ้านเราเท่าไหร่ เพราะลูกๆ เรียนโฮมสคูล ลูกทั้งสองคนอยู่บ้านเป็นปกติกันอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ดึงดูดความสนใจของพวกเขาก็คือข่าวสารและผลกระทบเกี่ยวกับโควิด-19 

ก่อนที่พวกเราจะทำกับข้าวทำอาหารไปแจกจ่ายผู้คน บ้านเราทำ face shield ส่งไปตามโรงพยาบาล โดยให้ลูกเป็นคนเลือกโรงพยาบาล แต่ช่วงเวลาที่ผ่านมา ก็จะมีข่าวสารเกี่ยวกับความต้องการความช่วยเหลือในเรื่องพื้นฐานเช่นอาหารการกิน ลูกสาวก็เห็นข่าวว่ามีคนไร้บ้านจำนวนมากที่ต้องการความช่วยเหลือ ทั้งลูก ภรรยา และเพื่อนๆ ของภรรยาคุยกันว่าทำอาหารกันดีไหม ก็เลยลงขันทำกัน โดยใช้บ้านเราเป็นฐานปฏิบัติการ

อย่างที่บอก พวกเรารู้ว่า สิ่งที่กำลังทำนี้เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่เราก็ทำเท่าที่เราสามารถทำได้ แล้วการทำอาหารไปแจกจ่ายมันเป็นกระบวนการเรียนรู้ของคนในบ้านเราทุกคน พวกเราได้ไปเผชิญหน้าความเป็นจริง

วันนั้นเราเปิดท้ายรถสองคัน ข้าวร้อยกว่ากล่อง แป๊บเดียว ไม่ถึง 5 นาที คนก็มากันเยอะแยะเลย

พอทำเสร็จเราก็ขึ้นรถกลับบ้าน เห็นอารมณ์ที่เปลี่ยนไปของลูก เขาก็นิ่งทันที เราถามเขาว่ารู้สึกยังไงบ้าง เขาเห็นหลายคนที่มาต่อคิวแล้วไม่ทัน วันนั้นก็เป็นวันที่ฝนตกหนักมากๆ ด้วย เราก็ไม่ใช่มืออาชีพ อุตส่าห์เตรียมตั้งแต่เช้า แต่กว่าจะเสร็จก็บ่ายโมง เห็นได้ถึงคนที่หิวกันมาก รับปุ๊บก็แกะกินกันเลย 

ลูกก็ถามผมว่า เราต้องทำยังไงถึงจะแจกให้ครบให้ทุกคนได้กิน และไม่ต้องหิว

ลูกมีไอเดียตามประสาเด็กที่เคยไปเจอมา เขาเคยไปเห็นที่อเมริกามี food truck เขาก็ชวนให้เราทำ food truck ไปเลยไหม แล้วก็ไปจอด ทำให้เขากินตอนนั้นเลย แล้วถ้าใครมาปุ๊บ ก็จะได้กินทันที เราก็บอกว่ามันไม่ใช่จุดเดียวนะ มันต้องมีหลายจุด เราจะตระเวนกันยังไง ระหว่างขับรถกลับบ้านเราก็นั่งคิดกันใหญ่ แต่พอคุยกันไปมา ก็รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ต้องเป็นรัฐเท่านั้นถึงจะทำได้ มันต้องเป็นนโยบาย

แต่ประเด็นคือ ณ วันที่เราคุยกัน เรายังไม่เห็นเขามีนโยบาย เขาอาจจะมีนโยบายเรื่อง 5,000 บาท ออกมา เยียวยาอะไรต่างๆ แต่ว่ายังไม่เห็นนโยบายที่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าตรงนี้ ทั้งๆ ที่เขาก็น่าจะรู้ว่ามีคนไร้บ้านจำนวนมากพอสมควร แล้วก็ไร้อาหารยังชีพ ก็ทำให้เราเกิดความรู้สึก ค่อนข้างแบบ… วันนั้นขับกลับบ้าน เห็นหน้าลูกแล้วเราตอบไม่ได้ ว่ารัฐเขาทำอะไรอยู่ เราก็มีความโกรธ แล้วเราก็รู้ว่าทำอะไรมากไปกว่านั้นไม่ได้

การพาลูกๆ เข้าไปทำกิจกรรมอะไรพวกนี้ก็ทำให้เขามองเห็นสังคมที่แวดล้อมเขาชัดขึ้น หรือมองเห็นว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น สิ่งที่พวกเขาเห็นก็ทำให้เกิดคำถามอยู่แล้ว เราคิดว่าสำคัญมากคือการที่อย่างน้อยพวกเขาตั้งคำถาม หรือการคิดหาทางออกในแบบของเขา ในแบบเด็กอายุ 14-15 ก็โอเคในกระบวนการเรียนรู้

จาก ‘แก๊งส้วมซึม’ ในห้องน้ำโรงเรียน สู่ ‘เด็กโฮมสคูล’ 

ก่อนหน้านี้ลูกของผมเรียนในระบบมาตลอด หลังจากเรียนจบชั้น ป.5 ภรรยาก็พาลูกสาวทั้งสองไปอเมริกา 2 เดือน ที่นั่นน้องสาวของภรรยาทำงานอยู่ เราคิดกันแค่ว่า ลูกๆ จะได้ฝึกภาษา ช่วงเวลานั้นลูกๆ ก็หาคอร์สลงเรียน ในที่สุดก็ไปเจอโรงเรียนเล็กๆ อยู่ชั้นสองของโบสถ์เก่าๆ มีนักเรียนอยู่ประมาณ 6-7 คน หลากหลายอายุ แต่คนที่เป็นครู เขาเป็นนักการศึกษาที่ออกแบบหลักสูตรให้หลายประเทศ แล้วเขามาทำโครงการเล็กๆ อยู่ที่นี่ 

พอไปเรียนปุ๊บ เขา encourage เด็กมาก ว่าสนใจจะทำอะไร ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงต่อวัน ลูกผมรู้สึกว่าเขาได้อะไรเยอะมาก แล้วพอเขากลับมาเมืองไทย ซึ่งเขาจะต้องเรียน ป.6 ที่โรงเรียนในระบบต่อ แต่พอเปิดเรียนไปสักพัก เขาบอกผมว่า เรียนเมืองไทยมันเสียเวลามากเลย ใช้เวลาไปกับอะไรก็ไม่รู้ แล้วก็ไปวุ่นวายกับอารมณ์ของอาจารย์ซะเยอะ เหมือนกับว่าไม่ได้โฟกัสที่นักเรียนเลย

พอเขามาบอกถึงความปรารถนาของเขา มันเข้าทางเราเหมือนกันนะ เราเห็นปัญหาของระบบการศึกษามาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนระบบสอบ เพื่อนที่เป็นอาจารย์อยู่ในมหาวิทยาลัยหลายคนคร่ำครวญถึงความล่มสลายของระบบการศึกษาไทยตั้งแต่ออกนอกระบบ ทุกคนต้องดูแลสุขภาพทางการเงินของมหาวิทยาลัยตัวเอง เปิดภาควิชาที่ไม่จำเป็นขึ้นมา 

เราก็เลยถามลูกขึ้นมาว่า “ถ้าลูกมีปัญหาเหมือนกันกับพ่อ โฮมสคูลไหมลูก” 

แล้วเขาก็บอกเอา

เราใช้เวลาที่เหลือตอนลูกเรียน ป.6 ในการทำการบ้าน หาข้อมูลต่างๆ เราพบว่าการทำโฮมสคูลไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เอาเข้าจริงๆ unschooled ยังได้เลย แต่ขึ้นอยู่ที่พ่อแม่กับสภาพแวดล้อมเป็นหลัก 

เด็กวัยนี้เขาจะหาความรู้เอาเอง เป็นวัยที่เขาไม่นั่งอยู่เฉยๆ เป็นวัยที่เขากำลังดื่มกินเรื่องราวรอบตัวต่างๆ อย่างหิวกระหาย เราก็รู้สึกว่า ความต้องการของลูกมาบรรจบกับความต้องการของเรา

สิ่งที่ลูกๆ ของผมกลัวมากคือการต้องกลับไปเรียนในระบบ เขาไม่เอาอีกแล้ว แบบนี้ดีกว่าเยอะเลย

หลังจากที่เราทำโฮมสคูลกัน ลูกๆ มาเฉลยให้ฟังว่า ตอนที่เรียนในระบบเขาขบถหลายอย่างมาก แต่ว่าเขาไม่เคยทำให้พ่อแม่เดือดร้อน ยังไม่เคยโดนเรียกผู้ปกครอง เขาเคยโดดเรียนไปซ่อนในส้วมกับแก๊งเพื่อน เราก็อ๋อ มันแสบเหมือนกันนี่หว่า แล้วมันทำให้เห็นว่าจริงๆ แล้วเขาค่อนข้างมีปัญหากับระบบอยู่ แต่เขารู้ว่าจะรับมือยังไง เขาไม่ชอบวิธีที่ดำเนินไปของระบบเท่านั้นเอง

ความหลากหลาย: เพื่อนร่วมชั้นของเด็กโฮมสคูล

ก่อนที่จะออกมาทำโฮมสคูล เราก็กังวลว่า ลูกจะได้เรียนรู้การรับมือกับผู้คนหรือเปล่า แต่กลายเป็นว่าเขาไม่มีปัญหา เขารับมือกับคนได้หลากหลายวัยด้วยซ้ำไป ตอนอยู่ประถมทั้งคู่เรียนในระบบ กลายเป็นว่าโลกของเขาแคบกว่าตอนนี้ เพราะว่าเด็กก็ยังเป็นเด็ก เพื่อนในโรงเรียนก็มีฐานะใกล้เคียงกัน ความหลากหลายมันน้อยกว่า

เด็กโฮมสคูลมักจะมีคาแรคเตอร์ประมาณหนึ่ง หลายคนพูดมานะ ลูกเราค่อนข้างจะเป็นอย่างนั้นเหมือนกัน เขาจะไม่ได้ยึดถือเรื่องวัย ว่านี่คือรุ่นพี่นี่คือรุ่นน้อง เขาจะมองเห็นทุกคนเป็นคนที่อยู่แวดล้อมชีวิต แล้วเขาก็จะมองเป็นเรื่องๆ เป็นคนๆ ไปมากขึ้น หมายถึงเด็กโฮมสคูลก็จะมีเพื่อนหลากหลายรุ่น เวลาที่เขาไปเรียนบางวิชา เขาก็จะไปเรียนรวมกับเด็กที่โตกว่าหรือเด็กกว่า มีสังคมที่หลากหลายวัยกว่าเรียนในโรงเรียน

เมื่อเห็นความหลากหลายเขาก็จะเห็นความเป็นคนมากขึ้น โลกของเขาก็จะไม่ใช่โลกของเด็ก ม.2 ด้วยกันเท่านั้น หรือโลกที่เด็ก ม.2 สนใจเท่านั้น เขาสนใจสิ่งที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวมากกว่าเคย แล้วเมื่อมาอยู่ที่บ้าน อยู่กับพ่อแม่ เวลาที่พ่อแม่เปิดดูอะไร หรือคุยเรื่องอะไร ก็ผ่านเข้าหูเขาตลอด เราสังเกตลูกตลอด เขากลายเป็นคนสนใจข่าวสารบ้านเมือง ข่าวสารของโลกด้วยนะ ไม่ใช่เฉพาะเมืองไทย

ตั้งแต่ทำโฮมสคูล สิ่งที่เราพูดกับลูกคือ ในการเลือกเรียนโฮมสคูล หนูจะต้องรับผิดชอบชีวิตตัวเอง ฉะนั้นจะดีหรือไม่ดี จะเวิร์คหรือไม่เวิร์ค ก็ขึ้นอยู่กับตัวหนูเอง สิ่งนี้ก็อาจจะเร่งเร้าเขาให้รู้สึกว่าเขาจะต้องรับผิดชอบ ค้นคว้า และหาสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเองมากขึ้น 

เพราะเวลาที่เราไปอยู่ในระบบ เด็กจะถูกสอนให้รอ แล้วก็มีคนมาสั่งว่าให้ทำเรื่องนี้ เรียนเรื่องนี้ ถ้าจะค้นคว้าก็ต้องค้นคว้าเรื่องนี้นะ เพราะเป็น assignment แต่พอออกมานอกระบบ มันคือการช่วยเหลือตัวเอง โลกมันกว้างมาก แล้วเขาก็ดูกระตือรือร้นมาก เรารู้สึกได้ว่าทั้งสองคนเป็นเด็กที่ชอบค้นคว้า เขาพร้อมเปิด แล้วก็ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อสิ่งที่เขาอยากรู้

น่าแปลกใจมาก ที่ลูกเราไม่ได้ติดมือถือเลย ไม่ได้ติดแชท เขาใช้อินเทอร์เน็ตอย่างมีประโยชน์กว่าเราอีก ค้นคว้าในหัวข้อที่ตนสนใจ เรื่องที่เขาอยากจะรู้ หลังจากเราเริ่มทำโฮมสคูลมาได้ปีกว่า เขาก็เริ่มมองหาทุนต่างประเทศเองด้วยซ้ำไป เขาไม่อยากเรียนเมืองไทยแล้ว ไม่อยากกลับเข้าไปสู่ระบบเมืองไทย ไม่อยากเรียนมหาวิทยาลัยในเมืองไทยด้วยซ้ำไป เขารู้สึกว่าโลกมันรอเขาอยู่ข้างนอก เราก็ได้แต่บอกลูกว่า เต็มที่เลยลูก

พอทำโฮมสคูลมา 2 ปี สองคนก็เริ่มหาแนวทางของตัวเองพอสมควร เขาอยู่ในระบบ เรียนวิชาการมาก่อน เขามีความวิชาการประมาณหนึ่ง แล้วก็มีเรื่องที่สนใจอยู่แล้ว พอเริ่มมาโฮมสคูล ก็จะเป็นโฮมสคูลแบบที่มีวิชาการเป็นพื้น แล้วเขาก็ค้นคว้าส่วนที่เป็นวิชาการเอง เขาชอบวิทยาศาสตร์ ชอบเทคโนโลยีมาก อีกคนก็จะชอบไปทางศิลปะมาก แฟชั่นมาก ก็เลยไม่ค่อยมีปัญหา

โฮมสคูล: ทัศนคติของพ่อแม่และความสนใจของลูก

โฮมสคูลอาศัยความทุ่มเทของพ่อแม่เหมือนกัน ต้องยอมรับนะว่าการส่งลูกไปเรียนในระบบ บางแง่มุมมันคือการโยน แล้วก็แค่เลือกว่าสถาบันไหนโอเคกับฐานะของเรา บางคนก็มองเป็นการลงทุน เรียนโรงเรียนนี้แพงหน่อย กัดฟันนะลูก เราจะได้ connection เราจะได้มีเพื่อน แต่หลักๆ มันคือการผลักลูกไปให้คนอื่นดูแล แล้วเราไม่ค่อยได้รู้หรอกว่าลูกเราได้เรียนอะไรบ้าง 

แต่พอเป็นโฮมสคูล เอาจริงๆ ก็เหนื่อย มันต้องการความ devoted (เสียสละ) ของพ่อแม่มากๆ ผมเองมีงานเยอะ แต่ว่าก็โอเค เป็นงานที่ไม่ใช่รูทีน ก็จะมีวันที่เราว่างด้วย หรือหลายงานเราก็ทำที่บ้านได้ ทำให้เราได้อยู่กับลูกเยอะ ภรรยาผมเป็นแม่บ้านเต็มตัว เขาก็ทุ่มกับสิ่งนี้เต็มตัวเลย เขาจะเป็นคนคอยมองหาว่าอันนี้น่าสนใจนะ ลองไปดู

เวลาที่ลงตัวแล้วมันก็จะลงตัว แล้วเวลาที่ลูกเกิดความสนใจ เราก็จะเริ่มช่วยกันหาว่าอยากจะเป็นแบบไหน เช่นไปเรียนเรือใบ ตอนแรกเรารู้สึกว่าทำไมต้องไปเรียนเรือใบวะลูก แต่ปรากฏว่าพอไปเรียนจริงๆ เราเห็นประโยชน์สูงมาก เพราะว่าเรือใบมันต้องไปเล่นคนเดียวกลางทะเล มีปัญหาที่จะต้องไปแก้ตรงนั้นเยอะมาก เรือคว่ำ ล่ม คอนโทรลล่ม เป็นเรื่องของสมาธิ การตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยตัวเอง เราก็เออ มันดีกว่าที่คิด เรียนทียาวเลย แล้วเขาก็แฮปปี้มาก

โฮมสคูล มันแตกต่างไปตามบ้าน เพราะว่ามันคือการจัดสรรของพ่อแม่ระดับหนึ่งบวกกับการเลือกของลูก ก็ขึ้นอยู่กับสมาชิกเหมือนกัน เพราะบ้านเราเป็นอย่างนี้ ผมทำงานอย่างนี้ มีสิ่งแวดล้อมประเภทนี้

หมายความว่าทุกบ้านก็จะมีลักษณะเฉพาะตัว ถึงได้บอกว่าจริงๆ ท้ายที่สุดขึ้นอยู่กับทัศนคติของครอบครัวมากๆ ต่อให้ไปเรียนในระบบ เขาส่งไปเรียนในระบบด้วยทัศนคติไหน แล้วก็อาจจะเป็นเรื่องของสถานการณ์ค่าครองชีพ เศรษฐกิจของแต่ละครอบครัวด้วย 

เราเชื่อว่าไม่ใช่ทุกบ้านจะทำโฮมสคูลได้ เพราะว่าต้องมีคนที่ devoted อยู่ หลายบ้านต้องทำงานทั้งสามีภรรยา ไม่มีเวลามาดูลูก แล้วเขาจะโฮมสคูลยังไง

เราจะจัดการยังไงกับชีวิต ผมว่ามันเป็นเรื่องของแต่ละบ้านเหมือนกัน 

แค่เขาแคร์เพื่อนมนุษย์ เราว่าโอเคแล้ว 

ลูกเราไม่ได้คลั่งชาติ เขาไม่ได้คิดว่าเขาเป็นพลเมืองไทยเท่ากับเป็นพลเมืองโลก โลกทุกวันนี้มันเปิดแล้ว เราห้ามไม่ได้แล้ว สิ่งที่เด็กรุ่นใหม่เห็นคือโลกกว้าง สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศนั้นประเทศนี้เขาเห็นหมด เด็กที่โตมารุ่นนี้ เขาจะมีความรู้สึกของการเป็นพลเมืองโลกมากกว่า propaganda ที่เคยกล่อมเกลาคนรุ่นก่อนหน้า ให้ยึดติดกับสถาบันต่างๆ มันใช้ไม่ได้สำหรับเขาแล้ว เขาไม่ได้รู้สึกอินังขังขอบอะไร 

เราก็ต้องยอมรับว่า

หลักๆ เขามองว่าตัวเองเป็นพลเมืองโลก การเป็นพลเมืองโลกคือ เขาไม่ได้คิดว่าทำยังไงให้ประเทศไทยดีขึ้น เท่ากับว่าทำยังไงให้โลกดีขึ้นด้วยซ้ำไป แต่เขายังแคร์มนุษย์อยู่ไง พอเขาแคร์มนุษย์เราคิดว่ามันก็โอเค เขาไม่ได้มองว่าคนไทยยากจน แต่ว่าที่แอฟริกาก็ยังมีคนอดโซยิ่งกว่าเรา เขามองไปถึงปัญหาโลก เวลาที่เขาคิด เขาก็จะพูดเสมอว่าถ้าเขาทำอะไรที่แก้ปัญหาของคนในโลกได้ เขาก็อยากทำ

สิ่งที่เรามองเห็นคือ เขาแคร์มนุษย์ อันนี้เราว่าโอเคแล้ว อย่างที่บอกว่า เราไม่พอใจระบบ แต่เราก็รู้ว่าไม่มีระบบที่สมบูรณ์แบบในโลกนี้ บางทีเราอาจจะอ่านระบบจากทางฟินแลนด์ว่าดีเหลือเกิน หรือว่านอร์เวย์ สวีเดน มีอะไรที่ดีมาก แต่เราก็ทดอยู่ในใจเสมอว่า มึงไม่ใช่คนใน มึงไม่รู้หรอก คนในก็จะมีปัญหาอะไรของมันอยู่แหละ เพราะว่ามนุษย์ไม่ได้พอใจอะไรง่ายๆ ขนาดนั้น 

เพียงแต่ว่าการรับรู้ว่ามีทางเลือกอยู่ เราคิดว่าสำคัญ การรับรู้ว่ามันไม่ได้มีอะไรถูกหรือผิดขนาดนั้น แต่ว่าเรามีทางเลือก เรามีอิสระ ที่จะจัดการและใช้ชีวิตแบบไหน ที่ไหนบนโลกก็ได้ เพราะว่าคนรุ่นเราเป็นรุ่นที่โอกาสปิดกว่า เราบอกเลยว่าตัวเราเองเป็นคนขี้กลัว เราบอกว่าเราไม่พอใจระบบหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ว่าเราถูกกับดักของคนรุ่นก่อน ทำให้ตัวเองไม่สามารถทะลุทุกอย่างได้อย่างเด็กรุ่นใหม่ 

ฉะนั้น ณ ตอนนี้สิ่งที่ drive เราในชีวิต เมื่อก่อนมันอาจจะเป็นเรื่องของตัวเอง ของแค่รอบๆ ตัว หรืออะไรต่างๆ นานา

ตอนนี้สิ่งที่ drive เราเปลี่ยนเป็นลูก กับอนาคต กับคนรุ่นใหม่มากๆ แล้วเราก็เลยสนใจที่ทางของคนรุ่นใหม่มากๆ ว่าทำยังไงให้เขาได้อิสระที่สุดเท่าที่เขาจะทำได้ แล้วให้เขาลองผิดลองถูก ไม่จำเป็นว่าเขาจะต้องถูกเสมอ เขาก็พลาดได้ คนรุ่นใหม่ สิ่งที่เขาต้องให้ตัวเอง และผู้ใหญ่ควรจะให้เขามากๆ คือโอกาส เพราะว่าเป็นวัยที่ล้มได้บ่อย แล้วลุกขึ้นมาให้โอกาสตัวเองได้อีกเยอะเลย เพราะว่าระยะทางเขายังยาว

สิ่งที่กัดกินความรู้สึกเรามากที่สุดคือความใจแคบของคนรุ่นก่อน และความพยายามจะยื้อไม่ให้โลกหมุนไป ยื้อให้โลกเป็นแบบที่กูรู้สึกปลอดภัย ทั้งๆ ที่เขาก็รู้ด้วยนะว่ามันแย่ แต่ว่าเขาไม่กล้าเปลี่ยน เขาไม่กล้าปล่อยโลกให้หลุดออกจากมือไป แล้วก็กลายเป็นว่า เด็กรุ่นใหม่ ทำอะไรก็มีปัญหาสำหรับเขาไปหมด 

วางแผนชีวิต: โตไปเป็นผู้ใหญ่ในแบบที่ยังชอบตัวเองอยู่ 

​เขาอยากไปเรียนยุโรป ระหว่างเรียนจะหาพาร์ทเนอร์ไปด้วย เขาจะควานหาคนที่ใช่ที่จะทำให้ธุรกิจของเขาเป็นจริง เราฟังไปเราก็รู้นะว่าเด็ก มีความวาดฝัน อาจจะฟังดูเพ้อฝันหน่อย แต่เรารู้สึกว่าสิ่งที่เขาวางแผนเกี่ยวกับมนุษย์ เกี่ยวกับการที่เขามองเห็นและตระหนักได้ว่าจะทำยังไงให้มันดีขึ้น เขามองเห็นว่ามนุษย์มีจุดอ่อนเยอะแยะเลย แล้วเราจะทำยังไงให้มันดีขึ้น 

จริงๆ ไม่ควรจะมีใครต้องมาแบกความหวังของอะไรทั้งสิ้น ทั้งหมดทั้งปวง เราจะย้ำกับเขาอยู่เสมอว่า สำคัญที่สุดคือลูกต้องมีความสุขด้วยนะ หมายความว่า พยายามทำสิ่งต่างๆ ที่อยากทำ แล้วใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข เพราะว่าเป็นสิ่งที่พ่อทำไม่ได้ไง เราเป็นคนที่ไม่ค่อยมีความสุขเท่าไหร่ เราเป็นคนที่หมดหวังกับมนุษย์มาก แต่การที่เขายังเด็กอยู่ เขาก็พูดเลย เขาอยากโตเป็นผู้ใหญ่แบบที่เขายังชอบตัวเองอยู่ 

ลูกทำให้ไม่หมดหวังในมนุษย์

​ใช่ๆ เรารู้สึกนะ ไม่ใช่เฉพาะลูก ภรรยาเราด้วย คือเราเป็นคนมองโลกในแง่ร้ายอยู่แล้ว หมดหวังกับมนุษย์ หลังๆ หนังหลายเรื่องหลังของเราว่าด้วยความหมดหวังของมนุษย์ด้วยซ้ำไป แต่ว่า ภรรยาเรา ลูกเราทำให้เรารู้สึกว่า เออมีหวังบ้างก็ได้ ไม่เป็นไร ไม่สำเร็จก็ไม่เป็นไร 

ต่อให้มัน…ต้องไปหน้าชนกำแพงอีกทีก็ไม่เป็นไร แต่ว่าทำยังไงให้ลูกเรามีทัศนคติที่ดีด้วย

​พวกเราเป็นพวกกลับไม่ได้ไปไม่ถึงอยู่นะ ซึ่งมันก็ถูกหล่อหลอมมา โลกทัศน์เราซึ่งมาเปิดเอาตอนโต แต่เด็กมันเปิดตั้งแต่เล็กแล้ว ดังนั้นมันไม่เหมือนกัน 

เรารู้สึกว่าเราไม่ค่อยห่วงที่โลกมันจะหลุดมือไปสู่คนรุ่นใหม่ เท่ากับโลกจะถูกยื้อให้มันอยู่ที่เดิมนะ เรารู้สึกว่าเป็นปัญหากับตรงนั้นมากกว่า

Writer
วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์

Photographer
Avatar photo
ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

นักแปล นักเขียน ช่างภาพสาว ผู้ทำงานประจำอยู่ 6 เดือนและไม่ทำอีกเลย ซึ่งคิดว่าคงเป็นอย่างนี้ตลอดไป หาตัวได้แถวเชียงใหม่และบางแค หัวบันไดไม่เคยแห้งเพราะจ้างร้อยแต่ให้มาล้านทั้งปริมาณภาพ ความยาวของเนื้อหาและพาดหัว ไม่เคยมีคำว่าน้อยแต่มาก มีแต่คำว่ามากแต่มากกว่า

Related Posts

Related Posts