เราชินกับการสอบที่แยกขาดจาก ‘ความรู้สึก’ : คุยกับ โจ้-กิตติรัตน์ ปลื้มจิตร เมื่อ ‘กระดาษคำตอบ’ และระบบการศึกษา ไม่อนุญาตให้เรามีชีวิตจิตใจ

เราชินกับการสอบที่แยกขาดจาก ‘ความรู้สึก’ : คุยกับ โจ้-กิตติรัตน์ ปลื้มจิตร เมื่อ ‘กระดาษคำตอบ’ และระบบการศึกษา ไม่อนุญาตให้เรามีชีวิตจิตใจ

ถ้าถามถึง ‘ประสบการณ์’ ที่ได้จากการสอบ คุณจะนึกถึงอะไร? 

การอ่านหนังสือแบบ One Night Miracle

การท่องจำและความเครียด 

สูตรการมั่วข้อสอบ การลอกเพื่อน 

เกรด คะแนน รางวัลเรียนดี

การสัมผัสความคาดหวังขนาดมหึมา 

การรู้สึกเป็นผู้ชนะ 

การรู้สึกเป็นผู้แพ้ 

ประสบการณ์แบบนี้วนลูปในชีวิตพวกเราซ้ำไปซ้ำมาผ่านสนามการประเมินที่เรียกว่า ‘การสอบ’

หากถอยออกมามองตัวเองและคนรุ่นต่อรุ่นที่ต่างวนเวียนอยู่กับประสบการณ์แบบนี้ ก็อดไม่ได้ที่จะรู้สึกเศร้าใจว่า ‘ระบบการศึกษา’ ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็น ‘พื้นที่การเรียนรู้หลัก’ ของสังคม ได้มอบประสบการณ์ผ่านการประเมินให้กับเราเพียงเท่านี้ ในขณะที่ชีวิตของคนเรามีหลากหลายมิติมากกว่า ‘ก. ข. ค. ง.’ อยู่มาก  การประเมินตลอดระยะเวลาอันยาวนานในระบบการศึกษาไทยกลับทำให้เราคล้ายกับเป็นหุ่นยนต์ที่ไม่ต้องหลับต้องนอน เป็นเครื่องจำคำตอบ เป็นกล่องใส่ความรู้ เป็นทุกอย่างที่ไม่ใช่คนซึ่งมีชีวิตจิตใจ

นำมาสู่คำถามว่า “การศึกษาวันนี้ทำอะไรกับเราอยู่?” 

การประเมินควรนำไปสู่อะไรบ้าง?

เราจะออกแบบการประเมินการเรียนรู้อย่างไร?

แล้วการประเมิน ‘ที่มีชีวิตจิตใจ’ นั้น น่าจะตั้งต้นมาจากคำถามแบบไหน 

วันนี้ Mappa ชวนคุยกับ โจ้-กิตติรัตน์ ปลื้มจิตร อาจารย์ประจำคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่จะมาเล่าถึงมุมมองต่อโลกการศึกษาที่เขาได้พบเจอและเรียนรู้จากการทำงาน ประสบการณ์ การเดินทาง พาไปค้นหาคำถามใหม่เกี่ยวกับการประเมินและการเรียนรู้ที่เราอาจคิดว่าเป็นส่วนที่เคร่งเครียดที่สุดของระบบการศึกษาไทย ทว่าจริงๆ แล้วอาจเป็นเรื่องที่น่าสนุกและเติมพลังของการเรียนรู้ให้มีความหมายมากขึ้นก็เป็นได้  

มองการประเมินใหม่ ในฐานะ ‘การสร้างประสบการณ์’

“พักหลังๆ มาเราสนใจเรื่อง Learning Design เรามองว่าครูต้องเป็นนักออกแบบการเรียนรู้ ครูคือนักออกแบบประสบการณ์ เหมือนเวลาเราเข้าไปในร้านกาแฟดีๆ เราจะรู้สึกว่าเราได้ประสบการณ์ 

“อย่างครั้งหนึ่งเราเคยไปห้องสมุดเนเธอร์แลนด์ เวิร์กมาก เขาออกแบบประสบการณ์ให้เราเหมือนได้เข้าไปในโบสถ์ แล้วมีหนังสือเป็นชั้นๆ มันรู้สึกดีมาก ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เราเองสนใจเรื่องชีวิต เราก็เดินทางไปชั้นที่พูดเรื่องชีวิต ไปมีส่วนร่วมกับพื้นที่ตรงนั้น แล้วก็ได้หนังสือเรื่อง Emotional: How Feelings Shape Our Thinking กลับมา 

“ชั้นที่เป็นหนังสือนิทานของเนเธอร์แลนด์สวยมาก ถ้าเด็กๆ เข้าไปก็จะเกิดประสบการณ์ตรงนั้นได้ เราเลยรู้สึกว่า ‘ครู’ ในฐานะที่เป็นคนออกแบบประสบการณ์หรือเป็น Learning Designer ควรจะมีรูปแบบ ‘การประเมิน’ ที่ ‘ออกแบบประสบการณ์’ บางอย่างกับเด็ก” 

“พอนึกถึงการประเมินแบบสอบที่เราคุ้นเคยกันอยู่ ประสบการณ์ที่เราได้จากการสอบก็คือการแข่งขัน การท่องจำ ความเครียด นั่งโต๊ะเรียงแถว ห้ามลอกกัน แล้วก็มาถามเราทีละข้อ  แล้วเราก็มาเดาว่าข้อไหนถูกข้อไหนผิด รู้สึกว่าประสบการณ์แบบนี้เราไม่ชอบ ถ้าเราเป็นผู้เรียนแล้วเลือกได้ เราอยากให้ครูออกแบบประสบการณ์ให้เราได้ทำการประเมินแบบที่ทำให้รู้สึกว่าเราได้เสริมพลัง (Empower) ตัวเอง รู้สึกมีคุณค่า ค้นพบตัวเอง ได้รู้สึกเติบโต”

การสอบที่ได้เล่าว่าเรา ‘รู้’ และ ‘ไม่รู้’

โจ้เล่าถึงการประเมินแบบที่เขาเล่ามาข้างต้นผ่านประสบการณ์การเรียนรู้ของตัวเอง ที่การประเมินสามารถสร้างประสบการณ์ให้กับเราได้ ซึ่งอาจเป็นแค่ ‘การพูดคุย’ และ ‘สร้างพื้นที่การเติบโต’ ขึ้นมาร่วมกัน

“ช่วงหลังมานี้เราไปเรียน Diploma กับชาวตะวันตก การสอบครั้งนั้นดีมาก แค่มาเล่าว่าที่เราเรียนมาตลอด 1 ปี เราเข้าใจหัวข้อนี้ว่าอะไร และอะไรที่เรายังไม่เข้าใจ เราก็บอกได้ว่าเรื่องนี้เรายังไม่เข้าใจ เราขอถามได้ไหม แล้วก็เป็นการถาม-ตอบกับครู 

“อาจดูเพ้อฝันนะ แต่สำหรับเรารู้สึกว่าการที่ได้แลกเปลี่ยนกับครูมันเป็น Teachable Moment คือเป็นช่วงเวลาที่ ‘ครูสอนได้’ แล้วเราก็ได้ฟังครูจริงๆ  เหมือนคำถามของเรามันผุดมาตอนที่เราอยากจะได้คำตอบ แล้วพอครูให้คำตอบ เราก็จะเอาประสบการณ์ของเราเข้ามาเก็บเป็นความทรงจำ สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความเข้าใจใหม่ เราชอบการสอบแบบนี้ เป็นการสอบที่ได้บอกว่าเรารู้อะไร ไม่รู้อะไร”

“แต่ถ้าเป็นการสอบในระบบการศึกษาไทย เด็กต้องอ่านเหมือนๆ กัน 30 – 40 คน ทำข้อสอบเหมือนๆ กัน แล้วก็ต้องแข่งกันเพื่อที่จะวัดว่าใครได้คะแนนเท่าไร เพื่อแปรออกมาเป็นคะแนนรวม ต่อมาก็แปรเป็นเกรด 0-1-2-3-4 เราว่านี่มันไม่ใช่ประสบการณ์ที่ดีเลย” 

การประเมินที่ทำให้รู้สึกว่า ‘อยากรู้ต่อ’ 

โจ้บอกว่าเมื่อพูดมาถึงตรงนี้ก็ไม่ได้หมายว่าจะปฏิเสธการสอบแบบเดิมทั้งหมด เพราะเข้าใจว่าระบบไม่สามารถเปลี่ยนอย่างฉับพลันได้ ดังนั้นในมุมมองส่วนตัวจึงยังเปิดใจหากยังคงมีการประเมินแบบเดิมอยู่ เพียงแค่อาจจำเป็นต้องมีพื้นที่ให้เกิดการประเมินที่หลากหลายมากขึ้น และการประเมินควรเป็นไปเพื่อให้เด็ก ‘อยากรู้ต่อ’ เขาเล่าผ่านประสบการณ์ในการทำงานกับห้องเรียนในฐานะนักวิจัยให้เราเห็นภาพได้อย่างน่าสนใจ

“ครูคนหนึ่งในฐานะ Learning Designer น่าจะได้ออกแบบการประเมินแบบอื่นได้อีก เด็กอยู่กับเขา 3 เดือน ตอนต้นคาบถึงท้ายคาบ เราจะออกแบบประสบการณ์จากการประเมินยังไงที่จะเป็นเครื่องมือช่วยให้เด็กอยากรู้ต่อ”

“สมมติว่าเราเรียนวิชาวิทยาศาตร์เรื่อง ‘แรง’ ในการส่งวัตถุบางอย่างลอยขึ้นไปในอากาศ โจทย์คือทำยังไงที่ไม่ใช่แค่การสอบก่อนเรียน ทำให้ช่วงต้นคาบเด็กรู้สึกอยากรู้ต่อว่าวัตถุหนึ่งสิ่งจะลอยขึ้นได้ยังไง เช่น ชวนตั้งคำถาม “เด็กๆ รู้ไหมว่าวัตถุหนึ่งวัตถุจะลอยขึ้นอย่างไร” เด็กก็จะบอกว่า “รู้ครับครู/ไม่รู้ค่ะครู” บางคนอาจบอกว่า “โยนสิครับ” ครูก็อาจชวนถามต่อ “แล้วจะมีวิธีอื่นไหมนอกจากโยน” นี่ก็เป็นการประเมินต้นคาบนะ 

“ซึ่งการประเมินมันเป็นเครื่องมือหนึ่งในการทำให้อยากเรียนรู้ก่อน แล้วก็ไปหาคำตอบกันต่อตลอด 3 เดือนที่เด็กได้อยู่กับครูว่าจะหาวิธีการยังไงให้วัตถุมันลอยขึ้นไปในอากาศ เสร็จแล้วครูก็ออกแบบการเรียนรู้ให้เด็กไปลองหาวิธี เด็กจะเรียนสนุกมาก พอได้รับโจทย์เขาก็จะเริ่มหาแล้วว่าจะใช้วิธีไหนดี ลองดีดดูได้ไหม หรือทำดินปืนแบบบั้งไฟจุดให้มันลอยขึ้นไปบนอากาศเลย หรือทำเป็นแรงดันน้ำพ่นเอาลมออกมา เขาจะเริ่มไปค้นหาความรู้

“เมื่อเด็กเรียนรู้ อาจเกิดเป็นโปรเจกต์แบบต่างๆ ออกมา ตอนท้ายของการเรียนรู้ครูก็มาชวนคุยต่อ “เรามาดูกันดีกว่าว่าวัตถุลอยได้มีกี่วิธี” แล้วการที่เด็กตอบออกมาทั้งหมดคือการประเมิน สำหรับเราแล้วการประเมิน คือ ‘การทบทวนประสบการณ์’ คือการสร้างความรู้ใหม่ คือการตอบคำถามที่เด็กตั้งไว้ตั้งแต่ต้นคาบ และมันมีชีวิตชีวา” 

เมื่อการประเมินทำให้เราเห็นความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์หลากหลายมากกว่าคำตอบหนึ่งเดียว การประเมินก็เริ่มมีชีวิตจิตใจมากขึ้น สร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนพูดคุยกันมากขึ้น เปิดโอกาสให้มีคำตอบที่หลากหลายขึ้นอย่างที่โจ้ว่า แล้วความน่าสนใจก็คือการประเมินแบบนี้ยังสร้างพื้นที่ความสัมพันธ์ระหว่างคนที่เรียนรู้และเพื่อนๆ ร่วมพื้นที่การเรียนรู้นี้ได้ด้วยไปในตัว 

“การออกแบบประสบการณ์ในการประเมินทำให้ได้เพื่อน และทำให้เห็นทางเลือกด้วยว่า เพื่อนทำแบบนั้น เราทำแบบนี้ สมมติเราเห็นวัตถุของเพื่อนลอยสูงกว่าเรา เราจะเริ่มสังเกตแล้วคิดว่าเพื่อนใช้วิธีการไหน และเมื่อเกิดการแลกเปลี่ยนก็ยิ่งทำให้การเรียนรู้กว้างไปอีก” 

กระดาษคำตอบที่มี ‘ความรู้สึก’  

นอกจากโลกการประเมินที่เราเคยชินจะไม่สามารถสร้างประสบการณ์ที่แตกต่างได้เลย วนลูปอยู่กับประสบการณ์แห่งความตึงเครียด การตัดสิน และการแข่งขันแบบเดิมแบบเดียวตั้งแต่ในห้องเรียนไปจนถึงโลกของการประเมินระดับประเทศ ที่กดทับเราด้วยกระดาษปึกหนาเสมอมา 

โจ้ยังชวนสังเกตถึงการมองการประเมินที่มีลักษณะ ‘แยกขาด’ ออกจากการเรียนรู้ ทั้งชี้ชวนให้เห็นแนวทางการเรียนรู้ที่น่าสนใจอย่างการศึกษาแบบองค์รวม (Holistic Education) ซึ่งนำไปสู่สายตาการมองการประเมินที่เชื่อมโยงกับมนุษย์ซึ่งมีชีวิตจิตใจได้รอบด้านมากขึ้น 

จอห์น พี มิลเลอร์ (John P. Miller) นักการศึกษาชาวแคนาดา พูดถึงการเรียนรู้ในความหมายที่ไม่ใช่การศึกษาแบบองค์รวม (Holistic Education) ว่ามันแยกขาดชีวิตกับสิ่งที่เรียกว่าการเรียนรู้ เหมือนการสอบที่แยกเราออกจากความรู้หรือความสัมพันธ์ต่อสิ่งที่เรียนรู้ แต่การเรียนรู้แบบองค์รวมมันต้องเชื่อมชีวิตเข้ากับการเรียนรู้ ต้องรู้สึกว่าสิ่งที่เขาเรียนรู้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต” 

“หากเรามองการสอบที่เราเคยชินจะเห็นว่ามันเป็นการสอบที่แยกขาดระหว่าง ความรู้ ความรู้สึก และจิตใจ แต่การศึกษาแบบองค์รวมจะเชื่อมสิ่งเหล่านี้ไปพร้อมกัน คือจะประเมินทั้งความรู้สึก ประสบการณ์ ทักษะและความรู้ความเข้าใจไปด้วยกัน แต่การประเมินในแบบที่เราเป็นกันอยู่มันไปประเมินแค่ความรู้ แล้วตัดแยกความรู้สึกออกไป เด็กไม่สามารถบอกได้ว่าฉันมีความสุข ทั้งที่เวลาเด็กเกิดการเรียนรู้จริงๆ มันสนุกมาก อย่างทำวัตถุบั้งไฟลอยได้มันสนุกจะตาย แต่ความรู้สึกสนุกกลับไม่ได้รับการสนใจ เอาแค่ข้อมูลมาพูดคือเด็กต้องตอบให้ได้ว่าสูตรในการทำให้วัตถุลอยได้ตามหลักการของนักวิทยาศาสตร์คนนี้บอกไว้ว่าอะไร” 

โจ้เล่าต่อถึงเพื่อนชาวเยอรมันของเขาที่เคยแชร์มุมมองเกี่ยวกับการเรียนรู้ประวัติศาสตร์บาดแผลของเยอรมนีที่การเรียนรู้และทำความเข้าใจเรื่องนี้ไม่สามารถแยกขาดออกจาก ‘ความรู้สึก’ ได้เลย

“เพื่อนเราเป็นคนเยอรมัน แล้วเขาก็ผ่านการเรียนรู้ต่อช่วงเวลาที่ยากจริงๆ คือช่วงของ ฮิตเลอร์ ผู้นำที่มี Mindset ที่ผิด นำไปสู่สงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว การเหยียดเชื้อชาติ ความเกลียดชัง ตรงนี้ท่องจำไม่ได้เลยนะ มันต้องเรียนผ่านความรู้สึกทั้งหมด เพื่อนเราบอกว่าประวัติศาสตร์ครั้งนั้นทำให้คนเยอรมันรู้สึกผิดมาก แล้วความรู้สึกเหล่านี้เองมันหล่อหลอมให้คนเยอรมันเป็นคนที่ถ้าเห็นความผิดพลาดของผู้นำ แม้ว่าจะเป็นผู้นำที่เหนือกว่าเราหรือเป็นเจ้านายเรา เขาจะต้องโต้แย้งทันที แล้วพูดเลย เพราะเขาเรียนรู้แล้วว่าความรู้สึกในการเชื่อผู้นำที่ผิดมันนำไปสู่เหตุการณ์ผิดพลาดที่ยิ่งใหญ่มากๆ การเรียนรู้บางครั้งมันต้องเรียนรู้ผ่านความรู้สึกด้วย มันถึงจะเกิดการเข้าใจเรื่องนั้นจริงๆ”

มากกว่าตอบข้อสอบได้คือ ‘ตอบตัวเองได้’  

โลกการประเมินที่ตัดขาดออกจากชีวิตจิตใจ มองความรู้แยกส่วนกับความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ การออกแบบประสบการณ์ผ่านการประเมินที่ไม่เคยไปได้ไกลเกินการสอบเช่นที่สังคมเราเป็นอยู่นี้ นอกจากจะมอบกระดาษคำตอบที่มีเพียงคำตอบเดียวไว้กับเด็กๆ แล้ว ยังปิดประตูของคำตอบอื่นๆ ไปโดยปริยาย 

เมื่อเหลือคำตอบหรือทางไม่กี่ทางให้เดินไป จึงไม่แปลกที่หลายคนหลุดร่วงจากการเรียนรู้และการเติบโตในสังคมไทย เนื่องจากอยู่ในสังคมและระบบการศึกษาที่มุ่งรักษาชุดคุณค่าเพียงแบบใดแบบเดียวเช่นนี้  โจ้ชวนคุยถึงประเด็นนี้ผ่านประสบการณ์ที่เขาเคยไปลงพื้นที่โรงเรียนหนึ่งว่า 

“เราไปลงพื้นที่ทำงานโรงเรียนหนึ่ง เจอเด็ก ม.3 จำนวน 7 คนนั่งอยู่หน้าป้ายโรงเรียน เลยเข้าไปคุยแล้วถามว่า “จบแล้วอยากทำอะไร”  มีเด็ก 2 คนเท่านั้นที่กล้าพูดออกมา เด็กคนหนึ่งบอก “ผมจะเรียนด้าน Art & Design ที่อาชีวะต่อ” เด็กคนหนึ่งบอก “ผมจะต่อ ม.ปลายครับ”  แต่สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกเศร้ามากคือมีน้องสองคนเดินหลบไปหลังป้าย แล้วยิ่งเขาเดินหลบเรายิ่งอยากให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะเราก็อยาก Empower เขา สิ่งที่เราสังเกตเห็นคือเขาพยายามหลบตาตลอด ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง แล้วก็พูดเหมือนว่าคงจะไม่ได้เรียน” 

“พอเจอแบบนี้เรารู้สึกว่าทำไมในเด็ก 7 คน มีเพียงแค่ 2 คนเท่านั้นที่ตอบได้ว่าฉันชอบอะไร ฉันอยากจะไปไหนต่อ แต่ยังมีเด็กอีก 2 คนที่หลบไปหลังป้ายแล้วไม่อยากจะพูดอะไร มันมีภาษากาย ความเงียบ การหลีกหนี ความกลัว ความรู้สึกว่าไม่มั่นใจตามมาให้เห็นอีกเยอะมาก คำถามก็คือว่าการศึกษาทำอะไรกับพวกเขาอยู่” 

“การศึกษามันควรต้องช่วยให้เด็กค้นพบตัวเองหรือได้รู้จักตัวเองบ้าง เด็ก ม.3 น่ะ อย่าเพิ่งไปสนใจเลยว่าเขาท่องอะไรได้ ท่องอะไรไม่ได้ สอบผ่านหรือไม่ผ่าน แต่การศึกษาที่ไม่ได้ช่วยให้เขาค้นพบตัวเอง นั่นเป็นเรื่องที่น่าเสียใจและเสียดายมากกว่า” 

“เด็กคนหนึ่งเขาควรจะได้การเรียนรู้ที่ทำให้ค้นพบตัวเองว่าจะไปยังไงต่อ แล้วถ้าเขามีบาดแผลทางจิตใจกับครอบครัว มีปมปัญหาอื่นๆ เราก็ควรจะเข้าไปทำงานสนับสนุนช่วยเหลือในส่วนตรงนี้ การประเมินและระบบการศึกษาของเรามันตัดขาดตรงนี้ไป เหลือแค่ว่าเด็กคนหนึ่งได้ชุดความรู้นั้นหรือเปล่า” 

เมื่อพูดมาถึงการเข้าไปสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็กในโลกการประเมินและการเรียนรู้ โจ้เล่าประสบการณ์ที่ทำให้เห็นภาพมากขึ้นว่าการทำงานกับการเรียนรู้ของเด็กมีอะไรซุกซ่อนอยู่อย่างซับซ้อนและลึกซึ้ง การออกแบบประสบการณ์ให้เขาได้มี ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ในการเล่าเรื่องราวของตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นความหมายหนึ่งในการเรียนรู้ที่จะนำไปสู่การมองการประเมินที่ไม่ได้แช่แข็งอยู่เพียงเรื่องคะแนน แต่มันคือเรื่องการเข้าใจภายในของตัวเองด้วย 

“นักศึกษาปริญญาโทของเราชวนเด็กๆ 4 – 5 คนมาให้เราสัมภาษณ์ เด็กคนหนึ่งพูดจาดีฉะฉานมาก” 

“…หนูเป็นเด็กกิจกรรมสวดมนต์ ท่องสรภัญญะ รู้สึกภาคภูมิใจ…” 

“แล้วหลังจากจบกระบวนการ เด็กคนนั้นก็กลับไป ลูกศิษย์เราที่เป็นนักศึกษาปริญญาโทก็มาบอกว่าเขาเอากระบวนการจากที่สัมภาษณ์วันนั้นไปให้เด็กวาดภาพศิลปะ เลยอยากจะโชว์ภาพให้เราดู ปรากฏว่าภาพของเด็กกิจกรรมคนนั้นที่ดูเป็นเด็กแถวหน้า เด็กเรียนดีกิจกรรมเด่น  ภาพกลับออกมาดาร์กมาก คือเค้าวาดรูปว่าโดนคาดหวังจากคนที่บ้าน จะเห็นเลยว่าเราไม่รู้ว่าเด็กคนหนึ่งรู้สึกยังไงกับชีวิตของตัวเองบ้าง จริงๆ ประสบการณ์แบบนี้ก็เป็นการออกแบบแบบหนึ่งที่ทำให้เด็กได้มีพื้นที่เล่า” 

“เพราะเด็กไม่ได้มาเรียนวิชาการเพื่อสอบเอาคะแนนอย่างเดียว เขามาเรียนเรื่องการเติบโตด้วย แล้วการที่มีพื้นที่ให้เขาพูดถึงว่า ณ วันนี้เขารู้สึกยังไง เขาคิดยังไงกับครอบครัว คิดยังไงกับการเรียนต่อ มันคือการรู้จักชีวิตตัวเอง”

ตั้งคำถามใหม่ในคำเดิมอย่าง ‘การประเมิน’

“การประเมินมีหลายยุค ยุคเก่าแก่ที่สุดเลยก็คือเชื่อว่าการประเมินคือการตัดสิน อันนี้คือยุค ‘เก๊าเก่า’ เป็นยุคแรกที่การประเมินถูกใช้เป็นเครื่องมือทดสอบว่าคนผ่านไม่ผ่าน สอบได้หรือตก 

“ยุคต่อมาเป็นยุคที่อธิบายว่าคนคนหนึ่งเป็นอย่างไร พอยุคที่สามเป็นยุคแห่งการเรียนรู้ คือการประเมินถูกใช้ไปเพื่อเป็นการเรียนรู้ และยุคสุดท้ายคือ ยุคที่เชื่อว่าการประเมินเป็นกระบวนการสร้างความรู้ใหม่ ทำให้คนมีสายตาใหม่ แล้วค้นพบตัวเอง แต่ไม่ได้หมายความว่าพอมาถึงยุคปัจจุบันแล้ว การประเมินที่ดีที่สุดจะหมายถึงการสร้างความรู้และข้อค้นพบใหม่อย่างเดียว มันควรจะมีทั้ง 4 อันนี้ไปด้วยกัน ถูกใช้ต่างกรรม ต่างวาระ” 

เมื่อถามว่าแล้วการประเมินแบบที่เราคุยกันมานี้มันจะเกิดขึ้นได้จริงหรือในระบบการศึกษาที่ก่อร่างมาทับซ้อนและยาวนาน ซึ่งดูเหมือนว่าการประเมินแบบยุคดั้งเดิมจะยังเป็นการประเมินแบบหลักและมีอิทธิพลมากต่อการออกแบบโลกการเรียนรู้ของไทยในระดับต่างๆ ตั้งแต่ในห้องเรียนไปจนถึงระดับประเทศ 

“มันทำได้และเป็นไปได้ ถ้าเราเปลี่ยนวิธีคิดก่อน เริ่มจากมองว่าโรงเรียนไม่ใช่พื้นที่ให้ความรู้อย่างเดียวเท่านั้น แต่โรงเรียนเป็นพื้นที่ในการบ่มเพาะและการสร้างเส้นทางให้เด็กค้นพบตัวเอง สร้างการเติบโตให้คนคนหนึ่ง แล้วก็เป็นโรงเรียนแห่งชีวิต พอเราเข้าใจแบบนี้เราก็จะไม่มองว่าเด็กคนหนึ่งมีความรู้เข้าไปเติมหัวเท่านั้น แต่มันมีการเติบโตในมิติจิตใจของเขาด้วย เขามีครอบครัวที่พกพามาด้วย พกพาความเครียด พกพาปมเข้ามา การออกแบบการเรียนรู้และการออกแบบประสบการณ์มันก็เพื่อรองรับมนุษย์ที่เข้ามาในพื้นการเรียนรู้แห่งนี้”

นอกจากนี้โจ้ยังชี้ชวนให้เห็นโครงสร้างที่ครอบทับระบบการศึกษาและความ ‘ไม่ไว้วางใจ’ ที่ส่งต่อกันมาตั้งแต่ส่วนกลางแล้วส่งกันไปเป็นทอดๆ ถึงนักเรียน ทำให้พื้นที่การเรียนรู้เกิดขึ้นมาได้ยาก 

“อุปสรรคสำคัญคือความไม่ไว้ใจ ส่วนกลางไม่ไว้ใจ เลยพยายามทดสอบ ไม่ไว้ใจแม้แต่ครูให้มีอำนาจเป็นนักออกแบบการเรียนรู้ในโรงเรียน สร้างประสบการณ์การประเมินเอง สร้างการเรียนรู้แบบของตัวเอง กระทรวงฯ ก็เลยออกแบบการประเมินมาเยอะมากเพราะไม่ไว้ใจครู เขาเลยเอาค่ากลางอะไรบางอย่างมาให้คนข้ามเกณฑ์อยู่ตลอดเวลา ข้ามขั้นจาก ป.1 เป็น ป.2 ป.3 ป.4 สอบกลางภาค สอบปลายภาคก็ต้องทำให้มันเหมือนกัน ครูก็เอาพลังงานของความไม่ไว้ใจจากส่วนกลางมาไม่ไว้ใจนักเรียนต่อ

“ถ้าจะก้าวข้ามตรงนี้ต้องสร้างความไว้ใจให้กับครู อนุญาตให้ครูทำอะไรได้ด้วยตัวเอง สร้างระบบพัฒนาครูให้ครูเป็น Learning Designer ตัวจริง” 

โจ้ยังชวน ‘ตั้งคำถามใหม่’ เกี่ยวกับโลกของการประเมินที่หลายครั้งเรามักหาคำตอบด้วยคำถามที่ว่า ‘การประเมินควรจะเป็นอย่างไร?’ ซึ่งอาจไม่สามารถพาเราไปสู่คำตอบที่สำคัญไปกว่ารูปแบบว่า

“พอพูดถึงการประเมิน มันไม่ได้ต้องตอบคำถามว่าการประเมินควรจะเป็นอย่างไร แต่มันต้องตอบคำถามว่า การสร้างการเรียนรู้ให้เด็กคนหนึ่งเติบโตผ่านพื้นที่ตรงนี้มันทำอย่างไรได้บ้าง แล้วการประเมินจะเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งที่จะช่วยสร้างประสบการณ์เรียนรู้ตรงนั้น”

Writer
Avatar photo
ศิรินญา

หาทำอะไรไปเรื่อยๆ ตามประสาวัยลุ้น

illustrator
Avatar photo
สิริกร พรอนงค์

ดีไซน์เนอร์, นักวาด และอาร์ตไดมือใหม่ที่ชอบไปทะเล

Related Posts

Related Posts