

It Might Be…More Than Just a Picture Book โลกธรรมดาในสายตา Shinsuke Yoshitake
It Might Be…More Than Just a Picture Book โลกธรรมดาในสายตา Shinsuke Yoshitake
โลกที่เต็มไปด้วยคำถาม: การเดินทางในนิทรรศการ Shinsuke Yoshitake และบทสนทนาระหว่างหนังสือภาพกับความคิด
แม่บีไปดูนิทรรศการน่ารักงานนึงที่โตเกียวมาค่ะ
แล้วอยากนำมาเล่าให้กับชาว Mappa และสานอักษร ฟัง
นิทรรศการนี้จัดขึ้นที่ Creative Museum Tokyo ใสชื่อยาวเหยียดว่า “It Might Be a Yoshitake Shinsuke Exhibition: Expanded Edition”

ชื่อที่ชวนยิ้มนี้คือประตูสู่โลกของศิลปินในดวงใจของครอบครัวแม่บี ผู้สร้างสรรค์งานหนังสือภาพสำหรับเด็ก (และผู้ใหญ่) ภายใต้ความเชื่อว่าทุกอย่างในชีวิต “อาจจะเป็นอะไรบางอย่างที่มากกว่าที่เห็นก็ได้”
แนะนำ Shinsuke Yoshitake
Shinsuke Yoshitake (ชินสุเกะ โยชิทาเกะ) เป็นนักวาดภาพประกอบและนักเขียนหนังสือภาพสำหรับเด็กชาวญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงจากผลงานที่มีความคิดสร้างสรรค์และมุมมองที่แปลกใหม่ เขาเกิดเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2516 ที่เมืองชิกาซากิ จังหวัดคานางาวะ ประเทศญี่ปุ่น และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยสึคุบะ สาขาศิลปะและการออกแบบแบบบูรณาการ

เขาเริ่มต้นอาชีพในฐานะนักวาดภาพประกอบและศิลปินสร้างสรรค์ โดยมีความสนใจในศิลปะการสร้างสรรค์รูปทรงสามมิติ เช่น การสร้างหุ่นจำลองและอุปกรณ์ประกอบฉาก ในช่วงปี 1998 เขาได้ร่วมก่อตั้งสตูดิโอศิลปะร่วมกับเพื่อนร่วมงาน ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “Pantagraph” ในปี 2007
ผลงานเดบิวต์ของเขาคือหนังสือภาพสำหรับเด็กเรื่อง It Might Be an Apple (りんごかもしれない) ซึ่งตีพิมพ์ในปี 2013 หนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัล MOE Picture Book Award และรางวัลศิลปะจาก Sankeisha Children’s Publishing Culture Awards
ผลงานอื่นๆ ที่มีชื่อเสียง ได้แก่: Still Stuck, What Happens Next?, Can I Build Another Me?, The Boring Book, และ There Must Be More Than That! ซึ่งหนังสือของเขาได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ มากกว่า 10 ภาษา และได้รับการยกย่องจากสื่อระดับนานาชาติ เช่น The New York Times แน่นอนว่าครองใจครอบครัวนักอ่านชาวไทยด้วยเช่นกัน
คุณชินสุเกะมักจะเริ่มต้นงานของเขาด้วยการร่างภาพด้วยดินสอกลไกและใช้ปากกาขนาด 0.3 มม. เป็นลายเส้นที่เด็กๆ เห็นที่ไหนก็จำได้ทันที เป็นวิธีการที่เรียบง่าย โดยเขาเคยกล่าวว่าแรงบันดาลใจของเขามาจากความต้องการที่จะบันทึกสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันที่อาจถูกลืมเลือนไปหากไม่ถูกจดบันทึกไว้ทันที
มันเลยต้องเป็นวิธีง่ายๆ แบบนั้น
ผลงานของโยชิทาเกะได้รับการจัดแสดงในนิทรรศการต่างๆ รวมถึง “ヨシタケシンスケ展かもしれない” ซึ่งจัดขึ้นที่พิพิธภัณฑ์ Kurayoshi Museum ในปี 2023 และเวอร์ชันล่าสุด ณ Creative Museum Tokyo ในปี 2025 นี้ เขายังได้รับรางวัลจากงาน Bologna Ragazzi Award และได้รับการยกย่องจาก The New York Times ว่าเป็นหนึ่งในผู้สร้างสรรค์หนังสือภาพสำหรับเด็กที่ดีที่สุดคนหนึ่งของโลก
It Might Be… ความธรรมดาที่พาเราคิดไกล: อ่านโลกผ่านสายตา Shinsuke Yoshitake
แม่บีเดินเข้าไปในนิทรรศการ “It Might Be a Yoshitake Shinsuke Exhibition” ด้วยความเบิกบานและตื่นเต้นเหมือนเด็กๆ เพราะอ่านหนังสือของชินสุเกะให้ลูกๆ ฟังตั้งแต่เค้ายังเด็ก และเป็นนักเขียนคนโปรดของบ้านเราทุกคนเลย ไม่ว่าจะเป็นลูกสาว ลูกชาย ซึ่งตอนนี้เป็นวัยรุ่นแล้ว หรือคุณพ่อ ก็ตาม การได้เห็นกระบวนการคิดและสร้างสรรค์งานของเขา เลยเป็นเรื่องชวนตื่นเต้นของเราทั้งครอบครัว

ระหว่างทางของนิทรรศการ แม่บีพบว่าคุณชินสุเกะเป็นคนที่มีการจัดระบบความคิดได้เป็นระเบียบมากๆ เขาจัดบันทึกใส่กล่องแบ่งเป็นหมวดหมู่อย่างเรียบร้อย ภายในงานมีการแสดงภาพร่างเล็กๆ หลายพันชิ้นที่บางครั้งเขาก็วาดไว้แก้เบื่อ ตอนเครียด หรือแค่เพราะอยากวาด ซึ่งกลายเป็นคลังความคิดสร้างสรรค์พร้อมใช้ เป็นเรื่องเรียบง่ายและทำให้เห็นว่ากระบวนการทำงานของนักสร้างสรรค์ไม่ใช่สิ่งห่างไกล แต่เป็นสิ่งที่เริ่มได้จากการสังเกตสิ่งเล็กๆ รอบตัว
นอกจากนั้น แม่บีพบว่า ไม่ใช่แค่เด็กที่ได้เล่นกับภาพ แต่เป็นผู้ใหญ่อย่างเราเองต่างหากที่ได้กลับไปเจอความรู้สึกบางอย่างที่เราอาจลืมไปแล้ว อย่างเช่น ความกล้าที่จะสงสัย ความสุขที่ไม่ต้องรีบหาข้อสรุป และความงดงามของสิ่งธรรมดาในชีวิตประจำวัน และสิ่งเหล่านั้นคือไฮไลท์ในงานของชินสุเกะ แทบทุกเล่มที่เขาเขียนขึ้น
หนังสือภาพที่ทุกอย่างเริ่มต้นจากคำถามเล็กๆ
ชินสุเกะ ไม่ได้วาดโลกเพื่อบอกว่า “โลกเป็นอย่างไร” เขาวาดเพื่อชวนเราตั้งคำถามว่า “โลกอาจจะเป็นอะไรได้บ้าง” หนังสือเล่มที่ได้รับความนิยมทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยคือ It Might Be an Apple ที่เกี่ยวกับเด็กชายที่ตั้งคำถามกับแอปเปิ้ลบนโต๊ะ ไม่ได้แค่สงสัยว่าเป็นผลไม้อะไร แต่เขาสงสัยถึงความจริง ความลวง และสิ่งที่เราเลือกจะเชื่อหรือไม่เชื่อ แม่บีคิดว่า สำหรับเด็ก การตั้งคำถามเช่นนี้คือการฝึก “กล้ามเนื้อความคิด” แบบที่โรงเรียนมักลืมให้ความสำคัญ เป็นสิ่งที่พูดสอนยากมากๆ และคุณชินสุเกะเรียบเรียงหนังสืออกมาได้ดีมากๆ

ความสงสัยคือจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้
ในฐานะแม่และนักวิจัยด้านการเรียนรู้ แม่บีเห็นว่าสิ่งที่ Yoshitake ทำ คือการสอนแบบที่ไม่ต้องสอน เขาวางกับดักเล็กๆ ไว้ในแต่ละหน้า ไม่ใช่เพื่อให้เด็กตกใจ แต่เพื่อให้เขาหยุดแล้วตั้งคำถาม ความสงสัยจึงไม่ใช่แค่จุดเริ่มต้นของความรู้ แต่มันคือจุดเริ่มต้นของความเข้าใจตัวเอง

เขาเคยเล่าว่า “บางทีสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้เขา คือสิ่งที่ธรรมดาจนถ้าไม่รีบจด มันจะหายไป” เช่น การเห็นสตอเบอร์รี่อยู่ในถุงผ้าของผู้หญิงคนหนึ่งบนรถไฟ หรือการที่ลูกตื่นนอนมาด้วยผมยุ่งๆ ทั้งหัว สิ่งเหล่านี้คือ “ร่องรอยความเป็นมนุษย์” ที่เขาหยิบมาเล่าได้อย่างตลก ขำขัน มีสาระ และแฝงด้วยปรัชญา
แรงบันดาลใจจากผมยุ่งและความเบื่อหน่าย
ใน Still Stuck เด็กชายที่ถอดเสื้อไม่ออกอาจเป็นเพียงตัวแทนของเด็กดื้อถ้าเรามองเพียงผิวเผิน แต่ความเป็นจริงแล้วเขาคือภาพแทนของความรู้สึกติดขัดในชีวิตที่ผู้ใหญ่เองก็มีไม่ต่างกัน ชินสุเกะไม่รีบช่วยเด็กคนนั้นออกจากเสื้อ หรือพาไปที่ปลายทางที่เป็น how to ของการถอดเสื้อ แต่ปล่อยให้เขาสำรวจความรู้สึกที่ซับซ้อน เช่น ความอึดอัด ความไม่เข้าใจตัวเอง และสุดท้าย ความสามารถในการรับมือกับมันได้ด้วยตัวเอง ซึ่งแม่บีคิดว่าการบรรจุทักษะเหล่านี้ในหนังสือนิทานภาพเพียงไม่กี่หน้า ทำให้เราเข้าใจได้มากเลยทีเดียว
ศิลปะของความไม่สมบูรณ์แบบ
หนึ่งในสิ่งที่แม่บีรู้สึกว่าเป็นแก่นกลางของงาน Yoshitake คือความตั้งใจในการสังเกตชีวิตประจำวันเล็กๆ น้อยๆ และถ่ายทอดมันออกมาอย่างไม่ลืมรากที่เรียบง่ายของความคิดสร้างสรรค์ เบื้องหลังความเรียบง่ายในงานของ Yoshitake แท้จริงแล้วเต็มไปด้วยความละเอียดอ่อนทางเทคนิค เขามีวิธีการเปลี่ยนเรื่องธรรมดาให้กลายเป็นงานเล่าที่ทั้งน่ารักและเฉียบแหลมในเวลาเดียวกัน เช่น การตั้งคำถามแบบ “what if” กับสิ่งรอบตัวอย่างแอปเปิ้ล หนังยาง หรือผมยุ่ง แล้วนำไปสู่อีกโลกหนึ่งของความเป็นไปได้
เส้นลายปากกาของเขาเน้นการเคลื่อนไหวเล็กๆ ที่เปี่ยมชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการดึงผมหรือขมวดคิ้ว ล้วนทำให้ภาพดูมีชีวิตและชวนหัวเราะได้อย่างเป็นธรรมชาติ ตัวละครมักถูกจับในจังหวะที่ไม่สมบูรณ์ เช่น กำลังพยายามหลุดจากเสื้อ หรือกำลังค้างอยู่ในท่าที่ยังไม่เสร็จสิ้น นี่ทำให้เกิดพลังของภาพที่เคลื่อนไหวในหัวผู้อ่านอยู่ตลอดเวลา และผู้อ่านก็เชื่อมโยงประสบการณ์นั้นได้เช่นกัน เพราะเรื่องธณรมดาเหล่านี้เคยเกิดขึ้นกับพวกเราทุกคน

นอกจากนั้น งานส่วนใหญ่ของชินสุเกะ เขามักจงใจเว้นช่องว่างไว้ให้ผู้อ่านแทรกตัวเข้าไป เช่น การไม่ตั้งชื่อตัวละคร การไม่บอกว่าฉากอยู่ที่ไหน หรือแม้แต่ปล่อยให้คำพูดดูธรรมดาไปเลย แต่เมื่อรวมกับภาพที่เต็มไปด้วยรายละเอียดป่วนๆ ความตลก และความเหงา มันกลับกลายเป็นเรื่องราวที่ผู้อ่านแต่ละคนจะเติมความหมายของตัวเองเข้าไปได้อย่างเป็นอิสระ และไม่ว่าสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังภาพและคำของชินสุเกะจะลึกซึ้ง หรือเป็นปรัชญามากแค่ไหน เขาไว้ใจว่าผู้อ่านของเขาจะเข้าใจสิ่งเหล่านี้ได้เสมอ
Metacognition: การรอคอยให้ความเงียบชวนมองความคิด และปูทางไปสู่กระบวนการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์
เมื่อเราเจอปัญหาใดๆ สิ่งแรกที่จะพุ่งมากลบทุกสิ่งอย่างไว้ก็คือ “อารมณ์เชิงลบ” ทำให้เรารีบขจัดปัญหาออกไปเร็วๆ แต่ละทิ้งการทำความเข้าใจกลไกของตัวเราหรือธรรมชาติ เราค้นพบว่าสิ่งที่ชินสุเกะให้ไว้ในหนังสือแทบทุกเล่มก่อนจะเข้าสู่การคิดวิเคราะห์ คือ “การรอคอย” ให้อารมณ์ค่อยๆ เบาบางลง จนอยู่ในสภาวะนิ่งและเงียบ หรือสภาวะที่พร้อมเรียนรู้นั่นเอง
สื่งหนึ่งที่เราถอดรหัสได้จากงานของชินสุเกะ คือความเงียบของฉากและตัวละคร จะสังเกตได้ว่า ส่วนใหญ่ในฉากที่ดำเนินไปในงานของชินสุเกะจะไม่มีเสียงดัง ไม่มีเรื่องราวเยอะ ในขณะที่ตัวละคร (มักจะ) พูดคุยกับความคิดของตัวเอง หรือหากมีปฏิสัมพันธ์ก็จะเป็นการพูดคุยเพียงแค่ 1-2 คน ซึ่งมันคือความเงียบ

และความเงียบนี้เอง ทำให้เห็นความรู้สึก และความนึกคิดตัวละครอย่างชัดเจน และเป็นการรับรู้ความรู้สึกแบบไม่แทรกแซง ไม่ตัดสิน และส่วนใหญ่แทบจะเป็นความคิดที่เกิดขึ้นในหัวของเรา (และเด็กๆ) ทั้งสิ้น บางอันตลก บางอันใช้ได้ บางอันใช้ไม่ได้ แต่มันคล้ายกับเวลาที่เราคิดถึงเรื่องบางเรื่อง ปัญหาบางอย่าง แล้วความคิดมันทำงานอย่างอัตโนมัติ ค่อยๆ ประกอบเรื่องราว ค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้า และสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา และท้ายสุดในบางครั้ง การแก้ปัญหามันเกิดขึ้นได้เองอย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งมักจะสร้างสรรค์กว่าเวลาที่เรารีบร้อนเข้าไป ‘จัดการ’ กับปัญหาเหล่านั้นทันที
คุณชินสุเกะใช้ ‘จังหวะของหนังสือ’ บอกเราว่าเมื่อเจอปัญหา ติดตัน หรือคิดไม่ออก ลองมองเข้าไปในความคิดและวิธีคิดของเราดูสิ โดยบอกเล่าเรื่องราวเหล่านั้นออกมาเป็นภาพในหนังสือภาพ ให้พวกเราได้เห็นความคิดที่ค่อยๆ ดำเนินไป จริงๆ คล้ายกับศัพท์ทางการศึกษาที่เรียกกระบวนการนี้ว่า Metacognition หรือการคิดและตระหนักรู้เกี่ยวกับกระบวนการคิด และค่อยๆ นำไปสู่กระบวนการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ซึ่งมีอยู่แล้วในตัวทุกคน
ครอบครัวในโลกจริง ไม่ใช่ในนิทาน
ครั้งหนึ่ง Mappa เคยสัมภาษณ์คุณชินสุเกะ ด้วยการชักชวนของสำนักพิมพ์อมรินทร์ คิดส์ เขามักพูดถึงครอบครัวในแง่มุมที่น่ารัก เขาให้เครดิตลูกๆ ว่าเป็นแรงบันดาลใจหลักในการคิดไอเดียหนังสือ เขาเคยกล่าวว่า “ผมอาจจไม่ได้ทำงานหนังสือเลยก็ได้ ถ้าผมไม่ได้เป็นพ่อ และผมมักจะได้ไอเดียใหม่ๆ จากการเลี้ยงดูลูกๆ ของผมอยู่เสมอ” นอกจากนั้น เขามักย้อนกลับไปนึกถึงสิ่งที่เขาเคยสงสัยตอนเป็นเด็ก ประสบการณ์ทั้งการเป็นพ่อ และการจำตัวเองตอนที่ยังเป็นเด็กได้อยู่นั้น ทำให้แม่บีคิดว่าเขาจึงสร้างสรรค์งานที่โดนใจทั้งผู้ใหญ่และเด็ก ไปพร้อมๆ กัน

แม่บีชอบมากเวลาที่เขาพูดถึงหนังสือของตัวเองว่าเป็น “แฟนตาซีของคนเป็นพ่อที่อยากจะเลี้ยงลูกได้แบบนั้น” เพราะมันเต็มไปด้วยความจริง และความปรารถนาดีที่ยอมรับในความไม่สมบูรณ์ เขาไม่พยายามวาดภาพครอบครัวที่อบอุ่นตลอดเวลา แต่ยอมรับว่า ความเหนื่อย ความขัดแย้ง และความเข้าใจผิด คือบางส่วนของความสัมพันธ์ที่งดงามพอๆ กับความรัก
ในหนังสืออย่าง I Can Be Anything แม่บีชอบความสัมพันธ์แม่ลูกที่ไม่ได้ราบเรียบหรือน่ารักเกินจริง แต่เต็มไปด้วยความผิดพลาด การคาดเดาผิด ความเหนื่อยใจเล็กๆ และความอบอุ่นที่มีอยู่ท่ามกลางความธรรมดานั้น ในโลกของ ชินสุเกะ ความสัมพันธ์ในครอบครัวไม่ใช่แบบอย่างที่สมบูรณ์แบบ แต่เป็นพื้นที่ของการต่อรอง เหนื่อยล้า และหัวเราะร่วมกัน
นิทรรศการที่เปิดเผยความคิดดิบๆ
สิ่งที่แม่บีชอบที่สุดในนิทรรศการนี้ คือพื้นที่ที่เขาจัดวางภาพร่างหลายพันชิ้นให้คนดูได้เห็นแบบไม่ปิดบัง ดังที่เกริ่นไว้ตอนต้น ทั้งกระดาษยับ ความคิดที่ยังไม่เสร็จ หรือแม้แต่แนวคิดที่ถูกโยนทิ้ง ซึ่งทั้งหมดนี้บอกเราว่า ความคิดสร้างสรรค์ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นเฉพาะกับ “คนเก่ง” แต่มันคือผลลัพธ์ของการเล่น การลอง และการอยู่กับตัวเองโดยไม่ให้ร้ายตัวเอง
ความธรรมดาที่พาเราไปไกลกว่าที่คิด
แม่บีเชื่อว่างานของคุณชินสุเกะ ไม่เพียงกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ทั่วไป แต่ยังเชื่อมโยงลึกกับแนวคิด Critical Thinking และ Philosophy for Children (P4C) อย่างเป็นธรรมชาติและมีพลัง แม่บีขอยกมาสัก 1-2 เล่ม เพื่อจะได้เห็นงานของชินสุเกะได้อย่างชัดเจนขึ้น

It Might Be an Apple ✦ กับ Critical Thinking
หนังสือ It Might Be an Apple คือแบบฝึกคิดขนาดย่อมที่ชวนให้เด็กสงสัยในสิ่งที่เห็น เด็กชายในเรื่องไม่ได้เชื่อทันทีว่าสิ่งที่เห็นคือ “แอปเปิ้ล” แต่เริ่มตั้งคำถาม สำรวจความเป็นไปได้ ตั้งสมมติฐาน และคิดต่อยอด กระบวนการนี้สะท้อนวงจรของ Critical Thinking อย่างแท้จริง ทั้งการคิดแยกแขนง (divergent thinking) การไม่ด่วนสรุป และการตั้งสมมติฐานเชิงจินตนาการ
หนังสือเล่มนี้จึงทำหน้าที่คล้ายบทเรียนเบื้องต้นของการคิดเชิงวิพากษ์ที่สนุก สด และไม่ต้องสอนตรงๆ เหมือนตำรา
Still Stuck & The Boring Book ✦ กับ P4C หรือ Philosophy for Children
ในขณะที่ It Might Be an Apple เน้นทักษะคิดวิเคราะห์ Still Stuck และ The Boring Book กลับเข้าใกล้บทสนทนาเชิงปรัชญาแบบที่ใช้ใน P4C อย่างน่าทึ่ง
ในหนังสือภาพ Still Stuck เด็กชายที่ถอดเสื้อไม่ได้กลายเป็นภาพแทนของภาวะ “ติดขัด” ที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ทุกคน ตั้งคำถามแบบ P4C ได้ว่า: “เมื่อไรที่เราควรยอมรับปัญหา?” “ความช่วยเหลือคืออะไร?” “ถ้าติดขัดแล้วสนุก มันยังเรียกว่าปัญหาไหม?”
ใน The Boring Book แทนที่จะบอกว่า “ความเบื่อคือสิ่งไม่ดี” Yoshitake กลับตั้งคำถามว่า “ความเบื่อมีประโยชน์ไหม?” “ถ้าเราเบื่อ ปัญหาอยู่ที่ตัวเรา หรืออยู่ที่โลก?”
คำถามเหล่านี้เปิดประตูสู่บทสนทนาเชิงปรัชญาเกี่ยวกับความเบื่อ ความอดทน และการแปรเปลี่ยนมุมมองต่อประสบการณ์ชีวิต
เด็กที่อ่านหนังสือเหล่านี้ไม่เพียงได้รับความบันเทิง แต่ยังได้ฝึกตั้งคำถาม ได้ถอยกลับมาทบทวนความรู้สึกของตนเอง และเริ่มทำความเข้าใจสิ่งธรรมดาด้วยสายตาใหม่
เราจะเห็นได้ว่า งานของชินสุเกะนั้นแตกต่างจากวรรณกรรมเด็กแบบดั้งเดิมอย่างชัดเจนในหลายมิติ แม่บีเห็นว่าเขาไม่ได้มองหนังสือภาพเป็นเพียงช่องทางในการถ่ายทอดบทเรียนด้านศีลธรรม แต่ใช้มันเป็นพื้นที่เปิดของความสงสัย ความย้อนแย้ง และความหมายที่ไม่ตายตัว นี่แหละค่ะ ที่แม่บีคิดว่าเป็นสิ่งที่ชินสุเกะกำลังทำอยู่ สร้างสนามเด็กเล่นทางความคิด ที่เบา สนุก แต่ลึก และเปลี่ยนวิธีคิดของผู้อ่านได้จริงๆ
สิ่งเหล่านี้ทำให้แม่บีเชื่อว่าชินสุเกะไม่ได้เขียนหนังสือเด็ก แต่เขากำลังเสนอรูปแบบใหม่ของการเล่าเรื่อง ที่เคารพผู้อ่านตัวน้อยในฐานะมนุษย์ที่ซับซ้อน มีอารมณ์ มีความคิด และสมควรได้รับหนังสือที่ไว้ใจพวกเขาอย่างแท้จริง
It might be..more than just a picture book
หนังสือของชินสุเกะ ไม่เคยบอกเราว่าต้องคิดแบบไหน เขาแค่ให้เราเห็นว่า เรามีสิทธิจะตั้งคำถามกับทุกอย่าง แม้แต่กับสิ่งที่เราเคยคิดว่ารู้ดีอยู่แล้ว แม่บีคิดว่านี่คือบทเรียนใหญ่ที่สุดในยุคที่เราถูกถาโถมด้วยความรู้ และบางทีก็ถูกกล่อมให้เชื่อในสิ่งที่ยังไม่เคยได้ตั้งคำถามเอง

เขายังกล้าปล่อยให้บางความรู้สึกยังค้างอยู่ ไม่จำเป็นต้องรีบแก้ ไม่จำเป็นต้องคลี่คลาย เช่น เด็กที่มีความลับที่ไม่อยากบอกใคร หรือพ่อแม่ที่มีความหวังซ้อนอยู่ใต้ความเหนื่อย สิ่งเหล่านี้คือความจริงของชีวิตที่วรรณกรรมเด็กมักไม่กล้าแตะ ชินสุเกะทำให้มันปรากฏโดยไม่ทำให้หนักเกินไป แต่ก็ไม่เบาเกินไป ในงานนิทรรศการ เขายังได้พูดถึงเรื่อง ‘ความลับของเด็ก’ ซึ่งเป็นหัวข้อที่แม่บีคิดว่าน่าสนใจมาก เขาเคยให้เด็กๆ วาดรูปของ ‘ความลับ’ ที่ไม่ต้องให้ใครดู แล้วให้พับทิ้งไปเลย เขาถูกถามว่ามันอันตรายไหมถ้าเด็กมีความลับกับพ่อแม่ แต่เขาตอบว่า “Possessing secrets is surely a part of what it is to be human…” และพูดต่อว่าเด็กควรได้เรียนรู้ด้วยตัวเองว่าควรแบ่งปันอะไร และควรเก็บอะไรไว้กับตัวเอง สิ่งนี้สะท้อนความเคารพที่เขามีต่อโลกภายในของเด็กอย่างลึกซึ้ง
สำหรับคนทำงานหนังสือเด็ก พ่อแม่ หรือครู Shinsuke Yoshitake คือคนที่ทำให้เราเห็นว่า หนังสือภาพไม่ใช่แค่ของเล่น หรือเครื่องมือ แต่คือพื้นที่ที่เด็กได้สร้างความหมาย และผู้ใหญ่ก็ได้กลับมาทบทวนความหมายของชีวิตตัวเองอีกครั้งหนึ่ง
แม่บีคิดว่าหนังสือของชินสุเกะไม่ได้เพียงแค่เปลี่ยนรูปแบบการเล่าเรื่อง แต่เขากำลังเปลี่ยนวิธีที่เราเข้าใจว่า “หนังสือเด็ก” ควรเป็นอย่างไร และเขากำลังผลักขอบเขตของมันออกไปให้ไกลขึ้น ลึกขึ้น และเป็นมนุษย์มากขึ้น
(หมายเหตุ: นิทรรศการ “It Might Be a Yoshitake Shinsuke Exhibition: Expanded Edition” จัดแสดงที่ Creative Museum Tokyo ถึงวันที่ 3 มิถุนายน 2025)
ขอบคุณภาพจาก Nippon.com และ เวบไซต์ Creative Museum Tokyo
Writer

มิรา เวฬุภาค
illustrator

Arunnoon
มนุษย์อินโทรเวิร์ตที่อยากสื่อสารและเชื่อมโยงกับผู้คนผ่านภาพวาด