สิ่งที่ขัดขวางความเจริญ คือการ ‘ไม่มีที่’ ให้ ‘เลิร์น’ คุยกับ ‘อีสานจะเลิร์น’ กลุ่มคนรุ่นใหม่ในขอนแก่น ผู้อยากเห็นเมืองเจริญที่ผู้คนอยากจะเลิร์น
สิ่งที่ขัดขวางความเจริญ คือการ ‘ไม่มีที่’ ให้ ‘เลิร์น’ คุยกับ ‘อีสานจะเลิร์น’ กลุ่มคนรุ่นใหม่ในขอนแก่น ผู้อยากเห็นเมืองเจริญที่ผู้คนอยากจะเลิร์น
พี่น้องเอ้ย! ไผว่าเมืองอีสานแล้ง สิจูงแขนเพิ่นไปเบิ่ง ‘อีสานจะเลิร์น’ อยู่โจ้โก้ มันสิแล้งได้จั่งใด๋…
นอกพื้นที่กรุงเทพมหานคร คนที่มีชีวิตอยู่จังหวัดต่างๆ รู้ดีว่า การเข้าถึงพื้นที่การเรียนรู้นอกรั้วโรงเรียนในรูปแบบต่างๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย
การจะเข้าถึงห้องสมุดอาจต้องเดินทางไกลไปถึงในตัวเมือง การจะเข้าถึงเวิร์กช็อปหรือกิจกรรมการเรียนรู้รูปแบบต่างๆ อาจต้องสมัครคอร์สที่มีราคาสูง การสมัครค่ายอบรม-เวิร์กช็อปที่น่าสนใจครั้งหนึ่งก็อาจต้องเดินทางเข้าไปยังเมืองหลวง หรือแม้แต่การจะเข้าถึงการศึกษาในระบบก็ต้องเดินทางออกจากพื้นที่ใกล้บ้านของตัวเอง ไปยังโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยชั้นนำ ที่มีทรัพยากรและหลักสูตรพร้อมในการสร้างการเรียนรู้ที่หลากหลายได้
ทำให้บางพื้นที่ ‘รวมศูนย์’ อำนาจในการเรียนรู้เอาไว้ ขณะที่บางพื้นที่กลับห่างไกลการเข้าถึงมากขึ้นเรื่อยๆ
หลายเดือนมานี้หากเหลียวไปทางขอนแก่น หลายคนอาจจะพอเห็นความเคลื่อนไหวในแวดวงการศึกษานอกห้องเรียนกันอยู่บ้าง จากกลุ่มคนในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นหลายคนหลายกลุ่ม และหนึ่งกลุ่มที่ขับเคลื่อนกันอย่างคึกคักด้วยพลังล้นเหลือแห่งการ ‘หาทำ’ คือกลุ่มที่ชื่อชวนให้หยุดอ่านอีกครั้งอย่าง ‘อีสานจะเลิร์น’
การรวมตัวกันของผู้คนหลากหลายอาชีพในพื้นที่ขอนแก่น ที่หวังอยากจะก่อร่างสร้างเมืองให้มีพื้นที่ที่ ‘จะเลิร์น’ หรือพื้นที่การเรียนรู้นอกห้องเรียนที่หลากหลาย มีคุณภาพ และคนในพื้นที่สามารถเข้าถึงได้โดยไม่ต้องออกเดินทางไปไหนไกล ไปจนถึงเกิดเป็นชุมชนการเรียนรู้ที่เข้มแข็ง โดยมีคติประจำกลุ่มที่ประกาศอย่างชัดเจนบนหน้าเพจเฟซบุ๊กของพวกเขาว่า
‘เมืองจะเจริญ ถ้าผู้คนอยากจะเลิร์น’
Mappa อยากจะเลิร์นไปกับพวกเขาด้วย จึงตั้งต้นบทสัมภาษณ์นี้เพื่อสนทนาถึงที่มาที่ไป หมุดหมาย และพลังการขับเคลื่อนข้างในต่อ ‘เมือง’ ที่พวกเขาอาศัยอยู่ โดยชวน แคท–จันทิมาพร ชีวะสวัสดิ์ และ มะพร้าว-ฉัตรบดินทร์ อาจหาญ อดีตคุณครูที่ลาออกมาขับเคลื่อนนอกรั้วโรงเรียนในบทบาทกระบวนกรและนักออกแบบการเรียนรู้ ทั้งยังเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง ‘อีสานจะเลิร์น’ จากผู้ก่อตั้งทั้งหมด 11 คน มาเป็นตัวแทนเล่าเรื่องที่น่าจะเลิร์นให้พวกเราฟัง
จุดเริ่มต้นของ ‘อีสานจะเลิร์น’ คือการ ‘หาทำ’ ไปนำกัน
เราชวนทั้งสองพูดคุยถึงที่มาที่ไปของการเริ่มต้นก่อร่างขึ้นของ อีสานจะเลิร์น โดยทางแคทและมะพร้าวผลัดกันเล่าผ่านมุมมองของพวกเขาให้เราฟังอย่างน่าสนใจ
เริ่มจากแคทที่เป็นคนขอนแก่นตั้งแต่เกิด และใช้ชีวิตอยู่ในขอนแก่นตลอดมา แคทเล่าให้ฟังว่า เธอเป็นเด็กกิจกรรมตั้งแต่สมัยเรียน ทำให้ได้เจอผู้คนที่อยู่ในเครือข่ายการศึกษาในพื้นที่ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มคนที่ทำงานกับท้องถิ่น พอรู้จักกับคนในพื้นที่หลายคนที่อยู่ในเครือข่ายการศึกษาเหมือนกัน ทำให้เวลาอยากทำอะไรก็จะชวนกันมาทำด้วยถ้อยคำเรียบง่ายอย่าง
‘เรามาทำอันนี้กันไหม’
‘สิ่งนี้ยังไม่มี เรารวมตัวกันทำอะไรบางอย่างดีไหม’
“อีสานจะเลิร์นเกิดจากการหาทำ เกิดจากการรู้จักและเป็นเพื่อนกันอยู่แล้ว และแต่ละคนก็มีความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ แตกต่างกัน คนนี้เป็นครู คนนี้เป็นนักดนตรี คนนี้เป็นคนขับเคลื่อนสิทธิของคนจนเมือง หรือคนนี้เป็นสื่อ มันเลยทำให้เกิดโปรเจกต์นี้ขึ้นมา”
แคทเล่าพร้อมกับส่งไม้ต่อให้มะพร้าวคลี่ขยายที่มาที่ไปต่อ โดยมะพร้าวซึ่งเป็นชาวนนทบุรีที่นับว่าเป็นคนนอกพื้นที่แล้ว ได้เดินทางเข้ามาอยู่ขอนแก่นและร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการก่อตั้งอีสานจะเลิร์นนั้นก็ได้เล่าให้เราฟัง ทำให้ได้เห็นแง่มุมของคนนอกพื้นที่ที่เข้ามาปะทะสังสรรค์กับพื้นที่ข้างใน ซึ่งทำให้เห็นมิติที่สำคัญต่อการเกิดขึ้นของอีสานจะเลิร์นได้เป็นอย่างดี
“เราย้ายมาอยู่ขอนแก่น แล้วก็มาเห็นภาพการเป็นกลุ่มเครือข่ายแบบที่แคทเล่า แล้วด้วยความเป็นคนนนทบุรี ก็ใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ มันก็ไม่ได้เห็นภาพการเกาะเกี่ยวของผู้คนขนาดนี้ เพราะมันมีความเป็นปัจเจกสูง เราเดินเข้ารถไฟฟ้าไปทำงานในเมือง เราเดินออกมา เราไม่รู้จักใครเลย
“แต่สิ่งที่เรามาเจอที่ขอนแก่นคือ เรารู้สึกว่าเวลาที่อยากลุกขึ้นมาทำโปรเจกต์อะไรบางอย่าง เราสามารถเรียกใช้เพื่อนพี่น้องเราได้แบบเกาะกันเป็นกลุ่มได้เลย เช่น เรามีเพื่อนพี่น้องที่เป็นนักดนตรี เป็นศิลปินวาดภาพ เป็นเจ้าของร้านหนังสือ เป็นนักบำบัด เป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน เป็นสื่อท้องถิ่น เวลามีใครสักคนอยากทำอะไร เราก็ไปบอกคนเหล่านี้ คนเหล่านี้ก็จะบอกว่า ‘ทำกันๆ’ คือเป็นบ้า บ้าทำกันไปหมด”
“การได้เดินทางมาที่ขอนแก่น ก็ทำให้เห็นอีกว่ามิติเรื่อง การเรียนรู้ (learning) ของขอนแก่นมันบาง (อาจจะเป็นในมุมของเราคนเดียวก็ได้) ‘บาง’ ในที่นี้ คือ ถ้าเราอยู่ในกรุงเทพฯ เราจะเห็นเวิร์กช็อปผุดขึ้นเต็มเลย คุณอยากจะพัฒนาตัวเองแบบไหน คุณอยากพัฒนาตัวเองในด้านอะไร คุณสามารถหาคอร์สได้เต็มไปหมด มีตั้งแต่ร้อยกำไล เซรามิก คุยเรื่องการเงินของฟรีแลนซ์ มันมีความเป็นพื้นที่การเรียนรู้ที่ครบครัน คุณจะมีคนสร้างการเรียนรู้ในกรุงเทพฯ พร้อมที่จะจัดได้ทันทีเลย
“เราเลยผุดไอเดียขึ้นมาว่า อยากทำพื้นที่ที่เป็น learning space จะเป็นไปได้ไหม ถ้าเราจะลุกขึ้นมาจัดเวิร์กช็อปที่ไม่ใช่เวิร์กช็อปที่เป็นวัตถุ คือเขาจะไม่ได้กำไลข้อมือกลับบ้านไปแน่ๆ แต่สิ่งที่เขาจะได้กลับไปคือจะได้เรียนรู้เรื่องนี้
“ซึ่งมันเป็นความท้าทายพอสมควร เพราะแน่นอนว่าการที่เราจะชวนคนมาเสียเวลาทำอะไรบางอย่างแล้วกลับบ้านไปแบบมือเปล่า แต่เราจะบอกเขาว่า สิ่งที่คุณได้กลับไป คือการเรียนรู้”
เราชวนแลกเปลี่ยนต่อในมุมของแคทซึ่งเป็นมุมของ ‘คนใน’ ที่อยู่ขอนแก่นมานาน แคทเห็นตรงและเห็นต่างกับมะพร้าวอย่างไรต่อประเด็นพื้นที่การเรียนรู้ในจังหวัดขอนแก่น
“แคทอยู่ขอนแก่นมานาน ก็จะเห็นว่ามันมีภาพของพื้นที่การเรียนรู้อยู่ แต่ไม่ใช่พื้นที่การเรียนรู้สาธารณะ คือไม่ใช่ว่าฉันอยากเรียนเรื่องนี้ ก็มีเวิร์กช็อปให้ฉันเลือกเดินเข้าไป แต่มันเป็นพื้นที่เฉพาะ เช่น กลุ่มนี้จะจัดพัฒนาศักยภาพเด็กๆ หรือพัฒนาศักยภาพคนในกลุ่มของตัวเอง มันไม่ใช่คนทั่วไปสามารถเดินเข้าไปร่วมได้ มันไม่เป็นสาธารณะสำหรับคนอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มหรือองค์กรนั้นๆ” แคทแลกเปลี่ยนก่อนที่มะพร้าวจะเสริมขึ้นมาว่า
“ซึ่งวัฒนธรรมนี้ในกรุงเทพฯ เรารู้สึกว่ามันเป็นสาธารณะมาสักพักแล้ว ก็เลยมองว่า โอเค ขอร่วมขบวนนี้ด้วย ก็จัดกันขึ้นมา”
มะพร้าวเล่าว่าก่อนหน้าอีสานจะเลิร์นมีโปรเจ็กต์หนึ่งที่ทำงานเรื่องการเรียนรู้นอกห้องเรียนชื่อ ‘ปิดเทอมสร้างสรรค์’ ที่มะพร้าวเองก็ได้เข้าไปร่วมด้วยช่วยทำด้วยความสนใจและอยากทำเรื่องการเรียนรู้ในพื้นที่ขอนแก่นอยู่แล้ว
“แต่ด้วยขอบเขตที่จำกัดของปิดเทอมสร้างสรรค์ตอนนั้นคือ ได้จุดอยู่ 3 เดือนที่ปิดเทอม แล้วคำถามของเรา คือ แล้วหลังจาก 3 เดือนนั้นล่ะ คนจะตามหาพื้นที่การเรียนรู้เหล่านี้ได้จากที่ไหน? คำตอบคือ ‘ยังไม่มี’
“เราก็เลยคุยกันว่าอยากทำทั้งปีเลย วัฒนธรรมหาทำของเครือข่ายก็เลยสอดรับกับความอยากทำของเรา เวลาเราพูดไอเดียนี้ไป เพื่อนพี่น้องก็ ‘ทำเลย เอาเลย เย้ๆ ทำกัน’ ก็เลยไปรวมตัวกันที่อาศรมมรรคง่ายของคุณครูสอญอ (สัญญา มัครินทร์) คุยกันอยู่ใต้ถุนเลย ว่าอยากขยายสเกลของปิดเทอมสร้างสรรค์ขอนแก่นให้อยู่ทั้งปี และในขณะเดียวกันก็อยากทำให้สิ่งเหล่านี้มันมีกลไกในการทำงานที่เข้มแข็งมากเพียงพอ
“เราก็เลยผุดขึ้นมาเป็นไอเดียว่า เราต้องสร้างชื่อโปรเจกต์ขึ้นมา แล้วตอนนั้นพี่สอญอก็ผุดขึ้นมาว่า อีสานเจริญ จะเลิร์น ก็คือ อยากจะเลิร์น อยากจะเรียน ในขณะเดียวกัน ก็คือ เราเล่นคำว่า เราจะเจริญแล้วก็เลยใช้คำว่า ‘อีสานจะเลิร์น’”
เมื่อได้ชื่อแล้ว ในวันนั้นพวกเขาก็คุยและระดมไอเดียกันในการทำ ‘หลักสูตรอีสานจะเลิร์น’ ขึ้นมา โดยออกแบบให้เป็นหลักสูตรที่อยู่นอกรั้วโรงเรียนสำหรับคนทั่วไปที่เข้าไม่ถึงการศึกษาในโรงเรียน
“หลักสูตรนี้ตอนแรกวางแผนไว้ว่า 12 เดือน 12 กิจกรรม ตอนนั้นเราก็มองว่าหาคนมาจัดเวิร์กช็อปอย่างไรดี ก็เลยมองหาในกลุ่มนี่แหละว่าใครเก่งอะไรกันบ้าง แคทเก่ง visual note ก็ทำหลักสูตร visual note พร้าวพอได้หลักสูตรเรื่องการสื่อสาร พร้าวใส่วิชาการสื่อสาร พี่กุลเก่งเรื่องหลักสูตรเทคโน ก็ใส่หลักสูตรเทคโน พี่ตั้ว วาดรูป ศิลปะ ใส่วิชาศิลปะ”
แคทเสริมต่อ “พี่สอญอ เรียนรู้ผ่านธรรมชาติ ใส่วิชาธรรมชาติ พี่นัททำเรื่องสิทธิ์ของคนไร้บ้าน ของคนจนเมือง ก็พาคนเดินเมืองไปเรียนรู้ วิชาทำสื่อ พี่อ๊อฟ”
“กลายเป็นหลักสูตรอีสานจะเลิร์นขึ้นมา วันนั้นก็บ้าเลือดเลย ทำเว็บไซต์ขึ้นมาในตอนนั้นเลย โดยพี่กุลเป็นโปรแกรมเมอร์ในกลุ่ม แล้วเรามีทีมสื่อท้องถิ่นอยู่ด้วยก็สร้างเพจเลย ทำโลโก้เลย เขียนคอนเทนต์เลย คือทำเลย ใครมีอะไร ประกอบสกิลกัน ก็เลยได้มาเป็นหลักสูตรอีสานจะเลิร์น” มะพร้าวเล่าโดยชี้ให้เห็นว่าหมุดหมายตั้งต้นสำคัญของอีสานจะเลิร์นมีทั้งสิ้น 3 ส่วนประกอบกันเพื่อสร้าง ‘ระบบนิเวศการเรียนรู้’ ในพื้นที่ให้ได้
ส่วนที่หนึ่ง คือ นักสร้างการเรียนรู้ (learning creator) โดยได้แรงบันดาลใจมาจากเชียงดาว (มะขามป้อม) โดยคำนี้หมายถึง ‘นักสร้างการเรียนรู้’ หรือ ‘กระบวนกร’
ส่วนที่สอง คือ ความมุ่งหวังที่อยากเชื่อมนักสร้างการเรียนรู้เข้ากับผู้เรียน (learner) ก็คือ ผู้เรียนมีคนสอนแล้ว แล้วก็มีผู้เรียน
ส่วนที่สาม คือ พื้นที่การเรียนรู้ (learning space) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เอาไว้สร้างการเรียนรู้
“เราคิดว่าถ้าเราเชื่อมสามก้อนนี้เข้าด้วยกันได้ learning creator, learner, learning space เราเชื่อว่ามันจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘ระบบนิเวศการเรียนรู้’ ในขอนแก่นแล้วก็อีสาน แล้วก็พอดีขอนแก่นเพิ่งได้รับประกาศเป็น learning city จากยูเนสโก ก็เลยคิดว่า มา! งั้นเรามาลองกันสักตั้ง”
สถานีปลายทางคือ ‘กระจายอำนาจการเรียนรู้’
เมื่อพูดคุยกันต่อไปถึงประเด็นหมุดหมายปลายทางของอีสานจะเลิร์น แคทเริ่มเปิดประเด็นต่อไปว่า “เราก็ไม่ได้อยากเวิร์กช็อปขึ้นมาเพื่อให้คนที่มีโอกาสหรือคนที่มองหาเวิร์กช็อปได้เข้าเท่านั้น แต่เราอยากขยายให้มันไปถึงคนที่ไม่มีโอกาสด้วย เราพูดถึงวัย เราพูดถึงเรื่องของเศรษฐกิจ สถานะทางเศรษฐกิจว่า ไม่ใช่ทุกคนหรอกที่จะสามารถมีเวลาว่างมาเข้าเวิร์กช็อปได้หรือมีเงินที่จะมาซื้อคลาสเหมือนหลายคนในกรุงเทพฯ ทำได้
“เราอยากขยายหลักสูตรเราให้เข้าถึงได้ทุกคน ทุกคนในที่นี้หมายถึงเด็กๆ ด้วย ผู้ใหญ่ด้วย เช่น
‘โรงเรียนริมราง’ เป็นโปรเจกต์ของเด็กในโรงเรียนที่แคทดูแลอยู่กับเด็กๆ ในชุมชนริมรางรถไฟ ก็จุดประกายเลยว่า เราจะทำอย่างไรให้การเรียนรู้ไปถึงทุกคน โดยที่ไม่ต้องตั้งคำถามเลยว่า คุณเป็นใคร มีเงินแค่ไหน อายุเท่าไรถึงจะเข้าได้ อันนั้นคือภาพที่เราอยากให้มันเกิดขึ้น
“เพราะว่าในเมืองขอนแก่น แม้จะเป็นเมืองใหญ่ที่ดูเหมือนกำลังเติบโตก็จริง แต่ก็มีปัญหาซ่อนอยู่โดยที่เราอาจจะไม่รู้ อย่างเช่น คนที่เป็นรถไฟขบวนสุดท้าย ไม่มีเงิน ไม่มีที่อยู่อาศัย หรือเด็กที่กำลังจะหลุดออกจากระบบโรงเรียนด้วยปัญหาด้านเศรษฐกิจ หรือปัญหาอื่นๆ พอเราไปเจอ เราก็เลยคิดว่า กลุ่มคนเหล่านี้ คือกลุ่มคนที่เราอยากจะทำให้พวกเขาเข้าถึงพื้นที่การเรียนรู้ เพราะเขาแทบไม่ได้มีโอกาสไปอยู่ในโรงเรียนแล้ว ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม”
มะพร้าวเสริมแคทในประเด็นเดียวกันโดยเล่าต่อว่า
“มันมีคำหนึ่งที่พี่กุล (คนในทีมอีสานจะเลิร์น) พูดเอาไว้ เป็นคำที่เรารู้สึกว่ามันน่าจะสะท้อนสิ่งที่แคทสื่อสารได้ดี ก็คือ เราจะกระจายอำนาจความรู้ เรามีความเชื่อว่าอำนาจในการสร้างการเรียนรู้มันไม่ควรที่จะกระจุกอยู่แค่ในโรงเรียน คือโรงเรียนก็ทำฟังก์ชันหน้าที่ของโรงเรียนไป แต่เราคิดว่า คนที่อยู่นอกรั้วโรงเรียนก็มีสิทธิ์ที่จะสร้างการเรียนรู้เหมือนกัน ไม่จำเป็นจะต้องไปสร้างการเรียนรู้อยู่ในระบบการศึกษากระแสหลัก หรือตาสีตาสา-ไทบ้านทั่วไปที่มีองค์ความรู้เป็นของตัวเอง เช่น มีความรู้ในการพิมพ์ผ้าลายบาติก มีความรู้ในการทำกาแฟ มีความรู้ในการทำขนม เรารู้สึกว่าการเรียนรู้ไม่ควรจะถูกครอบว่าคุณอยู่นอกรั้วโรงเรียน-คุณทำไม่ได้ สิ่งที่คุณมีเป็นความรู้ มันไม่ตามหลักสูตร-คุณทำไม่ได้ เราไม่อยากเห็นภาพแบบนั้น
“เราอยากเห็นภาพที่การจัดการเรียนรู้มันถูกกระจายออกมาอยู่นอกโรงเรียน แล้วคนทั่วไปเขามีสิทธิ์ มีอำนาจในการสร้างการเรียนรู้ในแบบฉบับที่เขาถนัด แต่ในขณะเดียวกันผู้เรียนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาหลัก รู้สึกอยู่ในโรงเรียนไม่ได้ด้วยเหตุผลต่างๆ นานา เศรษฐสถานะ ชนชั้น กำลังทรัพย์ที่ไม่เพียงพอ หรือความต้องการที่ไม่สอดคล้อง เราเชื่อว่าก็จะมาอยู่กับเราได้ เพราะเราคือคนที่จัดการเรียนรู้ขนาบข้างกับระบบขนาดใหญ่ อันนี้คือการกระจายอำนาจทางความรู้ที่เรากำลังทำ
มะพร้าวยังกล่าวอีกว่าเป้าหมายสูงสุดประการหนึ่งที่ใฝ่ฝัน คือ การเป็นเหมือนโรงเรียนคู่ขนานกับระบบหลัก มีหลักสูตรเพียบพร้อมที่คนสามารถที่จะเข้ามาเรียนได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
แคทยังชี้ชวนต่อถึงผู้สร้างการเรียนรู้ (learning creator) ในท้องถิ่นกับภารกิจการกระจายอำนาจทางความรู้ของอีสานจะเลิร์นครั้งนี้ว่า
“เราคิดว่าจุดแข็งของผู้สร้างการเรียนรู้ (learning creator) ในท้องถิ่นหรือใครก็ตามที่ลุกขึ้นมาจัดการเรียนรู้ มันคือเขาถอดจากชีวิตจริงเขา มันจริงแท้มากพอที่จะสร้างทักษะและความรู้ให้คนที่มาเรียนเอาไปใช้ชีวิตได้ มันจริงแท้มากพอมากกว่าหลักสูตรที่แช่แข็งมาหลาย 10 ปี มันเชื่อมโยงกับชีวิตจริงว่า เขาใช้ชีวิตแล้วเขามีจุดแข็งหรือสกิลนี้ที่ถอดออกมาแล้วอยากจะกระจายให้คนอื่นได้รู้บ้าง เรารู้สึกว่ามัน authentic หรือว่ามันจริงแท้มากๆ” แคทเล่า ก่อนที่มะพร้าวจะเสริมขึ้นมาสั้นๆ ว่า
“เราคือคนขอนแก่น ที่สร้างการเรียนรู้ให้กับคนขอนแก่น เพื่อใช้ชีวิตอยู่ในขอนแก่น อย่างนี้มันจริงกว่า”
นอกจากนี้แคทและมะพร้าวยังชี้ให้เห็นบริบทพื้นที่จังหวัดขอนแก่นเพิ่มเติม เพื่อคลี่ขยายให้เห็นถึงความปรารถนาของอีสานจะเลิร์นที่อยากจะสร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘ขบวนรถไฟชั้นสองขึ้นมา’
“อีกอันหนึ่งที่เราคุยกันก็คือว่า เราอยากให้อีสานจะเลิร์นสร้างขบวนรถไฟชั้นสองขึ้นมา” แคทเปิดประเด็น แล้วมะพร้าวก็เสริมทัพทันที
“เท่าที่พร้าวสังเกตเมืองขอนแก่นมา มันเป็นขบวนรถไฟขบวนหนึ่งยาวๆ มันมีแค่ขบวนรถไฟชั้นหนึ่งกับชั้นสาม คือถ้าคุณไม่รวยล้นฟ้าเป็นเจ้าของธุรกิจเลย คุณก็เป็นแรงงานทักษะล่างเลย ถ้าคุณไม่เป็นเจ้าของร้านกาแฟ คุณก็เป็นลูกจ้างเขา แต่มันไม่เหมือนกับในกรุงเทพฯ คุณจะเดินเข้าไปหางานที่เป็นทักษะปานกลาง รายได้สองสามหมื่น กลางๆ เป็นพนักงานออฟฟิศ เป็นครีเอทีฟ เป็นกราฟิกดีไซเนอร์ คือมันมีเต็มเลยในกรุงเทพฯ แต่ที่นี่ไม่มี
“เราเลยมีความตั้งใจอันรองๆ มาว่า ถ้าเราทำอีสานจะเลิร์นกันสำเร็จ เชื่อมกลไก learning creator, learner, learning space ได้ เราอยากสร้างงานสร้างอาชีพจากสิ่งนี้ เช่น ถ้าเรามีงบประมาณมากเพียงพอ เราอยากจ้างตากล้อง เป็นตากล้องท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนให้มันเกิดอาชีพช่างภาพท้องถิ่น แล้วก็มีรายได้ที่เหมาะสมให้เขาอยู่ตรงนี้ หรือเราอาจจะสร้างคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่อยู่ที่ขอนแก่น คุณสามารถประกอบอาชีพคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่ขอนแก่นได้ เราอยากเอาเงินไปอุดหนุนกับร้านอาหารชุมชนเพื่อทำให้พวกเขาเข้มแข็งแล้วก็มีรายได้มากยิ่งขึ้น เราอยากกระตุ้นสิ่งเหล่านี้ให้มันมากยิ่งขึ้น
“เราหมายมั่นปั้นมือว่า อยากจะสร้างรถไฟขบวนชั้นที่สองขึ้นมา เพื่อทำให้วัยรุ่นหนุ่มสาวไม่ต้องเรียนจบมหาวิทยาลัยแล้วเดินทางไปทำงานที่กรุงเทพฯ แล้วไม่กลับบ้าน เขามาเรียนที่บ้านเขาได้ เขาไม่จำเป็นต้องไหลเข้าไปอยู่ในเมืองใหญ่ นี่คือความตั้งใจแบบไกลๆ ของเรา”
ข้างนอกขอนแก่นก็อยากจะเลิร์น
นอกจากพื้นที่ในขอนแก่น ทีมอีสานจะเลิร์นยังมุ่งที่จะขยายความอยากจะเลิร์นนี้ไปทั่วภูมิภาคอีสาน โดยแคทเล่าว่า นี่คือเหตุผลที่ไม่ได้ตั้งชื่อว่า ‘ขอนแก่นจะเลิร์น’ ตั้งแต่แรก
“เรามีเครือข่าย มีเพื่อนพี่น้องอยู่ที่จังหวัดอื่นๆ ในภาคอีสานด้วย แล้วเราก็คิดว่า ต่อไปในการทำอีสานจะเลิร์นเราจะได้ไปเชื่อมกับเขา ได้ สมมติว่าเราแข็งแรงมากพอ เราก็จะไปช่วยทำให้พื้นที่เพื่อนๆ ของเราเห็นว่ามันเกิดอย่างนี้ขึ้นได้ เช่น แคทจัดเวิร์กช็อป มะพร้าวจัดเวิร์กช็อป ก็มีเพื่อนพี่น้องมาจากร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์ที่ขับรถมา แล้วก็มาเข้าร่วมเวิร์กช็อปที่นี่แล้วบอกว่ามันดี
“แม้ว่าคนเหล่านั้นจะอยู่คนละจังหวัด แต่เขาไม่ต้องขึ้นเครื่องบินไปที่กรุงเทพฯ แล้วจ่ายค่าคลาสที่แพงมาก จ่ายค่าคอร์สที่แพงมาก จ่ายค่าที่พัก เขาขับรถมาได้เลย แล้วเขาก็อยากเห็นมันเกิดที่จังหวัดของเขาต่ออีกด้วย เราก็เลยมองว่า ถ้าอีสานจะเลิร์นมันเกิดขึ้นแล้วเวิร์ก ทำให้คนอื่นอยากทำในพื้นที่ของเขา เราก็พร้อมที่จะเข้าไปช่วยหรือเข้าไปเสริมพลัง (empower) แล้วค่อยๆ สร้างกันขึ้นมา นี่แหละ เราเลยตั้งชื่อมันว่าอีสานจะเลิร์น เพราะว่าเราก็ไม่ได้อยากให้ขอนแก่นมันเจริญไปอยู่คนเดียว”
“เสริมต่อจากแคท แคทพูดอันหนึ่งน่าสนใจ อย่างล่าสุด แคททำ visual note visual note taking มีคนหนึ่งเขาบอกว่าเขามาจากมหาสารคาม เป็นคุณแม่แล้วก็พาลูกมาเข้าคลาสของแคท ตอนแรกเขาจะส่งลูกไปเรียนที่กรุงเทพฯ แล้ว เพราะลูกอยากเรียนสิ่งนี้ เขาบอกว่า ‘ดีจังเลยที่มาจัดที่ขอนแก่น’ เพราะเขามาจากมหาสารคาม เดินทางหนึ่งชั่วโมงเขาก็ได้เรียน เขาไม่จำเป็นต้องเสียค่าเครื่องบิน ไม่ต้องหาที่พัก ไม่ต้องเสียค่าคอร์สหลายหมื่นบาทเพื่อที่จะเรียนสิ่งนี้ แต่ว่าเขาสามารถเรียนสิ่งนี้ได้ที่จังหวัดขอนแก่น”
“เราว่าภาพนี้สะท้อนสิ่งที่เรียกว่าการกระจายอำนาจทางความรู้ ทำไมการเกิดเป็นคนมหาสารคาม ต้องการเรียนสิ่งนี้ ต้องเสียค่าเครื่องบินและค่าที่พักเฉียดหมื่น แต่คุณเกิดในกรุงเทพคุณหาที่เรียนได้เลย คุณนั่งบีทีเอสไปก็ถึงแล้ว”
“อีกเคสหนึ่ง มีคนบอกว่า เขาอยากให้มันเกิดสิ่งเหล่านี้ในจังหวัดของเขา ล่าสุดมีติดต่อมาสองคน จากร้อยเอ็ดและบ้านดุง จังหวัดอุดร”
“ทีมก็เลยเสนอว่า เราทำฟอรั่มกันไหม ยกขบวนไปที่ร้อยเอ็ด แล้วก็ลองไปตามหานักสร้างการเรียนรู้ (learning creator) หรือคนทำงานด้านการเรียนรู้ที่ร้อยเอ็ด แล้วเราเป็นเจ้าภาพในการจัดฟอรั่มร่วมกันระหว่างอีสานจะเลิร์นกับร้อยเอ็ด เพื่อทำให้คนร้อยเอ็ดเห็นภาพว่า การเรียนรู้มีหน้าตาแบบไหน สามารถเข้าถึงได้แบบไหน แล้วมีประโยชน์ต่อพวกเขาอย่างไร เพื่อเป็นการจุดประกายไฟเล็กๆ ให้ร้อยเอ็ด แล้วก็จับมือกับร้อยเอ็ดเอาไว้ เพื่อสร้างพื้นที่การเรียนรู้แบบนี้ที่มันเกิดขึ้นที่ขอนแก่นแล้ว ให้ไปที่ร้อยเอ็ดได้จริง”
“อีกอันหนึ่งที่น่าสนใจมากๆ คือ อาจารย์จากอุดรคนหนึ่ง เขาเห็นเพจอีสานจะเลิร์น แล้วโทรมาบอกว่า อยากทำแบบนี้บ้าง อาจารย์มาก็เล่าให้ฟังว่า มีพื้นที่ มีนักกายภาพบำบัด มีวัฒนธรรมในชุมชนเยอะแยะมากมายที่อยากรักษาเอาไว้ เป็นไปได้ไหมที่อีสานจะเลิร์นจะช่วยไปเอาวัฒนธรรมเหล่านี้ มาออกแบบให้เกิดขึ้นเป็นกิจกรรม เพื่อที่จะได้เอากิจกรรมสร้างสรรค์เหล่านี้เป็นเครื่องมือในการรักษาวัฒนธรรม เช่น เขาบอกว่า เขามีสูตรในการทำทาโกะยากิที่อร่อยมากที่สุดในประเทศ แต่มันจะหายไปแล้ว เป็นไปได้ไหม ทำมันเป็นกิจกรรม กระจายองค์ความรู้เหล่านี้ รักษาวัฒนธรรมเหล่านั้นต่อไป เขามีสูตรในการทำเครื่องมือกายภาพบำบัดที่มันไม่มีแล้ว มันจะหายไปแล้ว ทำให้มันเป็นกิจกรรมหน่อยได้ไหม พาทุกคนสร้างเครื่องมือนี้กัน เราก็เลยคิดว่า ถ้าเรามีโอกาสจัดฟอรั่มไปทัวร์จังหวัดต่างๆ แล้วก็ไปจับมือกับเขา สร้างพื้นที่เล็กๆ จุดประกายสนับสนุนบางอย่าง เพื่อทำให้พื้นที่การเรียนรู้นี้ไม่ใช่แค่ในขอนแก่นแล้ว อุดรก็ได้ ร้อยเอ็ดก็ได้ อุบลก็ได้ อยากเห็นภาพนั้นเหมือนกัน” มะพร้าวเล่าพร้อมยกตัวอย่าง แล้วแคทก็ขมวดประเด็นนี้ในตอนท้ายว่า
“มันมีคนที่อยากทำอะไรเพื่อบ้านเกิดของตัวเองเยอะ เราก็เชื่อว่ามันมีทุกที่ แต่ว่าอาจจะต้องการแรงสะกิด ชวนกันหาทำ เพื่อให้มันเกิดขึ้นมา หรือเขาอาจจะทำกันอยู่แล้วก็ได้ แต่แค่ภาพของอีสานจะเลิร์น ถ้ามันชัด มันอาจจะไปเสริมให้เขาเห็นเส้นทางของการลุกขึ้นมาประกาศตัวก็ได้”
ความท้าทายในการสร้างความจะเลิร์น
“การได้ทำอีสานจะเลิร์นมันเหมือนเราได้วิ่งเข้าไปเล่นกับเพื่อนๆ เพราะด้วยความที่ช่วงวัยใกล้กัน พลังงาน ความอยาก หรือพลังงานความขับเคลื่อนอะไรบางอย่างจึงคล้ายกัน เรารู้สึกสนุก แต่ว่าส่วนที่ท้อหรือท้าทายก็มีบ้าง เช่น เวลาที่ต้องไปเจอกับระบบใหญ่ แล้วต้องเชื่อมโยงกับระบบใหญ่ที่เราอาจจะหาวิธีการที่เชื่อมโยงกันได้อย่างลงตัว ซึ่งมันก็เป็นธรรมชาติ ก็ต้องค่อยๆ ปรับจูนกันไป ก็มีเหนื่อยบ้าง แต่ว่าไม่ได้รู้สึกว่าอยากเลิกทำ” แคทเล่า
“ส่วนพร้าวมีความท้าทายครับ พอดีว่าเราอยู่ในตำแหน่งฝ่ายประสานงาน มันก็มีความท้าทายบางอย่างในฐานะคนประสานงาน เช่น ตอนนี้อีสานจะเลิร์นพยายามจะรวมตัวกันเป็นสมาคม เรามีคน 11 คน มันคือบริษัทแล้ว ความยากของมัน คือ การหากลไกในการทำงานร่วมกัน เช่น เราจะแบ่งทีมอย่างไรดี ทีมสื่อสาร ทีมประสานงานโครงการ โปรเจกต์เมเนเจอร์ ทีม AE ทีมออกแบบการเรียนรู้ (learning design) ทีมงบประมาณ ยากมาก
“มันคือการก่อร่างองค์กร แล้วไม่ใช่แค่การวางแผนว่าเราจะทำงานร่วมกันอย่างไร แต่มันคือการสร้างวัฒนธรรมองค์กร การมองหาให้ชัดเจนว่า เป้าหมายของเราคืออะไร อะไรคือฝันร่วม อะไรคืออุดมการณ์ ทำแบบนี้ใช่ความเป็นอีสานจะเลิร์นไหม ทำแบบไหนไม่ใช่ความเป็นอีสานจะเลิร์น มันละเอียดอ่อน ในมุมพร้าวในฐานะที่ได้เข้ามาเป็นกาวประสาน มันมีความท้าทาย”
นอกจากนี้ มะพร้าวยังบอกอีกว่า ความท้าทายสำคัญอีกหนึ่งอย่างคือ “ความท้าทายในการตั้งอยู่บนการไม่มีงบประมาณ” ก่อนจะขยายความเพิ่มเติมอีกว่า
“อีสานจะเลิร์น คือความจริงจังบนความฝันล้วนๆ มันไม่ได้มีค่าตอบแทนในช่วงแรก จึงเป็นความท้าทายมากๆ ว่า เราจะทำอย่างไรที่จะเกาะกลุ่มกันแบบนี้ไปเรื่อยๆ แล้วก็หล่อเลี้ยงความฝันของเราไปเรื่อยๆ ได้ เราก็คอยสะกิดบอกกันว่า ‘อันนี้เหนื่อยไปหน่อยนะ’ ‘อันนี้ดี ไปต่อ’” มะพร้าวเล่า
“ทุกคนไม่ได้รวย แต่ว่าแค่มีฝันร่วมกัน” แคทเสริม แล้วมะพร้าวก็ขมวดสรุปว่า
“แต่ก็มาประกอบรวมกันเหมือนเป็นพื้นที่ทับซ้อน เป็นความฝันร่วม มันก็เลยอยู่ด้วยความฝันร่วมนี่แหละ”
เมืองที่เจริญ คือเมืองที่คนเจริญเติบโตไปพร้อมกับเมือง
ช่วงท้ายบทสนทนา ประเด็นที่พวกเราได้พูดคุยกันก็ดำเนินไปถึงเรื่อง ‘เมือง’ อีสานจะเลิร์นที่ขับเคลื่อนประเด็นการเรียนรู้ในพื้นที่หนึ่งๆ หรือในเมืองหนึ่งๆ อย่างขณะนี้ที่มีพื้นที่หลักอยู่ที่ขอนแก่น พวกเขาคิดเห็นอย่างไรต่อเรื่องความเจริญของเมือง กล่าวคือเมืองที่เจริญสำหรับชาวอีสานจะเลิร์นอย่างแคทและมะพร้าวนั้นเป็นอย่างไรกัน แคทตอบคำถามนี้คนแรก
“เรามองว่าเมืองที่เจริญ คือเมืองที่มีคนแบบพวกอีสานจะเลิร์นอยู่เรื่อยๆ และมีการขยายขึ้นไปอีก คือคนที่ลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง เพราะว่าถ้าเราปล่อยให้เมืองเจริญในทางวัตถุเพียงอย่างเดียว แล้วคนแห้งเหี่ยว แบบนั้น คงไม่ใช่ความเจริญในแบบที่เราฝัน แต่เราอยากเห็นคนที่ไม่ว่าเมืองจะโตไปในทางไหน โตเร็ว โตช้า โตมาก โตน้อย เราก็อยากเห็นคนที่รักพื้นที่ หรือรักบ้าน รักท้องถิ่นของตัวเองแล้วลุกขึ้นมาทำอะไรดีๆ ในแบบของเขา
“ในภาพ 5-10 ปีข้างหน้า การที่มีคนรุ่นหลังจากเราลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง โดยอาจจะไม่ใช่การทำอีสานจะเลิร์นก็ได้ แต่อาจจะเป็นอะไรที่พวกเขาอยากจะทำในอีกแบบหนึ่ง เราเชื่อว่าพลังของคนหนุ่มสาวแบบนี้ มันทำให้เมืองเจริญอย่างแท้จริง เพราะว่ามันจะไม่หยุดนิ่งและถูกแช่แข็งในทางของผู้คน มันคือเมืองที่คนอยากจะทำให้เมืองของตัวเองดีขึ้น
“เรารู้สึกว่าแบบนี้มันจะเป็นเมืองที่มีความเจริญและมีความหวัง เราใช้คำว่า ‘มีความหวัง’ เพราะว่าตอนนี้ในฐานะคนขอนแก่นเอง เรามีความหวังกับการเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้นมา แล้วเราก็ดีใจมากๆ ที่เราได้อยู่ในขบวนการของความหวังนี้”
“ในมุมของพร้าว มันก็เหมือนคติประจำใจที่กลุ่มอีสานจะเลิร์นเขียนเอาไว้ว่า ‘เมืองจะเจริญ ถ้าผู้คนอยากจะเลิร์น’ ถ้าสมมติมองในมุมคำศัพท์ที่เขาชอบใช้กัน เช่น ขอนแก่นอยากเป็น smart city เราก็จะคิดว่า smart city ขาด smart people ไม่ได้นะ คือคนก็ต้องเจริญไปพร้อมกับวัตถุต่างๆ ที่เข้ามาด้วย เราไม่ไปเป็นกำแพงขวางความเจริญทางวัตถุนะ ขอนแก่นเจริญทางวัตถุได้เลย ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า รถไฟ ถนนหนทาง คาเฟ่ ทุกอย่างเจริญเติบโตไปได้เลย แต่เราคิดว่ามันน่าจะมีชีวิตชีวามากยิ่งขึ้น ถ้าคนเจริญตามไปด้วย
“ดังนั้น เมืองที่เจริญในมุมของเรา คือเมืองที่คนเจริญเติบโตไปพร้อมกับเมือง คนอยากเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา คนเข้าถึงการเรียนรู้ที่เขาอยากเรียนรู้ได้โดยไม่มีกำแพงกั้น แล้วเขานำสิ่งที่เขาเรียนรู้นั้นไปใช้ในชีวิตของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการประกอบอาชีพของตัวเอง ทักษะของพวกเขามีมากขึ้น จนรู้สึกว่าอยากลุกขึ้นมาพัฒนาเมืองด้วยไอเดียของพวกเขาเอง
“เราฝันอยากเห็นแม่ค้าคนหนึ่งได้มีพื้นที่เรียนรู้เรื่องการจัดการเงินส่วนบุคคล แล้วเขากลับไปบริหารบัญชีร้านตัวเองได้ เราอยากเห็นเขามาเรียนเรื่องทักษะการสื่อสารเป็นภาพ แล้วเขาเอากลับไปเปลี่ยนร้านค้าของตัวเองด้วยการวาดลายเส้นผ่านมือของเขา แล้วทำเป็นโลโก้ร้านของเขา มันคือการนำสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้ แล้วสิ่งที่เราเป็นอยู่มันเจริญขึ้น” มะพร้าวอธิบาย
“และเป็นเมืองที่เจริญไปด้วยกันโดยที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง อันนี้คือความสำคัญเลย คืออย่าทำให้ความเจริญมันทิ้งคนบางกลุ่มไว้ ต้องเจริญไปด้วยกัน” แคทเสริม
เมื่อพูดถึงเมืองที่เจริญในมุมมองของทั้งสองคนแล้ว เราชวนกันคุยต่อถึงว่า อุปสรรคหรือข้อจำกัดอะไรต่อความเจริญ หรือความรู้สึกว่าอยากจะเลิร์นของเมืองเมืองหนึ่ง
“การที่มันเป็นจุด (dot) โดยเป็นจุดที่กระจายกันอยู่ แล้วไม่เชื่อมโยงหรือเข้าถึงกัน ทำให้การก้าวข้ามความกลัวที่จะมาร่วมมือกันหรือร่วมพื้นที่การเรียนรู้เดียวกันมันก็ยาก มันเป็นกำแพงเหมือนกัน กว่าคนคนหนึ่งจะกล้าเดินเข้าไปเรียนรู้สิ่งหนึ่งๆ ซึ่งกำแพงเล็ก กำแพงใหญ่แตกต่างกัน แล้วแต่คน”
“อีกอย่างหนึ่ง ก็คือ เรื่องของเงิน ถ้าคนเราไม่ได้มีเงินมากพอในการเลือกที่จะว่างวันนี้ เพื่อไปเข้าเวิร์กช็อปดีกว่า เขาก็จะไม่มีโอกาสเลยเหรอ หรือแม้กระทั่ง ถ้าเขาไม่มีนิเวศแวดล้อมที่ทำให้เขารู้สึกว่าเขาอยากเลิร์น มันก็เป็นหนึ่งกำแพงเหมือนกัน”
แคทยกตัวอย่างเพิ่มเติมอีกถึงนิเวศแวดล้อมที่เป็นอุปสรรคต่อความจะเลิร์น “มันแล้วแต่ช่วงวัย ถ้าเป็นวัยเด็กก็มักจะไม่ได้มีทุนไปเรียนด้วย แต่ถ้าเป็นวัยผู้ใหญ่ทุกคนก็ก้มหน้าก้มตาทำงาน หรือว่าใช้ชีวิตในพาร์ตของตัวเอง มันขาดการเชื่อมต่อจุด หรือ connect the dot ระหว่างผู้คน”
ส่วนมะพร้าว เขาบอกด้วยน้ำเสียงชัดเจนว่า
“สิ่งที่ขัดขวางความเจริญ คือมันไม่มีที่ให้เลิร์น”
มะพร้าวเล่าต่อจากประสบการณ์ที่ผ่านๆ มาของกลุ่มอีสานจะเลิร์น “จากเท่าที่ลองทำกันมา พอมีที่ให้เลิร์นทุกคนก็อยากเลิร์น แล้วพอมันจะต้องไปเลิร์นในเมือง มันก็ไกล หรือพอจะต้องเข้าไปเลิร์นในระบบ มันก็ต้องมีต้นทุน พอมันไม่มีที่ให้เลิร์นหลากหลาย มันก็ไม่รู้จะเข้าถึงความเจริญตรงไหน อีสานจะเลิร์นมันก็เลยเกิดขึ้นมาเพราะสิ่งนี้ เพราะมันเห็นว่ามันไม่มีพื้นที่ให้เลิร์น ก็สร้างพื้นที่ให้คนเลิร์น เข้าถึงได้ง่ายๆ ไม่ไปซ้ำรอยประวัติศาสตร์”
เราฟังพวกเขาด้วยความหวัง ขณะเดียวกันก็เชื่อว่าหมุดหมายนั้นจะเกิดขึ้นได้ด้วยพลังของการ ‘หาเฮ็ดหาทำ’ เชื่อมโยงผู้คนจากจุดหนึ่ง ไปยังจุดหนึ่งจนเริ่มเห็นรูปเห็นร่างของเครือข่ายการเรียนรู้ในสไตล์ของอีสานจะเลิร์น
โดยไม่ว่าภาพในปลายทางจะเกิดขึ้นอย่างที่พวกเขาฝันหรือไม่ ผลลัพธ์จะเกินความฝัน หรือน้อยกว่าที่คาดหวังก็ไม่อาจรู้แน่ แต่สิ่งสำคัญคือภาพวันนี้ชัดเจนว่า พวกเขาคือคนรุ่นใหม่พลังเหลือล้นที่มองเห็น ‘ความเป็นไปได้’ มากมายในการสร้างโลกการเรียนรู้นอกห้องเรียนให้เกิดขึ้นกับคนในพื้นที่ อีกทั้งพวกเขายังยืนหยัดและยืนยันที่จะเลิร์นไปพร้อมเมืองแห่งนี้ด้วยความหวัง
Photographer : กานต์ ตำสำสู
Writer
ศิรินญา
หาทำอะไรไปเรื่อยๆ ตามประสาวัยลุ้น
illustrator
Arunnoon
มนุษย์อินโทรเวิร์ตที่อยากสื่อสารและเชื่อมโยงกับผู้คนผ่านภาพวาด