คุยกับทีมหลังบ้าน Ant Band เมื่อเสียงเพลงผลิบานจากรากฐานความรักในครอบครัว
คุยกับทีมหลังบ้าน Ant Band เมื่อเสียงเพลงผลิบานจากรากฐานความรักในครอบครัว
ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น คือคำเปรียบเปรยที่เราคุ้นเคยและนึกภาพตามได้อย่างชัดเจน แต่สิ่งที่คนส่วนใหญ่อาจนึกไม่ถึง ก็คือต้นไม้จะออกผลได้ ย่อมต้องมีรากที่แข็งแรงหยั่งลึกอยู่ใต้ผืนดิน ยิ่งรากมั่นคงเท่าไร ต้นไม้ก็ยิ่งเติบโตสูงใหญ่ออกดอก ออกผลได้มากขึ้นเท่านั้น
พ่อแม่จึงเปรียบเหมือนกับรากใหญ่ของต้นไม้ ทำหน้าที่เป็นผู้อยู่เบื้องหลังสนับสนุนให้ลูกเติบโตแผ่กิ่งก้านสาขาออกไปได้อย่างไร้ขีดจำกัด Ant Band คือวงดนตรีเด็กที่สะท้อนภาพนี้ได้อย่างชัดเจน สมาชิก 4 คนของวงคือผลผลิตจากครอบครัวที่เป็นดั่งรากไม้แข็งแรงมั่นคง แม้จะมาจากพื้นเพและวัฒนธรรมที่แตกต่าง แต่ก็อยู่รวมกันได้อย่างลงตัว
ธัช–ด.ช.ธรรมธัช บุญช่วง นักร้องนำ และ นโม–ด.ช.กานต์ธีรา จรกลิ่น มือกลอง สองเพื่อนรักที่เติบโตมากับโรงเรียนไทยที่หลายคนคุ้นเคย ขณะที่ เอมอส–ด.ช. เอมอส มิตรสัมพันธ์ มือเบส ควงคู่มากับพี่ชายวัยรุ่น แอดดี้-แอดดี้สัน มิตรสัมพันธ์ เป็นสองพี่น้องโฮมสคูลจากอเมริกา เติบโตในบ้านที่ใช้ภาษาอังกฤษ แม้เส้นทางชีวิตจะแตกต่าง แต่ด้วยแรงผลักดันจากครอบครัวและความมุ่งมั่นในดนตรี พวกเขาได้หล่อหลอมความแตกต่างให้กลายเป็นสายใยที่เหนียวแน่น เปรียบเหมือนบรรดาตัวโน๊ตที่แตกต่างทั้งจังหวะและน้ำหนักเสียง แต่เมื่อผสมผสานร้อยเรียงก็เกิดเป็นเสียงดนตรีที่งดงาม
ความสำเร็จของ Ant Band ทั้งจากเวทีประกวดในไทยและการแสดงบนเวทีระดับนานาชาติอย่าง Sabaidee Fest: Southeast Asian Music and Cultural Festival ณ สหรัฐอเมริกา ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงจากความมุ่งมั่นและพรสวรรค์ของสมาชิกวงเท่านั้น หากแต่ยังมีแรงสนับสนุนจากครอบครัวที่เปรียบเสมือนรากแก้ว หล่อเลี้ยงให้พวกเขาเบ่งบานเติบโตบนเส้นทางสายดนตรี
ในบทสัมภาษณ์นี้ เราจะพาทุกคนไปพูดคุยกับ พ่อหนึ่ง-กัณม์ ภูธณลักษณ์ (คุณพ่อน้องนโม), แม่ติ๊นา-ณัฏฐ์ภัค ธนเศรษฐาทวี (คุณแม่ธัช), พ่อตู่-ตู่ มิตรสัมพันธ์ และ แม่พาเชอร์- พาเชอร์ มิตรสัมพันธ์ (คุณพ่อคุณแม่น้องแอดดี้และน้องเอมอส) ผู้เป็นดั่งลมใต้ปีก ที่ไม่ได้มีหน้าที่เพียงส่งเสริมลูกๆ บนเส้นทางสายดนตรี แต่ยังเชื่อมโยงกันผ่านความร่วมมือระหว่างครอบครัว ที่นำไปสู่ความสัมพันธ์ที่แตกต่างแต่งดงามอีกด้วย
อยากให้แต่ละครอบครัวเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่สนับสนุนให้ลูกเล่นดนตรี
พ่อหนึ่ง : สำหรับนโม มือกลอง ต้องเล่าก่อนว่าเราสังเกตเห็นความชอบด้านดนตรีของเขามาตั้งแต่เด็กตั้งแต่ขวบกว่าๆ เราเห็นเขาถือตะเกียบเคาะโน่นเคาะนี้ เวลาได้ยินเสียงเพลง เขาจะเคาะตาม ซึ่งเราสังเกตว่าการเคาะตามของเขาเป็นจังหวะที่ถูกต้องและเป็นวิธีการที่มือกลองเขาตีกัน
ทีนี้เรา ก็เลยลอง เปิดคลิปวิดีโอให้เขาดูเรื่อยๆ สุดท้าย ไม้กลองก็กลายเป็นของเล่นของเขา เด็กคนอื่นจะถือตุ๊กตา รถ หุ่นยนต์ นะโมถือไม้กลองในทุกจังหวะของชีวิต ทั้งนอน เดิน ออกไปเที่ยว มีไม้กลองตลอด นั่นคือจุดเริ่มต้นที่เราเห็นและสนับสนุนเขามาตลอด
เขาตีกลองตั้งแต่เล็กๆ ประมาณ 2 ขวบ พออายุ 5 ขวบ ก็ได้ไปออกรายการ Super10 ซีซั่น 2 พอเราเห็นว่าเขาชอบและมีพรสวรรค์ เราก็ผลักดัน
พ่อตู่ : สำหรับครอบครัวเรา มี 2 คนคือ แอดดี้ มือกีต้าร์ กับเอมอส มือเบส ก่อนมีลูกเราคิดไว้แล้วว่าลูกเราต้องเล่นดนตรีอะไรสักอย่าง เพราะผมเป็นนักดนตรี เคยมีวงอยู่ที่อเมริกา พอมีลูก เลยอยากให้ลูกเป็นนักดนตรีเหมือนกัน แล้วเราศึกษามาว่าเด็กที่เล่นดนตรีช่วยเรื่องสมาธิ แถมยังช่วยให้การเรียนดีขึ้น
แม่พาเชอร์ : ครอบครัวเราทำโฮมสคูล แล้วที่บ้านมีกีต้าร์ของพ่ออยู่เต็มบ้าน ลูกก็เล่นบ้างไม่เล่นบ้าง อยากแอดดี้ ลูกคนโต เริ่มเล่นกีต้าร์ตอน 10 ขวบ ส่วนเอมอส มือเบส เพิ่งเริ่มเล่นได้ 2 ปีกว่าๆ ตอนที่ทำวง Ant Band นี่แหละ
แม่ติ๊นา: สำหรับน้องธัช นักร้องนำ เป็นเพื่อนกับน้องนโม มือกลองมาก่อน แล้วเด็กสองคนนี้เขาสนใจ ดนตรี ค่อนข้างชัดแต่เด็ก ธัชจะชอบฮัมเพลงเวลานั่งรถ ถ้าเราเปิดเพลงในรถ เขาก็ฮัมจังหวะตามเสียงเพลง ตั้งแต่ยังร้องเนื้อเพลงไม่ได้ แต่ฮัมจังหวะกับคีย์ถูกต้อง
เราก็รู้สึกว่าเขาก็น่าจะมีทักษะในด้านนี้ แรกๆ ก็ร้องกันเองที่บ้าน มีไปแข่งประกวดงานเด็กๆ กับนโม แล้วก็มาเจอครอบครัวพี่แอดดี้ พี่เอมอส ตอนที่ธัชอายุประมาณ 9 ขวบ ก็เริ่มทำวงกัน
อยากให้เล่าถึงจุดเริ่มต้นวง Ant Band
พ่อหนึ่ง : คือผมกับพ่อน้องธัช เป็นเพื่อนกันตั้งแต่ม.1 ลูกก็รุ่นเดียวกัน ก็เจอกันตั้งแต่เด็กๆ ลูกผมตีกลอง น้องธัชร้องเพลง เราก็จะไปคู่กัน ประกวดงานวันเด็กบ้างอะไรบ้าง แต่คนก็จะงงๆ ว่ามีแค่นักร้องกับกลองเหรอ เพราะคนอื่นเขามาเต็มวง เราก็เริ่มจากตรงนั้น
หลังจากนั้นนโม ย้ายมาเรียนที่โรงเรียนดนตรีฮาร์มอน ซึ่งเป็นโรงเรียนที่คุณครูของนโม คือ ครูฟิลิปส์ มือกลอง วง Cocktail มาเปิด ลูกก็ตามมาเรียน เพื่อที่ว่าเราอยากหามือกีต้าร์ มือเบส ให้ครบวง ก็ถามครูว่าพอจะมีไหม ครูก็เลยแนะนำ
เอมอส ให้มาลองเจอกัน เพราะอายุเท่ากัน
กลายเป็นว่าพอมาปุ๊ป ก็เล่นเข้าขากันดีมาก ผลเลยโทรหาแม่ติ๊ก ว่าเจอแล้ว ได้มือเบสแล้ว ให้พาน้องธัชตามมาเรียนที่นี่ด่วน (หัวเราะ) ตอนนั้นธัชยังอยู่อีกโรงเรียนหนึ่ง แต่สุดท้ายก็ย้ายมา แล้วก็ได้รวมวงกัน 3 คน มีกลอง เบส และนักร้อง
แม่พาเชอร์ : ทางฝั่งเราคือครูก็มาถามว่าจะให้เอมอสไปรวมวง เพราะครูมีลูกศิษย์เป็นมือกลองที่เก่งมาก เราก็แบบว่าเอมอสจะเล่นได้เหรอ เพิ่งเล่นเบส 6 เดือนเอง แต่ครูก็มั่นใจ แล้วอีกอย่างคือลูกเราพูดไทยไม่ได้เลย ปรากฏว่าพอเล่นด้วยกันก็เล่นได้ เขาก็คุยกันยังไงไม่รู้ แต่ก็คุยรู้เรื่อง ก็ไปกันได้ แล้วงานแรกของวงที่ตอนนั้นมี 3 คน เป็นงานของบอย-นภ ที่ให้เด็กๆ ทำ Talent Show แต่ใช้ Backing Track ไม่ได้ วงเราตอนนั้นไม่มีกีต้าร์ ไม่รู้จะทำไง ก็ต้องไปหามือกีต้าร์ที่เรารู้จัก ซึ่งก็คือ ลูกของเราเอง (หัวเราะ)
พ่อตู่ : พอดีวันนั้นเด็กๆ ซ้อมกันที่โรงเรียน แล้วพี่แอดดี้ก็อยู่โรงเรียนนั้นด้วย เห็นน้องๆ ไม่มีมือกีต้าร์ก็สงสารน้อง ก็เลยเอาเพลงมาแกะแล้วไปช่วยซ้อมกับน้อง
พ่อหนึ่ง : ซ้อมไปซ้อมมาเลยอยู่กับน้องไปเลย (หัวเราะ) อยู่กับน้องสนุกกว่า คือตอนนั้นพี่แอดดี้น่าจะอายุประมาณ 15 แล้วน้องๆ ก็ 10 ขวบ แต่พอไปโชว์ด้วยกัน ฟอร์มวงมาแล้วพี่แอดดี้เข้ามาเติมเต็มได้ดีมาก ช่วยเอนเตอร์เทนในส่วนของนักดนตรี ดึงฟีลลิ่งของนักดนตรีขึ้นมาส่งไปให้ถึงน้องธัชที่เป็น front manได้
ชื่อวง Ant Band มีความหมายอย่างไร
พ่อหนึ่ง : ช่วงแรกที่วงเรามี 3 คนคือ นโม ธัช เอมอส เราก็คิดว่าจะตั้งชื่ออะไรดี ผมก็ไปปรึกษากับพี่ที่รู้จักกัน ชื่อพี่ณรงค์ เป็นออร์กาไนเซอร์อยู่ภูเก็ต แกก็เขียนส่งกลับมาให้ว่า ‘Ant’ ที่มาจากตัวอักษรหน้าชื่อของแต่ละคน A-Amos N-Namo และ T-Touch ที่เป็นเด็ก 9 ขวบที่มีพลังเหมือนมดตัวเล็ก เมื่อร่วมมือกันแล้ว สามารถทำอะไรก็ได้ รวมพลังกันก็ยกหิน ยกสัตว์ที่ใหญ่กว่าได้ พอพี่แอดดี้เข้ามาก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรเพราะว่า A เหมือนกัน แล้วก็ใช้ชื่อนี้มาตลอด
คิดว่าเอกลักษณ์ของ Ant Band ที่แตกต่างจากวงดนตรีอื่นๆ คืออะไร
พ่อหนึ่ง : วง Ant เป็นการเบลนด์อะไรที่มันแตกต่างมาก อย่างผม กับแม่ติ๊นา เป็นไทย ส่วนครอบครัวพ่อตู แม่แพเชอร์ นี่อเมริกันที่มีเชื้อสายลาว ส่วนเราก็ไทยเชื้อสายจีน แรกๆ จะคุยไลน์กันผมยังคิดว่าจะพิมพ์ยังไง คุยภาษาอะไร เพราะเขาก็ไม่ได้ภาษาไทยเลย ผมก็ไม่เก่งอังกฤษ แล้วต้องนัดคิวเพลง นัดซ้อม ก็หลากหลายวัฒนธรรม อีกเรื่องคืออายุที่ห่างกันมากระหว่างน้องๆ กับพี่แอดดี้
ซึ่งการมีพี่แอดดี้ มีทั้งข้อดีและไม่ดี ข้อไม่ดีคือ Ant Band ประกวดรุ่นเด็กไม่ได้แล้ว ต้องประกวดระดับม. 6 ตลอด เพราะว่าพี่แอดดี้ก็ 17 แล้ว แต่ข้อไม่ดีนี้ ก็เป็นข้อดีมากๆ ด้วย เพราะพอเราไปประกวดคนดู ก็จะไม่ได้คาดหวัง แต่พอเริ่มเพลงทุกคนจะเซอไพรส์มากๆ
วันที่ได้แชมป์ เราแข่งกับทีมเด็กม.ปลาย 30 ทีม แต่วงเด็กตัวกระเปี๊ยกที่มีพี่ใหญ่คนหนึ่งที่แหละ ที่ได้แชมป์ ก็ทำให้น้องๆ ในวงได้รู้สึกท้าทายขึ้น เพราะถ้าประกวดรุ่นเดียวกัน ชนะแล้วเขาอาจจะไม่อยากเล่นแล้วก็ได้ เพราะไม่ท้าทายแล้ว พอมีพี่อยู่ในวง ทำให้ต้องเล่นอีกแบบ ได้ไปเห็นวงที่แข่งเป็นรุ่นใหญ่ ทำให้อยากพัฒนา เจอเด็กมหาลัย เห็นวิธีการเล่น วิธีการซาวน์เชค การแสดงในโชว์ ทำให้ลูกเราได้เห็นมากกว่าเด็กคนอื่นที่แข่งในรุ่นเดียวกัน ทำให้ Ant Band พัฒนาได้เร็ว เพราะเขาได้เห็นรุ่นที่ใหญ่กว่า
แม่พาเชอร์ : จริงๆ พี่แอดดี้เคยบอกว่า น้องเก่งมากนะ ใครที่พูดล้อว่าอยู่วงเด็ก อายุ 10 ขวบ แต่เขาบอกว่าน้องๆ เก่งมาก ทำเพลง As I am ที่ยาว 12 นาทีได้ แล้วน้องชาเลนท์เขานะ อย่างนโมก็จะมาถามว่า พี่แอดดี้เล่นอันนี้ได้ไหม ก็ชาเลนท์กัน แล้วก็ส่งพลังให้กันด้วย
พ่อตู่ : พี่แอดดี้เป็นพี่ที่ใจดี เขาอยากช่วยน้อง แล้วก็เสนอตัวเองว่าช่วยแกะเพลงไหม แล้วครอบครัวเราทำโฮมสคูล มีน้องคนเล็กที่อายุห่างกันมาก แอดดี้ก็เลยมีคาแรคเตอร์เป็นผู้ดูแลน้อง แล้วเขาไม่กลัวว่าเพื่อนจะล้อที่เขาอยู่กับน้องๆ สองอย่างที่ครอบครัวเราให้ความสำคัญในการเลี้ยงลูกคือ Nourishment และ Protection เราจะดูแลยังไงให้ลูกพัฒนาและเติบโต พร้อมกับป้องกันแต่ไม่ก้าวก่ายตัวตนของเขา
แม่พาเชอร์ : ตอนนี้พี่แอดดี้ก็อายุ 17 แล้ว ใกล้จะต้องกลับเรียนมหาวิทยาลัยที่อเมริกา เขาก็เสียดายมาก อยากทำวงกับน้องๆ ต่อ เขาแฮปปี้ที่ได้มีโอกาสหลายอย่างที่นี่ เพราะถ้ายังอยู่วงเดิม เพื่อนๆ แยกย้ายไปมหาลัยกันหมดแล้ว แต่พอมาอยู่กับน้อง ก็ได้ทำวงยาวๆ มีโอกาสดีๆ เยอะที่เข้ามา
แต่ละครอบครัวมีบทบาทใน วง Ant Band อย่างไรบ้าง
พ่อหนึ่ง : ผมว่าการทำวงไม่ได้อยู่แค่เด็กที่เป็นสมาชิกในวง แต่อยู่ที่ครอบครัวด้วยว่าพร้อมไปกันไหม ไปภูเก็ตไหม ไปเมืองนอกไหม ไหนจะเรื่องเวลาที่พ่อแม่ต้องช่วยกันจัดสรร บ้านที่เรียนโฮมสคูลจะซ้อม 10-11 โมง ก็ได้ แต่บ้านที่ไปโรงเรียนต้องรอ 4 โมงถึงจะว่าง ก็จะเป็นอุปสรรคเรื่องเวลา
แถมแต่ละครอบครัวก็ไกลกันมากนะ แม่ติ๊กอยู่สายไหม ผมอยู่บางใหญ่ ครอบครัวนี้บางบ่อ ก็ต้องนัดซ้อมกันที่โรงเรียน หรือห้องซ้อมในกรุงเทพฯ ยังไม่รวมถึงการต้องไปแข่ง
เมื่อสองปีที่แล้วที่เราเริ่มรวมวง เราก็เริ่มหาแนวทางกันแล้วว่าเราจะซ้อมดนตรีกันแล้วจะอย่างไรต่อ ซ้อมไปเพื่ออะไร เพื่อเล่นงานโรงเรียนปีละ 2 ครั้งเท่านั้นเหรอ ก็เลยตั้งเป้าหมายกันว่าซ้อมแล้วหาเวทีโชว์ เวทีประกวด เพื่อให้เด็กๆ มีเป้าหมายที่จะซ้อม ซึ่งพ่อแม่ก็ต้องพร้อมที่จะพากันไป อย่างงานสงกรานต์โนแอล ที่ภูเก็ตก็เป็นงานใหญ่ ก็เสนอ Ant Band ไป เขาก็ให้ไปเล่น คำถามคือต้องขับรถไป ไปกันไหม แล้วทุกคนพร้อมจะไป เพื่อให้ลูกมีโอกาส
แม่ติ๊นา : อย่างที่ภูเก็ต พอลูกขึ้นไปแสดง ท่ามกลางคลื่นมหาชน ทุกคนเฮกันหมด เล่นกันหมด เด็กๆ เพอร์ฟอร์มออกมาได้สวยมาก ดีมาก เราอิ่มเอมใจ น้ำตาไหลเลย
พ่อตู่ : ไม่เหนื่อยเลยที่ขับรถไป (หัวเราะ)
พ่อหนึ่ง : เวทีนั้นเด็กๆ ได้เล่นต่อหน้าคนเป็น 2-3 หมื่น ก็เป็นความภูมิใจของเขา ที่เขาทำตรงนั้นได้ พ่อแม่ทีมงานยังเซอไพรส์ที่เด็กๆ เอาคน 2 หมื่น อยู่ เขาเอาอยู่จริง เซอไพรส์ทุกคน แล้วถ้าเราไม่พาเขาไป ทั้งเราทั้งลูกก็จะไม่มีโมเมนต์อย่างนี้
พ่อแม่จัดสรรเวลาระหว่างการทำงานกับการพาลูกไปทำตามความฝันยังไงบ้าง
พ่อหนึ่ง : ก่อนหน้านี้ผมเป็น Marketing Director ถ้าลูกไม่ได้ไปแข่งผมก็ทำงานเต็มที่ 4-5 ทุ่ม แต่ถ้าลูกประกวดผมก็จัดสรรเวลาไปทันที แล้วงานเราไม่ต้องทำในออฟฟิศตลอดก็จัดสรรได้ ส่วนตอนนี้ก็มาทำธุรกิจที่เป็น Founder เต็มตัว ก็จะเหนื่อยอีกแบบแต่มีเวลามากขึ้น
แม่ติ๊นา : เป็นเจ้าของธุรกิจ บริษัทที่ปรึกษา ISO โรงงาน ด้วยธุรกิจมันนิ่งแล้วด้วย เราก็เซตทีมไว้พอสมควรแล้ว มีทีมแล้ว เราก็ปล่อยได้แล้ว ด้วยการจัดสรรเวลา ไม่ใช่ไม่เข้าเลย แต่ก็ซัพพอร์ทลูกได้มากขึ้น แต่ถ้าไม่ได้จริงๆ ก็สลับกันไปกับคุณพ่อ ถ้าเราต้องทำงาน ลูกต้องแข่ง ก็ให้พ่อไป แต่เราจะพยายามหาทางให้ได้มากที่สุด พยายามหาทางออกสุดกำลัง ว่าลูกต้องได้ งานก็ต้องไม่เสีย แต่ถ้าต้องเลือกจริงๆ เราก็คงเลือกลูกก่อน ไม่ว่ายังไงลูกจะเป็นนัมเบอร์วัน แต่เราจะพยายามให้เรื่องอื่นไม่เสีย เท่าที่จะทำได้
แม่พาเชอร์ : เชื่อว่าทุกครอบครัวต้องมีการเสียสละบางอย่าง อย่างเราเป็น Stay at Home Mom ซึ่งเราไม่เคยอยากเป็นนะ แต่ว่าเราใกล้ชิดลูก ได้เห็นพัฒนาการของลูก เราก็คิดว่ามาถูกทาง แม้ว่าจะต้องสละการทำงาน แม่ที่ทำงานเขาก็ต้องเสียสละเวลา เขาก็ต้องเสียเวลาที่จะได้อยู่กับครอบครัว บางครั้งเราก็ต้องเลือกนะ
เราย้ายมาจากอเมริกาก็คิดว่าเราจะทำอย่างไร แล้วพบว่า สิ่งที่เราต้องทำคือ create a support group มีครอบครัวโฮมสคูลที่ช่วยดูแลกันได้ มันไม่ใช่แค่ครอบครัวเลือดเดียวกัน แต่เป็นครอบครัวที่เราเลือก เหมือนที่บอกว่า
That’s what really helps bring up a child — it’s the village.”
เมื่อได้ทำงานเป็นทีมเดียวกับลูก มีสิ่งใดบ้างที่พ่อแม่ได้ Relearn
พ่อหนึ่ง : ผมน่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับดนตรี ที่ครั้งหนึ่งเคยคิดว่าดนตรีเป็นแค่กิจกรรมสำหรับเด็ก แต่ไม่ได้คิดไปถึงว่ามันอาจจะเป็นอาชีพที่เลี้ยงชีวิตเขาได้
ตอนนี้พอลูกมาเล่นดนตรี ทำให้ความเชื่อผมเปลี่ยนไปว่า จริงๆ ดนตรี มันเลี้ยงชีวิตเขาได้นะ และอาจจะไปได้ดีด้วย เพราะว่าเราเริ่มเห็นว่าดนตรีไม่ได้อยู่แค่การเป็นนักดนตรี แต่มีทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลัง เพลงที่เล่นทุกวันนี้ ถ้าไม่มีคนเขียนเพลง เจ้าของลิขสิทธิ์พวกนี้คุณก็เล่นไม่ได้ วันนี้เป็นนักดนตรี
แต่วันหนึ่งคุณอาจเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เขียนเพลงที่ทุกคนเอามาร้องทั่วโลกก็ได้ หรือในส่วนงานเบื้องหลัง ทุกวันนี้กว่าจะมีโชว์สักโชว์หนึ่ง ไม่ใช่แค่ศิลปินที่ดี แต่ยังต้องมีแสง สี เสียง มี Show Director มีคนออกแบบเสียง ซึ่งเหล่านี้ผมว่า AI ยังทำไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องความรู้สึก ต้องเป็นมนุษย์เท่านั้นที่จะเข้าใจมนุษย์ด้วยกัน
ฉะนั้นการให้ลูกเล่นดนตรี เปลี่ยนความเชื่อเราไปเลยว่าธุรกิจนี้เป็นอาชีพเลี้ยงเขาได้ ถ้าเขาได้ทำในสิ่งที่ชอบ ก็อาจจะทำให้มีความสุขในการหาเงินมาเลี้ยงชีวิต จากการทำสิ่งที่เขารัก
แม่ติ๊นา : เป็นการเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อลูกเราเองมากกว่า คือคนเป็นพ่อแม่ ก็จะมองว่าลูกเราเป็นเด็กตลอด พอเขามาเป็นนักร้องนำ เราก็กังวลเพราะความรับผิดชอบเขาเยอะ ต้องเพอร์ฟอร์มให้คนดูเป็นร้อยเป็นพันสนุก ซึ่งเรารู้จักลูกเราว่า เขาติสต์ มีอารมณ์ศิลปินสูง บางทีเราก็พูดไปบ่นไป กลัวเขาทำไม่ได้ กลัวเขาจะทำให้วงเสียใจ แต่ทุกครั้งที่เขาโชว์ เราจะรู้สึกว่า เราสบประมาทเขาเกินไป เราควรเชื่อในตัวลูกมากกว่านี้
ทุกครั้งที่เขาขึ้นโชว์ก็เป็นข้อพิสูจน์ที่ทำให้เราเปลี่ยนมุมมองต่อลูกว่า เขาก็รับผิดชอบเนอะ ตอนที่เราบ่นๆ เขาไม่ตอบโต้ ไม่ทำตาม แต่พอขึ้นเวทีจริงๆ ก็ทำให้เราเห็นว่าเขาซ้อมมาแล้ว เพราะถ้าไม่ซ้อม ไม่มีทางทำการแสดงออกมาได้ แสดงว่าเขาเก็บรายละเอียด แต่เขาไม่อยากบอกเรา อย่างเวลาเขาแสดง เราก็เอ๊ะ! ท่านี้มาไง เราไม่เคยเห็น แต่เขาบอกว่าเขาครีเอทขึ้นมา เขาคิดเอาไว้แล้ว เราก็แค่ต้องปล่อยวางและเชื่อมั่นในตัวเขา
แม่พาเชอร์ : สำหรับครอบครัวเราสิ่งที่เปลี่ยนคือ เราไม่คิดว่าเราจะ Go with the Flow ได้ขนาดนี้ เราจะแพลนชีวิตดีมาก ปีนี้จะทำอะไรบ้าง แต่ตอนนี้เราสบายๆ ไม่รู้สบายมากเกินไปหรือเปล่า (หัวเราะ)
คือครอบครัวเรามาเมืองไทยเพราะว่าพ่อตู มีสถาบันฝึกนักบินเลยย้ายมาที่นี่ แต่พอดีปีนั้นมีโควิด-19 แล้วสถาบันก็ปิด เราก็ว่าจะย้ายกลับอเมริกาปีนั้นเลย เพราะไม่งั้นเราจะทำอะไรอยู่ที่นี่ล่ะ มันไม่ได้มีอะไรแล้ว แต่พอเด็กๆ มาทำวง แล้วมีหลายอย่างมากที่เมเนเจอร์ (ชี้ไปที่พ่อหนึ่ง) ชวนทำ เราก็โอเคไปก็ไป ก็ไม่เคยคิดว่าเราจะโอเคกับการไม่รู้ ไม่มีแพลน เพราะตัวตนของเราต้องมีแพลนมาตลอด แต่ตอนนี้ไม่มีแพลน ก็แฮปปี้ ลูกๆ ก็แฮปปี้
พ่อตู่ : บางอย่างไม่ตามแพลน แต่เราก็เห็นผลลัพธ์กำลังพัฒนา เราก็โอเค งั้นแพลนเราเราหยุดก่อนก็ได้
ความสัมพันธ์ในครอบครัวเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง เมื่อทำงานร่วมกับลูก
แม่ติ๊นา : พื้นฐานของครอบครัวทั้ง 3 ครอบครัว เราใกล้ชิดลูกอยู่แล้ว แทบจะเป็นเพื่อนกับลูก ค่อนข้างสนิทกัน เลยไม่ได้เปลี่ยนมาก อาจจะมีความจ้ำจี้จ้ำไชเรื่องซ้อม แต่ความสัมพันธ์ก็ยังเป็นเพื่อนกันอยู่ ไม่ได้แตกต่างจากเดิม
พ่อหนึ่ง : เราเข้าใจลูกมากขึ้น เห็นใจลูกมากขึ้น เพราะเขาต้องเดินทาง ต้องซ้อม เวลาพักผมก็เลยเขาให้เล่นได้เต็มที่ บางทีเล่นเกมเลิก 5 ทุ่ม ผมก็ให้ เพราะว่ากว่าจะเลิกซ้อมก็ 2 ทุ่ม กว่าจะถึงบ้าน ก็อยากให้เขามีเวลารีแล็กซ์ ไม่ได้กดดันให้เข้านอนตรงเวลาเป๊ะๆ ไม่งั้นจะทำให้การเล่นดนตรีไม่สนุก เราก็เข้าใจ เห็นใจเขามากขึ้น เพราะเวลาซ้อม 3 ชั่วโมง เขาก็จริงจัง ไม่เล่น ไม่งอแง เวลาพักเราก็จะเห็นใจเขาละ ยืดให้เขานอนดึกได้ เพื่อให้เขาได้ทำสิ่งที่อยากทำ พอเห็นใจกัน ความสัมพันธ์ในครอบครัวก็เลยลึกซึ้งขึ้น เห็นใจกันมากขึ้นเพราะเหนื่อยมาด้วยกัน
แม่พาเชอร์ : เราเป็นแม่ฟูลไทม์ อยู่กับลูก 24 ชั่วโมงก็ใกล้ชิดกันอยู่แล้ว แต่พอทำวงดนตรี เดินทางด้วยกัน There’s a mutual respect เกิดความเคารพระหว่างกัน เขามีให้เรา เรามีให้เขา และมีให้แต่ละครอบครัวด้วย เพราะทั้ง 3 ครอบครัวไม่เหมือนกันเลยนะ ตอนแรกก็กลัวว่าจะไปกันได้ไหม แต่ก็เรียนรู้ว่าไม่ต้องเหมือนกัน ก็ไปด้วยกันได้ เราเคยใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันนะ 3 ครอบครัว แล้วไม่มีใครแบบว่าหงุดหงิดอะไรเลย มันมีความเคารพที่เรามีให้กันแล้วลูกเรา ก็น่าจะสัมผัสได้ แล้วเขาก็เรียนรู้สิ่งนี้นำไปใช้กับครอบครัวอื่นๆ
นัดซ้อมกันอย่างไรบ้าง
พ่อหนึ่ง : สัปดาห์ละ 1 วัน หรือใกล้ๆ มีงานอาจจะสัปดาห์ละ 2 วัน ช่วงที่ไม่ได้เจอกันแต่ละคนก็จะซ้อมที่บ้าน รับผิดชอบส่วนของตัวเอง อย่างในงาน Relearn Festival ของ Mappa ที่จะมาถึง เราก็เอาเพลง BOYd-NOP (บอย โกสิยพงษ์ และนภ พรชำนิ) มา Rearrange ใหม่ เอาเพลงเก่าๆ มาทำใหม่ตามคอนเซปต์งาน ทุกคนซ้อมที่บ้านกันทุกวันอยู่แล้ว
เด็กๆ มีงอแงไม่อยากซ้อมบ้างไหม
พ่อตู่ : ไม่เลย ไม่งอแง ไม่วิ่งเล่น ตั้งใจมาก โฟกัสมาก มีแต่จะขอเวลาห้องซ้อมเพิ่ม อยากซ้อมต่อ บางทีที่ซ้อมก็เบรกกันแค่ 5 นาที ใน 2 ชั่วโมง
คิดว่าลูกๆ ได้เรียนรู้อะไรจากการทำวง Ant Band
พ่อหนึ่ง : การซ้อมเพื่อไปโชว์ก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่พอมีการประกวดเข้ามา ผมคิดว่าทำให้เด็กๆ มีเป้าหมาย แล้วพ่อแม่ก็ต้องคอยช่วยกันซัพพอร์ท เพราะประกวดเราก็มีทั้งแพ้ทั้งชนะ ซึ่งส่วนใหญ่เราจะแพ้ (หัวเราะ) มีครั้งหนึ่งพี่ธัช ไม่ได้ยินเสียงกีต้าร์บนเวที เขาเลยร้องไม่ตรง พอลงเวทีมาพี่ธัชก็ร้องไห้เลย เราทุกคนก็ช่วยกันปลอบ เพราะเป็นความผิดพลาดเฉพาะหน้าที่ไม่ได้พลาดจากเขา แต่มันเป็นประสบการณ์
ก็เรียนรู้ว่าต้องซาวน์เชคให้ละเอียด เขาก็เรียนรู้จากตรงนี้ เพราะบางทีแข่งชนะ ได้แชมป์แล้ว แล้วยังไงต่อ จะหยุดแค่นี้เหรอ ก็ไม่ใช่ ดนตรีทำให้เขารู้ว่าชนะแล้วไม่ได้หมายความว่าจะชนะตลอด สำหรับพ่อแม่ เวลาเขาเกิดปัญหา แล้วเราช่วยสนับสนุนกัน นั่นคือความสุขอย่างหนึ่งที่เรารู้ว่าปัญหานี้จะทำให้เขาเติบโต มีวุฒิภาวะที่ดีขึ้น
แม่ติ๊นา : ทุกๆ เวทีมีประสบการณ์สอดแทรกให้เขาเสมอ ตอนซ้อมบางทีเวลาจำกัดมาก อีกไม่กี่วันต้องขึ้น เพลงก็ยังไม่เสร็จ เด็กๆ ได้เรียนรู้กันเยอะ ฝ่าฟันในแต่ละโชว์ ทำให้พวกเขาได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อพยายามให้สำเร็จในทุกงาน บางทีไปประกวดแพ้ หรือเฟล แต่หลังเวที ความเป็นพี่น้อง ความเป็นครอบครัว เด็กๆ ไม่ทิ้งกัน ในความเป็น Ant Band ไม่ว่าดีใจเสียใจก็ไปด้วยกัน
พ่อตู่ : เราจะสอนลูกว่า งานของวง ทั้งแกะเพลง จัดสรรเวลา เตรียมตัวก่อนขึ้นเวที นี่คือ It’s Life เหมือนกับชีวิตของเราที่หลายอย่างเราต้องเตรียมพร้อม เหมือนกับชีวิตเลยที่เราต้องซ้อม ต้องโฟกัส มีเป้าหมาย มี Commitment เพราะพออกไปทำงาน เราก็ต้องใช้ทักษะเหล่านี้เหมือนกัน การเล่นดนตรีทำให้เราเรียนรู้หลายอย่างที่นำไปใช้ชีวิตได้
มองเป้าหมายในอนาคตให้ลูกไว้อย่างไรบ้าง
แม่ติ๊นา : สำหรับธัช ค่อนข้างชัดในมุมของการเป็นนักดนตรี การร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจของเราแล้ว และดนตรีด้านอื่นๆ กีต้าร์ เปียโน เขาก็ชอบ ถ้าเป็นเรื่องดนตรีเขาก็จะหันขวับตลอด ก็คิดว่าจะผลักดันเขาด้านนี้ สำหรับตอนนี้เราก็ไปกับ Ant Band แบบนี้ไปเรื่อยๆ ถ้ามีโอกาสที่จะไปถึงจุดสูงสุดตรงไหนก็ไปแบบนั้นเลย หาโอกาสให้ลูกเติบโตในด้านนี้
พ่อตู่ : สำหรับพี่แอดดี้ อายุ 17 ต้องเข้ามหาลัยแล้ว ก็จะกลับไปเรียน Sound Engineer ส่วนเรื่องวง Ant Band จะเป็นอย่างไรต่อก็ต้องดูอีกที
แม่พาเชอร์ : ก่อนหน้าจะมาอยู่ในวงก็คือแพลนว่ากลับไปเรียนมหาวิทยาลัยที่อเมริกาแหละ แต่หลังโควิด การเรียนมันไม่เหมือนเดิมแล้ว ไม่เรียนในสถาบันก็ได้ ถ้าเขาได้มีโอกาสไปทำอย่างอื่นแล้วเรียนด้วย เราก็เปิดกว้าง อันนี้สำหรับพี่แอดดี้ ส่วนเอมอส มีหลายอย่างที่เขาอยากทำ เราก็แล้วแต่ลูกเลย ตอนนี้ก็รอให้เขาเลือกเองไม่ว่ายังไงเราก็สนับสนุน
พ่อตู่ : ทุกวันนี้เรามีวง ที่ไปด้วยกันได้ดีมาก เอมอสก็ทำหน้าที่ได้ดี เป็นเบสที่เชื่อมกีต้าร์ เชื่อมกลอง เชื่อมนักร้อง เบสอยู่แบคกราวด์แต่ก็สำคัญสุด ถ้ายังสนใจด้านนี้อยู่เราก็สนับสนุน หรือจะเปลี่ยนความสนใจยังไง ก็รอดูอีกที
พ่อหนึ่ง : ผมก็อยู่ทางสายดนตรีแหละครับ ถึงเราเองก็จะไม่ค่อยเคี่ยวเข็ญ แต่ต้องซ้อมทุกวัน
(หัวเราะ) นโมก็มีความสุขกับการได้เล่นดนตรี เป้าหมายระยะสั้นก็คือเรียนมัธยม ถ้าจบ ม.3 มองไว้ว่าอาจจะให้เรียนดุริยางค์ศิลป์ที่เขารับ ม.4 นี่คือแผนที่พยายามเป่าหูเขาอยู่ (หัวเราะ) ตอนนี้วางแผนไว้แบบนั้นเพราะเขายังไม่มีแนวคิดของตัวเอง แต่ถ้าเขามีแนวคิดของตัวเองว่าอยากทำอะไร อยากทำอะไร แน่นอนว่าเราก็จะคอยสนับสนุนเมื่อเขาชัดเจน เราก็จะเปลี่ยนตัวเองจากคนชี้ ไปเป็นคนสนับสนุนแทนครับ
ในฐานะที่ลูกๆ เป็นนักดนตรี อยากให้เลือก 1 เพลงที่เป็นเหมือนธีมชีวิตในการเป็นพ่อแม่
พ่อหนึ่ง : สำหรับผมพอมองดูลูก 4 คนในวง Ant Band ผมนึกถึงเพลง ความเชื่อ (ของศิลปิน Bodyslam)ครับ เพราะหากคนเรามีความเชื่อ ไม่ว่าชีวิตเจออะไร ทั้งอุปสรรค หรือความสำเร็จ ไม่ว่าจะเล่นดนตรีวันนี้ หรืออนาคตต้องไปทำงาน พี่แอดดี้กลับไปเรียน เขาจะต้องเจอเรื่องต่างๆ มากมาย แต่ถ้าเชื่อว่าทำได้แล้ว มีเป้าหมายชัดเจน ก็จะสามารถผ่านไปได้ ทำได้แน่นอน
แม่พาเชอร์ : I’m everything I am because you love me by Celine Dion อันนี้ที่แบบว่าอยากให้ที่เราส่งต่อลูก แล้วลูกส่งต่อเราด้วย เราเป็นแม่คนนี้เพราะว่าความรักจากลูก แล้วหวังว่า เขาจะ thrive ในชีวิตของเราเพราะว่า love ที่เขาได้รับจากเรา I will always say that I don’t want them just survive but I want them to always strive and they will thrive.
การเดินทางไปพร้อมกับลูกในทุกย่างก้าว พ่อแม่ก็ได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน-เรียนรู้ที่จะเข้าใจโลกของลูก เปิดใจรับความแตกต่าง และปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง นี่คือความงดงามของการ Relearn ที่ไม่สิ้นสุดระหว่างสองเจนเนอเรชัน
เมื่อพ่อแม่ที่ไม่ได้เป็นเพียงผู้ให้คำแนะนำ แต่ยังเป็นผู้ร่วมสร้างพื้นที่ให้ลูกๆ ได้พัฒนาตัวเองอย่างเต็มศักยภาพ พร้อมกับหล่อหลอมความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกันและกัน เหมือนต้นไม้ในป่าที่รากของแต่ละต้นเชื่อมโยงกันใต้ผืนดิน หล่อเลี้ยงและส่งพลังให้กันจนเติบโตอย่างยั่งยืนเรื่องราวของ Ant Band และพ่อแม่ที่เป็นดั่งลมใต้ปีกของพวกเขา แสดงให้เห็นว่าความรักและความเข้าใจระหว่างรุ่นสร้างประสบการณ์ที่ล้ำค่า น่าประทับใจ และทำให้บทเพลงแห่งชีวิตงดงามอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
Writer
สุภาวดี ไชยชลอ
ชอบเดินทาง ชอบดูซีรีส์เกาหลี สนใจทฤษฏีจิตวิเคราะห์ และชอบตอบคำถามลูกสาวช่างสงสัยวัยประถม
Photographer
ธนดล พลเทพ
หนุ่มนักวิทย์ที่รักการเดินป่าและปีนเขา เพราะชีวิตต้องมีทั้งมุมมองและการผจญภัย 🌿📷