Co-Parenting: เลี้ยงลูกร่วมกันอย่างไรในวันที่สถานะคนรักจบลง
Co-Parenting: เลี้ยงลูกร่วมกันอย่างไรในวันที่สถานะคนรักจบลง
ไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนเคยรักกัน เมื่อหย่าร้างหรือแยกทางกันแล้วจะกลับมาพูดคุยหรือทำอะไรบางอย่างร่วมกันให้เสมือนลืมความเจ็บปวด ความโศกเศร้า หรือความโกรธแค้นที่เกิดขึ้น
co-parenting คือหนึ่งในวิธีการเลี้ยงลูกร่วมกันของพ่อแม่ที่หย่าร้างหรือแยกทางกัน แต่ยังสามารถเลี้ยงลูกร่วมกันได้ หัวใจคือ เอาความสุขและความต้องการของลูกเป็นตัวตั้ง เพื่อให้การเลี้ยงลูกร่วมกันเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด
1. ปล่อยวางความเจ็บปวดและความโกรธแค้น
ทั้งพ่อและแม่ต้องพยายามควบคุมอารมณ์ให้ได้ ซึ่งหากมีปัญหาหรือความอึดอัดใจการระบายกับคนรอบข้าง เช่น คนในครอบครัว เพื่อน หรือคนสนิท จะช่วยบรรเทาความรู้สึกด้านลบที่เกิดขึ้นได้ ทั้งนี้การไม่แสดงออกพฤติกรรมดังกล่าวกับลูก และไม่กล่าวร้ายอีกฝ่ายให้ลูกฟัง คือสิ่งที่ควรทำ
- พยายามควบคุมอารมณ์ให้ได้ และไม่แสดงออกพฤติกรรมด้านลบกับลูก
- อย่าเอาลูกเป็นตัวกลาง (middle) ในการสื่อสารระหว่างพ่อแม่ เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกอยู่ท่ามกลางปัญหา แต่เอาลูกเป็นศูนย์กลาง (center) ในการจัดการออกแบบ และจัดการ
- ไม่กล่าวร้ายอีกฝ่ายให้ลูกฟัง หรือทำให้ลูกต้องเลือกฝ่าย
2. สื่อสารเพื่อลดความขัดแย้ง
หากเจอหน้ากันแล้วทะเลาะ การสื่อสารช่องทางอื่นๆ ก็ช่วยได้ เช่น โทรศัพท์ ส่งข้อความ หรืออีเมล และขณะสื่อสารกันการฝึกระงับอารมณ์ อดทน อดกลั้น และรู้จักกล่าวขอโทษ ก็อาจช่วยลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้
- การสื่อสารทำได้หลายช่องทาง ทั้งโทรศัพท์ ส่งข้อความ หรืออีเมล ไม่จำเป็นต้องเจอหน้ากันเสมอไป
- การสื่อสารกับอีกฝ่าย ต้องปฏิบัติต่อกันเหมือนเพื่อนร่วมงานที่มีความจริงใจ ไม่มีอคติ
- ท่าทีการพูดคุยต้องประนีประนอม ไม่ใช่การสั่ง หรือแสดงแต่ความต้องการของตัวเอง
- ฝึกระงับอารมณ์ อดทน อดกลั้น และรู้จักกล่าวขอโทษ
- สื่อสารกันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ลูกรู้ว่าทั้งคู่เป็นแนวร่วมเดียวกันในการดูแลเขา
- บทสนทนาต้องเน้นที่เรื่องลูกเป็นหลัก อย่าโต้แย้งตามความต้องการของตัวเอง
3. พ่อแม่ต้องเป็นทีมเดียวกัน
การมีข้อตกลงหรือกฎร่วมกัน จะทำให้ทั้งคู่สามารถวางแผนเลี้ยงลูกร่วมกันได้ นอกจากนี้กฎหรือระเบียบที่ตั้งขึ้นมานั้น ในทางปฏิบัติก็ต้องเป็นกฎที่เหมือนกันทั้งสองบ้าน เพื่อไม่ให้ลูกสับสน
- มีข้อตกลงหรือกฎร่วมกัน และต้องเป็นกฎที่เหมือนกันทั้งสองบ้าน เพื่อไม่ให้ลูกสับสน
- การตัดสินใจในเรื่องสำคัญต้องเปิดใจ ซื่อสัตย์ และตรงไปตรงมา เมื่อมีปัญหาจะได้แก้ไขร่วมกันได้ เช่น การแยกค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงลูก
4. ช่วยให้การไปๆ มาๆ ของลูกเป็นเรื่องง่ายสำหรับเขา
การเลี้ยงลูกร่วมกันสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นคือการไปๆ มาๆ พ่อแม่จึงต้องให้ลูกมีเวลาเตรียมตัวก่อนจะไปอยู่อีกบ้านหนึ่ง และเมื่อถึงวันนัดหมาย ต้องไปส่งลูกให้ตรงเวลา อีกทั้งไม่ควรไปรับลูกเอง แต่ควรให้อีกฝ่ายมาส่ง เพื่อไม่ให้รู้สึกถูกพรากลูกไป หรือหากลูกกลับมาอยู่ด้วยอีกครั้ง การไม่คาดคั้นถามรายละเอียดจากลูกว่าอยู่อีกบ้านแล้วรู้สึกอย่างไร เจออะไรมาบ้าง จะช่วยให้ลูกไม่รู้สึกกดดัน หรือหากลูกรู้สึกไม่สบายใจหรือมีปัญหาเกิดขึ้น การพูดคุยกันระหว่างผู้ใหญ่เพื่อช่วยกันแก้ปัญหาจะทำให้การเลี้ยงลูกในรูปแบบนี้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น
เมื่อลูกต้องไปอยู่อีกบ้าน
- ต้องให้ลูกมีเวลาเตรียมตัว พ่อ/แม่อาจช่วยลูกจัดกระเป๋า เพื่อให้ลูกมั่นใจว่ามีเราอยู่เคียงข้างเขา และการไปอีกบ้านก็จะมีความสุขได้เช่นกัน
- เมื่อถึงวันนัดหมาย ต้องไปส่งลูกให้ตรงเวลา อีกทั้งไม่ควรไปรับลูกเอง แต่ควรให้อีกฝ่ายมาส่ง เพื่อไม่ให้รู้สึกถูกพรากลูกไป
เมื่อลูกกลับมาบ้าน
- หากิจกรรมเงียบๆ ทำร่วมกัน เพื่อให้เขารู้สึกสงบ ปลอดภัย
- ของใช้ส่วนตัวไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน ควรปล่อยให้เขาได้ใช้ของส่วนตัวอย่างที่เคยใช้ เช่น แปรงสีฟัน ชุดนอน หรือผ้าเช็ดตัว
- ไม่คาดคั้นถามรายละเอียดจากลูกว่าอยู่อีกบ้านแล้วรู้สึกอย่างไร เจออะไรมาบ้าง เพราะลูกอาจกดดัน
- หากลูกรู้สึกไม่สบายใจ พ่อแม่ต้องตั้งสติ ไม่ตีโพยตีพาย แต่ควรคุยกับอีกฝ่ายว่าปัญหาคืออะไร ลูกต้องการสิ่งใด
อ่านบทความ ‘Co-Parenting/Single Parenting: 2 วิธีเลี้ยงลูก ในวันที่ชีวิตคู่เลิกรา’
Writer
ธัญชนก สินอนันต์จินดา
บัณฑิตไม่หมาดจากรั้วเหลืองแดง ที่พกคำว่า ‘ลองสิ’ ติดหัวตลอดเวลา เพราะเชื่อว่าประสบการณ์ชีวิตเกิดจากการไม่กลัวและลงมือทำเท่านั้น
illustrator
Bua
ตอนประถมอยากเป็นศิลปินวาดภาพ แต่โดนพ่อเบรคหัวทิ่ม "เป็นศิลปินไส้แห้งนะ" ปัจจุบันทำงานเกี่ยวกับการออกแบบและทำภาพประกอบ (บ้าง) จนได้