‘ถ้าโลกนี้ไม่มีการสอบ’ การประเมินอาจกลายเป็นเรื่องสนุกและเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการต่อยอดการเรียนรู้

‘ถ้าโลกนี้ไม่มีการสอบ’ การประเมินอาจกลายเป็นเรื่องสนุกและเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการต่อยอดการเรียนรู้

เด็กไทยหลายคนคงร้องไชโย! หากตื่นขึ้นมาบนโลกที่ประกาศว่าต่อจากนี้เราจะไม่มีการสอบแข่งขันกันอีกต่อไป นั่นอาจหมายถึงว่าพวกเขาจะได้ไม่ต้องมุ่งท่องจำอย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อเตรียมสอบจนไม่ได้หลับได้นอนหรือลงเรียนพิเศษทุกวันหลังเลิกเรียนเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับตัวเอง ครอบครัว และสังคมรอบข้างว่าจะไม่เป็นผู้ปราชัยในสนามสอบที่คล้ายกับสนามรบแห่งชีวิตวัยเรียนนี้โดยเด็ดขาด มากไปกว่านั้นครอบครัวที่ไม่มีทุนทรัพย์เพียงพอในการผลักดันให้ลูกๆ เข้าถึงชุดข้อมูลเพื่อใช้ในการสอบแข่งขันในระดับต่างๆ ยิ่งไม่ต้องพูดถึง พวกเขาอาจกลายเป็นผู้พ่ายแพ้ตั้งแต่ยังไม่ได้ลงสนามเลยด้วยซ้ำ 

จะว่าไปพวกเราต่างพบเจอกับการประเมินด้วยวิธีการสอบกันจนเคยชิน โดยเฉพาะการสอบในรูปแบบข้อสอบปรนัยและการทดสอบที่เน้นการท่องจำ ซึ่งเป็นที่นิยมเสมอมาในสังคมไทยและยังคงเป็นแนวทางหลักที่ถูกใช้จนถึงปัจจุบัน เราพบการทดสอบเช่นนี้ตั้งแต่ในระดับห้องเรียน สอบก่อนเรียน สอบหลังเรียน ก่อนจะตะลุยสนามที่ใหญ่ขึ้นอย่างการสอบกลางภาคและสอบปลายภาค นำมาซึ่งเกรดเฉลี่ยที่เป็นเหมือนตัวเลขศักดิ์สิทธิ์เพื่อยืนยันความสำเร็จ-ล้มเหลวในการเรียนของภาคเรียนหนึ่งๆ ก่อนจะก้าวสู่การสอบแข่งขันเข้าเรียนในสถานศึกษาชื่อดังและการสอบเพื่อยืนยันความเป็นเลิศในสายวิชาต่างๆ ที่มีมากมายจนท่องจำกันอย่างไรก็จำได้ไม่หมด 

‘การสอบวัดผล’ แบบเดิมแบบเดียวกลายมาเป็นวิธีการหลักในการตัดสินคุณภาพการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นภายใต้ผู้เรียนซึ่งเป็นมนุษย์ที่มีความแตกต่างหลากหลาย มีแนวทางการเรียนรู้และมีวิธีการสกัดเอาความรู้ไปใช้ในวิธีการที่แตกต่างกัน ซึ่งหลากหลายมากกว่า ‘ชอยส์’ ที่มีให้เลือกในข้อสอบปึกหนา 

นำมาสู่คำถามที่ว่าโลกของการประเมินที่จำลองสนามสอบคล้ายกับสนามรบเพื่อค้นหาผู้ชนะและผลักผู้พ่ายแพ้ออกนอก ‘ชอยส์’ ของสังคมอย่างที่เป็นอยู่นี้ จะพาเด็กของเราเดินทางสู่ปลายทางไหนกันแน่ จะไปถึงปลายทางของการเรียนรู้ที่มีความหมายกับชีวิตพวกเขาได้หรือไม่ เพราะในขณะที่เด็กไทยตึงเครียดอย่างมากในการสอบแต่ละครั้ง ในขณะที่เรามีการทดสอบกันอย่างเคร่งครัดและให้ความสำคัญกับการสอบอย่างมาก การศึกษาไทยของเรากลับดูเหมือนจะถอยหลังไปทีละก้าวสองก้าว ไปจนถึงมีเด็กเกิดภาวะซึมเศร้าและจบชีวิตของพวกเขาลงไม่น้อยจากโลกการประเมินเช่นนี้

บทความนี้ไม่ได้มุ่งที่จะปฏิเสธการสอบในรูปแบบที่เราเคยชินกันมานี้ด้วยน้ำเสียงแข็งขันแต่อย่างใด หากแต่อยากชวนมองออกไปนอกหน้าต่าง เพื่อพบว่าอาจมีความเป็นไปได้อีกมากมายนอกเหนือจากนั้นที่เราจะใช้เป็นแนวทางในการประเมินการเรียนรู้ของนักเรียนได้ เพราะหากปลายทางของการประเมินคือจุดเริ่มต้นของการรู้ว่าสิ่งที่ได้เรียนนั้นจะนำไปใช้ต่อกับชีวิตของพวกเขาได้หรือไม่อย่างไร การสอบที่มีคำตอบอยู่เพียง 1 ใน 4 ข้อ จะสร้างเส้นทางที่หลากหลายให้เราเลือกต่อยอดไปได้อย่างไร?

ภาพจาก: https://www.freepik.com/free-photo/public-examination-preparation-concept_25077294.htm

ลดการสอบเพิ่มช่วงเวลาการเรียนรู้ 

ขณะที่เราคร่ำเคร่งในการขุนคนให้ไปสอบ ระบบการศึกษาที่คุณภาพนำหน้าหลายประเทศไปไกลอย่างในประเทศฟินแลนด์ School System in Finland กลับมีแนวทางการศึกษาที่ต่างออกไป โดยเป็นการศึกษาที่มุ่งเน้นเตรียมเด็กให้พร้อมสำหรับชีวิตในอนาคต มุ่งไปที่การพัฒนาทักษะภาคปฏิบัติเป็นหลัก สร้างการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับธรรมชาติของชีวิต เป็นระบบการศึกษาที่อาจเรียกได้ว่าแทบ ‘ไม่มีการสอบ’ เพราะการสอบเดียวที่นักเรียนจะต้องผ่านคือการสอบก่อนเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งต้องสอบเมื่ออายุ 19 ปีเท่านั้น ในช่วงเวลาอื่นๆ นักเรียนจะได้เรียนรู้อย่างอิสระ มีเวลามากมายในการคิดสร้างสรรค์ผลงานของพวกเขาออกมาจากการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น แทนที่เวลาเหล่านั้นจะหมดไปกับการทำแบบทดสอบอย่างเคร่งเครียด ครูและนักเรียนก็จะทำงานร่วมกันในโลกของการเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ นักเรียนเองก็ไม่ได้พุ่งไปสู่เป้าหมายในการสอบผ่านมากไปกว่าการค้นพบค้นหาและเรียนรู้ในแต่ละช่วงวัย ทั้งนี้โรงเรียนเกือบทั้งหมดในฟินแลนด์ยังเป็นของรัฐและทุกแห่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณที่เท่าเทียม ทำให้ไม่มีโรงเรียนที่ได้รับสิทธิพิเศษหรือกลายเป็นโรงเรียนที่ต้องแข่งขันกันจนสร้างบรรยากาศที่กดดันหรือแข่งขันจนเป้าหมายของการเรียนรู้แปรเปลี่ยนไปเป็นอื่นอย่างหลายๆ ที่บนโลกกำลังเผชิญอยู่  

ดนตรีไม่ต้องมีเกรด 

ระบบการเรียนรู้ที่ไม่มีการสอบยังเกิดขึ้นอีกหลายมุมของโลก หากมองมายังโลกของการเรียนดนตรี วิธีการเรียนรู้และวัดผลที่น่าสนใจรูปแบบหนึ่งคือระบบการเรียนดนตรีในแนวทางของซูซูกิ (Suzuki Method) ที่ไม่ได้สอนเล่นไวโอลินหรือดนตรีด้วยการท่องจำตัวโน้ตอย่างแข็งขันแล้วสอบเพื่อที่จะตัดเกรดว่านักดนตรีคนนั้นเล่นไวโอลินได้ถึงเกรดไหนแล้ว หากแต่ระบบการเรียนไวโอลินแบบซูซูกิตั้งต้นมองการเรียนดนตรีเข้ากับธรรมชาติของมนุษย์ เสมือนการเรียนรู้ที่จะพูดภาษาแม่ของคนเรา ดังนั้นจึงมุ่งสอนให้เด็กทบทวนเพลงเดิมซ้ำๆ หลายๆ ครั้งแม้จะฝึกเล่นเล่มใหม่ต่อไปแล้วก็ตาม จนเสียงดนตรีกลายเป็น ‘ความทรงจำ’ ของพวกเขา การทบทวนเพลงเก่าๆ ที่ฝึกไปแล้วเช่นนี้ ก็เหมือนการเรียนรู้ภาษาของเด็กที่เมื่อได้รู้จักคำศัพท์คำแรกที่พูดออกมาได้ พวกเขาก็จะเก็บคำพูดนั้นไว้ในความทรงจำ และเมื่อเริ่มรู้คำศัพท์เพิ่มมากขึ้น คำเดิมๆ ที่พูดได้ก็จะได้รับการทบทวนอีกครั้งเสมอ เมื่อมีคำศัพท์มากขึ้นจากการทบทวน ทั้งศัพท์เก่าและใหม่ พวกเขาก็จะพูดเป็นประโยคต่อไปได้อีกไม่รู้จบ เหมือนกับการเล่นไวโอลินหรือการเล่นดนตรีที่เด็กจะเล่นต่อเนื่องกันไปจากความทรงจำของพวกเขาจากบทที่ฝึกฝนไปแล้ว สอดคล้องเชื่อมโยงไปกับบทที่กำลังฝึกฝนใหม่ไปได้อีกไม่รู้จบ ดังนั้นการประเมินของระบบซูซูกิจึงเป็นการให้เด็กเล่นเพลงทั้งเล่มโดยผ่านความทรงจำของพวกเขาออกมาเป็นบทเพลงแล้วทำการแสดง ไม่ต้องมีการทำข้อสอบเพื่อประเมินเกรดแต่อย่างใด 

กลั่นเอาสิ่งที่ได้ออกมาเหมือน ‘หยดน้ำ’ 

แนวทางประเมินการเรียนรู้ที่น่าสนใจยังมีอีกหลากหลายวิธีอย่างแนวทาง ‘หยดน้ำแห่งความรู้’ ของโรงเรียนรุ่งอรุณก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่มีแง่มุมชวนคิดชวนทดลองเกี่ยวกับการประเมินในรูปแบบใหม่ๆ เช่นกัน กล่าวคือโรงเรียนตั้งต้นจากจุดมุ่งหมายที่อยากให้นักเรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้และเรียนรู้ในเรื่องนั้นได้จริงด้วยตัวเอง ดังนั้นปลายทางจึงเป็นการที่ผู้เรียนนำเสนอหรืออธิบายสิ่งที่ได้เรียนรู้ออกมาได้ ไปจนถึงเห็นแนวทางที่จะนำไปใช้ต่อกับชีวิตจริงๆ ในช่วงปลายภาคโรงเรียนรุ่งอรุณจึงให้นักเรียนในระดับชั้นต่างๆ ‘กลั่น’ เอาสิ่งที่ได้เรียนรู้มานำเสนอเพื่ออธิบายให้คนอื่นเข้าใจได้ เป็นเหมือนความรู้ขาออก โดยเปรียบเทียบเหมือนการกลั่นน้ำบริสุทธิ์ที่ต้องใช้วิธีกลั่นทีละหยด ซึ่งแต่ละชั้นเรียนที่นักเรียนอยู่คนละช่วงวัย ย่อมมีการนำเสนอการรับรู้และความเข้าใจที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละวัย ดังนั้น ‘การอธิบาย’ หรือกลั่นสิ่งที่ได้เรียนรู้จึงออกมาในรูปแบบที่แตกต่างกัน ทั้งลักษณะของโครงงาน ละคร เกม และสำหรับเด็กที่โตขึ้นมาหน่อยก็จะมีวิธีการนำเสนอที่หลากหลายและลึกลงไปในเนื้อหามากขึ้น ทั้งผ่านการชี้แจง การบรรยาย หรือสร้างสื่อที่บอกเล่า ‘หยดน้ำ’ ความรู้ที่สกัดออกมาของพวกเขาได้ ซึ่งจะทำให้เราเห็นวิธีการของเด็กๆ ในการนำเอาสิ่งที่เรียนรู้ออกมา เห็นทั้งความเข้าใจของพวกเขาต่อเรื่องหนึ่งๆ และเห็นแนวทางที่พวกเขาได้ทดลองนำสิ่งที่รู้มาทำงานจริง    

ภาพจาก: https://www.roong-aroon.ac.th 

จะเห็นว่าการที่รูปแบบการประเมินไม่ได้จำกัด ‘คำตอบ’ อยู่เพียงแบบใดแบบเดียวหรือวิธีการแบบที่เราเคยชิน แต่มีรูปแบบได้อย่างหลากหลายเพื่อให้สอดรับกับแนวทางการเรียนรู้และการเติบโตของนักเรียนแต่ละคนแต่ละช่วงวัยได้นั้น ทำให้การประเมินกลายเป็นพื้นที่การเรียนรู้ที่มีชีวิตและสอดรับกับธรรมชาติของผู้คนมากขึ้น จากที่ปลายทางคือการตัดสินว่าเด็กคนนั้นควรจะได้เกรดอะไรผ่านมาตรฐานแบบเดียว ผ่านข้อสอบเพียงบางชุด เรากลับจะได้เห็นเด็กๆ พาสิ่งที่ได้เรียนไปอยู่ในนวัตกรรมบางอย่าง โครงการบางโครงการ คำอธิบายในน้ำเสียงแบบต่างๆ โปรเจกต์การทำงานจริงในพื้นที่ ผลงานศิลปะ การละคร เสียงเพลง การแสดง วิดีโอ จากการออกแบบการประเมินที่เปิดกว้าง สนุก สร้างการมีส่วนร่วม และมีความหมายต่อชีวิตพวกเขาอย่างที่สัมผัสได้จริง อาจทำให้เด็กๆ ของเราแตกแขนงโลกของการเรียนรู้ออกไปได้อีกอย่างไม่รู้จบ  

อ้างอิง 

https://in-finland.education/school-system-in-finland/
https://www.roong-aroon.ac.th/?page_id=9755
https://fiddleday.wordpress.com/article/
https://www.techlearning.com/news/9-ways-to-assess-without-standardized-tests

Writer
Avatar photo
ศิรินญา

หาทำอะไรไปเรื่อยๆ ตามประสาวัยลุ้น

illustrator
Avatar photo
สิริกร พรอนงค์

ดีไซน์เนอร์, นักวาด และอาร์ตไดมือใหม่ที่ชอบไปทะเล

Related Posts

Related Posts