“ตอบผิดดีกว่าไม่กล้าตอบ”​ เมื่อคุณพ่อนักเขียน นักประวัติศาสตร์ตอบคำถามลูกว่า ทำไมบางคนถึงเกลียดและเหยียดสีผิว

“ตอบผิดดีกว่าไม่กล้าตอบ”​ เมื่อคุณพ่อนักเขียน นักประวัติศาสตร์ตอบคำถามลูกว่า ทำไมบางคนถึงเกลียดและเหยียดสีผิว

  • การตั้งคำถามเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการการเรียนรู้ของเด็ก แต่คำถามในประเด็นละเอียดอ่อนอาจทำให้พ่อแม่ลำบากใจที่จะตอบ
  • ไอบราม เอ็กซ์ เคนดี (Ibram X. Kendi) เชื่อว่าพ่อแม่สามารถเริ่มตอบคำถามลูกได้ด้วยการยอมรับในความไม่รู้และความไม่สมบูรณ์แบบของตัวเอง
  • ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์และความเห็นอกเห็นใจจะทำให้เราก้าวข้ามอคติที่มีต่อคนที่แตกต่างเพราะความเชื่อเก่าๆ ที่ถูกส่งทอดมาได้

“การตั้งคำถามคือทักษะการเรียนรู้ที่สำคัญที่สุด” เป็นคำพูดที่เรามักจะได้ยินบ่อยๆ เมื่อพูดถึงเรื่องของการศึกษาและพัฒนาการเด็ก 

ในโลกปัจจุบันที่กระแสการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพกำลังคุกรุ่นในทุกพื้นที่ โลกที่ประเด็นความเท่าเทียมและการยอมรับความแตกต่างถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงทุกวัน เด็กๆ ที่กำลังอยู่ในวัยเรียนรู้อาจเกิดคำถามว่า ต้นสายปลายเหตุของการเรียกร้องคืออะไร ทำไมเราต้องมีการเรียกร้องเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ? ทำไมต้องมีการประท้วงเพื่อต่อต้านการเหยียดผิว? แล้วเพราะอะไรถึงมีความไม่เท่าเทียมเหล่านั้นมาตั้งแต่ต้น? คำถามในประเด็นเหล่านี้อาจสร้างความลำบากใจให้พ่อแม่ที่ไม่รู้จะตอบว่าอย่างไรและกลัวว่าจะให้คำตอบที่ผิดพลาด แล้วท้ายที่สุดก็มักจะตัดจบบทสนทนาไปดื้อๆ ทั้งที่ความจริงเราสามารถเรียนรู้ไปพร้อมกันกับเด็กๆ ได้ 

และคำตอบที่ผิดพลาดดีกว่าการไม่กล้าตอบ

ไอบราม เอ็กซ์ เคนดี (Ibram X. Kendi) นักประวัติศาสตร์ นักเขียน และนักกิจกรรมต่อต้านการเหยียดผิวก็เป็นพ่ออีกคนที่ต้องรับมือกับคำถามจากลูกในประเด็นอ่อนไหว ในปี 2020 เมื่อมีการประท้วงความรุนแรงที่ตำรวจกระทำต่อคนดำผุดขึ้นมาทั่วสหรัฐอเมริกา ไอบรามเห็นเด็กเล็กบางคนลงท้องถนนไปพร้อมกับครอบครัว วัยรุ่นทำป้ายมาร่วมเดิน นักเรียนเรียกร้องให้ครูสอนประวัติศาสตร์ตอบคำถามที่พวกเขาสงสัยว่าทำไมถึงมีการเหยียดผิวในประเทศแห่งเสรีภาพนี้ 

ไอบราม เอ็กซ์ เคนดี (Ibram X. Kendi) นักประวัติศาสตร์ นักเขียน และนักกิจกรรมต่อต้านการเหยียดผิว

ไอบรามเห็นความมุ่งมั่นตั้งใจของพ่อแม่และครูหลายคนที่พร้อมจะสอนเด็กๆ แต่เขาก็ยังเห็นความสับสนและประหม่าจากพ่อแม่อีกหลายคนที่อยากจะสอนลูกให้รู้จักความเท่าเทียมและยอมรับความแตกต่างแต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร 

อย่ากลัวที่จะบอกว่าไม่รู้ 

“ผมว่ามันสำคัญมากที่ผู้ปกครองจะสามารถก้าวข้ามความไม่สบายใจในเรื่องผิดพลาดที่เราเคยทำในฐานะพ่อแม่ให้ได้ การเป็นพ่อแม่คือการไม่สมบูรณ์แบบ การเป็นพ่อแม่ก็คือการเป็นมนุษย์” ไอบรามให้สัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์ Washington Post เมื่อถูกถามถึงประเด็นนี้หลังจากที่เพิ่งเขียนหนังสือเล่มใหม่อย่าง How to Raise an Antiracist หนังสือที่เขาได้เล่าเรื่องราวของตัวเองทั้งในฐานะพ่อแม่และมุมมองของเขาในวัยเด็กต่อประเด็นการเหยียดเชื้อชาติเพื่อให้ครูได้เข้าใจมุมมองของเด็ก 

เขาบอกว่า พ่อแม่หรือครูที่ไม่กล้าให้คำตอบกับเด็กก็มักจะหาทางออกโดยการตัดจบบทสนทนา ทั้งที่ความจริงหากเด็กต้องการจะรู้คำตอบ เด็กๆ ก็จะไปหาคำตอบมาจากที่อื่นอยู่ดี ซึ่งคำตอบนั้นอาจจะสร้างความคิดผิดๆ มากกว่าคำตอบของพ่อแม่เสียอีก 

“ถ้าลูกถามอะไรแล้วเราให้คำตอบไม่ได้ เราก็ต้องเป็นตัวอย่างให้ลูกในเรื่องการคิดเชิงวิพากษ์ ถ้าลูกถามเรื่องการเหยียดผิวแล้วเราไม่รู้คำตอบ เราก็บอกไปเลยว่าเราไม่รู้ จากนั้นก็บอกลูกว่า ‘เรามาหาคำตอบไปด้วยกันเถอะ’ แล้วเราก็ไปหาคำตอบกับลูก บอกลูกไปว่า ‘พ่อแม่ก็ต้องเรียนรู้เรื่องนี้ด้วยเหมือนกัน’ หรือ ‘ตอนแรกพ่อแม่มองเรื่องนี้อีกแบบนะ แต่ข้อมูลที่ได้ทำให้รู้ว่ายังมีมุมมองอื่นๆ อีก’ ”

ไอบรามบอกว่าการร่วมหาคำตอบไปกับลูกไม่เพียงแต่จะเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องการคิดเชิงวิพากษ์ให้ลูกได้เท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสให้เราได้เปลี่ยนมุมมองของตัวเอง 

ความผิดพลาดไม่ได้นิยามสิ่งที่เราเป็น

ไอบรามเชื่อว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้พ่อแม่ทุกคนกลัวการพูดคุยกันในประเด็นอ่อนไหวคือ การที่เราให้น้ำหนักกับคำคำหนึ่งมากเกินไปและนำคำนั้นมานิยามตัวเรา ทั้งที่มันก็เป็นเพียงคำคำหนึ่งเท่านั้น 

“พ่อแม่ทั้งคนขาวและเชื้อชาติอื่นๆ ต่างก็คิดว่าคำว่า เหยียดผิว คืออัตลักษณ์ คือคำที่หมายถึงสิ่งที่คนคนนั้นเป็นโดยพื้นฐานนิสัยอย่างแท้จริง เราเลยพยายามบอกว่าตัวเองไม่ใช่ คนเหยียดผิว นะ เพราะคิดว่านั่นคือสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับการเหยียดผิว” 

ดังนั้นเมื่อลูกตั้งคำถามเรื่องการเหยียดผิว พ่อแม่จึงไม่กล้าตอบเพราะมัวแต่คิดว่า ฉันไม่อยากจะพูดอะไรผิดไปแล้วอาจจะเป็นการเหยียดผิวเพราะนั่นจะแปลว่าฉันเป็นคนเหยียดผิว ไอบรามมองว่าคำว่า เหยียดผิว นั้นเป็นแค่คำอธิบายความผิดพลาดของเราเท่านั้น 

“ประเด็นสำคัญก็คือเราทำยังไงหลังจากที่เราพูดอะไรที่มันฟังดูเหยียดผิวไปแล้ว เราเปลี่ยนแปลงตัวเองไหม เราโตขึ้นบ้างไหม เราพยายามเรียนรู้ไหม เรารับรู้ข้อผิดพลาดเมื่อเราพูดอะไรที่เหยียดผิวไปไหม ถ้าเราทำได้ เราก็คือคนที่ต่อต้านการเหยียดผิวแล้ว” 

สำหรับไอบรามแล้ว การก้าวผ่านความกลัวที่จะผิดพลาด การสำรวจตัวเองเมื่อทำผิด รวมถึงการยอมรับและเรียนรู้ความผิดพลาดของพ่อแม่จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญในการสอนให้ลูกยอมรับความแตกต่าง

การตั้งคำถามจะนำไปสู่การสร้างความเห็นอกเห็นใจ 

การให้คำตอบไม่ได้เป็นเพียงหนทางเดียวในการสอนให้เด็กรู้จักความเห็นอกเห็นใจและยอมรับในความต่าง การตั้งคำถามเองก็สำคัญไม่แพ้กัน คำถามที่เหมาะสมซึ่งถูกถามในสถานการณ์ที่เหมาะสมสามารถเป็นบทเรียนสำคัญให้กับเด็กได้ อย่างที่ไอบรามได้ยกตัวอย่างว่า 

“เวลาเด็กๆ ทำอะไรผิดพลาดไป เช่น ถ้าลูกเราไปทำร้ายเด็กคนอื่น แทนที่เราจะบอกว่า อย่าทำแบบนั้นนะ! เราก็ถามว่า ทำไมถึงไปตีเขาล่ะลูก หรือ คิดว่าเพื่อนรู้สึกยังไง ก็ได้ นั่นใกล้เคียงกับสิ่งที่นักวิชาการเรียกกันว่า Inductive Discipline ซึ่งจะช่วยสอนให้เด็กรู้จักเห็นอกเห็นใจ และเด็กที่มีความเห็นอกเห็นใจก็มีแนวโน้มเป็นคนต่อต้านการเหยียดผิวได้มากกว่าด้วย ทุกอย่างมันเชื่อมโยงกันหมดในแง่นี้” 

ไอบรามยังเสริมอีกว่าการพาลูกไปอยู่ในสถานการณ์หรือสิ่งแวดล้อมที่จะทำให้เกิดการตั้งคำถามและตอบคำถามเป็นเรื่องที่ควรทำ 

“เราอาจอาศัยอยู่ใกล้กับที่ที่มีคนไร้บ้านอยู่เยอะ แล้วหลายคนในนั้นก็เป็นคนผิวดำหรือผิวน้ำตาล เราก็อาจจะพาลูกไปที่นั่นแล้วถามว่า ลูกคิดว่าทำไมคนไร้บ้านหลายคนถึงเป็นคนผิวดำและผิวน้ำตาลล่ะ แล้วเราก็จะได้สอนเขาว่ามันเป็นเพราะการเหยียดผิวนะ เพราะนโยบายที่ไม่ดีนะ แล้วนั่นจะทำให้ลูกเริ่มคิด และการคิดนั่นแหละคือกุญแจสำคัญ เพราะการเป็นคนเหยียดผิวคือการใช้ความเชื่อ แต่การเป็นคนต่อต้านการเหยียดผิวคือการใช้ความคิด” 

“รุ้งคือสีที่ยอดเยี่ยมที่สุดเพราะมันมีทุกสี!” 

“ทุกปีอีมานีจะมีสีที่เขาโปรดปรานต่างกันออกไป” ไอบรามพูดถึงอีมานี ลูกสาวของเขาที่กำลังอยู่ในวัยช่างถามช่างสังเกต “ปีนี้สีโปรดของเธอคือสีรุ้งและแน่นอนว่าลูกไม่สนใจจะเถียงด้วยซ้ำว่า รุ้ง นี่มันนับเป็นสีไหม พอเราถามลูกว่า ทำไมสีรุ้งถึงเป็นสีโปรดของหนูล่ะ รู้ไหมเธอตอบผมว่า เพราะมันมีทุกสีไงล่ะ” แล้วเธอก็มองผมเหมือนแบบ “สีรุ้งมันก็ต้องเป็นสีที่ดีที่สุดอยู่แล้วสิ” 

“แค่เพียงได้เห็นเด็กคนหนึ่งเติบโต สำรวจโลกของตัวเอง และเห็นว่าเขาไม่ได้แบกอคติเรื่องเชื้อชาติไว้แบบที่ผู้ใหญ่แบก ที่แม้แต่ผมเองก็แบก และรู้ว่าสิ่งที่เราเคยทำพลาดไปในฐานะผู้ใหญ่ ลูกอาจทำให้มันถูกมันควรได้ ก็เป็นเหมือนสมอที่ช่วยยึดความหวังความเชื่อว่าเราจะสามารถสร้างโลกใหม่เอาไว้ได้แล้ว” 

คำตอบอันบริสุทธิ์ของอีมานีทำให้ไอบรามเชื่อว่าเขาสามารถเปลี่ยนโลกที่ดูจะเต็มไปด้วยความไม่เท่าเทียมและมายาคติที่ถูกปลูกฝังไว้ในคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ให้กลายเป็นโลกที่ทำให้เด็กๆ ได้มองเห็นทุกสีทุกเฉด โดยเฉพาะสีของเพื่อนมนุษย์ว่า เป็นสีที่สวยงามไม่ต่างกันได้ เช่นเดียวกับที่อีมานีมองว่าสีรุ้งเป็นสีแสนสวยที่สุดเพราะมันประกอบไปด้วยทุกๆ สี 

Writer
Avatar photo
ปัญญาพร แจ่มวุฒิปรีชา

อย่ารู้จักเราเลย รู้จักแมวเราดีกว่า

illustrator
Avatar photo
ธนัชพร จันทร์เขียว

เด็กฝึกงานกราฟิกที่ชอบวาดภาพท้องฟ้าและทะเล ติดของหวานเป็นชีวิตจิตใจ ชอบเปิดเพลง r&b ตอนทำงานโดยเฉพาะตอนวาดภาพ มันช่วยให้มีสมาธิและสามารถโฟกัสกับการทำงานได้ดี

Related Posts

Related Posts