เมื่อโลกไม่เป็นดั่งใจ จะดับอาการหัวร้อนยังไงดี
เมื่อโลกไม่เป็นดั่งใจ จะดับอาการหัวร้อนยังไงดี
เมื่อเราเจอสถานการณ์ใดก็ตามที่ชวนให้รู้สึกหัวร้อน คงต้องมีปฏิกิริยาทางอารมณ์บางอย่างเกิดขึ้นในใจ แต่หลังจากนั้นเราจะจัดการกับอารมณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างไรต่อไป วิธีดีที่สุดคือการหยุดตัวเองไม่ให้แสดงออกเพื่อตอบสนองในทันที ไม่ต้องรีบพูดหรือรีบโพสต์ความคิดของเราลงบนอินเทอร์เน็ต เพราะนั่นเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยใช้ประสบการณ์และมุมมองของตัวเองไปเปรียบเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นโดยที่ยังไม่รู้สาเหตุที่แท้จริง การตอบสนองแบบฉับพลันมักอาศัยเพียงประสบการณ์ในอดีต สัญชาตญาณ และอารมณ์ ซึ่งบางครั้งอาจทำให้เราเผลอไปทำร้ายคนอื่นด้วยมุมมองของเราเพียงด้านเดียว
ฉะนั้น เมื่อเจอเหตุการณ์ใดๆ ก็ตาม ควรใช้เวลาคิดทบทวนสักระยะ ก่อนจะเขียน พูด หรือตอบสนองอะไรออกไป หากเรารู้ตัวว่ายังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะพูดหรือแสดงความคิดเห็นอะไรออกไป เราต้องทบทวนก่อนว่าเกิดอะไรขึ้นกับอารมณ์ของเรา
1. ทบทวนอารมณ์
สำรวจตัวเองว่ารู้สึกโกรธไหม ตกใจไหม เครียดหรือไม่ เพราะอะไรเราจึงเกิดอารมณ์นี้ เพราะอะไรเราจึงโกรธ ซึ่งอาจเป็นเพราะรู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่เหมือนกับสิ่งที่รับรู้ ยอมรับ หรือเป็นสิ่งที่เราคิดว่าไม่ถูกต้อง เป็นเพราะเราเติบโตมาอีกแบบหนึ่ง หรือคิดว่าเขาด้อยกว่าเรา เราอยู่เหนือเขา และกำลังจะตัดสินเขา
คนเรารู้สึกโกรธหรือไม่พอใจได้ แต่ควรสงบอารมณ์ก่อนพูดคุยกันในประเด็นที่รุนแรง โดยเฉพาะ 3 สิ่งที่จะทำให้มนุษย์ถึงขีดสุด ได้แก่ 1) การไม่ได้รับความยุติธรรม 2) การถูกทำร้าย 3) การถูกเอารัดเอาเปรียบ สิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลาในการตกผลึก
ถ้าคำตอบของเราคือโกรธ เพราะรู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นผิดกับสิ่งที่เรารับรู้หรือประสบการณ์ ก็ไปต่อขั้นที่ 2
2. ถามตัวเองว่าเราต้องการจะทำโทษ ลงโทษ หรือช่วยเหลืออีกฝ่าย
การด่าหรือต่อว่า (blaming) เป็นการลงโทษอีกฝ่าย ซึ่งทำได้ง่าย แต่ถ้าต้องการลงโทษอีกฝ่าย ควรย้อนมาดูตัวเราว่าอยู่ในขั้นที่จะไปตัดสินอีกฝ่ายได้หรือไม่ การตัดสินจะนำไปสู่อะไร ถ้าเพื่อความสะใจหรือระบายอารมณ์ ก็จะนำไปสู่การตอบโต้ทางอารมณ์กลับมา ซึ่งไม่ได้นำไปสู่การแก้ปัญหาใดๆ อีกทั้งสังคมก็จะขับเคลื่อนด้วยอารมณ์ วนเป็นวงกลมไม่จบสิ้น
แต่ถ้าต้องการช่วยเหลือ ต้องการสิ่งที่ดีกว่า ไม่ต้องการให้เป็นเหมือนเดิม ดังนั้น ให้ตัดเรื่องที่ไม่จำเป็นออกไป เช่น อารมณ์ด้านลบต่างๆ การต่อว่า การประจาน การทำให้อับอาย เปรียบเทียบกับการสอนเด็ก เราจำเป็นต้องทำให้เด็กอับอาย ประจาน หรือลงโทษให้เด็กเจ็บตัวหรือไม่ ดังนั้น สังคมก็เปรียบเหมือนเด็กคนหนึ่งที่ต้องการความช่วยเหลือ ไม่อย่างนั้นคงไม่ทำสิ่งที่ไม่เป็นที่ยอมรับขึ้นมา เพราะอีกฝ่ายอาจจะเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ไม่ได้เอื้อให้เกิดวิธีคิดแบบอื่นได้ จึงทำสิ่งที่เราไม่ยอมรับ แต่ในความเป็นจริง ทุกคนต้องการโอกาสและความช่วยเหลือ แต่ถ้าเราหยิบยื่นเเล้วเขาไม่รับ จึงค่อยมาหาวิธีกัน
แต่ถ้าเกิดอารมณ์โกรธหรือเครียดจนต้องการระบาย ให้พาตัวเองไประบายกับสิ่งอื่นให้เรียบร้อย แล้วกลับมาตั้งสติก่อนพิมพ์ข้อความใดๆ ลงในโซเชียล โดยพิมพ์สิ่งที่ต้องการช่วยเหลือคนคนหนึ่ง เราต้องให้โอกาสและวิธีแก้ไข ชี้ให้เห็นว่าถ้าไม่ทำตามวิธีนี้จะมีทางออกแบบไหนบ้าง ไม่ใช้การบังคับให้ขอโทษ รู้สึกผิด หรือสำนึกผิด เพราะจะเป็นการตัดสินเขาว่าเขาคิดเองไม่ได้ ต้องทำตามสิ่งที่เราบอก
การช่วยเหลือใครคนหนึ่ง คือการมองเขาเป็นมนุษย์เหมือนกับตัวเอง เด็กคนหนึ่งก็เป็นมนุษย์ เพียงแต่อาจจะขาดประสบการณ์หรือความรู้บางด้าน เราจึงควรให้ความรู้และให้โอกาสเพื่อช่วยเหลือ แต่จะทำหรือไม่เป็นเรื่องของเวลา เพราะบางอย่างเป็นสิ่งที่ฝังรากลึกและต้องใช้เวลา ซึ่งถ้าอยู่เหนือความความสามารถของเรา ก็จำเป็นต้องมีคนที่มีพลังหรือมีความรู้มากกว่าเรามาช่วยเขา
การจะเปลี่ยนแปลงสังคม ไม่อาจใช้เพียงการด่าหรือต่อว่าเท่านั้น แต่จำเป็นต้องมีความปรารถนาดีที่มนุษย์พึงมีต่อกัน และมีความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน
ที่มา: ‘ครูเม’ เมริษา ยอดมณฑป นักจิตวิทยาเด็กและครอบครัว เจ้าของเพจตามใจนักจิตวิทยา
Writer
ชัญญา อินทร์ไชยา
ชื่อเล่นญี่ปุ่น แต่เลือดอีสานแท้ เว่าลาวได้นิดหน่อย แมวคือสิ่งมีชีวิตที่ทำให้มีความสุข อาหารอร่อยและการ์ตูนสักเรื่องคือเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจ นิยามตัวเองเป็นเป็ดเพราะการเรียนรู้ไม่เคยสิ้นสุด
illustrator
Bua
ตอนประถมอยากเป็นศิลปินวาดภาพ แต่โดนพ่อเบรคหัวทิ่ม "เป็นศิลปินไส้แห้งนะ" ปัจจุบันทำงานเกี่ยวกับการออกแบบและทำภาพประกอบ (บ้าง) จนได้