การศึกษาที่ดีอาจไม่ได้วัดที่คะแนนสอบ แต่วัดจากการที่ ‘เด็ก’ เป็นเจ้าของการเรียนรู้ – คุยเรื่องการวัดประเมินผลในมุมมองของคนทำบ้านเรียน กับป้อมปืนและแม่นิ่มแห่งบ้านเรียนสบายใจ

การศึกษาที่ดีอาจไม่ได้วัดที่คะแนนสอบ แต่วัดจากการที่ ‘เด็ก’ เป็นเจ้าของการเรียนรู้ – คุยเรื่องการวัดประเมินผลในมุมมองของคนทำบ้านเรียน กับป้อมปืนและแม่นิ่มแห่งบ้านเรียนสบายใจ

คุณเคยสงสัยไหมว่า เพราะอะไรเราจึงต้องมีการประเมินในรูปแบบต่างๆ? 

การประเมินมีส่วนสำคัญอย่างไรในกระบวนการเรียนรู้ (Learning Process) หรือกระทั่งในการศึกษา (Education)

แล้วถ้าเป็นการจัดการเรียนรู้ที่ไม่ได้อยู่ในโรงเรียนล่ะ

เขาจะต้องถูกประเมินไหม และหากต้องถูกประเมินเขาจะต้องมีการออกแบบวิธีการประเมินอย่างไร

วันนี้ Mappa ชวนคุยกับ ป้อมปืน-วรวัส สบายใจ นักวิเคราะห์การเรียนรู้ (Learning Analyst) เด็กบ้านเรียนรุ่นที่เกิดและเติบโตมาพร้อมกับ พ.ร.บ.การศึกษาฯ 2542 และรัฐธรรมนูญ 40 ที่รองรับสถานะการมีอยู่ของเด็กบ้านเรียน และคุณแม่นิ่ม-ธรรณพร คชรัตน์ สบายใจ คุณแม่ของป้อมปืน รองเลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย (เครือข่ายบ้านเรียน) ในประเด็นเรื่องการประเมินในการศึกษารูปแบบอิสระอย่าง ‘บ้านเรียน’ หรือ Homeschool ที่เราคุ้นเคยกัน

เพื่อที่จะได้รู้ว่าโฮมสคูลไม่ใช่การเรียนที่บ้าน แต่เป็นการศึกษาตามอัธยาศัย โดยมีพ่อแม่เป็นผู้จัดการศึกษา เพื่อค้นหาความเป็นไปได้ในการเรียนรู้และการประเมินในรูปแบบใหม่ๆ ที่ไม่ยึดติดกับกรอบเดิม ผ่านการทำความเข้าใจการเรียนการสอนแบบ ‘บ้านเรียน’ ในฐานะที่ “เด็กเป็นเจ้าของการเรียนรู้ด้วยตัวของเขาเอง”

ทำความรู้จักกับ ‘บ้านเรียน’ (Homeschool) ที่ไม่ใช่แค่เรียนที่บ้าน 

‘บ้านเรียน’ หรือ ‘โฮมสคูล’ สำหรับพี่ป้อมปืนและแม่นิ่มคืออะไร? นี่เป็นคำถามแรกที่เราในฐานะเด็กที่เรียนในระบบมาตลอดสิบๆ ปีเอ่ยถามพวกเขาทั้งคู่

“เอาแบบที่ง่ายที่สุด คือการจัดการศึกษาโดยครอบครัวตามกติกาสากลระหว่างประเทศ ว่าด้วยเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมระหว่างประเทศ หลักการสิทธิมนุษยชนและสิทธิเด็กที่พ่อแม่มีสิทธิในการ ‘เลือก’ โรงเรียนหรือสถานศึกษาที่เหมาะสมกับลูก” 

“เด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน เขาจึงมีความสนใจและวิธีในการเรียนรู้คนละแบบ ซึ่งที่จริงแล้ว หากไม่มีโรงเรียนของรัฐที่เหมาะสมกับลูก พ่อแม่ก็มีสิทธิตั้งสถานศึกษาได้โดยที่รัฐจะต้องไม่เข้าไปก้าวก่ายเสรีภาพ โดยรัฐมีสิทธิที่จะกำกับดูแลสถานศึกษาที่พ่อแม่ตั้งขึ้นให้มี คุณภาพตามเกณฑ์ขั้นต่ำของหลักสูตรที่รัฐกำหนดเท่านั้น”

แม่นิ่มเริ่มตอบเราเป็นคนแรกด้วยรอยยิ้มบางๆ ก่อนที่จะเล่าต่อด้วยท่าทีสบายๆ

“พ่อแม่มีหน้าที่อบรมเลี้ยงดูบุตรอยู่แล้วว่าด้วยเรื่องทักษะชีวิต และเมื่อค้นพบสิ่งที่เขาถนัดหรือสนใจ ก็ส่งต่อครูผู้รู้ในชุมชนในที่ต่างๆ เพื่อให้เขาได้เดินทางไปเรียนตามที่เขาสนใจ”

ในขณะที่ป้อมปืนอธิบายกับเราว่า การเกิดขึ้นของโฮมสคูลในประเทศไทยอาจเปรียบได้กับ ‘โมเดลแซนด์วิช’ เพราะว่า ในช่วงก่อนหน้าที่จะมี ‘โครงการแผนการศึกษาในกรุงสยาม พ.ศ. 2441’ มีการจัดตั้งโรงเรียน และเริ่มบังคับใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. 2464 การที่พ่อแม่หรือคนในชุมชนสั่งสอนเลี้ยงดูลูกหลานของตัวเองนั้นเป็นวิถีปฏิบัติที่ทำมาแต่เดิมอยู่แล้ว หรือแม้กระทั่งหลังจากการปฏิรูประบบการศึกษาในรัชกาลที่ 5 ต่อเนื่องถึงรัชกาลที่ 6 ยังคงมีพ่อแม่และชุมชนที่เลี้ยงดูเด็กกันเอง อยู่ในพื้นที่ที่รัฐเข้าไปดูแลไม่ทั่วถึง

“ในอีกด้านหนึ่ง การจัดการศึกษาของรัฐ ‘ยุคหลังอาณานิคม’ มีส่วนทำให้พ่อแม่บางกลุ่มเลือกกลับมามีบทบาทเลี้ยงดูและจัดการศึกษาให้ลูกเอง เพราะว่า ‘โรงเรียนและระบบการศึกษา’ ยึดความเชื่อและวิถีปฏิบัติแบบพุทธเถรวาท การเข้าโรงเรียนเป็นจึงเป็นความรู้สึกลำบากใจให้กับครอบครัวที่นับถือศาสนาอื่น คำว่าโฮมสคูลในประเทศไทยจึงปรากฏขึ้นด้วยบริบททางศาสนาในช่วงแรก” 

“ต่อมาในช่วงที่มีกระแสการเรียกร้องประชาธิปไตยเริ่มเบ่งบาน เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ และการรณรงค์ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน การเกิดขึ้นและการถูกรับรองของโฮมสคูลในยุคหลังเป็นส่วนหนึ่งของความเบ่งบานของสังคมที่เป็นประชาธิบไตย ช่วงนั้นเองก็มีพ่อแม่และชุมชนบางส่วนที่เป็นเสรีชนที่เชื่อว่าตัวเองจัดการศึกษาได้ดีกว่ารัฐ บริบทของโฮมสคูลยังเป็นช่วงที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้ที่แตกต่างจากในระบบ ยังไม่มีการพูดถึงระบบการวัดประเมินผลมากนัก ถึงพ่อแม่จะเชื่อว่าตนเองจัดการศึกษาได้ดีกว่ารัฐ แต่สุดท้ายปลายทางก็ยังต้องมีการสอบเพื่อให้ได้วุฒิอยู่ดี แต่ปัจจุบันการต่อสู้ขยับเข้าไปเรื่อยๆ ถึงห้องสอบหรือรูปแบบการวัดประเมินผล”

“ฉะนั้น โฮมสคูลในยุคปัจจุบันจึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นการ ‘ตั้งคำถามกับโครงสร้าง’ ไ่ม่ใช่เพียงตั้งคำถามกับการจัดกระบวนการเรียนรู้ แต่ตั้งคำถามไปถึงโครงสร้างหลักสูตร การเขียนแผนการจัดการศึกษา การจัดโครงสร้างการบริหารบุคลากรทางการศึกษา การจัดสรรสิทธิสวัสดิการต่างๆ ให้ถึงตัวเด็ก เช่น เงินอุดหนุน ค่านม ค่าอาหารกลางวัน ไปจนถึงการกำหนดวิธีการวัดประเมินผล ว่า โครงสร้างการจัดการและการบริหารงานทางการศึกษาแบบไหน รูปแบบการทดสอบแบบไหนที่จะทำให้เด็กเติบโตได้มากยิ่งขึ้น” ป้อมปืนว่า

โฮมสคูล: การจัดการเรียนการสอนที่ขึ้นอยู่กับช่วงวัย ความสนใจ และความสามารถ

มายาคติหนึ่งที่ฝังรากหยั่งลึกในภาพจำการศึกษาไทยมานาน คงหนีไม่พ้น ‘นักเรียน’ เป็นผู้เรียนรู้ และ ‘คุณครู’ เป็นผู้สอน

แล้วโฮมสคูลนี่มีคุณครูไหมนะ? คำถามถัดมาจากเรา

“พ่อแม่ถือเป็นคุณครูคนแรกของลูกอยู่แล้ว เวลาทำแผนการศึกษา นั่นคือการที่เรากำลังยืนยันว่าการเลี้ยงลูกธรรมดาๆ นี่แหละ คือการจัดโฮมสคูล” แม่นิ่มตอบกับเราก่อน ก่อนที่เราจะถามถึงการจัดการเรียนการสอนให้ลูกชายในเวลาถัดมา

ป้อมปืนชิงตอบว่าการสอนแบบโฮมสคูลมีทั้งแบบ ‘รู้ตัว’ และ ‘ไม่รู้ตัว’

“แบบรู้ตัวคือตอนช่วงเราอนุบาลจะมี ‘เป้าหมาย’ (Task) ในแต่ละวัน เช่น ทุกวันพระต้องไปวัด ไม่ว่าจะไปด้วยวิธีใดก็ตาม มีเป้าหมายว่าใน 1 สัปดาห์ต้องออกไปตามเป้าหมายนี้ ส่วนอีก 6 วันอยู่ที่บ้าน ซึ่งระหว่างนั้นจะเป็นช่วงเวลาที่แม่พยายามหาอะไรให้เราทำตามที่ตกลงกันไว้วันละ 1 อย่าง เช่น วาดรูป เขียนวันที่ เขียนตัวเลข นอกจากนั้นเราสามารถเลือกว่าจะทำอะไรก็ได้”

เขาหยุดและเหล่มองแม่สักครู่ ก่อนจะพูดต่อ

“ช่วงนั้นแม่จะเขียนแบบฝึกหัด 1 หน้ามาให้ทำอยู่เป็นประจำ สักพักก็จะเริ่มรู้สึกว่าทำไปทำไม เลยอยากแก้แค้นแม่โดยการเอา ‘โจทย์เด็ก’ ไปให้แม่ทำบ้าง เช่น แม่ช่วยวาดการ์ตูนเรื่องนี้ให้หน่อย โดยเราใช้วิธีเดียวกับที่เขาตั้งโจทย์มาให้เราทำ และเราก็ตั้งโจทย์กลับไปให้เขาทำบ้าง” ประโยคนี้เรียกเสียงหัวเราะเบาๆ ให้กับเราสามคน

เส้นทางการเป็นเด็กบ้านเรียนของป้อมปืนเริ่มอย่างจริงจังตั้งแต่ช่วงอนุบาล 2 หลังจากเดินทางตามคุณพ่อไปที่ประเทศสเปน เพราะสำหรับเขาการเดินทางเรียนรู้โลกข้างนอกมันดูน่าค้นหากว่าบรรยากาศที่ต้องนั่งเรียนอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม

เมื่อเขาอายุ 8 – 9 ขวบ ขณะนั้นมีกลุ่มบ้านเรียนเกิดขึ้นแล้ว พวกเขาตั้งเป้าหมายเพิ่มตามจำนวนคนและความสนใจ พวกเขาเริ่มลองทำอะไรที่แปลกใหม่ไปจากเด็กทั่วๆ ไปในวัยเดียวกัน เช่น ทำนา เรียนดนตรี เล่นกีฬา หรือกระทั่งไปทะเล

นอกจากนั้นเด็กๆ ในกลุ่มยังนำความสนใจมาแบ่งปันกัน ดังเช่นเมื่อเขาชอบอ่านรามเกียรติ์ก็ชวนเพื่อนๆ มาอ่านด้วย หรือมีเพื่อนอีกคนที่ชอบดูนกก็มักจะชวนเพื่อนๆ ไปดูนกด้วยกัน

“เป็นแบบนี้มาเรื่อยๆ จนกระทั่งช่วงจังหวะหนึ่งที่ทุกคนรู้สึกว่าอยากจริงจัง อยากมีเป้าหมาย ไม่ใช่ทำอะไรก็ได้ไปวันๆ แล้ว นั่นก็ตรงกับช่วงขึ้นชั้นมัธยมฯ ซึ่งบางคนต้องเริ่มตัดสินใจเกี่ยวกับเส้นทางการเรียนของตัวเอง ทั้งไม่ว่าจะเรียนโฮมสคูลต่อไหม หรือจะเบนไปเรียนเฉพาะสายตามความสนใจ หรือกระทั่งกลับไปเรียนในโรงเรียน”

แม่นิ่มเสริมต่อว่า “ตอนเด็กๆ เราเห็นป้อมปืนชอบวาดรูปลากเส้นอิสระและชอบรถ เขาชอบวาดรูปล้อรถ โลโก้รถมาตั้งแต่เด็กๆ นั่งรถไปไหนมาไหนเวลาเห็นรถข้างหน้าเขามักจะบอกยี่ห้อได้ นี่คือการเรียนรู้บนท้องถนน ซึ่งแม่ก็มักจะมีกุศโลบายเล็กน้อยว่าถ้าเขาชอบวาดรูป เราก็จะชวนเขียนหนังสือ คำศัพท์ข้างๆ รูปที่วาดด้วย เพราะเราจบครูมาบางทีก็ทำแบบทดสอบเองว่า คำนั้นคำนี้ต้องโยงกับรูปภาพยังไง เขาก็คงสงสัยแหละว่าให้ทำทำไม แล้วก็แก้แค้นแม่กลับ (หัวเราะ) แม่ก็ตั้งใจทำงานที่ลูกให้นะ แต่นั่นแหละ เพราะว่า แม่นิ่มไม่ชอบใช้แบบฝึกหัดสำเร็จรูป (ยิ้ม)”

“สำหรับแม่แล้ว การแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกัน จะถูกใจหรือไม่ถูกใจบ้างเป็นธรรมดาของเด็กๆ เพราะเราไม่ได้บังคับให้ถูกใจ แต่ถ้าอย่างในโรงเรียนถึงจะไม่ถูกใจยังไงก็ไม่ได้ ต้องทำ แต่อันนี้คือเหมือนเขาได้เรียนรู้ตัวเองไปด้วยว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร”

‘แม่’ ไม่ใช่ ‘ครูผู้สอน’ แต่เป็น ‘เพื่อนเล่น’

“แม่จะไม่เรียกตัวเองว่า ‘ผู้สอน’ เลยนะ หรือคำอย่างสมัยนี้ที่เขาเรียกกันว่า ‘ฟาฯ’ (Facilitator) แม่ก็ไม่เรียกตัวเองแบบนั้น” แม่นิ่มยิ้มตอบเราอีกครั้งก่อนจะเล่าต่อ “แต่แม่จะเป็นคนคอยสังเกตและคอยซัพพอร์ตสนับสนุนเขามากกว่า ยังเตะบอลกับเด็กๆ ได้ด้วย”

“แม่เหมือนเป็น ‘เพื่อนเล่น’ มากกว่า หลังๆ มาอายุมากขึ้นก็ปั่นจักรยานตามเด็กๆ ไม่ทัน ตีแบดก็ไม่ได้แล้ว แม่ไม่ได้มีความคาดหวังว่าจะต้องช่วยจัดการความสัมพันธ์อะไร ไม่ใช่ว่าอายุเท่านี้ต้องทำแบบนั้นได้” ลูกชายคุณแม่เล่าขยาย

‘ข้อสอบ’ และ ‘สมุด’ แบบวัดประเมินที่ส่งตรงมาจากโรงเรียน

จากบทสนทนาข้างต้น ถึงแม้ว่าจะทำให้เราได้เห็นว่าการเรียน ‘โฮมสคูล’ ดูมีความน่าสนุกสนาน อิสระเสรี และมีความยืดหยุ่นมากเพียงใด

แต่สุดท้ายแล้วเมื่อเราอยู่บนโลกอันกว้างใหญ่

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแวดวงของการศึกษา

นั่นจึงทำให้เราหนีไม่พ้นการต้อง ‘ถูกประเมิน’ อยู่ดี

หากในการศึกษากระแสหลักอย่างโรงเรียนมี ‘ข้อสอบ’ เป็นเครื่องมือวัดผล

เวลาเรียนโฮมสคูลเรามีการประเมินอย่างไร?

แม่นิ่มชวนเราย้อนเวลากลับไปตอนที่ป้อมปืนยังอายุเทียบเท่าชั้นประถมศึกษา ในขณะนั้นแม่นิ่มได้จดทะเบียนกับ ‘โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก’ โรงเรียนแรกที่มีการจดใบอนุญาตให้เป็นโรงเรียนโฮมสคูล ที่ก็กำลังทดลองอยู่ว่าจะออกแบบวิธีการประเมินกับเด็กที่เรียนโฮมสคูลอย่างไร เพราะในตอนนั้น พรบ.การศึกษาออกมาใน พ.ศ. 2542 กฎกระทรวงออก พ.ศ. 2547 ซึ่งตอนนั้นคู่มือบ้านเรียนเล่มแรกยังไม่ประกาศออกมา

เมื่อถึงครั้งเวลาที่ต้องประเมิน 

‘ข้อสอบ’ ก็ถูกส่งตรงมาจากที่นั่น

“มันก็สนุกดี คือมันไม่ได้ยากอะไร เพราะว่าแบบฝึกหัดเหล่านี้เราก็ชอบทำเล่นๆ อยู่แล้ว แต่ว่าจะมีข้อจำกัดบางประการที่ถูกส่งต่อมาผ่านข้อสอบ”

“อันแรก ข้อสอบถามว่า ‘อะไรในภาพต่อไปนี้กินได้’ เราตอบว่าไก่อันนี้กินไม่ได้ (เพราะว่าข้อสอบที่ถูกส่งมาเป็นฉบับถ่ายเอกสาร ภาพที่ปรากฏจึงเป็นสีขาวดำทั้งหมด) มันไหม้แล้ว กินไปก็เป็นมะเร็งกันพอดี แต่ที่จริงแล้วคำตอบมันต้องตอบว่ากินได้” ป้อมปืมเล่าชวนให้เรานึกภาพข้อสอบชุดนั้นตาม ก่อนที่แม่นิ่มจะเสริมต่อ

“เราเลยไปปรึกษากับ แม่แอ๊ว-รัชนี ธงไชย นักการศึกษาและนักเคลื่อนไหวเพื่อการศึกษาทางเลือก ครูใหญ่แห่งโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก แม่แอ๊วบอกว่าบ้านนี้ไม่ต้องทำข้อสอบแล้ว แต่ให้ส่ง ‘สมุดบันทึก’ ที่ป้อมปืนใช้เขียนบันทึกการเรียนรู้ในแต่ละวันกลับมาแทน”

สรุปแล้ว ‘สมุดบันทึก’ ถูกนำมาใช้แทนที่ ‘ข้อสอบ’ เพื่อเป็นตัวติดตามและรายงานผลการเรียนรู้ในแต่ละวันของป้อมปืน นอกจากนั้นยังมี ‘สมุดบันทึกคู่ขนาน’ ที่เกิดจากการสังเกตและบันทึกโดยแม่นิ่ม ก่อนที่สมุดบันทึกทั้งสองเล่ม (ที่จริงมากกว่า 2 เล่ม) จะถูกนำไปรายงานผลการจัดการศึกษาและผลลัพธ์การเรียนรู้ โดยมีคุณครูที่โรงเรียนหมู่บ้านเด็กเป็นผู้ประเมินตัดสินผล 

“ก็คือเรียนตามสภาพจริง เราไปไหนมา ลูกก็มาเขียนบันทึก ช่วงหนึ่งแม่ใช้ Mind Map สรุปบันทึกการเรียนรู้ของลูก ด้วยการที่เราอยู่กับเขา เราเห็นเขาทำงานเราก็บันทึกไปด้วย เป็นการประเมินด้วยการสังเกต”

เรียนรู้ให้สนุก โดยไม่ต้องเปรียบเทียบตัวเองกับใคร

ถ้าไม่ได้ทำข้อสอบ ไม่มีคะแนนสอบ เคยสงสัยไหมว่าความสามารถของเราอยู่จุดไหนเมื่อเทียบกับคนอื่น? 

“ไม่นะ เราไม่ได้รู้สึกว่าจะต้องเปรียบเทียบ คือมันสนุกอยู่แล้วด้วยตัวของมันเอง ไม่ได้รู้สึกว่าต้องไปเปรียบเทียบอะไรกับใคร ก็แค่ใช้ชีวิตของตัวเอง” 

ป้อมปืนตอบก่อนแม่นิ่มจะเสริมต่อว่า อันที่จริงแล้วทั้งคู่รู้ว่าการศึกษาในโรงเรียนเป็นอย่างไรเพราะว่าก็มีพี่น้องที่เรียนอยู่ในระบบเช่นกัน เพียงแต่ว่ารูปแบบการเรียนเหล่านั้นไม่ตอบโจทย์กับเขาสักเท่าไร

การคัดตัวอักษร ก.ไก่ ซ้ำๆ การใช้ชีวิตประจำวันที่คล้ายเดิมเป็นกิจวัตรทุกๆ วันในกรอบ ไม่ค่อยใช่ทางของเขามาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว

“ช่วงอนุบาลที่ยังไปโรงเรียน คุณครูยังเล่าด้วยซ้ำว่าชั่วโมงที่ป้อมปืนชอบที่สุด คือชั่วโมงที่ได้เข้าห้องสมุดที่เขาได้เข้าไปหานิทานมาอ่าน ซึ่งก็ตรงกับเวลาอยู่บ้านที่เขาก็ชอบอ่านหนังสือ แม่ก็เลยรู้ว่านี่คือทางของเขาแล้ว”

“หากย้อนกลับไปที่คำถามว่าเทียบกับคนอื่นอยู่จุดไหน เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราทำ คนอื่นเขาก็ไม่ได้ทำ เราเลยไม่ได้รู้สึกว่าการเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับใครมันสำคัญขนาดนั้น เพราะทุกวันที่ค่อยๆ ใช้ชีวิตไปมันสนุกอยู่แล้ว เลยสนุกกับการคิดว่าสัปดาห์หน้าจะไปที่ไหน ทำอะไรดีมากกว่า”

“เด็กหลายคนเขาต้องการพื้นที่ส่วนตัวสำหรับการเรียนรู้ ซึ่งเราก็คอยสนับสนุน” แม่นิ่มว่า

ระดับชั้นประถมศึกษา ป้อมปืนได้รับวุฒิการศึกษาจากการประเมินของโรงเรียนหมู่บ้านเด็กผ่านการบันทึกการเรียนรู้ในสมุดดังที่เล่าไปข้างต้น พออายุขึ้นชั้นมัธยมต้น แม่นิ่มจึงไปจดทะเบียนที่เขตตามคู่มือที่เพิ่งเกิดขึ้นในเวลานั้น (พ.ศ. 2549) และจะต้องมีการประเมินจากคณะกรรมการของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผ่านการส่งคณะทำงานมานิเทศประเมินผลระหว่างปี แต่ความเป็นจริงแล้วนั้นกลับไม่มีคณะทำงานมาเยี่ยมเลย จนกระทั่งป้อมปืนขึ้นชั้น ม.3 แม่นิ่มก็รู้สึกเอะใจ จึงติดต่อสำนักงานให้เข้ามาเยี่ยมประเมิน

จากประสบการณ์ของแม่นิ่มและป้อมปืนที่ถ่ายทอดออกมา ทำให้พอเห็นได้ว่าการวัดประเมินผลจากส่วนกลางเหล่านี้มี ‘ช่องว่าง’ บางประการที่ทำให้เห็นได้ว่า แม้เขาจะบอกว่ามีการประเมินตามสภาพจริง แต่สุดท้ายแล้วก็อาจเป็นการประเมินที่น่าตั้งคำถามอยู่ดี

“คนที่มาประเมินให้ ก็คือครูที่สอนอยู่ในโรงเรียน ซึ่งจะมีทั้งครูที่เข้าใจแก่นการเรียนรู้จริงๆ กับครูที่เกาะหนังสือ แต่ว่าโดยรวมก็เป็นการประเมินแบบสอบปากเปล่า (Oral Test) แล้วเราก็นำเสนองานของเราที่อยากโชว์ให้เขาดู ก็จะใช้รากเดิมคล้ายกับการประเมินจากหมู่บ้านเด็ก เช่น สมุดบันทึกที่เป็นร่องรอยการเรียนรู้และบันทึกเป็นหลักฐานว่าเราได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง”

‘ระบบ’ ที่ (อาจ) ยุยงส่งเสริมให้เด็กเปรียบเทียบกันเอง

“จริงๆ ถึงไม่มีการประเมินหรือการสอบ เด็กๆ ก็มีการเปรียบเทียบตัวเองกันอยู่แล้ว” ป้อมปืนตอบเราในคำถามที่ว่า คิดว่าการประเมินเป็นการทำให้เด็กเปรียบเทียบกันเองไหม?

“มีสิ่งที่เรียกว่า ‘การเปรียบเทียบเชิงบวก’ อยู่เหมือนกัน อย่างเรากับในกลุ่มเพื่อนตอนเด็ก แต่ละคนมีความสนใจที่แตกต่างหลากหลาย บางคนรู้เรื่องนั้นเรื่องนี้ดีกว่าเรา มันเลยเหมือนกับเป็นการแพร่ไวรัสเรื่องต่างๆ ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในฐานะความสนใจและความถนัดที่แตกต่างหลากหลาย มากกว่าจะเป็นการจัดวางผลการเปรียบเทียบอันดับเพื่อให้คุณให้โทษ”

“แต่ถ้าให้พูดถึงการแข่งขันเปรียบเทียบในระบบ เหล่านี้มันไม่ได้เกิดขึ้นจากตัวเด็ก แต่เกิดจากตัวผู้ใหญ่ในระบบต่างหากที่พยายามออกแบบระบบเพื่อสิ่งนี้ (การให้เด็กแข่งขัน/เปรียบเทียบกันเอง) เพราะฉะนั้นเด็กจึงเป็นเหยื่อที่รับวิธีคิดแบบนั้นมาว่าเราต้องแข่งกัน เราต้องเปรียบเทียบกัน”

เราหันไปถามแม่นิ่มต่อในคำถามเดียวกัน เธอตอบเราอย่างน่าสนใจว่าในการเรียนรู้ร่วมกันของเด็กๆ เราอาจจะต้องค่อยๆ ทำความเข้าใจและหาจุดที่สนใจเรียนรู้ร่วมกัน ทำให้เด็กๆ มีความสุขในสิ่งนี้ด้วยกัน ก็อาจจะมีบ้างที่เด็กๆ มีสิ่งที่ไม่เข้าใจกัน แต่เธอจะคอยย้ำกับพ่อแม่ชาวโฮมสคูลตลอดว่า ‘เด็กตีกันแต่ผู้ปกครองอย่าตีกันด้วยนะ’ และผู้ใหญ่จะคอยช่วยดูแลเด็ก ๆ ร่วมกันไปตามสถานการณ์

“สำหรับแม่ แม่ตั้งคำถามตั้งแต่เรียนมา ตอนนั้นเราสนิทกับเพื่อนคนหนึ่งที่เป็นนักวาดรูป เขาวาดรูปเก่งมากแต่ไม่ถนัดท่องหนังสือสอบ เพื่อนอีกคนเรียนเก่งแต่ให้เขาวาดรูปให้ เราเลยตั้งคำถามมาตลอดว่าเพราะอะไรคนที่มีความสามารถพิเศษแบบนี้จะต้องทำข้อสอบเหมือนกันเพื่อเปรียบเทียบกันด้วยนะ”

สำหรับแม่นิ่มเองแล้ว เมื่อเธอได้มีโอกาสมาทำงานด้านการศึกษา เรื่องนี้เลยเป็นเรื่องที่เธอให้ความสำคัญมาก 

‘เด็กแต่ละคนมีความถนัดไม่เหมือนกัน’ เป็นสิ่งที่เธอยึดมั่นมาตลอด และเมื่อยิ่งศึกษาหลักสิทธิมนุษยชนและสิทธิเด็ก รวมถึงเมื่อได้ไปอ่านระเบียบคู่มือต่างๆ จึงพบว่าอันที่จริงแล้วประเทศไทยมี พ.ร.บ.การศึกษาที่ดีมาก และระบุไว้ชัดเจนว่า ให้สามารถจัดทำหลักสูตรตามความรู้ ความสามารถ และศักยภาพของเด็ก และเรื่องการประเมินก็ให้ประเมินตามความรู้และความสามารถที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นเธอจึงได้คำตอบว่า การที่โรงเรียนให้นักเรียนสอบเหมือนกันเป็นเรื่องที่อาจจะไม่ถูกต้อง และเป็นการจำกัดศักยภาพของเด็กเสียด้วยซ้ำ

“แม่ตั้งธงไว้กับแนวทางการศึกษาทางเลือกว่า ถ้าเราเรียนแบบนี้แต่เราได้คุณภาพโดยตรงนะ (Experience Approach) แต่ของเขา (การศึกษาในระบบกระแสหลัก) ต้องเอาเป้าหมายกลับมาออกแบบการเรียนของเด็ก (Outcome Approach) เพื่อที่จะไต่ไปให้ถึงเป้าหมายนั้น แล้วเอาไปเช็กว่าเด็กได้คุณภาพตามตัวชี้วัดของครูหรือยัง แต่สำหรับเรา เราเรียนบนกระบวนการเรียนรู้ของเราเอง ไม่ใช่การเรียนตามความคาดหวังของผู้ใหญ่ เราเอาสิ่งที่เรียนรู้ไปประเมิน เพราะจะเป็นการประเมินที่เรียกได้ว่าเป็นการประเมินผลตามสภาพจริง (Authentic Assessment) จริงๆ”

“สิ่งที่สังคมพากันเพี้ยนไปก็คือ คุณทำให้เด็กต้องแข่งขันกัน เรียนทุกอย่างเหมือนๆ กัน ในเวลาเท่าๆ กัน สอบก็เหมือนๆ กัน แต่ว่าที่จริงแล้ว ปลายทางการเลือกความถนัดในอาชีพและชีวิตแต่ละคนไม่เหมือนกัน ถูกไหม?” เธอทิ้งท้ายชวนคิดอย่างน่าสนใจ

เมื่อ ‘เด็ก’ คือเจ้าของการเรียนรู้ที่แท้จริง

“ผู้ประเมินต้องมีความเข้าใจเรื่องหลักการประเมินการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับคุณภาพที่เกิดขึ้นจริงของเด็กให้ได้ ดังนั้นผู้ประเมินจึงสำคัญมาก ตอนนี้เรามีเจ้าหน้าที่ที่ไม่สามารถประเมินเด็กได้ เมื่อเขาไม่เข้าใจกระบวนการเรียนรู้ของเด็กตามแผนการศึกษารายบุคคลของครอบครัวและศักยภาพที่เด็กมีอยู่จริง เขาจึงเลือกใช้เครื่องมือที่สอดคล้องกับคุณภาพที่แท้จริงของเด็กไม่ได้ เพราะยึดติดกับการทำงานด้วยกระบวนทัศน์การศึกษาที่มีการประเมินด้วยข้อสอบมาตรฐานรูปแบบเดียว”

แม่นิ่มเล่าต่อว่าในการจัดการเรียนรู้แบบโฮมสคูลเอง ‘เด็ก’ จะเป็นทั้ง ‘เจ้าของการเรียนรู้’ และ ‘เจ้าของการประเมิน’ ตั้งแต่ในวัยประถมจนถึงมัธยมปลาย เพราะการศึกษาทางเลือกจะเป็นการจัดการศึกษาที่หารือกับเด็กเพื่อที่เด็กจะได้พัฒนาศักยภาพตัวเองเต็มที่ ก่อนที่ป้อมปืนจะพูดเสริมเรื่องการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา ไร้สิ้นซึ่งอายุขัยตลอดชีวิตไว้อย่างน่าสนใจ

“ทุกวันนี้พอดแคสต์ (Podcast) ได้รับความนิยมขึ้นมาก็เพราะมันตอบโจทย์ความสงสัยใคร่รู้ของคน การเรียนรู้มันจึงเกิดได้ตลอด ดังนั้นถ้าถามว่าเด็กที่ไม่ได้เป็นเจ้าของการประเมินจะเป็นเจ้าของการเรียนรู้ด้วยได้ไหม มันก็ไม่ถึงขนาดนั้น แต่ว่าถ้าไปด้วยกันได้มันก็น่าจะดีกว่า”

สำหรับป้อมปืนแล้วเขาสนับสนุนให้เด็กๆ ทุกคนทำในสิ่งที่สนใจและชอบมากกว่าพยายามบีบรัดตัวเองให้เข้ากับกรอบของผู้ใหญ่ ส่วนผู้ใหญ่ที่เป็นนักประเมินก็ควรเข้าใจว่ากระบวนการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคนเป็นอย่างไร และใช้ความเชี่ยวชาญของตัวเองเข้ามาปรับให้กระบวนการวัดประเมินผลเหล่านั้นมันอยู่ในเส้นทางการเรียนรู้ของเด็กจริงๆ ไม่ใช่บังคับให้เด็กต้องเรียนรู้เพื่อตอบความแม่นยำของเครื่องมือวัดผล

และในอีกแง่หนึ่งเขายังมองว่า ในหลายครั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่การประเมินนั้น ‘ล้ำเส้น’ ไปเสียหน่อย 

เขาเล่าถึงประสบการณ์ที่เคยเข้าไปสังเกตการทำงานกับหน่วยงานจากส่วนกลางที่มีหน้าที่จัดทำแบบทดสอบมาตรฐานเหล่านั้น และได้เจอกับคณะกรรมการบางชุดที่มีแนวคิดว่า ‘การศึกษาจะดีได้ก็ต่อเมื่อคุณครูทุกคนออกข้อสอบเป็น’ ซึ่งนี่คือวิธีคิดที่ล้ำเส้นบทบาทของผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ เพราะตามความเป็นจริง การเรียนรู้นั้นขึ้นอยู่กับครูที่อยู่หน้างานด้วยว่าจะต้องรับมือกับสภาวะของเด็กอย่างไร ซึ่งกลายเป็นว่าหน่วยงานใหญ่เหล่านี้ให้ความสำคัญกับการบังคับใช้ ‘เครื่องมือ’ ที่ตัวเองมีมากที่สุด สนใจเรื่องความแม่นยำทางสถิติ สนใจความเที่ยงตรงของการวัดผล มากกว่าสนใจกระบวนการเรียนรู้

“สุดท้ายเราเลยเอาสิ่งที่เรียกว่า ‘ตัวชี้วัด’ มาเป็นเป้าหมาย ทั้งที่ตัวชี้วัดที่สำคัญคือการที่เด็กสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต เราต้องการให้เด็กหาความรู้ได้ด้วยตัวเอง แต่เรากลับเอาการท่องศัพท์ภาษาอังกฤษให้ได้ 100 คำมาเป็นเป้าหมายเสียแบบนั้น”

“การเอาการประเมินมาเป็นตัวตั้งและปฏิบัติราวกับสิ่งนี้เป็นจุดหมายปลายทางของการศึกษา นั่นเลยทำให้กระบวนการเรียนรู้บิดเบี้ยว”

Writer
Avatar photo
รุอร พรหมประสิทธิ์

หนังสือ ไพ่ทาโรต์ กาแฟส้ม แมวสามสี และลิเวอร์พูล

illustrator
Avatar photo
พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts

Related Posts