Heartstopper การหลบซ่อนมันง่ายแต่ความเหงาก็แย่พอกัน อย่าให้ใครมาทำให้ตัวตนเราหายไป

Heartstopper การหลบซ่อนมันง่ายแต่ความเหงาก็แย่พอกัน อย่าให้ใครมาทำให้ตัวตนเราหายไป

  • ตัวตนที่เราละทิ้งไปเรื่อยๆ เพื่อเติบโต จนสุดท้ายมองคนในกระจก เราอาจไม่รู้จักคนตรงหน้าด้วยซ้ำ
  • ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ที่ที่อนุญาตให้เราได้เป็นตัวเอง ไม่ต้องละทิ้งหรือเปลี่ยนแปลงสิ่งใด
  • ‘ชาร์ลี’ ตัวละครเอกจากซีรีส์ Heartstopper ที่ต้องการพื้นที่นี้เพื่อเป็นตัวเองตลอดไป

บางจังหวะชีวิตของการเติบโต เราอาจถูกบีบให้ต้องละทิ้งตัวตนและความเป็นตัวเองไป เพื่อเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ในแบบที่คนอื่นต้องการ

ตัวตนที่ละทิ้งไปเรื่อยๆ สุดท้ายเวลาที่เรามองกระจกอาจไม่รู้จักคนตรงหน้าด้วยซ้ำ

‘พื้นที่ปลอดภัย’ คำทั่วๆ ไป แต่เป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องการ ไม่ว่าจะวัยไหน โดยเฉพาะวัยรุ่น พื้นที่นี้มันทำให้พวกเขากล้าที่จะเป็นตัวของตัวเองและก้าวผ่านปัญหาต่างๆ เพื่อเติบโตต่อไปในแบบที่ยังเป็น ‘ตัวเรา’ มากที่สุด 

เช่นเดียวกับ ‘ชาร์ลี’ ตัวละครเอกจาก Heartstopper ซีรีส์ LGBTQ+ เรื่องล่าสุดของ Netflix ชาร์ลีเป็นนักเรียนมัธยมปลายเพียงคนเดียวในโรงเรียนที่เปิดเผยว่าเป็น ‘เกย์’ ทำให้การใช้ชีวิตในโรงเรียนของชาร์ลีไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะถูกเพื่อนบางคนบูลลี่ ชาร์ลีจึงเลือกที่จะหลบซ่อนตัวเองจากสายตาคนอื่น เพื่อให้ตัวเองปลอดภัย รวมถึงความรู้สึกที่เขามีต่อ ‘นิค’ นักกีฬารักบี้สุดฮอตประจำโรงเรียน 

ลำพังการเป็นวัยรุ่นตามวิถีที่สังคมมองว่า ‘ปกติ’ นับเป็นเรื่องยากอยู่แล้ว และการที่ชาร์ลีเป็นวัยรุ่นที่เป็น LGBTQ+ ยิ่งเพิ่มความยากขึ้นอีก เพราะเขาต้องรับมือทั้งการเปลี่ยนแปลงของตัวเอง และสภาพสังคมที่ไม่เปิดกว้างในเรื่องเพศวิถี 

‘พื้นที่ปลอดภัย’ จึงเป็นสิ่งที่ชาร์ลีต้องการ 

พื้นที่ปลอดภัยที่ใกล้ตัวเราที่สุดก็คือ ‘บ้าน’

ครอบครัว หนึ่งในพื้นที่ปลอดภัยที่ทำให้ชาร์ลีสามารถเป็นตัวเองและกลับมาชาร์จพลังเพื่อไปต่อสู้กับโลกภายนอก 

‘พ่อ’ มักบอกชาร์ลีเสมอว่า “ชาร์ลี มีเรื่องอะไรก็โทรหาพ่อนะ”

ประโยคบอกเล่าธรรมดาทั่วไป แต่กลับแฝงไปด้วยความห่วงใยที่คนเป็นพ่ออยากให้ลูกรับรู้ 

แม้จะไม่ได้ใช้เวลาอยู่กับลูก 24 ชั่วโมง แต่พ่อก็รับรู้ได้ว่าลูกของเขาใช้ชีวิตยากลำบากแค่ไหน สิ่งที่คนเป็นพ่ออย่างเขาทำได้ ไม่ใช่ปกป้องลูกไว้ในหินไม่ให้พบเจอเรื่องยากๆ แต่คือการปล่อยให้ลูกได้เผชิญกับปัญหา ส่วนพ่อแบบเขาก็ต้องทำหน้าที่เป็นคนข้างหลัง คอยดูแลเมื่อลูกบาดเจ็บกลับมา อย่างที่เขายอมให้ชาร์ลีไปงานปาร์ตี้ ถึงจะกังวลว่าอาจมีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้นกับลูก แต่เขาก็เลือกที่จะปล่อยให้ชาร์ลีได้ไปเผชิญหน้าและเรียนรู้มันด้วยตัวเอง

“ไม่เป็นไรนะ พ่ออยู่นี่แล้ว ทุกอย่างจะโอเค” พ่อปลอบชาร์ลีด้วยคำพูดที่อ่อนโยน และโอบกอดลูกอย่างอบอุ่น 

และเป็นอย่างที่พ่อคิดไว้ ภาพที่ลูกวิ่งออกมาจากงานปาร์ตี้ พร้อมน้ำตาที่ไหลอาบแก้มทั้งสองข้าง ไม่จำเป็นต้องเล่าว่าเกิดอะไรขึ้น พ่อโอบกอดลูกที่กำลังจะแตกสลาย เพราะเขารู้ดีว่าสิ่งที่ลูกต้องการที่สุดตอนนี้คือ คนที่อยู่ข้างๆ และอ้อมกอดที่บอกให้รู้ว่าเขาไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว

นอกจากพ่อ ชาร์ลียังมี ‘ทอรี่’ พี่สาวที่มองตาก็รู้ใจ อีกหนึ่งเซฟโซนให้ชาร์ลีได้ทิ้งตัว

การมีพี่สาวที่คอยห่วงใยและสามารถคุยได้ทุกเรื่องถือเป็นสิ่งที่หาได้ยากในบางครอบครัว เพราะไม่ใช่ทุกบ้านที่พี่น้องจะสนิทกัน และบางครั้งเราเองก็มีเรื่องลำบากใจที่ไม่สามารถเล่าให้พ่อกับแม่ฟังได้ แต่การที่ชาร์ลีมีพี่สาวคอยรับฟังและอยู่ข้างๆ เขา เท่านี้ก็ถือเป็นสิ่งที่วิเศษแล้ว 

ความที่ทั้งคู่อยู่โรงเรียนเดียวกัน ทำให้ทอรี่เข้าใจสถานการณ์ที่ชาร์ลีกำลังเผชิญอยู่เป็นอย่างดี ไม่ว่าชาร์ลีจะมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นที่โรงเรียน เขาก็สามารถเล่าให้เธอฟังได้เสมอ แม้ในวันที่เขารู้สึกโดดเดี่ยวและไร้ตัวตนในสายตาคนอื่นมากที่สุด 

“ฉันรู้สึกเหมือนฉันทำลายชีวิตคนอื่น คงดีกว่าถ้าฉันไม่ต้องมีตัวตน”

ในวันที่ชาร์ลีรู้สึกว่าตัวเขาเป็นภาระและเป็นต้นเหตุให้นิคต้องทะเลาะกับเพื่อน เขาคิดว่าถ้าตัวเองหายไปจากโลกนี้คงดี

ทอรี่ที่ได้ยินประโยคนี้ก็ตอบกลับไปว่า “แต่นายไม่ได้ทำลายชีวิตพี่”

โลกอาจจะโหดร้ายกับเราในบางเวลา แต่การมีใครสักคนอยู่เคียงข้าง โอบกอดเราในวันที่แตกสลายอย่างทอรี่ที่โอบกอดชาร์ลีก็ทำให้เขากล้าปลดปล่อยความรู้สึกที่อัดแน่นอยู่ในใจและอ่อนแอได้ เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว

ฝั่งของนิค การที่ค้นพบว่าตัวเองมีรสนิยมทางเพศยังไง เป็นเรื่องใหญ่สำหรับเขา และรับมือได้ยาก เพราะเขาคือนักเรียนสุดฮอตประจำโรงเรียน ทุกคนต่างคาดหวังให้เขาเดินตามกรอบที่สังคมตั้งไว้ 

การพบว่าตัวเองเป็นไบเซ็กชวล จึงเป็นเรื่องใหญ่สำหรับนิค เขารู้ดีว่าสังคมที่ตัวเองอยู่ยังไม่เปิดกว้างมากพอ ทำให้เขาไม่กล้าเปิดเผยตัวตน

แต่ความอึดอัดที่ต้องปิดบังมันทวีคูณขึ้นเรื่อยๆ วันหนึ่งนิคตัดสินใจบอกความจริงกับแม่เรื่องรสนิยมทางเพศของเขาและความสัมพันธ์ของเขากับชาร์ลี

“ชาร์ลีเป็นแฟนผม ผมก็แค่อยากบอกแม่เอาไว้”

สีหน้าของแม่เมื่อได้ยินประโยคนี้จากนิคแสดงถึงความตกใจเล็กน้อย ก่อนจะเปลี่ยนเป็นรอยยิ้มและสายตาที่อบอุ่นให้ลูกคนนี้ 

แม่ย่อมมองออกว่ามีบางสิ่งเปลี่ยนแปลงไป แต่เธอเลือกที่จะไม่พูด รอให้ลูกพร้อมแล้วเดินเข้ามาบอกเอง เพราะเธอไม่ต้องการให้เขารู้สึกไม่ปลอดภัย หากเผลอตัวพูดอะไรมากไป

“ขอบใจที่บอกแม่นะลูก แม่ขอโทษ ถ้าแม่เคยทำให้รู้สึกว่าลูกบอกแม่ไม่ได้”

แม่ตอบนิค เพราะเธอรู้ดีว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่นิคจะกล้าเปิดเผยรสนิยมตัวเอง การปฏิบัติของเธอต่อลูกอาจเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ลูกรู้สึกอึดอัด

คำขอโทษและอ้อมกอดยังคงเปิดให้ลูกเสมอ คงพอช่วยทดแทนช่วงเวลาที่ผ่านมาได้ รวมถึงตัวนิคก็ได้รู้แล้วว่ามีพื้นที่ปลอดภัยที่เขาสามารถเป็นตัวของตัวเองได้ นั่นคือการถูกยอมรับจากแม่ของเขา

พื้นที่ปลอดภัยไม่ใช่แค่บ้าน แต่เป็นโรงเรียนด้วย

ถึงบ้านจะเป็นเซฟโซนของชาร์ลีและนิค แต่พวกเขาไม่สามารถอยู่ในบ้านได้ตลอดไป สำหรับชาร์ลีการไม่ถูกยอมรับในตัวตนจากเพื่อนๆ ที่โรงเรียน จึงทำให้เขาเลือกที่จะวิ่งหนีและไปซ่อนตัวจากคนอื่นๆ

“ตึกศิลปะไม่มีแข่งกีฬา อย่ามาขอครูหลบในนี้ทั้งบ่ายนะ แต่ครูจะไม่ไล่เธอไปเพราะครูน่ารัก”

ครูอจายี’ ครูประจำห้องศิลปะบอกกับชาร์ลี เมื่อเห็นเขาเดินเข้ามาในห้องศิลปะ สถานที่โปรดของชาร์ลีสำหรับการซ่อนตัว

แม้จะให้ที่ซ่อนตัวชาร์ลี แต่ครูอจายีก็อยากให้ชาร์ลีเลือกเผชิญหน้ากับปัญหามากกว่าจะหนีไปเรื่อยๆ เพราะการหนีมันทำให้ชาร์ลีหนีปัญหาได้เพียงชั่วคราว และสุดท้ายเมื่อออกจากห้องศิลปะไป ปัญหาก็จะวิ่งมาหาเขาซ้ำๆ เหมือนเดิม เขาพอมองเห็นอนาคตรางๆ ของชาร์ลีที่อาจเลือกละทิ้งตัวตน เพื่อให้ปัญหาหายไป 

“ครูเคยคิดว่าการหลบซ่อนจากทุกอย่างมันปลอดภัยกว่าและง่ายกว่า แต่บางครั้งความเหงาก็แย่พอกัน อย่าให้ใครมาทำให้ตัวเองหายไปนะ”

ครูอจายีบอกชาร์ลี เพื่อเตือนสติให้เขารู้ว่าการหนีปัญหา และเอาแต่ซ่อนตัวไม่ใช่ทางออกที่ดี เพราะมันจะทำให้ความเป็นตัวเองถูกกลืนหายไป ซึ่งนั่นไม่ใช่สิ่งที่ครูอจายีหรือคนที่อยู่รอบตัวชาร์ลีต้องการ แต่สิ่งที่ทุกคนอยากให้ชาร์ลีทำคือ กล้าที่จะเป็นตัวเองและออกไปเผชิญหน้ากับความจริง 

เราไม่จำเป็นต้องทิ้งตัวตนเพื่อเติบโต ถ้าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่เราต้องการ แม้สภาพแวดล้อมและสังคมที่อยู่อาจบีบให้เราต้องทิ้งสิ่งนี้ไป 

ถึงสังคมจะไม่ใจดีกับการเติบโตของเรา ขอเพียงครอบครัวและคนในวงกลมเล็กๆ ของเราใจดี นั่นอาจจะเพียงพอที่จะทำให้การเติบโตนี้มีความสุขได้แล้ว

Writer
Avatar photo
นฤชล วรภัทรภวัน

นักศึกษาวิทยาศาสตร์ประกันภัย ที่กำลังค้นหาตัวเอง ผู้หลงรักในงานเขียน สนุกกับการได้นั่งฟังเรื่องราว เหมือนเราได้ไปท่องโลกอีกใบและหลงใหลชาเขียวเป็นชีวิตจิตใจ

Related Posts

Related Posts