‘หมอโอ๋’ เพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน : เด็กๆ กับโอกาสติดโควิด และการกลับไปโรงเรียนหนนี้ที่ไม่เหมือนเดิม
‘หมอโอ๋’ เพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน : เด็กๆ กับโอกาสติดโควิด และการกลับไปโรงเรียนหนนี้ที่ไม่เหมือนเดิม
- ต้องไปโรงเรียนไหม ลูกจะได้เจอเพื่อนก็จริง เเต่พ่อเเม่จะวางใจได้มากเเค่ไหน
- mappa สนทนากับ ‘หมอโอ๋’ ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น โรงพยาบาลรามาธิบดีเจ้าของเฟซบุ๊คแฟนเพจ ‘เลี้ยงลูกนอกบ้าน’เรื่องภาวะสะสมตลอดสองปีที่ผ่านมา สถานการณ์ปัจจุบันและความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าเมื่อเด็กๆ กลับไปโรงเรียน รู้ก่อนเพื่อรับมือก่อนในโลกที่ไม่เหมือนเดิม
- พ่อเเม่เเละโรงเรียนต้องยอมรับว่า “เด็กอาจจะติดโควิดและการกลับไปโรงเรียนหนนี้จะไม่เหมือนเดิม” สิ่งที่ต้องเตรียม คือ การเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กๆ
“ตอนนี้คลินิกหมอ คนไข้เยอะขึ้นมาก จากซึมเศร้า จากเรื่องที่เกิดขึ้นภายในบ้าน” คือสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นกับคลินิกวัยรุ่นของ ‘หมอโอ๋’ ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น โรงพยาบาลรามาธิบดี เจ้าของเฟซบุ๊คแฟนเพจ ‘เลี้ยงลูกนอกบ้าน’
“ไม่ใช่ว่าเราจะได้นักเรียนคนเดิมกลับคืนมา เเต่ได้นักเรียนที่ผ่านสมรภูมิบางอย่างมา” ส่วนนี่คือความเห็นจากหมอโอ๋ต่อสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้
“และเด็กๆ อาจจะติดโควิด” โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ยังไม่มีวัคซีนที่ปลอดภัยเพียงพอ
mappa สนทนากับคุณหมอโอ๋ เรื่องภาวะสะสมตลอดสองปีที่ผ่านมา สถานการณ์ปัจจุบันและความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าเมื่อเด็กๆ กลับไปโรงเรียน
รู้ก่อนเพื่อรับมือก่อนในโลกที่ไม่เหมือนเดิม คือหนึ่งในประเด็นสำคัญของงาน “1 วันสร้างสุขให้ลูกเปลี่ยน ปี 4 ตอน: เตรียมพร้อมกายใจลูกเจนอัลฟ่าสู่โลกที่ไม่เหมือนเดิม” ที่ mappa ร่วมกับ Nestle for Healthier Kids ประเทศไทย ชวนพ่อเเม่ทำกิจกรรมนอกจอทั้งครอบครัวผ่านร่วมเวิร์คชอปออนไลน์ในวันที่ 30 ตุลาคมนี้
พ่อแม่ ครอบครัว เด็กและโรงเรียน ต่างก็เป็นจิ๊กซอว์สำคัญในการรับมือหนนี้
ทุกฝ่ายต้องช่วยกันจริงๆ
“อย่าให้การกลับไปโรงเรียนหนนี้ของเด็กๆ เหมือนไปแข่ง Squid game” คุณหมอเปรียบเทียบ
วันเปิดเทอมที่ใกล้เข้ามา พ่อเเม่ต้องเตรียมตัวอย่างไร
เวลาเราอยู่กับกลัวมันเป็นสถานการณ์ที่เราควบคุมไม่ได้ เช่น ถ้าลูกติดโควิดจะเป็นอย่างไร หมอเเนะนำให้พ่อเเม่ลุกขึ้นมาทำสิ่งที่เราควบคุมได้ก่อน คือ ฉีดวัคซีนให้ทุกคนในบ้านเพื่อปกป้องตัวเองเเละสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็ก
สอนเด็กๆ เรื่องความสะอาดและสุขอนามัยต่างๆ ว่าถ้าไปโรงเรียนมีกติกาอะไรบ้าง ซึ่งทางโรงเรียนควรจะคุยกับเด็กก่อนให้เขาเห็นภาพล่วงหน้า เช่น จะมีการตรวจ Antigen Test ไม่ใช่ถึงหน้าโรงเรียนเเล้วให้ตรวจ ลูกจะไม่เข้าใจ รวมถึงเตรียมอุปกรณ์จำเป็น เช่น หน้ากาก เเอลกอฮอล์ สายคล้องที่ทำให้เด็กได้ใช้อุปกรณ์เหล่านี้บ่อยๆ หรือเเม้เเต่การสอนล้างมือบ่อยๆ ก็จะช่วยเรื่องความปลอดภัยให้ลูกได้
นอกจากเตรียมกายเเล้ว พ่อเเม่จะเตรียมใจลูกอย่างไร
เด็กมีหลากหลายมาก มีเด็กที่พร้อมจะพุ่งออกจากบ้าน กลัวการไปโรงเรียน หรือเด็กสายชิลที่ไปหรือไม่ไปก็ได้ เพราะฉะนั้นควรจะประเมินความรู้สึกของลูกว่าตัวเขามองอย่างไร กังวลอะไร ถ้าบางคนกลัวมาก เราก็ต้องทำให้เขากลับมาอยู่กับความจริง
ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาเราก็ทำให้โควิดดูน่ากลัว บางคนขู่ว่า ถ้าติดโควิดต้องถูกจับเเยกจากพ่อเเม่ซึ่งเป็นสิ่งที่เกินความจริง เเล้วทำให้เด็กกลัว มองโควิดว่าเป็นเเล้วเท่ากับตาย เป็นเเล้วเท่ากับถูกแยกจากพ่อแม่ ซึ่งจริงๆ เเล้วมันไม่ได้ขนาดนั้น
พ่อเเม่จึงต้องคุยสิ่งที่เป็นจริงกับเด็กว่า เด็กที่ติดโควิดเเล้วอาการไม่หนัก เหมือนไข้หวัดทั่วไป อาจคิดเป็นคำถามเเล้ว เล่นกับลูกก็ได้ โอกาสที่ลูกคิดว่าไปโรงเรียนเเล้วจะติดโควิดหรือเอาเชื้อมาติดตายายมีกี่เปอร์เซนต์ ให้ลูกชั่งน้ำหนักเอง จะทำให้เห็นว่าลูกกลัวเเค่ไหน บางทีเด็กรู้ว่ากลัว เเต่เขาไม่เห็นความกลัว สมมติกลัวเเต่เขาคิดว่ามี 5% โอกาสที่จะติด เราก็รู้เเล้วว่าความกลัวของลูกไม่ได้มากเกินไป เเต่ถ้าเขาคิดว่าจะติด 99% ก็ต้องชวนลูกคุยต่อ ชวนปรับวิธีคิด หรือซ้อมสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น เช่น เพื่อนวิ่งมากอดต้องทำอย่างไร
รวมถึงคอยสำรวจความเครียดของเด็ก ไม่ใช่คิดว่าลูกกลับไปโรงเรียนเเล้วจะมีความสุข เพราะเด็กบางคนเคยติดโควิดหรือโดนบูลลี่ ทำให้กลัวเเละเครียด พยายามหาเวลาคุยกับลูกในเเต่ละวัน วันนี้เรียนเป็นยังไง มีอะไรสนุกหรือมีความสุขที่สุดเรื่องอะไร มีเรื่องเเย่ๆไหม จะช่วยให้เข้าใจเเละสังเกตพฤติกรรมของเขาได้
ในมุมพ่อเเม่การส่งลูกไปโรงเรียนคือความหวังว่าลูกจะได้รับความรู้เชิงวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อลูกในอนาคต การตัดสินใจว่า ไม่ไปเรียนอาจจะกระทบต่อความรู้ของลูก พ่อเเม่จะช่วยลูกอย่างไร
หมอคิดว่าควรคุยกับโรงเรียน การเรียนที่โรงเรียนควรจะเป็นทางเลือก ไม่ใช่ว่าถ้าเด็กคนหนึ่งไม่ไปเรียนเเล้วเขาจะถูกตัดออกจากระบบ เช่น อาจมีกล้องที่ครูจะสร้างการมีส่วนร่วมกับเด็กในห้องเรียนเเละคนที่เรียนออนไลน์ที่บ้าน เพราะนักเรียนเเต่ละคนเเตกต่างกัน สิ่งนี้เป็นหน้าที่ของคนที่ให้ความรู้ คือ ต้องเข้าใจความเเตกต่างเเละตอบโจทย์เด็กที่หลากหลาย คล้ายๆ กับที่ผ่านมา เด็กเรียนออนไลน์เเต่ไม่มีเเท็บเล็ต โรงเรียนก็ต้องยอมเปิดโรงเรียนบางห้องให้เด็กมาเรียน
เเต่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทั้งพ่อเเม่เเละเด็กชินกับชีวิตการเรียนออนไลน์ เมื่อต้องกลับไปอีกครั้ง คุณหมอคิดว่าจะเป็นอย่างไร
เด็กจะไปโรงเรียนยากขึ้น โดยเฉพาะเด็กเล็กเพราะเขาอยู่กับเเม่มานานเเละคิดว่าบ้านคือพื้นที่ปลอดภัย ต้องยอมรับว่ามันจะเกิดขึ้นได้ เพราะอยู่ดีๆ เด็กถูกจับพรากกลับไปโรงเรียนซึ่งมันจะไม่สนุกเหมือนเดิม เเต่ก่อนยังไปเรียนเพราะจะได้เจอหรือเล่นกับเพื่อน เเต่ตอนนี้ต้องนั่งเเยกกับเพื่อน ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้เด็กรู้สึกว่า เขาไม่อยากออกจากบ้าน พรากจากพ่อเเม่ เพราะไปโรงเรียนกฎระเบียบเต็มไปหมด ต้องใส่เเมสก์ เเล้วไม่สนุกเลยสำหรับเด็ก
เพราะฉะนั้นพ่อเเม่ต้องคุยกับลูกว่าจะเกิดไรขึ้น มันจะไม่เหมือนเเต่ก่อน พูดถึงสิ่งดีที่จะเกิดขึ้น เช่น มีกิจกรรม มีสนามเด็กเล่น ได้วิ่งเล่นที่สนาม ให้เขาอยากจะไปโรงเรียนเเละสร้างความมั่นคงทางจิตใจ บอกเวลาไปรับแน่นอน ทำให้เด็กมั่นคงเเละเชื่อถือได้ว่า การไปโรงเรียนไม่ใช่เรื่องน่ากลัว
เมื่อตัดสินใจให้ลูกไปโรงเรียน พ่อเเม่ต้องเตรียมตัวเตรียมใจอย่างไรบ้าง
เตรียมใจว่าลูกอาจจะมีพัฒนาการถดถอยได้ เช่น แต่ก่อนอยู่บ้านกินข้าวเอง ไปโรงเรียนเรียนก็ไม่กิน กลับมาบ้านต้องให้แม่ป้อน ยอมรับว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้เพราะว่าเด็กรู้สึกว่าเขาใช้พลังงานไปกับสิ่งที่ต้องต่อสู้เยอะ กลับมาก็อยากถูกดูแล อยากรู้สึกว่าเเม่ยังรักเหมือนเดิม ไม่ได้เอาไปทิ้งโรงเรียน
เด็กหลายคนเครียด กังวล เศร้า เเละร้องไห้ เเต่จะเกิดนานเเค่ไหนขึ้นอยู่กับศักยภาพการปรับตัวของเด็กเเละการช่วยเหลือของพ่อเเม่ด้วยว่าเตรียมดีเเค่ไหน เตรียมดีหมายถึงพ่อเเม่ทำให้เขารู้สึกว่าไปอยู่ที่โรงเรียนเขาก็ยังจัดการตัวเองได้ในตารางเวลาของตัวเอง เข้าห้องน้ำเองได้ สามารถสื่อสารกับครูได้ เด็กที่มีทักษะการจัดการตัวเองจะไปโรงเรียนได้ดีกว่าเด็กที่ต้องคอยให้พ่อเเม่หรือผู้ใหญ่เข้ามาช่วยทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน พอถึงเวลาไปโรงเรียนก็ต้องจัดการตัวเองใหม่ ถ้าเขาไม่รู้สึกไม่มั่นคงก็จะปรับตัวยาก
การเตรียมทำให้ลูกพร้อม ช่วยตัวเองได้ ใส่รองเท้าเอง กินน้ำจากกระติกเอง กินข้าวเอง เข้าห้องน้ำเอง ถ้าเขาทำตรงนี้ได้ เขาจะไปโรงเรียนได้ง่ายขึ้น
เด็กจะรู้สึกผ่อนคลายเมื่ออยู่ในพื้นที่ปลอดภัย โรงเรียนควรจะเป็นพื้นที่ปลอดภัย เเต่ขณะเดียวกันในใจเด็กก็ต้องปลอดภัย ทำอย่างไรดี
สำหรับหมอ ความปลอดภัยข้างนอกไม่ยาก เพราะสุดท้ายเด็กจะปรับตัวได้ เเต่ความรู้สึกภายในน่าจะยากกว่า เนื่องจากไม่รู้ว่าเขาคิดเเละรู้สึกอะไร เเต่ถ้าโรงเรียนพัฒนาระบบชวนเด็กคุยเรื่องความกลัว เช่น ชวนเล่นเกมวัดระดับความกลัว 0-10 ว่าใครอยู่ตรงไหน เพื่อให้เด็กได้เเสดงอารมณ์ของตัวเองออกมา
เวลาที่มีใครเข้าใจความรู้สึก รับรู้หรือรับฟังความเครียดเเละความกลัวของเรา ความมั่นคงภายในก็จะดีขึ้น เพราะช่วงโควิดเด็กหลายคนสูญเสียพ่อเเม่ พ่อเเม่ตกงาน บางคนถูกเเยกจากพ่อเเม่ หรือพ่อเเม่ทะเลาะกัน ดังนั้นโรงเรียนจึงต้องตระหนักเเละสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับพวกเขา
โรงเรียนจะเข้ามาสนับสนุนพื้นที่ทางใจของเด็กได้อย่างไร
โรงเรียนควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยเเละรับรู้ว่าเราอาจจะไม่ได้นักเรียนคนเดิมกลับมา เราอาจจะสังเกตเขาทุกวัน เขาหายไปเป็นปี พอกลับมามันมีผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโควิดไม่เหมือนกัน อย่างน้อยถ้าเรามี session ให้เด็กๆ ได้เล่า วาดรูป หรือให้เขาระบายความรู้สึกผ่านงานศิลปะ เล่น role play ว่า โควิดกระทบยังไงกับชีวิตเขาบ้าง โรงเรียนจะเป็นพื้นที่ที่เราได้เห็น รับฟัง เพราะบางทีเขาไม่มีโอกาสส่งเสียง ไม่รู้ หรือไม่มีพื้นที่ให้เขาถ่ายทอดความรู้สึกนั้นออกมา
มองอีกมุมหนึ่งโรงเรียนจะได้เป็นพื้นที่ช่วยเหลือเด็กจำนวนมาก เพราะมีเด็กกลุ่มนี้เยอะจริงๆ ตอนนี้คลินิกหมอ คนไข้เยอะขึ้นมาก จาก depression ซึมเศร้า จากเรื่องที่เกิดขึ้นภายในบ้าน
ขณะเดียวกันความหวังของพ่อเเม่สูงขึ้นเมื่อการเปิดเรียนใกล้เข้ามา โรงเรียนควรจะตั้งรับกับสถานการณ์นี้อย่างไร
หมอคิดว่าควรมีสัปดาห์ transition คือสัปดาห์การปรับตัว เพราะเราไม่สามารถให้เด็กเรียนได้ทันที ครูต้องสร้างการมีส่วนร่วมเเละเชื่อมความสัมพันธ์ใหม่ เเละต้องเตรียมว่าเราจะเจอเด็กจำนวนหนึ่งที่ไม่เรียน เพราะการกลับมาโรงเรียนเขาอาจจะตื่นเต้นมากไปกับสภาพแวดล้อมใหม่ๆ เพื่อนที่ไม่ได้เจอกันนาน เเละอาจจะไม่ได้โฟกัสไปที่การเรียน สิ่งที่จะช่วยได้ คือ ปล่อยให้เด็กทำกิจกรรมที่ให้เขาปลดปล่อยพลัง สอดเเทรกบทเรียนไปในกิจกรรมเหล่านั้น ให้เด็กๆ คุยกัน
โรงเรียนอาจจะเจอเด็กที่ติดหน้าจอ ต้องบอกลาหน้าจอที่เขาเล่นอยู่เดิม เขาจะหงุดหงิดหรือเบื่อ โรงเรียนก็ต้องเตรียมว่าจะรับมือกับเด็กกลุ่มนี้อย่างไร
สองปีที่ผ่านมา ความหมายของการเรียนเปลี่ยนไปจากเดิม การเรียนรู้อาจไม่จำเป็นต้องเกิดที่โรงเรียน ส่วนตัวคุณหมอเอง คำว่า ‘เรียน’ น่าจะหมายถึงอะไร
การเรียนน่าจะเป็นเรื่องการเรียนรู้ การสร้างทักษะใหม่ๆ ที่เด็กๆ เอาไปใช้หาองค์ความรู้หรือนำไปต่อยอดในการทำเป้าหมายให้สำเร็จ สมัยก่อนลูกหมอเคยถามว่า ทำไมเราต้องเรียนคณิตเพราะเครื่องคิดเลขก็มี เพราะเขาไม่เข้าใจว่าทำไมต้องทำสิ่งที่ยากในเมื่อมีสิ่งที่ง่ายกว่า
เเต่ถ้าพ่อเเม่บอกว่าการเรียนไม่ใช่เพื่อทำได้ เเต่เป็นการฝึกวิธีคิดที่หลากหลาย การเรียนเลขของหนู ทำให้เซลล์ประสาทโตเเละมีทักษะการต่อยอดมากกว่าแค่การบวกเลขได้เท่านั้น เขาจะเห็นคุณค่าการเรียนสร้างประสบการณ์มากกว่าเเค่การทำได้
ตอนนี้พ่อเเม่ยอมเเพ้เเล้ว ไม่สามารถบังคับลูกให้เรียนออนไลน์ได้ บางครั้งลูกหลุดโฟกัสไปสนใจสิ่งอื่น พ่อเเม่ควรจะเข้าไปห้ามหรือสังเกตลูกอย่างไรเพื่อดึงเขากลับสู่ห้องเรียน
จริงๆ เด็กที่ออกไปดูอย่างอื่นระหว่างเรียน ส่วนหนึ่งมี mental flexibility ที่โอเคนะ คือเเทนที่จะปิดหน้าจอเเล้วลุกเดินออกไป คือ คุณยังยอมที่จะนั่งอยู่ตรงนั้น เเต่ขอดูหน่อยให้เรียนต่อได้ ซึ่งมันเป็นเรื่องธรรมดา เเต่ไม่ได้เเปลว่าจะปล่อยให้มันเกิดขึ้นโดยไม่ทำอะไร
เราก็ยอมรับว่ามันเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ เด็กไม่สามารถนั่งเรียนได้ตลอด เราเป็นผู้ใหญ่นั่งประชุมออนไลน์เราก็ทำอย่างอื่น ถ้าเราเจอก็ควรจะทักว่าทำอะไรอยู่ให้เขากลับมา เเต่ไม่เข้าไปโวยวายหรือรู้สึกผิดหวังว่าทำไมลูกไม่ตั้งใจเรียน เเทนที่จะด่าก่อน เเต่ชวนตั้งคำถามให้เขารู้ว่าเราเห็น โดยไม่พยายามทำให้เขาโกหก เเต่ช่วยให้รู้ตัว เเล้วรับผิดชอบตัวเองได้
การปรับตัวในรอบสองปีที่ผ่านมาจะเปลี่ยนรูปเเบบการสอนหรือบรรยากาศในห้องเรียนไปในทิศทางไหน
ในสถานการณ์การเรียนออนไลน์ หมอคิดว่าครูน่าจะปรับตัวได้มากขึ้นจากการปรับรูปเเบบการสอน ถ้าครูได้เรียนรู้ ครูจะรู้ว่า การสร้างห้องเรียนที่มีชีวิต ดึงความสนใจเเละการมีส่วนร่วมกับเด็กมากขึ้น โดยสามารถนำไปปรับกับห้องเรียนก็น่าจะทำให้ประสิทธิภาพในการเรียนการสอนดีขึ้น รวมถึงเรื่องการสอบด้วย ที่ผ่านมาเราสามารถประเมินเด็กได้โดยไม่ต้องสอบเเต่วัดด้วยกิจกรรมบางอย่างเเทน
เมื่อเป็นเเบบนี้ ห้องเรียนยังจำเป็นไหม
สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับ คือ การเรียนออนไลน์ไม่มีพลังกลุ่ม ถึงครูจะสอน เเต่เด็กต้องใช้พลังสูงมากที่จะโฟกัสกับการสอนครู เเต่เวลาอยู่ในห้องเรียนมันมีพลังงานขับเคลื่อนกันเเละกัน เพื่อนทำฉันทำ ฉันไม่รู้เรื่องก็หันไปดู ไม่มี creativity ก็เห็นคนอื่นเเละต่อยอดเป็นงานตัวเอง เเต่ออนไลน์ต้องนั่งทำคนเดียว รวมถึงไม่มีทักษะการทำงานเป็นทีม มีโปรเจ็กต์ที่ทำร่วมกัน ทำงานด้วยกัน ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญ
ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมก็เป็นสิ่งที่ห้องเรียนต้องการ และเป็นทักษะที่เด็กๆ จำเป็นต้องมีการเรียนออนไลน์มันดึงพลังเด็กเยอะมาก จนทำให้เด็กหลุดโฟกัส เพราะฉะนั้นการช่วยให้เด็กโฟกัสได้ง่ายในห้องเรียน ห้องเรียนก็ยังตอบโจทย์อยู่
ถามถึงอนาคต ในมุมมองของคุณหมอความท้าทายที่จะเกิดขึ้นคืออะไร
หมอว่าความท้าทายที่จะเกิดขึ้น คือ ลูกอาจติดโควิดเเล้วเขาจะรู้สึกผิด กลายเป็นเเพนิกเเละบาดเเผลในโรงเรียน
สิ่งสำคัญที่พ่อเเม่ต้องเตรียม คือ ลูกเราอาจติดโควิดได้เเละไม่ได้เป็นความผิด ไม่ได้มาจากที่เราทำตัวไม่ดี ประมาท ไม่ระวัง ด้วยความเป็นเด็ก อย่างไรก็มีโอกาสติดได้ เพราะร่างกายไม่มีภูมิคุ้มกัน หรือบางทีก็มีพลั้งเผลอ ทำอย่างไรให้ลูกเราเป็นคนสร้างบรรยากาศที่ไม่ตีตรากัน พูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมาว่า โควิดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ไม่ได้เป็นความผิดใคร ถ้าลูกติดโควิดเป็นสิ่งที่พ่อเเม่ต้องยอมรับเเละช่วยเหลือกัน
ในทางปฏิบัติจริง การบอกลูกว่า “ติดโควิดไม่ได้ผิด” จะช่วยลดการที่ลูกเราจะไปบูลลี่คนอื่นได้ไหม
ขึ้นอยู่กับวิธีสื่อสาร ถ้าเราบอกลูกตรงๆ ว่า ติดโควิดไม่ผิดนะ เด็กไม่เข้าใจ ไม่อิน ไม่เข้าไปข้างในใจ เเต่ถ้าเราสื่อสารด้วยการสร้างสถานการณ์ เช่น ในห้องเรียนมีเพื่อนติดโควิดเเล้ววันต่อมาเพื่อนอีกคนติด ชวนถอดบทเรียนว่า เขาจะรู้สึกอย่างไร ให้เด็กๆ ลองเข้าไปในจิตใจของคนๆ นั้น คุยเรื่องความรู้สึก เรื่องสิ่งที่เขาต้องเจอ คิดว่าเขาต้องเจออะไรบ้าง เช่น เขาไม่ได้ไปโรงเรียน ต้องไปตรวจ ต้องไปกักตัว สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิด emphathy เเละเด็กน่าจะเข้าใจ
เเล้วพ่อเเม่จะสร้างสภาพเเวดล้อมที่ไม่ตีตรากันได้อย่างไร
สิ่งที่เราต้องคิดต่อ คือ จะช่วยเหลือเด็กที่ติดโควิดหรือโดนบูลลี่ได้อย่างไร เช่น ตอนหมอจะเปิดเผยว่าติดโควิดก็คุยกับลูก ซึ่งเป็นบทเรียนที่ดีมาก เพราะลูกพูดออกมาเลยว่า เขาไม่อยากบอกใคร กลัวเพื่อนจะล้อ ซึ่งตอนนั้นโชคดีมันอยู่ในช่วงเรียนออนไลน์ ลูกไม่ได้ใกล้ใครเเละยังเรียนได้เหมือนเดิม แต่เราก็คุยกันไปจนถึงทำไมเราต้องปกปิด การเป็นโควิดมันน่าอายยังไง การเปิดเผยตัวตนจริงๆ ดีกับเราและคนรอบข้างอย่างไร จนสุดท้ายลูกเค้าก็โอเคที่จะเปิดเผยตัวตน
เเต่ตอนนี้พอเป็นการกลับไปโรงเรียน มันจะสร้างปมในใจ เพราะเขาอาจทำให้เพื่อนต้องหยุดเรียน ห้องเรียนถูกปิด เพื่อนบางคนอาจจะล้อ สิ่งเหล่านี้พ่อเเม่ เเละโรงเรียนจะต้องเตรียมไว้ว่า มีโอกาสที่อาจมีใครติดโควิดจากที่บ้าน จากโรงเรียน หรือเพื่อนเล่นกัน เเต่ให้เข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้
เเละเมื่อเกิดขึ้นเเล้ว จะต้องสอนให้เขาเข้าใจเเละห่วงใยคนอื่น สมมติเราติดโควิด ทำให้เพื่อนคนหนึ่งต้องไปตรวจ พ่อเเม่ควรสอนว่าถ้าเป็นเค้า เค้าอยากให้เพื่อนทำอย่างไร อาจชวนคุยถึงวิธีการ เช่น ส่งข้อความหาเพื่อนเพื่อเเสดงความห่วงใย เเละคิดว่านี่คือสิ่งที่ต้องเตรียมเพื่อให้ลูกรับรู้ว่า คนติดโควิดไม่ใช่คนผิด เเต่เขาคือเด็กที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน ต่อให้ระวังดีอย่างไร มนุษย์ทุกคนก็ผิดพลาดได้
เตรียมสนทนาทุกเรื่องกับ ‘หมอโอ๋’ ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่นโรงพยาบาลรามาธิบดีฯ และเจ้าของเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน พร้อมกับลงมือทำกิจกรรมสนุกๆ เสริมสร้างพลังความ แข็งแรงทั้งภายนอกและภายในให้ลูกๆ ร่วมกันในงาน “1 วันสร้างสุขให้ลูกเปลี่ยน ปี 4 ตอน: เตรียมพร้อมกายใจลูกเจนอัลฟ่าสู่โลกที่ไม่เหมือนเดิม” เวิร์คชอปออนไลน์ที่ชวนลงมือทำกิจกรรมนอกจอทั้งครอบครัว ในวันเสาร์ที่ 30 ตุลาคม 2564 เวลา 10.00-16.00 น. ทาง Zoom Application เปิดลงทะเบียน ฟรี! วันนี้-26 ตุลาคมนี้ รับจำนวนจำกัด 200 ครอบครัว ลงทะเบียนร่วมงานที่ https://bit.ly/3uV28gA และเข้าร่วม Facebook Group: 1 วันสร้างสุขให้ลูกเปลี่ยน By Nestlé ที่ https://bit.ly/3Dc8ew3 เพื่อเตรียมพร้อมทั้งกายและใจอย่างเต็มที่ก่อนวันงาน |
Writer
tippimolk
คุณแม่ลูกหนึ่งซึ่งคลุกวงในงานข่าวมาหลายสิบปี เพิ่งมาค้นพบตัวเองไม่กี่ปีมานี้ว่าอินกับงานด้านเด็ก ครอบครัว และการศึกษามากเป็นพิเศษ จึงเป็นเหตุให้มาร่วมสร้างแผนที่การเรียนรู้อย่าง mappa
Photographer
ณัฐชานันท์ กล้าหาญ
นักแปล นักเขียน ช่างภาพสาว ผู้ทำงานประจำอยู่ 6 เดือนและไม่ทำอีกเลย ซึ่งคิดว่าคงเป็นอย่างนี้ตลอดไป หาตัวได้แถวเชียงใหม่และบางแค หัวบันไดไม่เคยแห้งเพราะจ้างร้อยแต่ให้มาล้านทั้งปริมาณภาพ ความยาวของเนื้อหาและพาดหัว ไม่เคยมีคำว่าน้อยแต่มาก มีแต่คำว่ามากแต่มากกว่า
illustrator
กรกนก สุเทศ
เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง