5 ความกังวลใจเมื่อลูกกลับไปโรงเรียน แก้ได้…ไม่ต้องกลัวนะ

5 ความกังวลใจเมื่อลูกกลับไปโรงเรียน แก้ได้…ไม่ต้องกลัวนะ

  • โรงเรียนในวันที่กลับมาเปิดเทอมแบบออฟไลน์ตามปกติจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ ลูกจะไม่มีความกลัวอยู่เลยหากเขามั่นใจ และคนสำคัญที่สุดที่จะช่วยสร้างความมั่นใจให้เขาได้คือพ่อแม่
  • พ่อแม่แค่คอยสังเกต รับฟัง และแนะนำอยู่ใกล้ๆ ให้ลูกได้มีสังคม มีเพื่อน ได้เล่นซนอย่างสนุกสนานให้เต็มที่ เพราะนี่คือสิ่งที่เขาสมควรได้รับหลังขาดๆ หายๆ มาร่วมสองปี 
  • ถ้าเขาไม่อยากบอกจริงๆ อย่าบีบให้เขาพูด และไม่ต้องสั่งสอนในเชิงบังคับ ว่าทำไมไม่ทำอย่างนั้น ทำไมไม่แก้ปัญหาแบบนี้ บางทีเขาอาจจะอยากได้แค่กอดเบาๆ หนึ่งทีที่อบอุ่น หรือไหล่ไว้หนุนยามเหนื่อย เป็นเหมือนพื้นที่ปลอดภัยที่หาที่ไหนไม่ได้นอกจากที่บ้าน

“ลูกจะปรับตัวได้ไหม เมื่อต้องกลับไปโรงเรียน”

ไม่แปลกที่ความกังวลจะเกิดขึ้นกับคนเป็นพ่อแม่ เพราะสถานการณ์ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาเปลี่ยนโฉมโลกใบเดิมจนแทบไม่เหลือเค้าเก่า บีบบังคับให้ทั้งตัวเราและตัวลูกต้องปรับตัวเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับทุกๆ ปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า

แต่ขนาดตัวพ่อแม่เองยังทำได้ยากเลย แล้วลูกจะรับไหวไหม ในเมื่อปัญหาที่อาจเกิดก็มีได้ล้านแปด ทั้งเรื่องทางกายและใจ โลกจะเปลี่ยนไวจนลูกเติบโตตามไม่ทันหรือเปล่า

ความกังวลนี้มีอยู่แทบทุกบ้าน แต่คำถามสำคัญกว่านั้นคือกังวลแล้วทำอย่างไรต่อ และจะปลดล็อกความกังวลในใจได้อย่างไร 

ปัญหานี้แก้ได้แค่เริ่มจากต้องไม่กลัว จูงมือลูกเดินหน้าไปเผชิญกับโลกที่ไม่เหมือนเดิมพร้อมกันด้วยความเข้าอกเข้าใจดีกว่า ทำให้เขาอุ่นใจให้ได้ว่า ไม่ว่าจะเจออะไรก็จะยังมีเราอยู่ข้างๆ เสมอ

โรงเรียนในวันที่กลับมาเปิดเทอมแบบออฟไลน์ตามปกติจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ ลูกจะไม่มีความกลัวอยู่เลยหากเขามั่นใจ และคนสำคัญที่สุดที่จะช่วยสร้างความมั่นใจให้เขาได้คือพ่อแม่

และเพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะทั้งลูกและเราจะพร้อมจริงๆ ในการออกไปสู่โลกที่ไม่เหมือนเดิม mappa จึงร่วมกับ Nestlé for Healthier Kids TH ชวนพ่อเเม่และลูกมาเตรียมตัวให้พร้อมไปด้วยกันในงาน

“1 วันสร้างสุขให้ลูกเปลี่ยน ปี 4 ตอน: เตรียมพร้อมกายใจลูกเจนอัลฟ่าสู่โลกที่ไม่เหมือนเดิม”​

เวิร์คชอปออนไลน์ครั้งแรกในไทยที่ชวนลงมือทำกิจกรรมนอกจอทั้งครอบครัว เพื่อเสริมสร้างสุขภาพกายและใจให้พร้อมเผชิญหน้ากับหลายๆ ปัญหาที่รออยู่ในอนาคตอันใกล้อย่างแข็งแกร่ง ทั้งร่างกายและจิตใจ 

พร้อมพูดคุย Exclusive กับวิทยากรพิเศษ:

-ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร ‘หมอโอ๋’ เพจ ‘เลี้ยงลูกนอกบ้าน’ เพื่อเตรียมพร้อมกายใจอย่างเหมาะสมกับพัฒนาการด้วยจิตวิทยาเชิงบวก ทั้งตัวพ่อแม่และลูก

-อาจารย์รณสิงห์ รือเรือง นักจิตวิทยาคลินิก ระดับชำนาญการพิเศษ สนทนา ในเรื่องโภชนาการและสารอาหารเพิ่มภูมิคุ้มกัน สิ่งสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ในการเตรียมพร้อมลูก

ร่วมเดินทางใน 1 วันที่จะสร้างสุขให้ทั้งครอบครัวไปด้วยกัน ในวันเสาร์ที่ 30 ตุลาคม 2564 เวลา 10.00-16.00 น. ทาง Zoom Application

เปิดลงทะเบียน ฟรี! วันนี้-26 ตุลาคมนี้

รับจำนวนจำกัด 200 ครอบครัว

ลงทะเบียนร่วมงานที่ https://bit.ly/3uV28gA

และเข้าร่วม Facebook Group 1 วันสร้างสุขให้ลูกเปลี่ยน By Nestlé เพื่อเตรียมพร้อมทั้งกายและใจอย่างเต็มที่ก่อนวันงาน

อ่านรายละเอียดทั้งหมดของกิจกรรมได้ที่ https://bit.ly/3DjiKlb

กลัวลูกติดจอ

“ลูกเอาแต่เล่นไอแพดทั้งวัน มันจะทำให้ลูกห่างเหินจากพ่อแม่หรือเปล่าคะ”

“โซเชียลมีเดียจะมีผลกับเด็กมากเกินไปหรือเปล่า”

“ลูกติดเกม ติดดู Youtube เขาจะเลียนแบบพฤติกรรมก้าวร้าวแบบในจอไหมคะ”

“เพ่งมองจอนานๆ ลูกจะสายตาเสียก่อนวัยหรือเปล่านะ”

ยอมรับกันก่อนว่าพ่อแม่เองก็ติดมือถือเหมือนกัน ในเมื่อโลกยุคดิจิทัลมันค่อยๆ ย่อลงมาจนแทบจะเล็กเท่าหน้าจอสี่เหลี่ยมในมือแล้ว ถ้าไม่ให้ลูกรู้จักวิธีเล่นและเรียนผ่านสิ่งนี้ เขาก็คงจะกลายเป็นคนตกยุค ล้าสมัย ไม่ทันเพื่อน

แน่นอนว่าความพอดีเป็นสิ่งสำคัญ และทุกๆ ปัญหาข้างต้นก็เริ่มแก้ได้ที่การแบ่งเวลาให้ดี 

แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้เวลาคือความเข้าใจ พ่อแม่ต้องเอาความกังวลไปวางไว้ไกลๆ ก่อน แล้วนั่งลงใกล้ๆ ลูก ถามว่าเขากำลังดูหรือเล่นอะไรในจอ ทำไมถึงสนใจสิ่งนั้น รับฟังและแนะนำให้เขาเห็นถึงข้อดีข้อเสียของมัน หลีกเลี่ยงคำว่าห้าม แต่ใช้วิธีถามกลับ

อ๋อ ดูซีรีส์เรื่องนี้อยู่เหรอ สนุกไหม? หรือเล่นเกมนี้ถึงด่านไหนแล้ว ผ่านได้หรือเปล่า? 

ในหน้าจอไม่ได้มีแต่เรื่องไร้สาระหรือความก้าวร้าวเสมอไป จริงๆ ต้องบอกว่าทุกๆ อย่างแทบจะเข้ามาอยู่ในหน้าจอหมดแล้ว นี่คือโลกในปัจจุบันของลูกที่ไม่เหมือนโลกที่พ่อแม่โตมาในวัยเด็ก ปล่อยให้เขาเติบโตอย่างเป็นธรรมชาติและคอยอยู่ข้างๆ เขา เพื่อก้าวเข้าสู่โลกยุคดิจิทัลไปพร้อมกัน

ลูกคงไม่ลืมหน้าพ่อแม่หรอก หากอีกมือที่เขาไม่ได้ถือไอแพด มีมือของพ่อแม่กุมอยู่ด้วยความเข้าใจ

กลัวลูกป่วยง่าย

“เชื้อโรคใหม่ๆ เกิดขึ้นรายวัน จะป้องกันลูกไม่ให้ป่วยยังไงดี”

“ลูกไอหรือจามทีก็กลัวว่าจะเป็นมากกว่าไข้หวัดธรรมดา”

“กลับไปโรงเรียน เจอคนเยอะๆ จะวางใจได้แค่ไหนว่าลูกจะไม่ติดโควิด”

“ต้องนั่งเรียนออนไลน์ทั้งวัน แทบไม่ได้ออกกำลังกายเลย จะมีผลต่อพัฒนาการด้านร่างกายไหม” 

เมื่อเลี่ยงไม่ได้ที่ลูกจะต้องออกไปเจอผู้คน สิ่งที่พ่อแม่ทำได้คือเตรียมพร้อมตั้งแต่ในบ้าน ถ้าสามารถจัดการให้ทุกคนในครอบครัวได้ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มได้ก็ควรทำ ถ้ายังไม่ได้ฉีด ก็ต้องแนะนำลูกให้รู้จักระวังตัวเอง สอนเรื่องความสะอาดและสุขอนามัยต่างๆ  อย่างน้อย ถ้าป่วยขึ้นมาจริงๆ จากหนักจะได้ผ่อนเป็นเบา

ทั้งนี้ ควรแนะนำด้วยความจริง ไม่ตื่นตระหนกเกินเหตุ ถ้าเห็นลูกจามก็อย่าเพิ่งคิดมากไปก่อนว่าเป็นโควิด 

หรือถ้าอยากอุ่นใจจริงๆ ว่าลูกจะมีร่างกายที่แข็งแรงและห่างไกลโรค ลองสละเวลาวันละครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง ชวนลูกลุกขึ้นมาขยับร่างกายภายในบ้าน คิดเกมหรือกิจกรรมสนุกๆ ขึ้นมาเล่นด้วยกัน โดยอาจจะมีของรางวัลเล็กๆ มอบให้หลังจบเกมเพื่อให้ลูกมีแรงจูงใจในการเล่นตั้งแต่ต้นจนจบ 

สิ่งนี้อาจไม่ใช่วิธีช่วยแบบตรงๆ ให้ลูกห่างไกลโควิด แต่อย่างน้อยร่างกายเขาก็จะฟิต พร้อมออกไปวิ่งเล่นอย่างสนุกสนานได้ตามประสา โดยไม่มีความเจ็บป่วยออดแอดมากวนใจ

กลัวลูกอ้วน

“ลูกกินขนมเยอะมากระหว่างเล่นคอมจนอ้วนแล้วค่ะ ทำยังไงดีคะ”

“พอไม่ได้ออกไปไหน ก็เอาแต่กินๆ นั่งๆ นอนๆ มันจะไม่ดีต่อสุขภาพลูกในระยะยาวใช่ไหม”

“อยู่บ้าน ลูกก็สั่งแต่อาหารจังก์ฟู้ดมากินเพลินเลย ต้องทำยังไงให้เขาหันมากินอาหารที่มีประโยชน์คะ”

อย่าปฏิเสธเลยว่าความสุขกับการกินไม่ใช่ของคู่กัน ไม่ใช่แค่ลูกหรอก  ทุกคนก็อยากปรนเปรอตัวเองหลังจากทำงานมาเหนื่อยๆ ทั้งวันด้วยมื้ออาหารที่แสนสุขสันต์เหมือนกัน

แต่กินมากไปก็คงทุกข์กายและใจในภายหลังอีก แล้วจะทำอย่างไรดีให้มันสมดุลทั้งพุงและใจ 

ถ้าอย่างนั้น ก็ลองชวนมาเข้าครัวด้วยกัน แล้วลองทำเมนูเดิมแบบใหม่ที่ทั้งอร่อยและเฮลท์ตี้ เช่นไม่เคยใส่ผักในจานนี้เลยเพราะรู้ว่าลูกไม่ค่อยชอบ ลองหาผักที่มีสีสันสดใส เวลาวางบนจานจะได้มีหน้าตาสวยงามน่ากิน 

แรกๆ อาจจะลองผิดมากกว่าถูกก็ได้ ค่อยๆ ปรับสูตรไปกับลูก พร้อมกับเล่าระหว่างทำให้ลูกรู้จักทั้งประโยชน์และโทษของสิ่งที่กิน 

ถึงตอนนั้น ไม่ต้องอินกับการลดน้ำหนักก็ไม่เป็นไร ถ้าลูกรู้ว่าอะไรที่กินแล้วอ้วนก็ควรกินแค่พอประมาณ

 

ลัวลูกเข้ากับเพื่อนไม่ได้

“ลูกจะลืมทักษะการเข้าสังคมหรือเปล่าคะ เพราะอยู่แต่บ้านนานเกินไป”

“พัฒนาการด้านอารมณ์เขาจะบกพร่องหรือเปล่า”

“วิ่งเล่นกับเพื่อน มีโอกาสที่ลูกจะติดโควิดไหม เราจะรู้ได้ยังไงว่าเด็กๆ รู้จักการป้องกันตัวเอง”

“เพื่อนจะลืมหน้าลูกไปแล้วหรือเปล่า กลับไปโรงเรียนจะมีใครคบอยู่ไหม”

ทักษะการเข้าสังคมเป็นสิ่งที่สอนอย่างไรก็ไม่ได้ผลเท่าปล่อยให้ลูกได้เจอและรู้เอง วิธีที่เขามีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง การเล่น การพูดจา ทั้งหมดจะเป็นไปเองโดยธรรมชาติ 

พอต้องเรียนออนไลน์อยู่บ้านนานๆ ไม่ได้เจอหน้าเพื่อนจริงๆ ทักษะเหล่านี้ก็อาจจะพัฒนาได้ยากขึ้นหน่อย และเมื่อกลับไปเจอกันที่โรงเรียน ก็คงต้องใช้เวลาสักพักกว่าอะไรๆ จะกลับมาต่อติด

แรกๆ ก็คงมีบ้างที่ลูกจะกลับบ้านมาแล้วเล่าให้พ่อแม่ฟังว่าเข้ากับเพื่อนคนนั้นไม่ได้ หรือมีปัญหากับกับเพื่อนคนนี้ แต่เชื่อเถอะ เมื่อลูกได้อยู่กับเพื่อนบ่อยขึ้น เขาก็จะค่อยๆ ปรับตัวได้เองตามธรรมชาติ เรื่องนี้เด็กเก่งกว่าผู้ใหญ่เยอะ 

พ่อแม่แค่คอยสังเกต รับฟัง และแนะนำอยู่ใกล้ๆ ให้ลูกได้มีสังคม มีเพื่อน ได้เล่นซนอย่างสนุกสนานให้เต็มที่ เพราะนี่คือสิ่งที่เขาสมควรได้รับหลังขาดๆ หายๆ มาร่วมสองปี 

กลัวลูกเครียด แต่ลูกไม่กล้าบอก

“ลูกดูเก็บตัว ไม่ค่อยพูด ดูเครียดๆ แต่ไม่ยอมบอกว่าเครียดเรื่องอะไร ทำยังไงดี”

“หลังๆ ลูกดูเจ้าอารมณ์ขึ้น เป็นเพราะความเครียดสะสมหรือเปล่านะ”

“เรียนออนไลน์เสร็จ ลูกจะชอบอยู่เงียบๆ คนเดียวในห้อง ไม่รู้เป็นอะไร ใช่ซึมเศร้าไหมคะ”

“เห็นลูกตั้งสเตตัสว่าเครียด ไม่รู้สาเหตุเป็นเพราะเราหรือเปล่า”

ปัญหาภายนอก ยากแค่ไหนก็ยังไม่ยากเกินแก้ แต่ปัญหาภายในจิตใจนี่สิ บางทีถ้าลูกไม่บอกหรือแสดงออก พ่อแม่ก็ไม่รู้จริงๆ ว่าเขากำลังคิดอะไร รู้สึกอย่างไร กำลังหนักอกหนักใจเรื่องอะไรอยู่หรือเปล่า – แล้วเราจะช่วยลูกแก้ปัญหานี้อย่างไรดี

‘หมอโอ๋’ ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร เจ้าของเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน แนะนำว่าถ้าลูกไม่บอก พ่อแม่ก็ต้องคอยถามอยู่ตลอดว่าลูกยังโอเคไหม

“พยายามหาเวลาคุยกับลูกในเเต่ละวัน วันนี้เรียนเป็นยังไง มีอะไรสนุกหรือมีความสุขที่สุดเรื่องอะไร มีเรื่องเเย่ๆ ไหม จะช่วยให้เข้าใจเเละสังเกตพฤติกรรมของเขาได้” 

หรือถ้าเขาไม่อยากบอกจริงๆ อย่าบีบให้เขาพูด และไม่ต้องสั่งสอนในเชิงบังคับ ว่าทำไมไม่ทำอย่างนั้น ทำไมไม่แก้ปัญหาแบบนี้ บางทีเขาอาจจะอยากได้แค่กอดเบาๆ หนึ่งทีที่อบอุ่น หรือไหล่ไว้หนุนยามเหนื่อย 

เป็นเหมือนพื้นที่ปลอดภัยที่หาที่ไหนไม่ได้นอกจากที่บ้าน ทำให้เขารู้ว่าหันกลับมาเมื่อไรก็ยังมีคนที่เข้าใจเมื่อนั้น ตรงนี้…ที่เดิม

illustrator
Avatar photo
ชินารินท์ แก้วประดับรัฐ

มีงานหลักคือฟังเพลง งานอดิเรกคือทำกราฟิกที่ไม่มีอะไรตายตัว บางครั้งพูดไม่รู้เรื่องต้องสื่อสารด้วยภาพและมีม

Related Posts

Related Posts