5 งานวิจัยชวนพ่อแม่ ‘เอ๊ะ’ ก่อนเชื่อ จาก พ่อบ้านเล่างานวิจัย
5 งานวิจัยชวนพ่อแม่ ‘เอ๊ะ’ ก่อนเชื่อ จาก พ่อบ้านเล่างานวิจัย
- เพราะ “อยากให้คนรู้ว่าสิ่งที่แชร์ๆ กันมา มันอาจไม่ใช่” โดยเฉพาะงานวิจัยที่เกี่ยวกับการศึกษา เพจเฟซบุ๊ค ‘พ่อบ้านเล่างานวิจัย’ จึงเกิดขึ้น
- โดยนิยามเพจตัวเองไว้ว่า “พ่อบ้านอ่าน สรุป และเล่างานวิจัยที่น่าสนใจ” อีกสถานะของแอดมินคือคุณพ่อของลูกสาวตัวน้อยผู้ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ
- อีกสถานะคือ อาจารย์ประจำอาจารย์ประจำภาควิชาระบบสารสนเทศธุรกิจ คณะบริหาร มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ที่มาพร้อม 5 งานวิจัยชวนพ่อแม่ ‘เอ๊ะ’ มันจริงหรือเปล่าที่ต้องเป็นแบบนี้
“เอ๊ะ มันจริงหรือเปล่าที่ต้องเป็นแบบนี้”
เป็นแรงบันดาลใจในรูปประโยคยาวๆ ของ ‘อ.แว้บ’ ผศ.ดร.วสะ บูรพาเดชะ อาจารย์ประจำอาจารย์ประจำภาควิชาระบบสารสนเทศธุรกิจ คณะบริหาร มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ จนต้องลุกขึ้นมาดู อ่าน ฟัง คิด ค้นคว้า และตั้งคำถามงานวิจัยทั้งหลายโดยเฉพาะด้านการศึกษา จนเป็นที่มาของเพจ พ่อบ้านเล่างานวิจัย ที่นิยามตัวเองไว้ว่า “พ่อบ้านอ่าน สรุป และเล่างานวิจัยที่น่าสนใจ”
- ให้นักเรียนตอบว่าไม่รู้บ่อยๆ เท่ากับปล่อยเขาไว้ข้างหลัง
- เมื่อไหร่เด็กพร้อมจะเรียน
- ชาตินิยมในแบบเรียนไทย ไม่เคยเสียเอกราช มีชาติเป็นศูนย์กลางจักรวาล
- ขอโทษแล้วทำไมไม่หายโกรธ
- ภาษาอังกฤษเรียนแทบตายทำไมพูดไม่ได้ จัดห้องเรียนตามความสามารถนักเรียน ช่วยให้เรียนดี
เป็นผลงานเพียงบางส่วนที่ อ.แว้บ หยิบงานวิจัยหลายๆ ชิ้นมาตั้งคำถาม เพราะ “อยากให้คนรู้ว่าสิ่งที่แชร์ๆ กันมา มันอาจไม่ใช่” โดยเฉพาะงานวิจัยที่เกี่ยวกับการศึกษา คุณพ่อของลูกสาวตัวน้อยผู้ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ จึงกลายมาเป็นแอดมินเพจ
ทำเพจเพราะอะไร
เคยทำเพจอื่นมาก่อนแล้ว แต่เชิงวิชาการมากกว่านี้ มันอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านของชีวิตด้วย เรามีลูก ช่วงที่เริ่มล็อกดาวน์และมีการเรียนออนไลน์ เห็นว่ามี demand เรื่อง Online Learning เยอะ คนสนใจงานวิจัยและเทคนิคต่างๆ ในการเรียนการสอน ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมจบมาพอดี เราเองก็สนใจและติดตามมาตลอดอยู่แล้ว เลยลองทำเพจขึ้นมา
ทำไมถึงเป็นพ่อบ้านเล่างานวิจัย
อยากตั้งธงให้ตัวเองว่ามันต้องเป็นภาษาที่เข้าใจง่าย ตรงนี้มันก็ยังเป็น gap อยู่ สื่ออาจจะแค่ไฮไลท์มาแล้วทำให้คนแตกตื่น แต่พอไปอ่านจริงๆ มันไม่ใช่อย่างนั้น ส่วนคนที่อยากจะเล่างานวิจัยเองก็เขียนอ่านยาก เลยอยากจะให้มันอยู่ตรงกลางจริงๆ ต่างประเทศมี science writer เป็นเรื่องปกติ แต่บ้านเราน้อยมาก เลยอยากจะเข้าไปเติมตรงนี้ให้
หัวข้องานวิจัยที่สนใจเป็นเรื่องอะไรบ้าง
มันจะเกี่ยวโยงกันเยอะ เช่น ผมสนใจเรื่องการศึกษาที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามา มันก็จะมีเรื่องข้างๆ เคียงๆ เรื่องอื่น เช่น เรื่องจิตวิทยาเข้ามาเกี่ยวเป็นภาคบังคับอยู่แล้ว แล้วก็เรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีผลกระทบกับผู้คน สังคม ไปจนถึงเรื่องเศรษฐศาสตร์ เพราะเศรษฐศาสตร์เองก็เกี่ยวกับจิตวิทยาเหมือนกัน (หัวเราะ) มันก็ลงไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นเรื่องอะไรที่เราได้ฟังมาแล้วรู้สึกว่ามันปะติดปะต่อกันได้ ก็อยากจะมาเล่า
อีกส่วนหนึ่งที่พยายามทำคือ อยากจะเอาพวกทฤษฎีความเชื่อต่างๆ ที่คนบ้านเราหรือเมืองนอก ได้ฟังกันมาบ่อย รู้สึกว่ามันจริงแต่ว่ามันไม่จริง หรือว่ามันเคยจริงในในยุคหนึ่งแล้วมันไม่จริงแล้วในปัจจุบัน อยากจะเอาเรื่องพวกนี้มาอธิบายให้ฟังว่า เอ๊ะ หลายๆ เรื่องมันเขียนการตีความอย่างนี้่ อยากจะเอาตรงนี้มา ให้คนรู้ว่าสิ่งที่แชร์ๆ กันอยู่มันไม่ใช่ โดยเฉพาะในด้านการศึกษาเนี่ย มันมีไม่น้อยนะครับที่มีความเชื่อที่คนนึกว่ามันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้แต่มันไม่ใช่
ยกตัวอย่างได้มั้ย
ตอนปฐมฤกษ์ของเพจครับ สามเหลี่ยม Cone of Learning เห็นคนแชร์จากเพจนู้นเพจนี้อย่างต่ำก็ปีละ 2-3 ครั้ง ว่าด้วย ถ้าเราสอนคนอื่น เราจะจำได้มากที่สุด ถ้าเราทำกิจกรรมเราจะจำได้ 75% สุดท้าย ถ้าเราฟังคนอื่นเราจะจำได้แค่ 10%
อันนี้มันเป็นความผิดพลาดทางการสื่อสารของเจ้าของงานนี้ จริงๆ เขาแค่เสนอโมเดลเกี่ยวกับการรับรู้ของคน แต่ทำไปทำมา มันกลายเป็นโมเดลที่คนไปตีความว่านี่คือสิ่งที่คนจะรับรู้ แล้วจะสามารถจำได้ในปริมาณเท่านี้แหละ ยอดเยี่ยมที่สุดคือถ้าคุณสอนคนอื่น คุณจำได้ 100% ถ้าผมจำไม่ผิด มันเรียกว่า Cone of Learning Experience
จุดประสงค์ของการทำเพจนี้ขึ้นมาคืออะไร
ผมอยากจะแตะเรื่องพวกนี้ไปเรื่อยๆ แตะเรื่องที่ควรจะเชื่อหรือเป็นเรื่องที่เราควรจะเอาตรงนี้เป็นธงในการชี้นำสังคมโดยเฉพาะเรื่องการศึกษาแต่สุดท้ายแล้วมันไม่ใช่ หรือถูกเอาไปใช้ในการโปรโมทขายของ มันยิ่งไปกันใหญ่ เช่นทฤษฎีสแกนลายนิ้วมือแล้วบอกลักษณะคนได้ (หัวเราะ) บอกความถนัดคนได้ หรือเรื่องพหุปัญญา ที่บอกว่า ลูกเรามีความถนัดหลายๆ แบบนะ คุณไม่เก่งเลขคุณก็ต้องเก่งเรื่องอื่นแน่ๆ ซึ่งมันไม่ใช่
เหมือนเป็นการชวนกันตั้งคำถาม ก่อนที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อ หรือสมาทานความรู้ชุดนั้นมา
ครับ คือผมว่าต้องขี้สงสัยประมาณหนึ่ง ไม่ใช่มาบอกว่าสินค้านี้เหมาะกับเด็กที่มี learning style แบบนี้นะ เราก็แบบ เอ๊ย ลูกเราเป็นแบบนี้แน่เลย ซื้อ แต่ที่ควรคือ ต้องมาคิดก่อนว่า เอ๊ะ มันจริงรึเปล่าที่ต้องแบบนี้
งานวิจัยจริงๆ เองมันก็มีสิ่งที่คนที่คิดว่ามันถูกได้ เราก็หาหลักฐานมา อะไรที่มันเคยถูกแล้วมันไม่ถูก เราก็ควรจะยอมรับมัน เรื่องนี้มันเกิดขึ้นตลอดเวลา มันเป็นหนึ่งในฐานของ critical thinking อยู่แล้ว ถ้าเราไม่สามารถจะ self-correct ได้ เราก็คงไม่มี critical thinking
ในฐานะพ่อบ้าน เอางานวิจัยมาช่วยเลี้ยงลูกมั้ย
5 ตอนนี้เลยครับ ผม map ตัวเองไว้เลยว่าเอามาช่วยอยู่แล้ว (หัวเราะ) แต่ก็ต้องเตือนตัวเองตลอดว่างานวิจัยมันก็คืองานวิจัยแหละ มันก็ใช้ไม่ได้เสมอไป ทำแล้วมันไม่ได้จริงก็เป็นไปได้ ขนาดผมไป conference ที่เกี่ยวกับการเรียนการสอน เปิดมาเป็น workshop บอกว่าเราจะทำ 1234 นะ ทุกคนก็ตั้งใจทำไปถึงครึ่งทาง เละครับ ขนาดทุกคนเป็นนักการศึกษาแล้วไปอยู่ในจุดที่ทุกคนพร้อมจะเรียนรู้ยังไม่รอดเลยครับ โอกาสที่มันจะเละ เกิดขึ้นได้ตลอด เพราะฉะนั้น อย่าไปเครียดกับมันมาก คือเละก็เอามาเรียนรู้ใหม่ทำใหม่ได้
‘5 ตอน’ ข้างต้น คือ 5 งานวิจัยชวนพ่อแม่ ‘เอ๊ะ’ ก่อนเชื่อ ที่ อ.แว้บ เลือกมาเพื่อชวนคิดชวนคุยเพื่อตั้งคำถามถึงสิ่งที่พ่อๆ แม่ๆ เคยเชื่อและยังคงเชื่ออยู่ ว่าควรไปต่อหรือพอแค่นี้
งานวิจัยชิ้นที่ 1 : เด็กสองภาษา จะได้มากกว่า ‘ภาษา’
เริ่มจากนักวิจัยชื่อ Kang Lee เป็นคนจีนที่ไปเรียนที่แคนาดา และเป็นอาจารย์ที่ University of Toronto
เขาตั้งต้นด้วยคำถามว่า “ระหว่างการที่เราเลี้ยงเด็กให้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นภาษาเดียวกับสองภาษา ต่างกันอย่างไร”
Kang Lee รู้สึกว่าคนแคนาดาแยกคนเอเชียไม่ออก เขาสงสัยว่าทำไมแยกไม่ออก ทำไมคนเอเชียทุกคนคือคนจีน เขาเลยทำงานวิจัยที่เกี่ยวกับเรื่องพัฒนาการของเด็ก
โดยตั้งคำถามว่า เด็กอายุเท่าไหร่ถึงจะเริ่มมีอคติในการมองคนที่มีเชื้อชาติต่างๆ
“ตรงนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะมันเป็นสัญชาตญาณของการเอาตัวรอด” วสะ บูรพาเดชะ เจ้าของเพจพ่อบ้านเล่างานวิจัยอธิบาย
“ทารก 4-5 เดือน เริ่มรู้แล้วว่าคนไหนคือพ่อคือแม่ ถ้าหน้าตาไม่ใช่อย่างนี้ถือว่าอันตราย นำไปสู่การทำงานวิจัยเพื่อหาคำตอบว่า ระหว่างการที่เราเลี้ยงเด็กให้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นภาษาเดียวกับสองภาษา ต่างกันอย่างไร”
“ในอดีตจนถึงปัจจุบัน เด็กที่โตในสภาพแวดล้อมสองภาษาหรือสองวัฒนธรรม มีความสามารถในการยืดหยุ่น และมีความสามารถในการรับความแปลกได้ดีกว่า โดยที่มีอคติน้อยกว่า ถ้าเอาเด็กที่อยู่ในภาษาเดียว สมมติเป็นเด็กคนขาวอายุ 1-2 ขวบ แล้วให้ครูที่อาจจะเป็นคนขาวเหมือนกันหรือต่างสีผิวแต่ใช้สำเนียงแปลกที่เขาไม่คุ้น โอกาสที่เขาจะ turn off หรือไม่อยากฟัง จะเร็วมากกว่า เปรียบเทียบกับเด็กที่โตในวัฒนธรรมสองภาษา เขาเข้าใจว่าสำเนียงมีหลายแบบ เขารับได้ เขาพยายามฟัง พยายามทำความเข้าใจมากกว่า มันคือสิ่งที่มีงานวิจัยออกมา”
แต่ Kang Lee ลงลึกไปกว่านั้น เขาถามว่าเด็กกี่เดือนถึงเริ่มมี discrimination แต่วิธีของเขาค่อนข้างแปลก คือใช้วิธีการมองหน้าจอ โดยมีตัวนักแสดงอยู่ตรงกลางจอ แล้วมีกล่อง 4 กล่อง บน-ล่าง-ซ้าย-ขวา ให้นักแสดงคนนี้มอง มองแล้วชี้ แล้วจะมีตัวเอลโม่ขึ้นมา
วิจัยใคร?
เด็กสิงคโปร์ 2 กลุ่ม
- กลุ่มแรก กลุ่มที่ครอบครัวพูดแต่ภาษาอังกฤษ
- กลุ่มสอง กลุ่มที่ครอบครัวพูดทั้งภาษาจีนและภาษาอังกฤษ
Kang Lee วิจัยกับเด็กราว 30 กว่าคน โดยให้พ่อแม่ของเด็กกลุ่มนี้ทำแบบสอบถามก่อนเพื่อคัดว่าพ่อแม่กลุ่มไหนเป็นพ่อแม่ที่อยู่ในวัฒนธรรมแบบสองภาษาหรือวัฒนธรรมภาษาเดียว
วิจัยอย่างไร?
ให้เด็กๆ ทั้ง 2 กลุ่ม ดู 2 คลิป ผ่าน 2 ตัวแปร
- ตัวแปรแรก
นักแสดงที่เป็นเชื้อชาติเดียวกับทารก คือ จีน
นักแสดงคนละเชื้อชาติกับทารก คือ อินเดีย
- ตัวแปรที่สองคือความน่าเชื่อถือ จะเป็นอีกขั้นหนึ่งซึ่งไม่อิงสัญชาติ เช่น นักแสดงจีนคนหนึ่งมองไปทางไหนก็เจอเอลโมตลอด (เจออย่างสม่ำเสมอ) กับ นักแสดงจีนอีกคนที่มองแล้วเจอบ้าง ไม่เจอบ้าง
ถ้า cross กันจะเป็น 4 แบบ คือ
- จีน ที่สม่ำเสมอ เจอตลอด น่าเชื่อถือ
- จีน ที่ไม่น่าเชื่อถือ เจอบ้างไม่เจอบ้าง
- อินเดีย ที่สม่ำเสมอ เจอตลอด น่าเชื่อถือ
- อินเดีย ที่ไม่น่าเชื่อถือ เจอบ้างไม่เจอบ้าง
ผลลัพธ์ : เด็กสองภาษาจะรับความหลากหลายได้มากกว่า
เด็ก ภาษาเดียว (monolingual) จะไปมองไปที่คนจีนที่เจอเอลโม่สม่ำเสมอและเจอบ้างไม่เจอบ้าง มากกว่า
ส่วนเด็ก สองภาษา (bilingual) จะมองไปที่คนจีนและอินเดียที่เจอเมลโม่สม่ำเสมอ มากกว่า
สรุป งานวิจัยชิ้นนี้สะท้อนให้เห็นว่าเราอยู่ในโลกที่หลากหลายขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเราไม่ช่วยให้เด็กๆ เปิดรับตรงนี้ จะยิ่งอยู่ยาก
“เขาจะไม่เข้าใจว่าทำไมมีสิ่งแปลกปลอมเข้ามาในชีวิตเขา แต่เขาต้องมองเลยตรงนี้ไปให้ได้ว่านอกจากหน้าตาที่ไม่เหมือนกันแล้ว จริงๆ มีอย่างอื่นที่เขาควรจะแคร์มากกว่าไหม ที่มันอันตรายกว่านี้ไหม ถ้าเขาก้าวข้ามตรงนี้ไม่ได้ เขาก็จะติดกับอยู่กับหน้าตา สีผิว รูปร่างของคน”
“จริงๆ เด็กมองลิงแล้วรู้ว่าลิงแต่ละตัวต่างกันนะครับ แต่พอโตขึ้นมาแล้วแยกไม่ออก (หัวเราะ) คือการรวมทุกอย่างเป็นก้อนเพื่อให้สมองทำงานง่ายขึ้น มันคือความสามารถของมนุษย์อยู่แล้ว มันไม่จำเป็นต้องไปแยกลิงทุกตัวว่ามันต่างกัน เพราะมันไม่มีความสำคัญกับชีวิตเรา ก็เหมือนกันกับกับคนที่ไม่ได้เจอเราบ่อย เราก็เลยต้องรวมเขาไว้”
งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง :
Monolingual but not bilingual infants demonstrate racial bias in social cue use https://onlinelibrary.wiley.com/doi/abs/10.1111/desc.12809
Narrowing in categorical responding to other-race face classes by infants
https://onlinelibrary.wiley.com/doi/abs/10.1111/desc.12301
งานวิจัยชิ้นที่ 2: การดู Peppa Pig ช่วยให้ลูกได้สองภาษาจริงๆ ไหม
งานวิจัยชิ้นนี้ เริ่มจากการเอาบทพูดของการ์ตูนสัญชาติอังกฤษ Peppa pig มาถอดเสียงเป็นตัวหนังสือ เก็บเป็นคลังคำแล้วนำมาเทียบกับคลังศัพท์ปกติที่คนอังกฤษใช้กัน
“เอาบทพูดของ Peppa pig ประมาณ 40% ของ episode ที่มีทั้งหมด ณ ตอนนั้น มา transcribe หรือถอดเสียงออกมาเป็นตัวหนังสือ เสร็จแล้วเขาก็เอา ‘ก้อนนี้’ ถ้าเป็นภาษาด้าน linguistics เขาเรียกว่า ‘corpus’ หรือคลังคำ เขาอยากคลังคำของ Peppa pig มาเปรียบเทียบว่าเหมือนกับคลังคำศัพท์ปกติที่คนอังกฤษเขาใช้กันหรือเปล่า”
นักวิจัยไม่ได้เปรียบเทียบแค่ทีละคำ แต่เปรียบเทียบเป็น sequence (จังหวะ) ของคำ ทางด้านภาษาศาสตร์เรียกว่า ‘formulaic sequences’ เวลาคนที่เป็น native (เจ้าของภาษา) พูด เขาก็จะพูดว่า “What are you doing?” “at the end of…” “would like to…”
อ.แว้บ อธิบายต่อว่า ถ้าเป็นคำที่ไม่ใช่ sequence แบบนี้ จะเข้าขั้นประหลาด หรือถ้าขาดไปคำหนึ่ง เช่น ขาด adjective ไปคำหนึ่งก็ประหลาดเหมือนกัน หมายความว่าถ้าคุณได้คำที่เป็น sequence ที่ใช้งานได้เลย คุณจะสามารถใช้ภาษานั้นได้ดี
โดยเทียบ sequence ก้อนเหล่านี้ (บทพูดของ Peppa pig กับคลังคำศัพท์ปกติที่คนอังกฤษใช้กัน) ว่ามันตรงกันไหม
“ผลการวิจัยบอกว่าใน Peppa pig กับภาษาอังกฤษที่ใช้กันจริง มันตรงกันอยู่ประมาณ 80% หมายความว่า 1,000 คำแรกของคลังคำที่เป็นตัว national corpus ของภาษาอังกฤษเทียบกับ Peppa pig มันตรงกันประมาณ 80%”
ผลลัพธ์งานวิจัย คือ เด็กที่ดู Peppa pig บ่อยๆ จะได้ภาษาอังกฤษที่ใช้ได้จริง
เพราะอะไร?
เด็กๆ จะ ‘Code Switch’ ได้ดีกว่าผู้ใหญ่ หมายความว่าเด็กจะ switch ภาษากับวัฒนธรรมได้ดีกว่า เด็กอาจจะฟังหลายภาษาอยู่แต่พอรู้ว่าถ้าเจอคนนี้ต้องพูดภาษานี้ เจอคนนั้นต้องพูดอีกภาษา
“พอดแคสต์คุณแม่อเมริกันคนหนึ่งอยู่ที่สิงคโปร์ เขาไปเปิดศูนย์สอนภาษาให้กับคนทํางานที่สิงคโปร์ ลูกเขาเองก็เรียนที่สิงคโปร์ เขาก็ไม่รู้หรอกว่าลูกเขาพูด Singlish ไปแล้ว เพราะลูกเขาพูดกับเขาที่บ้านเป็น American accent แต่ลูกเขาพูด Singlish กับเพื่อนที่โรงเรียน แล้วลูกเคยหลุด Singlish ที่บ้าน ปรากฎว่าลูกตกใจ รีบแก้ตัว หนูไม่ควรจะพูดอย่างนี้กับแม่ คือเด็ก switch เร็วมาก ฉะนั้นผมว่าไม่ต้องเป็นห่วงหรอก” อ.แว้บ ยกตัวอย่าง
ขณะเดียวกันการเรียนภาษาที่สอง จะไม่ได้อะไรถ้าไม่ได้นำกลับมาใช้จริงในชีวิตประจำวัน
“การที่คุณจะให้เด็กเรียนภาษาที่สองในบ้าน โดยเฉลี่ยแล้วคนที่รับ 1 ภาษา จะได้รับวันหนึ่งประมาณ 7,000 คำ เพราะฉะนั้นถ้าคุณไปเรียนครึ่งชั่วโมง ถึงจะทุกวันเลยมันก็ไม่ได้อะไรถ้าคุณไม่ได้กลับมาใช้จริง ฉะนั้นถ้าเด็กดู Peppa pig แล้ว เรารู้ว่ามันมีพวก sequence แบบนั้นที่ใช้ได้ เราก็เอามาเติมกับคำอื่นในบ้าน เพิ่มศัพท์เข้าไปให้เขาอีกก็จะยิ่งเพิ่มคลังคำให้เขาเรื่อยๆ” แอดมินเพจพ่อบ้านเล่างานวิจัยทิ้งท้าย
งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
The Peppa Pig television series as input in pre-primary EFL instruction: A corpus-based study https://onlinelibrary.wiley.com/doi/abs/10.1111/ijal.12298
Having a go: US parents say Peppa Pig is giving their kids British accents https://www.theguardian.com/…/peppa-pig-american-kids….
งานวิจัยชิ้นที่ 3 : ผิดไหม? ถ้าจะสอนลูกให้เป็นเป็ด
หลายบ้านให้ลูกลองหลายๆ อย่างเพื่อค้นหาว่าชอบอะไร บางอย่างเป็นสิ่งที่เราชอบ และอยากให้ลูกชอบด้วยแต่สุดท้ายลูกทำมันออกมาได้ไม่ดี ก็แอบมีผิดหวัง แต่ไม่หมดหวังเพราะมี ทฤษฎีพหุปัญญา หรือ multiple intelligence มาเป็นคัมภีร์ให้อุ่นใจว่า “ลูกฉันไม่เก่งอย่างนี้ แสดงว่าลูกฉันต้องเก่งอย่างอื่นแน่ๆ”
ทฤษฎีพหุปัญญาคืออะไร?
ทฤษฎีพหุปัญญา หรือ multiple intelligence เกิดปี 1983 โดยศาสตราจารย์โฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ (Howard Gardner)
เป็นทฤษฎีที่ชี้บอกว่าเด็กแต่ละคนเก่งไม่เหมือนกัน เช่น เด็กบางคนไม่เก่งเลขไม่ได้หมายความว่าเด็กคนนั้นโง่ แต่อาจถนัดอย่างอื่นมากกว่า
การ์ดเนอร์กล่าวถึงความหลากหลายของ ‘อัจฉริยภาพ’ หรือความเก่งซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 8 รูปแบบ คือ ภาษา, ตรรกะและคณิตศาสตร์, มิติสัมพันธ์,ร่างกายและการเคลื่อนไหว, ดนตรี, มนุษยสัมพันธ์, ความเข้าใจตนเอง และ ธรรมชาติวิทยา
สรุปว่าทุกคนล้วนแล้วแต่มีความเก่งในรูปแบบของตน เช่น คนที่เก่งด้านดนตรี ก็จะมีความถนัดเฉพาะตัวเรื่องดนตรีที่เหนือกว่าคนที่เก่งด้านภาษา ธรรมชาติวิทยา หรือมิติสัมพันธ์ ฯลฯ
“ตอนที่เขียนขึ้นมา การ์ดเนอร์เองไม่ได้คิดว่ามันจะดัง งานเขียนเล่มนี้เป็นหนังสือชื่อ Frames of Mind หนา 400 หน้า ตัวเขาเองคิดว่ามันก็เหมือนงาน 4-5 เล่มที่เคยเขียน ที่ส่วนใหญ่เพื่อนๆ ในวงการจิตวิทยาจะอ่านกัน แต่กลายเป็นว่ามันไปถูกใจคนหลายๆ กลุ่ม”
ทำไมถึงถูกใจคนหลายกลุ่ม ทั้งครูและพ่อแม่รุ่นปัจจุบัน
“สำหรับครูอาจารย์ เราจะมีคำถามอยู่ตลอดว่าทำไมเด็กคนนี้เก่งเลข เราสอนเด็กพิเศษเขาก็ไม่เหมือนเด็กปกติใช่มั้ย แล้วหนังสือเล่มนี้มันตอบโจทย์เหล่านั้นได้หมด เช่น ลูกคุณไม่เก่งเลข เพราะจริงๆ ลูกคุณอาจจะเก่งอย่างอื่นได้ ทำให้ทุกคนได้ silver bullet คือ ได้คำตอบแล้วสิ แสดงว่าที่ลูกเราไม่เก่งด้านนั้น โอเคแล้วเนอะ ลูกเราไม่ได้ผิดปกติแล้ว”
ไม่ผิดที่จะเชื่อว่า ลูกเราอาจจะเก่งอย่างอื่น แต่อย่าเพิ่งด่วนเชื่อทฤษฎีแล้วตีความเข้าข้างลูกตัวเอง
ด้านหนึ่ง ทฤษฎีนี้มีคนต่อต้านเยอะ
กลุ่มที่ต่อต้านทฤษฎีนี้หนักๆ มี 2 กลุ่มใหญ่ กลุ่มแรกคือนักการเมืองที่สหรัฐอเมริกาซึ่งมันเป็นวาระทางการเมือง
“เพราะมันเท่ากับการไปท้าทาย ความเชื่อและรูปแบบการสอนที่บอกว่าเด็กๆ เก่งหลายอย่าง ส่งผลให้การจัดการเรียนการสอนในห้องต้องมีการผสมผสานหลายๆ แบบ คนที่เขาคุมระบบเขาไม่แฮปปี้หรอกครับ จึงมีคนต่อต้านเยอะ”
กลุ่มสอง นักจิตวิทยาด้วยกันที่เชื่อมั่นใน IQ test
“IQ Test เป็นการทดสอบที่มีงานวิจัยรองรับ และมีความน่าเชื่อถือในแง่ของการวัดประเมินตามทฤษฎีที่ถูกต้อง แต่งานฝั่ง Multiple Intelligence ไม่มีเรื่องพวกนี้ ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า test ที่เป็นมาตรฐาน เป็นเพียงแบบประเมินที่บอกว่าคุณชอบอะไร”
พ่อแม่ควรเชื่อดีไหม
ปัญหาที่ควรถกเถียงก่อนด่วนเชื่อคือ สมมติเด็กเก่งทางด้านดนตรี แต่กลับไม่เก่งด้านอื่นๆ ความเก่งหรือไม่เก่งเหล่านี้มันเกี่ยวข้องกันอย่างไร สัมพันธ์กันอย่างไร อธิบายตัวแปรต่างๆ ได้อย่างไร
“คนที่พยายามจะออกมา defend (ปกป้อง) ทฤษฎีนี้ด้วยการบอกว่าเอาไปใช้ในห้องเรียนแล้วพบว่าผลลัพธ์ดีขึ้น พอถูกถามกลับว่า แล้วคุณใช้ test อะไรในการวัดผล มันก็กลับมาที่จุดอ่อนจุดเดิมว่าคุณไม่มี test ที่เป็นมาตรฐาน เพราะฉะนั้นคุณไม่สามารถวัดผลเด็กได้อย่างชัดเจน”
อีกประเด็นคือ การเอาของใหม่ไปใช้ในชั้นเรียน แน่นอน ตัวคนสอนย่อมตื่นเต้นมากกว่าเดิมเพราะไม่ได้สอนแบบเดิม
“เพราะฉะนั้นผลที่เกิดจากตรงนี้มันจึงมีอยู่ ซึ่งมันอาจจะเป็นผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นหรือเปล่า ผ่านไป 20 กว่าปี ทฤษฎีนี้ก็ยังวนเวียนอยู่ในแวดวงของสังคมทั่วไป แต่ก็ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ในงานวิชาการอยู่ดี
Howard Gardner เองเคยปาฐกถา แกบอกว่าแกพูดเฉยๆ นะ ไม่ใช่หน้าที่แกที่ต้องมาพิสูจน์อันนี้ (หัวเราะ) คนก็ เอ้า ไม่ใช่หน้าที่อาจารย์แล้วใครจะพิสูจน์ล่ะ”
งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
Audiences for the Theory of Multiple Intelligences by Howard Gardner https://eric.ed.gov/?id=EJ687585
Multiple Intelligences, the Mozart Effect, and Emotional Intelligence: A Critical Review by Lynn Waterhouse https://www.tandfonline.com/…/10.1207/s15326985ep4104_1
งานวิจัยชิ้นที่ 4 : สอนที่ดีสุดคือไม่สอน ตั้งใจ ‘เล่น’ นะลูก เด็กจะเรียนรู้เอง
ถ้าลูกอยากเล่นสเก็ตบอร์ด ระหว่างพ่อสอนให้เล่น กับ พาลูกไปเจอกลุ่มคนเล่นในสนาม
แบบไหนลูกเป็นเร็วกว่ากัน
“สมมติลูกอยากเล่นสเก็ตบอร์ด นอกเราซื้อสเก็ตบอร์ดให้ลูกแล้ว เราควรจะพาเขาไป hang out กับพี่ๆ ที่เล่นสเก็ตบอร์ด เขาจะได้รู้จักศัพท์ต่างๆ เทคนิคอื่นๆ ในการเล่นสเก็ตบอร์ด เขาได้รู้จัก resource อื่นๆ เกี่ยวกับสเก็ตบอร์ด แทนที่เราจะห่วงลูกแล้วปล่อยไว้อยู่บ้าน แล้วเด็กก็จะได้เล่นสเก็ตบอร์ดคนเดียว โดยที่ไม่ได้สนุกกับ culture ของมัน ซึ่งนี่คือสิ่งที่สำคัญมากๆ ในการเรียนรู้เลย คุณต้องรับมันมาทั้งหมด”
จงเรียนรู้แบบศิษย์วัดเส้าหลิน
legitimate peripheral participation (LPP) แปลตรงตัวว่า ทฤษฎีการเรียนรู้ที่เป็นความรับผิดชอบของชุมชน – โดยผู้เรียนต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในชุมชนของผู้ปฏิบัติวิชาชีพนั้น และเพื่อให้ได้ความเชี่ยวชาญในความรู้และทักษะ
วิธีนี้ ‘อ.แว้บ’ ผศ.ดร.วสะ บูรพาเดชะ แอดมินเพจพ่อบ้านเล่างานวิจัย เปรียบเทียบกับการไปเป็นศิษย์วัดเส้าหลิน
“โดยการที่เราเริ่มทำงานง่ายๆ อย่างไปตักน้ำ ไปลับมีด ฝึกท่าอะไรที่ยังไม่ต้องใช้ทักษะเยอะ แล้วพอเขาเห็นว่าเราพอมีหน่วยก้าน ก็เขยิบเราไปเป็นเลเวลถัดไป จนสุดท้ายเราก็เข้าไปอยู่ในชุมชนนั้นในฐานะที่เป็นสมาชิกจริงๆ ของสังคมได้”
อธิบายให้ง่ายกว่านั้น LPP คือ การที่คนมาใหม่แล้วมานั่งสังเกตดูคนเก่าๆ ทำงาน อาจดูว่ามันไม่มีประโยชน์อะไร แต่จริงๆ แล้วเขากำลังซึมซับทักษะบางอย่าง ผ่านการมองว่ากูรูด้านนี้เขาทำงานกันอย่างไร
ข้อควรระวัง 1 : คนเก่าหวงวิชา
“แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับชุมชนการเรียนรู้เหล่านี้คือคนเก่าหวงวิชา สมมติว่าเราไปสมัครเป็นพนักงานรายวันของโรงงานแห่งหนึ่ง แล้วเราก็ไปดูว่าพี่ที่อยู่มานานเขาทำงานยังไง แต่เขาไม่เคยมาสอนเราเลย เขาไม่เคยให้โอกาสเราเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เลย เขาให้เราทำแต่งานที่เป็น unskilled labor”
ผลที่จะเกิดขึ้นคือ คนๆ นั้นจะไม่มีการพัฒนา แล้วติดอยู่แค่ตรงนั้น
ข้อควรระวัง 2 : สั่งสอนเท่านั้นถึงจะเรียนรู้เรื่อง
เมื่อคนสอนหรือคนที่มาก่อนคิดว่า คนที่มาใหม่จะต้องถูกสั่งสอนอย่างเดียว ไม่สามารถจะเรียนรู้โดยการเฝ้าสังเกตได้
“ยกตัวอย่างโรงเรียนสายวิชาชีพ เป็น trade school ที่ต่างประเทศ สอนให้ไปเป็นพนักงานขายเนื้อในซุปเปอร์มาเก็ต เรียน 6 – 8 เดือนแล้วได้ certificate ปัญหาของ trade school แห่งนี้คือวหลักสูตรที่วางไว้ มันมีทั้งการเรียนทฤษฎีในห้องเรียน กับการเรียนปฏิบัติในช็อป แล่เนื้อประเภทต่างๆ
แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในช็อป คือเขาสอนในสิ่งที่มันไม่ได้มีอยู่จริงในตลาดแล้ว เช่น คุณแล่เนื้อเพื่อขายส่ง แต่ในตลาดซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นตลาดขายปลีก เทคนิคมันไม่เหมือนกัน หรือคุณสอนให้เขาลับมีด ซึ่งเข้าใจได้ว่าเมื่อก่อนคงต้องเรียนลับมีด แต่ว่าเดี๋ยวนี้มีบริษัทลับมีดแล้ว มันไม่จำเป็นแล้ว”
นี่คือปัญหาของการศึกษาที่มองทุกอย่างแยกส่วนหมด ไม่มีการปรับปรุงการเรียนการสอน
จงคิดว่ามันเป็นเกม
“จงคิดว่ามันเป็นเกม” สิ่งที่วิดีโอเกมสอนแต่ห้องเรียนไม่เคยสอน
มีอีกงานที่ดังมากในช่วงประมาณปี 2008-2009 เป็นช่วงที่ James Paul Gee อาจารย์ทางด้านภาษาศาสตร์ (linguistics) กำลังคิดเรื่องการใช้เกมในการเรียนการสอน
วันหนึ่งเขาเห็นหลานเล่นโปเกมอน แล้วตั้งคำถามว่าทำไมเด็กสนใจโปเกมอน ทั้งๆ ที่มันมีความยากหลายอย่างมาก การ์ดแต่ละแบบมีเลเวลของตัวการ์ตูน ทำไมเด็กอิน แต่เด็กไม่เห็นอินโรงเรียนหรือห้องเรียน
James Paul Gee สังเคราะห์ตรงนี้ออกมาเป็นหนังสือเล่มหนึ่ง โดยใช้ทฤษฎีทางด้าน linguistics ทั้งด้านการที่คนเราเรียนภาษายังไงมาจับกับการออกแบบวีดีโอเกม แล้วก็เขียนหนังสือออกมา เล่มนี้กลายเป็นร็อคสตาร์ของ academic ยุคนั้น หนังสือชื่อว่า What Video Games Have to Teach Us About Learning and Literacy
แล้วเขาก็อธิบายว่าสิ่งหนึ่งที่วิดีโอเกมใช้หลักการเดียวกับการเรียนภาษาคือการเข้าไปสู่ชุมชนนั้นๆ
James ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น เด็กที่ชุมชนเล่นเกม เด็กมีความใฝ่รู้ตรงนั้นเพราะว่าเขามีคนที่คอยให้ข้อมูล ในขณะที่ในห้องเรียนไม่มีเรื่องนั้น
งานวิชาการเรียกกลุ่มของคนที่มีความสนใจคล้ายกัน ว่า Affinity group
“สมมติลูกอยากเล่นสเก็ตบอร์ด นอกจากการที่เราซื้อสเก็ตบอร์ดให้ลูกแล้ว เราควรจะพาเขาไป hang out กับพี่ๆ ที่เล่นสเก็ตบอร์ด เขาก็จะได้รู้จักศัพท์ต่างๆ เทคนิคอื่นๆ ในการเล่นสเก็ตบอร์ด เขาได้รู้จัก resource อื่นๆ เกี่ยวกับสเก็ตบอร์ด แทนที่เราจะห่วงลูกแล้วปล่อยไว้อยู่บ้าน แล้วเด็กก็จะได้เล่นสเก็ตบอร์ดคนเดียว โดยที่ไม่ได้ appreciate กับ culture ของมัน ซึ่ง James Paul Gee บอกว่าตรงนี้คือสิ่งที่สำคัญมากๆ ในการเรียนรู้เลย คุณต้องรับมันมาทั้งหมด
สมัยก่อนผมเล่นเกมออนไลน์ ไปเล่นร้านเกมกับเพื่อนเล่นกัน 3-4 คน มีเด็กร้านเกมที่เล่นเก่งมากมาขอเล่นด้วย มันเล่นคนเดียวชนะเรา 4 คน เพราะเล่นบ่อยมาก พอผมเอาเกมนี้ขยับขึ้นไปมีฟีเจอร์แบบเล่นออนไลน์ได้ปุ๊บก็ไปเล่นกับคนอื่นที่ออนไลน์ทั่วโลก ผมกลับมาอีกทีผมชนะคนอื่นหมดเลย เพราะเราได้เทคนิคอื่นที่มันมากกว่านั้น เราไปเห็นคนอื่นทั่วโลกเขาเล่นกันยังไง เราก็ได้ที่วิธีประหลาดๆ มาสู้กับเขา นี่คือการที่เราขยายผลขยายชุมชนไปไกลกว่าเดิม ทำให้เราก็ได้ยิ่งได้อะไรมากกว่านั้น”
การเรียนรู้จึงต้องมี culture เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งหลักการนี้เอามาใช้ในการจัดการเรียนการสอนได้
“สมมติว่าคุณพ่อเป็นแชมป์ยิงธนู คุณพ่อสอนลูก ลูกจะไม่มีทางมองว่าเขาจะไปถึงตรงนั้นได้ แต่ถ้าเขาไปแข่งกับเพื่อน gap มันแคบมาก เช่นเดียวกัน ในห้องถ้าเรา mix เด็กเข้าไป มีทั้งเด็กที่เก่งมาก เก่งน้อย แล้วให้เขาทำงานด้วยกัน เด็กเก่งมากจะไปสอนเด็กเก่งน้อย แต่ถ้าครูไปสอน เขาจะยิ่งท้อ พอยิ่งเราพูดมันยิ่งเยอะ ยิ่งน่ากลัวเข้าไปใหญ่ ในขณะที่เด็กด้วยกันเองมีภาษาที่เหมือนกันสอนกันได้”
อ้าว แล้วจัดห้องคิง ควีน กิฟต์ ดีไหม?
อ.แว้บ อธิบายว่า การแบ่งชั้นเรียนตามความความสามารถ ในทางวิชาการแล้วมีอยู่ 2 แบบใหญ่คือ Tracking และ Ability grouping
Tracking คือรวมเด็กเป็นกลุ่มแล้วเรียนไปด้วยกันยาวๆ หลายๆ ปี แนวคิดนี้ย้อนกลับไปตั้งแต่ตอนที่ยังมีการแบ่งแยกสีผิวของอเมริกา แยกคนดำให้ไปเรียนด้วยกันเพราะเชื่อว่าคนดำฉลาดน้อยกว่าคนขาว แนวคิดนี้ถูกโจมตีอย่างมาก ทั้งด้านมนุษยธรรม และผลสัมฤทธิ์ของการเรียนรู้
แนวคิด Tracking ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โรงเรียนมัธยมหลายประเทศมีการแบ่ง Tracking เป็นสายธุรกิจ สายอาชีพ ขณะที่ประเทศไทยมีสายวิทย์ สายศิลป์ การแบ่งกลุ่มแบบนี้ทำได้ง่ายในโรงเรียนใหญ่ เพราะจับเด็กแยกเป็นกลุ่มๆ ตามคะแนนเฉลี่ยได้หลายห้อง
ฝ่ายสนับสนุนแนวคิด Tracking บอกว่ามันดีเพราะจัดการเรียนการสอนตามความสามารถผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เด็กเก่งก็ให้ทำงานที่ท้าทายได้มากขึ้น เด็กอ่อนก็ทบทวนซ่อมเสริมกันไป
“ส่วนกลุ่มคัดค้านบอกว่าโรงเรียนเล็กจัดไม่ได้ (และไม่มีเหตุผลจะต้องจัด) เป็นการเลือกปฏิบัติกับผู้เรียนและผู้สอน ถ่างให้ช่องว่างทางโอกาสของเด็กด้อยโอกาสกว้างขึ้นกว่าเดิม และที่สำคัญที่สุดคือเป็นการ ‘ตีตรา’ ว่าเด็กโง่จะไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต กลายเป็นปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริง (self-fulfilling prophecy)”
Ability grouping หมายถึงการแบ่งเด็กตามความถนัดตามวิชา โดยการจัดเด็กตามความสามารถวิชานั้นๆ นิยมทำอยู่ 2 วิชาคือคณิตศาสตร์และการอ่าน (reading)
ผลการวิจัยพบกว่าการจับกลุ่มนักเรียนตามความสามารถแค่บางวิชาทำให้ผลการเรียนดีขึ้นในวิชานั้นๆ ในขณะที่วิชาส่วนใหญ่ให้เรียนรวมกัน
วิธีการแบ่งกลุ่มที่ว่ากันว่าได้ผลดีคือจับกลุ่มเฉพาะวิชา reading โดยนักวิจัยพบว่าถ้าเราประเมินความสามารถในการอ่านของเด็กประถมปลายทั้ง 3 ระดับชั้นคือ เกรด 4 ถึง 6 แล้วจัดกลุ่มใหม่ตามระดับทักษะช่วยให้มีทักษะการอ่านดีขึ้น วิธีนี้รู้จักกันในชื่อว่า The Joplin Plan
อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปของงานวิจัยแนะนำว่าการแบ่งกลุ่มตามความสามารถและไม่เน้นช่วงอายุนี้ต้องมีการ ‘ประเมิน’ เป็นประจำและยอมให้ผู้เรียนเลื่อนขึ้นลงตามระดับที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอด และการแบ่งกลุ่มแบบเหมารวมทุกวิชาไม่มีผลต่อผลสัมฤทธิ์ของการเรียนรู้
งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
Situated Learning – Legitimate Peripheral Participation (Jean Lave & Etienne Wenger) https://www.amazon.com/Situated-Learning…/dp/0521423740
What Video Games have to Teach Us About Learning and Literacy (James Paul Gee) https://www.amazon.com/…/B00O…/ref=dp-kindle-redirect…
Slavin, R. E. (1987). Ability grouping and student achievement in elementary schools: A best-evidence synthesis. Review of educational research, 57(3), 293-336.
Is Ability Grouping the Way to Go? Or Should It Go Away? https://www.educationworld.com/a_admin/admin/admin009.shtml
Tracking and Ability Grouping in Middle Level and High Schools https://www.nassp.org/tracking-and-ability-grouping-in…/
งานวิจัยชิ้นที่ 5 : ยิ่งทำซ้ำยิ่งเก่ง จริงไหม? ปล่อยให้ลูกฝึกหลายๆ อย่าง เขาจะเรียนรู้เอง
ระหว่างการฝึกแบบเดิมซ้ำๆ กับ การเปิดการเรียนรู้อย่างอิสระ ปล่อยเด็กๆ ให้ฝึกหลายๆ แบบ สุดท้ายแล้วแบบไหนเด็กจะเรียนรู้ได้ดี
หนังสือ How we learn โดย Benedict Carey นักข่าวสายวิทยาศาสตร์และการแพทย์ ของ New York Times พูดถึงการทดลอง 2 รูปแบบ
- ให้เด็ก 8 ขวบปิดตาโยนถั่ว (bean bag) อันเล็กๆ ไปหาจุดที่พื้นซึ่งอยู่ห่าง 3 ฟุต
ผลการทดลองรอบแรก คือ ทุกคนโยนได้ใกล้เคียงกันหมด
แต่เมื่อแบ่งเด็กๆ เป็น 2 กลุ่ม คือ ปิดตาโยนถุงห่าง 3 ฟุต และอีกกลุ่มปิดตาโยนสลับระหว่าง 2 ฟุตกับ 4 ฟุต ทุกสัปดาห์
ผลสรุป คือ เด็กกลุ่มที่ฝึก 2 ฟุตสลับ 4 ฟุตตลอด 10 สัปดาห์ โยนแม่นในจุด 3 ฟุตมากกว่าเด็กที่ฝึกโยนในระยะห่าง 3 ฟุตทุกสัปดาห์
เช่นเดียวกับอีกงานวิจัย
2. ให้เด็กผู้หญิงฝึกเสิร์ฟลูกขนไก่ โดยให้ฝึกการเสิร์ฟ 3 รูปแบบ เสิร์ฟสั้น เสิร์ฟยาว และเสิร์ฟแบบลูกลาด หรือแบบเช็ดเน็ต พร้อมกับการแบ่งเด็กเป็น 3 กลุ่ม
เด็กกลุ่มแรก ฝึกแบบเสิร์ฟลูกสั้น พออีกวันหนึ่งฝึกเสิร์ฟลูกยาว วันถัดมาฝึกเสิร์ฟแบบลูกลาด
เด็กกลุ่มสอง ฝึกเป็น sequence ไปเรื่อยๆ ภายในวันเดียว เด็กๆ ต้องฝึกเสิร์ฟทั้งลูกสั้น ลูกยาวและลูกลาด สลับกันไปเรื่อยๆ
กลุ่มสุดท้าย ฝึกเสิร์ฟแบบไหนก็ได้ โดยห้ามฝึกแบบใดแบบหนึ่งเกิน 2 ครั้งต่อกัน
วันทดสอบ เมื่อกำหนดระยะให้เสิร์ฟ โดยเปลี่ยนโจทย์จากเสิร์ฟคอร์ดซ้ายไปคอร์ดขวา ให้สลับฝั่งกัน
กลุ่มสุดท้ายชนะ และฉีกคะแนนห่างจากสองกลุ่มแรก
จากผลการทดลองอ.แว้บอธิบายว่า “งานวิจัยด้าน motor (กล้ามเนื้อ) and perception (การรับรู้) รู้มานานแล้วว่าการที่เราจะฝึกฝนทักษะอะไรสักอย่าง เราควรจะปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไม่ควรไปโฟกัสที่จุดใดจุดหนึ่ง เพราะคนที่ฝึกแบบปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จะมีความสามารถในการใช้ร่างกายได้ดีกว่า”
“ถ้าเราอยากสร้าง skill เราต้องปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เพราะคนที่ฝึกแบบปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จะมีความสามารถในการใช้ร่างกายได้ดีกว่า”
เป็นข้อสรุปของนักวิจัยด้าน motor and perception ที่นักจิตวิทยาฝั่งการรับรู้และความจำ (cognition and memory) ซึ่งศึกษาการทำงานของสมอง ความจำระยะสั้น ระยะยาว ไม่เคยรับรู้เรื่องนี้เลย
จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทดสอบ “ฝีแปรงของศิลปิน” ด้วยการแบ่งเด็กเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก เอารูปศิลปินมาแล้วใส่ชื่อไว้ข้างล่าง โดยให้ดูศิลปินคนเดิมไปทีละชุด (sequence) และกลุ่มสอง ให้ดูแบบสุ่ม (random) สลับศิลปินวนไปวนมาเรื่อยๆ
ก่อนทดสอบ ทั้งสองกลุ่มจะต้องนับเลขตั้งแต่100 ถอยหลังก่อนเพื่อเคลียร์ความจำระยะสั้น แล้วจึงให้ดูรูปแบบ random ซึ่งรูปที่ใช้สำหรับทดสอบจริง จะไม่ใช่รูปเดิมแต่เป็นของศิลปินคนเดิม
ปรากฎกว่ากลุ่มสองที่ดูแบบ random ชนะ ตอบถูกถึง 65 เปอร์เซ็นต์ ส่วนกลุ่มแรกที่ดูทีละชุด ตอบถูกเพียง 50%
จากการทดลอง ได้ผลสรุปเบื้องต้นว่า interleaving หรือการที่เราสลับอะไรไปเรื่อยๆ แทนที่จะแยกส่วน จะช่วยพัฒนาทักษะทั้งทางร่างกายและสมอง
“กลายเป็นทฤษฎีที่มีหมุดหมายทางวิชาการจริงๆ ของทั้งสองฝั่งที่ได้เรียนรู้และทำความเข้าใจสมองมนุษย์ว่าจริงๆ แล้วมันทำงานแบบ auto pilot ได้ง่ายมาก แล้วมันสามารถจะ self-correct ตัวเองได้ตลอด” อ.แว๊บอธิบาย
การทดลองนี้ยังไม่จบที่นักจิตวิทยา เพราะฝั่งการศึกษาก็เอาไปทดลองเช่นกัน
โดยเอาสิ่งที่คล้ายๆ กันมารวมกัน เช่น ถ้าเราเรียนเรื่องเรขาคณิต ซึ่งจะมีเรื่องมุม เรื่องพื้นที่ ปริมาตร ฯลฯ แทนที่จะสอนทีละเรื่อง ลองจับมารวมแล้วให้เด็กทำโจทย์คละกันเลย
อ.แว้บอธิบายต่อว่า การที่เราให้เด็กทำโจทย์รวมกันโดยไม่บอกว่าโจทย์นี้ต้องใช้เทคนิคอะไร หรือใช้สูตรไหน จะทำให้สมองทำงานขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง
“ถ้าเราบอกเด็กเลยว่า แบบทดสอบครั้งนี้เป็นเรื่องการหามุม สมองจะทำงานน้อยลงเพราะรู้ว่านี่คือเรื่องมุม แต่ถ้าเราให้โจทย์เป็นกลุ่มแล้วก็บอกว่าหามุมบ้าง หาปริมาตรบ้าง สมองมันทำงานหนักขึ้น แล้วทำให้เราพร้อมลงสนามจริงมากขึ้น”
งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
How We Learn: The Surprising Truth About When, Where, and Why It Happens Kindle Edition by Benedict Carey https://www.penguinrandomhouse.com/…/how-we-learn-by…/
Writer
tippimolk
คุณแม่ลูกหนึ่งซึ่งคลุกวงในงานข่าวมาหลายสิบปี เพิ่งมาค้นพบตัวเองไม่กี่ปีมานี้ว่าอินกับงานด้านเด็ก ครอบครัว และการศึกษามากเป็นพิเศษ จึงเป็นเหตุให้มาร่วมสร้างแผนที่การเรียนรู้อย่าง mappa
illustrator
กรกนก สุเทศ
เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง