สิทธิพลเมือง ศาสนาไข่เจียว และลูกที่เป็นส่วนหนึ่งของโลก

สิทธิพลเมือง ศาสนาไข่เจียว และลูกที่เป็นส่วนหนึ่งของโลก

  • “การแบ่งหน้าที่ ไม่ใช่การหลอกล่อ แต่ต้องพูดด้วยเหตุผล ไม่ได้มองว่าเป็นการช่วยเหลือคนอื่น แต่มันคือการรับผิดชอบตัวเอง”
  • แม้ลูกจะนับถือศาสนาไข่เจียว ไม่ใช่ศาสนาพุทธ แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะเขามีสิทธิตัดสินใจและเลือกในสิ่งที่ตัวเองยึดถือ
  • mappa พูดคุยกับพรและพาม พ่อแม่ที่เชื่อว่าการรู้สิทธิ หน้าที่และมีความรับผิดชอบ จะเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้ลูกเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม

ประชาธิปไตย หรือ democracy ในภาษาอังกฤษ มีรากศัพท์จากภาษากรีกโบราณว่า dēmokratía ประกอบด้วยคำ 2 คำ คือ demos หมายถึง ประชาชน และ kratos หมายถึง การปกครอง หรือพละกำลัง ดังนั้น ประชาธิปไตย (democracy) จึงหมายถึง การปกครองโดยประชาชน

เมื่อประชาชนมีสิทธิและหน้าที่ในการปกครองประเทศ จึงกล่าวได้ว่า ประชาชนมีฐานะเป็น ‘พลเมือง’ 

หากสังคมหรือประเทศใดที่ประชาชนกำลังถูกลิดรอนทั้งสิทธิ เสรีภาพ และถูกยึดอำนาจอธิปไตยไป จึงไม่อาจกล่าวได้ว่าสังคมนั้นเป็น ‘ประชาธิปไตย’ ดังนั้น ในฐานะพลเมือง การรักษาสิทธิ หน้าที่ และอำนาจอธิปไตยของตัวเองเอาไว้จึงเป็นเรื่องที่พึงกระทำ

“สำหรับเราการเลี้ยงลูกให้เป็นพลเมืองที่ดีของโลกมันคือเป้าหมาย เราไม่ได้มองว่าเขาเป็นประชาชนคนไทยอย่างเดียว แต่มองว่าเป็นคนของโลกด้วย” คำพูดของ พร-สิทธิพร อันทะวงษา คุณพ่อผู้เคยทำงานด้านสื่อสารมวลชน ไอที ก่อนผันตัวมาเป็น ชาวสวน ที่รักเสียงเพลง รักการอ่าน และรักการเรียนรู้

“ตอนเขาเรียนเราก็บอกเขาตลอดว่าอันไหนที่ลูกไม่เข้าใจ ลูกมีสิทธิถามครูได้นะ เพราะลูกทำหน้าที่ลูกในการตั้งใจเรียนแล้ว ลูกก็มีสิทธิถามครูว่าทำไมต้องเป็นแบบนี้ ลูกมีสิทธิตั้งคำถาม” เสียงจาก พาม-พามดา โสตถิพันธุ์ คุณแม่ที่มักชวนลูกๆ วาดภาพระบายสี และเข้าครัวทำอาหาร

ประโยคจากพรและพาม พ่อแม่ที่เห็นถึงความสำคัญของ ‘ครอบครัว’ ในฐานะสถาบันที่เล็กที่สุดของสังคม ที่มีส่วนช่วยสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในสังคมภาพกว้างได้ โดยการสอนเรื่องพื้นฐาน อย่างสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบ ให้กับลูกๆ ‘พี่มาร์ส’ ลูกชายวัย 7 ขวบ และ ‘น้องเฟย์’ ลูกสาว วัย 3 ขวบครึ่ง 

พวกเขาเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้เด็กๆ มีคุณสมบัติของพลเมืองที่ดี ที่จะช่วยพัฒนาสังคมและประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า

บทสนทนาของ mappa กับทั้งคู่ถัดจากนี้ จึงเป็นการชวนพูดคุยและแชร์ประสบการณ์วิธีการเลี้ยงลูก ในประเด็น ‘บ้านสร้างพลเมือง’

ตอนเด็กๆ เราถูกสอนหรือถูกเลี้ยงดูมาแบบไหน

พ่อพร: ก็ traditional เลย อำนาจนิยม ตามยุคสมัยนั่นแหละ คือพ่อแม่เราเกิดตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยสภาพคนที่ใช้ชีวิตมากับยุค industrial หรือ ยุคอุตสาหกรรม เขาจะมีแนวคิดคนละแบบกับเราในตอนนี้ คุณจะเอาแนวคิดเสรีนิยม เสรีชน ไปคุยกับเขาก็น่าจะยาก

ฉะนั้นสิ่งเดียวที่จะกำราบลูกให้อยู่ในระเบียบได้ก็เป็นเรื่องของอำนาจ เรื่องของ seniority ที่ใช้ความรุนแรง เราก็ถูกเลี้ยงมาด้วยการตี และก็ถูกสอนให้ฟังคำพูดคนอื่น ซึ่งจริงๆ เราก็ไม่เชื่อ ดังนั้น ถ้าเราสอนลูกแบบนั้น ลูกก็คงไม่เชื่อเหมือนกัน 

เราเลยคิดว่า ถ้าอยากให้ลูกเราทำอะไร เราก็ต้องทำให้เขาเห็นก่อน หรือชวนเขาทำด้วยก็ได้ การทำให้ดู ชวนกันทำไปด้วยกัน มันเลยเป็นอีกวิธีที่เราใช้เลี้ยงลูกในปัจจุบัน 

ทั้งคู่เป็นพ่อแม่แบบไหน แตกต่างจากที่พ่อแม่สอนเรามาอย่างไร

พ่อพร: พ่อแม่แบบไหน…พ่อแม่แบบเรานั่นแหละ เราเป็นมาหลายแนวมาก จะเรียกว่าสายธรรมชาติก็ได้ สายเทคโนโลยีก็ได้ เราอยู่กับทุกอันได้ เป็นไปตามวิถีชีวิตปกติเลย 

แต่เราเป็นพวกค่อนข้างพูดคุย มีอะไรก็คุยกับลูกตรงๆ เราไม่ใช้กำลัง เราไม่ตี ไม่เสียงดัง มีเหตุผล หรือถ้าคุยไม่รู้เรื่องก็แยกกันอยู่กับลูก

เราไม่ใช้ความรุนแรง เพราะเราเชื่อว่าการใช้ความรุนแรงมันไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาในหลายๆ อย่าง หนำซ้ำในระยะยาวอาจเป็นการส่งต่อ บ่มเพาะ อำนาจนิยมในตัวเด็ก เพราะเราเจอแบบนี้มา 

เราค่อนข้างที่จะมองเรื่องทุกอย่างเป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นเรื่องธรรมดา หรือคุยกันให้เป็นแนววิทยาศาสตร์ มีเหตุมีผล จะเป็นครอบครัวสไตล์นั้น 

แม่พาม: สิ่งที่เราไม่ทำกับลูกเลย คือการหลอกลูก เช่น หลอกว่ามีผี ตุ๊กแกกินตับ ทำอย่างนี้ไม่ได้เดี๋ยวตำรวจจับ คือเราไม่เชื่อว่าการทำแบบนี้มันจะส่งผลดี เราไม่เชื่อว่าทำแล้วลูกจะหายจากการอยากได้ขนม หรืออะไรแบบนี้

อย่างตอนนี้เฟย์อายุ 3 ขวบครึ่ง เขามีเพื่อนในจินตนาการของเขา เราก็ถามเพื่อนชื่ออะไร เขาก็บอกชื่อผี เราก็อ๋อเหรอ คือไม่ได้ทำให้ทุกอย่างน่ากลัว ผีก็คือชื่อหนึ่งเท่านั้นเอง

เพราะอะไรเราถึงเลือกวิธีนี้ 

พ่อพร: วิธีการแบบนี้เป็นกระบวนการที่มีผลลัพธ์ในระยะยาว เราก็ไม่รู้ว่ามันเวิร์ค หรือไม่เวิร์ค ต้องเข้าใจว่าลูกเราเด็กมาก 7 ขวบ 3 ขวบ ซึ่งในความเป็นมนุษย์ เด็กก่อนถึง 7 ขวบ เขาก็มีแค่อารมณ์สนุก สมองเขาไม่ได้ต้องการหลักการ หรือเหตุผลอะไรมากขนาดนั้นอยู่แล้ว แต่สิ่งสำคัญคือ เขาเลียนแบบได้ และเขาจะจำได้ว่าเขาโตมาแบบไหน ถึงแม้เขาไม่ได้ทำตอนเป็นเด็กแต่เขาได้เรียนรู้ ผ่านการเห็นจากการกระทำของเรา 

ซึ่งพอเริ่ม 7 ขวบขึ้นไป เขาจะเริ่มใช้เหตุผลมากขึ้น ดังนั้น สิ่งเหล่านี้มันเลยต้องถูกปูมาก่อน ถ้าเราใช้ความรุนแรงในตอนแรก เราจะมาขอให้เขาใช้เหตุผลตอนโตมันก็ไม่ได้ 

เราเชื่อว่า ถ้าเราคุยกับเขาเป็นเหตุเป็นผล เขาก็จะคุยกับเราเป็นเหตุเป็นผลได้ เพราะฉะนั้นถ้ามีเหตุมีผล เราอยากให้เขาทำตัวอย่างไร เราก็ควรทำอย่างนั้นกับเขา และเขาก็จะทำกับคนอื่นแบบนี้เหมือนกัน 

ลูกๆ เถียงเก่งไหม แล้วรับมืออย่างไร

แม่พาม: สุดๆ คือเราสอนลูกให้พูด เมื่อสอนให้พูด เราก็รับมือด้วยการฟังเขาให้มากขึ้น 

หลังจากฟังเขาแล้วสิ่งที่จะทำให้เราเข้าใจกันได้ คือการคุยกันอย่างมีเหตุผล อะไรที่เราและลูกทำ แล้วไม่ชอบก็ต้องคุยกัน ต้องบอกกัน 

ภายในบ้านมีการวางบทบาทหน้าที่ของลูกๆ แต่ละคนไหม

แม่พาม: อืม…ไม่นะ ส่วนใหญ่ก็ให้ทำหน้าที่ตัวเอง ตื่นมาก็จัดการตัวเอง อาบน้ำ แต่งตัว แปรงฟัน เก็บที่นอน เล่นของเล่นก็เก็บเอง แต่เฟย์ด้วยความที่เขา 3 ขวบครึ่งเราก็ต้องช่วยเขาบ้าง

พูดกับลูกอย่างไรให้เขารู้จักหน้าที่ตัวเอง หรือทำในสิ่งที่เขาต้องทำ

พ่อพร: การแบ่งหน้าที่ มันไม่ใช่การหลอกล่อ แต่ว่าพูดด้วยเหตุผล ไม่ได้มองว่าเป็นการช่วยเหลือคนอื่นด้วยนะ คือมันเป็นการช่วยตัวเอง เป็นการรับผิดชอบและชี้ให้เห็นผลของการไม่ทำมากกว่า เช่น ไม่เก็บที่นอน ไม่เก็บก็ได้ แต่ถ้าคุณอาบน้ำมาสะอาดๆ คุณอยากไปอยู่บนเตียงแบบไหน เตียงสะอาดหรือมีฝุ่น เพราะฉะนั้นทุกวันคุณควรจะคลุมเตียงหรือเปล่า เพื่อให้ฝุ่นไม่ลง 

ส่วนใหญ่เขาจะไม่ทำทันที เขาจะลีลาไปทำอย่างอื่นก่อน แต่พอผ่านไป เราก็เห็นว่าเขาทำแล้ว คือเขาเคยพูดมาสองสามครั้งว่า เขาไม่ชอบให้จ้ำจี้จ้ำไช

แม่พาม: ใช่ เราจะไปพูดว่าต้องทำนะ ต้องๆๆ แบบนี้ไม่ได้ แค่ให้เหตุผลเขา ไม่ต้องดุ ไม่ต้องจ้ำจี้จ้ำไช แค่บอกว่าลูกต้องทำเพราะนี่คือหน้าที่ พูดแค่นั้นเขาก็รู้ด้วยตัวเอง 

ตัวอย่างตอนที่เขาเล่นเกม เราก็กำหนดเวลาให้เขา แต่ถ้าเขาอยากเล่นต่อ ก็ขอ เราก็จะบอกว่า ถ้าคุณเล่นเกม เวลาทำอย่างอื่นก็หมดนะ เพราะเวลามันมีจำกัด คุณอาจไม่ได้ไปเตะบอลกับพ่อ ไม่ได้เล่นเปียโน อะไรแบบนี้ บางทีเขาก็ยอมแลก เราก็ปล่อย แต่เขาก็ไม่ได้ทำบ่อย เพราะเขารู้ว่าเล่นแค่นี้พอแล้ว

มีการตั้งกฎหรือมีข้อห้ามของบ้านไหม

แม่พาม: มีสามข้อ หนึ่ง ห้ามทำร้ายตัวเอง สอง ห้ามทำร้ายคนอื่น สาม ห้ามทำลายข้าวของ 

ทำไมต้องสามข้อนี้

แม่พาม: มันครอบคลุมทุกอย่างเลย สมมุติคุณมีอารมณ์โกรธมาก แล้วถ้าคุณไม่ทำร้ายตัวเอง ไม่ทำร้ายคนอื่น ไม่ทำลายข้าวของ มันก็จบแล้ว 

เราจะบอกเขาเสมอว่าถ้าโกรธ โกรธได้ ความรู้สึกเราห้ามไม่ได้หรอก เราจะรู้สึกอะไรรู้สึกได้หมดเลย แต่สิ่งเดียวที่ต้องตระหนักไว้ตลอดคือ จะแสดงออกอย่างไรกับความโกรธนั้น คุณต้องรู้ว่าตัวเองโกรธ และจะทำตัวอย่างไร 

ภายในบ้านมีกิจกรรมอะไรที่ทำร่วมกันบ้าง

แม่พาม: มีหลายอย่างมาก ฟังเพลง เล่นดนตรี คือเราจะตั้งวันกิจกรรมให้เขา เช่น จันทร์ระบายสี อังคารอาจจะซักผ้า พุธทำขนม ทำความสะอาดโต๊ะ เช็ดของ อะไรแบบนี้ 

ส่วนพ่อเขาถ้ามีกิจกรรมอะไรชวนลูกหมด ไปปลูกผัก กวนปูน จับปลาดุก แล้วก็กิจกรรมตอนเย็น เช่น ออกกำลังกาย เล่นฟุตบอล เขาก็มีชุดเต็มยศของเขา มีกรวย มีอุปกรณ์ให้เขาซ้อม และก็ฝึก ซึ่งวิธีฝึกก็ดูยูทูบแค่นั้น ให้เขาทำตาม เราก็ทำกับเขาด้วย 

แต่ก็มีบางอย่างที่เขาไม่อยากทำเหมือนกัน เช่น แม่เชี่ยวชาญด้านการทดลองเรื่องของกินเป็นพิเศษ เราก็อยากลองทำขนม เลยชวนลูกมา แต่เขาไม่อินทั้งสองคนเลย เหมือนพี่ไม่สนใจน้องก็ไปเอาตาม พอเป็นอย่างนั้นช่วงแรกเครียดมากที่ลูกไม่อิน เราก็เลยพักการทำขนมไป 

แต่ด้วยความอยากของตัวเอง เราก็เลยกลับมาทำและคิดว่าช่างมัน ถ้าลูกอยากมาช่วย เขาก็มาเอง แล้วเขาก็ค่อยๆ มา โดยที่เราไม่ได้ทำอะไร แค่บอกเขาว่าถ้าจะทำก็มานะ ถ้าจะทำก็บอก เขาเป็นเด็กเขาก็คงอยากลองอยู่แล้ว แค่อย่าไปบังคับ

ตอนนี้หลักๆ ก็ทำกับข้าวกับมาร์ส เขาชอบทำเมนูไข่ อย่างไข่เจียว เขาชอบมาก จนนับถือเป็นศาสนาเลย (หัวเราะ)

นับถือศาสนาไข่เจียว?

พ่อพร&แม่พาม: ใช่ๆ

ทำไมถึงนับถือศาสนาไข่เจียว แล้วเราคิดเห็นว่าอย่างไร 

พ่อพร: เริ่มจากที่มาร์สเรียนวิชาพระพุทธศาสนา และสงสัยว่า คนเรารู้ได้ยังไงว่าพระพุทธเจ้าเกิดเมื่อไหร่ ใครเป็นคนบันทึก ก็เลยมาถามเรา 

แต่ด้วยความที่เราไม่เชื่อเรื่องศาสนา เพราะถ้าคุยกันตรงๆ ศาสนาคือเครื่องมือของผู้มีอำนาจ มันคือการเมืองชนิดหนึ่งเท่านั้นเลย และเกิดมาเราก็ไม่ได้เป็นคนเลือก พ่อแม่ระบุให้ เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันคืออะไร 

เราก็เลยถามลูกกลับไปว่า คิดว่าทำไมคนต้องนับถือศานา มันช่วยอะไรเรา แล้วถ้าเรานับถือตัวเอง หรือนับถือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันมันทำได้ไหม เขาก็ยังไม่เข้าใจหรอก แต่เขาก็คิด 

เราเลยยกตัวอย่างลัทธิเบค่อนในต่างประเทศให้เขาฟัง ว่าคนต่างประเทศบางคนนับถือลัทธิเบค่อนนะ ไม่นับถือพระเจ้า เพราะเบค่อนกินได้ พระเจ้ากินไม่ได้

มาร์สก็เลยพูดขึ้นมาว่า งั้นมาร์สก็นับถือไข่เจียวได้สิ เราก็บอก ได้ อะไรที่ทำให้มาร์สรู้สึกมีความสุขเวลาอยู่กับมัน มาร์สก็นับถืออันนั้นได้ 

ประเด็นคือ ด้วยความที่เราไม่เชื่อเรื่องบุญทำกรรมแต่ง ไม่เชื่อในโลกหน้า อดีต นรกหรือสวรรค์ ทุกอย่างเป็น false คือไม่เป็นจริง 

ซึ่งส่วนตัวพ่อสนใจคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เรื่องของจักรวาลและอวกาศอยู่แล้ว ดังนั้น เราเลยมีความคิดแบบวิทยาศาสตร์ เพราะมันสอนให้ทดลอง ตั้งสมมุติฐาน เห็นผลลัพธ์ และพัฒนาการ 

พอถึงจุดหนึ่งกลายเป็นว่าเราไม่สนเรื่องการนับถือศาสนา แต่ก็ไม่ได้ลบหลู่นะ เพราะในด้านโครงสร้างสังคมการนับถือมันก็ดี ไม่นับถือมันก็ดี มันเป็นเรื่องธรรมชาติ ที่ทุกอย่างเกี่ยวพันกัน โลกเรามันต้องมีความหลากหลาย มันเป็นอันหนึ่งอันใดเสมอไม่ได้

ซึ่งถ้าพูดด้วยกฎของวิวัฒนาการ มันต้องมีพัฒนาการไปเรื่อยๆ พอเราเชื่อแบบนั้นทุกอย่างก็มีความหลากหลาย มันจะเหมือนกันไม่ได้ ธรรมชาติควรมีความต่าง คนก็เหมือนกัน ลูกเราก็เหมือนกัน ลูกเราสองคนยังต่างกันเลย

ดังนั้น สิ่งที่เราทำได้คือ ไม่ใช่ให้ลูกมาเหมือน มาฟัง หรือทำตามเรา แต่เราทุกคนต้องยอมรับในความต่างของกันและกัน มันถึงจะอยู่ร่วมกันได้

ทั้งคู่พูดคุยเรื่องการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศกันบ้างไหม แล้วส่งต่อให้ลูกอย่างไร 

แม่พาม: พ่อแม่คุยกัน แต่ถ้าคุยกับลูกก็มีบ้าง คือเราก็บอกเขาตรงๆ ว่าตอนนี้บ้านเมืองเกิดอะไรขึ้น เช่น มีม็อบ ม็อบคืออะไร อะไรแบบนี้ แต่เราจะเน้นการอธิบายหรือยกตัวอย่างง่ายๆ ให้เขาเข้าใจมากกว่า 

เช่น ในบ้านเรามีประชากรอยู่ด้วยกัน 5 คน ทุกคนจ้างให้แม่เป็นคนดูแลคนในบ้าน แต่แม่เอาเงินไปทำอย่างอื่น แบบนี้ลูกๆ จะยอมไหม ทั้งๆ ที่นั่นมันเงินลูก และเป็นหน้าที่ที่ลูกต้องจ่ายด้วย ฉะนั้นลูกมีสิทธิที่จะเรียกร้อง หรือถามว่าเงินของลูกและเงินของทุกคนอยู่ไหน 

แสดงว่าเราสอนลูกให้รู้จักว่าสิทธิคืออะไรอยู่แล้ว?

แม่พาม: ใช่ค่ะ ยิ่งตอนเขาเรียนไม่ว่าจะที่โรงเรียนหรือออนไลน์ เราบอกเขาตลอดว่าอันไหนที่ลูกไม่เข้าใจ ลูกมีสิทธิถามครูได้นะ เพราะลูกทำหน้าที่นักเรียนในการตั้งใจเรียนแล้ว ลูกก็มีสิทธิถามครูว่าทำไมต้องเป็นแบบนี้ ลูกมีสิทธิตั้งคำถาม

พ่อพร: ถ้าย้อนกลับไปก่อนเรื่องสิทธิ จะมีอีกเรื่องที่เราพูดกับเขาเสมอคือ ความเป็นส่วนตัว เช่น เรื่องของของเขา ถ้าใครไปหยิบของเขาโดยพลการ หรือแย่งจากมือ ไม่ได้ขอก่อน เราก็บอกเขาว่ามันคือสิทธิของคุณที่จะให้ ไม่ให้ เช่น ถ้านี่เป็นของของน้อง แล้วพี่ขอ ก็แล้วแต่น้องว่าจะให้หรือไม่ก็ได้ ไม่ใช่หยิบมาเลย โดยที่คุณจะใช้สิทธิความเป็นพี่ไม่ได้ 

พอเราสอนให้เขาเข้าใจเรื่องสิทธิของเขา มันก็จะไม่ละเมิดสิทธิของบุคคลอื่นด้วย 

เราเชื่อว่าต่อไปมันก็จะง่ายในการอธิบายภาพกว้างมากยิ่งขึ้น อย่างเรื่องการเมืองการปกครอง สิทธิของประชาชนคืออะไร ประชาชนมีสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะได้รับการดูแลจากรัฐโดยถูกต้องตามกฎหมายร้อยเปอร์เซ็นต์ แล้วกฎหมายคืออะไร รัฐธรรมนูญคืออะไร เราก็จะสอนเขาได้

ถ้าลูกต้องอยู่ในสังคมที่การลิดรอนสิทธิผู้อื่นเป็นเรื่องให้เห็นจนชินตา เคยจินตนาการไหมว่าลูกจะเติบโตมาเป็นอย่างไร

แม่พาม: คงเหนื่อย (ถอนหายใจ) เพราะเรายังเหนื่อยเลย

เอาจริงเราไม่ห่วงลูกว่าจะใช้ชีวิตได้ไม่ได้ เราเชื่อว่าเขาอยู่ได้ สิ่งที่เราให้เขาในวันนี้มันเป็นภูมิคุ้มกันหนึ่งที่เขาจะไปอยู่ตรงไหนก็ได้ในโลกใบนี้ ถ้าเราสอนให้เขาสงสัย ถาม หาข้อมูล ยังไงก็อยู่ได้

พ่อพร: สำหรับเราการเลี้ยงลูกให้เป็นพลเมืองที่ดีของโลกมันคือเป้าหมาย เราไม่ได้มองว่าเขาเป็นประชาชนคนไทยอย่างเดียว แต่มองว่าเป็นคนของโลกด้วย 

ดังนั้น ถ้าเขารู้สึกอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยทำให้บ้านเมืองหรือโลกนี้ดีขึ้น มันก็เป็นสิ่งดีที่เราต้องสนับสนุน ถ้าไม่พอใจก็แสดงออกในกรอบของกฎหมาย การไม่ย่อท้อในการแสวงหาโอกาสที่จะทำให้มันถูกต้อง น่าจะเป็นแนวความคิดที่ไปต่อได้ในอนาคต

บ้านเมืองแบบไหนที่คิดว่าเด็กโตมาจะมีคุณภาพ

แม่พาม: ต้องยอมรับความแตกต่าง เห็นมนุษย์เป็นมนุษย์ เห็นคนเท่ากัน เราไม่ได้เลี้ยงลูกเพราะว่าเขาเป็นลูก แต่เพราะเขาคือมนุษย์คนหนึ่ง เขามีตัวตนของเขา แม้เขาเกิดจากเราก็จริง แต่เด็กไม่ใช่ผ้าขาว เขามีอะไรของเขามาอยู่แล้วโดยธรรมชาติ ซึ่งเราไม่รู้หรอก แต่เขาเป็นเขา เราจะเลี้ยงให้เขาเป็นเหมือนเราไม่ได้ จะให้เขามาชอบเหมือนเราไม่ได้ ถ้าเราเคารพตรงนี้ได้ เราเชื่อว่าทุกอย่างจะดีกว่านี้ 

พ่อพร: ผมลดช่องว่างระหว่างผมกับลูกด้วยการเรียกกันว่า ‘คุณ’ กับ ‘ผม’ เราเรียกกัน คุณๆ ผมๆ มาหลายปีแล้ว จนเป็นเรื่องปกติ คือให้เหมือนเขาอยู่กับเพื่อน เราก็ไม่ได้มองเขาเป็นเด็กด้วย แต่มองเป็นมนุษย์คนหนึ่ง 

ดังนั้น การเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ไม่ด้อยค่าความสามารถเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน มันอาจจะดีกว่าสังคมที่เป็นอยู่ตอนนี้

เราไม่เชื่อในคำพูดที่ว่า “มีคนอื่นที่ด้อยกว่าเรา” “ทำได้แค่นี้ก็ดีแล้ว” เราคิดว่าคำพูดพวกนี้มันบั่นทอนจิตใจไม่ให้เราพัฒนา ถ้าคุณอยากพัฒนาคุณต้องมองสิ่งที่ดีกว่าสิ เพื่อจะได้มุ่งไปข้างหน้า 

ถ้าคุณอยากมุ่งไปข้างหน้า แต่ดันเทียบกับสิ่งที่ด้อยกว่า คิดว่าจะมุ่งไปได้ไกลแค่ไหน เผลอๆ อาจจะอยู่ที่เดิม 

มันก็ย้อนกลับมาเรื่องของคำสรรพนามแทนตัว ที่เราคุยกับลูกแบบนี้ก็เพื่อให้เขาแสดงตัวตนของเขาออกมา เขาจะได้รู้ว่าตัวเองมีตัวตน มีความรู้สึก ไม่ใช่เกิดมามีเจ้าของต้องฟังคำสั่งใคร เขาเป็นปัจเจก เขาคือมนุษย์คนนึงที่พัฒนาตัวเองและพัฒนาสังคมได้

เราซื้อหนังสือมาให้ลูกเยอะมาก เพราะเชื่อว่าการได้เรียนรู้จากหนังสือจะทำให้เขาเปิดโลกกว้างมากขึ้น เขาก็จะเห็นสิ่งที่โอเคและไม่โอเคในสังคม 

ดังนั้น หน้าที่ของพ่อแม่จึงต้องสนับสนุนลูกให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทำให้ลูกมองเห็นว่าสังคมที่อยู่นั้นมันดีหรือไม่ดี ถ้าไม่ดีเขาจะทำให้ดีขึ้นได้อย่างไร 

ด้วยสถานการณ์ ณ ปัจจุบัน ที่ในสังคมคนส่วนใหญ่มีแต่ความทุกข์ใจ หรือกำลังเดือดร้อน เรามีวิธีการสอนลูกอย่างไรให้เห็นอกเห็นใจคนอื่น 

แม่พาม: เราทำให้เห็นมากกว่า ถ้าแค่พูดมันยากนะ

พ่อพร: เข้าอกเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ หรือ empathy เราจะทำให้เขาเห็น เช่น พอมีเหตุการณ์ที่พี่น้องทะเลาะกัน น้องเสียใจ บางทีเล่นกันแรงไป เราก็บอกถ้าเรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นกับคุณ คุณจะรู้สึกอย่างไร 

เราก็บอกลูกว่าบางเรื่องอาจไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับคุณ แต่คนอื่นอาจใหญ่ก็ได้ หรือถ้าทำของแม่พัง แม่เสียใจ ถ้าเป็นของมาร์สล่ะ มาร์สจะรู้สึกอย่างไร ขอโทษแม่หรือยัง

มันเป็นการสอนให้เข้าอกเข้าใจคนในครอบครัวมากกว่า สำหรับเด็กในวัยนี้  เพราะถ้าให้เห็นอกเห็นใจคนในสังคมตอนนี้ มันอาจค่อนข้างสเกลใหญ่ไป 

แต่ส่วนตัวผม ผมคิดว่าการเห็นอกเห็นใจกัน มันไม่ควรเป็นเรื่องการบริจาค หรือต้องมีคนมาช่วยกันเยอะๆ อะไรแบบนี้มันสะท้อนว่ารัฐไม่ทำหน้าที่ ทำให้ประชาชนต้องมาดูแลกันเอง ทั้งๆ ที่ทุกคนเสียภาษีกันไปหมดแล้ว มันควรเป็นสวัสดิการรัฐที่ต้องดูแลประชาชนให้ดี เรื่องของความถูกต้องควรเป็นแบบนี้ 

เราไม่ควรเห็นอกเห็นใจกันเอง เพราะความบกพร่องจากการบริหารจัดการของรัฐบาล 

เวลาที่เราคุยเรื่องคอนเซ็ปต์การเลี้ยงลูก ส่วนใหญ่จะเป็นพ่อแม่ที่มีทักษะ มีความรู้ และมีกำลังทรัพย์ แต่ก็มีพ่อแม่อีกจำนวนไม่น้อยที่ยากจน ไม่มีโอกาสทางอาชีพ หรือแม้แต่เวลามาพร่ำสอนลูก ทั้งคู่คิดว่าคนที่มีปัญหาแบบนี้รัฐควรทำอย่างไร และเราจะแชร์ความรู้ รวมถึงวิธีการในการเลี้ยงลูก ที่สามารถปรับใช้กับพวกเขาได้อย่างไร

แม่พาม: เราว่ามันน่าเศร้ามากนะ รู้สึกว่าสังคมเราคนยังไม่ให้ความสำคัญกับหน้าที่ในการดูแลเด็ก ซึ่งการดูแลเด็กมันเหมือนอาชีพหนึ่งในการที่จะทำให้เขาเติบโตมาเป็นมนุษย์หรือคนที่จะอยู่ในสังคมโดยที่ไม่ทำให้สังคมเดือดร้อนได้อย่างไร 

แต่กับสังคมที่คนที่ดูแลเด็กไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่หรือครูเอง กลับไม่มีเวลาในการใส่ใจเด็กอย่างเต็มที่ เพราะก็ต้องทำมาหากิน มันมีเงื่อนไขทางเศรษฐกิจแบบนี้อยู่ ซึ่งในส่วนนี้รัฐต้องซัพพอร์ตหรือช่วยพวกเขา ถึงแม้จะมีประกันสังคมที่ให้เดือนละ 600 บาท ต่อลูกหนึ่งคน แต่ถามหน่อยว่ามันพอไหม ขนาดลูกกินนมแม่มันยังไม่พอเลย

พ่อพร: ผมแยกเป็นสองประเด็น 

ประเด็นแรกต้องมองย้อนไปว่าบ้านเมืองเราเป็นอย่างนี้ได้อย่างไร ขณะที่ไทยเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศที่ประชากรเสียภาษีเยอะมาก ความเหลื่อมล้ำ เวลา หรือครอบครัว อะไรต่างๆ สมควรมีเวลาเลี้ยงลูก สมควรที่มีรายได้มาตรฐานที่ดีกว่านี้ เพื่อเอาเวลาไปดูแลทรัพยากรมนุษย์ด้วยกันเอง หรือลูกหลานของเรามากกว่านี้ 

รัฐควรที่จะทำหน้าที่ได้ดีกว่านี้ ถ้ามองย้อนไปคือมันมีความผิดพลาดตรงไหน ความล้มเหลวของการบริหารจัดการของรัฐผิดพลาดที่จุดใด จึงทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำหรือเกิดครอบครัวแบบนี้ขึ้น

ประเด็นที่สอง แนวทางอย่างพวกเราถือว่าสามารถเข้าถึงโอกาสได้มากกว่าพ่อแม่คนอื่นๆ คือ มีทุนทรัพย์ มีเวลาศึกษาหาความรู้ สร้างวิถีชีวิต หรือรูปแบบในการเลี้ยงลูก

ดังนั้น ถ้าจะช่วยเสริมกันเชิงสังคม มันต้องมีพื้นที่ในการแชร์และแบ่งปันประสบการณ์ โดยไม่ใช่เริ่มที่วิธีการ แต่เป็นวิธีคิดก่อน ให้เขารู้ว่าการเลี้ยงลูกแบบเดิมๆ อย่างที่เราเจอมา หรือวิธีที่เขากำลังเลี้ยงอยู่นั้น ทางข้างหน้ามันแคบแค่ไหน

Writer
Avatar photo
ธัญชนก สินอนันต์จินดา

บัณฑิตไม่หมาดจากรั้วเหลืองแดง ที่พกคำว่า ‘ลองสิ’ ติดหัวตลอดเวลา เพราะเชื่อว่าประสบการณ์ชีวิตเกิดจากการไม่กลัวและลงมือทำเท่านั้น

Related Posts

Related Posts