Empathy Bias แม้แต่ ‘ความเข้าอกเข้าใจ’ ก็หนีไม่พ้นอคติ
Empathy Bias แม้แต่ ‘ความเข้าอกเข้าใจ’ ก็หนีไม่พ้นอคติ
- ความสามารถในการเข้าถึงใจผู้อื่นสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับคนรอบข้าง
- อคติไม่ใช่เรื่องเลวร้ายหากเรารู้เท่าทันอารมณ์และความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง
- อุปสรรคของการเข้าถึงใจผู้อื่นคือ จิตรู้คิดของมนุษย์นั้นขึ้นอยู่กับสภาวะทางจิตใจ การตัดสินใจของเราขึ้นอยู่กับสภาวะอารมณ์อย่างเลี่ยงไม่ได้
ความสามารถในการเข้าถึงใจผู้อื่น (empathy) จำเป็นต่อการอยู่ในสังคม นับแต่วัยเด็กที่เริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง วัยรุ่นที่ต้องปรับตัวเข้าสังคม จนถึงผู้ใหญ่ที่ต้องทำงานเป็นหมู่คณะ มีทักษะควบคุมและจัดการอารมณ์ แสดงออกทางอารมณ์และตอบสนองต่อผู้คนได้อย่างเหมาะสม หากขาดทักษะนี้ สังคมคงกลายเป็นเสมือนฝันร้ายของใครหลายคน
คำถามคือ เราเห็นอกเห็นใจ “ทุกคน” จริงหรือไม่ หรือความเห็นอกเห็นใจเป็นเพียงภาพสะท้อนของอคติของเรากันแน่
เออมีล บรูโน (Emile Bruneau) นักประสาทวิทยาศาสตร์การรู้คิดจากมหาวิทยาลัย MIT พบว่าอาชญากรบางคนมีความสามารถในการเข้าถึงใจผู้อื่นสูงกว่าค่าเฉลี่ยของคนทั่วไป ทว่าความเข้าใจนี้มีเพื่อคนที่มีลักษณะภายนอกเหมือนกับตัวเอง คิดและทำสิ่งเดียวกันเท่านั้น
we’re biased therefore we are: เพราะเราอคติ เราจึงยังอยู่
“คนส่วนใหญ่มักคิดว่าอคติเป็นเรื่องผิด เป็นอันตรายร้ายแรง ย่ำแย่ และเราต้องพยายามขจัดมันให้สิ้นซาก แต่อคติจำเป็นต่อการเอาชีวิตรอดของเรา ช่วยให้เราอยู่รอดได้ เพราะเราไม่อาจรับรู้ข้อมูลทั้งหมดรอบตัวเราได้ ไม่ว่าข้อมูลนั้นจะเกี่ยวข้องกับเราหรือไม่ก็ตาม โดยส่วนมากอคติมีประโยชน์ต่อเรา แต่เราแค่ต้องตระหนักในยามที่มันมีโทษ และก้าวแรกสู่การรู้เท่าทันตัวเองคือมีความถ่อมตัวทางปัญญา (intellectual humility) นั่นคือยอมรับว่ามุมมองของเรามีอคติ” ไฮดี เมบอม (Haidi Maibom) อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา มหาวิทยาลัยซินซินนาติ ผู้เขียนหนังสือ Empathy (2020) และ The Space Between: How Empathy Really Works (2022) กล่าวไว้ในบทสัมภาษณ์กับนิตยสาร Greater Good
ในทางจิตวิทยามีการจำแนกประเภทของ อคติทางความคิด (cognitive bias) ถึงหลักร้อยประเภท ในที่นี้จะกล่าวถึงประเภทที่พบได้บ่ายในชีวิตประจำวัน
Actor-observer bias – ความลำเอียงในฐานะผู้กระทำ-ผู้สังเกตการณ์
เมื่อเราอธิบายการกระทำของคนอื่น เรามักพูดว่าเป็นเพราะอุปนิสัยหรือปัจจัยภายในอื่น ๆ ในทางตรงกันข้าม คนส่วนมากมักอธิบายการกระทำของตัวเองว่าเกิดจากปัจจัยภายนอกหรือสถานการณ์ต่าง ๆ ในขณะนั้น
ในปี 2007 ดไวต์ เอ. เฮนเนสซี (Dwight A. Hennessy) และโรเบิร์ต จาคุโบสกี (Robert Jakubowski) ให้ผู้ร่วมทดลองชมภาพจำลองอุบัติเหตุรถยนต์ปาดหน้ารถบรรทุก คนกลุ่มแรกชมจากมุมมองของคนขับ อีกกลุ่มเป็นคนขับรถอีกคันที่เห็นเหตุการณ์ คนกลุ่มที่สวมบทบาทเป็นคนขับเล่าว่าเหตุการณ์ไม่เสี่ยงอันตรายเท่ากับกลุ่มที่เป็นผู้เห็นเหตุการณ์
Anchoring bias – ความลำเอียงที่จะเชื่อข้อมูลแรกที่ได้รับ
สิ่งที่ได้รู้จากกระบวนการสืบสวนหาข้อมูลส่งอิทธิพลต่อการตัดสินใจมากกว่าข้อมูลที่ได้รับในภายหลัง เมื่อยึดติดกับข้อมูลแรกแล้ว เราจะเผลอปรับข้อมูลที่ได้รับหลังจากนั้นให้เข้ากับข้อมูลตั้งต้นนั้น
Attentional bias – ความลำเอียงที่จะสนใจเฉพาะอย่าง
มีความเป็นไปได้ว่ามนุษย์มีความลำเอียงประเภทนี้เพื่อความอยู่รอด ในโลกที่มากล้นด้วยข้อมูล มนุษย์ต้องคัดกรองและสังเกตแค่สิ่งที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ความสุข และความปลอดภัย ทักษะการเอาตัวรอดนี้อาจกลายเป็นความลำเอียงได้ถ้าเราจดจ่อเฉพาะข้อมูลประเภทเดียวและมองข้ามข้อมูลอื่น
Availability heuristic – ความลำเอียงที่เกิดจากความเข้าถึงง่าย
เรามีแนวโน้มจะเชื่อถือความคิดที่ผุดขึ้นมาเป็นลำดับแรก ๆ ถ้าเรานึกถึงข้อเท็จจริงที่สนับสนุนการตัดสินใจหนึ่งได้ และมีแนวโน้มจะคิดว่าการตัดสินใจนั้นถูกต้อง เช่น ถ้าเราเห็นพาดหัวข่าวเกี่ยวกับการถูกฉลามโจมตีหลายครั้ง เรามีโอกาสจะเชื่อว่าโอกาสถูกฉลามโจมตีสูงกว่าความเป็นจริง
Confirmation bias – ความลำเอียงยืนยันความคิด
เรามักตีความข้อมูลให้เข้าข้างสิ่งที่เราเชื่ออยู่แล้ว และเพิกเฉยต่อข้อมูลที่ขัดแย้งกับความเชื่อของตัวเอง ความลำเอียงนี้มีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในยุคที่สื่อสังคมออนไลน์เก็บประวัติการกดถูกใจและการค้นหาไว้ และป้อนให้เฉพาะข้อมูลที่ตรงตามความชอบและความสนใจของเรา
Dunning-Kruger effect – ปรากฏการณ์ดันนิง-ครูเกอร์
นักจิตวิทยาอธิบายไว้ว่าปรากฏการณ์ดันนิง-ครูเกอร์หมายถึงแนวโน้มที่เราจะไม่ตระหนักถึงความขาดทักษะหรือความเชี่ยวชาญในด้านใดด้านหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นทักษะทั่วไปอย่างการเล่นไพ่ไปจนถึงทักษะเฉพาะทางอย่างเช่นการแพทย์
False consensus effect – ความลำเอียงในการตั้งข้อสรุปผิด ๆ
เช่นเดียวกับที่บางคนประเมินความสามารถของตัวเองสูงเกินไป บางคนประเมินสูงเกินไปว่าคนอื่นเห็นด้วยกับการตัดสินใจหรือยอมรับพฤติกรรมของตัวเอง คนส่วนมากมีแนวโน้มคิดว่าความเชื่อและการกระทำของตัวเองเป็นเรื่องปกติ ขณะที่พฤติกรรมของคนอื่นเป็นเรื่องแปลก
Functional fixedness – แนวโน้มที่จะยึดติดกับหน้าที่
เมื่อเห็นค้อน เราจะมองว่ามันคือเครื่องมือสำหรับการตอกตะปู เพราะค้อนออกแบบมาเพื่อใช้งานแบบนี้ สมองจึงผูกโยงหน้าที่ของค้อนเข้ากับภาพหรือคำว่าค้อน ทว่าแนวโน้มยึดติดกับหน้าที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะเครื่องมือเท่านั้น แนวโน้มนี้เกิดขึ้นกับคนได้อีกด้วย ความลำเอียงประเภทนี้จำกัดความคิดสร้างสรรค์และความหลากหลายในการแก้ไขปัญหา
Halo effect – อคติที่เกิดจากลักษณะเด่น
ความคิดเห็นต่อใครคนใดคนหนึ่งอาจถูกหล่อหลอมด้วยจุดเด่นเพียงอย่างเดียว เช่น ความงาม ซึ่งอาจทำให้คนบางคนเป็นที่รักมากกว่า หรือมีมายาคติบางอย่างเกี่ยวกับคนคนนั้น
Misinformation effect – ปรากฏการณ์ข้อมูลเท็จ
เมื่อเราจำเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนี่งได้ ความจำของเราจะเปลี่ยนไปหากได้รับข้อมูลเท็จในภายหลัง ความลำเอียงรูปแบบนี้มีผลอย่างยิ่งในบริบทที่ต้องเก็บข้อมูลจากความทรงจำ เช่น คำให้การของพยาน
Optimism bias – อคติที่เกิดจากการมองแง่บวก
อคติประเภทนี้คือแนวโน้มที่เราจะคิดว่าตัวเองลำบากน้อยกว่าและมีโอกาสประสบความสำเร็จ เพราะเราเลือกอัปเดตเฉพาะเหตุการณ์ที่ไปได้ดี และไม่ค่อยใส่ใจเหตุการณ์ที่จบไม่สวย
Self-serving bias – อคติเข้าข้างตัวเอง
เมื่อเกิดปัญหาในชีวิต เรามีแนวโน้มโทษว่าเกิดจากอิทธิพลภายนอก ทว่าถ้าคนอื่นมีปัญหาในชีวิต เราจะเกิดความสงสัยว่าเป็นความผิดของเขาเองหรือเปล่า เป็นข้อบกพร่องส่วนตัวหรือเปล่าที่ทำให้เกิดปัญหา ในทำนองเดียวกัน เราอาจเห็นว่าเป็นเพราะข้อดีหรือนิสัยดี ๆ ของตัวเองที่ทำให้เกิดเรื่องดี ๆ ในชีวิต
เมื่อเรารู้จักและตระหนักถึงอคติที่เราและคนอื่นอาจมี เราจะสามารถเข้าถึงใจผู้อื่นได้มากขึ้น ด้วยการยอมรับว่าการเข้าถึงใจของเราได้รับอิทธิพลจากอคติเหล่านี้
อคติกับการเข้าถึงใจผู้อื่น
นอกจากอคติที่มี อีกปัจจัยที่ส่งผลต่อการเข้าถึงใจผู้อื่นคือจิตรู้คิดของมนุษย์ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาวะทางจิตใจ การประมวลผลข้อมูลและตัดสินใจได้รับอิทธิพลอย่างมากจากสภาพจิตใจของเราในขณะนั้น ดังนั้น การตระหนักว่าเราต่างมีอคติ ธรรมชาติของการรู้คิดของมนุษย์ขึ้นอยู่กับสภาพจิตใจ และอารมณ์ความรู้สึกมีอิทธิพลต่อการรับรู้และพฤติกรรมของเราจึงเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการถมเติมช่องว่างความเข้าอกเข้าใจ
ใน The empathy gap: why we underestimate the influence of emotions แอนน์-ลอร์ เลอ กัฟ (Anne-Laure Le Cunff) นักประสาทวิทยาศาสตร์เสนอแนวทางการผสานช่องว่างของการเข้าถึงใจผู้อื่นไว้ดังนี้
ลดอคติในการคาดการณ์ล่วงหน้า
แทนที่จะใช้สัญชาตญาณในการคาดการณ์การกระทำในอนาคต ใช้ข้อมูลจริงประกอบการตัดสินใจ เช่น คุณตอบสนองอย่างไรเมื่อมีคนในที่ทำงานซื้อโดนัทมาให้ คุณพูดว่าอะไรตอนที่เพื่อนอวดความสำเร็จ บางครั้งการกระทำในอดีตเป็นตัวบ่งชี้ที่ดีกว่าการคาดการณ์
นึกภาพสภาวะจิตใจที่แตกต่างหลากหลาย
ไม่ว่าจะพยายามทำความเข้าใจมุมมองของคนอื่นหรือพยายามเข้าถึงใจตัวเองในอนาคต พยายามนึกภาพสภาวะจิตใจที่แตกต่างจากปัจจุบัน หากตอนนี้คุณรู้สึกสงบ ลองนึกดูว่าคนที่กรุ่นโกรธจะรู้สึกอย่างไร
ไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางสถานการณ์
บางครั้งการแสร้งทำเหมือนว่าเหตุการณ์นั้นไม่เกี่ยวกับคุณก็ไม่ช่วยให้เข้าใจสถานการณ์นั้นมากขึ้น แทนที่จะถามตัวเองว่าคิดหรือรู้สึกอย่างไร ลองคิดว่าคนอื่นจะรู้สึกอย่างไรในสถานการณ์เดียวกัน เขาจะคิดอย่างไร
อ้างอิง
https://greatergood.berkeley.edu/article/item/is_your_empathy_biased
https://massivesci.com/articles/empathy-bias-produce-groups-emotions/
https://builtin.com/diversity-inclusion/unconscious-bias-examples
https://www.intechopen.com/chapters/55598
https://www.psy.chula.ac.th/th/feature-articles/online-empathy
https://www.psychologytoday.com/us/blog/the-empathy-gap/201703/what-s-the-matter-empathy
https://greatergood.berkeley.edu/article/item/would_the_world_be_better_off_without_empathy
Writer
ศิริกมล ตาน้อย
อยากเกิดใหม่เป็นแมงกะพรุน
illustrator
พรภวิษย์ เพ็งเอียด
ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม