ศูนย์เด็กเล็กมีเด็ก 80 ครู 6 พื้นที่ 57 ตารางวา มีสระว่ายน้ำที่ครูช่วยกันสร้างเอง และมีรอยยิ้มของเด็กๆ ตลอดเวลา เพราะถ้าใจครูใหญ่พอก็พาเด็กไปไกลกว่าที่ระบบใดๆ จะพาไปได้

ศูนย์เด็กเล็กมีเด็ก 80 ครู 6 พื้นที่ 57 ตารางวา มีสระว่ายน้ำที่ครูช่วยกันสร้างเอง และมีรอยยิ้มของเด็กๆ ตลอดเวลา เพราะถ้าใจครูใหญ่พอก็พาเด็กไปไกลกว่าที่ระบบใดๆ จะพาไปได้

บทสัมภาษณ์: ครูหนุ่ย พัทยา ทองมหา หัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนชุมชนนวมประดิษฐ์

“ศูนย์เด็กเล็กนี่มันเกิดขึ้นจากเด็กห้าคน กับความคิดว่า… เอ๊ะ! หรือเราจะลองดูแลพวกเขาดีไหม?” คือประโยคที่ครูหนุ่ยย้อนเล่าจุดเริ่มต้นของเรื่องราวนี้ให้เราฟัง เมื่อย้อนไปเมื่อราว 25 ปีก่อน พื้นที่ที่เป็นศูนย์เด็กเล็กในวันนี้ ยังเป็นเพียงสวนรก มีหลุมมีบ่อ และใต้ถุนบ้านไม้ของคุณย่า อดีตครูเกษียณที่ครูหนุ่ยเคยอาศัยอยู่ด้วย

ย้อนกลับไป ครูหนุ่ยในวัย 24 ปี เห็นเด็ก ๆ ในชุมชนวิ่งเล่นอยู่ละแวกบ้าน ก็นึกสนุกชวนพวกเขามาเล่นใต้ต้นไม้ และใต้ถุนบ้าน เป็นกิจกรรมเล่นเล็ก ๆ ที่ต่อมากลายเป็นการดูแล กลายเป็นการสร้างพื้นที่ชีวิต กลายเป็นศูนย์เด็กเล็กที่เปิดรับเด็กมากขึ้นเรื่อย ๆ จากห้าคนเป็นสิบ เป็นสิบห้า จนกระทั่งต้องไปปรึกษาชุมชนและขออนุญาตจัดตั้งเป็น “ศูนย์เด็กเล็ก” อย่างเป็นทางการ

พื้นที่ของศูนย์ไม่ใช่ของรัฐ แต่เป็นที่ดินของวัดที่คุณย่าเช่ามาใช้ และส่งต่อให้ครูหนุ่ยสานต่อ ครูหนุ่ยไม่ได้มีเงินทุนเริ่มต้น ไม่มีงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐ ไม่มีตำแหน่งหรืออำนาจบริหาร แต่มีหัวใจ มีความตั้งใจ และมีผู้ปกครองที่ยินดีช่วยเหลือในแบบที่พวกเขาช่วยได้

“ค่าเรียนก็เก็บนิดเดียว ผู้ปกครองชอบพูดว่า ก๋วยเตี๋ยวชามเดียวเองค่ะ” ครูหนุ่ยเล่า ด้วยน้ำเสียงที่ไม่ใช่ทั้งเหนื่อยล้าและไม่ใช่โอ้อวด แต่เหมือนเล่าถึงความจริงที่ใช้ใจแลกใจ

สำหรับเด็กบางคนที่ครอบครัวขัดสนจนไม่สามารถจ่ายค่าเล่าเรียนได้ ศูนย์ก็เปิดรับโดยไม่ถามไถ่ ครูหนุ่ยลงพื้นที่เอง เดินสำรวจบ้าน ชวนเด็ก ๆ มาเรียนโดยไม่มีเงื่อนไข “เพราะเรารู้ว่า ถ้าเขาได้รับความรัก ความอบอุ่น เขาจะโตมาอย่างมีภูมิคุ้มกัน”

ศูนย์เด็กเล็ก: รากฐานของชุมชนที่เปราะบาง

ในชุมชนเมืองที่มีชีวิตเร่งรีบและช่องว่างทางเศรษฐกิจถ่างกว้างขึ้นเรื่อย ๆ ศูนย์เด็กเล็กไม่ได้เป็นเพียงสถานที่ฝากเลี้ยงเด็กเท่านั้น แต่คือ “ระบบพยุงชีวิต” ของทั้งครอบครัว โดยเฉพาะครอบครัวแรงงานหาเช้ากินค่ำ ที่ไม่มีทางเลือกในการดูแลลูกเล็กระหว่างที่ต้องออกไปทำงาน

“บางบ้านไม่มีใครอยู่บ้านเลย ต้องออกไปทำงานกันหมด ถ้าไม่มีที่นี่ พ่อแม่ก็ไปทำงานไม่ได้ แล้วจะเอารายได้ที่ไหนเลี้ยงครอบครัว” ครูหนุ่ยเล่าจากประสบการณ์ตรง พร้อมย้ำว่า ศูนย์เด็กเล็กคือโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของชุมชนไม่แพ้ถนน น้ำประปา หรือไฟฟ้า

ผู้ปกครองที่มาใช้บริการศูนย์ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ถ้าไม่มีศูนย์เด็กเล็กนวมประดิษฐ์ พวกเขาคงไม่รู้จะฝากลูกไว้ที่ไหนอย่างไว้วางใจ เพราะญาติผู้ใหญ่ก็ไม่มี งานที่ทำก็ต้องไปทั้งวัน บางคนทำงานเป็นกะ หรือมีเวลาพักเพียงเล็กน้อย การที่ศูนย์รับดูแลเด็กได้ยาวถึงช่วงเย็น จึงช่วยให้พ่อแม่มีเวลาและสมาธิในการประกอบอาชีพ โดยไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลังว่าลูกจะปลอดภัยไหม จะได้กินข้าวหรือเปล่า หรือกำลังซึมซับสิ่งที่เหมาะสมหรือไม่

ในมุมของพ่อแม่ ศูนย์เด็กเล็กของครูหนุ่ยไม่ได้เป็นแค่สถานที่ดูแล แต่เป็น “พื้นที่ปลอดภัย” สำหรับเด็ก และเป็น “พื้นที่วางใจ” สำหรับครอบครัว

ผู้ปกครองหลายคนยังสะท้อนว่า ครูที่นี่สอนดีและใส่ใจมาก จนพวกเขาอดตั้งคำถามกับตัวเองไม่ได้ว่า เมื่อถึงวัยอนุบาลหรือประถม ลูกจะยังได้รับความเอาใจใส่แบบนี้อีกหรือไม่ เพราะรูปแบบโรงเรียนที่ใหญ่ขึ้นมักมีข้อจำกัดในการดูแลรายบุคคลอย่างใกล้ชิด

ด้วยเหตุนี้ ศูนย์เด็กเล็กจึงไม่ใช่เพียง “ทางผ่าน” ไปสู่วัยเข้าโรงเรียนเท่านั้น แต่คือ “รากฐาน” ที่ช่วยโอบอุ้มศักยภาพของเด็ก และสร้างภูมิคุ้มกันทางใจตั้งแต่ยังเล็ก

ปฐมวัย: ช่วงชีวิตที่ต้องดูแลด้วยใจ

เมื่อถามถึงเหตุผลที่เลือกทำงานกับเด็กเล็ก ครูหนุ่ยตอบทันทีว่านี่คือช่วงเวลาสำคัญที่สุด “ช่วงวัยนี้คือ ‘ครั้งแรกแยกจาก’ ครอบครัว เด็กยังไม่รู้จักโลกใบนี้ดี แต่ถ้าเขาได้ออกจากบ้านมาเจอที่ที่อบอุ่น ปลอดภัย มั่นคง เขาจะกล้าเติบโต”

ในมุมของครูหนุ่ย ปฐมวัยไม่ใช่เพียงเรื่องของการเรียนรู้ในห้องเรียน แต่เป็นจังหวะชีวิตที่ต้องได้รับความรัก ความเข้าใจ และความใส่ใจสูงสุด เป็นวัยของการปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งภูมิคุ้มกัน และทักษะชีวิตพื้นฐาน ที่จะช่วยให้เด็กยืนหยัดในโลกที่ซับซ้อนได้ในอนาคต

แนวคิดนี้สอดคล้องกับหลักการของนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลอย่าง James Heckman ที่ยืนยันว่า “การลงทุนกับเด็กปฐมวัยให้ผลตอบแทนกลับคืนสูงที่สุดในระบบเศรษฐกิจ” การพัฒนาทักษะในวัยต้นชีวิต ไม่เพียงลดต้นทุนทางสังคมในระยะยาว แต่ยังสร้างประชากรที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง

ในเชิงแนวทางการจัดการเรียนรู้ ครูหนุ่ยยังได้นำหลักสูตรปฐมวัยของประเทศไทย ปี 2560 มาปรับใช้ร่วมแนวการเรียนรู้แบบองค์รวม โดยเน้นการเล่นอิสระ การจัดสภาพแวดล้อมให้เด็กได้สำรวจเรียนรู้ด้วยตนเอง และสร้างโอกาสให้เด็กมีส่วนร่วมในการคิดและตัดสินใจ

ระบบนิเวศและข้อจำกัดเชิงนโยบาย

ศูนย์เด็กเล็กในชุมชนเมืองอย่าง “ศูนย์นวมประดิษฐ์” กำลังเผชิญกับข้อจำกัดเชิงโครงสร้างที่ลึกและเรื้อรัง ทั้งในเรื่องงบประมาณ ความชัดเจนของเจ้าภาพ และข้อจำกัดทางกฎหมายที่ไม่ได้เอื้อต่อการจัดการโดยชุมชน

แม้ กทม. จะสนับสนุนงบประมาณบางส่วน เช่น ค่าอาหาร และเงินเดือนครู แต่หากศูนย์ตั้งอยู่นอกพื้นที่ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ เช่น ที่วัด หรือที่ของชุมชนเอง จะทำให้ไม่สามารถขอรับงบพัฒนาสิ่งปลูกสร้าง หรือโครงสร้างพื้นฐานได้แบบเดียวกับศูนย์ที่อยู่ในความดูแลของเทศบาล หรืออบจ. อย่างในต่างจังหวัด 

“เราไม่ได้อยู่ใน พ.ร.บ. การศึกษาเลย เด็กเล็กไม่ได้อยู่ในระบบหลักสูตรแบบเดียวกับโรงเรียนประถม หรือมัธยมด้วยซ้ำ” ครูหนุ่ยสะท้อนถึงความคลุมเครือที่ทำให้ศูนย์เด็กเล็กจำนวนมากไม่ได้รับการดูแลอย่างเป็นระบบ

ศูนย์เด็กเล็กกับการออกแบบระบบเพื่อชุมชน

เมื่อย้อนมองจากประสบการณ์ตรงของศูนย์นวมประดิษฐ์ คำถามที่น่าคิดต่อคือ หากไม่มีพื้นที่แบบนี้ ครอบครัวแรงงานหาเช้ากินค่ำจะฝากลูกไว้ที่ใด? ใครจะเป็นคนช่วยประคองพัฒนาการในช่วงต้นชีวิตของเด็ก? และหากเด็กๆ เติบโตมาโดยปราศจากช่วงปฐมวัยที่ดี พวกเขาจะเผชิญโลกในอนาคตอย่างไร?

ศูนย์เด็กเล็กจึงไม่ควรถูกมองว่าเป็นเพียงนโยบายเสริม แต่ควรเป็นหัวใจของการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในพื้นที่เมืองที่ความเหลื่อมล้ำรุนแรงและมีครอบครัวหลากหลายรูปแบบ หากรัฐมองศูนย์เด็กเล็กเป็น “โครงสร้างพื้นฐานทางสังคม” ที่สำคัญพอๆ กับระบบขนส่งสาธารณะหรือสาธารณูปโภค การออกแบบนโยบายก็จะไม่ใช่แค่เรื่องงบประมาณ แต่เป็นเรื่องของระบบนิเวศความร่วมมือที่ชัดเจน มีโครงสร้างกลางที่เอื้อต่อการหนุนเสริมศูนย์ที่มีต้นกำเนิดจากชุมชน

การบริหารแบบมีส่วนร่วม: โรงเรียนในฐานะบ้านหลังที่สอง

หนึ่งในจุดแข็งที่สุดของศูนย์เด็กเล็กนวมประดิษฐ์คือวิธีคิดที่ไม่แยกเด็กออกจากบริบทของครอบครัวและชุมชน ครูหนุ่ยและทีมครูออกแบบศูนย์ให้เป็น “พื้นที่รวมพลัง” ไม่ใช่แค่ครู-เด็ก-พ่อแม่ แต่รวมถึงอาสาสมัคร คนในชุมชน และเครือข่ายผู้ใหญ่ที่พร้อมลงมือช่วยกัน

กิจกรรมอย่างการรดน้ำดำหัววันสงกรานต์ที่เด็กๆ ทำร่วมกับผู้ปกครอง การเล่นน้ำในสระที่สร้างขึ้นเอง การปลูกผักและทำก๋วยเตี๋ยวร่วมกันกลายเป็นตัวอย่างของการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ที่หลอมรวมความสัมพันธ์ระหว่างวัย และสร้างประสบการณ์ชีวิตที่ยากจะเกิดขึ้นในโรงเรียนขนาดใหญ่

บทเรียนจากครูหนุ่ย: โมเดลต้นแบบที่ตั้งอยู่บนความเป็นจริง

ศูนย์ของครูหนุ่ยอาจไม่มีตึกอาคารสวยงาม ไม่มีป้ายงบประมาณจากรัฐติดอยู่หน้าศูนย์ ไม่มีใบรับรองมาตรฐานตามแบบราชการทุกข้อ แต่มี “คุณภาพชีวิต” ที่เกิดจากความเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่า เด็กเล็กต้องการอะไร คนเป็นพ่อแม่ต้องการอะไร และชุมชนที่ดีควรมีบทบาทแบบไหน

ในฐานะผู้กำหนดนโยบายหรือผู้ออกแบบระบบการศึกษา บทเรียนจากศูนย์นวมประดิษฐ์คือคำถามเชิงโครงสร้างว่า เราจะทำให้พื้นที่เล็กๆ เหล่านี้ยืนอยู่ได้อย่างมั่นคงได้อย่างไร โดยไม่ต้องพึ่งพาความเสียสละของครูคนใดคนหนึ่งเท่านั้น

ความฝันของครูหนุ่ย: ถ้าให้เลือกได้อีกครั้ง

เมื่อถามถึงสิ่งที่อยากได้ที่สุด ครูหนุ่ยตอบว่า “อยากได้หลังคาที่สูงขึ้น จะได้โปร่ง โล่ง ไม่อบอ้าว เด็กจะได้อยู่สบาย” นี่ไม่ใช่คำขอที่ยิ่งใหญ่ แต่สะท้อนจินตนาการของครูคนหนึ่งที่อยากให้เด็กเล็กได้เติบโตในพื้นที่ที่เหมาะกับเขาจริงๆ

ความฝันระยะยาวของครูหนุ่ย ไม่ใช่การขยายศูนย์ให้ใหญ่ขึ้น แต่เป็นการรักษาคุณภาพชีวิตของเด็กๆ ให้ดีที่สุดในช่วงเวลาสั้นๆ ที่เขาจะอยู่ที่นี่ ช่วงเวลาที่เด็กจะซึมซับโลกใบแรก และเก็บไว้เป็นภูมิคุ้มกันตลอดชีวิต

ศูนย์เด็กเล็กคือปฐมบทของสวัสดิการชุมชน

ท้ายที่สุดแล้ว ศูนย์เด็กเล็กไม่ใช่เพียงสถานศึกษาปฐมวัย แต่คือสวัสดิการทางสังคมรูปแบบหนึ่ง ที่หากรัฐมองเห็นคุณค่าของมันในฐานะเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำ พื้นที่อย่างศูนย์นวมประดิษฐ์จะไม่ใช่ข้อยกเว้น แต่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการออกแบบระบบใหม่ที่มีหัวใจคือ “ความสัมพันธ์ ความเชื่อใจ และความร่วมมือ”