ดิสเล็กเซีย: แตกต่างไม่ได้แปลว่าบกพร่อง – Christina Tan

ดิสเล็กเซีย: แตกต่างไม่ได้แปลว่าบกพร่อง – Christina Tan

  • ดิสเล็กเซียคือความบกพร่องทางการเรียนรู้ในด้านการอ่าน การสะกดคำ การทำความเข้าใจและการเขียนอธิบาย
  • ดิสเล็กเซียถูกเข้าใจว่า ‘ขี้เกียจ’ หรือ ‘พยายามไม่มากพอ’ แต่ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ดิสเล็กซิกพยายามมากเกินไป ยิ่งพยายามมากก็ยิ่งสับสน
  • ไม่มีคำว่าสายสำหรับการช่วยเหลือลูก ความรู้คือพลัง ยิ่งคุณรู้มาก คุณก็ยิ่งถามคำถามจากผู้เชี่ยวชาญได้มากและเข้าถึงความช่วยเหลือลูกได้

ลูกอ่านหนังสือไม่ออก ลูกอ่านหนังสือช้ากว่าเพื่อน ลูกเขียนตัวหนังสือกลับหัวกลับหาง สัญญาณเหล่านี้อาจทำให้พ่อแม่หวั่นใจ นี่ใช่ดิสเล็กเซียหรือเปล่า อาจจะใช่ และอาจจะไม่ใช่ เพราะปัญหาการเรียนรู้ส่วนมากเป็นสเปกตรัม มีหลายระดับซับซ้อน ดิสเล็กเซียไม่ใช่ข้อยกเว้น

Christina Tan ผู้ก่อตั้ง Singapore Dyslexia Intervention Services และกระบวนกรเดวิส (Davis facilitator) คนแรกของสิงคโปร์ ร่วมสนทนากับเราในหัวข้อดิสเล็กเซีย เล่าถึงนิยาม สัญญาณบ่งชี้เบื้องต้น แนวทางการช่วยเหลือต่าง ๆ ประสบการณ์ตรงในการช่วยเหลือลูกสาวยาวนานกว่าทศวรรษ ตลอดจนให้ความเห็นในเรื่องระบบการศึกษาสำหรับผู้มีความต้องการพิเศษ และการดำเนินการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมของภาครัฐในบริบทประเทศสิงคโปร์

สำหรับผู้อ่านที่อาจจะไม่คุ้นกับคำนี้ ดิสเล็กเซีย (dyslexia) คืออะไร

คำอุปสรรค ดิส (dys-) มาจากภาษาละติน แปลว่า ความยากลำบากหรือด้อยคุณภาพ ส่วน เล็กเซีย (lexia) ภาษากรีกแปลว่า คำศัพท์ พูดง่าย ๆ ดิสเล็กเซียคือความบกพร่องทางการเรียนรู้ในด้านการอ่าน การสะกดคำ การทำความเข้าใจและการเขียนอธิบาย

สัญญาณเริ่มต้นของดิสเล็กเซียมีอะไรบ้าง

ผู้ปกครองมักจะสังเกตว่าเด็กเขียนหนังสือกลับหน้ากลับหลัง เช่น เขียนตัว b เป็น d ตัว p เป็น q หรือแม้แต่สับสนระหว่าง w กับ y เมื่อบอกให้อ่าน พวกเขาจะอ่านภาพสะท้อน (mirror image) หรือสับสนมากกับคำที่มีชุดอักษรใกล้เคียงกัน ยกตัวอย่างคำว่า ‘saw’ พวกเขาอาจอ่านผิดเป็น ‘was’ หรือคำทั่วไปอย่าง ‘house’ อาจอ่านผิดเป็นคำว่า ‘horse’ อาการเหล่านี้เป็นสัญญาณบอกใบ้แรก ๆ ที่เราจะเห็น

หากเป็นดิสเล็กเซีย ประสาทสัมผัสทั้งสี่อย่างจะได้รับผลกระทบ อย่างแรกคือการมองเห็น อย่างที่ได้อธิบายไปแล้ว คุณอาจเห็นคำเป็นภาพสะท้อน อ่านผิด ละคำ เปลี่ยนหรือแทนที่คำ การได้ยินก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ทำให้หูเพี้ยนได้ ตัวอย่างที่ใช้กันบ่อยคงจะเป็นเวลาสอนว่าเครื่องหมายอัศเจรีย์ภาษาอังกฤษเรียกว่า ‘exclamation mark’ เด็ก ๆ อาจตอบว่า ‘escalation mark’ ความผิดเพี้ยนในการฟังนี้เองเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทางเลือกการช่วยเหลือด้วยการอ่านโดยใช้เสียง (phonics based reading approach) ไม่ได้ผลสำหรับดิสเล็กซิกส่วนมาก เพราะพวกเขาแยกเสียงและผสมเสียงได้ลำบาก

อีกประสาทสัมผัสหนึ่งที่ได้รับผลกระทบคือการบอกเวลา ห้านาทีนานแค่ไหน สิบนาทีรู้สึกยังไง พวกเขาไม่รู้สึกว่าเวลาล่วงไปแล้ว การบอกทิศทางก็ไม่ค่อยเก่ง พวกเขาอาจสับสนซ้ายขวา ท้ายที่สุด การรับรู้สมดุลและทักษะการทำงานแบบสอดประสานของพวกเขาจะผิดปกติ พวกเขาอาจจะดูซุ่มซ่าม ความตระหนักรู้ด้านการมองเห็นและพื้นที่ของพวกเขาบิดเบี้ยว ดังนั้น ดิสเล็กเซียคือความผิดปกติทางการรับรู้ของประสาทสัมผัสต่าง ๆ

สาเหตุของดิสเล็กเซียคืออะไร

ถ้าให้อธิบายง่าย ๆ สาเหตุของดิสเล็กเซียคือความสับสน ความสับสนในสัญลักษณ์ และภาษาทุกภาษาคือสัญลักษณ์ ความสับสนนี้เกิดขึ้นจากข้อเท็จจริงที่ว่า คนเป็นดิสเล็กเซียส่วนใหญ่เป็น ‘นักคิดด้วยภาพ’ (picture thinker) ดังนั้น เมื่อพวกเขามองอะไรก็ตามที่ไม่สามารถคิดภาพหรือนึกตามได้ สิ่งเหล่านั้นก็จะไร้ความหมายสำหรับพวกเขา โดยส่วนมากแล้ว วัตถุในชีวิตจริงส่วนมากไม่ก่อให้เกิดปัญหาใด ๆ แต่ปัญหาจะเกิดเมื่อพวกเขาเห็นตัวอักษร ยกตัวอย่างเช่น จากมุมมองหนึ่งตัว p ดูคลายกับตัว q เป็นต้น นี่เป็นเรื่องที่ธรรมชาติมาก ๆ สำหรับคนเป็นดิสเล็กเซีย

มีปัจจัยสามประการที่ร่วมกันก่อให้เกิดความท้าทายที่เหล่าคนเป็นดิสเล็กเซียต้องเผชิญ ประการแรกคือความคิด ซึ่งคือความชอบคิดเป็นภาพ ประการที่สองคือความสามารถในการรับรู้ คนเป็นดิสเล็กเซียหรือที่เรียกว่าดิสเล็กซิก (dyslexic) มีความสามรถในการขยับมุมมองไปรอบ ๆ วัตถุ ซึ่งทำให้เกิดความสับสนอย่างมากเมื่อพวกเขาใช้ความสามารถนี้ขณะอ่าน ปัจจัยสุดท้ายคือความสับสนในกาลสถานที่และบุคคล (disorientation) อันเป็นวิธีการเฉพาะในการตอบสนองต่อความสับสน ยกตัวอย่างคุณขึ้นรถไฟ มีรถไฟอีกขบวนอยู่ข้าง ๆ เมื่อรถไฟขบวนนั้นเคลื่อนที่ คุณคิดว่ารถไฟของคุณเคลื่อนออกจากชานชาลา เกิดความขัดแย้งของข้อมูลระหว่างสิ่งที่ตาเห็นกับสิ่งที่สมองประมวลผล สำหรับคนธรรมดาอย่างเรา เรื่องอย่างนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ๆ แต่สำหรับดิสเล็กซิก มันเกิดขึ้นเป็นร้อยเป็นพันครั้งตลอดวัน ผลคือความไม่สม่ำเสมออย่างสม่ำเสมอของพวกเขาที่ปรากฏให้เห็นเวลาเรียนรู้แบบฝึกหัดต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับระดับความมั่นคงและสับสนของพวกเขา

เข้ามาทำงานเกี่ยวกับดิสเล็กเซียได้ยังไง

แน่นอนว่าเป็นเพราะลูกสาวเป็นดิสเล็กเซีย ตอนนี้ลูกอายุ 18 ปีแล้ว แต่ตรวจเจอดิสเล็กเซียตั้งแต่หกขวบ สมัยยังเด็ก อายุประมาณห้าขวบ เราส่งแกกับพี่สาวไปเรียนเสริมทักษะ ลูกสองคนเรียนเสริมทักษะภาษาอังกฤษห้องเดียวกัน แต่ฉันเห็นความแตกต่างในทักษะของลูกคนเล็กกับคนโต ลูกคนที่เป็นดิสเล็กเซียมีคลังศัพท์เยอะเวลาพูด แต่พอทางศูนย์แนะนำให้สอบเลื่อนชั้น แล้วฉันต้องพาแกไปเข้ารับการทดสอบแบบตัวต่อตัว ลูกจะไม่อยากมองคำศัพท์หรือตอบคำถาม สักพักแกจะงอแงและสติแตก ฉันคิดว่าแปลกมาก เธอใช้ภาษาพูดได้ แต่กลับจำศัพท์เดียวกันกับที่ใช้พูดไม่ได้ ตอนนั้นเองที่ฉันตั้งภารกิจออกตามหาคำตอบ ฉันไปคุยกับเพื่อนนักจิตวิทยา หลังจากทราบอาการ เพื่อนก็แนะนำว่าให้ตรวจเพิ่มเติมในด้านภาวะดิสเล็กเซีย

ฉันเจอกระบวนการชื่อว่ากระบวนการช่วยเหลือผู้เป็นดิสเล็กเซียเดวิส (Davis Dyslexia Correction) และหลังเข้ารับการช่วยเหลือไปได้ 30 ชั่วโมง จากที่ลูกสาวฉันจำศัพท์ไม่ได้และมีคลังคำจำกัด ลูกอ่านย่อหน้าที่มี 4-5 ประโยคได้ด้วยตัวเอง ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นก่อนเข้ารับการช่วยเหลือ พอเห็นการเปลี่ยนแปลงเร็วอย่างนี้ ตั้งแต่ตอนนั้นฉันก็อยากเข้ารับการฝึกอบรมแล้ว แต่สมัยนั้นการฝึกอบรมมีแค่ในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น

แค่ราว ๆ ห้าปีที่ผ่านมานี้เองที่ฉันเดินทางไปเรียนอนุปริญญาด้านพิการศึกษา (disability studies) ฉันทำวิจัยอยู่ แล้วก็เพิ่งรู้ว่าเขามีเปิดอบรมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ฉันบินไปนิวซีแลนด์ทุก ๆ สามเดือนอยู่หนึ่งปีเพื่อเรียนภาคทฤษฎีให้จบ พอกลับมาสิงคโปร์ ฉันวางตารางทำงานจริง ทำงานร่วมกับคนธรรมดาและดิสเล็กซิก สมัยนั้นมีกระบวนกรเดวิสแค่คนเดียวในสิงคโปร์ ซึ่งค่อนข้างน่าเสียดาย เพราะมีดิสเล็กซิกจำนวนมากที่เข้ารับการช่วยเหลือด้วยเสียงแล้วไม่ได้ผลและต้องการทางเลือกการช่วยเหลืออื่น

คนเป็นดิสเล็กเซียมีมากแค่ไหน

พูดได้ว่าประมาณ 15-20% ของทุกกลุ่มประชากรเป็นดิสเล็กเซีย ในสิงคโปร์ เปอร์เซ็นต์ของเด็กประถมที่เป็นดิสเล็กเซียอยู่อันดับสูงสุด รองลงมาคือ ADHD และ ASD มันเป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่ค่อยมีใครตระหนักถึง ในอดีต คนปัดตกปัญหานี้ด้วยการตีตราว่า ‘เธอเรียนไม่ได้’ หรือ ‘เธอไม่มีพรสวรรค์ด้านการเรียนรู้’ นั่นเป็นสาเหตุที่ฉันคิดว่าทำให้ยังไม่มีการวินิจฉัยมากเพียงพอ

ความเข้าใจผิดที่คนส่วนมากมีต่อดิสเล็กเซียมีอะไรบ้าง

คนมักจะคิดว่าดิสเล็กเซียเกิดจากความเสียหายในสมอง แต่ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง สมองต้องทำงานไม่ได้ไปตลอดสิ ในกรณีนี้ บางครั้งก็ได้ บางครั้งก็ไม่ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นจริง ๆ คือดิสเล็กซิกใช้สมองซีกขวาในการประมวลผลข้อมูลที่ต้องใช้สมองซีกซ้าย ฉะนั้น ถ้าช่วยส่งเสริมและฝึกสมองซีกซ้ายใหม่ มันก็อาจจะดีขึ้นบ้างบางส่วน

การพูดว่าคนที่เป็นดิสเล็กเซียและต้องหัวทึบนั้นไม่เป็นความจริง คนที่จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นดิสเล็กเซียเป็นคนที่มีระดับสติปัญญาปกติ ไม่อย่างนั้นคุณถูกการวินิจฉัยว่าเป็นอาการอื่น ดังนั้น ดิสเล็กเซียไม่ใช่ปัญหาความบกพร่องทางสติปัญญา

นอกจากนั้น ดิสเล็กเซียถูกเข้าใจว่า ‘ขี้เกียจ’ หรือ ‘พยายามไม่มากพอ’ แต่ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ดิสเล็กซิกพยายามมากเกินไป ยิ่งพยายามมากก็ยิ่งสับสน

อีกอย่างคือ ไม่จริงเลยที่ว่าดิสเล็กซิกทุกคนอ่านหนังสือไม่ออก ดิสเล็กซิกบางคนอ่านเก่ง แต่สับสนหน้าที่ของเครื่องหมายวรรคตอน และไม่รู้ความหมายของคำที่พบบ่อยบางคำ ส่งผลให้ความเข้าใจตัวบทผิดเพี้ยนไป ดิสเล็กซิกบางคนไม่เข้าใจคำถามโดยนัย ดังนั้นคำตอบจะต้องชัดเจนจึงจะเข้าใจได้ มันเป็นสเปกตรัม ดิสเล็กซิกแต่ละคนเผชิญความท้าทายแตกต่างกัน

สมัยนั้นการหากระบวนการช่วยเหลือที่ได้ผลในสิงคโปร์ยากไหม

ฉันมีตัวเลือกสองทาง แนวทางที่ใช้กันแพร่หลายที่สุดคือแนวทางออร์ตอน-กิลลิงแฮม (Orton-Gillingham approach) ซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้เสียงในการช่วยเหลือเป็นหลัก อีกกระบวนการที่ฉันเจอคือแนวทางเดวิส ผู้คิดค้นกระบวนการนี้คือโรนัลด์ ดี. เดวิส ซึ่งเป็นทั้งดิสเล็กเซียและออทิสติก เขาหัดอ่านหนังสือเองตอนอายุ 28 ปีและรักษาอาการออทิสติกด้วยตัวเอง เขาค้นพบว่าดิสเล็กเซียไม่ใช่โรค แต่เป็นผลรวมของปัจจัยพื้นฐาน ได้แก่ ความคิด ความสามารถในการรับรู้ และความสับสนในกาลสถานที่และบุคคล ซึ่งสามารถแก้ไขไปได้ทีละขั้น เขาร่วมมือกับนักจิตวิทยาการศึกษาจนค้นพบขั้นตอนซึ่งปัจจุบันกลายเป็นแนวทางและเคล็ดลับที่บรรจุในกระบวนการเดวิส

ในสิงคโปร์ เด็กส่วนมากถูกสอนให้อ่านโดยใช้ระบบเสียง แต่นั่นไม่ได้ผลกับลูกสาวของฉัน กลับกัน ฉันพบว่ากระบวนการเดวิสตอบคำถามฉันหลายข้อ อย่างเช่นทำไมการเรียนรู้ของดิสเล็กซิกถึงไม่สม่ำเสมออย่างสม่ำเสมอ ทำไมถึงพูดได้แต่กลับจำคำเดียวกันกับที่พูดไม่ได้ ทำไมคำพบได้บ่อยถึงกระตุ้นให้ดิสเล็กซิกอ่านผิดเวลาอ่าน ทำไมถึงเขียนตัวหนังสือกลับด้าน ทำไมถึงอ่านข้ามบรรทัดเวลาอ่าน เราจะรับมือกับอุปสรรคเหล่านี้ยังไง ถึงตอนนั้นฉันตัดสินใจลองให้ลูกเข้ากระบวนการนี้ดูสักตั้ง

เล่าเรื่องกระบวนการเดวิสให้ฟังหน่อยได้ไหม ใช้วิธีใดบ้าง แต่ละขั้นตอนทำงานอย่างไร

แนวทางเดวิสเชื่อส่วนมากดิสเล็กซิกเป็นนักคิดด้วยภาพ ผู้มีปัญหาการรับรู้การมองเห็น การได้ยิน การรับรู้เวลา สมดุลและความสับสนในกาลสถานที่และบุคคล พวกเขาสับสนกับสัญลักษณ์ และภาษาทุกภาษาคือสัญลักษณ์ เมื่อความสับสนเพิ่มขึ้นถึงจุดหนึ่ง พวกเขาจะสับสนในกาลสถานที่และบุคคลโดยไม่รู้ตัว ดังนั้น อย่างแรกที่เราทำคือการปิดสวิตช์ความสับสนงุนงง เพราะมันนำไปสู่ความสับสนในกาลสถานที่และบุคคล มันคือการฝึกจิตใจให้เด็กมีการรับรู้ที่มีเสถียรภาพ และลดข้อผิดพลาดต่าง ๆ

ขั้นตอนถัดมา คือ การเข้าถึงจุดกำเนิดของความสับสนและเปลี่ยนให้เป็นความมั่นใจ เมื่อฝึกใช้เครื่องมือและเคล็ดลับได้อย่างชำนาญแล้ว เด็กจะมีพัฒนาการที่รวดเร็วและจะมีความสม่ำเสมอในการเรียนรู้ ดิสเล็กเซียช่วยเหลือได้แต่จะไม่หายไป ฉันมักเปรียบเทียบอย่างนี้ ถ้าคุณสายตาสั้น คุณจะต้องสั่งตัดแว่นตาที่จะช่วยให้มองเห็นภาพได้ชัดขึ้น แต่สภาวะสายตาสั้นยังคงเดิม ไม่สามารถกลับไปเป็นปกติได้

สิ่งอำนวยความสะดวกใดบ้างที่นักเรียนดิสเล็กซิกส่วนมากต้องการ

ดิสเล็กซิกมักจะมีความเร็วในการประมวลผลข้อมูลช้าเพราะต้องเปลี่ยนจากคำเป็นภาพและเปลี่ยนจากภาพเป็นคำอีกครั้ง ดังนั้น การเพิ่มเวลาให้จะช่วยได้มากหากต้องนั่งทำข้อสอบ บางคนอาจต้องการให้ข้อสอบพิมพ์ลงบนกระดาษแผ่นใหญ่พิเศษ ตัวอักษรขนาดใหญ่พิเศษ หรือพิมพ์ลงบนหน้าเดียวกัน

การเปลี่ยนแปลงใดในระบบการศึกษาจะช่วยสนับสนุนนักเรียนที่มีภาวะดิสเล็กเซียได้มากขึ้น

กุญแจสำคัญคือการเสริมความแข็งแรงให้กับจุดแข็งของพวกเขา หลายคนมองว่านี่เป็นความบกพร่อง ดังนั้น ครูหรือผู้ปกครองจึงมักจะใช้การฝึกและวิธีการที่เน้นย้ำซ้ำ ๆ เวลาสอนนักเรียนหรือลูกให้อ่าน ทว่าดิสเล็กซิกนั้นยังเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ ความทรงจำจะคงอยู่ได้นานขึ้นมาก หากพวกเขาสามารถใช้แนวทางการเรียนรู้ที่ผนวกประสาทสัมผัสหลายอย่างเข้าด้วยกัน และใช้ความสามารถด้านการมองเห็นและการรับรู้พื้นที่ของพวกเขา

รัฐบาลสิงคโปร์รับรู้ปัญหานี้หรือเปล่า มีแนวทางแก้ไขอย่างไรบ้าง

ความต้องการพิเศษทางการศึกษาเป็นปัญหาที่ตระหนักกันในสิงคโปร์ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการได้ก่อตั้งคณะนักการศึกษาสำหรับการศึกษาพิเศษ ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วประกอบด้วยที่ปรึกษาในโรงเรียนและนักการศึกษาสำหรับการศึกษาพิเศษหนึ่งถึงสองคนเพื่อช่วยในด้านการเรียนรู้และพฤติกรรม ในโรงเรียนทั่วไป นักเรียนที่มีคะแนนรั้งท้าย 10% ที่มีปัญหาด้านการอ่านเขียนจะถูกดึงตัวแยกออกมาหลังเลิกเรียนแล้วจัดเข้ากลุ่ม แม้ว่านี่จะเป็นการดำเนินการที่ดี แต่อัตราส่วนระหว่างนักการศึกษาสำหรับการศึกษาพิเศษกับนักเรียนยังต่ำมาก อีกทั้งนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษทางการศึกษาไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทั่วถึง

นอกจากการสนับสนุนทางการเรียนรู้จากโรงเรียน ผู้ปกครองสามารถเลือกส่งลูกไปที่ สมาคมดิสเล็กเซียแห่งสิงคโปร์ (Dyslexia Association of Singapore) ซึ่งแม้จะได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลแล้วแต่ยังมีค่าใช้จ่าย และต้องใช้เวลาในการรอเข้าร่วมชั้นเรียนนานพอสมควร

ผู้ปกครองรู้สึกผิดเมื่อรู้ว่าลูกมีภาวะดิสเล็กเซีย ฝากข้อความอะไรถึงพวกเขาหน่อยได้ไหม

เป็นธรรมดาที่ผู้ปกครองจะโทษตัวเองที่ไม่สังเกตอาการแต่เนิ่น ๆ หรือรีบเข้าถึงความช่วยเหลือเร็วกว่านี้ แต่แทนที่จะจมจ่อมอยู่กับความรู้สึกผิด ฉันบอกพ่อแม่ผู้ปกครองเสมอว่า ไม่มีคำว่าสายสำหรับการช่วยเหลือลูก ขั้นแรกคือการหาความรู้ที่จำเป็น เพื่อที่จะเผชิญหน้ากับปัญหาได้

ความรู้คือพลัง ยิ่งคุณรู้มาก คุณก็ยิ่งถามคำถามจากผู้เชี่ยวชาญได้มาก และเข้าถึงความช่วยเหลือลูกได้ คำถามจะนำไปสู่คำตอบ และคำตอบจะนำไปสู่ทางออกของปัญหา

Writer
Avatar photo
ศิริกมล ตาน้อย

อยากเกิดใหม่เป็นแมงกะพรุน

Photographer
Avatar photo
ฉัตรมงคล รักราช

ช่างภาพ และนักหัดเขียน

illustrator
Avatar photo
ลักษิกา บรรพพงศ์

กราฟิกดีไซน์เนอร์ที่เกิดและเติบโตมาพร้อมกับธุรกิจเพลงเด็ก ติดซีรี่ย์ ชอบร้องเพลง ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และเป็นทาสแมว

Related Posts

Related Posts