เราไม่อยากโดนสปอยล์หนังอย่างไร เด็กๆ ก็ไม่อยากรู้ว่านิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าอะไรเช่นกัน

เราไม่อยากโดนสปอยล์หนังอย่างไร เด็กๆ ก็ไม่อยากรู้ว่านิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าอะไรเช่นกัน

  • นิทานเรื่องนี้ไม่ต้องสอนให้รู้ว่า….
  • เพราะหน้าที่ที่ดีของนิทาน คือการปล่อยให้เด็กเติบโตด้วยตัวเอง
  • เด็กๆ โดยเฉพาะเด็กเล็กยังพูดเองไม่ได้ว่า “อย่ารีบบอกหนู” “อย่ารีบสอนหนู” ซึ่งหลายครั้งเค้าเองก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าการรีบสอนหรือรีบสรุปก่อน = การปิดกั้นจินตนาการ 

ระหว่างที่เรากำลังชมซีรีส์ ภาพยนตร์ หรือ ฟังเพลง อย่างเพลิดเพลินอยู่นั้น พอใกล้ ๆ จะจบแล้วมีคนเดินมาบอกว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า… คุณรู้สึกอย่างไร

สมองที่กำลังทำงานด้านการตีความ ให้ความหมาย  วิเคราะห์ตัวละคร ฉากต่างๆ ที่ซีรีส์หรือภาพยนตร์กำลังสื่อมา ก็สะดุดหยุดกึ๊กในทันที 

มันจึงต้องมีประโยคเตือนไว้ล่วงหน้าว่า ‘มีสปอยล์’ 

สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับเด็กๆ เมื่อเราอ่านนิทานเช่นเดียวกัน ระหว่างที่เด็กกำลังตีความให้ความหมาย ‘ด้วยตัวเอง’ ว่า เจ้ากาตัวนี้มันทำแบบนี้เพื่ออะไร บางทีหมาป่าใจร้ายอาจจะมีเหตุผลก็ได้  ฯลฯ สมองของเด็กกำลังสร้างมุมมองใหม่ๆ ผ่านเรื่องราวที่เขากำลังได้ฟัง

แต่ทันทีที่นิทานจบลงพร้อมบทสรุปตอนท้ายว่า “นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า….” เป็นไปได้มากว่าสมองของเด็กพร้อมหยุดคิดวิเคราะห์โดยอัตโนมัติ แล้วหันมาสนใจประโยคด่วนสรุปไม่กี่ประโยคสองสามบรรทัดที่ผู้ใหญ่แอบใส่มา เพราะกลัวว่าเด็กน่าจะยังคิดเองไม่ได้

และเด็กๆ โดยเฉพาะเด็กเล็กยังพูดเองไม่ได้ว่า “อย่ารีบบอกหนู” “อย่ารีบสอนหนู” ซึ่งหลายครั้งเค้าเองก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าการรีบสอนหรือรีบสรุปก่อน = การปิดกั้นจินตนาการ

ผู้ใหญ่ควรปล่อยให้นิทานได้ทำหน้าที่ของมันอย่างเต็มประสิทธิภาพ 

แล้วนิทานทำหน้าที่อะไร ?

นิทาน หรือเรื่องเล่าต่างๆ ทำหน้าที่สร้างจินตนาการและเปิดพื้นที่กว้างแห่งการตีความเพื่อกระตุ้นให้สมองของเด็กได้ฝึกตีความและให้ความหมาย นิทานที่ดีจะไม่ชวนให้เด็กอ่านแค่ตัวหนังสือ แต่จะชวนเด็ก ๆ ‘อ่านโลก’ ด้วยการเปิดพื้นที่ให้เด็กได้ตีความ ทำความเข้าใจด้วยตัวเอง ไม่บอกสิ่งที่ควรรู้ทั้งหมด ไม่ยากแต่ก็ไม่ง่ายจนเกินไป สร้างความท้าทายนิดๆ เพื่อกระตุ้นให้เด็กได้ใช้ความคิด 

หลายบ้านอาจยังไม่ค่อยคุ้นชินนิทานประเภท wordless book หรือที่เรารู้จักกันในรูปแบบของหนังสือนิทานที่เน้นเล่าเรื่องด้วยภาพเป็นหลัก มีคำประกอบน้อย และไม่คุ้มกับราคาที่เสียไป 

ทั้งที่จริงแล้ว หนังสือประเภทนี้ นักวาดภาพประกอบ หรือนักทำหนังสือนิทาน ต้องทำงานหนักเพราะต้องขบคิด และสร้างสรรค์สื่อที่ใช้ภาพพูดแทนตัวหนังสืออย่างเข้าใจพัฒนาการ ไม่ยากและไม่ง่ายเกินไปสำหรับเด็กแต่ละช่วงวัย เพื่อให้คำพูดไปปรากฎในสมองของคนอ่านแทนการเขียนลงไปเป็นตัวหนังสือ 

‘เปิดพื้นที่ให้เด็กตีความ’ ดีกว่า ‘การสอนให้รู้ว่า’ 

เมื่อเราไม่เปิดพื้นที่ให้เด็กได้ตีความ ไม่เว้นช่องว่างให้สมองได้ทำงาน ทักษะอย่างการคิดวิเคราะห์ (critical thinking) หรือการให้เหตุผล (reasoning) กับสิ่งต่างๆ จึงต้องมาโหมฝึกกันอย่างดุเดือดเมื่อเด็กๆ เข้าสู่วัยเรียน ทั้งๆ ที่จริงแล้วเราสามารถปูพื้นฐานทักษะเหล่านี้ได้ ด้วยการเลือกนิทานที่ดี และใช้ให้ถูกวิธี ก็จะปลูกฝังวิธีคิดเหล่านี้ให้เด็กๆ ได้อย่างง่ายดาย เพียงแค่เริ่มด้วยการ “ไม่ต้องสอนให้รู้ว่า…” ทุกครั้งที่นิทานจบลง 

“mappa ชวนอ่าน” จะพาสำรวจโลกของนิทาน ความมหัศจรรย์ของการสร้างจินตนาการ สร้างความคิดผ่านหน้ากระดาษโดยไม่ต้อง ‘สอนให้รู้ว่า’ และ ไม่ ‘ยัดเยียด’ ความคิดของผู้ไหญ่ให้กับเด็กๆ

จะเป็นหนังสือนิทานที่เปิดโลกการตีความ การให้ความหมาย การคิดวิเคราะห์ให้กับเด็กๆ เพื่อให้พวกเขาเติบโตขึ้นอย่างอ่านโลกเป็น เข้าใจโลก เข้าใจความหมาย เข้าใจมนุษย์ ได้ใช้ทุกฟังก์ชันของการอ่าน ที่ไม่ใช่แค่การอ่านออกเขียนได้ หรือเพียงท่องจำไม่กี่ประโยคที่สรุปในตอนท้ายว่า “นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า…” 

ซีรีส์ ‘mappaชวนอ่าน’ จะพาไปสำรวจโลกของหนังสือนิทานที่เปิดพื้นที่ให้เด็กเติบโต กับกองบรรณาธิการที่ล้วนเป็นผู้ใหญ่แต่ชอบอ่านหนังสือเด็ก 

ตัดริบบิ้นชวนอ่านด้วยนิทานว่าด้วยความตายและการพลัดพราก เร็วๆ นี้

Writer
Avatar photo
มิรา เวฬุภาค

illustrator
Avatar photo
กรกนก สุเทศ

เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง

Related Posts

Related Posts