ชีวิตสู้กลับแค่ไหน พาใจกลับบ้านที่ ‘CONNE(X)T HOMECOMING’
ชีวิตสู้กลับแค่ไหน พาใจกลับบ้านที่ ‘CONNE(X)T HOMECOMING’
- เพราะคนอื่นไม่สามารถเข้าใจตัวเราได้ดีเท่ากับตัวเราเอง
- แต่สายตาของคนรอบข้างเป็นสิ่งที่เรามักแคร์มากที่สุด จนทำให้การใช้ชีวิตไม่มีความสุข
- อาจได้เวลาที่เราต้อง ‘พาใจกลับบ้าน’ กลับมาเป็นตัวเองอีกครั้ง ผ่านนิทรรศการ “อารามอารมณ์”
“การยอมรับตัวเอง บางครั้งมันยาก แต่หลาย ๆ ครั้งก็อาจง่ายกว่าการบอกคนอื่นว่าเราคือใคร”
เพราะคนอื่นไม่สามารถเข้าใจตัวเราได้ดีเท่ากับตัวเราเอง
ถึงอย่างนั้น เราก็มักจะแคร์สายตาคนรอบข้างอยู่ดี นำความรู้สึกและความคิดเห็นของคนอื่นมาสวมทับลงบนตัว จนเราไม่มีความสุขกับชีวิต
เมื่อเจอกับปัญหา เราถึงจะกลับมาสำรวจตัวเองใหม่ว่า เราคือใคร เครียดเรื่องอะไร แล้วจะผ่านเรื่องนี้ไปได้อย่างไร
ใจที่ล่องลอยไปกับกรอบสังคม จะกลับมามั่นคงที่ตัวเราได้อีกเมื่อไร…
mappa ชวนสัมผัสประสบการณ์ที่จะพาใจกลับบ้านในนิทรรศการ “อารามอารมณ์” หนึ่งในกิจกรรมของงาน CONNE(X)T HOMECOMING : พาใจกลับบ้าน โดย Eyedropper Fill ผ่านไดอารี่ส่วนตัวของ ‘รัก’ ที่กำลังถูกชีวิตสู้กลับในวัยเบญจเพส
เธอจะพาใจกลับบ้านสำเร็จหรือไม่ สำรวจสิ่งที่หายไปจากตัวเธอผ่านนิทรรศการหลัก 6 ห้อง
ทำไมโลกไม่เคยใจดีกับเราเลยสักครั้งนะ
ยิ่งเข้าช่วงเบญจเพสบอกเลยว่า มันคือที่สุด…
เราถูกสังคมรอบตัวบอกให้ต้องเป็นผู้ใหญ่ตามวัย ต้องดูแลตัวเองได้ ครอบครัวอยากให้เรามีงานที่มั่นคง เงินเดือนสูง ๆ แต่งานที่ทำอยู่ก็กองยาว เคลียร์สิบเหลืออีกร้อย ล่าสุดยังโดนแฟนทิ้งเพราะเราไม่มีเวลาให้
เราสู้ชีวิต แต่ชีวิตสู้กลับไม่เลิก แต่ชอบบอกคนอื่นว่าไม่เป็นไร โอเค เรายังไหว ทั้ง ๆ ที่ในใจอยากกรี๊ดและร้องไห้ตลอดเวลา
1 ปีที่ผ่านมา เราแทบจะไม่ได้พักเลย เพราะจะกดวันลาพักร้อนก็รู้สึกผิด กลัวงานไม่เสร็จ ไม่รู้จะหันหน้าไปปรึกษาใคร เพราะคนอื่นเขาก็มีปัญหาชีวิตของตัวเองกันอยู่แล้ว
จะพึ่งหมอดูก็ดูจนไม่มีคำถามแล้ว ณ ตอนนี้ ไม่มีอะไรที่ทำให้เรารู้สึกสบายใจขึ้นได้เลย
สุดท้ายเราก็มาจบที่นี่ งาน Conne(x)t Homecoming ‘พาใจกลับบ้าน’ รับบทสาวอาร์ตเดินดูนิทรรศการที่โฆษณาไว้ว่า จะช่วยให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น
การเดินชมงาน ลองทำอะไรที่อยากทำ ลองเขียนอะไรที่อยากเขียน น่าจะทำให้ข้างในดีขึ้นบ้าง ถึงจะดีขึ้นแค่นิดเดียวก็เถอะ
ห้องสำรวจอารมณ์ : สบายดีไหม ‘ใจ’ ดวงนี้?
“ช่วงนี้รู้สึกยังไงบ้าง?”
คำถามที่ไม่ค่อยมีคนถาม แม้แต่เราก็ไม่เคยถามตัวเองสักครั้ง…
สนุกสนาน ตื่นเต้น สับสน เหนื่อย เครียด ขายหน้า ขมขื่น อ่อนแอ สารพัดอารมณ์ที่ปรากฏอยู่ในกระดาษใบนี้ ต้องใช้เวลานึกพักใหญ่ถึงจะฝนลงวงล้อความรู้สึกแต่ละช่องได้
อารมณ์ช่วงที่ผ่านมาอาจหนักไปที่ความทุกข์ เสียใจ และกลัว เป็นผลลัพธ์ที่ไม่อยากเห็น แต่มันก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง อย่างน้อยกระดาษใบนี้ก็ทำให้เรารู้ว่า กำลังเกิดอะไรขึ้นในตัวเรา กับหัวใจนี้
หวังว่าการเดินทางต่อ ๆ ไปจะช่วยสลายเมฆหมอกของอารมณ์พวกนี้ และเพิ่มความรู้สึกด้านตรงข้าม
ห้องกอด : บนโลกที่สั่นไหว ‘อ้อมกอด’ ทำให้เรารู้สึกมั่นคง
‘กอด’
กิจกรรมของห้องที่ 2 ‘ห้องกอด’ ไม่ใช่กอดสิ่งมีชีวิต แต่เป็นเสาที่ปักหลักเรียงรายประมาณ 5 – 6 ต้น ขนาดก็แตกต่างกันไป แต่มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน คือ สัมผัสนุ่ม ๆ ที่ให้ความรู้สึกเหมือนกอดตุ๊กตา
นานแล้วเหมือนกันที่เราไม่ได้กอดใครด้วยความรู้สึกว่าอยากกอด แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำเพื่อสร้างความสัมพันธ์ คงเพราะบางคนรู้สึกว่า ‘กอด’ จะทำให้ปริมาณความสนิทเพิ่มขึ้นมั้ง การกอดสำหรับเราในตอนนี้มันเลยกลายเป็นเครื่องมือสร้างความสัมพันธ์ มากกว่าจะกอดเพื่อแสดงความรู้สึกจริง ๆ
“เมื่อลมพัดจิตข้างในใจไหวติง พื้นที่นี้อยู่นิ่ง ปักหลักพร้อมเป็นฐานมั่นให้คุณ”
เสาที่เรียงรายไม่มีชีวิต คุยโต้ตอบก็ไม่ได้ กอดไปเหมือนกอดหินแค่นิ่มกว่า แต่มันกลับทำให้เรารู้สึกบางอย่างตอนกอด… เป็นความสงบล่ะมั้ง เพราะกอดไปก็ไม่ต้องคิดอะไร ไม่ต้องกลัวว่าเขาจะชอบไหมหรือจะคลายมือจากเราเมื่อไร เราได้ใช้เวลาเต็มที่
“ขอบคุณนะ” หนึ่งคำที่เราเจอบนกำแพงที่ให้คนเข้าร่วมระบายความรู้สึกที่มี คำสั้น ๆ แต่สำหรับเรามันแทนความรู้สึกที่มีตอนนี้ได้ทั้งหมด
ไม่รู้ว่าคนสร้างห้องนี้ต้องการให้เราได้อะไรกลับไป แต่อย่างน้อยมันช่วยเพิ่มความหมายของคำว่า ‘กอด’ สำหรับเราที่ไม่ใช่แสดงความรู้สึกหรือผูกมิตรแค่นั้น แต่เป็นสิ่งที่ช่วยทำให้เรารู้สึกถึงความมั่นคง บนโลกที่สั่นไหวตลอดเวลา
ห้องนอน : วางทุกอย่าง ให้ใจและสมองได้พัก
อยากไปนอนโง่ ๆ ริมทะเล
ประโยคไม่คมแต่โดนใจใครหลายคน อะไรจะดีไปกว่าการได้นอนฟังเสียงคลื่น ปล่อยร่างกายให้เม็ดทรายโอบกอด กอบกู้ร่างที่อาจบอบช้ำจนถึงขั้นแตกสลายจากเรื่องต่าง ๆ ที่เข้ามา
แต่ตอนนี้ทำได้แค่คิด เพราะภาระและสิ่งที่เราต่างแบกรับ ไม่สามารถทิ้งแล้ววิ่งทำตามใจปรารถนาได้ทันที ได้แต่วาดฝันในใจว่าต้องหาเวลาไปให้ได้ หวังว่ามันจะเป็นเร็ว ๆ นี้นะ
‘ห้องนอน’ ที่นี่อาจช่วยแก้ขัดได้บ้าง สระน้ำตั้งกลางห้อง ภายในไม่ได้บรรจุน้ำ แต่เป็นลูกบอลพลาสติกสีขาว – ฟ้านับร้อย ๆ ติ๊งต่างว่าเป็นน้ำ กิจกรรมที่ให้ทำ คือ ลงไปนอนในสระ ปล่อยตัวและหัวใจโล่ง ๆ ปล่อยให้ลูกบอลไหลผ่านร่างกาย
แม้สัมผัสของลูกบอลจะไม่สบายเท่ากับสายน้ำ แต่การปล่อยตัวให้ไหลไปตามฟอร์มของมันก็ให้ความรู้สึกประหลาด ไม่ใช่ความสบายแต่เป็นความนิ่ง เป็นอีกหนึ่งความรู้สึกที่เราต้องการ
นานเท่าไรแล้วที่เราไม่ได้นอนนิ่ง ๆ แบบนี้ แม้แต่นอนหลับในแต่ละคืน หัวสมองก็ยังแล่นไปได้เรื่อย ๆ จนเหนื่อยถึงหยุดเอง แต่คืนต่อมาก็วนกลับซ้ำเดิม
คงเพราะเวลาอีกละมั้งที่บีบให้เราต้องเร่ง ๆ ทำทุกอย่างก่อนที่จะสายเกินไป แต่บางทีเวลาแต่ละวินาทีที่เราทิ้งไป อาจจะไม่ได้ทำให้เรา ‘สาย’ จนตามชาวบ้านไม่ทัน แต่ทำให้เราได้ตั้งสติและรู้ว่าจะเอายังไงกับชีวิตต่อ
“ถ้าสามารถวางทุกอย่างที่ยุ่งยากลง สิ่งที่อยากให้ตัวเองที่สุดตอนนี้คืออะไร”
คำถามที่ปรากฏอยู่บนกำแพงห้องนี้ คำตอบก็หลากหลาย ไม่ว่าจะเวลา ความสุข นอนดูซีรีส์ ออกไปเที่ยวไกล ๆ หรือแม้แต่อิสรภาพ (freedom)
ถ้าถามเราก็คงตอบแบบเดียวกับทุกคน สิ่งที่ต้องการให้ตัวเองมากที่สุด ก็คือได้ทำตามความต้องการจริง ๆ มากกว่าความต้องการที่คนอื่นสร้างให้
ห้องปั้น : ปล่อยใจแล้ว ‘ปั้น’ตัวตน
หลายคนบอกว่า ชีวิตอย่าไปคิดเยอะ แค่ปล่อยให้เป็นไปตามที่มันควรจะเป็น
เราเดินเข้ามาใน ‘ห้องปั้น’ ห้องนี้ไม่มีอะไร นอกจากก้อนดินน้ำมันให้เราและผลงานการปั้นของคนอื่น ๆ
บางคนทำเป็นมนุษย์ ดอกไม้ สัตว์เลี้ยง หรือตัวละครตัวเล็ก ๆ ที่กำลังกอดตัวเอง
บอกตรง ๆ ถ้าย้อนกลับไปตอนเด็ก วิชาศิลปะเกรดศูนย์จริง ๆ แต่คำแนะนำของห้องบอกว่า “ปล่อยให้มือได้ปั้นดินอย่างอิสระ โดยไม่ต้องกำหนดผลลัพธ์ปลายทาง”
คำพูดนี้ก็พอจะคลายความกังวลในตัวเราไปได้บ้าง ปล่อยใจไปเรื่อย ๆ สุดท้ายผลลัพธ์ที่ออกมาคือดอกไม้และการ์ตูนอย่างละตัว
พอลองกลับมาคิดแล้ว ชีวิตเราอาจแค่ต้องการคนและสภาพแวดล้อมที่เข้าใจความเป็นตัวเรา เท่านั้นก็น่าจะพอแล้ว
เราเลยตั้งชื่องานชิ้นนี้ว่า “just life”
บนกำแพงสุดท้าย เจอกับคำถามว่า อยากบอกอะไรกับผลงานชิ้นนี้ เราก็อยากบอกว่า ขอให้แกเติบโตและมีความสุขในทุก ๆ วันนะ
เพราะไม่รู้ชีวิตในอนาคต เราก็แค่ต้องใช้ชีวิตให้ผ่านไปแค่นั้นเอง
ห้องฟัง : เสียงคนอื่นอาจไม่สำคัญเท่ากับเราได้ ‘ฟัง’ ตัวเอง
เราฟังทุกคน แต่ลืมฟังตัวเอง
‘ห้องฟัง’ ทำให้เรากลับมาฟังเสียงในใจอีกครั้งในบรรยากาศที่มืดและสงบ
สงบจนในโลกที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย ความเหงาเข้ามาปกคลุมใจ เราก็แค่ต้องการสักคนที่ฟังเรา
ไม่ใช่แค่ฟังเสียงตัวเอง แต่กิจกรรมห้องนี้พาเราไปฟังเสียงที่บอกว่า เหงาบ้างก็ไม่เป็นไร ถ้าไม่สบายใจก็แค่หาไหล่พิง แล้วก็พาเราสำรวจใจตัวเอง ถึงจะแค่ไม่กี่นาทีก็เถอะ
“มันโอเคที่จะบอกว่าเราไม่โอเค” เป็นสิ่งที่เราได้รับจากห้องนี้
เราทบทวนตัวเองแล้วว่า พอก้าวออกจากห้องนี้ไป ถ้าบางวันเรารู้สึกว่าชีวิตข้างนอกมันโหดร้ายจนรับไม่ไหว ขอแค่ตั้งสติ ฟังตัวเอง และเดินหน้าต่อ
เพราะคนอื่นอาจไม่สำคัญเท่ากับเราที่เริ่มฟังเสียงตัวเองด้วยใจของเราจริง ๆ
และเราก็ยังหวังว่า คนรอบตัวจะคิดแบบเดียวกันพร้อม ๆ กับเจอพื้นที่ที่จะทำให้เขามีความสุข ได้ฟังคนอื่น และฟังตัวเอง
แม้บางครั้งพื้นที่อาจไม่ได้มีอยู่จริง แต่เป็นแค่ความรู้สึกที่จะทำให้เราหยุดและเดินหน้าต่อได้อย่างมั่นคง
ห้องสะท้อนอารมณ์ : ‘สะท้อนอารมณ์’ เพื่อพาใจเรากลับบ้านบนชีวิตที่ยาวไกล
“ชีวิตของคุณเดินทางไกล นับตั้งแต่วันแรกที่ลืมตาดูโลก จนถึงตอนนี้ ณ ขณะนี้ ที่คุณได้พาตัวเองมา”
เราเห็นประโยคนี้ตั้งแต่เดินเข้าห้องมา พอมองไปรอบ ๆ ห้องก็ไม่ได้มีกิจกรรมมากเท่าห้องอื่น มีแค่สติ๊กเกอร์กับคำถามบนกำแพง
แต่กลับทำให้เราได้ทบทวนการเดินทางไกลตลอดชีวิตที่ผ่านมา แล้วเราก็เห็นว่า หลายคนแบกสิ่งเดียวกัน
คำถามแรก “หากมีสัมภาระอันหนักอึ้งที่มองไม่เห็น อะไรที่ทำให้คุณแบกมาตลอดชีวิต”
สำหรับเรา สิ่งที่เราแบก คือ เป้าหมายในชีวิต ความต้องการที่จะเป็นคนเข้มแข็ง และความคาดหวังของคนรอบข้างและสังคม
งานต้องดี ยิ้มให้คนอื่น และบอกคนอื่นเสมอว่า ไม่เป็นไร เราไหว ทั้ง ๆ ที่ในใจอ่อนแอ เป็นฟองน้ำที่อ่อนยวบตามความเห็นของคนอื่น
เพราะแบบนั้น เราถึงไม่มั่นใจในตัวเองและใช้เวลานานกว่าจะลุกขึ้นมาใช้ชีวิตอีกครั้ง รู้สึกชีวิตโคตรไร้ทางออกเลย
แต่สิ่งที่ทำให้เราอยากไปต่อกับชีวิตที่ยาวไกลนี้ คือ เพื่อนสนิท ครอบครัว (แค่บางเรื่อง) และเวลา สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องเยียวยาที่ทำให้ทุกอย่างคลี่คลายไปในทางที่มันควรจะเป็น
บนผืนกระดาษยาวที่ต้องเขียนความรู้สึก เราเลยเขียนว่า
“ขอบคุณที่ทำให้เราได้พาใจกลับบ้าน”
บ้านที่ไม่ได้หมายถึงสถานที่ แต่หมายถึงตัวเรา เจ้าของหัวใจ กับการกอบกู้ความรู้สึกที่ร่วงหล่นกลับมาอยู่ที่เราอีกครั้งหนึ่ง
ไม่รู้ว่าอนาคต ชีวิตจะสู้เรากลับอีกกี่ครั้ง แต่การได้มาเดินเพื่อเข้าใจตัวเองผ่านงานนี้ก็บอกเราว่า การยอมรับตัวเอง บางครั้งอาจจะยาก แต่ในหลาย ๆ ครั้งก็อาจง่ายกว่าการบอกว่า เราคือใคร
ความรู้สึกไร้หนทางมันเป็นแค่พายุที่ผ่านมาและจะผ่านไป ทุกอย่างจะค่อย ๆ ดีขึ้น แม้จะไม่ได้ดีจนหมดห่วงทุกเรื่อง แต่อย่างน้อยเราจะเข้าใจตัวเอง
ขอบคุณตัวเรามากที่อดทนมาถึงตอนนี้
ไม่อยากบอกให้สู้ เพราะสู้ทุกวันอยู่แล้ว แต่อยากให้เราใช้ชีวิตอย่างมีความสุขกับเรื่องเล็กน้อยในแต่ละวัน
มันต้องมีสักวันหนึ่งแหละเนอะ 🙂
Writer
ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์
ชอบดูซีรีส์เกาหลี เพราะเชื่อว่าตัวเราสามารถสร้างพื้นที่การเรียนรู้ได้ สนใจเรื่องระบบการศึกษาเเละความสัมพันธ์ในครอบครัว พยายามฝึกการเล่าเรื่องให้สนุกเเบบฉบับของตัวเอง
Writer
เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา
ชีวิตอยู่ได้ด้วยซัมเมอร์ ทะเล และความฝันที่จะได้ทำสิ่งที่เป็นความสุขตลอดไป
Photographer
ฉัตรมงคล รักราช
ช่างภาพ และนักหัดเขียน