เพราะเลี้ยงเด็กหนึ่งคน ต้องใช้คนทั้งหมู่บ้าน เรื่องเล่าจากหมู่บ้านในลำปาง เมื่อปัญหาเด็กและครอบครัวเป็นเรื่องของคนทั้งชุมชน

เพราะเลี้ยงเด็กหนึ่งคน ต้องใช้คนทั้งหมู่บ้าน เรื่องเล่าจากหมู่บ้านในลำปาง เมื่อปัญหาเด็กและครอบครัวเป็นเรื่องของคนทั้งชุมชน

น่าจะทะลุ 40 องศาได้ในบ่ายวันนั้น ต่อให้พัดลมตัวเล็กพยายามเหวี่ยงใบสุดกำลัง เหงื่อก็ยังผุดซึมผุดไหลไม่หยุดหย่อน

เรานั่งเก็บอาการอยู่ไม่สุข ตรงกันข้ามกับ ป้าอำพรรณ หญิงวัย 55 ปี ที่ดูจะไม่ยี่หระกับปัญหานี้เลยสักนิด เพราะมันคงจะเป็นแค่เรื่องพอทน หากเทียบกับอีกสารพัดปัญหาทับถมที่เธอกับแม่ – ยายบัวศรี วัย 73 ปี ต้องแบกรับ 

หญิงชราสองคนอาศัยอยู่กับลูกและหลานเหลน 5 ชีวิต สองคนโตเป็นลูกของลูกชายป้าอำพรรณที่ปัจจุบันกำลังรอคอยความหวังหลังกำแพงสูงสักแห่ง ส่วนสองคนเล็กวัยสดใส น่ารักเป็นลูกของลูกสาวที่ฝากไว้ก่อนออกไปมีสามีใหม่ และอีกหนึ่งคือลูกชายผู้พิการทางสายตา ทั้งหมดอาศัยอยู่ภายในบ้านที่โฉนดหลุดจำนอง พร้อมจะโดนรื้อถอนขับไล่ ไม่มีแม้กระทั่งฝ้าเพดาน กำแพง หรือผนังปิดกั้น ทว่าพวกเขากลับเหมือนไม่เคยถูกมองเห็น

“ทุกๆ วัน พอตื่นขึ้นมาแม่ก็ทำกับข้าวให้ลูกหลาน กินกันเสร็จก็ส่งลูกไปโรงเรียนสอนคนตาบอด พาเด็กๆ ไปศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก กลับมาซักผ้า เก็บกวาดบ้าน สามสี่โมงออกไปรับทุกคนกลับ สองปีผ่านมาก็อยู่ไปแบบนี้ ไม่มีรายได้” ป้าอำพรรณ เรียบเรียงกิจวัตรประจำวันให้เราฟัง

เงินอุดหนุนจากเบี้ยผู้สูงอายุ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และงานรับจ้างสานเข่งใส่เซรามิกเล็กๆ น้อยๆ ของยายบัวศรีเพื่อความอยู่รอด กระทั่งต้นปี พ.ศ. 2566 จากการสำรวจและรวบรวมข้อมูลของ ‘โครงการครอบครัวยิ้ม จังหวัดลำปาง’ ครอบครัวของป้าอำพรรณจึงได้รับการช่วยเหลือเยียวยาเป็นครั้งแรก 

“เขาเข้ามาให้เงินช่วยเหลือ นำข้าวสารอาหารแห้ง มาม่า น้ำมัน นม ไข่ มาให้” ป้าอำพรรณเล่า “อย่างในวันนี้เรามามอบข้าวปลาอาหารกับเงินให้จำนวน 500 บาท ซึ่งรู้ว่ามันคงไม่เพียงพอและยอมรับว่าเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ แต่ถ้าไม่ให้เงินอุดหนุนเลยเขาจะยิ่งแย่” พรวิภา ประวิงค์ สมาชิกสภาเทศบาลเมืองเขลางค์นคร และคณะทำงานครอบครัวยิ้ม ตำบลปงแสนทอง อธิบายแนวทางการช่วยเหลือครอบครัวป้าอำพรรณในเบื้องต้น พลางให้กำลังใจว่า “เราพอมีภาคีเครือข่ายส่งต่อความช่วยเหลือ ถ้ามีหน่วยงานไหนต้องการสนับสนุน เราจะผลักดันครอบครัวแม่ให้แน่นอน แม่ไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว” 

ครอบครัวของป้าอำพรรณจัดอยู่ในเคสรุนแรงสีแดง ที่ประเมินว่าต้องช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนของตำบลปงแสนทอง ตำบลต้นแบบจาก 10 ตำบล ซึ่งเข้าร่วมกับ ‘โครงการครอบครัวยิ้ม’ โดย สมาคมเครือข่ายพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ อีกทั้งยังนับเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีศักยภาพโดดเด่น ในการนำแนวคิด ‘ชุมชนนำ (Community-Led)’ มาขับเคลื่อนสร้างความเปลี่ยนแปลงแก่เด็กและครอบครัวให้มีความปลอดภัย ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ผ่านการเชื่อมร้อยชุมชน พลังภาคีเครือข่ายและหน่วยงานต่างๆ ผสานกระบวนการทำงานที่เข้าถึง จริงใจ ไม่ทอดทิ้ง เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา ตลอดจนพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพของสังคมร่วมกัน 

สังคมดีไม่มีขาย

จุดเด่นของคณะทำงานโครงการครอบครัวยิ้ม ตำบลปงแสนทอง คือความสามารถในการเชื่อมประสานความช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่นๆ มาสนับสนุนเคสในพื้นที่ตัวเองได้เก่งมาก” กันยกร ตุ้ยวงศ์ษา พูด

“แล้วก็เป็นตำบลเดียวที่ไม่มีหน่วยงานภาครัฐเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนด้วย คณะทำงานทุกคนเป็นจิตอาสาล้วนๆ ที่มารวมตัวทำงานกันด้วยใจและความรักในชุมชนของตัวเอง” พันธ์ศักดิ์ คำแก้ว เสริม

นี่คือเสียงสะท้อนบางส่วนจากทีมกองเลขาของโครงการครอบครัวยิ้ม จังหวัดลำปาง ซึ่งทำหน้าที่ดูแลคณะทำงานในตำบลต้นแบบ ขณะเดียวกัน พันธ์ศักดิ์ ยังเป็นประธานคณะทำงานศูนย์เรียนรู้เพื่อครอบครัวเข้มแข็ง จังหวัดลำปาง และรองประธานอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาครอบครัวจังหวัดลำปาง

เช่นเดียวกันกับ พรวิภา เธอเองยังมีบทบาทอยู่ในศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบลปงแสนทอง ที่พร้อมบูรณาการการทำงานร่วมกับสถานพัฒนาและฟื้นฟูเด็กจังหวัดลำปาง ศูนย์เรียนรู้เพื่อครอบครัวเข้มแข็ง และโครงการครอบครัวยิ้ม ด้วยความตั้งใจอยากขับเคลื่อนในประเด็นเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะ

การบูรณาการการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายที่หลากหลาย ถือเป็นกุญแจดอกหลักที่ทำให้โครงการครอบครัวยิ้ม จังหวัดลำปาง สามารถเข้าไปช่วยเหลือเด็กและครอบครัวที่ประสบปัญหาต่างๆ ได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพ โดยเดิมทีในพื้นที่มีศูนย์เรียนรู้เพื่อครอบครัวเข้มแข็ง จังหวัดลำปาง ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ดำเนินการส่งเสริมสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัวอยู่ก่อน เมื่อทางโครงการครอบครัวยิ้มเข้ามาและมีทิศทางที่สอดคล้อง จึงเป็นโอกาสสานต่อความร่วมมือเพื่อมุ่งหน้าผลักดันสิ่งที่ศูนย์เรียนรู้เพื่อครอบครัวเข้มแข็ง จังหวัดลำปาง เชื่อมั่นมาตลอดว่า ‘สังคมดีไม่มีขาย ถ้าอยากได้ต้องร่วมสร้าง’

“ประเด็นสำคัญคือการทำงานแก้ปัญหาเรื่องของครอบครัวไม่สามารถทำคนเดียวได้ ต้องอาศัยกระบวนการทำงานอย่างมีส่วนร่วมและการประสานส่งต่อ ซึ่งโครงการครอบครัวยิ้มก็ค่อนข้างชัดเจนในหลักการนี้เหมือนกัน ดังนั้นกระบวนการแรกเริ่มของโครงการจึงออกแบบให้เราต้องมีคณะทำงานที่มาจากหลายภาคีเครือข่าย

“ในส่วนของคณะทำงานระดับจังหวัด เรามีทั้งภาคีเครือข่ายของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ศาลเยาวชนและครอบครัว โรงเรียน หรือโรงพยาบาล มาร่วมกันกำหนดนโยบาย ทิศทาง และวางแนวทางการทำงานให้คณะทำงานระดับตำบลได้ดำเนินการต่อ ซึ่งคณะทำงานระดับตำบลของเราเป็นกลุ่มภาคีเครือข่ายในพื้นที่ที่ร่วมงานขับเคลื่อนประเด็นเหล่านี้กันมาอย่างยาวนาน” พันธ์ศักดิ์ เล่าต่อว่า ข้อได้เปรียบของการมีเครือข่ายในพื้นที่คือการเข้าถึงข้อมูลที่ง่ายกว่า 

ในส่วนนี้โครงการครอบครัวยิ้ม จังหวัดลำปาง มีคณะทำงานที่เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก กลุ่มสตรี ผู้นำชุมชน และนักการเมืองท้องถิ่น ร่วมด้วยช่วยเก็บรวบรวมข้อมูลของเด็กอายุไม่เกิน 20 ปี ซึ่งคณะทำงานกลุ่มนี้มีไม่เพียงผ่านการอบรมพัฒนาศักยภาพด้านการให้คำปรึกษา หากยังคุ้นเคยกับชุมชนเป็นอย่างดี จึงทำให้ได้ข้อมูลชัดเจนจากคนในพื้นที่จริง ซึ่งเป็นประเด็นที่โครงการครอบครัวยิ้มเน้นย้ำและจะนำไปสู่การดูแลเด็กและเยาวชนอย่างทั่วถึง

ยั่งยืนกว่าถ้าทำเอง

การเคาะประตูเยี่ยมบ้าน ทำความรู้จักเด็กและครอบครัว คือกระบวนการแรกเริ่มเพื่อพัฒนาฐานข้อมูล ซึ่งจะถูกนำมาวิเคราะห์ความหนักหนาของปัญหาแล้วจัดแบ่งเป็น 3 สีตามระดับความรุนแรง ได้แก่ สีเขียวคือเด็กที่มีชีวิตปกติสุข สีเหลืองคือเด็กที่เข้าข่ายมีปัญหา ต้องเฝ้าระวัง และสีแดงคือเด็กที่มีปัญหารุนแรง ต้องรีบหาทางแก้ไขโดยเร่งด่วน 

ความน่าสนใจก็คือในขั้นตอนนี้ทางโครงการครอบครัวยิ้ม จังหวัดลำปาง จะเปิดกว้างให้คณะทำงานแต่ละตำบลได้ระดมสมองและออกแบบการวิเคราะห์แบ่งสีเองตามบริบทของชุมชน

“กองเลขามีหน้าที่เพียงให้หลักการกว้างๆ เช่น เด็กที่มีปัญหารุนแรงสีแดง คือเด็กที่มีปัญหาครอบคลุมด้านสุขภาวะ ไม่ว่าด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม หรือสติปัญญา ส่วนการแบ่งสีต่างๆ หรืออำนาจในการดูแล วางแผนการช่วยเหลือ เราให้สิทธิ์คณะทำงานในพื้นที่เป็นหลัก” พันธ์ศักดิ์ บอก

ในทางเดียวกันกระบวนการดังกล่าวยังสอดรับกับแนวคิดชุมชนนำ ซึ่งเป็นกลไกที่หลอมรวมคณะทำงานชุมชนจากทุกภาคส่วนให้เข้ามามีส่วนร่วมเรียนรู้ ดูแล และพัฒนาลูกหลาน ตามวิถีวัฒนธรรมของแต่ละชุมชน

ปุณยนุช กรมขุนทด คณะทำงานศูนย์เรียนรู้เพื่อครอบครัวเข้มแข็ง จังหวัดลำปาง  และผู้ประสานงานโครงการครอบครัวยิ้ม จังหวัดลำปาง อธิบายเรื่องนี้ให้ฟังว่า 

“แนวคิดชุมชนนำต้องการเปิดโอกาสให้ชุมชนได้ออกแบบการทำงานและวางแนวทางการแก้ไขปัญหาของตัวเองด้วยตัวเอง เพราะแน่นอนว่าคนในพื้นที่ย่อมรู้ปัญหาและเข้าใจความต้องการดีกว่าคนนอก”

“ฉะนั้นเราในฐานะของผู้ประสานงานโครงการจึงพยายามทำหน้าที่สนับสนุนและให้คำปรึกษามากกว่าเข้าไปครอบงำทางความคิด” 

“แตกต่างจากโครงการอื่นๆ ที่มักวางแผนงานจากบนลงล่าง และส่วนใหญ่ก็ผิดพลาด ไม่สำเร็จ เพราะข้างล่างไม่รับ ไม่พร้อม หรือไม่เห็นด้วย ดังนั้นถ้าชุมชนนำ ชุมชนทำงานได้เอง มันจะก่อให้เกิดความภาคภูมิใจและการดูแลแก้ไขที่มีความยั่งยืน”

เครือข่ายดีมีพลัง

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น เราจึงชวนคณะทำงานโครงการครอบครัวยิ้ม ตำบลปงแสนทอง มาแบ่งปันประสบการณ์การดำเนินงาน นี่คือหนึ่งในตำบลต้นแบบของโครงการที่ได้รับเสียงชื่นชมว่ามีความเข้มแข็ง ออกแบบกระบวนการได้น่าสนใจ และเป็นแบบอย่างของการนำแนวคิดชุมชนมาต่อยอดปรับใช้ได้อย่างยอดเยี่ยม 

“คณะทำงานของเราทุกคนเป็นเครือข่ายอาสาสมัครในพื้นที่ อาทิ ประธานชุมชน กลุ่มสตรี หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน โดยในกระบวนการสำรวจข้อมูลเด็กพวกเราได้มีการออกแบบวิธีเก็บข้อมูลที่ ‘เน้นรับฟังมากกว่าพูด’” 

พรวิภา ขยายเทคนิคการเก็บข้อมูลฉบับทีมปงแสนทองต่อว่า 

“ตัวอย่าง เคสของป้าอำพรรณ ครั้งแรกที่เราเข้าไปเยี่ยมพร้อมกับแนะนำตัว แกก็พูดไปร้องไห้ไป จังหวะนี้เราทุกคนจะเงียบฟังเพื่อปล่อยให้แกได้ระบายเต็มที่ จากนั้นจึงช่วยกันมองหาแนวทางช่วยเหลือเบื้องต้นตามศักยภาพ เพราะเรามีภาคีเครือข่ายที่พร้อมสนับสนุนเยอะ เช่น กลุ่มสตรีที่สามารถช่วยฝึกอาชีพให้แม่เลี้ยงเดี่ยวได้ หรือมีโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์จิตต์อารีฯ ที่สามารถเลี้ยงดูเด็กให้ได้ ที่สำคัญในการเก็บข้อมูลทุกครั้งเราจะเน้นไปกันแต่ตัว ไม่ถือหนังสือ เอกสาร และทำงานกันเป็นทีม คนหนึ่งชวนคุย คนหนึ่งปลอบ คนหนึ่งเกลี้ยกล่อม บางครั้งซื้อส้มตำเข้าไปนั่งกินด้วยกันก็มี กินพลางถามพลาง เน้นสร้างความคุ้นเคยและเป็นกันเองก่อน” 

เมื่อคณะทำงานเก็บรวบรวมข้อมูลเด็กมาได้จนครบ ขั้นตอนต่อมาก็ถึงกระบวนการวิเคราะห์แบ่งสีเคสตามระดับความรุนแรง ซึ่งที่นี่จะใช้วิธีการล้อมวงแลกเปลี่ยนเรื่องเล่าของแต่ละเคสที่พบเจอมา เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจน เป็นธรรมชาติ และไม่สร้างความกดดันกับผู้ที่ไม่ถนัดการนำเสนอแบบเป็นทางการ อีกทั้งยังมีการลงพื้นที่ซ้ำ ตรวจสอบให้แน่ใจถึงระดับความรุนแรงของปัญหา โดยจะมีคณะทำงานระดับจังหวัดมาร่วมรับฟัง พร้อมเสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหา ซึ่งในตำบลปงแสนทองนั้นมีเคสที่น่าเป็นห่วง ระดับสีเหลืองจำนวน 13 เคส และสีแดงจำนวน 7 เคส ส่วนใหญ่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำทางเพศและยาเสพติด

เคสครอบครัวป้าอำพรรณ เป็น 1 ใน 7 เคสรุนแรงสีแดงที่คณะทำงานให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน โดยมอบเงินสนับสนุน สิ่งของอุปโภคบริโภค ควบคู่กับการพยายามประสานขอการสนับสนุนจากภาคีเครือข่ายเพิ่มเติม อาทิ เงินสนับสนุนแม่เลี้ยงเดี่ยวจากศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวภาคเหนือ จังหวัดลำปาง, เมล็ดพันธุ์พืชผักสวนครัวจากหน่วยงานด้านการเกษตรเพื่อนำมาให้ปลูกกินเหลือขาย หารายได้ใช้จ่ายในครัวเรือน, หนังสือนิทานส่งเสริมการอ่านและพัฒนาศักยภาพเด็กเล็กจากศูนย์เรียนรู้เพื่อครอบครัวเข้มแข็งจังหวัดลำปาง หรือ ตระเตรียมการส่งเสริมอาชีพทำแคบหมูและเนื้อแดดเดียว โดยร่วมมือกับเครือข่ายการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ในปีงบประมาณถัดไป เป็นต้น

“โครงการครอบครัวยิ้ม ตำบลปงแสนทอง มีเครือข่ายที่เข้มแข็งมากและพร้อมเชื่อมโยงความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แม้แต่ตอนเยี่ยมเคสก็ไปด้วยกัน ไม่มีการแบ่งแยกทำงานเป็นทีมเดียวกัน ยิ่งกว่านั้นคือเขาเล็งเห็นความสำคัญของการสร้างความเข้มแข็งแก่ผู้ประสบปัญหา ไม่ใช่เอาแค่ปลาไปให้ตลอดเวลา ทว่าพยายามพัฒนาทักษะและส่งเสริมอาชีพด้วย” พันธ์ศักดิ์ ชื่นชม

“เห็นด้วยเลยค่ะ” กันยกร ยืนยันอีกเสียง ก่อนเสริมว่า อีกสิ่งหนึ่งที่เธอประทับใจคือการที่คณะทำงานไม่มองข้ามการเสริมสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่องการเลี้ยงดูเด็กแก่ผู้ปกครอง เช่นเคสของป้าอำพรรณที่อาจมีปัญหาช่องว่างระหว่างวัย จึงแนะนำวิธีการดูแลที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการ เพื่อปลูกฝังให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพอีกด้วย 

ต่อเนื่องเรื่องสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าความประสงค์ดีจะน่ายินดีเสมอไป เมื่ออุปสรรคของการหยิบยื่นความช่วยเหลือในบางกรณีคือการไม่ยอมรับว่ามีปัญหา

“มีบางครอบครัวที่เขาไม่ยอมรับการช่วยเหลือ ไม่ยอมรับว่ามีปัญหา ซึ่งเราตกลงกันว่าถ้าเจอเคสแบบนี้จะไม่ดันทุรัง แต่จะค่อย ๆ ทำความเข้าใจ เพราะนี่เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังมาก ๆ เนื่องจากต่างคนต่างมุมมอง ดังนั้นเราอาจต้องย้อนกลับมาดูข้อมูลกันอีกรอบ ประเมินเคสกันใหม่” กันยกร เล่าให้ฟังถึงปัญหาและทางออกของการช่วยเหลือที่ไปไม่ถึง

ประเด็นเดียวกันนี้ พรวิภา ยกตัวอย่างให้ฟังว่า ในตำบลปงแสนทองก็มีกรณีของลูกเลี้ยงอยู่บ้านหลังเดียวกับพ่อเลี้ยงและสามีใหม่ พร้อมด้วยลูกสาววัยใสที่เกิดจากสามีคนเก่าอีกสองคน ประกอบกับสภาพแวดล้อมที่ต้องอยู่กันอย่างแออัด ทำให้คณะทำงานกังวลว่าอาจก่อปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเพศ จึงเสนอความช่วยเหลือพาลูกสาวไปประจำอยู่โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์จิตต์อารีฯ ในลักษณะกินนอน ทว่าฝ่ายแม่กลับปฏิเสธ เพราะอยากให้ลูกๆ อยู่กับตนเองมากกว่า

ในกรณีนี้ทางคณะทำงานจึงเลือกใช้วิธีขอความร่วมมือจากผู้นำชุมชน กลุ่มสตรี และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ช่วยกันเป็นหูเป็นตาสอดส่องดูแล รวมถึงแอบติดตามพฤติกรรมของเด็กอยู่ห่างๆ ผ่านช่องทางสื่อโซเชียล

 “เวลาเจอเคสที่เขาไม่ยอมรับความช่วยเหลือ ทางคณะทำงานจะไม่ทอดทิ้ง แต่อาศัยภาคีเครือข่ายในพื้นที่ช่วยติดตามดูแล มีอะไรส่งข่าวมา แล้วค่อยๆ กลับเข้าไปลองเจรจาดูใหม่ เพราะเคยมีลักษณะแรกๆ ไม่ยอมรับ แต่พอหลังจากได้รับความช่วยเหลือจากเครือข่ายอยู่ตลอดก็เปลี่ยนใจ” พันธ์ศักดิ์ กล่าว พลางสรุปว่าการทำงานอย่างต่อเนื่องถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะสำหรับเขา การแก้ปัญหาเด็กและครอบครัว ไม่มีจุดสิ้นสุด

นอกจากความต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ในการทำงานยังต้องการความจริงใจ 

“ความจริงใจ หรือมีใจอยากช่วยเหลือผู้อื่นเป็นพื้นฐานที่จะช่วยให้การทำงานประสบความสำเร็จ” 

พันธ์ศักดิ์ เสริมต่อว่า ถ้าใจพร้อม เปิดใจ มุ่งมั่นทำโดยไม่หวังผลประโยชน์ใดตอบแทน และเรียนรู้การสื่อสารเชิงบวก ผู้รับการช่วยเหลือก็จะสัมผัสได้ถึงความรักและปรารถนาดี เกิดความร่วมไม้ร่วมมือ ซึ่งนำไปสู่กรณีที่สามารถพลิกชีวิตจากด้านมืดคืนสู่แสงสว่าง 

ยกตัวอย่าง กรณีของเด็กหญิงที่ถูกแฟนหนุ่มปล่อยคลิประหว่างมีเพศสัมพันธ์ กระทั่งเรื่องราวบานปลายไปถึงขั้นฟ้องร้องและคิดฆ่าตัวตาย คณะทำงานจึงประสานทางศาลเยาวชนและครอบครัวให้เข้ามาช่วยดูแล ควบคู่นำนักจิตวิทยาเข้าไปบำบัดฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้เสียหาย ทำให้เธอสามารถกลับมาเรียนต่อจนจบและเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้อีกครั้ง หรือ กรณีของหลานชายติดยาเสพติดคลุ้มคลั่ง เมื่อครอบครัวยินยอมให้ทางคณะทำงานพาหลานไปรับการบำบัดรักษา ปัจจุบันเขาก็สามารถเลิกจากการเป็นทาสยา ประกอบอาชีพสุจริต และกลายเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ดีอีกหนึ่งคน

 “พวกเราเคยคุยกันว่าไม่มีเคสนั่นแหละดีที่สุดแล้ว แต่ถึงจะไม่มีเคสเราก็ยังจะดูแลเด็กและเยาวชนของเรา” พรวิภา เปรยความตั้งใจของทีม

แกนหลักของโครงการครอบครัวยิ้ม ตำบลปงแสนทอง ทิ้งท้ายว่า สำหรับเธอและคณะทำงาน ไม่เคยมีเป้าหมายระยะสั้นหรือระยะยาวใด เพราะเป้าหมายเดียวของทุกคนคือการเดินหน้าทำงานสร้างสรรค์สังคมต่อไป เพื่อสร้างความอยู่ดีและมีสุขให้กับเด็กและชุมชน

Writer
Avatar photo
คุณากร

เป็นคนอ่านช้าที่จับพลัดจับผลูจนกลายมาเป็นคนเขียนช้า และอยากแบ่งปันเรื่องราวบันดาลใจให้อ่านกันช้าๆ มีเจ้านายเป็นแมวโกญจาฟันสวย แต่ไม่ค่อยยิ้มแฉ่ง

Related Posts

Related Posts