“I LOVE MY GAY SON” ประโยคสั้นๆ ที่แม่บอกลูกว่าจะอยู่ตรงนี้เสมอ ในวันที่เกาหลีใต้ยังปัดตกกฎหมายสมรสเท่าเทียม
“I LOVE MY GAY SON” ประโยคสั้นๆ ที่แม่บอกลูกว่าจะอยู่ตรงนี้เสมอ ในวันที่เกาหลีใต้ยังปัดตกกฎหมายสมรสเท่าเทียม
- “ถึงสังคมจะไม่เข้าใจ แต่แม่จะเข้าใจลูกเอง” น่าจะเป็นสิ่งที่ภาพยนตร์สารคดีเกาหลีใต้ Coming to You อยากบอกกับคนดู
- ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ไม่ได้พาสำรวจแค่ตัวตนและความเป็นมนุษย์ของลูกที่เป็น LGBTQIA+ แต่ชวนดูจิตใจที่สั่นคลอนของแม่ที่อยู่เคียงข้างลูกในทุกสถานการณ์
- ถึงแม่ๆ จะไม่เข้าใจว่า นิยามของความหลากหลายทางเพศคืออะไร แต่พวกเธอก็ไม่ผลักไสและบอกลูกว่า ในวันที่โลกหันหลังให้กับตัวตนของพวกเขา แม่จะอยู่ตรงนี้เสมอ
*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์สารคดี
“ส่วนใหญ่คนที่มีความหลากหลายทางเพศจะไม่ได้เจอครอบครัวอีกเลย”
เพื่อพิสูจน์ว่า ‘อีฮันกยอล’ พร้อมที่จะเป็นชาย เขาต้องส่งเอกสารให้กับศาลทั้งหมด 18 อย่าง หนึ่งในนั้น คือ เอกสารยินยอมจากผู้ปกครอง
เพราะทั้งชีวิตของฮันกยอล มีแค่ ‘แม่’ ที่เข้าใจ ตั้งแต่วันที่ลูกสาวรวบรวมความกล้าไปขออนุญาตแม่เพื่อผ่าตัดหน้าอก เปลี่ยนสถานะจากลูกสาวเป็นลูกชาย
ฮันกยอล คือ ตัวแทนของลูกที่เป็นกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIA+) จากภาพยนตร์สารคดีเกาหลี Coming to You ที่มีแม่อยู่สู้และเคียงข้างมาตลอด
ขณะที่เพื่อนหลายคนที่กำลังเผชิญสถานการณ์เดียวกันเลือกที่จะไม่เจอครอบครัว หลังบอกความจริงกับพ่อแม่ เพราะพวกเขารู้ดีว่ากำลังทำให้พ่อแม่ผิดหวัง เนื่องจากไม่สามารถเป็นลูกตามที่พ่อแม่คาดหวังไว้ได้
นอกจาก Coming to You จะเล่าตัวตนและความเป็นมนุษย์ที่ซ่อนอยู่ในกลุ่ม LGBTQIA+ แล้ว สารคดีก็พาคนดูทุกคนไปสำรวจจิตใจที่สั่นคลอนของแม่
คนหนึ่งสั่นคลอนเพราะลูกกำลังจะมีร่างกายที่เปลี่ยนไปจากหญิงเป็นชาย ส่วนอีกคนต้องจมอยู่กับความเศร้า หลังลูกชายยอมรับว่าเป็นเกย์
สำหรับแม่ทั้งสองคน สิ่งที่เธอทำได้ดีที่สุด ไม่ใช่แค่พยายามเข้าใจ แต่รับฟังแล้วจับมือลูกเดินไปพร้อมกันในสังคมที่ยังไม่สามารถยอมรับความหลากหลายได้
แต่แม่กับลูกจะวางใจได้ว่า ต่อให้โลกภายนอกจะปาหินใส่ แต่พวกเขาจะผ่านไปได้ด้วยแรงใจสำคัญที่ส่งถึงกัน แม้อีกฝั่งจะไม่ได้ร้องขอก็ตาม
ถึงสังคมไม่เข้าใจ แต่แม่จะเข้าใจลูกเอง
“ตอนเด็ก ผมไม่อยากไปโรงเรียน ไม่อยากใส่กระโปรง แต่ผมก็ต้องใส่”
ตั้งแต่เกิด ฮันกยอล คือ ลูกสาวเพียงคนเดียวของแม่มาตลอด แต่เธอไม่อยากเป็นผู้หญิง ครั้งแรกที่บอกแม่ แม่ก็ตอบกลับมาว่า ลูกยังเด็ก นั่นเท่ากับแม่ยังไม่ยอมรับ
ความเป็นตัวตนที่ถูกกดทับไว้ในใจของฮันกยอลมาตลอดทำให้เขาต้องเผชิญกับภาวะซึมเศร้า เพราะความเป็นตัวเขาถูกสังคมมองข้ามทำให้ต้องใช้ชีวิตอย่างไร้ตัวตนในบ้านเกิด
เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมปลาย ฮันกยอลรวบรวมความกล้าบอกแม่อีกครั้งพร้อมขออนุญาตผ่าตัดเอาเต้านมออก เขาเริ่มบทสนทนาด้วยประโยคสั้นๆ ว่า
“แม่ ผมอาจจะต้องอยู่ในโลกที่ปาหินใส่ แค่ผมเป็นตัวผม”
ฮันกยอลรู้อยู่เต็มอกว่า แม่คงไม่ตอบรับอย่างทันทีแต่กาลเวลาค่อยๆ ทำให้ ‘นาบี’ แม่ของฮันกยอลยอมรับแล้วตัดสินใจที่จะเป็นคนพาลูกไปผ่าตัดหน้าอกตามคำขอด้วยตัวเอง
ขณะที่อีกฝั่งหนึ่งของมุมโลก ‘จยองเยจุน’ นักศึกษาเกาหลีใต้ในแคนาดากำลังใช้ชีวิตในฐานะ LGBTQIA+ เพราะเชื่อว่า เมืองนี้จะเติมเต็มความสุขและเยียวยาบาดแผลของตัวเองเมื่อ 7 ปีก่อนได้
หนึ่งในกิจวัตรประจำวันของเยจุน คือ การวิดีโอคอลคุยกับ ‘แม่’ บทสนทนาของทั้งสองคนไม่ใช่คำถามและคำตอบที่ชวนอึดอัด แต่เป็นบทสนทนาที่เรียบง่าย
กินข้าวหรือยัง? กี่โมงแล้ว? ทำอะไรอยู่? เป็นยังไงบ้าง? คำถามที่แม่ลูกผลัดกันถามผ่านหน้าจอ
แต่ภายใต้ความเข้าใจ จริงๆ แล้ว ‘วิเวียน’ แม่ของเยจุนกำลังต่อสู้กับจิตใจตัวเองทุกครั้งเพื่อให้การกระทำของเธอบอกลูกว่า ลูกจะไม่โดดเดี่ยวอีกต่อไป
“ฉันพยายามจะเป็นแม่สุดเท่” วิเวียนบอกหลังเจอแฟนของลูกครั้งแรก
ถึงจะไม่สามารถเข้าใจหรือยอมรับได้ทั้งหมดว่า สิ่งที่ลูกเลือกที่จะเป็นคืออะไรแล้วเขาคือใคร แต่วิเวียนและนาบีก็ยังเลือกที่จะสู้กับสายตาสังคมและเคียงข้างลูกในทุกๆ วัน
สิ่งนี้น่าจะเป็นสิ่งที่พวกเธอโอบกอดตัวตนของลูกไม่ให้สั่นคลอนได้อย่างดีที่สุดเท่าที่แม่คนหนึ่งจะทำได้แล้ว
ไม่ว่าจะเป็นเกย์ไหม ถ้าเจอคนที่รัก พวกเขาควรได้อยู่ด้วยกัน
เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ศาลเกาหลีใต้ปัดตกกฎหมายสมรสเท่าเทียม รวมถึงปีที่แล้ว ครอบครัวเพศเดียวกันก็ไม่ถูกนับรวมอยู่ในนิยามคำว่า ‘ครอบครัว’ ของเกาหลีใต้
หมายความว่า คู่รักเพศเดียวกันยังคงใช้ชีวิตแบบไร้สิทธิ นั่นทำให้นาบีและวิเวียนลุกขึ้นมาส่งเสียงให้สังคมที่ลูกกำลังจะใช้ชีวิตต่อเข้าใจเรื่องนี้
นอกจากบทบาทแม่ ทั้งสองคนคือสมาชิกกลุ่ม ‘Pflag’ องค์การนอกภาครัฐที่สนับสนุนบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศและญาติมิตร
“ลูกฉันกำลังอยู่ในโลกที่บ้าคลั่ง พ่อแม่ต้องสู้เพื่อลูก นี่คือสิ่งที่เราทำได้” นาบีบอกระหว่างเทศกาล Pride ในเกาหลีใต้พร้อมกับเอื้อมไปกอดฮันกยอลด้วยรอยยิ้ม
นอกจากสารคดีจะพาเราไปทำความรู้จักความเป็น ‘มนุษย์’ ของกลุ่มคน LGBTQIA+ แล้ว สารคดียังชวนผู้ชมไปยังการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศในเกาหลีใต้
“พ่อแม่จะจากไปก่อนลูก พอนึกถึงว่าลูกจะต้องโดดเดี่ยว ไม่มีใครดูแล ฉันรู้สึกเศร้าใจมาก” วิเวียนพูดในฐานะแม่ของลูกที่มีความหลากหลายทางเพศ
หลายครั้งการเรียกร้องเพื่อความเท่าเทียมจะเห็นภาพของ ‘ลูก’ ที่มาประกาศกับสังคม แต่สำหรับวิเวียนแม่ก็ควรทำหน้าที่นั้น
“ลูกของฉันจะโตเป็นผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเกย์ไหม ถ้าเขาเจอคนที่รัก พวกเขาควรอยู่ด้วยกัน”
ถึงจะไม่ใช่คนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่วิเวียนก็ได้แต่หวังว่า ลูกจะมีคนดูแลในวันที่เขาจากไป ไม่โดดเดี่ยวเหมือน 7 ปีที่ลูกชายเขาต้องเจอมา และได้อยู่กับคนที่เขารัก
นาบีเองก็อยากได้หลักประกันที่จะทำให้เธอเชื่อได้ว่า ช่วงชีวิตสุดท้ายของลูก เขาจะไม่ต้องอยู่คนเดียว
“ถ้าชีวิตลูกมันหนักหนา ขอให้วาระสุดท้ายของลูก แม่อยู่ด้วย” แม่บอกทั้งน้ำตา เพราะเข้าใจแล้วว่า ชีวิตข้ามเพศของลูกเป็นอย่างไร
อาจจะใช่ที่โลกคงปาหินใส่ฮันกยอล แต่สิ่งที่เธออยากบอกลูก คือ แม่จะสู้ไปกับลูกเอง
เพราะเหตุผลนี้ ทำให้นาบีเขียนจดหมายยินยอมการเปลี่ยนสถานะเพศให้ลูก กอดเขาในวันพิจารณาข้อเรียกร้องนี้ครั้งแรก แต่ถูกปฏิเสธ และยินดีกับลูกในวันที่ทุกอย่างสำเร็จตามที่ลูกหวัง
แม้จะไม่ใช่การกระทำที่ยิ่งใหญ่ แต่ทุกคำพูดและการดูแลของแม่ คือ การเติมแรงใจและความมั่นใจให้ฮันกยอลว่า การตัดสินใจเปลี่ยนจากหญิงเป็นชายครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องผิดพลาด
แล้วกล้าตอบคำถามผู้พิพากษาที่ถามย้ำลูกอีกครั้งว่า แน่ใจแล้วใช่ไหมที่จะเปลี่ยนสถานะ ฮันกยอลก็ตอบกลับอย่างตรงไปตรงมาไปว่า “ผมแน่ใจครับ”
I LOVE MY GAY SON
“ฉันคือพ่อ/แม่ของลูกที่เป็น… (อัตลักษณ์ทางเพศ)”
พ่อแม่ในกลุ่ม Pflag จะแนะนำตัวด้วยประโยคนี้เสมอๆ ถึงใจลึกๆ ก็ยังคงถกเถียงกับตัวเองว่า คำนิยามนั้นคืออะไร
เกย์คืออะไร ?
bisexual คืออะไร?
transgender คืออะไร ?
สิ่งเหล่านี้พ่อแม่อาจจะยังไม่เจอคำตอบที่ชัดเจน แต่พูดเพราะลูกบอกว่าเขาเป็นแบบนั้น เพราะคำนิยามที่ลูกบอกเป็นคำที่ลูกรู้สึกสบายใจและมีความสุข
นั่นจึงทำให้การเข้าร่วมงาน Pride ที่แคนาดาของวิเวียน เขาเลือกที่จะเดินชูป้าย “I LOVE MY GAY SON” ให้ชาวแคนาดาได้เห็นแรงซัพพอร์ตนี้ของแม่
ตัดกลับมาที่เกาหลีใต้ ‘นาบี’ ก็พยายามทำหน้าที่แม่ให้ดีที่สุดเพื่อสร้างรากฐานครอบครัวที่มั่นคงด้วยความเข้าใจ แม้สิ่งที่แม่เข้าใจจะเป็นเศษเสี้ยวของเรื่องทั้งหมดก็ตาม
อาจเป็นเพราะความหวังของแม่ๆ ที่มีลูกเป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศ คือ การเห็นลูกมีความสุขและได้อยู่กับคนที่เขารักได้ในวันหนึ่ง
Coming to You จึงเป็นภาพยนตร์สารคดีที่เรียกร้องให้สังคม รับรู้ความเป็นมนุษย์ของชาว LGBTQIA+ ผ่านเสาหลักสำคัญ คือ ครอบครัวที่ไม่ได้ผลักไส แต่พร้อมที่จะเรียนรู้และเข้าใจไปพร้อมกัน
เพื่อบอกสังคมที่เต็มไปด้วยความหลากหลายในโลกใบนี้ว่า “I LOVE MY GAY SON”
สถานการณ์การเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศในเกาหลีใต้ – ปัจจุบันกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศยังไม่สามารถแต่งงานกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย – กลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศรวมถึงบางครั้งอาจถูกกีดกันออกจากสังคมและกลุ่มเพื่อน – กองทัพเกาหลีใต้ถูกห้ามไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรมทางเพศ มิเช่นนนั้นอาจต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีตามประมวลกฎหมายอาญาของทหาร กฎหมายสมรสเท่าเทียมในไทย ปัจจุบันรัฐสภามีมติรับร่างสมรสเท่าเทียมและพ.ร.บ.คู่ชีวิตเข้าสู่วาระที่ 2 ที่จะต้องรอการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ประเด็นสำคัญของสมรสเท่าเทียมที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล คือ – คู่รักเพศเดียวกันสามารถแต่งงานกันได้เป็น ‘คู่สมรส’ – เปิดโอกาสให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถกระทำการทางการเงินหรือทางการแพทย์ได้ – สามารถใช้นามสกุลคู่สมรสได้ ประเด็นสำคัญของพ.ร.บ.คู่ชีวิต คือ – คู่รักเพศเดียวกันสามารถแต่งงานกันได้เป็น ‘คู่ชีวิต’ – เปิดโอกาสให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถกระทำการทางการเงินหรือทางการแพทย์ได้ – ยังไม่สามารถใช้นามสกุลของคู่สมรสได้ |
อ้างอิง
https://www.hrw.org/news/2022/01/10/south-korean-court-declines-recognize-same-sex-partners
https://www.ilaw.or.th/node/6169
https://www.chapman.edu/international-studies/_files/lgbtq-country-specific.pdf
Writer
ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์
ชอบดูซีรีส์เกาหลี เพราะเชื่อว่าตัวเราสามารถสร้างพื้นที่การเรียนรู้ได้ สนใจเรื่องระบบการศึกษาเเละความสัมพันธ์ในครอบครัว พยายามฝึกการเล่าเรื่องให้สนุกเเบบฉบับของตัวเอง
illustrator
ธนัชพร จันทร์เขียว
เด็กฝึกงานกราฟิกที่ชอบวาดภาพท้องฟ้าและทะเล ติดของหวานเป็นชีวิตจิตใจ ชอบเปิดเพลง r&b ตอนทำงานโดยเฉพาะตอนวาดภาพ มันช่วยให้มีสมาธิและสามารถโฟกัสกับการทำงานได้ดี