ซานตาคลอส ของขวัญ เสียงเพลง และบรรยากาศ ถึงโบสถ์จะไม่เคยเข้า แต่เราก็หลงรักวันคริสต์มาส
ซานตาคลอส ของขวัญ เสียงเพลง และบรรยากาศ ถึงโบสถ์จะไม่เคยเข้า แต่เราก็หลงรักวันคริสต์มาส
โบสถ์ไม่เคยมา พอเดือนธันวาบอกเบิร์ดเดย์เยซู
ถ้าถามว่า เทศกาลประจำปีเทศกาลไหนที่คนไทยหรือแม้แต่คนทั่วโลกรักมากที่สุด หนึ่งในสามอันดับแรกต้องมีเทศกาลแห่งความสุขอย่างคริสต์มาสติดมาด้วยแน่ๆ ทั้งที่จะว่าไป ไทยก็เรียกตัวเองว่าเป็นเมืองพุทธ เคยเข้าโบสถ์ไหม คนไทยหลายคนก็คงไม่ หิมะก็ไม่เคยตก ความเฟสทีฟเฟสใจก็ทำได้แค่การประดับไฟหลากสีและถ่ายรูปกับต้นคริสต์มาสตามห้างต่างๆ แต่หลายคนกลับหลงรักวันคริสต์มาสแบบที่แต่ละปีต้องตั้งตารอให้ถึงปลายเดือนธันวาคม
พอปฏิทินมาถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน เราก็ต้องรับบทเป็นหนึ่งในคนที่เปิดเพลง All I Want for Christmas is You ดังลั่นบ้านให้แม่หมีมารายห์ได้รับเงินบำนาญประจำปีอีกครั้ง
มันต้องมีแหละ เวทมนตร์เล็กๆ ในวันคริสต์มาส ที่ทำให้เราหลงรักเทศกาลนี้กันเหลือเกิน และบทความนี้จะพาไปสำรวจเหตุผลว่า เพราะอะไรเราถึงหลงรักวันคริสต์มาส
• กำเนิดวันคริสต์มาส
หลายๆ คนคงรู้ว่า ที่จริงแล้วคริสต์มาสนั้น จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองวันประสูติของพระเยซู แม้ที่จริงจะไม่มีการบันทึกไว้อย่างแน่ชัดว่า พระเยซูเกิดวันที่ 25 ธันวาคมจริงไหม แต่คริสตจักรตะวันตกก็ได้กำหนดให้วันที่ 25 ธันวาคม เป็นวันเฉลิมฉลองคริสต์มาสในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 4 ซึ่งภายหลังคริสตจักรตะวันออกก็รับวัฒนธรรมนี้มาเช่นกัน
เหตุผลที่เลือกวันนี้มีหลายข้อสันนิษฐาน เช่น การคำนวณเก้าเดือนหลังวันแม่พระรับสารที่คริสเตียนยุคแรกให้ความสำคัญ หรือการเชื่อมโยงกับเทศกาลสำคัญของชาวโรมันในเดือนธันวาคมอย่างงานแซตเทอร์นาเลีย (Saturnalia) ที่เป็นการบูชาเทพแห่งการเกษตร และวันที่ 25 ธันวาคมที่พวกเขาจะฉลองวันประสูติของเทพแห่งดวงอาทิตย์ (Mitra) หรือบางแห่งก็เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมเพเกินโบราณที่จะมีการฉลองด้วยการก่อกองไฟและจุดเทียนไล่ความมืดมิดในวันเหมายัน เมื่อศาสนาคริสต์แพร่กระจายไปทั่วยุโรป คณะสงฆ์คริสเตียนจึงปรับพิธีกรรมของชาวเพเกินให้กลายเป็นการฉลองวันประสูติของพระองค์แทน
• ซานตาเป็นใครกันแน่
คุณลุงชุดแดงหนวดเฟิ้มผู้ใจดีอย่างซานตาคลอสนั้น ที่จริงมีจุดเริ่มต้นมาจากเรื่องราวของตำนานของนักบุญนิโคลัส พระนักบวชในศตวรรษที่ 4 ที่มีชื่อเสียงด้านความเมตตา โดยเฉพาะต่อเด็กและคนยากจน ส่วนชื่อ ‘ซานตาคลอส’ นั้น มาจากชื่อเล่นของนักบุญนิโคลัสในภาษาดัตช์ ‘Sinter Klaas’ (ย่อมาจาก Sint Nikolaas) ซึ่งเข้าสู่วัฒนธรรมอเมริกันในปลายศตวรรษที่ 18 ก่อนที่ซานตาคลอสในชุดสีแดงที่เราคุ้นเคยในปัจจุบันนั้น จะกลายเป็นที่นิยมในช่วงทศวรรษ 1930 ผ่านโฆษณาของ Coca-Cola ซึ่งทำให้ภาพลักษณ์นี้โด่งดังและแพร่หลาย จนกลายเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ประจำวันคริสต์มาส
• เราเริ่มให้ของขวัญกันเมื่อไร
ที่จริง การให้ของขวัญกันในช่วงส่งท้ายปีมีมาตั้งแต่โบราณ แต่ธรรมเนียมการให้ของขวัญในช่วงคริสต์มาสเริ่มได้รับความนิยมในยุควิกตอเรีย เมื่อเทศกาลนี้ถูกปรับให้เน้นเรื่องครอบครัวมากขึ้น โดยมีการนำธรรมเนียมต่างๆ เช่น ถุงเท้าคริสต์มาส การประดับต้นไม้ และการ์ดคริสต์มาสมาใช้ จนกลายเป็นธรรมเนียมที่เป็นที่นิยมมาถึงปัจจุบัน และทำให้วันคริสต์มาสกลายเป็นเทศกาลแห่งความรักและความสุขแสนอบอุ่นแบบทุกวันนี้
• เพราะเหตุใดเราจึงรักคริสต์มาส
แม้คำถามนี้จะไม่มีคำตอบตายตัวที่สามารถฟันธงได้พอๆ กับคำถามที่ว่า สรุปแล้วพระเยซูเกิดวันไหน แต่ก็มีหลากหลายเหตุผลที่พอจะอธิบายได้ว่าทำไมเราจึงรักคริสต์มาส
1. เพราะเพลงวันคริสต์มาส
มันจะมีเทศกาลไหนอีกที่มีเพลงประจำเทศกาลเยอะและฮิตเท่ากับเทศกาลคริสต์มาส
เราเคยเห็นคลิปวิดีโอคลิปหนึ่งที่คนแปลกหน้ากลุ่มใหญ่กำลังรอขึ้นรถไฟ แล้วจู่ๆ ก็มีหนึ่งในนั้นตะโกนร้อง All I Want for Christmas is You ขึ้นมา และปรากฏว่า ผู้คนมากมายบนชานชาลาต่างก็ร้องตามกันได้แทบทั้งหมด ทุกคนมีรอยยิ้มบนใบหน้า กลายเป็น magic moment สั้นๆ ที่ชวนอบอุ่นใจ
ที่จริง เพลงคริสต์มาสไม่ได้มีหน้าที่แค่เติมเต็มบรรยากาศวันคริสต์มาสเท่านั้น แต่งานวิจัยโดย คีลเลอร์และคณะ ในปี 2015 พบว่า ประเพณีการร้องเพลงคริสต์มาสร่วมกันนั้น จะช่วยเสริมสร้างทั้งสุขภาพจิตและสุขภาพกายที่ดี และยังเพิ่มสายใยทางสังคมระหว่างบุคคลด้วย (ซึ่งในไทยอาจจะไม่ได้ทำเป็นประเพณีหรือมีคณะประสานเสียงจริงจัง แต่หลายคนก็ยังตื่นเต้นกับการได้เปิดฟังเพลงคริสต์มาสของมารายห์ และลุ้นให้เพลงขึ้นอันดับ 1 ชาร์ตบิลบอร์ดกันทุกปี แถมเวลาได้ยินเพลงคริสต์มาสเปิดตามห้าง ก็มีหลายเพลงที่เรารู้จักและคงอดขยับปากตามไม่ได้ คงทดแทนการร้องเพลงร่วมกันได้บ้าง) ซึ่งในงานวิจัยนี้พบว่า กลุ่มที่ร้องเพลงวันคริสต์มาสด้วยกันมีอะดริโนคอร์ติโคโทปิกฮอร์โมนซึ่งเป็นฮอร์โมนที่บ่งชี้ความเครียดและการตื่นตัวลดลง ขณะเดียวกันก็พบว่า คนกลุ่มนี้มีออกซิโทซินหรือฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการสร้างสายสัมพันธ์ในมนุษย์เพิ่มขึ้นด้วย
2. ความสุขใจของสายเปย์
ใครบอกเงินซื้อความสุขไม่ได้คงต้องไปทบทวนดูใหม่ เพราะสำหรับบางคนและหลายคน เงินซื้อได้แน่นอน การซื้อของขวัญให้คนที่คุณรักในช่วงคริสต์มาสอาจเป็นความสิ้นเปลืองในบางมุม แต่งานวิจัยชิ้นหนึ่งในปี 2008 พบว่า การจ่ายเงินเพื่อซื้อของขวัญวันคริสต์มาสให้คนที่คุณรักนั้น ทำให้คุณมีความสุขขึ้นได้ โดยการสำรวจนี้จะให้ผู้เข้าร่วมให้คะแนนความสุขของตัวเองในช่วงเช้า จากนั้นผู้ทดลองจะให้เงินกับผู้เข้าร่วมแต่ละคน ซึ่งผู้เข้าร่วมจะต้องใช้จนกว่าจะถึงห้าโมงเย็นในวันนั้น โดยแต่ละคนก็จะได้รับเงื่อนไขการใช้เงินแตกต่างกันไป เช่น ใช้เงินจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ ใช้เงินซื้อของขวัญให้ตัวเอง ใช้เงินซื้อของขวัญให้คนที่คุณรัก เมื่อถึงห้าโมงเย็นก็จะถามระดับความสุขจากผู้เข้าร่วมใหม่อีกรอบ ผลลัพธ์ที่ได้คือ คนที่ได้นำเงินไปซื้อของขวัญให้คนที่รักนั้น มีความสุขเพิ่มขึ้นยิ่งกว่าคนที่ได้โจทย์ให้นำเงินไปซื้อของขวัญให้ตัวเอง
บทความ Material culture and mass consumption เขียนโดย แดเนียล มิลเลอร์ (1987) ก็กล่าวไว้ว่า การเลือกซื้อสินค้าให้คนที่รักในวันคริสต์มาสนั้น ผู้ซื้อมักจะเลือกสินค้าที่มีคุณค่า มีความหมาย และเหมาะกับผู้รับ ดังนั้น ในโลกทุนนิยมที่ทุกอย่างอยู่ภายใต้การแข่งขันทางการตลาด ของขวัญคริสต์มาสจึงกลายเป็นวัตถุที่ไม่ได้มีมูลค่าทางตลาดเท่านั้น แต่ยังทำให้บุคคลได้พบคุณลักษณะและความรู้สึกของตัวเอง และจะช่วยส่งเสริมคุณค่าบางอย่างให้มนุษย์อีกด้วย
“เมื่อเราตื่นเต้นกับการซื้อของ เช่น การหาของขวัญที่สมบูรณ์แบบ การเลือกชุดสำหรับงานปาร์ตี้ หรือจินตนาการถึงปฏิกิริยาของผู้รับ เราจะหลั่งโดปามีน (สารสื่อประสาทที่สัมพันธ์กับความสุข) ออกมา” กิลเลียน เฟแกน (Gillian Fagan) ผู้ก่อตั้ง Acora Therapy และประธานเจ้าหน้าที่บริหารแห่ง Under the Rainbow Therapy Centre กล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้การเลือกซื้อของขวัญในวันคริสต์มาสทำให้เรามีความสุข อย่างไรก็ตาม เธอยังกล่าวว่า แรงจูงใจเหล่านี้อาจไม่ได้เกิดจากความรู้สึกของเราเอง แต่เป็นแรงกระตุ้นและอิทธิพลที่ได้รับจากบรรยากาศที่ห้างร้านจัดขึ้นในช่วงเทศกาลด้วย ดังนั้น จึงควรรู้จักประเมินความสามารถในการซื้อของตนในช่วงคริสต์มาส เพราะมีงานวิจัยที่ระบุว่า ผู้รับส่วนใหญ่มักจะชอบของขวัญที่มาจากการใช้เวลาและการลงแรงในการทำมากกว่าของขวัญที่มีราคาสูง
บางที นอกจากของขวัญที่เป็นชิ้นเป็นอันแล้ว ของขวัญที่ดีที่สุดอาจเป็นการได้ใช้เวลาร่วมกันก็ได้
3. เพราะได้ใช้เวลากับครอบครัว
ดิมิทริส ไซกาลาตัส (Dimitris Xygalatas) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยคอนเนตติคัต (University of Connecticut) เปรียบเทศกาลคริสต์มาสเป็นเหมือนพิธีกรรมอย่างหนึ่ง และกล่าวว่า หน้าที่สำคัญที่สุดของพิธีกรรมนี้ก็คือ การรักษาและเสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว โดยเฉพาะสำหรับญาติที่อยู่ห่างไกลกัน เพราะพิธีกรรมเป็นเครื่องหมายสำคัญที่แสดงถึงอัตลักษณ์และความเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่ม โดยงานวิจัยภาคสนามของเธอพบว่า การเข้าร่วม ‘พิธีกรรม’ นั้น ช่วยสร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง และเสริมความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างกันของสมาชิกในกลุ่ม
นอกจากนั้น ยังมีงานวิจัยอีกชิ้นที่บ่งชี้ว่า ประเพณีวันหยุดนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเด็กที่เข้าร่วมประเพณี (ซึ่งนั่นอาจหมายถึงเพียงแค่การได้รับประทานอาหารร่วมกันกับครอบครัว) เพราะเด็กกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะมีความทรงจำเชิงบวกจากประเพณีในครอบครัว และสามารถนำประสบการณ์นั้นไปใช้ในการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับลูกหลานของพวกเขาในอนาคตด้วย
4. เพราะจริงๆ ตอนนั้นก็ดีนะ
งานวิจัย The Past Makes the Present Meaningful: Nostalgia as an Existential Resource โดย รูตเล็ดจ์ และคณะ พบว่า คนเราจะมี cognitive ‘nostalgia’ bias หรือความเชื่อที่ว่า ‘จริงๆ ตอนนี้ก็ดีนะ’ แถมยังดีกว่าตอนนี้ด้วย เพราะอารมณ์ที่เป็นลบมักจะเลือนหายไปได้เร็วกว่าอารมณ์และประสบการณ์ที่เป็นบวก เมื่อเวลาผ่านไป สิ่งดีๆ ในความทรงจำก็ดูจะดีกว่าเดิม ส่วนสิ่งแย่ๆ ก็หายไปแล้ว ทำให้เราโหยหาอดีตแสนหวาน และแน่นอนว่า คงไม่มีเทศกาลไหนที่จะผูกโยงกับความทรงจำแสนดีวัยเด็กได้ดีเท่าคริสต์มาสอีกแล้ว
แมรี แม็กนอตตัน-แคสซิล (Mary McNaughton-Cassill) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาคลินิกได้เขียนไว้ในบทความบทเว็บไซต์ Psychology Today ว่า ในวัยเด็ก เราทุกคนต่างเชื่อใน ‘เวทมนตร์’ แต่เมื่อโตขึ้นเราก็หลงลืม ‘เวทมนตร์’ ที่เคยเชื่อไป แต่บรรยากาศของเทศกาลคริสต์มาส เช่น แสงไฟ บทเพลงแครอล หรือกลิ่นต่างๆ ที่ทำให้เรารู้ว่าเทศกาลคริสต์มาสได้มาถึงแล้ว ล้วนแต่กระตุ้นความรู้สึกของเราให้มี ‘ความคาดหวัง’ ต่อบางสิ่ง หรือทำให้เรารู้สึกอบอุ่นหัวใจ และทำให้เราอนุญาตให้ตัวเองปล่อยตัวปล่อยใจจากโลกของตรรกะและเหตุผล และได้เป็นเด็กอีกครั้ง มันคือเทศกาลที่เราจะเพลิดเพลินกับการซื้อของขวัญให้ตัวเองได้โดยไม่ต้องรู้สึกผิด อนุญาตให้ตัวเองกินช็อกโกแลตหรือมื้อค่ำจัดเต็มได้มากกว่าวันอื่นๆ และแสงไฟ บทเพลง ตำนานที่เชื่อมโยงกับคริสต์มาส หรือบรรยากาศช่วยท้ายปี ก็ช่วยจุดประกายความหวังเล็กๆ ในใจอันแห้งเหี่ยวของเราว่าสิ่งดีๆ กำลังจะเกิดขึ้น บางทีถ้าเราแขวนถุงเท้าไว้ เราอาจจะได้พบของขวัญในนั้นก็ได้
อ้างอิง :
https://en.wikipedia.org/wiki/Santa_Claus
https://voiceandvisioninc.org/blog/entry/a-brief-history-of-christmas/
https://www.history.com/topics/christmas/santa-claus
https://www.psychologytoday.com/intl/blog/the-asymmetric-brain/201912/five-scientific-findings-about-christmas
https://www.psychologytoday.com/intl/blog/brain-reboot/202012/the-neuroscience-feeling-christmassy
https://www.psychologytoday.com/intl/blog/positively-media/202212/why-christmas-movies-make-us-feel-good
https://www.irishtimes.com/life-and-style/health-family/the-psychology-of-christmas-why-do-the-festivities-impact-us-so-deeply-1.4743860
https://www.newstatesman.com/comment/2023/12/psychology-celebrate-christmas
https://sac-research.sac.or.th/uploads/article//2023_20231222083950-1.pdf
https://www.psychologytoday.com/intl/blog/mental-health-matters/202212/find-magic-during-the-holidays-and-the-other-days
https://philpapers.org/rec/MILMCA-4
Writer
ปัญญาพร แจ่มวุฒิปรีชา
อย่ารู้จักเราเลย รู้จักแมวเราดีกว่า
illustrator
Arunnoon
มนุษย์อินโทรเวิร์ตที่อยากสื่อสารและเชื่อมโยงกับผู้คนผ่านภาพวาด