สังคมแบบไหนทำให้เราต้องซื้อนิทานแพง : เข้าใจปัญหาผ่านการขาดแคลนนิทานในศูนย์เด็กเล็ก กับครูจุ๊ย

สังคมแบบไหนทำให้เราต้องซื้อนิทานแพง : เข้าใจปัญหาผ่านการขาดแคลนนิทานในศูนย์เด็กเล็ก กับครูจุ๊ย

  • เคยสงสัยไหมว่าทำไมหนังสือนิทานในท้องตลาดถึงกลายเป็นสินค้าราคาสูง?
  • ทำความเข้าใจปัญหาดังกล่าวผ่านสถานการณ์ขาดแคลนนิทานในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
  • คุยกับครูจุ๊ย กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิคณะก้าวหน้า กับการก่อตั้งโครงการอ่านปั้นฝันที่มาช่วยแก้ไขปัญหาขาดแคลน

การพลิกปกหลังดูราคาหนังสือนิทานอาจเป็นช่วงเวลากระอักกระอ่วนใจของพ่อแม่หลายคน ยิ่งเป็นเล่มที่ลูกรีบวิ่งเอามาให้เพราะอยากได้ ใจหนึ่งก็อยากซื้อแต่ราคาก็ชวนปาดเหงื่อ ถึงแม้จะหยิบเงินจับจ่ายได้ แต่ลึกๆ ก็อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า ทำไมการซื้อหนังสือนิทานสักเล่มเราต้องควักเงินหลายร้อยบาท 

นิทานไม่ใช่ของราคาสูงเพียงอย่างเดียว ของรอบๆ ตัวเราก็พุ่งพรวดตรงข้ามกับปริมาณเงินในกระเป๋า แต่ปัญหานิทานแพงกลับไม่ค่อยเป็นที่พูดถึงเท่าปัญหาอื่นๆ อาจเพราะวัฒนธรรมการเลี้ยงลูกบ้านเราที่ไม่คุ้นเคยกับการอ่านนิทานให้ลูกฟัง หรือนิทานเองก็ถูกมองว่าเป็นของฟุ่มเฟือยไม่จำเป็น แต่อยากบอกตัวโตๆ ว่า นิทานเป็นเครื่องมือที่ง่ายและสำคัญต่อการพัฒนาเด็กคนหนึ่ง แต่ราคาของมันทำให้ของที่ควรเข้าถึงง่าย กลับกลายเป็นเรื่องยากสำหรับคนบางกลุ่ม 

ครูจุ๊ย กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิคณะก้าวหน้า

โครงการอ่านปั้นฝัน โดย ครูจุ๊ย กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิคณะก้าวหน้า เป็นอีกหนึ่งโครงการที่มีจุดประสงค์ช่วยคนที่เข้าไม่ถึงนิทาน รับบริจาคเงินจัดซื้อนิทานจำนวน 100 เล่มให้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) 50 แห่งที่อยู่ภายใต้การดูแลของเทศบาลก้าวหน้า จากจำนวน 18,696 ของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั้งประเทศ ซึ่งมีจำนวนเด็กทั้งหมด 697,140 คน (ข้อมูลเมื่อปี 2563)

เนื้อหาต่อไปนอกจากชวนรู้จักกับโครงการอ่านปั้นฝันแล้ว อยากให้ทุกคนได้มองเห็นปัญหานิทานแพงที่ไม่ต้องมีลูกอยู่ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหรือจะเป็นคนที่สามารถซื้อนิทานให้ลูกโดยไม่ต้องกังวล เราต่างก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน คงไม่ใช่คำพูดที่กล่าวเกินจริงว่า ถ้าเราอยู่ในโครงสร้างสังคมที่รัฐเห็นความสำคัญของการพัฒนาเด็กคนหนึ่ง เราคงจะเข้าถึงนิทาน (รวมทั้งสิ่งที่จำเป็นต่อการเติบโตของเด็กคนหนึ่ง) ได้ง่ายดาย

โครงการอ่านปั้นฝัน 

1,700 บาท คือ ตัวเลขในการจัดซื้อสื่อการเรียนรู้ให้เด็กหนึ่งคนในศพด. ซึ่งเป็นงบประมาณที่จัดให้รายปี เสียงจากคุณครูในศพด. รวมถึงการลงไปสัมผัสพื้นที่จริง ทำให้ครูจุ๊ยรู้ว่าเงินจำนวนนี้ไม่เพียงพอที่จะซื้อสื่อการเรียนการสอนที่มีคุณภาพให้กับเด็กในศพด. ที่สำคัญ ตอนนี้มี 49 ศูนย์จาก 50 ศูนย์ที่นิทานไม่เพียงพอ

“เราเห็นหนังสือนิทานน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นนิทานปกอ่อนๆ บางๆ มีความขาด เนื้อหาก็สอนเรื่องจริยธรรมคุณธรรมของเด็ก แล้วที่สำคัญเก่ามาก (เน้นเสียง) จุ๊ยเคยเจอคู่มือเล่มหนึ่งเนื้อหาเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนประถมวัยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ยังวางอยู่บนชั้นเลย เป็นสิ่งที่คุณครูยังอ่านทุกวันนี้”

กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลศพด. ได้ให้นิยามศพด.ไว้ว่า “สถานศึกษาที่ให้การอบรมเลี้ยงดู จัดประสบการณ์ และส่งเสริมพัฒนาการการเรียนรู้ให้เด็กเล็กมีความพร้อม ด้านร่างกาย อารมณ์ – จิตใจ สังคมและสติปัญญา” หากเป้าหมายของสถานที่มีเพื่อพัฒนาเด็กคนหนึ่ง แต่สภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยคงทำให้เป้าหมายดังกล่าวเป็นไปได้ยาก 

โครงการอ่านปั้นฝันของครูจุ๊ยจึงกำเนิดขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว สร้างสภาพแวดล้อมที่ช่วยเปิดโลกให้เด็กๆ ผ่านการอ่านนิทาน

“แน่นอนว่าการบริจาคไม่ใช่เรื่องยั่งยืน เราไม่ได้อยากทำเรื่องนี้ซ้ำไปเรื่อยๆ สิ่งที่เราอยากเห็นที่สุด คือ การมีงบประมาณที่เพียงพอ สามารถซื้อนิทานเข้าศูนย์ได้อย่างเป็นระบบ แต่ ณ วันนี้ที่เราทำงานแล้วพบว่าร้อยละ 94 ของศูนย์ที่เราดูแลมีนิทานไม่เพียงพอ ในฐานะคนทำงานเราก็คิดว่าถ้าพอจะมีการบริหารจัดการที่ทำให้อย่างน้อยๆ 50 ศูนย์ที่เราพอดูแลได้ คุยกับเขาได้ มีนิทานเพียงพอ”

ให้หนังสือนิทานเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องสร้างจิตสำนึกการใช้ของสาธารณะควบคู่ไปด้วย

ระหว่างการทำงานนี้ครูจุ๊ยยังคงเจอปัญหาอื่นๆ ซึ่งอีกปัญหาหนึ่งที่ครูจุ๊ยเจอ คือ ศพด.ส่วนใหญ่ไม่มีบริการให้ยืมหนังสือกลับบ้าน

“บางที่เคยมีระบบให้ยืมนิทานกลับบ้าน พอถามว่าทำไมตอนนี้ไม่มีแล้ว ส่วนใหญ่ตอบตรงกันว่าหนังสือไม่ได้คืน หนังสือพัง สุดท้ายหนังสือดีๆ เลยถูกเก็บไว้ในตู้ที่คุณครูหยิบได้เท่านั้น สมัยจุ๊ยเรียนมหาวิทยาลัยเคยไปทำห้องสมุดให้โรงเรียนที่ต่างจังหวัด เห็นเซตหนังสือแฮร์รี่ พ็อตเตอร์ล็อกในตู้ เราก็แบบล็อกทำไม? เขาบอกเดี๋ยวหาย”

ปัญหาเด็กทำของพังหรือหาย เป็นสิ่งที่หลายบ้านเคยประสบ บางครอบครัวอาจจะซื้อให้ใหม่ได้โดยไม่ลำบาก แต่การที่เด็กทำของพังบ่อยๆ คงไม่ใช่เรื่องที่ผู้ใหญ่อยากเจอเท่าไร ยิ่งเป็นของสาธารณะที่ต้องใช้ร่วมกัน ซึ่งครูจุ๊ยมองว่าวิธีแก้ปัญหาที่ควรเป็น คือ สอนเด็กๆ ให้รู้จักรับผิดชอบดูแลสิ่งของ ถึงแม้ของชิ้นนั้นจะเป็นของเขาเอง ไม่ใช่ของสาธารณะก็ตาม

สื่อการสอนการใช้นิทานสาธารณะ

“วิธีแก้หนังสือหาย หนังสือพัง คือ ไม่ให้ใช้เลย แต่ไม่ได้ย้อนมองดูว่าเกิดจากอะไร สำหรับจุ๊ยมันเกิดจากการไม่รู้จักดูแลของสาธารณะร่วมกัน ซึ่งเป็นเรื่องประชาธิปไตยพื้นฐานมากๆ พอฟังปัญหาพวกนี้เราก็กลับมาประมวลและพบว่านอกจากเอานิทานไปให้ เราต้องทำสื่อให้เขาด้วย เป็นสื่อแนะนำการรักษาดูแลนิทาน เช่น ต้องเอามาคืนให้ตรงเวลา”

ความน่าสนใจของสื่อชิ้นนี้ นอกจากสอนเด็กๆ เรื่องการดูแลของสาธารณะผ่านนิทาน การนำเสนอเนื้อหาผ่านตัวละครที่เป็นสัตว์ เช่น ยีราฟ หนู โดยที่ไม่มีการระบุเพศ (gender neutral) เป็นการสอนเรื่องเพศกับเด็กทางอ้อม

“เรื่องสำนึกการดูแลของสาธารณะต้องทำตั้งแต่เด็กในเรื่องที่ง่ายและใกล้ตัวเขา นิทานเป็นเรื่องหนึ่ง หรือทำกับสิ่งของอื่นๆ ที่อยู่ในศพด.ก็ได้ การให้เขาสามารถยืมนิทานกลับบ้านได้ จะช่วยสร้างพฤติกรรมดูแลรักษาของให้ติดตัวเขา ที่ต่อให้ครูไม่สอนหรือไม่ได้อยู่ในศพด. เขาก็จะยังคงมีพฤติกรรมนี้ ด้วยความเข้าใจว่าสิ่งนี้ไม่ใช่ของของฉัน เป็นของสาธารณะที่ต้องใช้กับเพื่อนๆ คงไม่อยากให้พังเพราะเพื่อนจะไม่มีใช้ จุดสำคัญคืออย่าคิดว่าทุกเรื่องเป็นเรื่องที่คนรู้อยู่แล้ว โดยเฉพาะเด็กๆ”

“แน่นอนว่าเราอยากให้เด็กมีหนังสือนิทานเป็นของตัวเองที่บ้าน แต่ข้อเท็จจริงของประเทศนี้ คือ ถ้าคุณอยู่ในกลุ่มครอบครัวยากจน คุณมีหนังสือไม่ถึง 3 เล่ม ไม่สามารถเข้าถึงหนังสือนิทานได้ เราไม่ได้อยู่ในสังคมอุดมคติที่เราอยากได้ แต่อย่างน้อยๆ เราพานิทานไปให้เด็กได้สัมผัส ที่สำคัญคุณครูและผู้ปกครองต้องช่วยในกระบวนการนี้ด้วย”

นิทานในท้องตลาดไม่ได้โอบรับเด็กทุกคน

รูปแบบนิทานที่เรามักเจอจะเป็นนิทานตัวอักษรที่ต้องรับข้อมูลด้วยการอ่าน ทำให้คนที่มีข้อจำกัดไม่สามารถอ่านได้  นั่นเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญ ครูจุ๊ยเองก็พบว่ามีเด็กในศพด.บางส่วนที่เป็นกลุ่มชาติพันธ์ุ พ่อแม่ไม่ถนัดใช้ภาษาไทย ทำให้อ่านนิทานให้ลูกไม่ได้ หรือบางคนไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ปู่ย่าตายายเป็นคนดูแลหลัก ซึ่งบางคนก็มองเห็นไม่ชัด ไม่สามารถอ่านนิทานให้หลานได้เช่นกัน ซึ่งการอ่านนิทานเด็กๆ ยังคงต้องการให้ผู้ใหญ่เป็นคนอ่านให้ฟัง

ความหลากหลายของนิทานในท้องตลาดเป็นเรื่องที่ควรพูดต่อไป ครูจุ๊ยวางแผนว่าอยากทำนิทานเสียง เพื่อที่อย่างน้อยจะสามารถลดข้อจำกัดนี้และเพิ่มทางเลือกในการเข้าถึงนิทาน

นิทานทำให้เด็กรู้สึกไม่โดดเดี่ยว เขายังมีเพื่อนที่เป็นเหมือนกัน

อย่างที่กล่าวไปตอนต้นว่า วัฒนธรรมการอ่านนิทานให้ลูกไม่ใช่วัฒนธรรมยอดฮิตของบ้านเรา น้อยครอบครัวที่พ่อแม่จะชอบอ่านนิทานให้ลูกฟัง ด้วยภาระเงื่อนไขทางชีวิตที่ทำให้ไม่มีเวลา ความไม่คุ้นชินต่างๆ แต่นิทานยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยพัฒนาเด็กคนหนึ่ง

“สำหรับจุ๊ย นิทานคือเครื่องมือที่ง่ายที่สุดในการเชื่อมสัมพันธ์พ่อแม่ลูก เราเล่น peek-a-boo (เล่นจ๊ะเอ๋) ก็เชื่อมสัมพันธ์แหละ แต่นิทานมันได้มากกว่า physical contact สัมพันธ์ทางร่างกาย เพราะเด็กได้ยินเสียง ได้คลังคำศัพท์ ได้เห็นภาพ เกิด Hand-Eye coordination (การทำงานประสานกันระหว่างมือและตา) ที่สำคัญที่สุด คือ เวลาที่พ่อแม่จะได้ใช้ในการเชื่อมความสัมพันธ์กับลูก ถ้าศัพท์คุณหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์จะใช้คำว่า ‘พ่อแม่ที่มีอยู่จริง’ มันก็จะมาพิสูจน์ในเวลาแบบนี้”

ครูจุ๊ยเป็นนักอ่านตัวยงคนหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่นิสัยที่ได้จากพ่อแม่อ่านนิทานให้ฟังตอนเด็ก เพราะภาระงานที่ทำให้พ่อแม่ไม่มีเวลาว่าง แต่ความโชคดีคือครูจุ๊ยได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ทำให้รู้ตัวว่ารักการอ่าน

“สิ่งหนึ่งที่จุ๊ยได้ตอนไปฟินแลนด์ คือ คนฟินแลนด์อ่านหนังสือทั้งวัน ก่อนนอนก็หยิบหนังสืออ่าน ไปโรงเรียนสิ่งแรกที่ทุกคนทำ คือ ไปห้องสมุด กลายเป็นว่าเราได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีวัฒนธรรมการอ่าน นิสัยอ่านหนังสือก่อนนอนของจุ๊ยก็เกิดเพราะเหตุนี้”

จุดสำคัญอีกอย่างของนิทานที่ครูจุ๊ยเน้นตัวโตๆ คือ มันทำให้เด็กคนหนึ่งไม่รู้สึกโดดเดี่ยว ถ้าเขาอ่านนิทานสักเล่มแล้วเจอว่าตัวละครเองก็มีปัญหาหรือกำลังเผชิญสิ่งเดียวกับเขา เช่น ใส่ชุดนอนไม่เป็น เด็กจะไม่รู้สึกแปลกแยกและเห็นว่ามีคนที่เป็นแบบฉัน เขายังมีเพื่อน

“จุ๊ยรู้สึกว่าหนังสือเป็นเพื่อนเรา เป็นเหมือนโลกอีกใบหนึ่ง เพราะมีหลายครั้งที่เรารู้สึกไม่ belong ที่ไหนเลย แต่เรายังมีหนังสือเป็นเพื่อน

“การคุยกับผู้ใหญ่ก็เป็นเรื่องยากสำหรับเด็ก ลองคิดว่าเด็กคนหนึ่งมีคุณยายเป็นคนเลี้ยง เขาจะสามารถคุยกับคุณยายเหมือนเป็นเพื่อนคนหนึ่งได้ไหม? มันยากมากๆ เพราะมีบันไดที่ต้องก้าวข้ามเยอะมาก (เน้นเสียง) ถ้าสมมติเขามีปัญหาใส่ชุดนอนไม่เป็น สิ่งที่ยายทำอาจจะมาช่วยใส่หรือถามว่าทำไมใส่ไม่เป็นสักที ซึ่งอันหลังก็เป็นการทำลาย self-esteem เด็กเหมือนกันนะ ยายไม่ได้ตั้งใจหรอกแต่สื่อสารไม่เป็น ถ้าอย่างน้อยเด็กเปิดนิทานและเจอว่า เฮ้ย คนนี้ก็เป็นเหมือนฉันเลยใส่ชุดนอนไม่ได้ นิทานเข้ามาทำหน้าที่บอกว่าแกยังมีฉันเป็นเพื่อน”

หากรัฐเข้ามาอุดหนุนวงการผลิตนิทาน จะทำให้ปัญหานิทานแพงลดลง

‘นิทานแพง’ ปัญหาร่วมที่เราต่างเผชิญ ต่อให้เป็นครอบครัวที่สามารถซื้อหนังสือให้ลูกโดยไม่ลำบาก แต่มันคงจะดีกว่าถ้าเราทุกคนสามารถเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ง่าย ครูจุ๊ยมองว่าภาครัฐต้องเข้ามาแก้ปัญหานี้ โดยการซับพอร์ตต้นทุนผลิตหนังสือ เช่น ราคากระดาษ หรืออุดหนุนคนทำงานในวงการ เพราะการเขียนนิทานเรื่องหนึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้เวลา บางคนไม่สามารถมาทุ่มเททำงานตรงนี้ได้เต็มที่

“ถ้าคุณคิดว่าสิ่งนี้ไม่สำคัญก็จะเป็นแบบนี้ คุณจะไม่มาช่วยอุดหนุน ไม่มีกระบวนการใดๆ มาซับพอร์ต ต้นทางผลิตก็เจอราคาวัตถุดิบที่สูง คนทำงานก็ไม่สามารถทำเป็นอาชีพได้ เพราะการทำงานนิทานเป็นเรื่องละเอียด เขาต้องกินต้องใช้ จะให้รับจ๊อบหลายๆ ที่แล้วมานั่งทำนิทานต่อเหรอ? ไม่ได้ (เสียงสูง)”

“มันเป็นปัญหาโลกแตกมากๆ ของราชการไทย จุ๊ยมาทำงานตรงนี้เราเห็นปัญหาการศึกษาไทยเต็มไปหมด ปัญหาหนึ่งที่เจอ คือ ก้อนอะไรก็ตามในระบบการศึกษาที่ควรให้ความสำคัญ เช่น ก้อนปฐมวัย ซึ่งเป็นช่วงเวลาทรงคุณค่าที่สุดในชีวิตเด็กคนหนึ่ง เรากลับไม่ให้ความสำคัญ หรือก้อนที่ทำงานกับจิตใจคน รัฐไทยก็ไม่ให้ความสำคัญ จริงๆ ตัวนิทานเองก็ทำงานกับจิตใจเด็ก แต่กลับถูกมองว่าไม่สำคัญ”

‘แจน’ ณฐภัทร อุรุพงศา ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ Barefoot Banana ในฐานะต้นทางผลิตหนังสือนิทานคนหนึ่ง ให้ความเห็นเกี่ยวกับปัญหานี้ว่า การทำห้องสมุดสาธารณะที่มีประสิทธิภาพจะช่วยลดภาระผู้ปกครอง เพราะไม่จำเป็นต้องซื้อหนังสือทุกเล่ม และสำนักพิมพ์เองก็มีแหล่งซื้อที่มั่นคง สามารถผลิตได้ทีละมากๆ ต้นทุนก็ลดลงตาม 

“อย่างเช่นห้องสมุดที่ฟินแลนด์มันเอื้อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ พ่อแม่ไม่ต้องซื้อทุกเล่ม แค่พาลูกเดินเข้าไปในห้องสมุด ซึ่งวงจรนี้มันเอื้อสำนักพิมพ์ด้วย ถ้าสำนักพิมพ์ผลิตหนังสือที่มีคุณภาพ ห้องสมุดทั่วประเทศก็จะเอาหนังสือเหล่านี้เข้าห้องสมุด ซื้อในจำนวนมากด้วย ไม่ต้องกังวลเลย ยิ่งพิมพ์เยอะต้นทุนยิ่งน้อย หนังสือก็ราคาถูก ระบบห้องสมุดสาธารณะที่ดีจะมาช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้”

สุดท้ายโครงสร้างสังคมที่ดี จะทำให้เราทุกคนเข้าถึงนิทานได้

เฟสแรกของโครงการอ่านปั้นฝันที่ครูจุ๊ยตั้งไว้ คือ ศพด.ทั้ง 50 แห่งได้ตู้หนังสือนิทานไปตั้ง พร้อมกับอีกหนึ่งความหวังเล็กๆ คือ คุณครูในศพด.จะเห็นว่าโลกนิทานในปัจจุบันมันหลากหลายและสามารถพาเด็กๆ ไปสัมผัสเปิดโลกพวกเขา 

“นิทานไม่ได้มีแต่นิทานอีสป หรือไม่ต้องจบด้วยการบอกว่า ‘นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า…’ หรือต้องสอนเรื่องจริยธรรมเท่านั้น จุ๊ยอยากให้คุณครูได้เห็นว่านิทานมันทำงานยังไงกับเด็กที่เขาดูแล เขาจะใช้สิ่งนี้พัฒนาเด็กได้ยังไงบ้าง จุ๊ยหวังว่ามันจะเริ่มกลายเป็นนิสัย เป็นความปกติที่จะอ่านนิทาน”

“ตอนนี้คุณครูในศพด.ก็รู้แหละว่าหนังสือนิทานมันสำคัญยังไง แต่เข้าใจในฐานะคำคำหนึ่ง ไม่ได้รู้ลึกๆ ว่ามันสำคัญยังไง สตอรี่ในนิทานนอกจากส่งสารบางอย่างแล้วยังทำหน้าที่เป็นเพื่อนเด็กด้วย เพราะเรื่องบางเรื่อง เราจะไปทำตัวเป็นผู้ใหญ่ไปสอนเด็ก มันไม่สามารถทำให้เด็กเข้าใจได้ แต่ถ้าเขาได้อ่านสตอรี่ในนิทานซึ่งอาจจะทำงานกับจิตใจเขามากกว่าคำพูดที่ผู้ใหญ่พยายามสอนเขาเสียด้วยซ้ำ”

ส่วนเป้าหมายเฟสต่อไป คือ การเข้าไปพูดคุยกับผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสำหรับจัดงบประมาณส่งเสริมการซื้อนิทานอย่างเป็นระบบ เพราะการบริจาคไม่ใช่สามารถทำให้ยั่งยืนได้ แต่คนที่มีอำนาจในเรื่องนี้จะต้องเห็นความสำคัญและจัดระบบต่อไป

ปัญหานิทานขาดแคลนในศพด. ไม่ใช่เรื่องไกลตัวหรือไม่เกี่ยวข้องกับเรา เพราะมันสะท้อนให้เห็นว่าผู้มีอำนาจไม่ได้มองว่าเรื่องนี้สำคัญ ทั้งๆ ที่การเติบโตของเด็กคนหนึ่งต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง นิทานเองก็เป็นเครื่องมือที่ควรเข้าถึงง่ายที่สุด

“คุณเห็นความสำคัญของนิทานถึงซื้อให้ลูก แต่ยังมีเพื่อนๆ ของลูกเราอีกจำนวนมาก ที่พ่อแม่ของเขาอาจไม่สามารถซื้อได้ หรือเขาอาจยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าโลกแห่งนิทานมันหลากหลาย ยังมีนิทานอีกหลายๆ เรื่องที่เขาสามารถอ่านกับลูกได้

“คงจะดีถ้าลูกเรามีเพื่อนเพิ่มมากขึ้น เพื่อนที่อาจจะมีภูมิหลังไม่เหมือนเขา แต่สามารถคุยเรื่องนิทานเดียวกันกับเขาได้” ครูจุ๊ยทิ้งท้าย

หากใครสนใจอยากร่วมบริจาคเงินสำหรับซื้อหนังสือนิทานเข้าโครงการ สามารถบริจาคได้ที่เลขบัญชี 4931085736 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ชื่อบัญชีมูลนิธิคณะก้าวหน้า และสามารถติดตามโครงการหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทาง Facebook คณะก้าวหน้า – Progressive Movement

อ้างอิง

http://www.dla.go.th/upload/ebook/column/2017/4/2199_5930.pdf

https://www.facebook.com/watch/?v=740627923995441

https://d.dailynews.co.th/education/803276/

Writer
Avatar photo
เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

ชีวิตอยู่ได้ด้วยซัมเมอร์ ทะเล และความฝันที่จะได้ทำสิ่งที่เป็นความสุขตลอดไป

Photographer
Avatar photo
นภัสสร มหาวรรณ

โตมากับการได้ฝึกเต้นด้วยตัวเอง เชื่อว่าการพัฒนาของเราเกิดจากการได้เคลื่อนไหวร่างกายมากกว่าท่องตำราเรียน และคิดว่าทุก ๆ ที่ควรมีพื้นที่สำหรับกิจกรรมของวัยทีนแบบเรา ๆ

illustrator
Avatar photo
ชัชฎา วัฒนสมบุญดี

นักออกแบบที่สนใจเรื่องคนและพฤติกรรมมนุษย์ ตื่นเต้นทุกครั้งเวลาเจอแมวส้มและมีม เป้าหมายในชีวิตตอนนี้คืออยากทำงานที่คนอ่านได้ประโยชน์

Related Posts

Related Posts