ชวนส่องสถานการณ์เด็กและเยาวชนไทย เมื่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่พาเด็กไทยมาถึงสองทางแพร่ง

ชวนส่องสถานการณ์เด็กและเยาวชนไทย เมื่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่พาเด็กไทยมาถึงสองทางแพร่ง

  • หลังจากวิกฤตโควิดสิ้นสุดลง สถานการณ์ของเด็ก เยาวชน และครอบครัวไทยได้ดำเนินมาหยุดอยู่ ณ ทางแพร่งที่จะต้องหันเหไปยังทิศทางหนึ่ง ซึ่งอาจหมายถึงการก้าวไปบนเส้นทางข้างหน้าที่จะได้รับการเยียวยารักษาปัญหาต่าง ๆ และได้เดินตามฝัน แต่ในขณะเดียวกันก็มีอีกเส้นทางที่เต็มไปด้วยความผิดหวังและไร้ซึ่งโอกาส ซึ่งพวกเขาอาจต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาวะและมีพัฒนาการที่ย่ำแย่ในระยะยาว
  • การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปี 2566 เป็นอีกหนึ่งสถานการณ์ที่พาเด็กและเยาวชนไทยมาหยุดอยู่ ณ ทางแพร่งที่สอง โดยทางแพร่งนี้จะเป็นตัวกำหนดว่านโยบายที่หลากหลายของแต่ละพรรคการเมืองนี้ จะถูกนำมาใช้เพื่อนำพาเด็ก เยาวชน และครอบครัวเดินหน้าต่อไปในทิศทางไหน
  • สถานการณ์ของเด็กและเยาวชนไทยในสองทางแพร่งจะก้าวต่อไปในทิศทางไหน ขึ้นอยู่กับการดูแลและการบริหารจัดการปัญหาของรัฐและผู้มีอำนาจหลังจากการจัดตั้งรัฐบาล

หากพูดถึงเหตุการณ์ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับประชากรโลก เชื่อว่าเราทุกคนจะต้องนึกถึงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา หรือที่เรียกกันว่า ‘โควิด-19’  โรคที่นำมาซึ่งความสูญเสีย และพรากเอาช่วงเวลาชีวิตของเราให้ดำเนินผ่านพ้นไปไวแบบไม่ทันตั้งตัว ‘วิกฤตโควิด-19’ จึงไม่ได้เป็นเพียงชื่อเรียกสถานการณ์การแพร่ระบาดที่อยู่ในขั้น ‘วิกฤต’ หากแต่หมายถึง ‘วิกฤต’ ที่สังคมไทยต้องเผชิญในช่วงระยะเวลาของการแพร่ระบาดทั้งในประเด็นของโรคภัยไข้เจ็บ ปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาทางการเมือง ซึ่งเด็กและเยาวชนล้วนได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤตนี้

แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะเริ่มทุเลาลง คงเหลือไว้เพียงสถานะ ‘โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง’ แต่วิกฤตโควิดก่อนหน้านี้ก็พรากโอกาสและอนาคตของเด็กและเยาวชนไทยไปหลายล้านคน หนทางที่จะพาเด็กและเยาวชนเหล่านี้กลับเข้าสู่เส้นทางแห่งความหวัง จึงขึ้นอยู่กับทิศทางหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปี 2023

จากรายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัวประจำปี 2023 โดย วรดร เลิศรัตน์ และ สรัช สินธุประมา นักวิจัยและบริหารการวิจัย ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว ในกิจกรรมเสวนาสาธารณะ “เด็กและครอบครัวไทยในสองทางแพร่ง: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2023” ระบุว่าสถานการณ์เด็ก เยาวชน และครอบครัว กำลังอยู่ใน ‘สองทางแพร่ง’ คือ ทางแพร่งหลังโควิด ซึ่งหมายถึงทิศทางของการฟื้นฟูและพัฒนาหลังวิกฤตการแพร่ระบาด และ ทางแพร่งหลังเลือกตั้ง ซึ่งหมายถึงทิศทางของประเทศไทยภายหลังจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 2023 โดยที่วิกฤตความเหลื่อมล้ำและการพัฒนาวิกฤตสังคมและการเมืองตลอดจนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครอบครัวก็ยังดำเนินต่อไป ในขณะที่ประเด็นสำคัญในสถานการณ์เด็ก เยาวชน และครอบครัว แบ่งออกเป็น 6 ประเด็นหลัก ดังนี้

1. เด็กและเยาวชนเติบโตในครัวเรือนเปราะบางทับซ้อนและยังไม่ฟื้นตัวจากวิกฤต

ในช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 ครอบครัวของเด็กและเยาวชนไทยต้องเผชิญกับปัญหามากมายทั้งปัญหาความยากจน ปัญหาความขัดแย้งในครอบครัว และปัญหาอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดความเครียดและความเปราะบางในครัวเรือน เมื่อก้าวเข้าสู่ช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ความเปราะบางในครัวเรือนเหล่านี้ยิ่งถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาจากวิกฤตครั้งใหญ่อีกระลอก กลายเป็นปัญหาความเปราะบางทับซ้อนอันยากที่จะแก้ไข โดยเฉพาะปัญหารายได้ที่ลดลงจากอัตราการว่างงานที่เพิ่มมากขึ้น ค่าใช้จ่ายที่ครอบครัวของเด็กและเยาวชนต้องแบกรับมากขึ้น ข้อจำกัดในการใช้ชีวิตที่ต้องดำเนินการตามมาตรการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรค ล้วนเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเครียดสะสม และสร้างความลำบากในการฟื้นตัวจากวิกฤตครั้งนี้ 

ผลการสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์ เดือนพฤษภาคม 2022 ระบุว่าปัญหารายได้เป็นอุปสรรคอันดับหนึ่งต่อการประสบความสำเร็จด้านการศึกษาของเยาวชนอายุ 15 – 25 ปี เมื่อครอบครัวมีรายได้ไม่เพียงพอ ปัญหาที่ตามมาคือการกู้หนี้ยืมสิน ส่งผลให้ความฝันของเด็กและเยาวชนหลายคนจำต้องหยุดชะงักลง เพราะถูกแทนที่ด้วยคำว่า ‘ภาระหน้าที่’ ในการหาเงินมาเพื่อใช้หนี้ให้ครอบครัว 

อีกปัญหาหนึ่งคือรัฐยังขาดข้อมูลสำหรับให้ความช่วยเหลือครัวเรือนเปราะบางอย่างทั่วถึง เนื่องจากฐานข้อมูลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ครอบคลุมครัวเรือนที่เข้าเกณฑ์เพียง 4.5 แสนครัวเรือนเท่านั้น (คิดเป็นร้อยละ 13 ของครัวเรือนเปราะบางทั้งหมด) อีกทั้งข้อมูลจากสมุดพกครัวเรือนยังระบุว่า การให้ความช่วยเหลือครัวเรือนเปราะบางส่วนใหญ่เป็นเพียง ‘การให้คำแนะนำ’ ซึ่งหมายความว่าปัญหาของครอบครัวเหล่านี้ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังและตรงจุด

นอกจากนี้ยังมีเด็กและเยาวชนไทยกว่า 1.8 ล้านครัวเรือนที่ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ เนื่องจากเหตุผลส่วนตัว เช่น พ่อแม่จำเป็นต้องเดินทางไปทำงานที่อื่น พ่อแม่จำคุก หย่าร้าง มีครอบครัวใหม่ ครอบครัวที่ประสบปัญหาเหล่านี้ เรียกว่า ‘ครอบครัวแหว่งกลาง’ และเมื่อครอบครัวแหว่งกลางประสบปัญหาอื่น ๆ ภายในครัวเรือน เช่น ปัญหาสุขภาพของคนในครอบครัว ปัญหาขาดแคลนรายได้ ปัญหาการไม่มีสัญชาติ ก็จะเกิดเป็นความเปราะบางที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีก 

นโยบายครอบครัวเน้นให้สวัสดิการเป็นตัวเงิน แต่ระบบยังไม่พร้อมช่วยครัวเรือนเปราะบางทับซ้อน

ในการเลือกตั้งปี 2023 นี้ พรรคการเมืองส่วนใหญ่ต่างชูนโยบายที่มุ่งเน้นไปที่การแก้ปัญหาโดยการช่วยเหลือเป็นตัวเงินอย่างการเพิ่มวงเงิน  ยกระดับเงินอุดหนุนเด็กเล็ก เช่น พรรครวมไทยสร้างชาติมีนโยบายตั้งกองทุนเงินกู้สำหรับพ่อและแม่เลี้ยงเดี่ยวโดยเฉพาะ ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์และพรรคก้าวไกลมีนโยบายที่ช่วยสนับสนุนการเลี้ยงดูเด็กที่เป็นรูปธรรมอย่างการขยายสิทธิลาคลอด 6 เดือน และในด้านการช่วยเหลือครัวเรือนเปราะบาง พรรคเพื่อไทยเสนอที่จะผลักดันให้มีศูนย์ชีวาภิบาล พรรคก้าวไกลเสนอให้ทำผ่านองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และพรรคประชาธิปัตย์เสนอให้ความช่วยเหลือแก่ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว พ่อแม่วัยรุ่น ครอบครัวแหว่งกลาง และครอบครัวเร่ร่อน 

แต่โดยรวมแล้วพรรคการเมืองส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ระบุถึงแนวทางในการดำเนินนโยบายแต่อย่างใด จึงอาจสรุปได้ว่านโยบายที่มีการเสนอมานั้นยังคง ‘ไม่เพียงพอ’ สำหรับการช่วยเหลือครัวเรือนเปราะบางทับซ้อน

2. เยาวชนมีงานที่ดีและสอดคล้องกับความฝันได้ยากขึ้น

เด็กและเยาวชนไทยต่างฝันอยากจะทำงานที่ตนเองมีความถนัดและชื่นชอบ แต่อุปสรรคและปัญหาใหญ่ที่เด็กและเยาวชนไทยต้องเผชิญคือ งานที่ถูกใจไม่ได้มาพร้อมกับรายได้ที่เพียงพอและไม่ตรงตามความต้องการในตลาดแรงงาน ปัญหาอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นจึงอาจจะไม่ได้มีสาเหตุมาจากตำแหน่งงานที่ไม่เพียงพอ แต่ยังเป็นเพราะงานในประเทศไทยนั้นค่าจ้างน้อย ไม่สอดคล้องและไม่รองรับความฝันเด็ก

อีกหนึ่งปัญหาที่เห็นได้ชัดคือการกระจุกตัวของตำแหน่งงานในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมต่าง ๆ มากกว่าพื้นที่ต่างจังหวัดและเพราะตำแหน่งงานในต่างจังหวัดนั้นมีน้อยและไม่มีความหลากหลายทางอาชีพ เยาวชนที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัดจึงต้องดิ้นรนมาหางานทำในกรุงเทพฯ  

หลังจากเกิดวิกฤตโควิด-19 อัตราการว่างงานของเยาวชนไทยพุ่งสูงขึ้นจากร้อยละ 4.6 เป็นร้อยละ 6.6 – 6.8 โดยกลุ่มเยาวชนผู้สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษา หรือ ‘เด็กจบใหม่’ นั้นมีอัตราการว่างงานสูงถึงร้อยละ 16.1 ซึ่งมากกว่าผู้สำเร็จการศึกษาระดับอื่น ๆ นอกจากนี้ยังมี ‘เยาวชนที่ไม่ได้รับจ้างงาน เรียน หรือฝึกทักษะ’ หรือ ‘เยาวชน NEET’ (not in education, employment, or training) ซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนที่เผชิญกับข้อจำกัดทางสังคม ทำให้เยาวชนกลุ่มนี้ไม่ต้องการทำงานหรือไม่สามารถทำงานได้ คิดเป็นอัตราส่วนสูงถึงร้อยละ 14.8 – 15.1 ของจำนวนเยาวชนไทย

งานศึกษาของกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ระบุว่าเยาวชน NEET ประมาณร้อยละ 68.2 ไม่พร้อมทำงานและไม่ต้องการฝึกทักษะ โดยมีสาเหตุหลักสองประการ คือ ‘ต้องการพักผ่อน’ และ ‘ไม่มีเวลา’ 

จากสาเหตุข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่างานส่วนใหญ่ในประเทศไทยนั้นอาจไม่มีคุณภาพและไม่มีคุณค่าเพียงพอที่จะสร้างแรงจูงใจให้เยาวชนไทยอยากทำงาน ส่วนการไม่มีเวลานั้นอาจเกิดจากภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบในครอบครัว เช่น ต้องรับผิดชอบภาระงานบ้าน ต้องดูแลสมาชิกในครอบครัว ผู้สูงวัย ผู้พิการ และบุตร ซึ่งภาระหน้าที่เหล่านี้ล้วนเป็นผลพวงมาจากการที่ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการต่าง ๆ ของรัฐได้อย่างทั่วถึง

นอกจากนี้ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างก็นับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เยาวชนไทยหางานที่ตรงตามความต้องการได้ยากขึ้น เนื่องจากเยาวชนไทยให้ความสำคัญกับการเลือกนายจ้างโดยยึดหลักเกณฑ์สำคัญสามอันดับแรก ได้แก่ มั่นคงและเหมาะสมที่จะร่วมงานไปจนเกษียณ (ร้อยละ 36.5) ดำเนินงานอย่างมีจรรยาบรรณ (ร้อยละ 18.8) และรับฟังความเห็นของลูกจ้าง (ร้อยละ 16.5) 

นโยบายพรรคการเมืองเน้นการสร้างงาน-เพิ่มรายได้ แต่ขาดนโยบายเฉพาะกลุ่ม NEET

แม้พรรคการเมืองหลายพรรคจะมีข้อเสนอนโยบายแก้ปัญหาเยาวชนไม่มีงานทำด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรม สร้างตำแหน่งงานใหม่ กระจายตำแหน่งงานไปยังต่างจังหวัด และพัฒนาทักษะผ่านระบบการศึกษาเพื่อยกระดับค่าจ้างของแรงงานเยาวชน แต่ข้อเสนอของพรรคการเมืองหลักทั้งหมดยังขาดนโยบายแก้ปัญหาเฉพาะของเยาวชน NEET อย่างเป็นระบบ 

ในส่วนของการแก้ปัญหาเรื่องรายได้นั้น พรรคเพื่อไทย ก้าวไกล และพลังประชารัฐ มีนโยบายเสนอปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ส่วนในเรื่องของเวลาการทำงาน พรรคก้าวไกลเป็นเพียงพรรคเดียวที่เสนอให้กำหนดชั่วโมงการทำงานสูงสุดที่ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ พร้อมทั้งมีวันหยุดอย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์ อีกทั้งพรรคก้าวไกลยังคงเป็นพรรคเดียวที่ประกาศรับรองเสรีภาพในการรวมตัวของแรงงาน และจะพัฒนากลไกต่อรองและยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้างที่ชัดเจน

3. เด็กและเยาวชนไม่ได้รับการฟื้นฟูภาวะการเรียนรู้ถดถอยและพัฒนาทักษะจำเป็นจากระบบการศึกษา

เมื่อเกิดวิกฤตโรคโควิด-19 ‘ปัญหาภาวะการเรียนรู้ถดถอย’ กลายเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่เด็กไทยต้องเผชิญ โดยภาวะนี้เป็นผลพวงจากความอ่อนแอของหลักสูตรและระบบการศึกษาไทย อีกทั้งปัญหาการจัดระบบการเรียนการสอนออนไลน์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีการเตรียมความพร้อมหรือพัฒนาทักษะในการรับมือกับการเปลี่ยนระบบการสอนให้แก่ครูผู้สอน ทำให้การปิดสถานศึกษาสร้างช่องโหว่ขนาดใหญ่ มีเด็กและเยาวชนบางส่วนหลุดจากระบบการศึกษา บางส่วนเกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอย ไม่สามารถพัฒนาทักษะการเรียนรู้ให้ตรงตามเป้าหมายได้ 

นอกจากนี้เด็กและเยาวชนไทยยังต้องเผชิญปัญหาคุณภาพการศึกษาที่ย่ำแย่ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และยังต้องเผชิญกับปัญหาครู อำนาจนิยม การละเมิดสิทธิ รวมถึงการขาดช่องทางการมีส่วนร่วมในสถานศึกษา ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ที่จำเป็นอีกด้วย

นโยบายพรรคการเมืองเน้นขยายการเข้าถึงระบบการศึกษา ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ปรับหลักสูตรและใช้เทคโนโลยี 

ในการเลือกตั้งปี 2023 ครั้งนี้ พรรคการเมืองหลักต่างประกาศนโยบายปรับปรุงหลักสูตรการศึกษา เน้นการพัฒนาทักษะภาษาต่างประเทศ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยี รวมถึงทักษะอาชีพอื่น ๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นยังไม่มีพรรคการเมืองใดที่มีนโยบายชัดเจนในการชดเชยภาวะการเรียนรู้ถดถอยจากวิกฤตโควิด-19 

ในส่วนของปัญหาครู พรรคการเมืองที่มีนโยบายในการลดภาระงานอื่นของครูที่นอกเหนือจากการสอน ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และพรรคพลังประชารัฐ ส่วนพรรคภูมิใจไทยนั้นมีนโยบายจัดสรรให้มีหมู่บ้านครูหลายสาขาในพื้นที่ และทั้งสี่พรรคยังมีนโยบายในการช่วยพัฒนาทักษะความสามารถของครูซึ่งมีรายละเอียดแตกต่างกันไปในแต่ละพรรค

ในส่วนของปัญหาอำนาจนิยม การละเมิดสิทธิ และการขาดช่องทางการมีส่วนร่วม พรรคก้าวไกลเป็นพรรคเดียวที่มีนโยบายตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนของผู้เรียนอย่างเป็นรูปธรรม เช่น มีการอบรมบุคลากรทางการศึกษาให้ตระหนักถึงสิทธิมนุษยชน พักใบประกอบวิชาชีพครูหากมีการกระทำความผิด และให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมในการประเมินครู

4. เด็กและเยาวชนเผชิญปัญหาเครียดและซึมเศร้า แต่เข้าถึงบริการสุขภาพจิตได้ไม่ทั่วถึง

‘ปัญหาภาวะซึมเศร้า’ กลายเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่พบในเด็กและเยาวชนไทย อัตราการพยายามฆ่าตัวตายของเยาวชนไทยที่มีอายุระหว่าง 15 – 19 ปี อยู่ในอัตราที่สูงกว่าวัยทำงานถึง 5 เท่า และยังเป็นอัตราที่สูงที่สุดอีกด้วย สถิติจากเว็บไซต์ Mental Health Check ของกรมสุขภาพจิตระบุว่า แนวโน้มความเสี่ยงซึมเศร้าและฆ่าตัวตายของเด็กและเยาวชนนั้นลดลงอย่างเห็นได้ชัดภายหลังจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่เกิดความเครียดในช่วงวิกฤตโควิด และส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของพวกเขาโดยตรง

แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงเปิดภาคเรียนที่ 2/2565 ผลสำรวจพบว่าความเสี่ยงซึมเศร้าของเด็กและเยาวชนนั้นกลับมาเพิ่มสูงขึ้นเมื่อโรงเรียนส่วนใหญ่กลับมาดำเนินการเรียนการสอนในรูปแบบออนไซต์ แสดงให้เห็นถึงภาวะความเครียดในการปรับตัว และยังชี้ให้เห็นว่าการเรียนนั้นเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนไทย

การดูแลสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะของบุคลากรจิตเวชที่ได้รับการฝึกอบรมด้านเด็กและวัยรุ่นมาโดยตรง แต่ปัญหาสำคัญอีกปัญหาหนึ่งคือ สถานพยาบาลที่ให้บริการด้านจิตเวชในประเทศไทยนั้นไม่เพียงพอที่จะรองรับเด็กและเยาวชน อีกทั้งสถานพยาบาลเหล่านี้ยังกระจุกตัวกันอยู่ในกรุงเทพฯ ทำให้เด็กต่างจังหวัดขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการด้านจิตเวช โดยจังหวัดที่ไม่มีสถานพยาบาลด้านจิตเวชนั้นมีมากถึง 17 จังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

นโยบายของพรรคการเมืองให้ความสำคัญกับปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น แต่ยังไม่ครอบคลุมประเด็นสำคัญ

จากนโยบายด้านสุขภาพจิตของพรรคการเมืองต่าง ๆ พบว่ามีเพียงพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลที่ให้ความสำคัญกับการป้องกันและรับมือกับปัญหาสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนโดยการเตรียมความพร้อมและให้ความรู้แก่พ่อแม่มือใหม่ พร้อมทั้งแก้ไขปัญหาความเครียดในโรงเรียนอันเนื่องมาจากวัฒนธรรมอำนาจนิยม และทั้งสองพรรคยังมีการนำเทคโนโลยีการแพทย์ทางไกลมาใช้แก้ปัญหาการเข้าถึงบริการจิตเวชอีกด้วย ในขณะที่ประเด็นของบริการด้านจิตเวช พรรคก้าวไกลเป็นพรรคเดียวที่เสนอนโยบายครอบคลุมประเด็นการคัดกรองผู้ป่วย เพิ่มบุคลากร เพิ่มการเข้าถึงบริการด้านจิตเวช และเพิ่มความครอบคลุมของบริการจิตเวช

5. เด็กและเยาวชนตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในรูปแบบซ่อนเร้นเป็นจำนวนมากยิ่งขึ้น

‘ความรุนแรงในรูปแบบซ่อนเร้น’ คือความรุนแรงที่แฝงเร้นอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีใครพบเห็นและไม่เป็นที่รับรู้ของสังคม ซึ่งปัญหาความรุนแรงซ่อนเร้นนี้มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในช่วงภายหลังของวิกฤตโควิด-19 เนื่องจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคที่ทำให้เด็กและเยาวชนจำต้องใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวที่อาจเป็นผู้กระทำความรุนแรง เด็กและเยาวชนบางกลุ่มถูกคุกคามทางโลกออนไลน์ และยังเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ยากขึ้น

ความรุนแรงในรูปแบบซ่อนเร้นส่วนใหญ่มักมาในรูปแบบของความรุนแรงทางเพศ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของ ‘แผลใจในวัยเด็ก’ (Adverse Childhood Experience) ที่จะส่งผลกระทบต่อจิตใจและอาจแสดงอาการออกมาเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ อีกทั้งอาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงในการส่งต่อความรุนแรงจากรุ่นสู่รุ่นอีกด้วย

พรรคการเมืองไม่มีข้อเสนอนโยบายแก้ปัญหาความรุนแรงในเด็กและเยาวชนที่เป็นเอกภาพ

จากนโยบายของทุกพรรคการเมือง พบว่ายังไม่มีพรรคใดเสนอนโยบายป้องกันและแก้ไขความรุนแรงในอินเทอร์เน็ตอย่างเป็นทางการ อีกทั้งนโยบายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาความรุนแรงของเด็กและเยาวชนมักกระจายอยู่ในหมวดนโยบายต่าง ๆ แทนที่จะเป็นข้อเสนอเกี่ยวกับความรุนแรงในเด็กและเยาวชนโดยตรง แต่ทั้งนี้มีสองพรรคการเมืองที่มีนโยบายซึ่งผู้ได้รับประโยชน์หลักคือเด็กและเยาวชน คือพรรคประชาธิปัตย์และก้าวไกล โดยพรรคประชาธิปัตย์เสนอนโยบายบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองเด็กควบคู่ไปกับการเพิ่มมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดการคุกคามในรูปแบบต่าง ๆ ส่วนพรรคก้าวไกลมีนโยบายเสนอแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดทางเพศ อนาจาร หรือกระทำชำเรา ให้มีนิยามทางกฎหมายที่ชัดเจน

6. เด็กและเยาวชนฝันถึงสังคมใหม่ที่หลากหลาย แต่ระบบการเมืองไม่เปิดกว้างและรับฟัง

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเด็กและเยาวชนไทยตื่นตัวทางด้านการเมืองมากขึ้น พวกเขาฝันอยากเห็นสังคมที่มีอิสรภาพและเสรีภาพทางความคิด พร้อมทั้งโอบรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม เชื้อชาติ เพศสภาพ และครอบครัว โดยงานศึกษาผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์ พบว่าเยาวชนอายุ 15 – 25 ปี มี ‘ความฝันร่วม’ ที่เห็นพ้องต้องกันใน  3 ประเด็นใหญ่ ได้แก่ เสรีภาพทางความคิด การทลายระบบอุปถัมภ์ และการปฏิรูปเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันก็พบ ‘รอยแยก’ ทางความคิดระหว่างกลุ่มทัศนคติในเรื่องของชาติและวัฒนธรรม รวมถึงเพศสภาพและครอบครัว

ความฝันของเด็กและเยาวชนสะท้อนออกมาผ่านความต้องการนโยบายที่เป็นรูปธรรม โดยข้อมูลจากโครงการจินตนาการพลเมืองเยาวชนของ คิด for คิดส์ พบว่าเยาวชนอายุ 15 – 18 ปี ต้องการให้ประเทศไทยมีสวัสดิการและบริการสาธารณะที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้ มีระบบการศึกษาที่มีคุณภาพเท่าเทียมกันในทุกสถานศึกษาและเปิดกว้างสำหรับความต้องการอันหลากหลายของผู้เรียน ตลอดจนมีพื้นที่สาธารณะที่ครอบคลุม ปลอดภัย รวดเร็ว และค่าธรรมเนียมการใช้บริการถูก

พรรคก้าวไกลเป็นพรรคเดียวที่มีนโยบายขยาย-คุ้มครองการมีส่วนร่วมของเยาวชน

สาเหตุที่ทำให้ความฝันของเด็กและเยาวชนไทยไม่สามารถเป็นจริงได้ มาจากการที่ระบบการเมืองของไทยไม่มีช่องทางในการรับฟังเสียงของเด็กและเยาวชน ทำให้เสียงของพวกเขานั้นส่งไปไม่ถึงผู้มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลง ซึ่งประเด็นนี้จะเป็นอีกประเด็นสำคัญที่ต้องจับตาดูหลังจากการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลใหม่ว่าเสียงของเด็กและเยาวชนไทยจะมีพื้นที่ในสภาหรือไม่ เพราะในการเลือกตั้งปี 2023 พรรคการเมืองเดียวที่เสนอให้มีการขยายช่องทางการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนอย่างเป็นทางการ คือพรรคก้าวไกล ซึ่งได้รับความไว้วางใจจากประชาชนให้ทำหน้าที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล 

สถานการณ์ของเด็กและเยาวชนไทยในสองทางแพร่งจะก้าวต่อไปในทิศทางไหน ขึ้นอยู่กับการดูแลและการบริหารจัดการปัญหาของรัฐและผู้มีอำนาจ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสายลมที่เปลี่ยนทิศหลังการเลือกตั้งปี 2023 ในครั้งนี้จะพัดพากลีบของประชาธิปไตยที่เบ่งบานหวนคืนมาให้เราได้เชยชมอีกครั้ง และหวังว่าจะไม่มีเด็กหรือเยาวชนคนไหนหล่นหายไปในระหว่างทางอีกแม้แต่คนเดียว 

ที่มา

วรดร เลิศรัตน์ และ สรัช สินธุประมา, เด็กและครอบครัวไทยในสองทางแพร่ง: รายงานสถานการณ์เด็ก เยาวชน และครอบครัวปี 2023, 2023. 

Writer
Avatar photo
ณัฐนรี บัวขม

มีชีวิตอยู่เพื่อดูคลิปตลก คีบตุ๊กตา และเดินหาร้านอร่อยในย่านบรรทัดทอง

illustrator
Avatar photo
ธีรภัทร์ เศาธยะนันท์

ชอบกินลาเต้เย็น

Related Posts

Related Posts