ค้นเบื้องหลังของหนังสือภาพสำหรับเด็ก สนิทกับหนังสือให้มากขึ้น และมอบความรักด้วยการอ่าน ไปกับนิทาน ‘เรียกฉันว่าหนังสือ’
ค้นเบื้องหลังของหนังสือภาพสำหรับเด็ก สนิทกับหนังสือให้มากขึ้น และมอบความรักด้วยการอ่าน ไปกับนิทาน ‘เรียกฉันว่าหนังสือ’
หนังสือบอกเล่าเรื่องราว ร้อยเรียงโลกกว้างใหญ่ มาไว้บนหน้ากระดาษ รวมหลายหน้ากระดาษมาเป็นหนังสือ แล้วกว่าหนังสือจะมาเป็นหนังสือ หนังสือมาได้อย่างไรกันนะ ถึงเวลาที่หนังสือจะเฉิดฉาย บอกเล่าเรื่องราวของตัวเองแล้ว
‘เรียกฉันว่าหนังสือ’ เรื่องโดยพี่มู และวาดภาพประกอบโดยพี่โบ นิทานเล่มนี้จะพาไปรู้จักเบื้องหลัง ขั้นตอนการเกิดขึ้นของหนังสือเล่มหนึ่ง เพื่อให้เด็กได้รู้จักกับหนังสือมากขึ้น
นิทานเริ่มบอกเล่าเรื่องของหนังสือตั้งแต่หน้าปก โดยมีหนูตัวน้อยสองตัวที่ดูน่ารักซุกซนเป็นผู้นำทาง “ดูปกหนังสือเล่มนี้สิ” เป็นการอธิบายให้เด็กรู้จักส่วนประกอบของหนังสือโดยเริ่มตั้งแต่หน้าปก เมื่อเปิดหนังสือไปแต่ละหน้าก็จะพบหนูทั้งสองตัวคอยสอนวิธีการอ่านนิทาน รวมถึงแทรกเกร็ดเกี่ยวกับหนังสือและการอ่าน
วิธีการเล่าเรื่องกระบวนการผลิตหนังสือของนิทานเล่มนี้ ใช้การเปรียบเทียบหนังสือกับเรื่องใกล้ตัวเด็กๆ คือเปรียบหนังสือเป็นครอบครัว มีคุณแม่ผู้หยิบถ้อยคำมาร้อยเรียงเรื่องราว เป็นนักเขียน มีคุณพ่อเป็นผู้แต่งแต้มสีสันให้หนังสือ เป็นนักวาดภาพประกอบ มีโรงพยาบาลที่ให้กำเนิดหนังสือมากมาย ซึ่งคือโรงพิมพ์นั่นเอง
นิทานเล่มนี้ยังแสดงให้เห็นเบื้องหลังของหนังสือที่มีคนทำหนังสือ อย่างนักเขียนและนักวาดภาพประกอบ เวลาอ่านหน้าปกและปกรองว่า “เขียนโดย วาดภาพโดย” เด็กก็จะได้รู้จักและเริ่มทำความเข้าใจว่ามีความหมายว่าอะไร นอกจากนักเขียนและนักวาดภาพประกอบแล้ว ยังมีทีมบรรณาธิการที่ตรวจสอบความถูกต้อง มีคนที่ทำหน้าที่จัดหน้าหนังสือให้น่าอ่านอีกด้วย แสดงให้เห็นว่ากว่าหนังสือหนึ่งเล่มจะมาถึงมือเด็ก ได้ผ่านกระบวนการ สายตาจากผู้คนมากมายในวงการหนังสือ เพื่อให้หนังสือออกมาดีที่สุด
ความน่ารักที่ซ่อนอยู่คือการที่นิทานเล่มนี้เหมือนนิทานที่ซ้อนนิทาน เป็นนิทานที่บอกเล่าเรื่องราวของนิทาน ขั้นตอนการทำหนังสือภาพสำหรับเด็ก และหากสังเกตถ้อยคำที่ล่องลอยของคุณแม่ ภาพประกอบที่น่ารักของคุณพ่อ เด็กจะเห็นว่านิทานที่คุณแม่เขียนก็คือเรื่องของเจ้าหนูสองตัวนั่นเอง
‘เรียกฉันว่าหนังสือ’ เล่าเรื่องหนังสือได้อย่างค่อนข้างครอบคลุม ทั้งขั้นตอนการทำหนังสือ ส่วนประกอบของหนังสือ การเก็บดูแลหนังสือ วิธีการใช้หนังสือ สถานที่ที่เด็กๆ จะได้พบหนังสือ รวมถึงการให้ความรักหนังสือด้วย
“ฉันกินความรักจากการอ่านหนังสือของเธอไง ทุกครั้งที่เธอหยิบมาอ่าน ฉันจะอิ่มอกอิ่มใจ ยิ่งเธออ่านบ่อยๆ ฉันก็ยิ่งมีความสุข”
หนังสือทุกเล่มต่างต้องการความรักจากนักอ่าน การอ่านนิทานซ้ำๆ ช่วยให้เด็กๆ เข้าใจเนื้อเรื่องได้ดีมากขึ้น ทุกครั้งที่อ่าน เด็กอาจสังเกตเห็นสิ่งใหม่ๆ รายละเอียดที่ซุกซ่อนอยู่ในหน้ากระดาษ กระตุ้นให้เกิดความสงสัยและต่อยอดจินตนาการ รวมถึงได้พัฒนาทักษะด้านภาษา เรียนรู้และจดจำคำศัพท์ เชื่อมโยงกับภาพ เมื่อพวกเขามีความเข้าใจในเนื้อเรื่อง สามารถคาดเดาหรือจดจำได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในลำดับถัดไป จะเป็นการช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้พวกเขา และทำให้รู้สึกภูมิใจในตนเองได้อีกด้วย
การอ่านเป็นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต และหนังสือเล่มที่สามารถจับต้องได้ยังคงเป็นสื่อที่สำคัญต่อพัฒนาการของเด็ก ‘เรียกฉันว่าหนังสือ’ จะสร้างความเพลิดเพลินตลอดการอ่าน ส่งเสริมนิสัยการรักการอ่าน เป็นนิทานที่เด็กเล็กฟังสนุก เด็กโตอ่านเองก็สนุกเช่นกัน และเด็กๆ จะได้เริ่มเรียนรู้ที่จะอ่านนิทานให้ผู้อื่นฟังได้ ผู้ที่สนใจนิทาน ‘เรียกฉันว่าหนังสือ’ สามารถอ่านและดาวน์โหลดหนังสือภาพเล่มนี้ฟรีได้ที่: https://childhoodbookbank.com/ebook/เรียกฉันว่าหนังสือ และสามารถอ่านนิทานออนไลน์เล่มอื่นๆ จากแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. ฟรีที่ https://www.happyreading.in.th/
เด็กๆ รู้เรื่องราวของหนังสือแล้ว สนิทกับหนังสือมากขึ้นแล้วใช่ไหม อย่าลืมให้ความรักหนังสือเยอะๆ ด้วยนะ
อ้างอิง :
https://www.readbrightly.com/why-reading-the-same-book-repeatedly-is-good-for-kids/
Writer
ธัญดา โอวาทศิริวงศ์
เป็นมิตรกับหมาแมวทั่วโลก ตื่นเต้นกับทุกสิ่ง ชอบดูหนังซอมบี้ ซีรีส์อบอุ่น และดำเนินชีวิตด้วยคำว่าวันนี้เก่งมาก
illustrator
พัชรา พันธุ์ธนากุล
นักออกแบบผู้หลงใหลในศิลปะ เด็ก หนังสือภาพ แมวทักซิโด้ และชามะลิ