Barefoot Banana เมื่อหนังสือภาพช่วยสร้างสังคมที่อยากเห็น คุยกับสองผู้จัดงานเทศกาลหนังสือภาพสำหรับเด็ก 2566

Barefoot Banana เมื่อหนังสือภาพช่วยสร้างสังคมที่อยากเห็น คุยกับสองผู้จัดงานเทศกาลหนังสือภาพสำหรับเด็ก 2566

ตามประสาคนรักสื่อสิ่งพิมพ์และทุกอย่างที่มีลายเส้นแสนน่ารัก ใจเราเต้นตึกตักเป็นพิเศษเมื่อได้ยินว่าประเทศไทยกำลังจะมีงาน Children’s Picture Book Festival หรือเทศกาลหนังสือภาพสำหรับเด็กเป็นครั้งแรก

รู้ตัวอีกที เราก็พาตัวเองมาที่ TCDC สถานที่จัดงานในวันที่เทศกาลเปิด สิ่งแรกที่เราเห็นคือประตูทางเข้านิทรรศการที่สูงเท่าไหล่ ทำให้ผู้ใหญ่ต้องก้มตัวลอดเข้าไป คล้ายเป็นประตูอัศจรรย์ที่ชวนให้เรากลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง

นี่คือความใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของผู้จัดงานที่เราสังเกตเห็น เมื่อก้าวเข้าไปด้านใน เราพบกับดินแดนสีสันสดใสที่พาเราไปรู้จักหนังสือภาพสำหรับเด็กอย่างลงลึก มีการเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ กระบวนการกว่าจะมาเป็นหนังสือภาพ แนะนำศิลปินผู้วาดและเขียน ไปจนถึงมุมแชร์หนังสือเล่มโปรด

ไม่เพียงแค่นิทรรศการที่ดูเพลินจนลืมไปว่าเป็นนิทรรศการ แต่งานนี้ยังมีกิจกรรมน่าสนใจที่ไม่ต้องเป็นเด็กก็เข้าร่วมได้อย่างไม่เคอะเขิน ทั้งกิจกรรมอ่านนิทาน คลาสการสอนทำหนังสือภาพ และเสวนาเกี่ยวกับการแปลหนังสือ ซึ่งทุกกิจกรรมมีคนในแวดวงหนังสือเด็กผลัดกันมาจัดอย่างสนุกสนาน

สมกับเป็นเทศกาลหนังสือภาพสำหรับเด็กครั้งแรกของไทย แต่กว่าจะออกมาเป็นงานที่เราเห็น กระบวนการเบื้องหลังนั้นไม่ง่ายและเรียกร้องพลังมหาศาลจากทีมผู้จัดงาน 

เบื้องหลังงานนี้มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง และการมีอยู่ของเทศกาลนี้จะช่วยขับเคลื่อนวงการหนังสือภาพสำหรับเด็กอย่างไร แจน-ณฐภัทร อุรุพงศา และ ตุ๊กตา-พนิดา เอี่ยมศิรินพกุล ขอยกมือให้คำตอบ

แจน-ณฐภัทร อุรุพงศา (ซ้าย) ตุ๊กตา-พนิดา เอี่ยมศิรินพกุล (ขวา)

หนังสือภาพเล่มหนึ่ง

ถ้าเปรียบ Children’s Picture Book Festival เป็นหนังสือสักเล่ม หน้าแรกของมันเกือบจะไม่ได้ถูกเขียนขึ้นแล้ว

ย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้น แจนเล่าว่าเธอไม่ได้ตั้งใจสร้างเทศกาลใหญ่โตขนาดนี้ วันหนึ่งเมื่อตอนต้นปี เธอเดินทางมาที่ TCDC พร้อมกับหนังสือภาพสำหรับเด็กชื่อ ‘นกฮูกที่ไม่เคยบิน’ ซึ่งจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์แบร์ฟุตบานาน่าที่เธอก่อตั้ง และแจนอยากทำนิทรรศการที่นำภาพต้นฉบับของหนังสือเล่มนี้มาจัดแสดง

TCDC และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) มองว่าเป็นไอเดียที่น่าสนใจ พวกเขายื่นข้อเสนอกับเธอว่าทำนิทรรศการที่พูดถึงหนังสือภาพสำหรับเด็กในสเกลที่กว้างกว่าหนังสือหนึ่งเล่มได้หรือเปล่า พร้อมให้ทุนมาหนึ่งก้อนและสิทธิในการใช้สถานที่ 

แน่นอนว่าแจนตอบตกลง

“เราเห็นโอกาสที่จะทำให้มันใหญ่ เหมือนเขาให้ทำร้อยแล้วเราทำล้าน เลยขอต่อยอดออกไปอีก ไม่ทำแค่ตัวนิทรรศการอย่างเดียวแล้ว แต่ทำเป็นเทศกาลที่มีทั้งนิทรรศการและกิจกรรม เพื่อให้คนที่มาได้เห็นคนเบื้องหลังของหนังสือภาพสำหรับเด็กแต่ละเล่ม” เธอเล่า

หนังสือภาพลดความเหลื่อมล้ำ

แม้หนังสือภาพสำหรับเด็กจะเห็นได้ตามเชลฟ์ของร้านหนังสือทั่วไป แต่ประเทศไทยไม่เคยมีเทศกาลหนังสือภาพสำหรับเด็กมาก่อน นั่นคือความจริงข้อแรกที่ทำเราเซอร์ไพร์ส

“เราเห็นงานแบบนี้ในต่างประเทศเป็นเรื่องปกติ เพราะหลายประเทศเขาให้ความสำคัญและลงทุนกับเด็ก การลงทุนกับเด็กคือการให้พื้นที่อิสระ ให้สื่อที่เป็นประโยชน์ และหนังสือคือหนึ่งในสิ่งที่ถือเป็นการลงทุนที่ดีที่สุด เพราะเป็นทั้งเพื่อน ความบันเทิง และเครื่องมือที่ช่วยสอนพวกเขา” ตุ๊กตา ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงสิ่งพิมพ์และผลิตสื่อสำหรับเด็กมาหลายปีบอก 

ก่อนหน้านี้ ในไทยมีการจัดนิทรรศการหนังสือภาพอยู่บ้าง ทว่ามักจะไปอยู่เป็นส่วนหนึ่งของงานสัปดาห์หนังสือในลักษณะบอร์ดนิทรรศการมากกว่า “ถามว่ามีคนคิดทำเหมือนเราไหม เราว่ามี แต่ไม่มีใครลุกขึ้นมาทำเรื่องนี้  จริงๆ การทำงานแบบนี้ควรริเริ่มจากภาครัฐแล้วขอความร่วมมือจากภาคเอกชน มันจึงจะถูกขับเคลื่อนไปได้อย่างยั่งยืน แต่กลายเป็นว่าพอเราที่เป็นภาคเอกชนตัวเล็กๆ ทำขึ้น มันเลยมีกระบวนการซับซ้อนและยากกว่า ใช้พลังในการทำเยอะกว่า คนเลยไม่ค่อยอยากทำ” ตุ๊กตาเสริม 

แล้วอะไรล่ะที่ผลักดันให้พวกเธอลงมือทำ คำตอบคือปัญหาการเข้าถึงหนังสือของเด็กไทย แจนเผยสถิติน่าตกใจให้เราฟังว่า  มีครัวเรือนไทยไม่ถึง 50 % ที่เด็กๆ ในครัวเรือนจะเข้าถึงหนังสือได้มากกว่า 3 เล่ม 

“ในงานวิจัยต่างๆ บอกเสมอว่า การที่ให้เด็กได้มีประสบการณ์กับหนังสือ ครอบครัวได้อ่านด้วยกัน มันมีผลต่ออนาคตของเด็กคนนั้นโดยตรง และเป็นอิมแพกต์ที่สูงมาก” แจนอธิบาย 

“มีงานวิจัยหนึ่งที่สำคัญมากและเพิ่งเผยแพร่ออกมาเมื่อไม่กี่ปีก่อน เขาสอบถามคนที่โตแล้วทั่วโลกว่าตอนเด็กๆ ที่บ้านมีหนังสือกี่เล่ม สิ่งที่พบคือคนที่มีหนังสือในบ้านจำนวนมากจะมีโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิตมากกว่าคนที่มีหนังสือน้อยกว่า คือเด็กยังไม่ต้องอ่านก็ได้ แค่อยู่รายล้อมไปด้วยหนังสือเท่านั้น เขาประเมินออกมาว่าถ้าบ้านไหนมีหนังสือประมาณ 80 เล่มจะทำให้เด็กคนหนึ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จสูงขึ้น

“นั่นหมายความว่า ไม่ว่าคุณจะเกิดมาด้วยฐานะอะไร หากคุณถูกรายล้อมไปด้วยหนังสือ คุณมีโอกาสประสบความสำเร็จเหมือนกัน”

หนังสือภาพไม่ง่าย

ตั้งต้นจากความฝันใหญ่และความมุ่งมั่นอีกหนึ่งหยิบมือ สุดท้ายแจนกับตุ๊กตาก็ช่วยกันสร้างเทศกาลหนังสือภาพสำหรับเด็กขึ้นมาได้จริงๆ ทั้งสองแบ่งหน้าที่กันตามความถนัด แจนเป็นสายวิชาการ ชอบผลิตเนื้อหา ส่วนตุ๊กตามีพื้นฐานเรื่องการทำสื่อ ก็นำเนื้อหามาต่อยอดเป็นงานที่น่าดึงดูด

ไฮไลท์ของเทศกาลแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือนิทรรศการเกี่ยวกับหนังสือภาพสำหรับเด็กที่ทั้งคู่ตั้งใจให้เป็นเมืองหนังสือ ตั้งอยู่บริเวณชั้น 1 และชั้น 5 ของ TCDC เมื่อผู้สนใจเข้าในจะรู้สึกเหมือนกำลังเดินอยู่ในหน้ากระดาษ โดยแต่ละหน้าก็เล่าเกี่ยวกับหนังสือภาพสำหรับเด็ก ไล่ตั้งแต่ความแตกต่างของหนังสือภาพกับนิทาน ไปจนถึงกระบวนการการทำหนังสือภาพ 1 เล่มว่าต้องผ่านอะไรมาบ้าง

ส่วนที่ 2 คือกิจกรรม พวกเธอชวนคนที่อยู่เบื้องหลังหนังสือภาพสำหรับเด็กมาทำอะไรสนุกๆ ร่วมกันผ่านคลาสต่างๆ ซึ่งจัดที่ TCDC และห้องสมุดเด็กดรุณบรรณาลัยซึ่งอยู่ไม่ไกล บ้างเป็นคลาสเล่านิทาน บ้างเป็นการสอนทำหนังสือภาพ บ้างเป็นเสวนาเกี่ยวกับการแปลหนังสือ มีเวิร์กช็อปที่ให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ร่วมเอนจอย

“ทาร์เก็ตของงานนี้คือคนที่มีอายุ 0-100 ปี” แจนหัวเราะ “จริงๆ ไม่ใช่แค่เด็ก และไม่จำเป็นต้องเป็นพ่อแม่ด้วย เราอยากให้ทุกคนที่สนใจเรื่องหนังสือภาพได้เข้ามาร่วมงาน เพราะแม้แต่การทำกิจกรรมเดียวกันอย่างการนั่งฟังนิทาน ไม่ว่าคนอายุเท่าไหร่ก็เอนจอยได้”

หนังสือภาพสร้างสังคม

ว่าแต่ทำไมงานนี้ต้องโฟกัสกับหนังสือภาพสำหรับเด็ก ทำไมไม่ใช่หนังสือเด็กไปเลย-เราสงสัย

สาวๆ หัวเราะ ก่อนแจนจะตอบว่า “เพราะหนังสือภาพเป็นหนังสือที่เหมาะกับเด็กเล็ก เป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เด็กคนหนึ่งมีประสบการณ์เรื่องศิลปะ ภาษา และการปฏิสัมพันธ์กับคนรอบตัว มันเหมือนเป็นแกลเลอรี่เล็กๆ ที่เด็กพกไปไหนก็ได้ เป็นเครื่องมือฝึกภาษา และเป็นสิ่งที่สร้างความผูกพันของเขากับผู้ปกครอง ซึ่งมันอาจจะเริ่มตั้งแต่เขายังอยู่ในท้องก็ได้ เพราะยุคนี้พ่อแม่หลายคนอ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่ตอนตั้งครรภ์เลย”

หลายคนมักเข้าใจว่า หนังสือภาพคือหนังสือนิทาน ทว่าจริงๆ หนังสือทั้งสองประเภทแตกต่างกัน ตรงที่หนังสือนิทานมักมีเรื่องราวแบบวรรณกรรมชัดเจน แต่หนังสือภาพไม่จำเป็นต้องมีเรื่องราว บางเล่มสามารถเป็น Non-Fiction หรือสารคดีไปเลยก็ได้ 

มากกว่านั้น หนังสือภาพมีพลังมากกว่าการเล่าเรื่องสักเรื่อง แต่แจนบอกว่า สิ่งที่เราเห็นบนหน้ากระดาษนั้นสะท้อนความคิด ความเชื่อ และมุมมองของนักเขียน-นักวาดลงไป

“หนังสือภาพเกิดจากการที่คนทำใส่ประสบการณ์ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมเข้าไปในนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าคนทำอยากเห็นสังคมแบบไหน ภาพ เนื้อเรื่อง และสิ่งต่างๆ ที่เขาใส่ลงไปมันควรจะเป็นไปในทางเดียวกัน ถ้าเราอยากเห็นสังคมที่หลากหลายและผู้คนยอมรับความแตกต่างซึ่งกันและกัน หนังสือภาพก็ควรที่จะสะท้อนความหลากหลาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะส่งผลต่อตัวตนของเด็กคนหนึ่งเมื่อเขาอ่าน  และสามารถส่งต่อจากเจเนเรชั่นหนึ่งไปสู่อีกเจเนเรชั่น” แจนบอก

แล้วคนที่โตแล้วเอนจอยกับหนังสือภาพได้ไหม เราสงสัย

“เคยอ่านหนังสือภาพแล้วร้องไห้ไหม” แจนถามกลับ เรานึกดูแล้วยอมรับกับเธอว่ามีบ้างเหมือนกัน

“เราเคย” ตุ๊กตาสมทบ “สำหรับเรา กิมมิคที่คนทำหยอดไว้ในนั้นมีพลังนะ ถ้าถามว่าผู้ใหญ่เอนจอยกับหนังสือภาพได้ไหม เราคิดว่ามันทำได้ทุกเพศทุกวัย แม้แต่เราที่หากถอดหมวกของความเป็นแม่ออก พอเราไปร้านหนังสือเราก็ชอบดูหนังสือภาพ บางทีไม่ได้ดูเนื้อหา แต่ดูความสวยงาม ศิลปะ เทคนิคการใช้สี” 

“หนังสือภาพทำหน้าที่ลึกซึ้งมากสำหรับบางคน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องดูมันอย่างลึกซึ้ง เราคิดว่าแต่ละคนได้อะไรจากหนังสือภาพไม่เหมือนกัน บางคนอาจดูแค่ภาพก็ได้ จริงๆ นั่นคือวิธีการใช้งานของเด็กที่ยังอ่านไม่ออกเลย เด็กดูภาพเก่งมาก เก่งในแบบที่ผู้ใหญ่มักจะคิดไม่ถึง เพราะฉะนั้นนักวาดเขามักจะซ่อนอะไรบางอย่างให้นักอ่านตัวจิ๋วคอยมองหา แต่ผู้ใหญ่จะไม่ค่อยเห็น เพราะเรามัวแต่อ่านหนังสือ ลืมอ่านภาพ” แจนหัวเราะ

หนังสือภาพเพื่อทุกคน

หากมองภาพกว้างแล้ว การมีอยู่ของงาน Children’s Picture Book Festival ช่วยขับเคลื่อนวงการหนังสือภาพสำหรับเด็กอย่างไร แจนบอกว่า อย่างน้อยมันคือการเฉลิมฉลองความมหัศจรรย์ของหนังสือภาพสำหรับเด็กให้คนอื่นได้เห็น

“หนังสือภาพมันมีพลังในการสร้างตัวตนของคนและสังคม เราจึงอยากประกาศออกไปให้คนได้ยินและรู้จักมันมากที่สุด ไกลที่สุดคืออยากให้ไปถึงภาครัฐ อยากให้เขาได้เห็นว่ามีคนขับเคลื่อนตรงนี้และมีคนสนใจ เผื่อในอนาคตเขาอาจจะสนใจทำแบบนี้อีก” แจนบอก

พวกเธอยังมองว่าในยุคที่คำว่าซอฟต์เพาเวอร์ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายในบ้านเรา หนังสือภาพสำหรับเด็กของเราก็อาจนับรวมเป็นหนึ่งในนั้นได้ แต่เช่นเดียวกับทุกสิ่งทุกอย่างที่ถูกมองว่าเป็นซอฟต์เพาเวอร์ มันเรียกร้องการสนับสนุนจากกลุ่มคนผู้กำหนดโครงสร้างสังคม

“ยกตัวอย่างในประเทศที่เจริญแล้วหลายประเทศ เขามักให้ทุนสำนักพิมพ์ต่างประเทศมาแปลหนังสือจกาภาษาของเขา เช่น รัฐบาลเดนมาร์กให้ทุนมาแปลจากเดนมาร์กเป็นไทย ทั้งค่าแปลและค่าพิมพ์ นี่คือการส่งวัฒนธรรมของตัวเองออกไป ซอฟต์เพาเวอร์จะได้ผลต้องมีระบบแบบนี้” แจนบอก ก่อนตุ๊กตาจะเสริมว่า

“ประเทศไทยมีศิลปินเก่งๆ เยอะมาก ทั้งนักเขียนและนักวาดภาพประกอบ ยังมีอีกหลายคนที่เราไม่รู้จักและไม่เคยเห็น แต่ทุกวันนี้เราช่วยเหลือตัวเองกัน เหมือนอย่างงานนี้ที่สำนักพิมพ์แบร์ฟุตบานาน่าเป็นเจ้าภาพ  มีกลุ่มคนในวงการและสำนักพิมพ์อื่นๆ มาสนับสนุน ซึ่งถ้ามีองค์กรที่สนับสนุนงานนี้จริงจังน่าจะดี” 

“เราเชื่อว่าถ้าเราอยากได้สังคมแบบไหน เราสามารถสร้างสังคมแบบนั้น แจนไม่ได้อยากให้เราสบาย มีหนังสืออ่านคนเดียว ในขณะที่เด็กคนอื่นอาจจะเข้าถึงหนังสือไม่ได้สักเล่ม เพราะฉะนั้น โจทย์หนึ่งของการทำเฟสติวัลนี้สำหรับเราคือการทำให้เข้าถึงได้ทุกคน ทุกครั้งที่เราเห็นคนเดินเข้ามาเข้าร่วมมันมีความหมายกับเรานะ เราเชื่อว่าอย่างน้อยเขาจะได้รับอะไรบางอย่างกลับไป” แจนทิ้งท้าย

เทศกาลหนังสือภาพสำหรับเด็ก 2566 จัดที่ TCDC Bangkok ระหว่างวันที่ 24 กันยายน – 29 ตุลาคม 2566 เปิดเวลา 10.30-19.00 น. และปิดทุกวันจันทร์ ในงานยังมีการระดุมทุนเพื่อส่งต่อตู้หนังสือที่มีหนังสือหลายเล่มไปยังศูนย์พัฒนาเด็กเล็กใน 4 จังหวัดห่างไกล ใครอยากเข้าร่วมบริจาคก็สามารถมาที่งานหรือเข้าไปในเพจ Children’s Picture Book Festival ได้เลย นอกจากนี้ หากบุคคล ห้างร้าน หรือบริษัทไหนอยากบริจาคทั้งตู้ (มูลค่า 16,000 บาท) ก็สามารถติดต่อทีมงานได้เลย

Writer
Avatar photo
พัฒนา ค้าขาย

นักเขียนจากเชียงใหม่ผู้รักทะเลและฤดูหนาวพอๆ กับหนังสุขซึ้ง สนใจประเด็นเรื่องเพศ ความสัมพันธ์ และเรื่องป๊อปทุกแขนง

Photographer
Avatar photo
ฉัตรมงคล รักราช

ช่างภาพ และนักหัดเขียน

Related Posts

Related Posts