เปิดโลกจินตนาการไปกับหนังสือภาพสุดสร้างสรรค์ ใน Bangkok Children’s Picturebook Festival
เปิดโลกจินตนาการไปกับหนังสือภาพสุดสร้างสรรค์ ใน Bangkok Children’s Picturebook Festival
‘หนังสือภาพ’ ไม่ใช่แค่สื่อบันเทิงสำหรับเด็ก แต่เปรียบเสมือนประตูบานใหญ่ที่เปิดเข้าสู่โลกแห่งจินตนาการ ด้วยภาพประกอบสีสันสดใส และเรื่องราวที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ หนังสือภาพจึงไม่ได้มีพลังแค่สร้างความเพลิดเพลิน แต่ยังช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ พัฒนาทักษะการอ่าน และเสริมสร้างอารมณ์ให้กับเด็กๆ
นอกจากนี้ หนังสือภาพยังเป็นสื่อการเรียนรู้ที่ทรงคุณค่าและช่วยพัฒนาทักษะรอบด้าน ทั้งการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ การพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) การเชื่อมโยงครอบครัว และการเรียนรู้เกี่ยวกับศิลปะและวัฒนธรรม
ดังนั้น การอ่านหนังสือภาพร่วมกันจึงไม่เพียงเป็นกิจกรรมที่สร้างความสนุกสนาน แต่ยังช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กในทุกมิติ
ปัจจุบันคนไทยมีหนังสือภาพสำหรับเด็กไม่เกิน 3 เล่มต่อ 1 บ้าน
ในประเทศไทยหนังสือภาพสำหรับเด็กยังถือเป็นสิ่งที่ขาดแคลนในหลายครอบครัว ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติชี้ว่า เด็กในครัวเรือนกว่า 1.1 ล้านครอบครัวไม่มีหนังสือภาพที่เหมาะสมกับวัย ซึ่งสอดคล้องกับคำกล่าวของ แอนนา แฮลล์เกรน (Anna Hammargren) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรสวีเดน ในงานเปิดเทศกาลหนังสือภาพสำหรับเด็ก กรุงเทพฯ ที่ชี้ว่า คนไทยมีหนังสือภาพสำหรับเด็กไม่เกิน 3 เล่มต่อ 1 ครอบครัว
สิ่งนี้สะท้อนถึงความท้าทายในการส่งเสริมการอ่านตั้งแต่วัยเยาว์ ซึ่งเป็นทักษะสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพในระยะยาว การขาดหนังสือภาพที่เข้าถึงได้ทำให้เด็กพลาดโอกาสสำคัญในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการที่หลากหลาย
ทั้งนี้ หนังสือภาพเปรียบเสมือนบันไดขั้นแรกสำหรับเด็กในการเข้าสู่โลกของการอ่าน ที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้สำรวจโลกกว้าง ทั้งอดีต ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมหลากหลาย วิทยาศาสตร์ และธรรมชาติ ทำให้เด็กๆ ได้พบกับสถานที่และเรื่องราวที่เกินกว่าชีวิตประจำวัน เรียนรู้ที่จะเข้าใจและยอมรับความหลากหลายของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่มีความพิเศษหรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ต่างไป การอ่านเรื่องราวเหล่านี้จะปลูกฝังความเห็นอกเห็นใจและทัศนคติที่เปิดกว้าง
เทศกาลหนังสือภาพสำหรับเด็ก กรุงเทพฯ จุดประกายจินตนาการผ่านหนังสือภาพ
เพื่อตอกย้ำความสำคัญของหนังสือภาพ ‘เทศกาลหนังสือภาพสำหรับเด็ก กรุงเทพฯ’ (Bangkok Children’s Picturebook Festival) ได้กลับมาอีกครั้งในปีนี้ โดยมีสำนักพิมพ์ Sandclock ร่วมกับ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) และพันธมิตรอีกมากมายเป็นเจ้าภาพ พร้อมจัดกิจกรรมหลากหลายที่สร้างสรรค์มาเพื่อเด็กๆ และครอบครัว รวมถึงผู้ที่สนใจศิลปะและการเล่าเรื่อง โดยงานจัดขึ้นในวันที่ 30 พฤศจิกายน-15 ธันวาคม 2567 ณ ห้องแกลเลอรี TCDC (บริเวณไปรษณีย์กลางบางรัก)
ปีนี้เทศกาลหนังสือภาพสำหรับเด็ก กรุงเทพฯ มาพร้อมกับคอนเซปต์ ‘เพื่อนรักจากนิทาน’ ที่จะพาผู้เข้าร่วมงานไปสำรวจเรื่องราวจากเหล่าตัวละครหลากหลายรูปแบบที่อยู่ในเรื่องเล่ามหัศจรรย์ในหนังสือภาพของไทยและทั่วโลก โดยตัวละครต่างๆ ถูกจัดแสดงอยู่ในทุกส่วนของนิทรรศการ อีกทั้งยังมีการบอกเล่าเรื่องราวผ่านมุมมองของผู้สร้าง แนวคิด การพัฒนาวิธีการนำเสนอและการสร้างตัวละครจากนิทานเรื่องโปรดให้มีชีวิต
พร้อมเน้นย้ำว่าหนังสือภาพไม่ได้เป็นเพียงแค่สิ่งที่สวยงาม แต่ยังเป็นสะพานเชื่อมระหว่างศิลปะและการเล่าเรื่อง เรื่องราวที่ถ่ายทอดผ่านภาพวาดช่วยเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ กระตุ้นการเรียนรู้ และฝึกการมองโลกในมุมมองใหม่ๆ สำหรับเด็ก การเปิดหน้าหนังสือแต่ละหน้าเสมือนการเปิดประตูสู่ดินแดนแห่งจินตนาการ
4 โซนไฮไลต์ที่ไม่ควรพลาด
เพื่อนรักจากนิทาน ตัวละครที่อยู่ในใจตลอดกาล
ตัวละครในหนังสือภาพไม่ได้เป็นแค่สิ่งที่เราจินตนาการขึ้นมาเท่านั้น แต่ยังกลายเป็น เพื่อนคนแรก’ ของเด็กหลายๆ คน เช่น ตัวละครจากนิทานเรื่องโปรดที่ช่วยเด็กๆ เรียนรู้ความสุข ความเศร้า และการใช้ชีวิตในโลกที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย
ในโซนนี้ ผู้เข้าชมจะได้พบกับตัวละครหลากหลายจากหนังสือภาพที่สร้างความประทับใจทั่วโลก พร้อมเรียนรู้เบื้องหลังการออกแบบตัวละครและแนวคิดที่ทำให้ตัวละครเหล่านี้มีชีวิตชีวา
เพื่อนรักของเรา เขามาจากไหน
บางทีตัวละครจากนิทานที่เรารัก อาจเกิดขึ้นจากเพียงแค่ศิลปินใช้สายตามองไปรอบตัว แล้วนึกถึงความเป็นไปได้ขึ้นมาว่าถ้าข้าวของแสนธรรมดาเหล่านี้มีชีวิตจะเป็นยังไง เหมือนกับที่ นากายะ มิวะ (Nagaya Miwa) นักเขียนชาวญี่ปุ่นได้ไปทำงานที่ประเทศปากีสถาน เขาได้ยินเสียงอีการ้องจึงหันไปตามเสียงนั้น แล้วเห็นว่าอีกาตัวนั้นเป็นสีน้ำตาล ลำคอครึ่งหนึ่งเป็นสีขาว ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเขาจึงทิ้งภาพจำที่ว่า และต่อยอดจินตนาการเป็นนิทานเรื่อง ร้านขนมปังของคุณอีกา ที่อีกาในเรื่องมีสีที่เด็กๆ จดจำได้ง่าย
แล้วคุณล่ะมองเห็นตัวละครอะไรที่ซุกซ่อนอยู่ในข้าวของธรรมดารอบตัว สร้างสรรค์ได้แบบไม่มีข้อกำหนดหรือกฎเกณฑ์ใดบอกว่าสิ่งใดควรเป็นตัวละครหรือไม่ควรเป็น เพราะฉะนั้น คุณจึงใช้จินตนาการได้อย่างเต็มที่โดยไม่มีข้อจำกัด
ถ้าเราได้ลองสร้างตัวละครขึ้นมาสักตัว เขาจะหน้าตาเป็นอย่างไรนะ?
เทศกาลครั้งนี้เปิดโอกาสให้เด็กๆ และผู้เข้าร่วมได้สร้างสรรค์ตัวละครในแบบฉบับของตัวเองในกิจกรรม “ถ้าเราได้ลองสร้างตัวละครขึ้นมาสักตัว เขาจะหน้าตาเป็นอย่างไรนะ?” ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับจินตนาการอย่างไร้ขีดจำกัด เด็กๆ สามารถวาด ระบายสี หรือประกอบตัวละครจากวัสดุหลากหลาย เพื่อสร้างเพื่อนรักคนใหม่ตามจินตนาการตัวเอง
Little Library ห้องสมุดน้อย
เพราะเด็กๆ มีสิทธิ์ที่จะเข้าถึงเรื่องราวมหัศจรรย์ ดื่มด่ำไปกับหนังสือภาพเพื่อค้นพบตัวตนและโลกกว้างใบนี้ สร้างอิสระในการคิด การแสดงออก และการปล่อยให้จินตนาการพาไปสู่ความสร้างสรรค์ สถานทูตสวีเดนจึงได้ร่วมมือกับ อิเกีย ประเทศไทย จัดพื้นที่ห้องสมุดภายในงาน เพื่อให้เด็กๆ และผู้ใหญ่ให้ได้ใช้เวลาร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือภาพบนพรมสุดอบอุ่น ตอบจิ๊กซอว์ และเรียนรู้ผ่านโลกแห่งจินตนาการ
เชื่อมโยงศิลปะ วัฒนธรรม และตัวตน
สำหรับผู้ใหญ่ หนังสือนิทานภาพไม่ได้มีคุณค่าเพียงในฐานะเครื่องมือเพื่อเด็ก แต่ยังสามารถเป็นงานศิลปะที่สะท้อนวัฒนธรรมและมุมมองของสังคมในแต่ละยุค หนังสือนิทานภาพจากหลากหลายประเทศ เช่น นิทานพื้นบ้านไทย นิทานญี่ปุ่น หรือเรื่องเล่าจากยุโรป มักสะท้อนเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมผ่านลายเส้น สีสัน และเนื้อหา
เช่น หนังสือภาพจากสวีเดนที่มักแสดงถึงคุณค่าของการศึกษา การมีส่วนร่วม ความเท่าเทียม และการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี หรือหนังสือภาพญี่ปุ่นที่แฝงไปด้วยความงามแบบมินิมัล และแสดงถึงความละเอียดอ่อนในชีวิตประจำวัน ทั้งหมดนี้ช่วยให้เราเข้าใจวัฒนธรรมและมุมมองที่หลากหลาย
นอกจากนี้ หนังสือนิทานภาพยังเป็นการผสมผสานระหว่างศิลปะและการเล่าเรื่องอย่างลงตัว ทุกหน้าที่พลิกเปิดเหมือนประตูบานใหม่ที่พาเราสำรวจความงดงามของโลกและจินตนาการ เทศกาลครั้งนี้จึงเป็นโอกาสดีสำหรับเด็กๆ ผู้ปกครอง และผู้ที่สนใจจะได้ดื่มด่ำไปกับความมหัศจรรย์ของหนังสือภาพ
เทศกาลหนังสือภาพสำหรับเด็ก กรุงเทพฯ ยังเต็มไปด้วยกิจกรรมที่ชวนเราไปสำรวจเรื่องราวตัวละครจากนิทาน ผู้ที่เป็นเหมือนเพื่อนรักคนแรกตั้งแต่วัยเยาว์
- Story Time : กิจกรรมล้อมวงเล่านิทานแสนสนุก ที่ชวนเด็กๆ มานั่งล้อมวงฟังเรื่องราวจากหนังสือภาพ
- Talk : ชวนฟังมุมมอง ความคิดเห็นของผู้ที่ทำงานกับเด็ก และเกี่ยวข้องกับหนังสือนิทานภาพ
- Children’s Workshop : เวิร์กช็อปสำหรับเด็ก นำเรื่องราวจากนิทานมาออกแบบเป็นกิจกรรมที่เด็กๆ สามารถทำได้จริง
- Adults’ Workshop : เวิร์กช็อปสำหรับผู้ใหญ่ ที่จะทำให้คุณเข้าใจหนังสือนิทานภาพมากยิ่งขึ้น
- Parents’ Workshop : เวิร์กช็อปสำหรับคุณพ่อคุณแม่ ควรมาสำรวจความรู้สึกภายในใจตัวเอง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางใจทำให้ตัวเราเป็นพ่อแม่ เป็นผู้ใหญ่ที่มีสติ และส่งต่อความสงบและมั่นคงต่อไปยังเด็กๆ
คงต้องบอกว่างานนี้ไม่ได้เหมาะสมกับเด็กในวัยอ่านหนังสือภาพเท่านั้น แต่ยังเหมาะกับผู้ใหญ่ หรือคนที่รักการอ่านและรักหนังสือภาพสำหรับเด็ก มาปลุกพลังความเป็นเด็กในตัวไปกับงาน เทศกาลหนังสือภาพสำหรับเด็ก กรุงเทพฯ (Bangkok Children’s Picturebook Festival) ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน-15 ธันวาคม 2567 ณ ห้องแกลเลอรี ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) บริเวณไปรษณีย์กลางบางรัก
สามารถติดตามรายละเอียดและโปรแกรมกิจกรรมต่างๆ ได้ที่ https://www.facebook.com/bkkcpbfest
Writer
เพ็ญทิพา ทองคำเภา
นักเขียนที่สนใจเรื่องธุรกิจและ สังคมรอบตัว