9 เพลงจากหนึ่งศิลปินที่ชวนคน 9 ลักษณ์มารู้จักตัวเองและคนอื่นให้มากขึ้น
9 เพลงจากหนึ่งศิลปินที่ชวนคน 9 ลักษณ์มารู้จักตัวเองและคนอื่นให้มากขึ้น
- Enneagram หรือ นพลักษณ์ เป็นศาสตร์ที่ใช้ในการจำแนกผู้คนตามลักษณะนิสัย แรงจูงใจ พฤติกรรม และมุมมองที่มีต่อโลกออกเป็น 9 กลุ่ม และมักจะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการทำความเข้าใจตนเองและทำความเข้าใจผู้อื่น
- ไรอัน โอนีล ศิลปินเจ้าของนามปากกา Sleeping at Last ได้เริ่มโปรเจ็กต์ ‘Atlas’ หรือเพลงที่พาผู้ฟังไปสำรวจความเป็นมนุษย์ขึ้น โดยในปีที่สองของการทำโปรเจ็กต์นี้ เขาได้แต่งเพลงทั้ง 9 เพลงโดยอิงจากลักษณ์ทั้งเก้าในนพลักษณ์
- แม้เพลงแต่ละเพลงจะอิงจากลักษณะนิสัยของคนแต่ละลักษณ์ แต่เพลงทั้งเก้าเพลงของไรอันในซีรีส์นี้ก็เต็มไปด้วยถ้อยคำปลอมประโลมใจและชวนให้เราถอยออกมามองโลกในมุมที่กว้างขึ้น เข้าใจตัวเอง และเข้าใจผู้อื่นมากขึ้นไม่ว่าเราจะเป็นคนลักษณ์ไหนก็ตาม
หลายคนคงคุ้นเคยกับ Enneagram หรือ นพลักษณ์ ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ใช้ในการจำแนกผู้คนตามลักษณะนิสัย แรงจูงใจ พฤติกรรม และมุมมองที่มีต่อโลกออกเป็น 9 กลุ่ม โดยในปัจจุบัน นพลักษณ์มักจะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการทำความเข้าใจตนเองและทำความเข้าใจผู้อื่น
แม้นพลักษณ์อาจถูกตีความแตกต่างกันไปในคนแต่ละกลุ่ม และการจำแนกคนตามหลักนพลักษณ์อาจดูเป็นการเหมารวมในบางครั้ง แต่สำหรับใครหลายคน นพลักษณ์ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพยายามทำความเข้าใจและพัฒนาตนเอง ไปพร้อม ๆ กับการทำความเข้าใจและพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับคนรอบข้างได้
เช่นเดียวกับ ไรอัน โอนีล ศิลปินเจ้าของนามปากกา Sleeping at Last ที่มีผลงานดังอย่างเพลง Turning Page (ประกอบภาพยนตร์ Twilight) ที่ตั้งใจจะสร้างผลงานภายใต้แนวคิด “การประกอบสร้างความเป็นมนุษย์” โดยตั้งชื่อว่า Atlas เขาเริ่มจากการแต่งเพลงที่เกี่ยวกับ “ชีวิต” โดยตรง ก่อนที่จะขยับขยายมาที่เรื่องของสัมผัส อารมณ์ และความคิด
ในปีที่สองของการทำโปรเจ็กต์นี้ ไรอันขยายความสนใจของเขามาที่การแต่งเพลงจากลักษณะนิสัยของคนแต่ละประเภทในนพลักษณ์ซึ่งเคยเป็นเครื่องมือที่ทำให้เขาพัฒนาตัวเอง ก้าวผ่านความเจ็บช้ำในอดีต และเติบโตขึ้นมาได้ ในการแต่งเพลงทั้ง 9 เพลงสำหรับซีรีส์ ‘Enneagram’ นี้ ไบรอันได้ร่วมงานกับ คริส ฮูเวิร์ตซ์ ผู้เขียนหนังสือ The Sacred Enneagram และบาทหลวงริชาร์ด รอห์ ผู้เขียนหนังสือ The Enneagram: A Christian Perspective เพื่อทำความเข้าใจความแตกต่างของคนในแต่ละลักษณ์และวิธีการมองโลกของพวกเขา นอกจากนั้นไรอันยังอัดเสียงแต่ละเพลงโดยการเลือกนักดนตรีที่มีลักษณ์ตรงกับเพลงนั้น ๆ รวมไปถึงการขอไฟล์เสียงสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของคนแต่ละลักษณ์มาใช้ในแต่ละเพลงอีกด้วย
สิ่งที่พิเศษในซีรีส์เพลงจาก Enneagram คือ ไรอันไม่เพียงแต่ถ่ายทอดว่าคนแต่ละลักษณ์คิดอะไรอยู่ แต่ในเนื้อเพลงของเขายังช่วยสะกิดให้คนแต่ละลักษณ์ หรือใครก็ตามที่ได้ฟังเพลงในซีรีส์นี้ได้ขยับออกมาจากมุมของตัวเองและมองโลกในสายตาที่กว้างขึ้น พร้อมทั้งยังมีเนื้อเพลงที่เปรียบเหมือนถ้อยคำปลุกปลอบใจเพื่อให้ทุกคนก้าวผ่านความกลัวที่เรากำลังเผชิญไปได้
สามารถฟังเพลงทั้ง 9 เพลงได้ที่ Sleeping At Last – “One” (Official Lyric Video)
“One” เพื่อผู้แสวงหาความสมบูรณ์แบบ
คนลักษณ์ 1 คือคนที่มักจะแสวงหาความสมบูรณ์แบบ หาข้อผิดพลาดของสิ่งต่าง ๆ และพยายามปรับปรุงสิ่งนั้นให้เข้าใกล้ความสมบูร์ณแบบในอุดมคติมากที่สุด ทำให้จุดอ่อนของพวกเขาคือการกลัวข้อผิดพลาด และที่แย่ไปกว่านั้นคือพวกเขามักจะโทษตัวเองเมื่อเกิดข้อผิดพลาด
“Hold on for a minute ‘cause I believe that we can fix this over time (หยุดก่อนสักเดี๋ยวเพราะฉันคิดว่าเราสามารถแก้ไขมันได้เมื่อเวลาผ่านไป) ” คือเนื้อเพลงท่อนแรกของเพลง One ที่ไรอันแต่งให้กับคนลักษณ์ 1
หลายคนมักจะเข้าใจว่าคนลักษณ์ 1 นั้นแสวงหาความสมบูรณ์แบบ ‘เพื่อตัวเอง’ แต่ที่จริงแล้วคนลักษณ์ 1 อาจเป็นคนที่มองเห็นศักยภาพว่าสิ่งต่าง ๆ สามารถพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นได้ และมักจะคิดว่าตัวพวกเขาเอง ‘ต้อง’ เป็นคนผลักดันศักยภาพนั้น เพลงท่อนสุดท้ายที่บอกว่า “To find out that grace requires nothing of me” จึงเป็นท่อนอันทรงพลังที่บอกให้คนลักษณ์ 1 วางภาระที่แบกไว้บนบ่า เพราะบางครั้งแต่ละสิ่งก็สวยงามในตัวของมันเอง และพวกเขาไม่จำเป็นต้องเป็นคนรับผิดชอบเสมอไป
“Two” เพื่อผู้ให้
คนลักษณ์ 2 หรือผู้ให้ มักจะเสียสละเพื่อผู้อื่น ความสุขของผู้อื่นจึงมาก่อนความสุขของตัวพวกเขาเองเสมอ คนลักษณ์ 2 จึงมักจะมีจุดอ่อนด้านการร้องขอความช่วยเหลือ การดูแลตนเอง และความรู้สึกไม่เป็นที่ต้องการ
เนื้อเพลงแทบทั้งเพลงของ Two พูดถึงการแสดงความรักอันยิ่งใหญ่ของคนลักษณ์ 2 และบางครั้งมันก็ยิ่งใหญ่จนเราเชื่อว่าผู้ฟังหลาย ๆ คนอาจจะอยากบอกคนในเพลงว่า รักตัวเองบ้างก็ได้ เพราะในเนื้อเพลงมีทั้งการบอกว่าเขาสามารถควักหัวใจยื่นให้อีกฝ่ายได้ ถ้ามันจะทำให้อีกฝ่ายมีชีวิตอยู่ต่อ หากอีกฝ่ายหายใจไม่ออก เขายอมแลกออกซิเจนจากลมหายใจเขาเพื่อทำให้อีกฝ่ายหายใจต่อไปได้
เนื้อเพลงที่แสดงออกถึงความรักและการเป็นผู้ให้จนอาจจะกลายเป็นการกัดกร่อนตัวตนของตัวเองทีละนิดนี้ อาจทำให้คนที่มักจะเสียสละให้คนอื่นเสมอได้เห็นภาพสิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่และฉุกคิดขึ้นมาว่าถึงเวลาที่ต้องรักตัวเองแล้ว ดังเช่นที่เนื้อเพลงบอกไว้ว่า “I just want to build you up ‘til you’re good as new and maybe one day I will get around to fixing myself (ฉันอยากดูแลเธอจนกว่าเธอจะดีเหมือนใหม่ และสักวันอาจเป็นฉันที่หันมาดูแลตัวเอง)” และ “I just want to learn how, somehow, to be loved myself (ฉันอยากเรียนรู้การได้เป็นที่รักเองบ้าง)”
“Three” เพื่อนักแสดง
คนลักษณ์ 3 คือคนที่ไขว่คว้าหาความสำเร็จ พวกเขาจึงพร้อมทำทุกสิ่งเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย การรักษาภาพลักษณ์และปรับเปลี่ยนตัวเองไปตามสถานการณ์จึงเป็นสิ่งที่คนลักษณ์นี้ให้ความสำคัญ แต่การต้องใส่หน้ากากและรับบทเป็นคนที่ตัวเองไม่ได้เป็นก็อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพใจของคนลักษณ์นี้เช่นกัน
การจะหลุดพ้นจากวังวนของการไล่ตามความสำเร็จได้ คริส ฮูเวิร์ตส์ ผู้เชี่ยวชาญด้าน Enneagram ที่ไรอันปรึกษาระหว่างการทำซีรีส์เพลงชุดนี้กล่าวว่า คนลักษณ์สามจะต้องรู้ว่าพวกเขา “ทำมามากพอแล้ว” ประโยคแรกของเพลง Three จึงเป็นคำว่า “Maybe I’ve done enough (บางทีฉันอาจทำมามากพอแล้ว)” ก่อนที่เนื้อเพลงจะค่อย ๆ พาคนลักษณ์ 3 ถอดหน้ากากออกทีละชั้น หน้ากากของการเป็นคนที่ไขว่คว้าหาความสำเร็จ “Maybe this trophy isn’t real love, and with or without it, I’m good enough (บางทีถ้วยรางวัลพวกนั้นอาจไม่ใช่รักแท้ และต่อให้จะมีหรือไม่มีมัน ฉันก็ดีพอแล้ว)” หน้ากากของการต้องสวมบทบาทเพื่อเป็นคนในแบบที่คนอื่น ๆ อยากให้เป็น “I finally see myself through the eyes of no one else, It’s so exhausting on this silver screen where I play the role of anyone but me (ในที่สุดฉันก็ได้เห็นตัวเองโดยไม่ผ่านสายตาคนอื่น มันเหนื่อยเหลือเกินที่ต้องรับบทเป็นทุกคนยกเว้นตัวเอง) ก่อนที่จะจบเพลงด้วยประโยคที่ว่า “Worthy of love anyway” หรือ “จะอย่างไรก็ควรค่าที่จะได้รับความรักอยู่ดี”
“Four” เพื่อคนอารมณ์อ่อนไหว
คนลักษณ์ 4 เป็นคนอารมณ์อ่อนไหวที่ชอบอยู่กับความเศร้าและมักจะแสดงออกอย่างซื่อตรงต่ออารมณ์ภายใน พวกเขาเป็นคนสร้างสรรค์ มีความเป็นศิลปิน และชอบแสวงหาอะไรที่ไม่เหมือนใคร จนบางครั้งก็อาจทำให้เผลอไผลไม่อยู่กับปัจจุบัน
ในเพลงนี้ ไรอันใช้เครื่องดนตรีที่มักจะใช้บรรเลงในเพลงคลาสสิกมาเป็นส่วนประกอบเพื่อแสดงให้เห็นถึงความละเอียดอ่อนของชาวลักษณ์ 4 แต่ขณะเดียวกัน เนื้อเพลงก็พูดถึงคนที่กำลังพยายามเสพและสร้างอารมณ์เศร้าที่อาจไม่มีอยู่จริง จนหลงลืมใช้ชีวิตจริง ๆ เหมือนประโยคที่ว่า “I’m stuck swimming in shadows down here. It’s been forever since I came up for air. Flashlight in hand determined to find authenticity only poetry could ever begin to try to describe. (ฉันว่ายวนในเงามืดข้างใต้นี้ หลายชั่วปีที่จะผุดขึ้นมาสูดอากาศเหนือน้ำ ถือไฟฉายพยายามหาความจริงแท้ที่มีเพียงกวีเท่านั้นที่จะเริ่มพยายามบรรยายมันได้)”
“Five” เพื่อนักสำรวจ
คนลักษณ์ 5 นั้นชอบสำรวจ สังเกตการณ์ เก็บข้อมูล และคิดวิเคราะห์ ทำให้ลักษณ์ 5 บางคนชอบเก็บตัวเพื่อจะได้คิดอะไรเพียงลำพังและทำให้พวกเขาขาดความสัมพันธ์กับคนอื่นไปในที่สุด
กว่า 2 นาทีที่อินโทรของเพลงนี้เป็นเพียงเสียงอันเคว้งคว้างของจักรวาล ราวกับว่าเรากำลังอยู่คนเดียวตามลำพังในที่ที่ไกลห่างออกไป ก่อนที่เนื้อร้องท่อนแรกจะเริ่มด้วยประโยคที่ว่า “I want to watch the universe expand (ฉันอยากเฝ้ามองจักรวาลขยายกว้างออกไป)” ซึ่งไรอันเลือกใช้คำว่า ‘watch’ เพราะอยากให้คนฟังได้รับรู้ความเป็น ‘นักสังเกตการณ์’ ของคนลักษณ์ 5 ก่อนที่เนื้อเพลงท่อนหนึ่งจะกล่าวว่า “It feels like and out-of-body experience (รู้สึกเหมือนวิญญาณออกจากร่าง)” เพราะเมื่อชาวลักษณ์ 5 จดจ่อกับอะไรไปนาน ๆ พวกเขาจะหลงลืมวันเวลาและจมดิ่งไปในความคิด ไรอันบอกว่าประสบการณ์เช่นนี้อาจเป็นได้ทั้งความรู้สึกในแง่บวกและลบสำหรับชาวลักษณ์ 5
แต่เนื้อเพลงหลังจากนั้นพูดถึงการจมดิ่งไปในความคิดมากขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งคนคนนั้นไม่อาจหยุดคิดได้ จนทำให้เขาต้องหันกลับมาทบทวนตัวเองอีกครั้งและพบว่า จักรวาลซึ่งเป็นดังตัวแทนความรู้และความเข้าใจของเขาอาจขยับขยายขึ้นได้ ไม่ใช่จากการเพ่งพิจารณาอยู่เพียงคนเดียว แต่คือการได้หยุดพักหายใจและร่วมส่งต่อความรู้และแบ่งปันความคิดให้คนอื่น ๆ
“Six” เพื่อผู้จงรักภักดี
คนลักษณ์ 6 ทำได้ดีในเรื่องของการวิเคราะห์สถานการณ์และรับมือกับสิ่งต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น เขาจะเป็นผู้ช่วยที่ดีให้กับผู้นำที่ดี ทว่า เพราะลักษณะของการเป็นผู้ช่วยที่ดีและการต้องคอยวางแผนสิ่งต่าง ๆ ไว้ล่วงหน้า ทำให้คนลักษณ์ 6 ต้องคิดถึงสถานการณ์เลวร้ายเพื่อจะได้เตรียมรับมืออยู่เสมอ จนอาจทำให้พวกเขากลายเป็นคนวิตกกังวลเกินกว่าเหตุในบางครั้ง
ไรอันเริ่มเพลงมาด้วยสถานการณ์จำลองว่าด้วยเรื่องราวของคนคนหนึ่งที่ฝันว่าตัวเขากำลังลอยไปบนสรวงสวรรค์ แต่สิ่งที่เขาทำกลับเป็นการก้มมองพื้นและเอาแต่คิดถึงสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้น กระทั่งตื่นขึ้นมาพร้อมกับความกังวล ก่อนที่จะบ่นว่าเขาเบื่อแค่ไหนที่ต้องใช้ชีวิตด้วยความกลัวอยู่เสมอ ดังเนื้อเพลงที่บอกว่า “I was floating to heaven but I could only look down. My mind was heavy running ragged with worst case scenarios, emergency exit’s and the distance below. I woke up so worried that the angels let go”
อย่างไรก็ตาม เนื้อเพลงของไรอันก็เต็มไปด้วยความเข้าอกเข้าใจชาวลักษณ์ 6 ที่มักจะเชื่อว่าพวกเขาสามารถเป็น “ที่ลี้ภัย” ให้คนอื่น ๆ ได้ เขาเข้าใจว่าความกลัวไม่อาจหายไปได้ แต่เขาก็อยากให้คนลักษณ์ 6 เชื่อว่า ยังมีแสงสว่างรออยู่แม้ในคืนอันมืดมิด และถึงแม้จะต้องเจอสถานการณ์เลวร้าย แต่เราแต่ละคนก็จะสามารถก้าวข้ามมันไปได้เสมอ
“Seven” เพื่อคนกระตือรือร้น
คนลักษณ์ 7 มักจะเป็นคนร่าเริง สนุกสนาน มีชีวิตชีวา ชอบความท้าทายและแสวงหาประสบการณ์ใหม่ ๆ อยู่เสมอ ทำให้พวกเขาเป็นคนเบื่อง่าย ไม่ชอบความซ้ำซากจำเจ และชอบการมีความสุขในระยะสั้น ๆ มากกว่าระยะยาว
เพลงนี้มีท่วงทำนองสนุกสนานซึ่งแตกต่างจากเพลงส่วนใหญ่ของไรอัน เนื้อเพลงในท่อนแรกคือคนคนหนึ่งที่ชักชวนคนอื่น ๆ ออกไปผจญภัยโดยไม่ต้องกลัวความเสี่ยงและอันตรายเพราะเขาโหยหาสิ่งใหม่ ๆ ที่เขาเองก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคืออะไร และเขาก็ใช้ชีวิตที่ผ่านมาไปกับการออกเดินทางโดยไม่หยุดอยู่กับร่องกับรอย กระทั่งเนื้อเพลงท่อน bridge ที่ชายคนนั้นเปลี่ยนใจและบอกว่า “But I want to be here, truly be here, to watch the ones that I love bloom (แต่ฉันอยากจะหยุดอยู่ที่นี่เพื่อเฝ้ามองคนที่ฉันรักผลิบาน)” เพราะบางครั้งประสบการณ์ใหม่ ๆ และความท้าทายที่เราแสวงหาอาจอยู่ในทุกความจำเจแสนธรรมดาของชีวิต เมื่อชีวิตก็เป็นสิ่งที่ไม่เคยหยุดนิ่งตั้งแต่แรกอยู่แล้ว
“Eight” เพื่อผู้นำ
คนลักษณ์ 8 เป็นคนที่มีความเป็นผู้นำ ดุดัน และมักจะแสดงออกแต่ด้านที่แข็งแกร่ง พวกเขาชอบที่จะช่วยเหลือและปกป้องผู้ที่อ่อนแอกว่า และชอบท้าชนความอยุติธรรม สิ่งที่ชาวลักษณ์ 8 กลัวที่สุดจึงเป็นความอ่อนแอและการแสดงความอ่อนแอให้คนอื่น ๆ เห็น และความดุดันของพวกเขาก็อาจทำให้เกิดความขุ่นข้องหมองใจกับคนอื่น ๆ รอบตัวอยู่บ่อยครั้ง
ไรอันเปิดเพลงนี้มาด้วยเสียงร้องคลอกับเมโลดีที่สั้น กระแทกกระทั้น และห้วน เพื่อแสดงออกถึงบุคลิกของคนลักษณ์ 8 เนื้อเพลงกล่าวถึงคนที่เชื่อว่าพวกเขาต้อง ‘สวมชุดเกราะ’ ตั้งแต่ยังเด็ก ต้องสูญเสียอะไรไปมากมายแต่จะไม่ยอมบอกใคร ต้องล้มแล้วลุกให้เร็ว เพราะพวกเขาอยากจะปกป้องคุ้มครองคนอื่น ๆ แต่พวกเขาจะไม่ยอมให้ใครได้เห็นความอ่อนแอของเขา
แต่เพลงในท่อนหลัง ๆ นั้นกลับพูดถึงการ ‘วางอาวุธลง’ และเผยความอ่อนแอในจิตใจ เมื่อเขาพบว่า เขาจะแข็งแกร่งขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อลดกำแพงลงให้คนอื่น ๆ ได้เป็นผู้มอบพลังให้พวกเขาบ้าง ผ่านเนื้อเพลงที่ว่า “I am strong, I’m strong, I am strong enough to let you in (ฉันเข้มแข็ง ฉันเข้มแข็ง เข้มแข็งมากพอที่จะเปิดใจให้เธอเข้ามา)” พร้อม ๆ กับท่วงทำนองที่ค่อย ๆ เปลี่ยนจากเมโลดีอันดุดัน สั้น ห้วน เป็นท่วงทำนองที่อ่อนหวานขึ้นจนจบเพลง
“Nine” เพื่อผู้รักสันติ
คนลักษณ์ 9 นั้นได้ชื่อว่าเป็นคนที่เป็นกันเองและรักสงบ พวกเขาไม่ชอบการทะเลาะวิวาทและมักจะรับหน้าที่เป็นผู้ประสานไมตรี แต่เพราะการรักความสงบนี่เองที่ทำให้หลาย ๆ ครั้ง คนลักษณ์ 9 ต้องคอยกดข่มความต้องการหรือแม้แต่ความคิดเห็นของตัวเอง และโน้มเอียงไปกับเสียงส่วนใหญ่แทน
“Who am I to say what any of this means. I have been sleepwalking since I was fourteen. (ฉันเป็นใครถึงมานิยามความหมายของสิ่งเหล่านี้ได้ ในเมื่อฉันเอาแต่เดินละเมอมาตั้งแต่อายุสิบสี่)” เพราะไรอันเป็นคนลักษณ์ 9 ที่ต้องมาแต่งเพลงสำหรับคนลักษณ์ 9 เอง เขาจึงเริ่มต้นด้วยประโยคที่แสดงถึงความไม่แน่ใจ ความคลางแคลงสงสัยในตัวเอง และการไม่กล้าแสดงความคิดเห็นของคนลักษณ์ 9 ก่อนที่เขาจะบอกผู้ฟังอย่างซื่อตรงว่าในการเขียนเพลงนี้เขาต้องย้อนรอยกลับไปมองชีวิตของตัวเองที่ผ่านพ้นมา แม้ว่าความจริงแล้วคงจะง่ายกว่าถ้าจะแกล้งลืม ๆ มันไป (Now as I write my song, I retrace my steps. Honestly, it’s easier to let myself forget.)
และเนื้อเพลงก็ได้บอกไว้ว่า หลังจากที่เขาย้อนกลับไปมองดูชีวิตตัวเองที่ผ่านพ้นมาแล้วจึงพบว่า ช่วงเวลาที่เขาได้เป็นตัวของตัวเองนั้นน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของชีวิตเขาเสียอีก ไรอันยังยอมรับในเนื้อเพลงด้วยว่า แม้การพยายามจะเข้าใจทุกฝ่ายซึ่งเป็นลักษณะเด่นของคนลักษณ์ 9 จะดูคล้ายการเข้าถึงใจ (empathy) แต่ที่จริงเขาก็เพียงพยายามหาตัวตนของตัวเองผ่านสายตาของคนอื่นเท่านั้น
ไรอันจึงแต่งเนื้อเพลงหลังจากนั้นออกมาในรูปแบบของประโยคคำสั่ง ราวกับว่าตัวตนภายในของเขาสั่งให้เขากล้าทำตามใจตัวเอง เป็นตัวของตัวเอง กล้าแสดงความเห็นของตัวเองสักที เพราะในชีวิตนี้ยังมีอีกหลายสิ่งให้รักและคุ้มค่าที่จะลุกขึ้นสู้เพื่อมัน
Stand up (ลุกขึ้น)
Fall in love again and again and again (ตกหลุมรักอีกครั้ง อีกครั้ง และอีกครั้ง)
Wage war on gravity (ต่อสู้กับสิ่งที่คอยฉุดรั้งเราไว้)
There’s so much worth fighting, you’ll see (แล้วคุณจะได้รู้ว่ายังมีอีกหลายสิ่งที่คุ้มค่าที่จะสู้เพื่อมัน)
ก่อนที่เพลงจะจบลง ด้วยถ้อยคำที่เป็นเหมือนบทสรุปของซีรีส์นี้ นั่นคือการเข้าใจคนอื่น และเข้าใจตัวเอง ผ่านเนื้อเพลงที่ร้องว่า
We were born to try to see each other through (เราต่างเกิดมาเพื่อพยายามมองให้ลึกถึงตัวตนของกันและกัน)
To know and love ourselves and others well is the most difficult and meaningful work we’ll ever do (การได้รู้จักและรักทั้งตัวเองและคนอื่น ๆ เป็นอย่างดีเป็นงานที่ยากแต่มีความหมายที่สุดที่เราได้ทำแล้ว)
อ้างอิง :
https://www.integrative9.com/media/articles/40/a-homage-to-sleeping-at-last
Writer
ปัญญาพร แจ่มวุฒิปรีชา
อย่ารู้จักเราเลย รู้จักแมวเราดีกว่า
illustrator
พรภวิษย์ เพ็งเอียด
ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม