ความสำเร็จของ Everything Everywhere All at Once กับวันที่ชาวเอเชียถูกมองเห็น
ความสำเร็จของ Everything Everywhere All at Once กับวันที่ชาวเอเชียถูกมองเห็น
- ออสการ์ปีนี้ เป็นปีที่น่าดีใจที่สุดสำหรับชาวเอเชีย เมื่อ Everything Everywhere All at Once หนังที่เปรียบเหมือนตัวแทนของชาวเอเชียนอเมริกันกวาดรางวัลมาได้ถึง 7 รางวัล รวมถึงรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมที่ มิเชล โหย่ว สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นชาวเอเชียคนแรกที่ได้รางวัลนี้
- ในอดีต ชาวเอเชียในฮอลลีวูดต้องประสบพบเจอกับการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ และแม้ในปัจจุบันที่การเลือกปฏิบัติลดลง นักแสดงชาวเอเชียก็ยังคงได้บทซ้ำ ๆ และจำเจ และยังไม่มีโอกาสได้รับบทนำในหนังมากนัก ผลสำรวจหนึ่งพบว่า จากหนัง 1,300 เรื่อง มีเพียง 3.4% เท่านั้นที่มีนักแสดงนำเป็นชาวเอเชียแปซิฟิก
- EVerything EVerywhere All at Once คือหนังที่เล่าเรื่องชาวเอเชียนอเมริกันจากมุมมองของชาวเอเชียนอเมริกันเอง ทลายกรอบบทบาทชาวเอเชียที่ฮอลลีวูดมักจะหยิบยื่นให้อย่างดาวยั่ว ตัวร้าย หรือปรมาจารย์กังฟู และยังเป็นเสมือนจดหมายรักจากผู้กำกับถึงแม่ชาวเอเชียที่อพยพไปอเมริกาทุกคนที่ต้องสำรวจและทำความเข้าใจดินแดนใหม่พร้อมกับทำความเข้าใจลูกที่เติบโตมาในวัฒนธรรมที่แตกต่าง ไม่ต่างอะไรจากเอเวอลิน ตัวละครหลักที่ต้องท่องจักรวาลหลากหลายจักรวาลเพื่อทำภารกิจกู้โลก
- ชัยชนะของ Everything Everywhere All at Once จึงอาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นของโอกาสที่มากขึ้นของชาวเอเชีย ซึ่งจะทำให้ชาวเอเชียมี “ตัวแทน” ในสื่อเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ในช่วงเทศกาลรางวัลของวงการภาพยนตร์ในปีนี้ ภาพที่เราประทับใจมากที่สุดคือภาพบรรดานักแสดงจาก Everything Everywhere All at Once ยกโขยงกันขึ้นไปรับรางวัลสมาคมนักแสดงภาพยนตร์และโทรทัศน์ (Screen Actors Guild Awards: SAG) ในสาขา Outstanding Performance by a Cast in a Motion Picture นักแสดงเกือบทุกคนเวียนกันเกริ่นนำจนครบ ก่อนจะยื่นไมค์ไปให้กับนักแสดงอาวุโสวัย 94 ปีอย่าง เจมส์ ฮง ที่เกิดในครอบครัวชาวฮ่องกงผู้อพยพมาอยู่อเมริกา เขาทำงานในวงการภาพยนตร์มา 70 ปี มีชื่ออยู่ในหนังกว่า 650 เรื่อง แต่นี่คือครั้งแรกที่เขาได้มายืนบนเวทีงานประกาศรางวัลใหญ่ ๆ เช่นเวทีนี้
ฮงเริ่มต้นกล่าวสุนทรพจน์ด้วยการพูดภาษากวางตุ้ง โดยมี มิเชล โหย่ว แปลเป็นภาษาอังกฤษให้ แต่แล้วเขาก็พูดภาษาอังกฤษว่า เขากล่าวทักทายเป็นภาษากวางตุ้งแบบนั้นเพราะเผื่อจะมีการถ่ายทอดสดการประกาศรางวัลนี้ในฮ่องกงด้วย
“ย้อนกลับไปสมัยนั้น ผมจะเล่าให้ฟังว่า มีหนังเรื่อง The Good Earth ที่นักแสดงนำคือคนที่ต้องเอาเทปแปะตาแล้วก็พูดแบบนี้ [เลียนแบบการพูดของดาราผิวขาวเวลาแสดงเป็นชาวเอเชีย] เพราะโปรดิวเซอร์บอกว่า คนเอเชียไม่ดีพอ และเราก็ไม่ใช่ดาราที่ทำเงินได้ แต่ดูพวกเราตอนนี้สิ เฮอะ!” ฮงกล่าวอย่างร่าเริง
ผ่านวันเวลามา 94 ปี กับประสบการณ์การทำงานในวงการฮอลลีวูด 70 ปี ฮงรู้ดีว่าการแบ่งแยกสีผิวในวงการฮอลลีวูดเมื่อหลายสิบปีก่อนนั้นรุนแรงแค่ไหน และแม้ในปัจจุบัน ชาวเอเชียจะมีพื้นที่ในวงการมากขึ้น แต่ก็คงไม่มีใครคิดว่าหนังที่เป็นเรื่องราวครอบครัวชาวเอเชียนอเมริกัน อำนวยการสร้างโดยชาวเอเชียนอเมริกัน หนึ่งในสองผู้กำกับคือชาวเอเชียนอเมริกัน และนักแสดงแทบทั้งหมดเป็นชาวเอเชียนอเมริกันจะเดินทางมาถึงจุดนี้ได้ท่ามกลางวงการที่เต็มไปด้วยคนขาวและชาวเอเชีย คือคนที่ถูกมองข้ามมาตลอด
ปัจจุบัน Everything Everywhere All at Once กลายเป็นภาพยนตร์ที่ทำเงินสูงที่สุดในค่าย A24 และชนะรางวัลมากที่สุดถึง 165 รางวัลจากสถาบันรางวัลใหญ่ ๆ ทำลายสถิติของ The Lord of the Rings: the Return of the King ที่เคยทำไว้ได้ที่ 101 รางวัล เพิ่งคว้ารางวัลทุกสาขาที่ได้เข้าชิงมาจากเวที SAG Awards และคว้ารางวัลออสการ์มา 7 สาขา จาก 11 รางวัลที่ได้เข้าชิง
มันอาจเคยเป็นแค่หนังเรื่องหนึ่ง แต่ในวันนี้ ความสำเร็จของ Everything Everywhere All at Once เป็นมากกว่านั้น มันไม่ใช่แค่หนัง แต่เป็นความหวังของชาวเอเชีย
อย่างที่ มิเชล โหย่ว กล่าวตอนที่เธอขึ้นไปรับรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์ซึ่งเธอถือเป็นนักแสดงเอเชียคนแรกที่ได้รางวัลนี้
“สำหรับเด็กหญิงและเด็กชายทุกคนที่ดูเหมือนฉันและกำลังรับชมอยู่ตอนนี้ นี่คือประกายแห่งหวังและความเป็นไปได้”
ดาวยั่ว ตัวร้าย นักบู๊ผู้เฉิดฉาย: ชาวเอเชียในสายตาฮอลลีวูด
“หากฉันตาย ป้ายหลุมศพฉันควรเขียนว่า “ฉันได้ตายมาแล้วหลายพันครั้ง เพราะนั่นคือเรื่องราวชีวิตในวงการบันเทิงของฉัน ส่วนใหญ่ฉันได้แสดงบทที่ลึกลับและเป็นปริศนา แล้วพอพวกเขาไม่รู้ว่าจะทำยังไงกับฉันในตอนจบ เขาก็ฆ่าฉัน” นักแสดงเอเชียในตำนานอย่าง แอนนา เมย์ หว่อง เคยกล่าวไว้ในปี 1959
ความจริงแล้วเคยมีชาวเอเชียหลายคนที่ประสบความสำเร็จและโด่งดังในฮอลลีวูด แต่นับตั้งแต่การเริ่มอพยพเข้ามาในสหรัฐอเมริกาของชาวจีนในศตวรรษที่ 18 ชายชาวเอเชียมักจะถูกมองว่าเป็นคนติดยาที่นำการค้าประเวณี การพนัน และกิจกรรมผิดกฎหมายเข้ามาในอเมริกา ในขณะที่หญิงเอเชียก็มักจะมีภาพลักษณ์ของดาวยั่วและตัวร้ายผู้เต็มไปด้วยเลศนัยไว้ใจไม่ได้
นักแสดงเอเชียที่เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จในฮอลลีวูดในยุคแรก ๆ ไม่ว่าจะเป็นแอนนา เมย์ หว่อง ซึ่งเป็นนักแสดงเอเชียคนแรก ๆ ที่โด่งดังในอเมริกาและเป็นนักแสดงหญิงชาวเอเชียคนแรกที่มี Hollywood Walk of Fame หรือ เซสซูเอะ ฮายาคาวะ นักแสดงชายชาวเอเชียคนแรกที่มีบทนำในภาพยนตร์ฮอลลีวูด ต่างก็เจอปัญหาได้รับบทซ้ำซากจำเจ หว่องมักจะได้รับบทเป็นหญิงเจ้าเล่ห์มีเงื่อนงำ ในขณะที่ฮายาคาวะเองก็มักจะได้บทดาวยั่วตัวร้ายไม่ต่างกัน
จนกระทั่งการมาถึงของ บรูซ ลี ที่เป็นทั้งพรและคำสาป ลีเริ่มมีชื่อเสียงจากซีรีส์ the Green Hornet ด้วยเชื่อว่าวัฒนธรรมจีนยังมีอะไรที่น่าสนใจอีกมาก ลีจึงนำเสนอโปรเจ็กต์ภาพยนตร์อย่าง the Silent Flute และ the Warrior ให้ Warner Bros. ทว่าแม้โปรเจ็กต์ดังกล่าวจะเป็นที่สนใจของค่ายหนัง ค่ายกลับเลือกนักแสดงผิวขาวมารับบทนักแสดงนำแทน ลีจึงกลับไปสร้างหนังที่ฮ่องกง ที่นั่น เขาได้ถ่ายทอดศิลปะการต่อสู้ลงไปในภาพยนตร์แบบที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ฮอลลีวูดจึงอ้าแขนรับเขาอีกครั้ง และทำให้หนังเรื่อง Enter the Dragon ที่ออกฉายในปี 1973 ของลีประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม
ภาพของชาวเอเชียที่เป็นดาวยั่วตัวร้ายจึงเจือจางลง แต่ก็แทนที่ด้วยภาพจำที่ว่า ชาวเอเชียทุกคนจะต้องเชี่ยวชาญด้านศิลปะการป้องกันตัว ภาพจำนั้นใช้เวลาเกือบ 20 ปีกว่าจะถูกทลายลงได้ด้วยความสำเร็จของ In the Mood for Love ที่กำกับโดย หว่อง ก๊า ไหว่ ผู้กำกับชาวฮ่องกง และ Crouching Tiger, Hidden Dragon ของ อัง ลี ผู้กำกับชาวไต้หวัน ที่ได้ไปเฉิดฉาายในเทศกาลหนังเมืองคานส์ ปี 2000
อย่างไรก็ดี ชาวเอเชียในฮอลลีวูดก็ยังต้องเผชิญการเหมารวมที่เกิดจากการเหยียดเชื้อชาติมาโดยตลอด นักแสดงหญิงชาวเอเชียหลาย ๆ คนยังคงได้รับบทหญิงสาวพราวเสน่ห์ผู้เต็มไปด้วยความลับดำมืด โรซาลิน เอส โจว นักวิชาการชาวเอเชียให้ความเห็นไว้ว่า การมอบบทบาทนี้ให้กับนักแสดงชาวเอเชียซ้ำ ๆ ยิ่งเป็นการทำให้ชาวเอเชียดูแปลกแยกและอาจจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ของคู่รักต่างเชื้อชาติในชีวิตจริง เพราะเราไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่า อีกฝ่ายเพียงแค่สนใจในตัวผู้หญิงเอเชียเพราะเห็นว่า “แปลก” เท่านั้นหรือรักเธอจริง ๆ
นอกจากภาพจำแบบเก่า ๆ แล้ว ยังมีภาพจำใหม่ที่คนขาวแปะป้ายให้ชาวเอเชีย ภาพนี้เรียกว่า ‘model minority’ หรือ คนกลุ่มน้อยผู้เป็นแบบอย่าง โดยเริ่มจากการใช้เรียกชาวญี่ปุ่น-อเมริกันที่ขยันขันแข็งและประสบความสำเร็จได้ในอเมริกา แต่ต่อมากลับกลายเป็นภาพจำที่ชาวตะวันตกมีต่อชาวเอเชียส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกอย่างจีน ญี่ปุ่น เกาหลี หรือชาวเอเชียใต้ ชาวเอเชียมักจะถูกมองว่าเป็นอัจฉริยะ หัวกะทิ และประสบความสำเร็จอยู่เสมอ ภาพลักษณ์นี้ถูกนำเสนอผ่านซีรีส์ดังหลายเรื่อง เช่น จอร์จ หวัง ใน Law & Order: SVU คริสตินา หยาง ใน Grey’s Anatomy หรือ อาร์ชี เกา ใน CSI
แม้การมองชาวเอเชียด้วยเลนส์คนกลุ่มน้อยผู้เป็นแบบอย่างของชาวตะวันตกฟังดูเป็นเรื่องดี แต่ Asian Americans Advancing Justice – Los Angeles องค์กรเรียกร้องความยุติธรรมให้ชาวเอเชีย กล่าวว่ามุมมองนี้จะทำให้นักการเมืองละเลยความต้องการและความขาดแคลนของชาวเอเชียในอเมริกาไป ส่วน ศาสตราจารย์สเตซี เจ ลี ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียนอเมริกัน ก็ให้ความเห็นว่า การยัดเยียดภาพลักษณ์นี้ให้ชาวเอเชียคือการเหมารวมที่จะทำให้ความไม่เท่าเทียมที่เกิดจากการเหยียดผิวไม่ถูกพูดถึง และลดทอนการประท้วงการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติของชาวเอเชียลงอีกด้วย
แต่หนึ่งในผลพวงของการเหยียดเชื้อชาติที่ชาวเอเชียในฮอลลีวูดต้องเจอและยังคงเจอมาโดยตลอดก็คือสิ่งที่เรียกว่า yellowface ซึ่งหมายถึงการคัดเลือกนักแสดงคนขาวมาแสดงบทของชาวเอเชียและใช้การแต่งหน้าทำให้ดูเป็นชาวเอเชียแทนการเลือกนักแสดงเอเชียมาแสดงในบทนั้นเอง และแม้ในปัจจุบัน yellowface จะเริ่มเลือนรางไปแล้ว แต่สิ่งที่เข้ามาแทนที่ก็คือการปรับบทให้ตัวละครกลายเป็นคนขาว เช่น เอ็มมา สโตน ใน Aloha ทิลดา สวินตัน ใน Dr. Strange และ สการ์เลต โจแฮนสัน ใน Ghost in the Shell ที่ตัวละครเป็นชาวเอเชีย แต่กลับปรับบทให้คนขาวมารับบทแทน
หลากจักรวาล หลายเรื่องราวของชาวเอเชีย
ก่อนการมาถึงของ Everything Everywhere All at Once ชาวเอเชียเคยสัมผัสความหวังเรืองรองของการมีที่ยืนในฮอลลีวูดจากภาพยนตร์อย่าง the Joy Luck Club หนังที่ดัดแปลงมาจากนิยายของ เอมี แทน ว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างลูกสาวชาวจีน-อเมริกันกับแม่ที่เป็นผู้อพยพชาวจีน แต่แล้วความหวังนั้นกลับริบหรี่ลงอีกครั้งเมื่อในวันนั้นลมยังไม่เปลี่ยนทิศ และฮอลลีวูดก็ยังคงเป็นฮอลลีวูดที่เต็มไปด้วยการแบ่งแยกอย่างที่พวกเขาเลยรู้จัก
ปี 2018 ภาพยนตร์อย่าง Crazy Rich Asians กลับมาเป็นความหวังของชาวเอเชียอีกครั้งเมื่อมันกลายเป็นหนังโรแมนติกคอมเมดีที่ทำเงินสูงสุดในรอบหลายปี ภาพยนตร์เรื่องนี้ดัดแปลงมาจากนิยายของ เควิน ควาน นักเขียนชาวเอเชียผู้เกิดและเติบโตในสิงคโปร์ อีกทั้งนักแสดงหลักในเรื่องต่างเป็นชาวเอเชียนอเมริกันทั้งหมด แต่ คาเรน เหลียง ศาสตราจารย์ด้านเอเชียนแปซิฟิกอเมริกันศึกษา เชื่อว่า Crazy Rich Asians ก็ยังคงนำเสนอภาพลักษณ์ชาวเอเชียออกมาแบบ model minority เพราะตัวละครหลักในหนังเป็นครอบครัวชนชั้นสูงและร่ำรวย ซึ่งอาจสร้างภาพจำผิด ๆ ให้กับวงการฮอลลีวูดและยิ่งไปการลบภาพอันหลากหลายของชาวเอเชียไป
เขยิบมาไม่กี่ปีก่อน ชาวเอเชียมีหนังอย่าง Minari หรือ Parasite รวมถึงภาพยนตร์ที่ชาวเอเชียมีส่วนร่วมหลัก ๆ ให้กล่าวถึงอยู่หลายเรื่อง เส้นทางไปสู่พื้นที่ของความหลากหลายที่เคยรกชัฏในฮอลลีวูดเริ่มถูกแผ้วถางทีละนิด
การมาถึงของหนังจักรวาลมัลติเวิร์สพลอตสุดล้ำอย่าง Everything Everywhere All at Once ที่มี โจนาธาน หวัง ชาวไต้หวัน-อเมริกันเป็นผู้อำนวยการสร้าง มีแดเนียล ไซเนิร์ทและแดเนียล กวาน ซึ่งคนหลังก็เป็นชาวเอเชียนอเมริกัน และมีนักแสดงหลักเป็นชาวเอเชียนอเมริกันแทบทั้งหมด จึงแตกต่างจากหนังเรื่องอื่น ๆ ตรงที่พวกเขามาในจังหวะที่ใช่ จังหวะที่ลมกำลังเปลี่ยนทิศ
Everything Everywhere All at Once เป็นเรื่องของ เอเวอลีน หวัง ชาวจีนที่อพยพมาอเมริกาและมาเปิดร้านซักรีดกับ เวย์มอนด์ สามีที่วางแผนจะหย่ากับเธอ เอเวอลีนมีความสัมพันธ์ที่ไม่ใคร่จะดีนักกับลูกสาวอย่าง จอย ที่เป็นเกย์และต้องการให้แม่ยอมรับในตัวตนของเธอ นอกจากเรื่องลูกสาวแล้ว เธอยังมีปัญหาเรื่องภาษีที่คาราคาซังมานานอีกด้วย
แต่แล้ววันหนึ่งเธอก็ได้เจอกับ เวย์มอนด์ จากจักรวาลอื่น เขามาแจ้งข่าวว่าที่จักรวาลอื่นกำลังมีภัยคุกคาม แต่ภัยคุกคามนั้นจะส่งผลต่อทุกจักรวาล มีแต่เพียงเธอเท่านั้นที่จะหยุดมันได้ เอเวอลินจึงได้มีโอกาสไปสำรวจหลากหลายจักรวาลซึ่งแตกแขนงออกมาจากเส้นทางที่เธอเลือกหรือไม่ได้เลือก เพื่อหยุดภัยคุกคามนั้น และขณะเดียวกัน ก็เพื่อเข้าใจความรู้สึกถูกทอดทิ้งของลูกสาว และเข้าใจปรัชญาการใช้ชีวิตของสามีที่เธอเคยดูถูกอยู่เสมอ
แค่เพียงทีมนักแสดงใน Everything Everywhere All at Once ก็ทำให้เห็นถึงความหลากหลายของชาวเอเชียแล้ว มิเชล โหย่ว ผู้รับบทเอเวอลีน เป็นชาวมาเลเซีย คี ฮุย ควน ผู้รับบทเป็นเวย์มอนด์ เป็นชาวเวียดนาม สเตฟานนี ซู ผู้รับบทเป็นจอย เป็นชาวจีนอเมริกัน ในขณะที่ เจมส์ ฮง ผู้รับบทเป็นอากง เป็นชาวฮ่องกงอเมริกัน และในหนังก็ยังมีการใช้ทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาจีนกลาง และภาษากวางตุ้ง ซึ่ง เจิน จาง ผู้อำนวยการศูนย์สื่อและภาพยนตร์เอเชียแห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก กล่าวว่า นี่เป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นว่า วัฒนธรรมและภาษาที่หลากหลายจริง ๆ นั้น แยกย่อยและซับซ้อนลึกไปกว่าภาพความหลากหลายที่ฮอลลีวูดพยายามนำเสนอเมื่อ 20 ปีก่อนซึ่งเป็นเพียงการเอาคนที่สีผิวต่างกันมาอยู่รวมกัน
นอกจากนั้นหนังยังทลายกรอบ model minority ด้วยการให้ ‘ครอบครัวหวัง’ เป็นครอบครัวสามัญธรรมดาที่เปิดกิจการซักรีด ไม่ใช่นักธุรกิจร่ำรวย ไม่ได้เป็นอาชีพยอดฮิตอย่างหมอ วิศวกร นักคณิตศาสตร์ หรืออาชีพอื่นที่ model minority ควรจะเป็น และยังนำเสนอหนึ่งในปัญหาหลักของชาวเอเชียที่อพยพมาอยู่อเมริกันอย่างการจ่ายภาษีออกมาได้ดีด้วย การเป็น ‘คนกลุ่มน้อย’ ในต่างแดนนั้น นอกจากจะต้องรับมือกับวัฒนธรรมที่แตกต่างแล้ว พวกเขายังต้องรับมือกับระบบและสถาบันที่ถูกกำหนดโดยคนที่ต่างวัฒนธรรมกับเขา ทั้งหัวหน้าครอบครัวที่อาจจะมีทักษะภาษาอังกฤษไม่ดีพอจะสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ ทั้งการอยู่รวมกันแบบครอบครัวใหญ่ของชาวเอเชียที่ทำให้การทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายยากขึ้น และปัญหาอื่น ๆ จากระบบภาษีที่ทำให้เห็นว่า สถาบันและบริการต่าง ๆ ในอเมริกาก็ยังไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับความหลากหลายอย่างแท้จริง
แต่สิ่งที่ทำให้ Everything Everywhere All at Once กลายเป็นหนังที่ครองใจชาวเอเชียหลาย ๆ คน คงเป็นการสำรวจปัญหาความสัมพันธ์ของแม่กับลูกที่ระหองระแหงเพราะความต่างวัยและความต่างทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่หนังฮอลลีวูดที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับชาวเอเชียยังไม่ค่อยได้พูดถึงนัก การผจญภัยไปจักรวาลต่าง ๆ ของเอเวอลิน เปรียบเหมือนการผจญภัยในดินแดนไม่เคยคุ้น กับวัฒนธรรมที่แตกต่าง มันคือจดหมายรักจากสองผู้กำกับถึงแม่ชาวเอเชียผู้อพยพไปอเมริกาทุกคนที่ต่างก็ต้องเรียนรู้ที่จะก้าวพ้นพื้นที่ของความสะดวกและความสบายใจของตัวเองเพื่อที่จะยอมรับในความซับซ้อนและแตกต่างหลากหลายของลูกที่เติบโตมาในสภาพแวดล้อม วัฒนธรรม และความคิดที่แตกต่างกัน
แดเนียล กวาน หนึ่งในสองผู้กำกับ ผู้มีแม่เป็นชาวไต้หวันและพ่อเป็นชาวฮ่องกง เล่าว่าตัวละครที่เป็นชาวจีนส่วนใหญ่นั้นมีแรงบันดาลใจมาจากผู้คนในชีวิตของเขา เขามีเพื่อนมากมายหลายคนที่เป็นเควียร์และรู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งส่วนใดในวัฒนธรรมปิตาธิปไตยที่ยังคงแข็งแรงในชุมชนชาวเอเชีย
“ถ้าคุณไปคุยกับลูก ๆ ที่เป็นเกย์และมีพ่อแม่เป็นผู้อพยพ คุณจะพบว่า การเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศกับพ่อแม่เป็นกระบวนการที่ไม่เหมือนใครเลย ถ้าพ่อแม่ชาวเอเชียไม่ชอบอะไร พวกเขาจะทำเป็นไม่สนใจมัน หลายครั้ง ลูก ๆ ของผู้อพยพที่เป็นเควียร์จะต้องเปิดเผยอัตลักษณ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ราวกับว่าพวกเขากำลังถูกฝังกลบไปช้า ๆ ถูกลบเลือนตัวตนไปช้า ๆ แทนที่จะเป็นการทะเลาะกันใหญ่โตแล้วไล่เขาออกจากบ้าน เขากลับต้องโดนบังคับให้อยู่กับพ่อแม่ที่ไม่ยอมรับพวกเขา และต้องทะเลาะเพื่อให้พ่อแม่ยอมรับรู้”
ยิ่งไปกว่านั้นการที่หนังมีหลายจักรวาล และนักแสดงต่างก็ต้องเล่นเป็นตัวละครหลากหลาย มิเชล โหย่ว นักแสดงนำนั้น ต้องรับบทเป็นทั้งเอเวอลินที่เป็นหญิงชาวจีนผู้อพยพมาอยู่อเมริกา เป็นทั้งเอเวอลินที่เชี่ยวชาญด้านกังฟู เป็นทั้งเอเวอลินในจักรวาลแรคคาคูนนี เป็นทั้งเอเวอลินในจักรวาลที่มีนิ้วเป็นไส้กรอก เป็นเอเวอลินในจักรวาลที่เธอได้เป็นดาราหนังชื่อดัง รวมไปถึงนักแสดงคนอื่น ๆ ที่ก็ได้แสดงหลายบทบาทไม่แพ้กัน ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าแท้จริงแล้วนักแสดงชาวเอเชียเป็นอะไรได้มากกว่าบทบาทจำเจที่ฮอลลีวูดป้อนให้ ชาวเอเชียไม่จำเป็นต้องเป็นดาวยั่ว ตัวร้าย หรือปรมาจารย์กังฟู เราจะเป็นคนที่มีนิ้วเป็นไส้กรอกก็ได้หากได้รับโอกาสให้เป็น
มากกว่าหนัง แต่คือประกายความหวังที่อาจนำไปสู่พื้นที่แห่งความหลากหลาย
“สำหรับเด็กหญิงและเด็กชายทุกคนที่ดูเหมือนฉันและกำลังรับชมอยู่ตอนนี้ นี่คือประกายแห่งหวังและความเป็นไปได้” มิเชล โหย่วกล่าวขณะขึ้นรับรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากเวทีออสการ์ เธอคือนักแสดงเอเชียคนแรกที่ได้รางวัลนี้
ที่จริงโหย่วไม่ใช่คนแรกเสียทีเดียว ก่อนหน้าเธอยังมี เมิร์ล โอเบอรอน นักแสดงหญิงที่มีเชื้อสายอินเดียและเมารี แต่เธอปกปิดเชื้อสายที่แท้จริงของตัวเองไว้ และเพิ่งจะถูกเปิดเผยก่อนที่เธอจะเสียชีวิตเพียงไม่นาน ดังนั้น มิเชล โหย่ว จึงเป็นนักแสดงเอเชียคนแรกที่ได้ออสการ์สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ที่เปิดเผยว่าตนเองเป็นคนเอเชียอย่างภาคภูมิ
หลังจากที่ Everything Everywhere All at Once เริ่มเป็นกระแสและได้เข้าชิงรางวัลมากมาย ในทุกเวทีที่ขึ้นรับรางวัล ในทุกการให้สัมภาษณ์ ทั้งโหย่วและคี สองนักแสดงที่โดดเด่นที่สุดในเรื่องมักจะกล่าวถึงความสำคัญของการมี “ตัวแทน” ของชาวเอเชียเสมอ
ผลการสำรวจของมหาวิทยาลัยเซาเธิร์นแคลิฟอร์เนียพบว่า จากหนัง 1,300 เรื่องที่เข้าฉายในปี 2007-2019 มีนักแสดงจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ได้รับบทที่มีบทพูดเพียง 5.9% เท่านั้น และหนังเพียง 3.4% หรือ 44 เรื่องที่มีนักแสดงจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในบทนำ หนังแค่ 2.5% ที่มีผู้อำนวยการสร้างเป็นชาวเอเชียแปซิฟิก และ 3.5% ที่มีผู้กำกับเป็นชาวเอเชียแปซิฟิก
อีกผลสำรวจจาก Leading Asian Americans to Unite for Change (LAAUNCH) และ The Asian American Foundation (TAAF) พบว่า จากการสอบถามชาวอเมริกันกว่า 5,000 คน กว่า 58% ที่ไม่สามารถระบุชื่อคนดังเชื้อสายเอเชียได้เลย
“เมื่อคุณไม่เห็นตัวคุณเองในทีวี และเมื่อเพื่อนร่วมงานของคุณที่ไม่ใช่คนเอเชียอเมริกันไม่เห็นคุณในทีวีหรือสื่อต่าง ๆ พวกเขาจะเชื่อว่าเราชาวเอเชียไม่มีตัวตน” อีริก โทดะ สมาชิก LAAUNCH และ TAAF ให้ความเห็นว่า การที่ชาวเอเชียถูกลบเลือนตัวตนไปจากที่ทำงานนั้นเป็นเรื่องที่พบได้บ่อย ๆ ทั้งจากเรื่องเล็กน้อยอย่างการเรียกชื่อผิด หรือการถูกมองข้ามเมื่อมีการพูดคุยเกี่ยวกับความหลากหลายและความเท่าเทียม “หลายครั้งในองค์กรต่าง ๆ เราจะไม่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มความหลากหลาย เช่น เมื่อมีการพูดถึงความหลากหลายในการจ้างงาน เขาก็มักจะสนใจคนผิวดำหรือน้ำตาลมากกว่า”
เชียลา ไอวี เทรสเตอร์ ประธานสมาคมนักแสดงแห่งสหรัฐอเมริกาประจำโคโลราโด และรองประธานคณะกรรมการสื่อเอเชียแปซิฟิกอเมริกัน เสริมถึงความสำคัญของการมีตัวแทนว่า “เมื่อเราไม่เห็นตัวเอง เราก็จะไม่เห็นภาพสะท้อนที่แท้จริงของสังคมอเมริกันและความเป็นมนุษย์ภายใต้เงื่อนไขที่เราได้บอกเล่าเรื่องของเราเอง เมื่อนั้นมันก็ง่ายที่คนอื่น ๆ จะมองเราเป็นเพียงวัตถุเท่านั้น”
คี ฮุย ควน นักแสดงชาวเวียดนามที่เพิ่งได้รางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์ในปีนี้ ก็ได้ให้สัมภาษณ์กับ GQ ไว้ว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เขาได้พบเจอนักแสดงเอเชียที่ทำงานในฮอลลีวูดหลายคน และทุกคนต่างก็ขอบคุณเขาจากการที่เขาเคยได้แสดงในหนังดังในวัยเด็ก
“เขามักจะขอบคุณผมและบอกว่า “มันดีจริง ๆ นะที่ได้เห็นคุณอยู่บนจอหนัง เพราะเราก็เหมือนได้เห็นตัวเองด้วย ขอบคุณที่กรุยทางให้เรามาอยู่ตรงนี้ได้” และที่น่าสนใจคือ พวกเขาเองก็กรุยทางให้การกลับมาของผม การกลับมาแสดงหนังของผมคือผลลัพธ์อันเกิดจากสิ่งที่พวกเขาขับเคลื่อนมาโดยตรงเลย มันช่วยพิสูจน์ว่า การมีตัวแทนในวงการบันเทิงนั้นสำคัญแค่ไหน ไม่ใช่แค่กับชาวเอเชีย แต่กับคนทุกกลุ่ม เพราะจนกว่าที่คุณจะเห็นตัวเอง จนกว่าคุณจะนึกภาพออก คุณจะไม่เชื่อหรอกว่าคุณเองก็ไปอยู่บนจอนั่นได้”
“โลกมันวิวัฒน์มาแล้ว และตลาดอื่น ๆ ก็เติบโตขึ้นด้วย ซึ่งมันก็เป็นเรื่องดีสำหรับฮอลลีวูด เพราะมันช่วยทำให้พวกเขาเห็นว่าพวกเขาเองก็ต้องวิวัฒน์พัฒนาและเป็นวงการที่ดีขึ้นด้วย” มิเชล โหย่ว ให้สัมภาษณ์กับ ELLE “ฉันคิดว่าชุมชนชาวเอเชียรู้สึกว่าไร้ตัวตนมานานเหลือเกิน แต่คลื่นลมแห่งการเปลี่ยนแปลงเริ่มขึ้นแล้ว มันอาจต้องใช้เวลา แต่ฉันก็ดีใจที่ได้เห็นมัน”
ความสำเร็จของ Everything Everywhere All at Once นั้นอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่เราจะได้เห็นตัวแทนชาวเอเชียในสื่อต่าง ๆ มากขึ้น ความเปลี่ยนแปลงอาจไม่ได้เกิดขึ้นแบบฉับพลันทันด่วน แต่แน่นอนว่าจากวันนี้ สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงเริ่มพัด และชาวเอเชียก็คงได้รับโอกาสมากขึ้น ในทุกสิ่ง ในทุกหน อย่างพร้อมเพียงกัน
อ้างอิง
https://www.theverge.com/23055066/everything-everywhere-all-at-once-life-death-taxes
https://www.bbc.com/news/world-asia-64820346
https://www.augustman.com/sg/culture/film-tv/complex-history-asian-representation-hollywood/
https://scrippsnews.com/stories/is-asian-representation-in-hollywood-finally-changing/
https://www.gq.com/story/ke-huy-quan-everything-everywhere-all-at-once
Writer
ปัญญาพร แจ่มวุฒิปรีชา
อย่ารู้จักเราเลย รู้จักแมวเราดีกว่า
illustrator
พรภวิษย์ เพ็งเอียด
ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม