Another Brick in the Wall Part II อิฐ “การศึกษา” ที่ก่อเป็นกำแพงปิดกั้นมนุษย์
Another Brick in the Wall Part II อิฐ “การศึกษา” ที่ก่อเป็นกำแพงปิดกั้นมนุษย์
- Another Brick in the Wall Part II ผลงานเพลงจากอัลบั้ม The Wall ของ Pink Floyd เป็นเพลงที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์ระบบการศึกษา ว่าลดทอนความเป็นมนุษย์ของเด็ก และเป็นเหมือนโรงงานเนื้อบดกระป๋อง
- คอนเซ็ปต์ของอัลบั้ม The Wall คือการสำรวจ “กำแพง” ที่คนเราก่อขึ้นเมื่อเกิดเรื่องร้ายแรงในชีวิต และระบบการศึกษาก็เป็นส่วนหนึ่งของก้อนอิฐที่ก่อกำแพงนั้น
- วอเตอร์สมองว่า Another Brick in the Wall Part II เป็นหนึ่งในเพลงที่ท้าทายอำนาจรัฐ และเรียกร้องให้ผู้คนลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง
ถูกครูดุเพราะถามคำถามในห้องเรียน ถูกครูกล้อนผมเพราะผมยาวเกินติ่งหู ถูกตีเพราะบอกว่าครูสอนผิด หรือถูกครูพูดใส่หน้าว่าชีวิตนี้ไม่มีวันได้ดี เหตุการณ์เหล่านี้น่าจะเป็นเหตุการณ์คลาสสิกที่หลายคนคงเคยเจอสมัยที่ยังเป็นนักเรียน และไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไร เหตุการณ์คล้ายกันนี้ก็ยังคงวนกลับมาฉายซ้ำๆ เพียงแต่เปลี่ยนตัวละครเป็นเด็กรุ่นใหม่ และกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีแผลใจไม่จบสิ้น
หากจะมีเพลงใดที่วิพากษ์ระบบการศึกษาที่คอยบั่นทอนการเติบโตของมนุษย์อย่างไม่รู้จบ เรานึกถึง Another Brick in the Wall Part II เพลงจังหวะดิสโกที่แต่งขึ้นในยุค 70s โดยโรเจอร์ วอเตอร์ส มือเบส นักร้อง และนักแต่งเพลงแห่งวงโปรเกรสซีฟร็อกชั้นแนวหน้าของอังกฤษอย่าง Pink Floyd
Another Brick in the Wall Part II เป็นเพลงที่ประสบความสำเร็จที่สุดในอัลบั้ม The Wall สตูดิโออัลบั้มลำดับที่ 7 ของ Pink Floyd ซึ่งเปิดตัวเมื่อปี 1979 โดยคอนเซ็ปต์ “The Wall” หรือกำแพง คือการสำรวจ “กำแพง” ที่ผู้คนสร้างขึ้นเพื่อปกป้องตัวเอง ซึ่งโรเจอร์ วอเตอร์ส เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “เมื่อไรก็ตามที่มีเรื่องราวร้ายๆ เกิดขึ้น เราก็จะก่ออิฐก้อนหนึ่งขึ้นมาเรื่อยๆ จนกลายเป็นกำแพง”
สำหรับวอเตอร์ส กำแพงของเขานั้นเริ่มก่อตัวขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก เมื่อพ่อของเขาจากไป ทิ้งให้เขาอยู่กับแม่ที่คอยปกป้องเขาจนเกินเหตุ และสภาพแวดล้อมในโรงเรียน ซึ่งนำไปสู่การเล่าเรื่องราวชีวิตของชายคนหนึ่งที่ชื่อ “พิงก์ ฟลอยด์” ผ่านเพลง Another Brick in the Wall จำนวน 3 ภาค และเพลงที่เชื่อมเรื่องราวอย่าง “The Happiest Days of Our Lives”
อิฐก้อนแรกๆ ของเด็กชาย Pink
แม้เราจะทราบกันดีถึงบทบาทของ Another Brick in the Wall Part II ที่เป็นเพลงที่ส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์การศึกษาในระบบ แต่ที่จริงแล้ว เป้าหมายสูงสุดของวอเตอร์สในการทำอัลบั้ม The Wall นี้ คือการเรียกร้องให้ผู้คนลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐและผู้มีอำนาจ ที่คอยกดทับและลดทอนความเป็นมนุษย์ของประชาชนอยู่ตลอดเวลา
Daddy’s flown across the ocean
Leaving just a memory
A snapshot in the family album
Daddy, what else did you leave for me?
Daddy, what’d ya leave behind for me?
All in all, it was just a brick in the wall
All in all, it was all just bricks in the wall
ตัวละครพิงก์เริ่มมีชีวิตในเพลง Another Brick in the Wall Part I ซึ่งว่าด้วยชีวิตวัยเด็กของพิงก์ ที่เริ่มก่อกำแพงล้อมรอบตัวเอง เพื่อป้องกันตัวเองจากความเจ็บปวดในชีวิต หนึ่งในนั้นคือการสูญเสียพ่อ ที่เข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่สอง ในฐานะพลเมืองที่ดีของรัฐ
เมื่อพิงก์เติบโตขึ้น เพลง The Happiest Days of Our Lives ที่มีความยาวไม่ถึง 2 นาที ได้พาผู้ฟังออกจากบ้านไปสำรวจชีวิตในโรงเรียนของพิงก์ โดยท่อนหนึ่งของเนื้อเพลงมีความหมายว่า “เมื่อเราเติบโตและไปโรงเรียน ก็จะมีครูประเภทหนึ่งที่คอยแต่จะทำร้ายเด็กทุกทางที่เป็นไปได้” พร้อมบอกเล่าเรื่องราวของครู ที่ถูกภรรยาใช้ความรุนแรง และส่งต่อความเกรี้ยวกราดของตัวเองมาที่เด็กในชั้นเรียน
Another Brick in the Wall Part II อิฐอีกก้อนที่ชื่อว่าโรงเรียน
ในบรรดาอิฐหลายก้อนที่พิงก์หยิบมาก่อเพื่อปกป้องตัวเองจากโลกอันโหดร้าย อิฐที่เรียกว่า “การศึกษา” น่าจะเป็นอิฐก้อนใหญ่ที่สุดทั้งของพิงก์และของวอเตอร์ส ซึ่งวอเตอร์สเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า
“โลกนี้ไม่มีใครรักการศึกษามากกว่าผม แต่การศึกษาที่ผมได้ผ่านพบมาในสมัยเป็นนักเรียนยุค 50s นั้นมีการควบคุมตีกรอบ และจำเป็นต้องถูกปฏิวัติ”
“ผมไม่ได้เหมารวมว่าครูทุกคนเป็นคนชั่วร้าย หรือครูที่โรงเรียนนั้นทั้งหมดเป็นคนไม่ดี ครูหลาย ๆ คนเป็นคนดีมาก ๆ แต่คนที่แย่ก็แย่มากๆ เหมือนกัน ครูบางคนที่โรงเรียนนั้นปฏิบัติตัวกับนักเรียนแย่อย่างไม่น่าเชื่อ เอาแต่ดูถูกและกดดันเด็กๆ ไม่เคยให้กำลังใจ หรือกระตุ้นให้พวกเขาทำอะไรนอกจาก ‘อยู่นิ่ง ๆ’ กับ ‘เงียบ ๆ’ และทุบตีพวกเขาให้อยู่ในรูปร่างที่ถูกต้องสำหรับการเข้ามหาวิทยาลัย”
เรื่องราวของพิงก์และเพลง Another Brick in the Wall Part II ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ขนาดสั้น เผยแพร่เมื่อปี 1982 พร้อมเพลงประกอบซึ่งเป็นผลงานของ Pink Floyd และกลายเป็นวิดีโอระดับขึ้นหิ้ง ด้วยภาพการเสียดสีระบบการศึกษาได้อย่างเจ็บแสบ จากบรรยากาศในห้องเรียน ที่ครูถากถางพิงก์ที่พยายามเขียนบทกวี พร้อมชี้ชวนให้นักเรียนคนอื่นๆ หัวเราะเยาะเย้ยพิงก์ ก่อนจะตัดภาพมาเป็นการเปรียบเปรยระบบการศึกษา ให้เป็นเหมือนโรงงานที่เด็กทุกคนต้องยืนนิ่งบนสายพาน นั่งนิ่งบนโต๊ะเรียนพร้อมสวมหน้ากากประหลาด และเคลื่อนที่ไปตามสายพาน จนหล่นลงในเครื่องบดเนื้อ กลายเป็นเนื้อบดและสูญสิ้นความเป็นมนุษย์ในที่สุด
ภาพโรงงานในจินตนาการ กลับมาเป็นภาพในโลกแห่งความเป็นจริง ที่เด็กๆ พยายามทุบทำลายห้องเรียนและเผาโรงเรียน แสดงถึงการลุกขึ้นมา “ปฏิวัติ” การศึกษาของเด็กๆ เพื่อไม่ให้ถูกครอบงำโดยอำนาจของผู้ใหญ่อีกต่อไป อย่างไรก็ตาม ภาพการลุกฮือของนักเรียนกลับเป็นเพียงภาพฝันของพิงก์ และกำแพงก็ยังคงเป็นกำแพงที่กั้นเขาไว้อยู่เหมือนเดิม
We don’t need no education
We don’t need no thought control
No dark sarcasm in the classroom
Teacher, leave them kids alone
ท่อนคอรัสของ Another Brick in the Wall Part II นี้ ทางวงใช้เด็กนักเรียน 23 คน อายุระหว่าง 13 – 15 ปี จากโรงเรียนในไอลิงตัน ประเทศอังกฤษ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับสตูดิโอ และอัดเสียงทับถึง 12 ครั้ง เพื่อให้มีเสียงเหมือนเด็กหลายคนร้องประสานเสียงกัน นอกจากนี้ ประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในหมู่แฟนเพลง คือประโยคที่ว่า “We don’t need no education” ซึ่งผิดหลักไวยากรณ์ เนื่องจากเป็นการปฏิเสธซ้อนปฏิเสธ จึงอาจตีความได้ว่า “เราต้องการการศึกษา” และการจงใจใช้ประโยคที่ผิดหลักไวยากรณ์อาจเป็นการสื่อถึงการวิพากษ์วิจารณ์คุณภาพของโรงเรียน รวมทั้งยังมีแฟนเพลงบางส่วนมองว่า ประโยคดังกล่าวอาจต้องการสื่อว่า เด็กๆ ไม่ได้ต้องการการศึกษาที่ควบคุมความคิดและลดทอนความเป็นมนุษย์ของเด็กเช่นนี้
ชีวิตของพิงก์เดินทางเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ใน Another Brick in the Wall Part Part III ที่ยังคงเป็นเพลงขนาดสั้น บอกเล่าเรื่องราวของพิงก์ที่เติบโตเป็นร็อกสตาร์ เสพยา และถูกภรรยานอกใจ เขาตัดพ้ออย่างสิ้นหวังว่าเขาไม่ต้องการสิ่งใดในชีวิตอีกแล้ว และภรรยาของเขาก็เป็นอิฐก้อนใหม่ที่เขาใช้ก่อกำแพงอีกครั้ง
และทั้งหมดในชีวิตของเขานั้นก็มีเพียงกำแพงอิฐอันหนาหนักและมืดมน
พิงก์ ฟลอยด์ ไทยในกำแพงอิฐ
แม้ปัจจุบันนี้ องค์ความรู้ด้านการดูแลและพัฒนาเด็กจะก้าวหน้ามากขึ้น แต่ “ชนชั้นเด็ก” ก็ยังคงเป็นจุดที่แทบจะต่ำสุดในวงจรการใช้อำนาจ พวกเขาถูกคาดหวังให้เป็นคนดี เรียนเก่ง มีหน้าที่การงานดี จากพ่อแม่ที่เคยถูกคาดหวังในเรื่องเดียวกัน พวกเขาถูกดุด่า ทำร้ายร่างกาย ละเมิดสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย จากครูที่ภาระงานหนักอึ้งจนไม่มีเวลาและจิตใจในการทำความเข้าใจเด็ก และใช้ไม้เรียวเป็นทางออกที่ง่ายและรวดเร็วที่สุด ที่จะทำให้เด็กทุกคนอยู่ในระเบียบวินัย ไม่แตกแถว
แต่หากจะมีอะไรที่ยุคของคนรุ่นใหม่แตกต่างจากยุคของพิงก์ ฟลอยด์ ก็อาจจะเป็นการที่ภาพฝันของพิงก์กลายมาเป็นความจริง เด็กจำนวนมากลุกขึ้นมาส่งเสียงตั้งคำถามกับโรงเรียน สังคม หรือแม้กระทั่งผู้มีอำนาจในรัฐ ท้าทายและทุบทำลายระบบอำนาจนิยม แม้ว่าจะถูกปราบปรามอย่างรุนแรง ถูกกักขัง หรือต้องแลกด้วยชีวิต ไฟแห่งความหวังกลับยังคงเปล่งประกาย
และทั้งหมดที่พวกเขาทำไป ก็เพียงเพื่อไม่ต้องมีใครก่ออิฐเพื่อปกป้องตัวเองจากโลกอีกต่อไป
ที่มา
https://www.songfacts.com/facts/pink-floyd/another-brick-in-the-wall-part-ii
https://www.facebook.com/thepeoplecoofficial/photos/a.1040280779477779/1725967320909118/?type=3
Writer
ณัฐธยาน์ ลิขิตเดชาโรจน์
บรรณาธิการและแม่ลูกหนึ่ง ผู้เรียนรู้ความเป็นมนุษย์ผ่านการเติบโตของลูกชาย มีหนังสือและเพลงเมทัลร็อกเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ และมีชีวิตอยู่ได้ด้วยกาแฟและขนมทุกชนิด
illustrator
อุษา แม้นศิริ
มนุษย์กราฟิกผู้ชื่นชอบงานภาพประกอบ สีฟ้า ดนตรี และมีนกน้อยสองตัวเป็นของตัวเอง