“ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของผู้เรียน” กฎหมายฉบับแรกของนักเรียน โดยนักเรียน เพื่อนักเรียน

“ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของผู้เรียน” กฎหมายฉบับแรกของนักเรียน โดยนักเรียน เพื่อนักเรียน

  • ทำความรู้จักร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของผู้เรียนที่จุดประสงค์สำคัญคือการรื้อถอนระบอบอำนาจนิยม
  • 3 หมวดสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้แก่ 1.สิทธิมนุษยชนของผู้เรียน 2.สภาพแวดล้อมและสวัสดิภาพ และ 3.การมีส่วนร่วมของผู้เรียน
  • มีกฎหมายหลายฉบับถูกร่างขึ้นเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของเด็ก เพื่อบังคับใช้กับเด็กแต่ไม่มีฉบับไหนเลยที่เด็กได้ร่างเองจริงๆ นี่จึงถือเป็นกฎหมายฉบับแรกของนักเรียน โดยนักเรียนและเพื่อนักเรียน

“สิ่งที่ทำให้ต้องมายืนอยู่ตรงนี้ มาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของผู้เรียนก็เพราะว่าสิทธิมนุษยชนมันไม่เบ่งบานในสถานศึกษา มันถูกลิดรอนมาโดยตลอด”

‘มิน’ ระพงษ์พัท หวังไพสิทธิ์ หนึ่งในสมาชิกนักเรียนเลว ผู้ร่วมร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของผู้เรียน ที่อยากขับเคลื่อนระบบการศึกษาไทยให้ไปไกลกว่าการถูกครอบงำจากระบอบอำนาจนิยม พูดถึงเจตนารมณ์ของการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมรื้อถอนระบอบอำนาจนิยม ที่จัดโดยกลุ่มนักเรียนเลว เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา 

‘มิน’ ระพงษ์พัท หวังไพสิทธิ์

มินให้ความเห็นต่อว่าระบอบอำนาจนิยมในระบบการศึกษาไทยในปัจจุบันสอนให้นักเรียนเคยชินจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ไม่รู้ตัวว่ากำลังถูกละเมิดสิทธิ เสรีภาพในการเลือกตัดสินใจ และเมื่อเติบโตเข้าสู่สังคมก็จะเฉยชากับระบอบอำนาจนิยม ยอมก้มหัวให้กับการถูกกดขี่จากชนชั้นปกครอง

ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของผู้เรียน เกิดขึ้นภายใต้ข้อเท็จจริงที่ว่าระบบการศึกษาไทยมีนักเรียนหลายคนถูกละเมิดสิทธิ เสรีภาพ ทั้งสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย การแต่งหน้า การแต่งตัว การเลือกทรงผม สิทธิในการแสดงออกทางความคิด และอีกหลายต่อหลายสิทธิที่ถูกละเมิดจากสถานศึกษาตั้งแต่หัวจรดเท้าสอดแทรกอยู่ในทุกแขนงการเรียนรู้ในรั้วโรงเรียนจนถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติ

5,347 คือตัวเลขที่นักเรียนถูกละเมิดสิทธิ เสรีภาพจากสถานศึกษามาโดยตลอดหนึ่งปี เปิดเผยโดย ‘แบม’ ธัญชนก คภชรินทร์ หนึ่งในสมาชิกนักเรียนเลว ผู้ร่วมร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของผู้เรียน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวคือจำนวนที่การร้องเรียนไปยังเพจเฟซบุ๊ก นักเรียนเลว ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนประเด็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสถานศึกษา 

ตัวเลขเหล่านี้เป็นเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้นจากเด็กๆ และเยาวชนที่รู้ตัวว่าตนกำลังถูกละเมิดสิทธิ เสรีภาพในรั้วโรงเรียนแต่ยังมีนักเรียนอีกหลายคนที่ไม่กล้าออกมาเรียกร้องให้กับตัวเองแม้จะรู้ตัวว่ากำลังถูกละเมิดสิทธิเพราะถูกนโยบายโรงเรียนหรือระบบการศึกษาภายใต้ระบอบอำนาจนิยมครอบงำไว้ 

“พ.ร.บ.การศึกษา กฎหมายคุ้มครองเด็ก หรือกฎหมายกี่ฉบับที่รัฐบาลกำหนดใช้กับนักเรียน มีสักกี่ฉบับที่สามารถปกป้องสิทธิของเด็กได้จริงๆ ไม่มีเลย” แบม กล่าว

แบม ให้ข้อมูลต่ออีกว่า มีกฎหมายหลายฉบับถูกร่างขึ้นเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของเด็ก เพื่อบังคับใช้กับเด็กแต่ไม่มีฉบับไหนที่เด็กได้ร่างเองเลยจริงๆ 

‘แบม’ ธัญชนก คภชรินทร์

พ.ร.บ.ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของผู้เรียนจึงเป็นพ.ร.บ.ฉบับแรกที่ถูกร่างขึ้นโดยนักเรียนผู้เป็นประชาชนของสังคม เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิมนุษยชนที่นักเรียนทั่วประเทศควรได้รับ เพื่อให้มีสิทธิและศักดิ์ศรีเทียบเท่าและก้าวทันหลักสิทธมนุษยชนในระดับสากล

เมื่อสิทธิมนุษยชนในโรงเรียนยังถูกลิดรอน ความรุนแรงในสถานศึกษาจึงเป็นเรื่องที่ต้องพูดถึง 

“ความรุนแรงในโรงเรียน.. ไปต่อหรือพอแค่นี้?” คือชื่อวงเสวนาที่จัดโดยกลุ่ม นักเรียนเลว  ที่อยากรื้อถอนระบอบอำนาจในระบบการศึกษาไทย โดยมีวิทยากรผู้ร่วมการสนทนา ได้แก่ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อดีตอาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,ดุจดาว วัฒนปกรณ์ นักจิตบำบัดและผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสาร,ธนวรรธน์ สุวรรณปาล ตัวแทนกลุ่มครูขอสอน,กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า และ มิรา เวฬุภาค CEO และ Founder mappa

“การใช้ความรุนแรง การละเมิดสิทธิมนุษยชนจะกลับมาวนลูปอีกครั้ง ถ้าเรายังไม่เปิดการยอมรับความคิดเห็นของเด็กนักเรียน” เริ่มต้นด้วย ศ.ดร. สมพงษ์ จิตระดับ

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ

อ.สมพงษ์ ให้ความเห็นว่าการศึกษาไทยนั้นควรไปต่อและร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ที่ถูกร่างโดยนักเรียนจะเป็นก้าวย่างที่สำคัญและสามารถเป็นเวทีเปิดโอกาสให้เด็กและผู้ใหญ่ได้ทำความเข้าใจร่วมกันถึงสิทธิมนุษยชนของผู้เรียนที่ควรจะเกิดขึ้นในสังคมไทย

“อะไรคือความปกติในเรื่องของการละเมิดสิทธิ เมื่อหลายๆ ครั้งคนในสังคมยังมีชุดความคิดที่ว่า ‘รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี’ เป็นความปกติ ชุดความคิดพื้นฐานเหล่านี้ควรเกิดการถกเถียงจนเกิดฉันทามติว่าที่สุดแล้วในการพัฒนาเด็กหนึ่งคน เราจะใช้วิธีการแบบไหนเพื่อให้เขาไปถึงเป้าหมายปลายทางที่ควรจะเป็น” คำถามจาก กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ 

กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ

กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า เสริมอีกว่า ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของผู้เรียนนี้ควรเป็นประเด็นสำคัญที่ถูกพูดถึงในสังคม และสร้างฉันทามติร่วมกันให้เกิดการยอมรับในระดับสากล เพราะเด็กคือมนุษย์หนึ่งคนที่ควรได้รับสิทธิที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด โดยผู้ใหญ่มีหน้าที่ดูแลปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้เกิดกับตัวเด็กในทุกบริบทของชีวิต

แล้วอะไรคือสิทธิที่นักเรียนพึงจะได้รับจากร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของผู้เรียน

หมวดที่ 1 สิทธิมนุษยชนของผู้เรียน

ประชาชนหนึ่งคนนอกรั้วโรงเรียนมีสิทธิ เสรีภาพที่ติดตัวมาแต่กำเนิดแต่กลับถูกลิดรอนสิทธิ เสรีภาพในรั้วโรงเรียน และเป็นเพียงเด็กหนึ่งคนที่ต้องทำตามคำสั่ง 

โดยอาจลืมไปว่า เด็กก็คือประชาชนคนหนึ่ง 

“คิดต่างหลากหลายได้แต่ต้องตรงกับคำตอบของครู การตีกรอบแบบนี้ ทำให้คำว่าสิทธิมนุษยชนเข้าไปในระบบการศึกษาได้ยาก”

อ.สมพงษ์ ชี้อีกว่าสิ่งหนึ่งที่ระบบการศึกษาไทยนั้นยังขาดคือการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงความเห็นหรือคิดต่างไปจากกรอบเดิมที่มี ระบอบอำนาจนิยมในระบบการศึกษาไทยทำให้เห็นว่าอำนาจนั้นรวมศูยน์อยู่ที่ตัวครูหรือระบบ แต่ไม่ถูกกระจายอำนาจให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมหรือมีความคิดเป็นของตัวเอง

ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของผู้เรียน ในหมวดที่หนึ่งจึงได้ร่างไว้ประกันสิทธิที่นักเรียนสมควรได้รับไม่ว่าจะเป็นสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย สิทธิในทรัพย์สิน สิทธิในการแสดงออก สิทธิในการคุ้มครองความปลอดภัยทั้งสภาพร่างกายและจิตใจเพื่อป้องกันทั้งการละเมิดสิทธิ เสรีภาพและความรุนแรงที่นักเรียนต้องเจอในสถานศึกษา

หมวดที่ 2 สภาพแวดล้อมและสวัสดิภาพ

“โรงเรียนไม่อนุญาตให้เราทำผิด โรงเรียนควรเป็นที่ที่ให้เราเรียนรู้ได้ การเรียนรู้เกิดจากการทดลอง ได้ลองผิดลองถูก กล้าที่จะทำอะไรที่ไม่รู้ อำนาจนิยมในตัวครูและระบบการศึกษาในประเทศนี้ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกว่าเรามีพื้นที่ที่จะได้ทำอะไรใหม่ๆ ” แบม กล่าว

เมื่อโรงเรียนควรเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ เป็นพื้นที่แห่งการได้ทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ กลับทำให้นักเรียนรู้สึกไม่ปลอดภัย และสร้างความอึดอัดให้กับนักเรียน ทำให้นักเรียนหลายคนไม่ชอบการไปโรงเรียน ไม่กล้าจะลงมือทำอะไรที่แตกต่าง การค้นพบตนเองหรือการเป็นตัวของตัวเองของเด็กไทยจึงไปได้ไม่ไกลเท่าที่ควรจะเป็น

“ถ้าเกิดมีความรุนแรงหรือพื้นที่ระหว่างการเรียนรู้ในระหว่างที่เขาเติบโต ความไม่ปลอดภัยที่เกิดขึ้นมันไม่ได้กระทบแค่การเรียนรู้หรือความคิดสร้างสรรค์ แต่มันกระทบไปทั้งชีวิต ทั้งด้านจิตใจ อารมณ์ บางทีความรุนแรงมันทำงานในรูปแบบของการไปขัดขวางพัฒนาการทางอารมณ์ และอีกหลายมิติที่เขาเติบโตขึ้นมันกระเทือนไปทั้งระบบสุขภาวะของมนุษย์ซึ่งเป็นทรัพยากรของประเทศ” ผลกระทบในความเห็นจากนักจิตบำบัดอย่าง ดุจดาว 

ดุจดาว วัฒนปกรณ์

ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของผู้เรียนในหมวดที่สองจึงเป็นหลักประกันว่านักเรียนจะต้องได้รับความปลอดภัยจากสถานศึกษา พร้อมทั้งได้รับความสะดวก เหมาะสมต่อการเรียนรู้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ มีสิทธิเลือกที่จะทำกิจกรรมภายในโรงเรียนได้ตามความต้องการ และมีสิทธิในการได้รับเวลาพักผ่อนอย่างเพียงพอ ไม่รบกวนพัฒนาการที่ดีของการเจริญเติบโต รวมถึงมีสิทธิที่จะได้รับความยุติธรรมจากกระบวนการพิจารณาความผิดที่เกิดขึ้นภายในโรงเรียนตามสมควร ไม่เกินกว่าเหตุ

หมวดที่ 3 การมีส่วนร่วมของผู้เรียน

“กฎหมายของกระทรวงศึกษาธิการล้วนแต่ร่างโดยรัฐบาลมาตลอด นักเรียนที่เป็นผู้ถูกบังคับใช้ ผู้ต้องตัดทรงผมตามระเบียบกลับไม่ได้แสดงความคิดเห็นหรือร่วมออกแบบใดๆ” ประโยคนี้จาก ‘ฟิล์ด’ พีรพล ระเวกโสม หนึ่งในสมาชิกนักเรียนเลว ผู้ร่วมร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของผู้เรียน

‘ฟิล์ด’ พีรพล ระเวกโสม

กฎหมายที่ร่างขึ้นเพื่อนักเรียนแต่กลับไม่มีนักเรียนเป็นผู้ร่วมกำหนดกฎเกณฑ์ นักเรียนจึงไม่เห็นความสำคัญว่าตนต้องทำตามสิ่งที่ไม่ได้เป็นคนเลือกตัดสินใจเอง

“ถ้าอยากให้เด็กมี สมรรถนะของผู้เรียนจริง ๆ คิดวิเคราะห์เองได้ เด็กคือเจ้าของการเรียนรู้ ต้องมีอำนาจภายในตัวเอง โรงเรียนต้องเป็นพื้นที่พูดคุยได้ เกิดการแชร์ได้ เกิดการทำความเข้าใจได้ว่าสิ่งที่กำหนดกฏเกณฑ์มามันเป็นเพราะอะไร” มุมมองฝั่งพ่อแม่จาก มิรา 

เมื่อส่งลูกไปโรงเรียนสิ่งหนึ่งที่พ่อแม่หวังคือเด็กได้เป็นเจ้าของการเรียนรู้ เติบโตเองได้ และมีอำนาจในตัวเองสามารถเลือกได้ว่าสิ่งที่อยากเรียนคืออะไร 

“แต่การศึกษาไทยไม่เปิดโอกาสนั้น ไม่เปิดโอกาสให้เด็กได้เลือกหรือตั้งคำถามหรือพูดคุยแต่ถูกสอนให้เชื่อ ยอมรับ และทำตามคำสั่ง ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นกับเด็กๆ” มิรา ชี้ปัญหา 

มิรา เวฬุภาค

หากปราศจากการมีส่วนร่วมและระบบการศึกษาไม่ให้ความสำคัญต่อตัวผู้เรียนได้ร่วมแสดงออกทางความคิดเห็นใด ก็ไม่ต่างอะไรกับการปลูกฝังเด็กให้เมินเฉยต่อสิทธิ เสรีภาพที่ตนมี ไม่เกิดความเข้าใจในสิทธิมนุษยชนอย่างถ่องแท้ และถูกระบบการศึกษาที่ครอบงำด้วยระบอบอำนาจนิยมกักขังความเป็นอิสระนั้นไว้

“วัฒนธรรมที่ลอยนวลพ้นผิดทำให้ความรุนแรงยังคงเกิดขึ้น เด็กเมื่อถูกทำร้ายร่างกาย ใครจะต้องเป็นผู้รับผิดรับชอบและจะต้องรับผิดรับชอบอย่างไร” ธนวรรธน์ สุวรรณปาล ตัวแทนกลุ่มครูขอสอน ตั้งคำถาม

‘ครูทิว’ ธนวรรธน์ สุวรรณปาล

หมวดที่สามในร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของผู้เรียนจึงเป็นหลักประกันว่าสถานศึกษาจะต้องส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในโรงเรียน ทั้งจัดให้ผู้สอนให้ความสำคัญต่อสิทธิมนุษยชนของนักเรียน เปิดโอกาสให้นักเรียนได้มีส่วนร่วม สมาคมหรือชุมนุมภายในสถานศึกษาได้อย่างเหมาะสม ไม่กีดกันการแสดงออกภายในสถานศึกษา

“เราคือหนึ่งในภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก แต่ในโรงเรียนที่ใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุดกลับลิดรอนสิทธิ เสรีภาพของเด็กเสียเอง” ฟิล์ด กล่าว

ฟิล์ด ยังให้ความเห็นอีกว่า อำนาจนิยมที่ก่อตัวในรั้วโรงเรียนทำให้เด็กหลายคนต่างรู้สึกไม่ปลอดภัย และไม่มีโอกาสในการมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น ไม่กล้าที่จะยกมือถามคำถามเพราะกลัวครูด่าว่าไม่ตั้งใจเรียน แม้แต่กฎหมายที่ถูกตราขึ้นเพื่อนักเรียนแต่นักเรียนกลับไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่างกฎหมายนั้นขึ้นมาเลย ทั้งที่จริงนักเรียนควรมีส่วนร่วมในการกำหนดบ้าง ไม่ใช่จากรัฐบาลฝ่ายเดียว

อำนาจนิยมเป็นบ่อเกิดและสะสมความรุนแรงในระบบการศึกษามาเป็นระยะเวลานาน โรงเรียนควรเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ เปิดโอกาสให้เด็กได้มีพัฒนาการอย่างเต็มที่ ไม่ควรเป็นที่แห่งการบ่มเพาะระบอบอำนาจนิยม พ.ร.บ.ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของผู้เรียนจึงร่างขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันสิทธิมนุษยชนของผู้เรียนที่ไม่ควรถูกละเมิดสถานศึกษา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรื้อถอนระบอบอำนาจนิยมกับร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของผู้เรียนได้ที่ www.badstudent.co

Writer
Avatar photo
เพชรดี จันทร์ธิมา

นักศึกษาฝึกงานที่กำลังค้นหาความหมายของชีวิต ชอบท้องฟ้า และเชื่อว่าโลกนี้คือพื้นที่แห่งการเรียนรู้

illustrator
Avatar photo
กรกนก สุเทศ

เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง

Related Posts

Related Posts