“การศึกษาไทยตอนนี้ ไม่ใช่เดินตามหลัง แต่กำลังเดินหลงทาง” เปิด #งบประมาณ2567 การศึกษาไทย ที่ยังคงมีปัญหาเรื่องการจัดสรรปันส่วนและลำดับความสำคัญ

“การศึกษาไทยตอนนี้ ไม่ใช่เดินตามหลัง แต่กำลังเดินหลงทาง” เปิด #งบประมาณ2567 การศึกษาไทย ที่ยังคงมีปัญหาเรื่องการจัดสรรปันส่วนและลำดับความสำคัญ

ช่วงบ่ายของวันศุกร์ที่ผ่านมา (5 มกราคม 2566) ที่ประชุมรัฐสภาได้มีการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เป็นวันสุดท้าย ซึ่งหนึ่งในนั้นมีประเด็นสำคัญอย่างเรื่องของ ‘งบประมาณด้านการศึกษา’ ของกระทรวงศึกษาธิการไทย ที่มีการตัดลดงบฯ บางส่วน และมีการจัดสรรปันส่วนงบประมาณผิดที่ผิดทาง ไม่ตรงกับวิกฤตการศึกษาที่สังคมเผชิญอยู่

พริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ได้เริ่มอภิปรายโดยการหยิบยกการจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาดังกล่าวเพื่อฉายภาพว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังคงเผชิญหน้ากับวิกฤตการศึกษาใหญ่ๆ ถึง 3 ด้าน ได้แก่

1. จากผลการสอบวัดผลสมรรถนะนักเรียนตามมาตรฐานสากล (PISA) เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา พบว่าเด็กไทยมีคะแนนต่ำสุดในรอบ 20 ปี ทั้งยังลดลงและห่างจากค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศในองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) มากขึ้น

2. ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการเข้าถึง ‘โอกาส’ ในการศึกษา และเด็กส่วนใหญ่ของประเทศยังอยู่ในกลุ่มที่ถูกประเมินว่ายัง ‘ขาดทักษะ’ ในการนำความรู้มาใช้งานในชีวิตจริง

3. เด็กไทยไม่มีความสุขในโรงเรียนเพราะความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ ทั้งในแง่สุขภาพกายและสุขภาพจิตใจ ทั้งยังพบว่า 3 ใน 10 ของเด็กไทยต้องอดอาหาร 1 ครั้งต่อสัปดาห์เพราะไม่มีเงินซื้ออาหาร และบางส่วนรู้สึก ‘ไม่ปลอดภัย’ เมื่อต้องไปโรงเรียน

“ปัญหาที่ก่อให้เกิดวิกฤตเหล่านี้ ไม่ได้มาจาก ‘ปริมาณทรัพยากร’ แต่อยู่ที่ ‘ประสิทธิภาพ’ ในการจัดสรรทรัพยากร” โฆษกพรรคก้าวไกลกล่าวย้ำเพิ่มเติม ก่อนจะเสนอถึง ‘ทางออก’ ด้วยการพิจารณาจัดสรรงบประมาณในส่วนต่างๆ เสียใหม่ ซึ่งไม่ใช่แค่การเพิ่มงบประมาณไปเสียทั้งหมด แต่เน้นไปที่การจัดสรรปันส่วนในงบประมาณเหล่านั้นให้เหมาะสมกับวิกฤตที่กำลังเผชิญ

“เหมือนกับคนที่มีปัญหาหัวใจ จะให้เลือดเขาเพิ่มแค่ไหนก็ไม่สามารถช่วยชีวิตเขาได้ หากเราไม่ผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ วันนี้เราจึงต้องผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจที่ชื่องบประมาณการศึกษา โดยแบ่งออกเป็น 4 ห้องตามประเภทการใช้จ่าย”

หัวใจ 4 ห้อง จัดสรรปันส่วนงบประมาณการศึกษาเสียใหม่

ห้องที่ 1 งบบุคลากร อันหมายถึงครอบคลุมค่าตอบแทนของครูและบุคลากรในโรงเรียนทั่วประเทศ รวมถึงหน่วยงานต่างๆ (คิดเป็น 64%)

ห้องที่ 2 เงินอุดหนุนนักเรียน ด้วยโครงการเรียนฟรี 15 ปี และเงินอุดหนุนผู้ปกครองผ่านกองทุนความเสมอภาคทางการศึกษา (คิดเป็น 26%) 

ห้องที่ 3 งบลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในการพัฒนาระบบการศึกษา (คิดเป็น 4%)

ห้องที่ 4 งบนโยบายที่ใช้ในแผนงานต่างๆ ในการพัฒนาระบบการศึกษา (คิดเป็น 6%)

ทั้งนี้ หนึ่งในงบประมาณที่สำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)​ ปรับลดไปดังที่ปรากฏในงบประมาณปี 2567 คือ โครงการเกี่ยวกับเด็กพิการลดลงถึง 37% (จาก 557 ล้านบาทในปีก่อนหน้า ลดลงมาเหลือ 351 ล้านบาท) ส่วนของเด็กด้อยโอกาส ปรับลดถึง 45% เช่นกัน (จาก 418 ล้านบาทในปีก่อนหน้า ลดลงมาเหลือ 230 ล้านบาท) ซึ่งทั้งสองอย่างนี้จะอยู่ในส่วนของงบลงทุนด้านการก่อสร้างในด้านการศึกษา

พริษฐ์กล่าวต่อว่า ความน่าเป็นห่วงก็คือ การที่ภาพรวมของการตั้งโครงการในงบประมาณของรัฐบาลชุดปัจจุบันแทบจะไม่แตกต่างกับรัฐบาลชุดก่อนหน้า รวมถึงยังเข้าทางในลักษณะ ‘เบี้ยหัวแตก’ อีกด้วย เพราะมีการจัดสรรงบประมาณไปยังโครงการขนาดเล็กไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อโครงการ ราวกับว่าพยายามจะ ‘หว่านแห’ ให้เห็นว่ากำลังดำเนินการหลายโครงการพร้อมๆ กัน ซึ่งในส่วนนี้รัฐบาลควรยืนยันในแง่ความโปร่งใสไม่ทุจริต และเพื่อไม่ให้โครงการที่จะจัดตั้งมีความซ้ำซ้อนกับโครงการอื่นๆ ที่มีอยู่แล้ว

วิกฤต ‘โรงเรียนขนาดเล็ก’ ที่เป็นปัญหาขนาดใหญ่

ทางด้าน วิโรจน์ ลักขณาอดิสร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายเกี่ยวกับวิกฤตโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งหมายถึง โรงเรียนที่มีนักเรียนน้อยกว่า 120 คน เมื่อโรงเรียนขนาดเล็กไม่มีงบประมาณจัดสรรที่เพียงพอ นักเรียนน้อย ครูก็น้อยตาม ซึ่งยากต่อการจัดการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ 

“การศึกษาไทยตอนนี้ ไม่ใช่เดินตามหลัง แต่กำลังเดินหลงทาง 

เดินตามหลังนั้นยังดี แม้ไปถึงช้าก็ยังไปถึง

แต่เดินหลงทางมองไปไม่เจอใคร ยิ่งเดินต่อไป ยิ่งเข้ารกเข้าพง” 

“งบประมาณปี 2567 กระทรวงศึกษาธิการยังไม่แก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กจริงจัง การควบรวมโรงเรียนก็ไม่ประสบผลสำเร็จตามเป้า และมีแนวโน้มน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งงบประมาณบริหารจัดการต้องมากกว่าหลักร้อยล้าน”

วิโรจน์กล่าวต่อว่า สาเหตุหนึ่งที่ผลคะแนน PISA ของเด็กไทยตกต่ำ มาจากวิกฤตโรงเรียนขนาดเล็กเช่นเดียวกัน ซึ่งได้เสนอแนะรัฐบาลต่อว่า หากให้ความสำคัญในการบริหารงบประมาณและแก้ไขปัญหาวิกฤตนี้ จะสามารถลดงบประมาณได้ถึง 12,985 ล้านบาทต่อปี อีกทั้งหากนำมารวมกับการปรับลดงบรายจ่ายอื่นที่สร้างภาระทางการศึกษาอีก 2,117 ล้านบาทต่อปี จะมีเงินจัดสรรใหม่อีก 15,102 ล้านบาทต่อปี

หากทำได้ดังนั้นแล้ว งบที่จัดสรรใหม่สามารถนำไปอุดหนุนเฉพาะกิจได้ถึง 4 พันล้านบาทต่อปี เพื่อสนับสนุนให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทั่วประเทศนำไปใช้ทำรถโรงเรียนภายในจังหวัด เพื่อให้เด็กทุกคนเดินทางไปเรียนได้ ส่วนอีก 6.6 พันล้านบาท สามารถนำไปจัดสรรงบให้กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อช่วยเด็กยากจนพิเศษ 1.3 ล้านคน ให้ได้รับทุนเสมอภาคเพิ่มจาก 3 พัน เพิ่มเป็น 4.2 พันบาทต่อคนต่อปีได้ทันที และหากเป็นไปตามนี้จะไม่มีเด็กยากจนที่ตกหล่นอีกด้วย

Writer
Avatar photo
รุอร พรหมประสิทธิ์

หนังสือ ไพ่ทาโรต์ กาแฟส้ม แมวสามสี และลิเวอร์พูล

illustrator
Avatar photo
สิริกร พรอนงค์

ดีไซน์เนอร์, นักวาด และอาร์ตไดมือใหม่ที่ชอบไปทะเล

Related Posts

Related Posts