Wobbly World : วงดนตรีที่เชื่อในความงดงามของความแตกต่าง
Wobbly World : วงดนตรีที่เชื่อในความงดงามของความแตกต่าง
- Wobbly World คือวงดนตรีที่ประกอบไปด้วยสมาชิกจากหลายประเทศทั่วโลกและได้ผสมผสานเครื่องดนตรีและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของสมาชิกแต่ละคนออกมาเป็นบทเพลงที่สวยงาม
- “หากเราสามารถเล่นดนตรีด้วยกันแล้วออกมาเป็นเพลงที่เพราะแบบนี้ ยังมีเรื่องดี ๆ อะไรอีกบ้างที่เราทำร่วมกันได้ หากเราเริ่มยอมรับในความต่าง” คือคำถามนำทางที่ทำให้สมาชิกทุกคนใน Wobbly World เลือกที่จะมาร่วมเล่นดนตรีในวงดนตรีแห่งความหลากหลายนี้
- เป้าหมายของ Wobbly World คือการบอกกับโลกว่าเราสามารถอยู่ร่วมกันได้ท่ามกลางความแตกต่าง
เฮนรี วอดส์เวิร์ท ลองเฟลโลว์ นักการศึกษาและกวีชาวอเมริกัน เคยกล่าวประโยคสุดคลาสสิกอย่าง “ดนตรีคือภาษาสากลของมนุษย์” เพราะไม่ว่าเราจะมาจากไหน พูดภาษาอะไร และแตกต่างกันเพียงใด บทเพลงก็สามารถเชื่อมเราไว้ด้วยกันได้
เพลงเพลงหนึ่งประกอบไปด้วยโน้ตหลายโน้ต ทั้งโน้ตเสียงสูงและเสียงต่ำ โน้ตที่ลากยาวหลายจังหวะหรือโน้ตสั้น ๆ โน้ตเหล่านั้นจะเรียงต่อกันเป็นท่วงทำนอง แล้วท่วงทำนองก็จะถูกถ่ายทอดออกมาผ่านเครื่องดนตรีหลายชนิด กลายเป็นบทเพลงที่เดินทางไปสู่ผู้ฟัง
โลกคือบทเพลงเพลงนั้น และเป็นความแตกต่างหลากหลายของผู้คนนี่เองที่ทำให้เกิดบทเพลงแสนไพเราะขึ้นได้
Wobbly World คือวงดนตรีที่ทำให้การอุปไมยนี้ชัดเจนยิ่งขึ้น
Wobbly World พื้นที่ที่โอบรับความแตกต่าง
Wobbly World มีสมาชิกมากกว่าสิบชีวิตซึ่งมีพื้นเพมาจากหลายประเทศ หลากเชื้อชาติ และเป็นวงดนตรีที่ผสมผสานเครื่องดนตรีหลากหลายชนิดและวัฒนธรรมที่แตกต่างจากทั่วโลก หากแต่สิ่งที่ทุกคนมีเหมือนกันนอกจากความรักในเสียงดนตรี คือความเชื่อที่ว่า ไม่ว่าจะต่างกันเพียงใด เราก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ และการผสมผสานความแตกต่างก็สามารถก่อเกิดสิ่งที่งดงามขึ้นได้ด้วย
“ผมติดตามข่าวสารบ้านเมืองอยู่เสมอ แล้วก็เหมือนทุก ๆ คน ผมขัดใจกับความอยุติธรรมในสังคมและความไม่เท่าเทียมทางเชื้อชาติ ผมคิดว่ามันต้องมีหนทางที่จะผสานความแตกต่างทางวัฒนธรรมให้เป็นหนึ่งเดียว ด้วยภาษาสากลของดนตรี” เฟร็ดดี้ คลาร์ก มือกีตาร์และนักร้องชาวอเมริกัน ผู้ก่อตั้งวง Wobbly World กล่าวถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้เขาเริ่มตั้งวงดนตรีวงนี้ขึ้นมา
บทเพลงที่ Wobbly World เล่นจะแตกต่างกันไปในแต่ละวัน บางครั้งอาจใช้ดนตรีสไตล์คิวบานำ ในขณะที่นักร้องร้องด้วยภาษาสเปน บางทีเนื้อร้องอาจเป็นภาษาอารบิก ในขณะที่ท่อนโซโลเป็นหน้าที่ของด่านเบิ่ว (đàn bầu – เครื่องดนตรีประเภทสายของเวียดนาม) เพราะสมาชิกในวงนั้นผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไปตามความสมัครใจและความสะดวกของแต่ละคน
สมาชิกรุ่นบุกเบิกของ Wobbly World มีนักดนตรีทั้งจากสหรัฐอเมริกา แอฟริกา บัลแกเรีย จีน คิวบา เดนมาร์ก อิหร่าน โมร็อกโก เนเธอร์แลนด์ ปากีสถาน ปารากวัย ซีเรีย เวียดนาม พวกเขาต่างเชื่อว่าดนตรีนั้นมีอิทธิพลต่อความคิดและมุมมองของมนุษย์ เช่นที่เรามักจะรู้สึกฮึกเหิมเมื่อได้ยินเพลงชาติ หรือคิดถึงความหลังเมื่อได้ยินเพลงโปรดในวัยเด็ก
คำถามสำคัญที่ทำให้ Wobbly World เกิดขึ้นมาได้ก็คือ หากเราได้ฟังเพลงที่มีเครื่องดนตรี ท่วงทำนอง และภาษาในคำร้องที่แตกต่างจากหลากหลายพื้นที่ทั่วโลกพร้อมกันในครั้งเดียว เราจะรู้สึกเชื่อมโยงเป็นเพื่อนกับมนุษย์บนโลกใบเดียวกันได้ไหม แม้ว่าเราจะมีหลายสิ่งที่ต่างกัน
เปิดใจให้กันเพื่อสร้างสรรค์บทเพลง
“นักดนตรีทุกคนเดินทางมาจากทั่วโลกและมีไอเดียเป็นของตัวเอง ว่าควรจะต้องเล่นมันออกมายังไง แต่พอเพลงเริ่มขึ้น ทุกอย่างก็เข้าที่เข้าทางหมดราวกับมีเวทมนตร์” โคลิน ดักลาส มือกลองของ Wobbly World เล่าถึงความรู้สึกเมื่อร่วมเล่นดนตรีกับสมาชิกคนอื่น ๆ ในวง “ในโลกของ Wobbly ไม่มีใครสนหรอกว่าคุณศาสนาอะไร เชื้อชาติไหน เลือกข้างไหนทางการเมือง พวกเราคือหลักฐานว่ามนุษย์อยู่ร่วมกันได้แม้จะมาจากต่างวัฒนธรรม และร่วมกันสร้างพลังงานและบทเพลงที่สวยงามขึ้นได้”
ในสายตาของนักดนตรี สมาชิก Wobbly World เห็นพ้องกันว่า เมื่อพวกเขาเล่นดนตรี พวกเขาจะวางความระแวดระวังลงและเชื่อใจกันและกันมากพอที่จะแบ่งปัน เมื่อเชื่อใจและเปิดใจให้กันแล้ว การและเปลี่ยนเรียนรู้ความแตกต่างของดนตรีจากต่างวัฒนธรรมจะเกิดขึ้น
“ตลอดเวลาที่ผ่านมาผมเคยเล่นแค่เพลงอาหรับ แต่จู่ ๆ ผมก็อยู่ที่นั่นแล้วก็เล่นดนตรีเคียงข้างนักดนตรีคิวบา อเมริกัน เอเชียน บัลแกเรียน แล้วไม่ใช่การเล่นทีละคน แต่เป็นการเล่นพร้อมกันหมด ความสามารถในการเล่นดนตรีของผมก็ระเบิดขึ้นมาเลย!” คาร์ดา แคล มือคีย์บอร์ดจากจอร์แดน บอกเล่าความรู้สึกแรกที่ได้ร่วมเล่นกับ Wobbly World “ผมรักเพื่อน ๆ นักดนตรีทุกคน ผมรักมิตรภาพของเรา ผมรักความแตกต่างหลากหลาย รักความท้าทาย และรักที่สมาชิกทุกคนในวงต่างเล่นกันอย่างเต็มที่ มันทำให้การได้อยู่ใน Wobbly World สนุกมาก ๆ ในขณะที่เราร่วมกันสร้างดนตรีของโลกใบนี้อย่างแท้จริง”
“เปิดใจและลุยเลย” คือสิ่งที่บูชาอิบ อับเดลฮาดี ผู้เล่นเปอร์คัชชันและอู๊ด (Oud – เครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายที่นิยมเล่นในตะวันออกกลาง) และนักร้องภาษาฝรั่งเศสและอารบิกของวง จะแนะนำสมาชิกหน้าใหม่ของวงที่ยังมึนงงกับความหลากหลายซับซ้อนของเพลงที่ Wobbly World
“เพราะมีนักดนตรีที่เป็นตัวแทนของหลาย ๆ วัฒนธรรมทั่วโลก วงดนตรีนี้จึงเป็นความท้าทายของผมเสมอมา ในการปรับตัวและปรับสมดุลดนตรีของตัวเองให้เข้ากับวัฒนธรรมอื่น ๆ” อับเดลฮาดีเล่า
สมาชิกอีกหลายคนกล่าวว่าการได้แบ่งปันดนตรีของตัวเองร่วมกับผู้คนจากหลากหลายวัฒนธรรมและสไตล์ดนตรีหลายรูปแบบ ไม่เพียงแต่ทำให้พวกเขาเปิดรับความแตกต่างด้านดนตรีของแต่ละคน แต่การได้เข้าใจความแตกต่างด้านดนตรีนั้น ยังทำให้พวกเขาได้ทดลองความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ทลายขีดจำกัด เรียนรู้วัฒนธรรมอื่น เติบโต และรู้จักโลกได้กว้างขึ้นไปด้วยกัน
การยอมรับความหลากหลายที่ขยายจากการฟังดนตรี
“หากเราสามารถเล่นดนตรีด้วยกันแล้วออกมาเป็นเพลงที่เพราะแบบนี้ ยังมีเรื่องดี ๆ อะไรอีกบ้างที่เราทำร่วมกันได้ หากเราเริ่มยอมรับในความต่าง” คือคำถามนำทางของ Wobbly World เพราะเป้าหมายของพวกเขาคือ อย่างน้อยที่สุด ผู้ชมที่ได้สัมผัสความงดงามของความหลากหลายจากบทเพลงที่พวกเขาเล่นจะได้เรียนรู้และมองเห็นความงดงามของความหลากหลายในทุกทุกแง่มุมของชีวิต
ในปี 2016 Wobbly World ร่วมกับมูลนิธิ Joined Hands ได้แสดงดนตรีในค่ายผู้อพยพที่เมืองคัลซีส ประเทศกรีซ ซึ่งเป็นสถานที่ลี้ภัยสงครามของชาวซีเรียน อิรัก และอัฟกานิสถาน และนั่นทำให้สมาชิกในวงบางคนได้เรียนรู้อะไรบางอย่าง
“ตอนนั้นยุโรปปิดพรมแดน ผู้อพยพเลยไม่รู้เลยว่าพวกเขาควรไปทางไหน เรื่องนี้กระทบจิตใจผมมาก เพราะว่าผมก็โตขึ้นมาในค่ายผู้อพยพชาวปาเลสไตน์ในเบรุต และผมก็อยากช่วยเหลือพวกเขามากจริง ๆ” จอร์จ ลามมาม มือไวโอลินจากเลบานอนเล่า “พอได้เห็นทั้งผู้ใหญ่และเด็กต่างร้องเพลง เต้นรำ และหัวเราะ มันทำให้ผมได้รู้ว่าพรสวรรค์ด้านดนตรีของผมมันมีพลังแค่ไหน แล้วก็ดีใจจริง ๆ ที่ได้แบ่งปันคติของ Wobbly World ที่ว่า คนทุกคนจากทั่วทั้งโลกต่างอยู่ร่วมกันได้ เฟร็ดดี้มีโจทย์ที่ท้าทายคือ การสร้างบทเพลงที่เป็นการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรม ซึ่งเราก็ทำได้จริงเพราะเราเคารพซึ่งกันและกัน เรารักการที่เราได้มีโอกาสร่วมงานกัน”
นุต บุย มือด่าน เบิ่วจากเวียดนาม เล่าว่าชีวิตของเขาเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ เมื่อเวียดนามกลายเป็นประเทศคอมมิวนิสต์โดยสมบูรณ์เมื่อปี 1975 ทำให้เขาต้องลี้ภัยมายังสหรัฐอเมริกา เป้าหมายของ Wobbly World และการได้ไปเล่นดนตรีในค่ายผู้อพยพในครั้งนั้นจึงสำคัญต่อเขามาก
“มันเป็นประสบการณ์ที่ทรงพลังมากสำหรับผม ตอนเด็กผมก็เป็นผู้ลี้ภัยเหมือนกัน ผมเลยรู้ว่ามันมีความหมายแค่ไหนที่มีใครสักคนห่วงใยพวกเขาและอยากให้พวกเขามีความสุข แม้จะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ แต่เราก็รู้กันดีว่าดนตรีเป็นภาษาสากลที่สัมผัสหัวใจเราทุกคนได้ ภารกิจของ Wobbly World คือการสร้างสรรค์บทเพลงเพื่อมอบให้โลก โดยเฉพาะผู้คนที่ต้องการมันมากที่สุด และแสดงให้ทุกคนเห็นว่าบทเพลงไม่เคยแบ่งแยก สมาชิกทุกคนของ Wobbly World มาจากหลายพื้นที่ แต่เราก็เข้ากันได้อย่างดี มันสำคัญมาก ๆ ที่ผู้คนจะได้เห็นและเข้าใจว่ามันเป็นไปได้”
ดนตรีไม่ควรถูกใช้เป็นเครื่องมือ ‘ทลายความแตกต่าง’ และสิ่งที่ Wobbly World พยายามจะสื่อสารกับผู้ฟังของพวกเขาก็คือ แม้จะแตกต่างกันสักแค่ไหน เราก็สามารถเป็นหนึ่งเดียวกันและสร้างสรรค์สิ่งที่งดงามขึ้นมาได้ ด้วยการยอมรับ เคารพ และมอบคุณค่าให้ความแตกต่างของกันและกัน
อ้างอิง
https://talent.entireproductions.com/talent/wobbly-world
https://wobblyworldmusic.com/freddy-clarke/
Writer
ปัญญาพร แจ่มวุฒิปรีชา
อย่ารู้จักเราเลย รู้จักแมวเราดีกว่า