ปรากฏการณ์ TCAS ‘900 บาทไม่แพง’ อยากมีอนาคตต้องจ่าย?

ปรากฏการณ์ TCAS ‘900 บาทไม่แพง’ อยากมีอนาคตต้องจ่าย?

บ่อยครั้งที่ทฤษฎีวิวัฒนาการของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน มักถูกหยิบยกมาใช้ในบริบทที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะระบบสวัสดิการสังคมที่ทุกคนควรได้รับ กลับถูกทำให้กลายเป็นการแข่งขันโดยใช้ความได้เปรียบทางเศรษฐกิจเป็นที่ตั้ง ทำให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำกลายเป็นผู้อ่อนแอไป 

ค่ำวันที่ 23 สิงหาคม 2564 จึงเกิดวงสนทนาบน Clubhouse ว่าด้วยเรื่องของค่าสมัครสอบเลือกอันดับเข้ามหาวิทยาลัย 900 บาท ที่ ดร.พีระพงศ์ ตริยเจริญ ผู้จัดการระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือ TCAS บอกว่าไม่แพง โดยไม่ได้คำนึงถึงสิ่งที่นักเรียนต้องเผชิญในความเป็นจริง

ภาระค่าใช้จ่ายล้น ตัดโอกาสเด็กยากจนไม่ให้ไปต่อ

“900 บาทไม่แพง แต่สำหรับครอบครัวจำนวนมาก มันคือค่ากินค่าอยู่ 2-3 สัปดาห์”

ระหว่างรอผู้เข้าร่วมวงสนทนาตระเตรียมความพร้อม ‘ครูฮูก’ หรือ ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มต้นด้วยการย้ำถึงปัญหาของทัศนะดังกล่าว ก่อนจะเล่าต่อว่า สำหรับหลายๆ ครอบครัว เงิน 900 บาท คือค่าใช้จ่ายในหลายสัปดาห์ เป็นทั้งค่ากินอยู่จากค่าแรงขั้นต่ำอย่างน้อย 3 วันขึ้นไป และค่าทำงานพิเศษของนักเรียนเองไม่ต่ำกว่า 30 ชั่วโมง แน่นอนว่าค่าสมัครสอบต่างๆ ที่รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 1,500-2,000 บาท จึงเป็นปัญหาสำหรับเด็กฐานะยากจน ที่เพียงแค่ค่ายื่นอันดับกลับมากถึง 900 บาทแล้ว 

ผู้ร่วมสนทนาอีกรายซึ่งเป็นครูแนะแนวโรงเรียนขนาดเล็กพิเศษ ชี้ว่า ปัญหาเรื่องค่าสมัครสอบสร้างภาระค่าใช้จ่ายให้เด็กทุกปี แต่ด้วยการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เพิ่มขึ้น การดิ้นรนที่มากขึ้น ทำให้เด็กต้องพยายามเดินตามความฝัน

“เมื่อนักเรียนคนหนึ่งที่มีความรู้ ความสามารถ และมีความฝันอย่างเต็มเปี่ยม แต่ติดตรงที่ว่าเขามีฐานะทางการเงินไม่พร้อม บางคนจึงต้องทำงานเพิ่มมากขึ้นเพื่อหาเงินมาจ่ายค่าสมัครและค่ายื่นเลือกอันดับ” ก่อนที่ครูแนะแนวจะโยนคำถามทิ้งท้ายว่า “ทำไมเขาต้องตัดโอกาสตัวเองโดยการเลือกอันดับให้น้อยลง เพียงเพราะมีเงินไม่ถึง 900 บาท”

นอกจากนี้ ด้วยภาวะโรคระบาดอาจมีการออกมาตรการให้ต้องตรวจเชื้อโควิด ซึ่งท้ายที่สุดจะถูกผลักให้เป็นภาระของนักเรียน 

ครูผู้ร่วมสนทนาท่านหนึ่ง ในฐานะติวเตอร์ SAT-Math ได้ยกตัวอย่างของการสอบที่จังหวัดเชียงรายขึ้นมาว่า อาจเป็นโมเดลของมาตรการจัดสอบ โดยผู้เข้าสอบต้องฉีดวัคซีนครบทั้ง 2 เข็ม หรือมีผลตรวจ RT-PCR ไม่เกิน 72 ชั่วโมง หรือหลักฐานการกักตัว 14 วัน อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายที่มองไม่เห็นอีกมหาศาลจากการเดินทางเพื่อสอบในสนามต่างๆ หลายครั้ง ในขณะที่สภาวะโรคระบาดส่งผลให้ครอบครัวของนักเรียนหารายได้ไม่ได้ 

“เด็กในต่างจังหวัดแทบไม่มีทางเลือกสมัคร TCAS เลย เลือกได้เพียง 1-2 รอบเท่านั้น” ครูโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในพื้นที่ห่างไกล เล่าถึงผลกระทบทั้งจากโรคระบาด และระบบ TCAS ยิ่งนักเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ยิ่งต้องตัดโอกาสของตัวเองโดยการเลือกอันดับให้น้อยลงเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ครูสะท้อนว่า นักเรียนในพื้นที่ห่างไกลต้องดิ้นรนมากขึ้น เด็กต้องเก็บหอมรอมริบจากค่าจ้างวันละไม่เกิน 150 บาท อีกทั้งเด็กมีโอกาสในรอบ 1-2 ที่เป็นรอบโควต้าและ portfolio น้อยลง เพราะการทำกิจกรรม การประกวด หรือโอกาสในการสะสมผลงานที่น้อยลง

ถึงแม้หลายคนจะมีสิทธิ์ได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยจากอันดับที่เลือกแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถเข้าเรียนได้ทันที เพราะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการศึกษา 

“พอสอบติดแล้วก็ใช่ว่าเราจะได้เรียนเลย เราต้องหาเงินมาจ่ายค่าเทอมอีกเพื่อเป็นการยืนยันสิทธิ์ ซึ่งเรากู้ กยศ. ได้ แต่เราก็ต้องมีเงินสำรองจ่ายก่อน เพราะ กยศ. จะโอนคืนทีหลัง แล้วคนที่ไม่มีสำรองจ่ายจะทำยังไง”

#dek64 ผู้หนึ่งที่ร่วมแชร์ประสบการณ์ว่า TCAS ทำให้หลายคนต้องเสียโอกาสไปอย่างน่าเสียดายเพียงเพราะไม่มีเงินสำหรับจ่ายค่าธรรมเนียมการศึกษา  ผู้ร่วมสนทนาจึงเสนอว่า ค่าเลือกอันดับควรจะฟรี เพราะการมองว่าเงิน 900 บาท คือราคาที่ถูกแล้ว อาจเกิดจากความไม่เข้าใจหัวอกคนที่ลำบาก หรืออาจเข้าใจแต่ไม่ใส่ใจ 

ระบบ TCAS ออกแบบเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ?

“คำหนึ่งที่ผมจำได้เข้าหัวเลย คือลดการวิ่งไล่สอบและลดความเหลื่อมล้ำ แต่ผ่านมาหลายปีแล้ว TCAS ไม่ได้ลดความเหลื่อมล้ำอะไรเลย มันกลับเป็นตัวขยี้ปัญหาความเหลื่อมล้ำมากขึ้น”

ครูแนะแนวผู้หนึ่งซึ่งเป็นด่านหน้าในการอธิบายระบบ TCAS ให้นักเรียนฟัง นึกย้อนถึงจุดประสงค์ของ TCAS ครั้งแรก ครูได้ขยายความความเหลื่อมล้ำนี้ว่า เห็นได้ตั้งแต่การเลือกอันดับราคาอันดับละ 150 บาท บางคนต้องเลือกถึง 10 อันดับเพื่อความแน่นอน ระบบ TCAS จึงเป็นระบบที่บังคับให้ทุกคนต้องพร้อม ทั้งที่ระบบเองยังไม่มีประสิทธิภาพที่ดีเพียงพอนับแต่ปี 2561 และแย่ลงเรื่อยๆ 

“ผมเคยฟังมุมมองของอาจารย์ท่านหนึ่งที่มีส่วนร่วมออกแบบระบบ” ผู้ร่วมสนทนาคนต่อมาที่เป็น #dek63 กล่าวถึงอีกมุมของระบบ TCAS โดยการสรุปย่อมุมมองของอาจารย์ท่านนั้น และจากประสบการณ์ของตัวเอง

รอบที่ 1 ถูกจัดขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้เด็กกิจกรรมเข้าสู่ระบบได้ง่ายขึ้น แต่เกณฑ์ของแต่ละมหาวิทยาลัยต่างกัน รวมถึงบางมหาวิทยาลัยมีโควตาที่นั่งจำกัดสำหรับแต่ละโรงเรียน ยิ่งในภาวะโควิดที่ทำให้นักเรียนไม่มีโอกาสไปแข่งขันในเวทีต่างๆ แม้โรงเรียนจะพยายามเพิ่มเกียรติบัตรให้ แต่นักเรียนก็กังวล เนื่องจากมองว่าควรได้รับจากหน่วยงานภายนอกจึงจะน่าเชื่อถือ ส่วน TCAS รอบที่ 2 มีขึ้นเพื่อให้เด็กแต่ละภูมิภาคสามารถเข้ามหาวิทยาลัยได้ แต่มีเกณฑ์ว่าต้องอยู่ภูมิลำเนานั้นๆ อย่างน้อยกี่ปีจึงจะสมัครได้ รอบที่ 3.1 เน้นที่คะแนนสอบ เพื่อให้นักเรียนที่มีคะแนนสูงเข้าเรียนได้ ขณะที่รอบที่ 3.2 มีขึ้นเพื่อให้เด็กที่ขยัน แต่เรียนไม่เก่ง โดยใช้เกรดเฉลี่ยและคะแนนการสอบต่างๆ แต่มาตรฐานในการให้เกรดเฉลี่ยของแต่ละโรงเรียนก็มีความต่างกัน

ปัญหาที่เกิดขึ้นในปี 2561 คือ การไม่จัดลำดับในรอบที่ 3 ทำให้นักเรียนบางคนสอบได้ 4 ที่ จึงมีที่นั่งเหลือและคะแนนเฟ้อ ทำให้ในรอบ 3-4 นักเรียนอาจต้องคว้าที่นั่งที่ตัวเองไม่ต้องการ

ขณะที่ในปีการศึกษา 2565 ที่จะถึงนี้ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)ได้ประกาศยกเลิกการสอบ O-NET ปัญหาที่นักเรียนแบกรับจึงถาโถมเข้าอีกยกหนึ่ง 

“มันผลักภาระไปอยู่ที่เด็กทันที” ผศ.อรรถพล กล่าว “เนื่องจากเดิมการสอบ O-NET เป็นการสอบที่เด็กไม่ต้องเสียสตางค์สอบ นักเรียนที่จะจบ ม.6 ก็สามารถสอบได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายและสามารถใช้คะแนนไปยื่นเข้ามหาวิทยาลัยทั้งของรัฐ เอกชน และภูมิภาคได้ แต่พอปีนี้ยกเลิกการใช้คะแนน O-NET ในการยื่น TCAS โดยเฉพาะรอบ 3 ที่เป็นระบบการยื่นกลาง มันเลยเป็นผลักภาระให้เด็กทุกคนที่จะจบ ม.6 ต้องจ่ายสตางค์ในการสมัครสอบด้วยกลไกแบบใหม่ ทำให้กลไกเดิมที่เป็นเครื่องมือได้ข้อมูลป้อนกลับไปสะท้อนการจัดการศึกษามันหมดพลัง

“ผมไม่ได้มีปัญหากับการจัดสอบ GAT/PAT 9 วิชาฯ ถ้าตราบใดมันยังเป็น option อยู่ ปัญหาใหญ่ปีนี้มันกลายเป็นภาคบังคับที่ทุกคนต้องสอบ ซึ่งมันเกิดขึ้นในปีที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมเปราะบางสำหรับเด็กมากๆ”

นอกจากนี้ การแจ้งว่ามีแผนสำรองแต่ไม่เปิดเผย ยังส่งผลต่อความเชื่อมั่นที่มีต่อ ทปอ. เอง ผู้เข้าร่วมท่านหนึ่งมีความเห็นว่า มันแสดงให้เห็นถึงวิธีคิดของผู้มีอำนาจในสังคม โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบจากแผนนั้นไม่มีส่วนร่วมกับการวางแผนตั้งแต่ต้น ทั้งนักเรียนและครูก็ไม่รู้ว่าจะจัดการเรียนการสอนอย่างไร โรงเรียนจะจัดสอบปลายภาคเมื่อไร เพื่อไม่ให้ทับซ้อนกัน การไม่มีแผนที่ชัดเจนหรือประกาศแผนกะทันหัน ทำให้ทุกส่วนได้รับผลกระทบกันเป็นทอดๆ

เนื้อหาในการสอบก็เป็นปัญหาอย่างหนึ่งของมาตรฐานแกนกลาง ในขณะที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ระบุว่าให้ใช้เฉพาะตัวชี้วัดที่ควรรู้ แต่ก็ไม่ทราบว่าผู้ออกข้อสอบใช้เนื้อหาจากที่ใดบ้างมาออกสอบ 

เห็นได้ว่าอีกประเด็นปัญหาหนึ่งของระบบคัดเลือกคือเรื่องข้อสอบ ครูแนะแนว หนึ่งในผู้ร่วมสนทนา ชวนตั้งคำถามถึงประเด็นนี้ว่า เหตุใดจึงไม่เคยมีการเปิดเผยค่าคุณภาพของข้อสอบ

“ก่อนหน้านี้ที่เราบังคับใช้ข้อสอบ O-NET อยู่ ก็จะมีพาดหัวข่าวตลอดว่าเด็กตก O-NET ทั้งประเทศ ซึ่งมันทำให้ดูเหมือนเด็กมีคุณภาพแย่ลง แต่ยังไม่เห็นมีใครตั้งคำถามเลยว่า มันเป็นที่ข้อสอบหรือเปล่า มันมีค่า item difficulty เพิ่มขึ้นหรือเปล่า หรือตัวข้อสอบมันแยกคนเก่งกับคนอ่อนได้จริงไหม”

ครูท่านนี้เล่าว่า ระบบกลับให้ครูสนใจกับการสอนให้ตรงกับตัวชี้วัดเท่านั้น ซึ่งการเรียนออนไลน์ครูถูกกดดันให้ลดเวลาสอนและตัดตัวชี้วัดที่ไม่จำเป็นออก ขณะเดียวกันครูเองก็ไม่รู้เลยว่าข้อสอบแกนกลางที่เด็กจะต้องสอบนั้น ตัดตัวชี้วัดออกด้วยหรือไม่ ทำให้ครูไม่กล้าลดเนื้อหาและต้องให้งานนักเรียนเพิ่ม และนักเรียนต้องจ่ายเงินไปเรียนพิเศษเพิ่มอีกด้วย

ผศ.อรรถพล แนะว่า  ทปอ. ต้องทบทวนระบบการทำงานของตัวเอง หากคิดว่านักเรียนคือลูกค้า ก็ไม่มีองค์กรใดที่ดูแลลูกค้าที่จ่ายเงินให้กับตัวเองโดยไม่ได้คำนึงถึงชีวิตและสิ่งที่ลูกค้าต้องเจอ ระบบ TCAS จึงเป็นระบบที่ปัญหาเก่ายังไม่ถูกแก้และสร้างปัญหาใหม่เพิ่มขึ้น 

“ในความเป็นจริง เราไม่ได้จัดการศึกษาเพื่อสิ่งนี้ (การมองว่านักเรียนคือลูกค้า ระบบสอบคือสินค้า) ยิ่งระดับอุดมศึกษามันไม่ใช่การปล่อยให้ดิ้นรนตัวใครตัวมัน มันเป็นเรื่องที่ต้องลดช่องว่าง เพื่อให้คนที่มีศักยภาพไปต่อได้”

ระบบการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยเป็นปัญหาใหญ่ที่สังคมไม่ควรละเลยและต้องมีการเคลื่อนไหวต่อเนื่อง ในขณะที่ ทปอ. สามารถกระทำการใดๆ ได้อย่างอิสระและมีรายได้จากนักเรียนที่จะเข้ามหาวิทยาลัย ทปอ. จึงต้องรับผิดชอบ ทั้งนี้ เสียงสะท้อนของนักเรียนส่วนหนึ่งจากวงสนทนาเผยว่า เมื่อนักเรียนพยายามสอบถามทางเพจเฟซบุ๊กก็มักจะได้คำตอบจากเจ้าหน้าที่ที่ทำให้เขารู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้ง แสดงให้เห็นว่าผู้ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลขาดความเห็นอกเห็นใจ 

ความเหลื่อมล้ำทางความสามารถ ระบบที่ไม่เอื้อกับการค้นหาตัวเอง

“ระบบมัธยมตอนนี้มันทำให้ทุกคนเป็นก้อนเดียวกัน อัดให้ทุกคนเป็นปลากระป๋องเหมือนกัน แต่พอเข้ามหาวิทยาลัยก็เฟครังสรรค์ว่า ทุกคนต้องมีความแตกต่างหลากหลายนะ”

ครูมัธยมผู้ร่วมสนทนาชี้ถึงอีกหนึ่งต้นตอของปัญหาการศึกษาไทย ทำให้รอบแรกของระบบ TCAS ฉายภาพความเหลื่อมล้ำทางความสามารถอย่างชัดเจน เมื่อมีเกณฑ์การเข้ามหาวิทยาลัยที่ต้องใช้ความถนัดของแต่ละคณะ แต่หลักสูตรมัธยมปลายกลับไม่ได้ให้นักเรียนหาตัวตนตั้งแต่แรกเริ่ม การหาตัวตนจึงต้องอาศัยการจ่ายเงินเพื่อให้ได้มาซึ่งประสบการณ์นอกห้องเรียน 

การจ่ายเงินเพื่อเลือกอันดับราวกับการซื้อหวยหลายใบ ทำให้เห็นว่าการเลือกเพื่อให้มีโอกาสมากต้องมีเงินมาก แล้วใช้วิธีการหว่านแหโดยที่บางคนยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากตัวนักเรียนอย่างเดียว แต่เกิดจากสภาพแวดล้อมในโรงเรียนและฐานะทางบ้าน นักเรียนในครอบครัวที่มีความพร้อมย่อมมีโอกาสได้รู้จักตัวเองมากกว่าคนที่ไม่มีโอกาสทำกิจกรรมหลากหลาย 

ครูผู้สนทนาอีกท่านหนึ่งเพิ่มเติมว่า การศึกษาจนจบปริญญาตรีเป็นการรองรับความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน แต่เมื่อมองย้อนกลับไปในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน กลับเป็นระบบที่ทำให้นักเรียนค้นหาตัวเองไม่เจอ แม้จะมีโรงเรียนเอกชนบางแห่งที่มีหลักสูตรให้มองเห็นอาชีพมากขึ้น แต่การบริหารหลักสูตรกลับไม่มีบุคลากรมากพอที่จะจัดให้มีการศึกษาแบบดังกล่าวได้ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาหาประโยชน์ นอกจากนี้ ด้วยช่องว่างของวุฒิการศึกษา ม.6 และปริญญาตรีที่ต่างกัน หากขยายแนวทางให้นักเรียนมีโอกาสฝึกอาชีพมากขึ้น ให้คนจบการศึกษาขั้นพื้นฐานมีโอกาสเข้าทำงานและฝึกตัวเองได้มากขึ้น ก็จะทำให้นักเรียนสามารถเลือกทางเดินของตัวเองได้มากขึ้น

“ผมมองว่าโครงสร้างยังไม่ได้ตอบตรงนี้ ทำให้ ทปอ. มีแต้มต่อที่เขาจะวางระบบอย่างไรก็ได้ เพราะสุดท้ายถนนทุกสายก็ต้องวิ่งมาสู่ ทปอ. ถ้าคุณอยากเข้ามหาวิทยาลัย” ครูคนดังกล่าวปิดท้าย

มองโครงสร้างใหญ่ รายได้ไม่ควรเป็นอุปสรรคในการศึกษา

จากปัญหาทั้งหมดของระบบ TCAS ที่นักเรียนต้องเผชิญ เมื่อมองให้ลึกไปกว่ายอดภูเขาน้ำแข็ง ระบบการศึกษาต้องไม่ใช่เรื่องการเอาตัวรอดแบบตัวใครตัวมัน แต่ต้องพยายามลดช่องว่างและเปิดโอกาสให้คนที่มีศักยภาพ มิใช่การใช้ค่าใช้จ่ายเพื่อให้มีโอกาส ครูโจ๊ก-ณัฏฐเมธร์ ดุลคณิต ชวนตั้งคำถามถึงภาพใหญ่ว่า

“รัฐไทยกำลังมองว่าตัวเองคืออะไร หน้าที่ตัวเองคืออะไร ถ้าลองเทียบเคียงกับระบบสาธารณสุขที่กำลังมีปัญหา อะไรกันที่ทำให้เราไปคาดหวังกำไรขาดทุนกับระบบการศึกษา อะไรกันที่ทำให้เราคาดหวังกำไรขาดทุนกับโรงพยาบาล ทั้งๆ ที่เรื่องพวกนี้รัฐควรจัดให้”

และยังชวนตั้งคำถามต่อไปอีกว่า เหตุใดจึงต้องให้ประชาชนจ่ายมากขึ้นเพื่อให้ได้การบริการที่ดีขึ้น ทำไมจึงผลักภาระให้ประชาชนยกระดับคุณภาพของตนเองด้วยตัวเองแทบจะทั้งหมด การมองว่าผู้ที่จ่ายไม่ได้เป็นผู้แพ้ ไม่ใช่แค่อนาคตของคนคนหนึ่ง แต่เป็นอนาคตของประเทศทั้งหมด

“ไม่ใช่แค่ระบบ TCAS แต่มันคือการตั้งคำถามกับการบริหารจัดการของรัฐ หรือว่ามุมมองของผู้คนที่มีต่อรัฐไทยในปัจจุบันนั้น มีหน้าที่หรือ provide อะไรให้กับเราบ้าง”

ขณะที่ ครูทิว-ธนวรรธน์ สุวรรณปาล กล่าวถึงระบบการศึกษาว่าควรทำให้เงื่อนไขทางเศรษฐกิจเป็นอุปสรรคให้น้อยที่สุด ซึ่งปัญหาอาจอยู่ที่การจัดสรรงบประมาณที่ทำให้สิ่งที่ควรฟรี กลับไม่ฟรี ในขณะที่ประเทศก็ไม่มีพื้นที่ให้นักเรียนผิดพลาด ซึ่งหากระบบดี นักเรียนก็ไม่ต้องแข่งกันเรียน ไม่ต้องกู้ กยศ. รีบเรียนให้จบ รีบหางานทำ เพื่อไปดูแลพ่อแม่ที่จะได้รับเบี้ยเลี้ยงคนชรา 600-700 ต่อเดือน

“หลายคนบอกว่ามันเป็นการเติมเต็มความฝันในการเข้ามหาวิทยาลัย แต่จริงๆ แล้วความฝันของเราคืออะไร สิ่งที่ผมค้นพบมาตลอดจากการทำงานกับนักเรียนที่ฐานะไม่ได้ดีมาก เขาไม่ได้ฝันเลยว่าเขาอยากจะเป็นอะไร แต่ฝันของเขาคือมีบ้าน ดูแลพ่อแม่ได้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีหน้ามีตาในสังคม”

การแย่งกันเข้ามหาวิทยาลัยจึงเป็นการทำตามความคาดหวังของสังคม ทั้งที่แต่ละคนมีความถนัดต่างกันไป หากมีโครงสร้างรายได้ที่เสมอภาค มีรายได้ขั้นต่ำที่จะทำให้มีชีวิตที่ดีได้ ทุกอาชีพมีศักดิ์ศรีและมองคนเท่าเทียมกัน เมื่อมีรัฐสวัสดิการที่ดีก็อาจไม่ต้องมีการสนทนาเพื่อถกเถียงถึงปัญหาที่เกิดขึ้นนี้

“แท้จริงแล้ว เด็กไทยไม่รู้จักตัวเองจริงๆ รึเปล่า หรือว่าไม่มีฝัน เพราะไม่กล้าฝัน แต่หากว่ารัฐดูแลดี มีสวัสดิการที่ดี มีโครงสร้างที่ให้คุณค่าของทุกคนเท่าเทียมกัน มันอาจจะไม่ต้องแบกรับความฝันคนอื่น และสามารถทำอย่างที่ใจตนเองต้องการ และค้นพบหนทางที่ตัวเองต้องการจริงๆ ก็ได้”

ผู้สนทนาอีกคนจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงและผ่านประสบการณ์ TCAS มาแล้วครั้งหนึ่ง เสนอว่า มหาวิทยาลัยควรขยายเป็นตลาดวิชาเพื่อเป็นทางออกให้กับนักเรียนหรือไม่ และพัฒนาบุคลากรของมหาวิทยาลัยในระบบเปิดให้มีคุณภาพเทียบเท่ากับมหาวิทยาลัยในระบบปิด มหาวิทยาลัยควรเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้คนทั่วไปมากขึ้น รวมถึงเปิดโอกาสให้เด็กที่จบการศึกษาขั้นพื้นฐานมีโอกาสทำงานค้นหาตัวเองมากขึ้น เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสกลับเข้าสู่ระดับอุดมศึกษาได้ทุกเวลาที่ต้องการพัฒนาตัวเอง 

โลกทุกวันนี้หมดยุคของการเรียนเพื่อปริญญาใบเดียว การเลือกเด็กที่เก่งที่สุดเท่านั้นมาเรียนจึงเป็นค่านิยมที่ควรถูกตั้งคำถามมากที่สุด

Writer
Avatar photo
ชัญญา อินทร์ไชยา

ชื่อเล่นญี่ปุ่น แต่เลือดอีสานแท้ เว่าลาวได้นิดหน่อย แมวคือสิ่งมีชีวิตที่ทำให้มีความสุข อาหารอร่อยและการ์ตูนสักเรื่องคือเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจ นิยามตัวเองเป็นเป็ดเพราะการเรียนรู้ไม่เคยสิ้นสุด

illustrator
ณขวัญ ศรีอรุโณทัย

ทำงานกราฟิกหลากหลาย นิยมการพูด-เขียนสั้นๆ วาดรูปน้อยๆ เพราะสมาทานแนวคิดประหยัดพลังงาน มองว่าเด็กคือมนุษย์ตัวเล็กย่อส่วน ไม่ได้รักหรือเกลียดเป็นพิเศษ

Related Posts

Related Posts