“เราไม่ต้องเห็นช้างทั้งตัว เราก็เห็นช้างทั้งตัวได้” Ta Lent Show Theatre โรงละครที่หยิบ ‘สิ่งของ’ ขึ้นมาเล่น แล้วเรียนรู้ใหม่ด้วย ‘ภาษาของเด็ก’ เพื่อพบว่า “อะไรก็เป็นไปได้ ไม่มีเบรก”

“เราไม่ต้องเห็นช้างทั้งตัว เราก็เห็นช้างทั้งตัวได้” Ta Lent Show Theatre โรงละครที่หยิบ ‘สิ่งของ’ ขึ้นมาเล่น แล้วเรียนรู้ใหม่ด้วย ‘ภาษาของเด็ก’ เพื่อพบว่า “อะไรก็เป็นไปได้ ไม่มีเบรก”

“ตอนเด็กเราชอบหยิบสิ่งของมาตี๊ต่างว่าเป็นเพื่อนเรา หยิบเก้าอี้มาตี๊ต่างว่าเป็นยานอวกาศ หมุนโต๊ะขึ้นแล้วกลายเป็นเรือแล่นในมหาสมุทรของเรา เราเล่นแบบนี้มาตั้งแต่เด็ก เล่นมาถึงจุดหนึ่งจนเริ่มโต คนที่บ้านก็จะเริ่มบอกว่าเราเพ้อเจ้อ เจอคำพูดประมาณนี้บ่อยๆ ก็รู้สึกว่าทิ้งๆ มันไปดีกว่า โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว ไม่เล่นแล้ว” 

ทา—ณัฐพล คุ้มเมธา เล่าถึง ‘สิ่งของ’ รอบตัวที่เขาเคยหยิบยกขึ้นมาพลิกบทบาทให้กลายเป็นอะไรต่อมิอะไรในโลกจินตนาการครั้งวัยเยาว์ ก่อนจะรู้สึกว่าเสียงของการเป็น ‘ผู้ใหญ่’ ได้บอกให้เขาเริ่มต้องซุกซ่อนสิ่งนั้นเอาไว้ ทว่าการได้เดินทางในช่วงหนึ่งของชีวิตอย่างวัยนักศึกษาก็ได้นำพาให้เขาได้ทำงานในโลกของการเล่าเรื่องด้วยจินตนาการผ่านละครไร้เสียง จากจุดเริ่มต้นที่เพื่อนชวนออกนอกรั้วมหาลัยไปเรียนละครใบ้ (Mime) กับ อั๋น-ไพฑูรย์ ไหลสกุล หรือ อั๋นคนหน้าขาวที่หลายคนรู้จัก ทำให้ทาได้ทำงานกับทีมคนหน้าขาวเรื่อยมา ต่อด้วยทำงานละครในทีมเบบี้ไมม์โชว์ ก่อนที่ช่วงการระบาดของโควิด-19 จะทำให้เขารู้สึกว่า “ถึงจุดอิ่มตัว”

ช่วงไม่มีงานและพักงานในช่วงโควิด-19 นี้เอง ทำให้ทาได้ค้นพบความสนุกจากการหยิบจับสิ่งของรอบตัวขึ้นมาเล่นเหมือนตอนเป็นเด็กอีกครั้ง ต่างออกไปจากตอนเป็นเด็กก็คงจะเป็นเพื่อนเล่นที่คือลูกของเขานั่นเอง 

“ช่วงโควิดไม่มีอะไรทำก็เลยเอา object สมัยที่เล่นวัยเด็กมาเล่นกับลูก แล้วลูกเอนจอย ทำให้เรารู้สึกว่าเราได้กลับไปเป็นเด็กอีกครั้งหนึ่ง แล้วเราก็รู้สึกว่าทำไมเราถึงลืมสิ่งนี้ไปตั้งนาน หลังจากโควิดเลยเอาเรื่องที่เล่นสนุกๆ กับลูกมาทำเป็นเรื่องส่งตามเทศกาล ปรากฏว่ามันเวิร์ก เราเลยเจอทางใหม่ของเรา เลยเอาประสบการณ์จากที่เคยทำงานมา 20 กว่าปี รวมกับความสนใจเรื่อง Object Theatre กลายออกมาเป็นทาเล่นโชว์” 

ทีมทาเล่นโชว์ (Ta Lent Show Theatre) มีสมาชิกในทีมสองคนคือทาและ เม—นัฎฐพร ตันฮะฮวด ที่ร่วมเดินทางไปเล่นด้วยกันมาแล้วหลายพื้นที่ อาทิ กรุงเทพ เชียงใหม่ อุดร มหาสารคาม เกาหลี สิงคโปร์ ฝรั่งเศส โดยการแสดงของทีมทาเล่นโชว์จะเป็นการผสมผสานระหว่าง Object Theatre และ Mime เน้นการหยิบยกวัตถุสิ่งของ (object) รอบตัวที่พบเห็นในชีวิตประจำวันขึ้นมา “เล่น” จนเป็นเรื่องเป็นราว เป็นตัวละคร เป็นเรื่องเล่าไร้เสียงในจินตนาการไร้ขอบที่ “อะไรก็เป็นไปได้ ไม่มีเบรค!” 

ถ้ามันไม่ใช่เบาะแล้วมันจะเป็นอะไรได้อีก? 

เมซึ่งเป็นหนึ่งกำลังสำคัญในการร่วมก่อร่างทาเล่นโชว์ ทำงานเบื้องหลัง ประสานงาน รวมถึงเป็นนักแสดง เธอได้เล่าถึงกระบวนการทำงานของทีมในการคิดโชว์แต่ละครั้งว่า

เราจะแบ่งการทำงานเป็น 2 แบบ แบบแรกเราจะหยิบของมาก่อน แล้วลองหากันว่าแต่ละชิ้นเป็นอะไรได้บ้าง แบบที่สอง คือเรามีเรื่องราวอยู่ก่อนแล้ว แล้วค่อยลองไปหาของมาว่าอะไรที่จะเอามาใช้ในแบบที่เราอยากให้มันเป็น” 

ทาขยายความต่อจากเมในประเด็นนี้ว่า วิธีการแบบที่หนึ่ง—คือการค้นหาเรื่องราวจากสิ่งของ กล่าวคือเอาของที่เราพบเจอรอบตัวมากองรวมกันแล้วลองเลือกชิ้นที่สนใจ เขายกตัวอย่าง “เบาะ” ที่ทีมเคยเลือกนำมาใช้เล่าเป็นละครที่เนื้อเรื่องดูจะไกลออกไปจากเรื่องเบาะอย่างมาก จากคำถามง่ายๆ เพียงว่า ถ้ามันไม่ใช่เบาะแล้วมันจะเป็นอะไรได้อีก’ 

“มันไม่ใช่เบาะหรอก นี่มันเป็นปลา เอ้ย มันไม่ใช่ปลาหรอก นี่มันเป็นกุ้ง พอเราได้ไอเดียมากมาย เราก็เอามาขมวดกันว่าถ้าย่ออยู่ในหนึ่งคำ เราจะได้คำว่าอะไร อย่างเบาะเราก็ได้คำว่า Ocean จึงกลายมาเป็นเรื่องราวของสัตว์น้ำในทะเล”

ส่วนวิธีการแบบที่สอง—เป็นหมุดหมายของทีมที่อยากพูดถึงประเด็นบางอย่าง ดังนั้นทีมจะตั้งต้นที่ประเด็นกันไว้ก่อนว่าอยากจะพูดในประเด็นไหน เรื่องราวเป็นอย่างไร แล้วจึงค้นหาสิ่งของที่จะนำมาสื่อสารเรื่องนั้นๆ เขายกตัวอย่างงานเก่าของทีมที่เคยพูดถึงเรื่อง ‘ขยะอารมณ์’  ซึ่งมีเนื้อเรื่องว่าถ้าเราพูดสิ่งไม่ดีใส่ใคร คนๆ นั้นก็จะได้รับขยะต่อจากเรา เช่น พ่อโดนเจ้านายดุมา ก็รับขยะมา มาลงที่ลูก ลูกก็รับขยะมา แล้วลูกก็อาจจะเอาไปลงต่อที่ย่า ย่าก็จะไปลงที่อื่นต่อ แล้วมันก็จะวนกลับมาเป็นลูป เมื่อทีมได้ไอเดียแบบนี้แล้วจึงไปหาถังขยะที่นำมาเปรียบเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน เพื่อใช้ในการทำโชว์สื่อสารต่อไป 

ทาเล่าถึงประสบการณ์ที่ได้เล่นละครเรื่องนี้ว่าเป็นช่วงแรกๆ ที่เริ่มทำทาเล่นโชว์เขาไปเล่นที่เชียงใหม่ในช่วงฤดูฝนทำให้มีคนมาดูเพียงแค่ 2 คน แต่เขาก็ตัดสินใจที่จะเล่น กลายเป็นว่าโชว์ครั้งนั้นเขาจดจำมันขึ้นใจ เพราะได้เห็นว่าละครไร้เสียงเรื่องขยะอารมณ์ของเขานั้นได้พาคนดูทั้งสองคนเข้าไปในพื้นที่จินตนาการที่ทำงานเชื่อมสายสัมพันธ์บางอย่างของทั้งคู่ 

“ถ้ารอบนั้นผมไม่ได้เล่น ผมคงรู้สึกผิดและรู้สึกเสียดายที่สุดในชีวิต คือรอบที่มีผู้ปกครองคนหนึ่งซึ่งเขาเคยดูแล้วหนึ่งรอบแล้วอยากพาลูกมาดู วันนั้นเขาเลยพาลูกมาดู แล้วเหมือนแบกกราวด์เขาจะมีปัญหากับลูกอยู่ด้วย ขณะที่พวกเขาดูโชว์ อยู่ดีๆ ลูกก็ค่อยๆ เขยิบหาแม่ แล้วเขาก็กอดแม่ ผมเล่นไปน้ำตาไหลไป” 

ภาษาของเด็กคือ ‘ภาษาจินตนาการ’ 

ทาเล่นโชว์ (Ta Lent Show Theatre) สื่อสารเรื่องราวต่างๆ ด้วยสิ่งของในชีวิตประจำวัน ทั้งยังนำเสนอในรูปแบบละครไร้เสียง ไร้ภาษา ไม่มีคำอธิบายมากมายในเรื่องที่เล่า หากแต่งานของพวกเขาก็ได้เข้าไปทำงานกับอารมณ์ความรู้สึกของคนดูได้อย่างน่าสนใจเหมือนกับกรณีแม่ลูกที่เล่ามาข้างต้น รวมทั้งเรียกเสียงหัวเราะจากเด็กๆ ในโชว์แต่ละครั้งได้อย่างล้นหลาม ไปจนถึงสร้างห้วงเวลาแห่งความเงียบในภวังค์ของจินตนาการได้สำเร็จ 

เมื่อถามถึงจุดเด่นของศิลปะการแสดงที่ไม่ได้ใช้ภาษาหรือคำในการเล่าแบบนี้ การสื่อสารกับคนดูโดยเฉพาะเด็กๆ ยากไหมและอะไรคือจุดเชื่อมโยงระหว่างสิ่งที่เกิดขึ้นบนเวทีกับล่างเวที ทาขยายประเด็นนี้ได้อย่างน่าสนใจว่า 

“จุดเชื่อมโยงระหว่างเด็กๆ กับละครไร้ภาษาคือจินตนาการ เด็กเป็นวัยที่มีจินตนาการสูงมาก เรากำลังใช้ภาษาเดียวกันกับเด็กคือ ‘ภาษาจินตนาการ’ เด็กจะเอนจอยได้เลยทันที เพราะมันเป็นภาษาเดียวกับเขา เป็นภาษาจินตนาการที่เขามีอยู่ในหัว” 

เขายังกล่าวอีกว่าการที่งานโชว์ของพวกเขาเป็นศิลปะที่อยู่นอกกรอบภาษา นอกจากจะทำให้ทีมได้เดินทางไป ‘เล่นที่ไหนก็ได้บนโลกใบนี้’ แล้ว ยังพาคนดูหลุดจากกรอบของ ‘คำ’ ไปได้ไกล 

“พอไม่มีภาษามาปิดกั้นความหมาย บางทีผมทำท่าจับกระจก เด็กบางคนอาจคิดว่าเป็นกระจก บางคนอาจคิดว่าเป็นกำแพง บางคนอาจรู้สึกว่ามันคือการปิดกั้นทางความคิด มันคือการแชร์ประสบการณ์ที่ไม่ได้ปิดกั้นด้วยคำคำหนึ่ง ทำให้ความหมายมันไปได้ไกลมากกว่านั้น” 

เราไม่ต้องเห็นช้างทั้งตัว เราก็เห็นช้างทั้งตัวได้ 

จินตนาการคือการมีภาพอะไรบางอย่างในหัวเป็นสิ่งสำคัญมากเป็นทักษะอย่างหนึ่ง จินตนาการผลักดันสิ่งต่างๆ ให้เคลื่อนที่ไปข้างหน้า”  ทาคลี่ขยายโลกจินตนาการในคำนิยามของตัวเองผ่านการทำงานที่ผ่านมา ทั้งยังยกตัวอย่างได้อย่างเปี่ยมจินตนาการที่สะท้อนให้เห็นว่าความสร้างสรรค์เข้ามาตอบโจทย์ “ปัญหา” ที่มีอยู่ได้ 

“สิ่งที่ผมทำหลายสิ่งเกิดขึ้นจากปัญหา อย่างการไปเล่นต่างประเทศ เราอยากได้ช้างตัวใหญ่ๆ แต่เราขนของใหญ่ๆ ไปไม่ได้ สิ่งที่ตามมาคือจินตนาการที่จะทำให้เกิดสิ่งนั้นได้ เราก็เลยคิดว่าจะทำช้างยังไงให้มันดูตัวใหญ่ได้ โดยที่เราไม่ต้องขนช้างตัวใหญ่ได้ เราก็เลยเลือกเอาถุงมาทำ” 

ทาเล่าอย่างสนุกสนานยิ่งขึ้นผ่านเจ้าช้างถุงพลาสติกที่ไม่ต้องเป็นช้างทั้งตัวแต่ทำให้คนดูจินตนาการถึงกลไกการเดินการขยับของช้างตัวใหญ่ๆ ทั้งตัวได้ 

“คำว่าช้างมันไม่ต้องตีความหมายว่าจะต้องมีตัวมัน เรามีแค่หัวมันได้ไหม แล้วคุณก็สามารถเห็นได้ถึงการเคลื่อนไหวของช้างผ่านหัวของมัน การเล่าเรื่องช้างเราไม่ต้องเล่าหัว ตัว หาง ขา เราเล่าแค่หัวอย่างเดียวได้ไหม หรือยีราฟโผล่มาแต่คอยาวๆ ได้ไหม เราพบว่า ‘อ้าวก็ได้หนิ’ เด็กก็ยังเอนจอย อุ้ยนั่นไง ยีราฟ ไม่ต้องเห็นขาเลย”  

เมเสริมว่าบางทีผู้ใหญ่ชอบคิดว่าจินตนาการคือตัวการ์ตูน การวาดรูป แต่บางทีจินตนาการอาจมาในรูปแบบของกลไก การนึกภาพในหัวเป็นกลไกก็ได้ เธอยังมองว่าจินตนาการมีความสำคัญต่อทั้งการขับเคลื่อนไปของโลก  

“เราจินตนาการว่าเราจะไปดวงจันทร์ เราก็ไปดวงจันทร์ได้จริงๆ มันขับเคลื่อนโลกได้ แต่เราชอบลืมไปว่ามันทำได้นะ” 

ทาขยายต่อในมุมมองของตนว่า 

“จินตนาการคือประตูที่เปิดไปที่ไหนก็ได้ เช่นตอนนี้เรามีปัญหากับเรื่องหนึ่งอยู่ ถ้าเราใช้วิธีเดิมๆ หรือเป็นตรรกะมากๆ มันคิดไม่ออกนะ ด้วยวิธีเดิม แก้ปัญหาแบบเดิม ฟังชั่นเดิม ไม่มีทางจะเปลี่ยนผลลัพธ์ได้ แต่จินตนาการมันคือ ‘อะไรก็ได้’ อาจจริงหรือไม่ก็ได้ มันเป็นจุดเริ่มต้นที่ขยายกรอบของเราเพื่อต่อยอดไปสเต็ปที่สอง สาม และสี่ คือมันต้องเริ่มจากมีจินตนาการก่อนแล้วมันถึงจะเคลื่อนต่อไปได้” 

การทำงานในโลกจินตนาการไปกับเด็กๆ ในวันที่พวกเขาไม่เด็กแล้ว 

พูดคุยกันมาสักพักเหมือนหลุดเข้าไปในจินตนาการหลายจังหวะโดยเฉพาะเมื่อพูดถึงการทำงานของพวกเขาที่มุ่งไปยังกลุ่มเป้าหมายอย่างเด็กๆ วัยเปี่ยมจินตนาการ ทาเล่าถึงวิธีการทำงานให้ส่งถึงเด็กๆ ได้จริงๆ ว่า 

มันอาจจะต้องเปลี่ยนวิธีการทำงาน เรามีไอเดียแบบผู้ใหญ่ได้ แต่เราต้องรู้ก่อนว่าคนที่เราจะคุยเป็นใคร  อย่างถ้าต้องคุยกับเด็ก ลองเปลี่ยนภาษาเราหรือวิธีการนำเสนอของเราไหม ให้สนุก เพราะเรารูู้ว่าเด็กชอบเรื่องสนุก เราก็ต้องตั้งโจทย์ว่าพูดให้สนุก ลดความเป็นผู้ใหญ่ แล้วเพิ่มความเป็นเด็กมากขึ้น”

ทั้งนี้แม้ว่ากลุ่มเป้าหมายหลักจะเป็นเด็ก แต่ทาก็ยังยืนยันว่าถึงที่สุดแล้ว ทาเล่นโชว์เป็นการทำงานกับ ‘ครอบครัว’  

“เราไม่ได้ทำให้เด็กดูอย่างเดียว เราทำให้คนที่พาเด็กมาดูด้วย ผมนิยามทาเล่นโชว์ว่าเป็นงานแบบ family ผมเชื่อว่าครอบครัวเป็นฟันเฟืองที่เล็กที่สุดแต่สำคัญมากที่สุด ถ้าครอบครัวแข็งแรง มองภาพกว้างเราจะเห็นฟันเฟืองทำงานร่วมกันแล้วสังคมจะเคลื่อนไปได้”

เมื่อคนที่มาชมละครไม่ใช่เพียงเด็กๆ แต่เป็นคนที่พาเด็กๆ มาดูด้วย แน่นอนว่ามุมมองต่อสิ่งของที่ถูกหยิบยกขึ้นมาสร้างสรรค์เป็นเรื่องราวในมุมของเด็กและผู้ใหญ่อาจต่างกันออกไป เมชวนผู้ใหญ่หลายคนที่มาชมละคร ลองวางสายตาแห่งตรรกะแล้วกระโจนไปสัมผัสโลกจินตนาการ อาจทำให้พบสิ่งที่หล่นหายมานานของเราได้เหมือนกัน 

“บางทีผู้ใหญ่มาพร้อมตรรกะมากมาย ถือมาด้วย เข้ามาดู อยากชวนลองวางความเป็นผู้ใหญ่หรือตรรกะมากมายลงก่อน แล้วเปิดใจกับสิ่งใหม่ๆ ที่อาจดูเป็นเรื่องบ้าบอมากสำหรับการเป็นผู้ใหญ่ พอเราเปิดใจ บางทีเราอาจได้รู้สึกถึงความรู้สึกลึกๆ ที่มันอาจจะหายไปนานแล้ว” 

ทาเห็นตรงกันและเสริมต่อไปโดยชี้ชวนว่า ‘ความสนุก’ เป็นหัวใจสำคัญ บางทีพอเรายึดติดว่าเราเป็นผู้ใหญ่ แล้วเผลอเชื่อไปว่าความสนุกเป็นเรื่องของเด็กเท่านั้น

ผมว่ามันก็ไม่เคยมีรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายฉบับไหนที่บอกว่าความสนุกจำกัดไว้ที่เด็ก เราลองเอาสิ่งนี้ออกไปแล้วก็ลองอยากสนุกดูสิ อีกอย่างอาจจะเกี่ยวเหมือนกัน จริงๆ ตัวผมเองก็เป็น คือ ‘กลัวที่จะผิด’ กลัวว่าหัวเราะไปแล้ว เอ๋…เราแปลกไปจากคนอื่นหรือเปล่า หัวเราะอย่างนี้ดูเพ้อเจ้อไปไม่ใช่ผู้ใหญ่หรือเปล่า บางทีความคิดแบบนี้วางลงบ้างก็ได้ครับ มนุษย์ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะสนุกได้ไม่ว่าเพศวัยไหน” 

“หลายครั้งอาม่ามาดูละครเรา อาม่ายังขำยิ่งกว่าหลานอีก”

เมื่อถามถึงวัยเด็กของเมและทา แล้วให้พวกเขาเลือกว่าสายตาแบบเด็กๆ ว่าแบบไหนที่ผู้ใหญ่อย่างพวกเขาคิดว่าน่าเอามาใช้เรียนรู้ใหม่กับชีวิตวัยผู้ใหญ่นี้ได้ 

“เมคิดว่าน่าจะเป็นโมเมนต์ตอนเด็กที่เห็นอะไรแล้วจะลองเลียนแบบหรือเอา object มาเล่นจินตนาการเป็นสิ่งต่างๆ” 

“ส่วนผมน่าจะเป็นสายตาแบบที่อะไรก็เป็นไปได้บนโลกใบนี้ สำหรับเด็ก ไม่มีเบรก” 

ออกเดินทางต่อไปสุดขอบจินตนาการ 

ทาเล่นโชว์ยังคงเดินทางต่อไปแบบ ‘ไม่มีเบรก’ หยิบของรอบตัวขึ้นมาติ๊ต่างว่าเป็นยานอวกาศ หมุนโต๊ะขึ้นแล้วกลายเป็นเรือแล่นในมหาสมุทร ขยับเบาะเหมือนกับที่ปลาขยับตัว ละทิ้งความเชื่อว่าสิ่งของบางอย่างเป็นเพียงสิ่งของที่ถูกจำกัดความไปแล้วว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้แบบเดียวตลอดไป เพื่อมองเห็นอะไรต่อมิอะไรที่ไร้ขีดจำกัด พวกเขาจึงสนุกสนานไปกับเด็กๆ และผู้คนที่เดินทางมาร่วมสร้างสรรค์โลกจินตนาการไปด้วยกันในแต่ละโชว์เป็นเวลากว่า 3-4 ปี

“ทาเล่นโชว์ของเราสองคน ถ้าเป็นเด็กก็อายุ 3-4 ขวบ เป็นวัยที่กำลังเรียนรู้และเอนจอยกับทุกอย่างที่เกิดขึ้นในโลกนี้ ก็อยากให้เป็นกำลังใจให้พวกเรา” 

วัย 3-4 ขวบ ทาเล่นโชว์ (Ta Lent Show Theatre) เดินทางไปเล่นมาแล้วหลายที่ทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งเร็วๆ นี้จะมาแสดงที่งาน Relearn Festival 2024: Co-Creating Next Generation กับทาง Mappa อีกด้วย ไม่เพียงเท่านี้หมุดหมายในปีนี้ของพวกเขาก็ยังคง ‘ไม่มีเบรก’ เพราะความฝันคืออยากตะลุยไปเล่นให้สุดขอบโลก!   

“เรารู้สึกว่าเรามีเนื้อหาบางอย่างที่อยากสื่อสาร เราเลยคิดว่าหมุดหมายปีนี้เราอยากเดินทางไปเล่นทั่วโลก ได้ไม่ได้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง จินตนาการไว้ก่อน” 

ขอบคุณสถานที่ถ่ายภาพ: ร้าน SOLID@SOULSMITH

Writer
Avatar photo
ศิรินญา

หาทำอะไรไปเรื่อยๆ ตามประสาวัยลุ้น

illustrator
Avatar photo
พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Photographer
Avatar photo
ณัฐวุฒิ เตจา

Related Posts

Related Posts