หยุดเพื่อ ‘ซูนึง’ วันสอบระดับชาติเกาหลีใต้

หยุดเพื่อ ‘ซูนึง’ วันสอบระดับชาติเกาหลีใต้

  • ซูนึง คือ วันสอบเข้ามหาวิทยาลัยของนักเรียนเกาหลีใต้ที่เป็นโอกาสเพียงครั้งเดียวของปี เป็นโอกาสเดียวสู่อนาคตที่ดี และเป็นโอกาสเดียวที่จะเปลี่ยนสถานะทางสังคมและเปลี่ยนภาพลักษณ์
  • เด็กทุกคนจึงทุ่มเทอย่างเต็มที่และผู้ใหญ่ก็พร้อม ‘หยุด’ เพื่อให้ 9 ชั่วโมง 6 วิชาของเด็กๆ คือ เวลาของเด็กไม่ใช่ผู้ใหญ่ 
  • เพราะซูนึงไม่ได้เป็นแค่ชื่อการสอบระดับชาติ เพราะเด็กวัย 18 ปีต้องถือความรู้ ภาพลักษณ์ของตนเอง ฐานะครอบครัว และสถานะทางสังคมเข้าห้องสอบ ในสนามทดสอบความรู้ที่ไม่ต่างจาก Squid Game

ทุกพฤหัสบดีที่สองของเดือนพฤศจิกายน คือ วันสอบ ‘ซูนึง’ 

ซูนึง (Suneung – 수능) คือ วันสอบเข้ามหาวิทยาลัยของนักเรียนเกาหลีใต้ที่เรียกว่า “College Scholastic Ability Test” (CSAT)

การสอบ 9 ชั่วโมงนี้ คือ โอกาสสอบเข้ามหาวิทยาลัยเพียงครั้งเดียวในแต่ละปี โอกาสเดียวที่จะมีใบเบิกทางสู่อนาคตที่ดี โอกาสเดียวที่จะเปลี่ยนสถานะทางสังคม โอกาสเดียวที่จะเปลี่ยนภาพลักษณ์ คนเกาหลีเชื่อแบบนั้น..

เพราะในประวัติศาสตร์การสอบของเกาหลีใต้ หากขุนนางสอบข้าราชการผ่าน บุคคลนั้นจะได้เลื่อนสถานะเป็นยังบัน (ชนชั้นสูงสุด) ทันที แต่มีข้อแม้ว่าทายาทต้องสอบผ่านเช่นกัน ถ้าสอบไม่ผ่านจะต้องกลับไปเป็นสามัญชน

การสอบและการร่ำเรียนอย่างหนักสำหรับนักเรียนเกาหลีใต้จึงสำคัญ เพราะชีวิตของเขา ชีวิตครอบครัว และอนาคตของสายเลือดขึ้นอยู่กับการสอบ

เช่นเดียวกับปัจจุบัน เนื่องจากสังคมเกาหลีใต้มีอัตราการแข่งขันและภาวะว่างงานสูง ข้อมูลล่าสุดจาก ฐานข้อมูลสถิติและบทวิเคราะห์สถิติของอุตสาหกรรมและประเทศทั่วโลก (Statista) ในเดือนพฤษภาคม 2564 พบว่า อัตราการว่างงานของคนเกาหลีใต้วัยรุ่นอายุ 20-29 ปี อยู่ที่ 9.3%

เพื่อให้เรียนจบแล้วมีงานทำและความมั่นคงในชีวิต การสอบจึงเป็นหลักไมล์สำคัญ และต้องเข้า SKY เท่านั้น

SKY คือ 3 มหาวิทยาลัยเด็กเกาหลีใฝ่ฝัน ประกอบด้วย S – Seoul National University มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล

K – Korea University มหาวิทยาลัยเกาหลี และ Y – Yonsei University มหาวิทยาลัยยอนเซ

ปี 2563 มีผู้เข้าสอบประมาณ 500,000 คน มีเพียง 1% ที่สอบติด SKY

เพราะการสอบสำคัญต่อการกำหนดอนาคต เด็กทุกคนจึงทุ่มเทอย่างเต็มที่และผู้ใหญ่ก็พร้อม ‘หยุด’ เพื่อให้ 9 ชั่วโมง 6 วิชาของเด็กๆ คือ เวลาของเด็กไม่ใช่ผู้ใหญ่ 

ถึงแม้จะเจ็บปวด แต่ก็ต้องเตรียมตัวให้มากที่สุด

ก่อนสอบ สิ่งที่ต้องเตรียม คือ การอ่านหนังสือสอบ

นักเรียนเกาหลีใต้ไปโรงเรียนก่อนคาบแรกและกลับบ้านเมื่อโรงเรียนปิดเพื่ออ่านหนังสือ

อีกทั้งยังมีเด็กจำนวนมากต้องเรียนกวดวิชาหลังเลิกเรียนจนเกือบต้อนรับวันใหม่ด้วยเวลา 00.00 น.

เท่ากับว่า เด็กๆ อยู่โรงเรียนมากกว่าบ้าน พวกเขาอยู่โรงเรียนและโรงเรียนกวดวิชาวันละ 14 ชั่วโมง

จางจีฮุน นักเรียนชั้นม.6 หนึ่งในผู้เข้าสอบซูนึง ให้สัมภาษณ์กับทีมสารคดี Suneung: The Most Important Exam for Korean High Schoolers ของ Asian Boss ว่า เขาอ่านหนังสือวันละ 8 ชม. และบอกตัวเองให้อ่านหนังสืออย่างเคร่งครัด

“บางครั้งผมก็อยากออกไปเที่ยวกับเพื่อน แต่ผมทำแบบนั้นไม่ได้ เพราะมันจะลดเวลาอ่านหนังสือ ต้องคอยบอกตัวเองว่าไม่ควรทำแบบนั้น”

นอกจากอ่านหนังสือ นักเรียนยังต้องทำเกรดเฉลี่ยให้ดี มองหาประสบการณ์ ลงมือทำกิจกรรม และเลือกคุณครูที่ไว้ใจเขียนใบแนะนำตัวจากสถานศึกษาเพื่อให้พวกเขาสมบูรณ์แบบที่สุด เท่าที่พวกเขาจะทำได้

ไม่ใช่แค่เด็ก แต่พ่อแม่ก็ทุ่มเทไม่ต่างกัน ด้วยความหวังว่า “ลูกจะมีอนาคตที่ดีกว่าพ่อแม่”

จึงเป็นที่มาของปรากฎการณ์ของ ‘Dwaeji Omma’ หรือเครือข่ายแม่ที่รวมตัวกันจากการพบปะตามงานสังคมหรือเจอกันในโรงเรียน มีกลุ่มแชทและนัดกินข้าวในบ้างครั้ง เพื่อวางแผนการศึกษาให้กับลูก 

แผนการศึกษาที่ออมม่าต้องการ คือ ติวเตอร์ชื่อดังในสถาบันกวดวิชาเขตคังนัมของโซลที่การันตีว่า ลูกจะสอบติด SKY

ความคาดหวังของพ่อแม่ถูกผนวกรวมกับแรงกดดันในตัวเองของลูก คือ ความเจ็บปวดและบาดแผลที่เด็กคนหนึ่งแบกรับไว้

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติเกาหลี ปี 2559 ระบุว่า การฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุของการตายสูงที่สุดของคนเกาหลีวัย 9-24 ปี สูงถึง 10.3 คน ต่อประชากร 100,000 คน และร้อยละ 37.2 ในช่วงอายุดังกล่าวฆ่าตัวตายเพราะเครียดและกดดันจากโรงเรียนและการทำงาน

ในประเทศที่การศึกษามีไว้พัฒนาคนบนโลกทุนนิยม ทุกคนต้องสมบูรณ์แบบและผลักดันให้ “ตัวเราต้องดีขึ้นและเก่งขึ้น”และดีที่สุดเพื่อเป็นผู้รอดชีวิตในสนามแข่งเรียนนี้

 “เตรียมดีมีชัยไปกว่าครึ่ง”คงเป็นนิยามการเตรียมสอบของเด็กๆ เกาหลีใต้ ถึงระหว่างทางจะล้มลุกคลุกคลาน ยอมแพ้ ร้องไห้ เสียใจบ้างก็คงไม่เป็นไรเพราะนี่คือสิ่งที่เด็กคนหนึ่ง ในฐานะลูก นักเรียน และพลเมืองจะทำได้แล้ว 

หยุดทุกอย่างเพื่อซูนึง 

ซูนึงจะสอบทั้งหมด 6 วิชา คือ  ภาษาเกาหลี  คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ประวัติศาสตร์เกาหลีและสังคมศึกษา หรือ วิทยาศาสตร์ หรือ อาชีวศึกษา  และ ภาษาต่างประเทศ ระยะเวลารวม 9 ชั่วโมง ตั้งแต่ 8.40 – 17.40 น.

เพราะการสอบเป็นตัวกำหนดชีวิต ผู้ใหญ่จึงหยุดเพื่อเด็ก

ก่อนสอบ 1 สัปดาห์ กรมอุตุนิยมวิทยาจะต้องประกาศสภาพอากาศวันสอบ เพื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเตรียมรับมือและอำนวยความสะดวก เช่น เตรียมการขนส่ง มาตรการกำจัดหิมะ หรือเตรียมเส้นทางพาเด็กที่อยู่ห่างไกลมาสอบ

พอถึงวันสอบจริง รัฐบาลจะขอความร่วมมือให้หน่วยงานราชการและภาคธุรกิจในท้องที่ปรับเวลาทำงานจาก 9.00 น. เป็นหลัง 10.00 น. อีกทั้งธนาคารและห้างสรรพสินค้าเลื่อนเวลาเปิดให้ช้าลงเพื่อลดปริมาณการจราจรก่อนสอบ

ระบบสาธารณะขยายเวลาเร่งด่วน ขยายเส้นทาง เพิ่มรอบรถไฟใต้ดิน และจัดเตรียมยานพาหนะฉุกเฉินฟรีเพื่อให้นักเรียนสอบทันเวลา

ปี 2564 มีห้องสอบสำหรับนักเรียนที่ติดโควิด 2,895 ห้อง จากห้องสอบรวมกว่า 20,000 ห้องสอบ รวมถึงมีห้องสอบอีก 210 เตียงและอีก 12 เตียง ณ ศูนย์รักษาประจำท้องถิ่น 

และเวลา 13.05-13.40 น. วันที่ 18 พฤศจิกายน 2564 คือ การสอบฟัง รัฐบาลขอความร่วมมือห้ามเครื่องบินผ่านศูนย์สอบ ห้ามฝึกซ้อมทางทหาร ขอความร่วมมือผู้ขับยานพาหนะขับช้าลง งดบีบแตร และงดกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดเสียงรบกวน

ส่วนพ่อแม่ก็หยุดงาน แล้วเลือกจะไปวัด เข้าโบสถ์ ขอพรให้ลูกมีสมาธิและสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่หวังได้ 

ถึงพ่อแม่จะไม่รู้ว่าพรที่ขอจะเป็นจริงหรือไม่ แต่เป็นสิ่งที่พ่อแม่จะทำได้เพื่อลูก

นอกจากพรของพ่อแม่แล้ว ยังมีคำอวยพรจากเหล่าไอดอล K-Pop จากค่ายต่างๆ มากกว่า 30 วง ทั้งศิลปินเดี่ยวและศิลปินกลุ่มที่นัดโพสท์คลิปให้กำลังใจพร้อมกันก่อนวันสอบตอน 12.00 น.

หลายๆ วงพูดตรงกันว่า “ถึงหลายคนจะกังวล แต่เราหวังว่าคุณจะได้คะแนนดีตามที่คุณเตรียมพร้อมมาอย่างหนัก” 

การทุ่มเทอย่างหนัก ทั้งเวลา ความสุข และงบประมาณสำหรับการสอบ เพราะเขาเชื่อว่า ความพยายามอย่างหนักจะนำมาสู่ความสำเร็จ

เราต้องไปให้สุดทางก่อน อย่างน้อยเราก็ได้ลองทำอย่างเต็มความสามารถ “ทุกนาทีมีค่าและพวกเขาจะแพ้ไม่ได้”

เหตุผลที่แพ้ไม่ได้ เพราะ ในสังคมที่คนต้องวิ่งตามการพัฒนาของประเทศ ถ้าแพ้ พวกเขาอาจเป็นคนกลุ่มหนึ่งที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

ซูนึง จึงไม่ได้เป็นแค่ชื่อการสอบระดับชาติ เพราะเด็กวัย 18 ปีต้องถือความรู้ ภาพลักษณ์ของตนเอง ฐานะครอบครัว และสถานะทางสังคมเข้าห้องสอบ

ชีวิตของนักเรียนม.ปลายใน 18 พ.ย. ไม่ต่างจาก Squid Game “พวกเขาจะแพ้ไม่ได้” เพราะซูนึงคือบททดสอบการเอาตัวรอดที่มีการศึกษาเป็นเดิมพัน

อ้างอิง

หนังสือกำเนิดกระแสเกาหลี (The Birth of Korean Cool)

https://www.scmp.com/week-asia/health-environment/article/3112224/coronavirus-south-korean-students-face-double-dread

https://www.dek-d.com/studyabroad/58827/

https://www.admissionpremium.com/content/3035

https://www.npr.org/sections/parallels/2015/04/15/393939759/the-all-work-no-play-culture-of-south-korean-education

https://www.statista.com/statistics/949066/south-korea-unemployment-by-age-group/

Writer
Avatar photo
ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์

ชอบดูซีรีส์เกาหลี เพราะเชื่อว่าตัวเราสามารถสร้างพื้นที่การเรียนรู้ได้ สนใจเรื่องระบบการศึกษาเเละความสัมพันธ์ในครอบครัว พยายามฝึกการเล่าเรื่องให้สนุกเเบบฉบับของตัวเอง

Related Posts

Related Posts