แพลตฟอร์มคู่ใจวัยรุ่น ช่วยคิด ช่วยแก้ไขปัญหาในวันที่ไม่พร้อมจะบอกใคร กิจการเพื่อสังคมที่ชนะเลิศ โครงการ Banpu Champions for Change (BC4C) ในงาน Impact Day 2023
แพลตฟอร์มคู่ใจวัยรุ่น ช่วยคิด ช่วยแก้ไขปัญหาในวันที่ไม่พร้อมจะบอกใคร กิจการเพื่อสังคมที่ชนะเลิศ โครงการ Banpu Champions for Change (BC4C) ในงาน Impact Day 2023
โครงการ ‘พลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม’ หรือ ‘Banpu Champions for Change (BC4C)’ เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และสถาบัน ChangeFusion องค์กรไม่แสวงผลกำไร ภายใต้มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2011 ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่กิจกรรมเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise (SE) เริ่มเข้ามามีบทบาทในประเทศไทย ปัจจุบันโครงการ BC4C สานต่อมาสู่ปี 12 แล้ว โดยมีภารกิจสำคัญในการสนับสนุนผู้ประกอบการกิจการเพื่อสังคม โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้ออกมาโชว์พลังสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาสังคมผ่านการดำเนินธุรกิจที่สามารถสร้างกำไรและแก้ปัญหาสังคมไปพร้อมๆ กัน
ในแต่ละปี โครงการ BC4C จะจัดงาน Impact Day ซึ่งถือเป็นกิจกรรมสำคัญที่เปิดโอกาสให้ SE ได้พบกับกลุ่มลูกค้า เพิ่มโอกาสในการขยายตลาดเพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคงยิ่งขึ้น ในปีนี้ กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นภายใต้แนวคิด ‘Impact Day 2023: Where Tourism Meets Social Good กิจการเพื่อสังคมเชื่อมโยงชุมชนและท่องเที่ยวไทย’ โดยชูประเด็นด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนกับกิจการเพื่อสังคม เพื่อเปลี่ยนธุรกิจการท่องเที่ยวแบบธรรมดาให้สามารถส่งต่อชีวิตชีวาและคุณค่าให้กับชุมชนและสังคมได้
ในงานนี้ คุณรัฐพล สุคันธี ผู้อำนวยการสายอาวุโส-สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เล่าถึงประเด็นสำคัญของงานว่า ตลอดระยะเวลา 12 ปีของโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม ทางบริษัทฯ ได้สนับสนุนกิจการเพื่อสังคมประมาณมาแล้วกว่า 130 กิจการ ให้มีโอกาสทดลองดำเนินธุรกิจไปพร้อมกับการขับเคลื่อนปัญหาสังคม ซึ่งกิจการของผู้ประกอบการเหล่านี้มีแนวโน้มในการอยู่รอดได้ประมาณ 70% และสร้างประโยชน์ให้กับคนมาแล้วกว่า 2.5 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างผลกระทบในเชิงบวกอย่างเป็นรูปธรรมมาตลอด 12 ปีที่บ้านปูมีต่อสังคมไทย
ความเชื่อมั่นของบริษัทบ้านปูที่มีต่อผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคม ทำให้ผู้ประกอบการเพื่อสังคมหน้าใหม่ได้ริเริ่ม ต่อยอด และสร้างสรรค์ผลงานที่สร้างผลกระทบทางบวกให้กับสังคมในวงกว้างขึ้นและหลากหลายมิติมากขึ้น อาทิ เรื่องเพศ การศึกษาปัญหาสุขภาพจิต และการท่องเที่ยว เป็นต้น
ผู้ประกอบการที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการฯ ในกระบวนการบ่มเพาะกิจการระยะเริ่มต้น (Incubation Program) จะเป็นกิจการที่เพิ่งเริ่มฟูมฟัก อยู่ระหว่างการเติบโต โดยเข้าร่วมโครงการฯ เพื่อรับการสนับสนุน ในด้านความรู้ ทรัพยากร การวางกลยุทธ์ และอื่นๆ โดยมีที่ปรึกษาที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น การเงิน การบัญชี การตลาด และการพัฒนาธุรกิจ มาให้คำปรึกษาอย่างเข้มข้นตลอดทั้งโครงการ นอกจากนี้ โครงการฯ ยังเชื่อมโยงกิจการเพื่อสังคมกับหน่วยงานภาครัฐ อาทิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และนักลงทุนกลุ่มต่างๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถต่อยอด เห็นแนวทางการดำเนินกิจการให้เติบโตอย่างยั่งยืน และสามารถแก้ปัญหาสังคมได้อย่างแท้จริง
ภายในงาน Impact Day 2023: Where Tourism Meets Social Good มีกิจกรรมที่เป็นไฮไลต์มากมาย อาทิ
- Talk Session: ‘อนาคตธุรกิจเพื่อสังคมและ SE Ecosystem ของไทย’ เปิดมุมมองเทรนด์อนาคตของการผลักดันธุรกิจเพื่อสังคมไทยให้เติบโต โดย นายรัฐพล สุคันธี ผู้อำนวยการสายอาวุโส-สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) นายสุนิตย์ เชรษฐา ผู้อำนวยการสถาบัน ChangeFusion พร้อมด้วยเหล่าผู้คร่ำหวอดในวงการกิจการเพื่อสังคม ได้แก่ ดร.วรวิทย์ จิรัฐิติเจริญ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม และ นายสมศักดิ์ บุญคำ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โลเคิล อไลค์ จำกัด (Local Alike) มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในแง่มุมของอนาคตและทิศทางการเติบโตของธุรกิจเพื่อสังคม
- SE Market: เปิดตลาดช้อปปิ้ง Package ท่องเที่ยวและช้อปสินค้างานฝีมือสุดชิคจาก SE ไทยกว่า 20 ร้านค้า
และอีกหนึ่งกิจกรรมสำคัญ คือการประกาศผล 3 ผู้ชนะกิจการเพื่อสังคมระยะเริ่มต้น (Incubation Program) โดยทั้ง 3 ทีมจะได้รับเงินสนับสนุนเพิ่มเติมอีกทีมละ 250,000 บาท เพื่อต่อยอดการดำเนินการธุรกิจ จากบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) โดยรางวัลนี้พิจารณาผลการคัดเลือกจากโมเดลธุรกิจที่มีแนวทางในการสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพ รวมถึงมีตัวชี้วัดในการสร้างผลกระทบทางบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม
โดยหนึ่งในนั้นคือ ‘Sex-O-Phone’ แพลตฟอร์มออนไลน์คู่ใจวัยรุ่นที่พร้อมให้คำปรึกษา แก้ไขปัญหา และความสงสัยในเรื่องเพศของวัยรุ่น และลด ‘ภาวะท้องไม่พร้อม’ ในวัยเรียน ที่พัฒนาขึ้นโดย พญ.ศิศีมาส สุวรรณวิจิตร กุมารแพทย์ในฐานะประธานกรรมการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง (CEO and Co-Founder) นพ.พีรวัส สรรค์ธีรภาพ ประสาทศัลยแพทย์ คุณกนกกร ชูประภาวรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งที่ดูแลด้านการตลาด (Marketing) และคุณพรนภสอน หงวนศิริ นักจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่น
Sex-O-Phone พื้นที่ปลอดภัย ให้ความรู้เรื่องเพศ และแก้ปัญหา ‘ท้องไม่พร้อมในวัยเรียน’ อย่างสร้างสรรค์
หมอฝ้าย – แพทย์หญิงศิศีมาส สุวรรณวิจิตร กุมารแพทย์ในฐานะประธานกรรมการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง Sex-O-Phone หนึ่งในกิจการเพื่อสังคมที่ชนะเลิศของกิจการเพื่อสังคมระยะเริ่มต้น (Incubation Program) ภายใต้โครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม (Banpu Champions for Change: BC4C) รุ่นที่ 12 เล่าถึงแรงบันดาลใจในการพัฒนาแพลตฟอร์ม Sex-O-Phone ว่า “จากการเป็นกุมารแพทย์ที่คอยรับฟังปัญหาต่าง ๆ ของคนไข้ในโรงพยาบาลรัฐหนึ่งในกรุงเทพฯ ปัญหาสำคัญที่พบเจอคือ ปัญหาเรื่องเพศและปัญหาท้องในวัยเรียน ซึ่งจุดนี้ ทำให้ฝ้ายเห็นว่าเราควรมีช่องทางเพื่อให้ความรู้แก่วัยรุ่น และเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่เขาไว้ใจ กล้าเปิดใจมาขอคำปรึกษาวัยรุ่ย โดยเฉพาะเรื่องเพศ เพื่อช่วยลดปัญหาสังคมต่าง ๆ ที่จะตามมา”
วัยรุ่นไทยไม่ได้กังวลแค่เรื่องเพศ
“ถ้าเป็นเรื่องเพศ อย่างมากเราก็อาจจะเจอคำถามว่า ‘วิธีคุมกำเนิดอะไรดีที่สุด’ แต่ปัญหาที่อื่นๆ ที่ตามมาและดูเหมือนจะเป็นปัญหาเรื้อรังและแก้ไขได้ยากกว่า คือ การโดนบูลลี่ และปัญหาครอบครัว ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพจิตของวัยรุ่น” … ปัจจุบันแพลตฟอร์ม Sex-O-Phone ไม่ได้ให้ความรู้และคำปรึกษาเฉพาะเรื่องเพศเท่านั้น แต่ยังขยายขอบเขตไปถึงการดูแลสุขภาพจิตใจของวัยรุ่น โดยทำหน้าที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่วัยรุ่นสามารถเข้ามาพูดคุยได้ทันที 24 ชั่วโมงโดยไม่ต้องทำการนัดหมายล่วงหน้า และไม่มีค่าใช้จ่าย
รูปแบบของแพลตฟอร์ม Sex-O-Phone ผู้ที่เข้าใช้บริการสามารถเข้าได้ผ่านไลน์ออฟฟิเชียล Sex-O-Phone เลือกการพูดคุยได้ทั้งในรูปแบบของการแชทและวอยซ์คอล โดยจะมีระบบการปกปิดตัวตันและรักษาความลับของผู้ที่เข้ามารับบริการ อีกทั้ง ยังมีการใช้ระบบ AI เป็นตัวดักจับกรณีที่ฉุกเฉิน อย่างเช่น หากมีคนพิมพ์แชทมาว่า “อยากตาย” ระบบก็จะแจ้งเป็นเคสฉุกเฉิน ส่งการแจ้งเตือนไปยังแพทย์หรือนักจิตวิทยาที่อยู่เวรดูแลแพลตฟอร์มในเวลานั้น เพื่อให้มาตอบผู้ใช้บริการรายนี้ทันทีภายใน 10 นาที ซึ่งสามารถตอบได้ทัน และวัยรุ่นส่วนหนึ่งก็บอกว่า “ขอบคุณมากที่มาตอบ เพราะบางคนทักแชทที่อื่นๆ ไปไม่มีคนตอบเลย” เพราะเขาแค่ต้องการคนรับฟัง
จากการให้บริการผ่านแพลตฟอร์มมาช่วงระยะเวลาหนึ่งพบว่า มีวัยรุ่นส่วนหนึ่งต้องการที่พึ่งทางใจในระยะยาว ขอรับคำปรึกษาอย่างต่อเนื่อง และมีคนคอยให้กำลังใจเพื่อให้พวกเขาก้าวข้ามปัญหาได้อย่างแท้จริง “สำหรับกลุ่มวัยรุ่นที่เราพูดคุยกับพวกเขาอย่างต่อเนื่อง เราจะนัดพูดคุยกันทุกสัปดาห์ และในแต่ละครั้งเราจะให้การบ้าน เพื่อให้เขาลองเปลี่ยนวิธีคิด วิธีการแก้ไข แล้วในสัปดาห์ต่อไป เขาก็จะมาอัปเดตว่าเมื่อลองเปลี่ยนวิธีแล้ว ผลลัพธ์ที่ได้ดีขึ้นหรือไม่ ต้องการขอคำปรึกษาต่อหรือเปล่า และสำหรับเคสไหนที่ทาง Sex-O-Phone พิจารณาแล้วว่า การให้คำปรึกษาอาจไม่เพียงพอ เราจะประสานไปยังเครือข่ายที่สามารถรักษาต่อได้ทันที”
นอกจาก Sex-O-Phone จะทำหน้าที่เป็นเพื่อนคู่ใจของกลุ่มวัยรุ่นแล้ว ก็ยังสามารถเป็นคู่คิดให้กับกลุ่มผู้ปกครองที่ต้องการคำแนะนำในการเลี้ยงดูบุตรหลานที่อยู่
ในช่วงวัยรุ่น ซึ่งเป็นช่วงวัยที่ต้องอาศัยการทำความเข้าใจ “ที่ผ่านมา มีผู้ปกครองหลายท่านทักเข้ามาขอคำปรึกษาเรื่องของเด็กๆ เช่น ลูกเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น พอย้ายโรงเรียนก็ไม่ยอมทำนู่นทำนี่ พ่อแม่ต้องทำยังไงดี พ่อแม่ต้องสนับสนุนลูกยังไง ปัญหาเหล่านี้เราก็สามารถช่วยและให้คำตอบเขาทีละขั้นตอนได้” หมอฝ้ายกล่าวเสริม
หัวใจสำคัญคือการเป็น ‘พื้นที่ปลอดภัย’
ทำไมวัยรุ่นไทยถึงยังมีปัญหาเรื่องเพศ ทั้งๆ ที่เพศศึกษาเป็นหนึ่งในวิชาเรียน? งานวิจัยพบว่าการสอน ‘เพศศึกษา’ ในห้องเรียนไทยยังไม่ช่วยให้เยาวชนมีทักษะเรื่องเพศที่ถูกต้อง และในยุคที่สื่อโซเชียลมีเดียเข้ามามีอิทธิพล อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในการรับ–ส่งความรู้ ความเข้าใจเรื่องเพศในทางที่ผิด เช่น การหลั่งข้างนอกไม่ทำให้ท้อง การใส่ถุงยางอนามัยสองชั้น หรือความเข้าใจเรื่องสุขภาวะ รวมถึงการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยในกลุ่มโรคที่เกิดจากการติดต่อผ่านทางเพศสัมพันธ์อย่างโรคเอดส์ (HIV: Human Immunodeficiency Virus)
ปัญหาเหล่านี้ทำให้ Sex-O-Phone อยากที่จะเข้ามามีบทบาทในการสร้างเสริมองค์ความรู้ที่ถูกต้อง และคอยสร้างภูมิคุ้มกันให้วัยรุ่นไทยมีมุมมองการรับมือกับปัญหาชีวิตได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะปัญหาเรื่องเพศอันจะนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตในระยะยาว ซึ่งภารกิจหลักของ Sex-O-Phone อาจไม่ใช่เพียงแค่การรับฟังและรีบรุดแก้ปัญหา แต่ต้องทำให้กลุ่มเป้าหมายรู้สึกว่าแพลตฟอร์มของเราเป็น “พื้นที่ปลอดภัย” ที่พวกเขาสามารถแวะเวียนเข้ามาพูดคุยได้อย่างเปิดใจ หมอฝ้ายได้พูดถึงประเด็นสำคัญที่ผู้ใหญ่รอบตัวเด็กมักมองข้าม คือการเข้าใจ “ราก” ของปัญหาที่เด็กพบเจออย่างแท้จริง การพูดคุยจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะสร้างความเข้าใจและนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างถูกจุดต่อไป
มาถึงบรรทัดนี้ หลายท่านคงรู้สึกได้ว่ากิจการเพื่อสังคมในประเทศไทยมีศักยภาพไม่ธรรมดา หากอยากติดตามผลงานของ Sex-O-Phone สามารถติดตามได้ที่ Facebook : Sex-O-Phone และหากอยากติดตามกิจการเพื่อสังคมรายอื่นๆ หรือข้อมูลข่าวสารสร้างแรงบันดาลใจสำหรับนักกิจการสังคมมือใหม่ที่อยากเป็นส่วนหนึ่งของโครงการดีๆ กับบ้านปูแล้วล่ะก็ สามารถติดตามได้ที่ Facebook: Banpu Champions for Change ได้เลย
Writer
mappa
illustrator
สิริกร พรอนงค์
ดีไซน์เนอร์, นักวาด และอาร์ตไดมือใหม่ที่ชอบไปทะเล