ฟ้อนใส่เสียงกีตาร์ ยกหน้าฮ่านมาไว้ในบาร์แจ๊ส: ไทม์ไลน์ชีวิตของ ‘รัสมี อีสานโซล’ ศิลปินผู้ปลุกกระแสหมอลำยุคใหม่ในเมืองไทย
ฟ้อนใส่เสียงกีตาร์ ยกหน้าฮ่านมาไว้ในบาร์แจ๊ส: ไทม์ไลน์ชีวิตของ ‘รัสมี อีสานโซล’ ศิลปินผู้ปลุกกระแสหมอลำยุคใหม่ในเมืองไทย
ในวันที่ ‘หมอลำ’ ถูกทำให้กลายเป็นสิ่งอนุรักษ์ วัฒนธรรมท้องถิ่นถูกขยับออกไปจนเป็นเรื่องที่ค่อนข้างไกลตัวคนรุ่นใหม่ แป้ง-รัสมี เวระนะ หรือ Rasmee นักร้องและนักแต่งเพลงชาวอุบลราชธานี นำเอาความงดงามของดนตรีพื้นบ้านทั้งหมอลำ เจรียง และกันตรึม มาผสมผสานกับดนตรีสากล จนกระทั่งออกมาเป็นผลงานเพลงยุคใหม่ที่ไม่เหมือนใคร เสียงเอื้อน เสียงโอ่ ถูกนำมาขับขานควบคู่กับเสียงดนตรีหลากหลายแนว ทั้งร็อก ทั้งแจ๊ส ทั้งโซล ปลุกกระแสเพลง ‘หมอลำยุคใหม่’ ให้คนรุ่นใหม่หันมาให้ความสนใจและเริ่มติดใจในรสชาติของหมอลำ จนกลายเป็นกระแสและดังไกลถึงต่างแดน
แป้งมองว่าดนตรีไม่มีเส้นแบ่งเขตแดน เธอพร้อมที่จะสำรวจจักรวาลดนตรีและค้นหาสิ่งใหม่ๆ เพื่อนำมาสร้างสรรค์ผลงานเพลงออกมาให้ผู้คนได้สัมผัสถึงความกลมกล่อมที่เธอตั้งใจนำเสนอออกไป ชีวิตบนเส้นทางเสียงเพลงของแป้ง จึงมีเรื่องราวที่หลากหลาย ซึ่งล้วนได้มาจากการสำรวจและก้าวไปตามเส้นทางชีวิต และเรื่องราวเหล่านี้ก็ถูกบรรจุอยู่ในบทเพลงของ Rasmee ที่พวกเราได้ฟังกัน
วันนี้เราขอพาทุกคนไปรับฟังเรื่องราวของ Rasmee ตั้งแต่เมื่อครั้งที่เธอยังเป็น ‘เด็กหญิงแป้ง’ กระทั่งในวันนี้ที่เธอได้กลายมาเป็น ‘แป้ง Rasmee’ ผ่านบทเพลงที่เธอแต่งขึ้นมาเอง ไม่แน่ว่าการได้รับรู้เรื่องราวที่ซ่อนอยู่ในเพลงโปรดของใครหลายคน อาจทำให้บทเพลงเหล่านี้ยิ่งไพเราะและมีความหมายมากขึ้นกว่าเดิม
ลำดวน
“เรื่องเศร้าแต่โดนมา คิดสิป๋าผัวนั้น แต่ใจฉันยังฮักเจ้าอยู่
ยอดพธูพ่อคนเจ้าชู้ มีเมียน้อยแม่นหลายคน
ฉันต้องทนฝืนกลั้น ผ่านคืนวันอันขมขื่น
บางคืนนางนอนไห้สะอื้น ลางคืนไห้แม่นบ่เซา
ตัวน้องรักเขามากนะพี่ ต้องอยู่อย่างนี้เหมือนดังคนบ้า
ต้องขออำลาคนใจร้าย..คนใจร้าย…”
ท่วงทำนองดนตรีที่ไพเราะ ลึกลับน่าค้นหา ผสมผสานเข้ากับน้ำเสียงอันทรงพลังที่ถูกขับร้องออกมา ทำให้ ‘ลำดวน’ บทเพลงที่พรรณนาความรู้สึกเศร้าโศกของหญิงคนหนึ่ง ได้กลายมาเป็นหนึ่งในผลงานของ Rasmee ที่ได้รับความนิยมและเป็นที่ชื่นชอบของใครหลายคน ทว่าเรื่องราวในบทเพลงนี้ ไม่ได้เป็นเรื่องราวที่แป้งแต่งขึ้นมาใหม่ แต่แต่งจากเรื่องราวของ ‘คุณยายลำดวน’ คุณยายแท้ๆ ผู้เป็นที่รักและติดตรึงอยู่ในความทรงจำในวัยเด็กของเธอเสมอมา
“ลำดวน คือชื่อของคุณยาย เราได้อยู่กับท่านตอนเราอายุ 4 ขวบ พอท่านเสียไปแล้วก็ได้ยินเรื่องราวจากคุณแม่ว่าความรักของคุณยายขมขื่นมาก คุณตาท่านเป็นทหาร ต้องไปรบที่อื่น พอกลับมาบ้านก็พาผู้หญิงคนใหม่มาด้วย หน้าที่ของคุณยายตอนนั้นก็คือต้องอยู่กับลูก ดูแลลูก ต้องอดทน แล้วแกก็เสียชีวิตตอนอายุ 42 ปี เราก็เลยนำหมอลำเต้ยมาแต่งเป็นเพลงที่มีเรื่องราวของคุณยาย เพราะอยากถ่ายทอดในมุมของผู้หญิงที่ต้องทุกข์ทรมานในด้านความรัก”
แป้งเล่าว่าสภาพสังคมในสมัยนั้นยังคงมีแนวคิดชายเป็นใหญ่ที่ค่อนข้างเข้มข้น ผู้ชายมีสิทธิ์ทำอะไรก็ได้ ขอเพียงมีกำลังมากพอที่จะเลี้ยงปากท้องลูกเมีย แต่เธอรู้สึกว่าแม้ทรัพย์สินเงินทองเหล่านั้นจะใช้เลี้ยงปากท้องได้ แต่ก็ไม่สามารถหล่อเลี้ยงหรือทดแทนความรู้สึกของฝ่ายหญิงที่สูญเสียไปได้ จึงตั้งใจเขียนเพลงนี้ขึ้นมาเพื่อสื่อถึงความรักและความเศร้าของเธอที่มีต่อเรื่องราวของยาย บันทึกเก็บเอาไว้เป็นความทรงจำ
“เราจำช่วงเวลาที่ได้อยู่กับยายไม่ค่อยได้ แต่แม่จะเล่าให้ฟังว่าเวลาเราอยากกินอะไร อยากได้อะไร ท่านก็จะหามาให้ เพราะเราเป็นหลานคนแรก ท่านก็จะเห่อ แต่ก็พอจะจำความได้ว่าในตอนที่มีงานศพท่าน ตอนนั้นเราเพิ่ง 4 – 5 ขวบ ยังไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น พอเขาเข็นศพไปใส่ไว้ในรถ เราก็คิดในใจว่า อุ๊ย ยายขี่รถสบายใจเลย (หัวเราะ)”
เพลงรักของบุญเริญ
“เปรียบตัวน้องเหมือนนกที่ร้องโศกบนต้นไทร
พี่ไปเจอสาวใหม่ ถูกใจ พี่ลืมน้อง พี่ลืมพ่อ พี่ลืมแม่
ขอให้จงสุขี แต่น้องนี้ตรอมตรม
ถึงแม้ว่าเสร็จนาข้าว ไร่มัน แต่ตัวพี่นั้นไม่เคยคืนมา”
(คำแปล จาก YouTube: @rasmee)
“เพลงนี้หากินกับครอบครัวอีกแล้ว (หัวเราะ) บุญเริญ คือชื่อคุณพ่อ ท่านแต่งเพลงรักที่สื่อถึงผู้ชายที่รอคอยผู้หญิงที่ไปทำงานที่อื่น ไปเห็นเมืองหลวงศิวิไลซ์ เธอก็คงไม่กลับมาแล้ว แต่ฉันก็ยังรอเธออยู่ เราก็ไปขอเนื้อร้องจากท่านมาปรับ เขียนเป็นมุมมองของผู้หญิงว่าพี่เป็นยังไงบ้าง ก็ไม่ได้เปลี่ยนอะไรเยอะแค่เปลี่ยนสรรพนามจากชายเป็นหญิง”
แป้งเริ่มเข้าสู่เส้นทางการเป็นนักร้องจากการร้องเพลงตามงานของโรงเรียน โดยมี พ่อบุญเริญ เป็นผู้คอยผลักดันและเป็นครูสอนร้องเพลงของเธอ ในยุคสมัยที่การฟังเพลงจากเครื่องเล่นเทปนั้นเข้าถึงได้ยาก เพลงทุกเพลงที่แป้งเริ่มหัดร้อง ล้วนเป็นเพลงที่พ่อร้องให้ฟัง โดยที่เธอยังไม่เคยได้ยินเสียงร้องของเพลงต้นฉบับเลยสักครั้ง
“เราไม่ได้อยากเป็นนักร้อง เพราะเราไม่ค่อยมั่นใจในตัวเอง แต่คุณพ่อเขาเห็นแววเรา เห็นว่าเป็นทางที่เราถนัด พ่อจะคอยฝึกให้เราเอื้อน ฝึกใช้ลูกคอ ร้องเพลงด้วยกันทุกวัน ช่วงที่มีประกวดก็ยิ่งต้องซ้อมหนัก ต้องร้องจนกว่าเขาจะพอใจ ซึ่งจริงๆ แล้วเราก็ไม่ได้ชอบการร้องเพลงนะ แต่คนอื่นมองว่าเรามีพรสวรรค์ พอเราไปแข่งเราก็จะคิดแค่ว่ามันได้เงิน แล้วเราก็เอาเงินกลับไปให้ที่บ้าน พอจบ ป.6 เราก็ทำงานในวงดนตรี มันเป็นทั้งความชอบและไม่ชอบ คือเราชอบที่ไม่ต้องอยู่บ้าน ไม่ต้องทำงานในไร่ ขอจับไมค์ดีกว่า”
เด็กหญิง
“มามื่อนี่ข่อยมีเรื่องมาบอก บ่ได้มาลวงหลอกแต่อยากบอกความจริง
คือว่าข่อยน่ะมันผู้ฮ่าย บ้านก็อยู่แสนไกลติดเขตชายแดนถิ่นเขมรไทย-ลาว เป็นเจ้าของถิ่น
หากคุณไม่ได้ยิน ฉันก็ไม่สนใจ เพราะว่าเรื่องต่อไปที่จะเล่าให้ฟัง มันคือความผิดหวังของการศึกษาเรา”
ชีวิตในรั้วโรงเรียนของเด็กหญิงแป้ง จบลงที่ชั้น ป.6 ด้วยความที่เธอนั้นเป็นพี่คนโต ทำให้เธอต้องเสียสละโอกาสทางการศึกษาให้กับน้องๆ เพลง ‘เด็กหญิง’ จึงเป็นบทเพลงที่เธอตั้งใจเขียนขึ้นเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และความด้อยโอกาสของชาวอีสานที่ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ โดยนำเรื่องราวของเธอและน้องสาวมาบอกเล่าผ่านเสียงเพลง
“เพลงนี้แต่งจากเรื่องราวของเรากับน้อง สมัยเด็กที่บ้านไม่มีบ่อน้ำ เราก็ต้องไปหาบน้ำกับน้อง รู้สึกอายมากเวลาที่รถโรงเรียนขับผ่านมาเพราะเราไม่ได้ไปเรียนหนังสือ อายจนต้องวางถังที่ใช้หาบน้ำแล้ววิ่งไปหลบรถโรงเรียน เราถูกสอนว่าเป็นพี่คนโตและพี่คนรองต้องเสียสละให้น้อง ตอนนั้นเกิดความสงสัยว่าทำไมเด็กคนอื่นได้นั่งรถหกล้อไปเรียน ในขณะที่เราต้องเดินหาบน้ำสวนทางกับเขา เราอยากแชร์ให้ทุกคนได้เห็นมุมนี้ มันเป็นความด้อยโอกาสของคนที่ไม่มีเงินเรียนหนังสือ”
เมืองชุดดำ
“ในเมืองใหญ่ที่หัวใจหอบเอาฝัน
ที่ฉันได้มุ่งมั่น ให้เพลงของฉันนั้นดังไกลก้อง
ฉันมาขายเสียง เอาทั้งจำเรียง เขมร ลาว ไทย
เพลงจะอยู่คู่โลกต่อไป เพราะฉันมีใจให้กับเสียงเพลง”
เมื่อแป้งอายุย่างเข้า 19 ปี เธอฝันอยากเรียนดนตรี แต่ไม่มีวุฒิการศึกษาเพราะเรียนจบแค่ ป.6 แป้งจึงใช้เวลาหนึ่งปีครึ่งเพื่อเรียน กศน. จนได้วุฒิฯ ม.3 และศึกษาต่อที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาไทยวิจิตรศิลป จ.เชียงใหม่
และแม้ว่าท้ายที่สุดเธอจะไม่ได้เรียนดนตรีอย่างที่ฝัน แต่การเดินทางเพื่อไปใช้ชีวิตอยู่ ณ จังหวัดเชียงใหม่ ก็ทำให้เธอได้ก้าวเข้าสู่เส้นทางในการเป็นศิลปินอย่างเต็มตัว
“เราอยากไปเรียนดนตรีที่มหาวิทยาลัยพายัพแต่ค่าเทอมแพง ก็เลยเลือกเรียนจิตรกรรมที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เพราะมองว่าอย่างน้อยเราก็ยังได้ express อะไรบางอย่างออกไป พอไปอยู่เชียงใหม่ ช่วงปี 2 – 3 เราก็ตั้งวงดนตรีเล็กๆ กับเพื่อน เริ่มได้ร้องเพลงหลากหลายแนวมากขึ้น แต่จุดเปลี่ยนคือเราได้ไปบาร์แจ๊สแล้วเห็นเขาเป่าแคนเล่นกับแซ็กโซโฟน เริ่มเกิดความรู้สึกอยากทำเพลงขึ้นมา”
“พอเราได้รู้จักกับนักดนตรีที่เชียงใหม่ ก็ทำวงแล้วเดินทางไปเล่นที่ต่างประเทศ ไปฝรั่งเศสช่วงเรียนอยู่ปี 4 ตอนนั้น พี่ยอด-วรงค์ บุญอารีย์ ที่ทำวงดนตรีอยู่เชียงใหม่กำลังตามหานักร้อง เราก็กังวลเพราะกำลังจะเรียนจบ แต่เพื่อนบอกเราว่าปารีสไม่ได้ไปกันง่ายๆ นะ ไปก่อนดีกว่า ก็เลยตัดสินใจไป ได้ไปเห็นการเสพดนตรี ไปเปิดหูเปิดตา เราได้หลายสิ่งหลายอย่างกลับมาจนเกิดไอเดียอยากทำเพลง”
แต่หนทางในการทำเพลงของแป้งก็ไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิด เพราะเมื่อเดินทางกลับมายังประเทศไทย เธอพยายามตามหามือพิณมือแคนเพื่อมาร่วมงานด้วย แต่ถูกปฏิเสธอยู่หลายครั้ง เนื่องจากเธอยังไม่มีภาพคอนเซ็ปต์ที่แน่ชัด เพราะเธอเพียงต้องการสร้างผลงานเพลงขึ้นมาเท่านั้น
“พอกลับมาไม่มีใครอยากมาทำเพลงกับเราเลย มือพิณมือแคนก็ไม่มีสักคน เขาจะถามว่าเราทำเพื่ออะไร แล้วก็ปฏิเสธ คือเขาอยากรู้คอนเซ็ปต์ของเราแหละ แต่ตอนนั้นเราไม่มีอะไรเลย แค่อยากทำเพลงเฉยๆ”
จนกระทั่งเมื่อได้เดินทางกลับไปยังเชียงใหม่ แป้งได้พบกับ ก้อง-สาธุการ ทิยาธิรา มือกีตาร์ผู้เชี่ยวชาญ และก้องก็ตอบตกลงมาร่วมทำดนตรีด้วยกันในที่สุด เราจึงมีโอกาสได้ฟังเสียงกีตาร์ของก้องที่มาร่วมบรรเลงในบทเพลงของ Rasmee ซึ่งเป็นเสียงกีตาร์ที่มีเอกลักษณ์และทรงพลัง เข้ากับเสียงร้องของแป้งเป็นอย่างดี
ฟังน้องแหน่
“ข่อยอยากบอกออกไปว่าคนไทยคือกัน
เป็นหยังแบ่งชนชั้นในด้านดนตรี อีสานข่อยกะมีหมอลำม่วน
หูเจ้าคือสิด้วนฟังแล้วบ่ม่วนหู”
‘ฟังน้องแหน่’ คือเพลงที่แป้งเขียนขึ้นมาจากอารมณ์โกรธ เพราะถูกสั่งห้ามไม่ให้ร้องเพลงหมอลำ
“เราเคยไปแสดงงานหนึ่งแล้วมีคนเดินมาหาเรา เขาห้ามไม่ให้เราร้องหมอลำ ไม่อยากให้มีเสียงแคนในงาน เราก็วีนใส่ผู้จัดการเลยว่า ‘ทำไมเขาทำแบบนี้ ไม่ได้นะ’ แล้วน้องสตาฟคนหนึ่งก็บอกเราว่า ‘พี่ร้องไปเลย ถ้าเขาจะเดินเข้ามาถึงตัวพี่ ผมจะอยู่ตรงนี้’ แต่ตอนนั้นเราโกรธมาก ก็เลยแต่งเพลงนี้ขึ้นมา แต่งเพื่อความสะใจนั่นแหละ”
การแบ่งแยกชนชั้นทางดนตรี แสดงให้เห็นถึงการไม่ให้เกียรติคุณค่าทางวัฒนธรรมอีสานที่ถ่ายทอดออกมาในรูปแบบของดนตรี แป้งเกิดคำถามว่าทำไมการขับร้องหมอลำถึงถูกแบ่งแยกออกมาจากดนตรีประเภทอื่น ‘ฟังน้องแหน่’ จึงเป็นผลงานที่ถ่ายทอดคำถามที่ค้างคาอยู่ในใจ และสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการเหยียดวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ยังคงพบได้ในสังคมปัจจุบัน
“แต่พี่ก็ไม่รู้เหตุผลเขานะ ถ้าเป็นทุกวันนี้คงไม่โกรธแล้ว อะ เอาตังค์มา กลับบ้าน ไม่ต้องร้อง สบาย (หัวเราะ) พอเราได้อยู่กับตัวเองเยอะขึ้นมันช่วยให้มุมมองเราเปลี่ยนไปเยอะมากจริงๆ”
หมอลำจงเจริญ
“ดีใจที่ฉันได้มาร่วมหรรษา พัฒนาหมอลำยุคใหม่
กลอนลำนี้เป็นลำเพลินไม่เคยแต่งที่ไหน
แสนดีใจ คือหมอลำยุคใหม่จะก้าวไป หมอลำจงเจริญ”
ผลงานเพลงของ Rasmee ได้ชื่อว่าเป็นการฟื้นคืนชีพ ‘หมอลำ’ ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง โดยการนำดนตรีสากลมาผสมผสานกับวัฒนธรรมดนตรีพื้นบ้าน สร้างรสชาติทางดนตรีที่แปลกใหม่แต่กลมกล่อม ชวนให้คนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมลิ้มรสลองชิมหมอลำในแบบฉบับของ Rasmee ปลุกฟื้นคืนเสียงดนตรีอีสานให้ผู้คนได้มาร่วมเสพผลงาน ‘หมอลำยุคใหม่’ ที่ยังคงพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด
ทว่ายังคงมีเสียงจากอีกฟากฝั่ง ที่มองว่าเพลงของแป้งไม่ควรจัดอยู่ในหมวดหมู่เพลงหมอลำ เพราะเป็นการนำเอาวัฒนธรรมดั้งเดิมมาดัดแปลงเข้ากับวัตถุดิบจากต่างประเทศ
“บางคนก็ว่าเราดัดจริต ทำไมไม่ร้องหมอลำเหมือนคนอื่นเขา คนเฒ่าคนแก่จะบอกว่าเรามั่ว ก็อาจจะเรียกว่ามั่วก็ได้นะ แต่เพราะมีคนเฒ่าคนแก่นี่แหละเราถึงมั่วได้ เขามีรากให้เรา ไม่ผิดหรอกถ้าเขาจะรู้สึกหวงแหนสิ่งนี้ ในตอนนั้นเรายังไม่เข้าใจ เราโกรธ สวนกลับไปเหมือนกัน ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ควรนะ แต่ตอนนั้นเราตอบกลับไปว่า ‘ก็ทำแล้วมีคนฟัง จะทำไมล่ะ’ แต่ก็เพราะว่ามีรากที่ดีนั่นแหละเราถึงเอามาพัฒนาต่อได้”
“ตลอดระยะเวลาในการทำเพลงเราได้เรียนรู้อะไรเยอะเลย พอเราไม่มีผู้จัดการ ไม่มีค่ายเพลง เราต้องจัดการทุกอย่างด้วยตัวเอง ศึกษาเอง แต่เราก็ได้ทำเพลงเองและได้พัฒนาเพลงหมอลำต่อไปด้วย เรื่องอื่นเราค่อยๆ แก้ไขได้ มันไม่มีอะไรสายเกินไป”
ในตอนนี้แป้งมองว่าความคิดเห็นที่หลากหลายไม่ได้เป็นอุปสรรคในการทำเพลงของเธอแต่อย่างใด เพราะท้ายที่สุดเธอยังคงตั้งใจที่จะพัฒนาเพลงจากรากเหง้าของเธอให้เกิดความแปลกใหม่และหลากหลาย เพื่อที่จะได้สร้างผลงานคุณภาพให้ผู้คนได้เสพและมีความสุขไปกับเสียงเพลงของเธอต่อไป
“จริงๆ แล้วหมอลำสำหรับเรามันคืออะไรก็ได้ หมอลำอยู่ที่ไหนก็ได้ อยู่ได้ทุกที่ ในเพลงแร็ปก็ยังอยู่ได้ เราแต่งหมอลำจากสิ่งที่เราเดินทางไปเจอ มันพัฒนาต่อไปได้เรื่อยๆ ไม่มีสิ้นสุด”
Writer
ณัฐนรี บัวขม
มีชีวิตอยู่เพื่อดูคลิปตลก คีบตุ๊กตา และเดินหาร้านอร่อยในย่านบรรทัดทอง
Photographer
ฉัตรมงคล รักราช
ช่างภาพ และนักหัดเขียน
illustrator
พรภวิษย์ เพ็งเอียด
ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม