วนวน สูดสูดเด็กต้องสูด ต้องดมเด็กไทยยังคงยม หนีไม่พ้นต้องดมต้องสูด
วนวน สูดสูดเด็กต้องสูด ต้องดมเด็กไทยยังคงยม หนีไม่พ้นต้องดมต้องสูด
ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ส่งผลกระทบกับสุขภาพของประชาชน แต่ผู้คนอาจได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน เด็กๆ เป็นหนึ่งในนั้น โดยเฉพาะเด็กวัยต่ำกว่า 5 ปี ที่เป็นกลุ่มเปราะบางและอาจต้องการมาตรการสำคัญในการช่วยเหลือเมื่อเขาต้องทุกข์ทนต่อสภาพแวดล้อมที่มีฝุ่นละออง PM 2.5 เยอะกว่าสภาพแวดล้อมที่มีควันบุหรี่
ลองคิดว่าถ้าอากาศที่เราหายใจเข้าไปใน 1 วัน มีปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 เฉลี่ย 100 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตรเราจะได้รับผลกระทบต่อสุขภาพ เทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ จำนวน 4.55 มวนต่อวัน (4 มวนครึ่ง)
เด็กๆ ใช้เวลาอยู่ในห้องเรียนวันละ 8 ชั่วโมง หรือ 1 ใน 3 ของวัน เท่ากับเด็กแต่ละคนกำลังสูบบุหรี่ที่โรงเรียนวันละ 1 มวนครึ่ง เดือนละ 45 มวน ปีละ 540 มวนซึ่งอาจเยอะกว่าจำนวนบุหรี่ที่ผู้ปกครองบางคนสูบเสียอีก
ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ ในวันนี้ อาจจะเป็นผลกระทบที่มองไม่เห็น และทำให้สมรรถนะของปอดทำงานได้ไม่เต็มที่ สมองมีพัฒนาการช้า เติบโตได้ไม่สมวัย ไตเสื่อม กระดูกพรุน นอกจากนั้นผลวิจัยจากเดอะแลนด์แซทชี้ว่าอัตราส่วนการเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศ คิดเป็น 2 ใน 3 ของกรณีการเสียชีวิตจากมลพิษทั้งหมด และยังเป็นสาเหตุที่ทำให้ประชากรโลก 6.5 ล้านคนเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
อีกข้อมูลหนึ่งจากไทยรัฐออนไลน์ที่น่าสนใจ คือข้อมูลจากประเทศไต้หวันที่ศึกษาผลกระทบของผู้หญิงที่ไม่สูบบุหรี่ และอยู่ในพื้นที่ที่มีฝุ่น PM 2.5 สูงกว่า 30 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็นเวลา 10 ปี มีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งปอด ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ หรือ 1.1 เท่าของคนที่ไม่สูบบุหรี่และอยู่ในพื้นที่ที่มีปริมาณฝุ่นน้อย
ด้วยอัตราการหายใจของเด็กที่เร็วกว่าผู้ใหญ่ จึงทำให้เด็กไวต่อมลพิษทางอากาศและเสี่ยงต่อการเป็นโรคทางเดินหายใจได้ง่ายกว่า หมายความว่าการใส่ใจเรื่องคุณภาพอากาศในห้องเรียนนั้นเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง
อย่างไรก็ดี การแก้ปัญหาโดยการสร้างห้องเรียนปลอดฝุ่น ยังดำเนินการกระจุกตัวในเขตเมืองและรวดเร็วไม่พอกับความเสียหายต่อสุขภาวะของเด็กที่ต้องเสียไป รวมถึงหากพิจารณาอนุมัติโครงการเหล่านี้ยังมีหลายคนแสดงความเห็นว่าเป็นงบประมาณที่เกินความจำเป็น
แต่มันเกินความจำเป็นจริงไหม เพราะหากเมื่อลองคิดถึงเด็กๆ วันนี้ที่จะเติบโตไปเป็นอนาคตของชาติ โดยอาศัยสถิติของประเทศไต้หวันว่าการให้เด็กเผชิญมลภาวะทางอากาศอย่างนี้ไปเรื่อยๆ อาจส่งผลให้เด็กมีอัตราการเป็นมะเร็งสูงขึ้นถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหากพิจารณาค่าใช้จ่ายในการรักษามะเร็งปอดสำหรับบุคคลหนึ่ง อาจต้องใช้งบประมาณระหว่าง 300,000 – 8,500,000 บาท
ความเสียหายในระยะยาว แต่ไร้นโยบายแก้ปัญหาอย่างจริงจังของผู้ใหญ่ในวันนี้จะส่งต่อผลกระทบแบบไหนต่อชีวิตเด็กที่จะเติบโตเป็นกำลังสำคัญของการสร้างอนาคต เพราะ ณ เวลานี้ อนาคตของชาติกลับต้องเผชิญกับมลพิษทางอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพในทุกๆ วัน ผลที่จะตามมาต่อจากนี้ อาจกลายเป็นการสูญเสียที่มากกว่างบประมาณที่ต้องใช้ในการจัดทำห้องเรียนปลอดฝุ่น
อาจถึงเวลาแล้วที่เราควรเลิกสร้างเสาไฟราคาแพง แล้วหันมาใส่ใจกับการแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตพื้นฐานอย่างเช่นการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างเป็นระบบกันเสียที
อ้างอิง
- https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=pfbid0iTuxFpQrxcSznA1pnE8HY5YVNMC2VvyhKJpkVvkzaE6QXXYLGfAeMv5SebJndAXol&id=100064683802906
- https://www.bbc.com/thai/international-41690306https://www.bbc.com/thai/articles/cd1ej99jdy8o
- https://www.cmuccdc.org/pmcomparehttps://www.latimes.com/lifestyle/story/2020-02-28/do-plants-actually-clean-the-air-yes-but-youll-need-a-lot-of-them
- https://ntrs.nasa.gov/api/citations/19930073077/downloads/19930073077.pdf
- https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/1539568
- https://web.facebook.com/permalink.php?story_fbid=pfbid0iTuxFpQrxcSznA1pnE8HY5YVNMC2VvyhKJpkVvkzaE6QXXYLGfAeMv5SebJndAXol