ประจำเดือนคือเลือดที่ดีที่สุด : ‘หมอแป๊ะ’ ผศ.นพ.ธนพันธ์ ชูบุญ
ประจำเดือนคือเลือดที่ดีที่สุด : ‘หมอแป๊ะ’ ผศ.นพ.ธนพันธ์ ชูบุญ
- ทำไมผู้หญิงมีประจำเดือนถึงถูกกีดกัน เพราะเชื่อว่า รอบเดือนคือเลือดสกปรก ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องธรรมชาติ
- คุยกับ ‘หมอแป๊ะ’ ผศ.นพ.ธนพันธ์ ชูบุญ อาจารย์แพทย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทบทวนมายาคติประจำเดือนด้วยหลักการแพทย์
- ถ้าประจำเดือนคือเลือดที่ดีสุดสำหรับการตั้งครรภ์และเป็นก้าวสำคัญของการเติบโต รอยเปื้อนบนผ้าอนามัยจึงไม่ใช่เรื่องน่าอาย
“เป็นประจำเดือนห้ามขึ้นสะพานกงเต๊ก ห้ามสระผม รวมถึงถูกจำกัดจากการมีส่วนร่วมในพิธีกรรมบางอย่างของศาสนา”
คือส่วนหนึ่งของความเชื่อจากหลากหลายข้อจำกัดที่ห้ามผู้หญิงมีประจำเดือนทำโน่นทำนี่ เพราะเชื่อว่ารอบเดือนหรือเมนส์คือเลือดสกปรก
“ประจำเดือน มันเคยเป็นเลือดที่ดีที่สุด”
ประโยคเดียวของ ‘หมอแป๊ะ’ ผศ.นพ.ธนพันธ์ ชูบุญ อาจารย์แพทย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ชวนทบทวนมายาคติเรื่องประจำเดือนด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์
“มันเป็นเรื่องความเชื่อที่ว่า เลือดที่ออกจากช่องคลอดเป็นสิ่งไม่สะอาด เป็นเลือดเสีย สีมันคล้ำๆ ช้ำๆ อีกทั้งช่องคลอดมันอยู่ใกล้ก้น มันอยู่ข้างล่าง”
ด้วยมายาคติเหล่านี้ส่งผลให้ประจำเดือนถูกเข้าใจว่าเป็นเรื่องไม่ปกติ ทั้งที่มันคือสัญญาณในการเติบโตของมนุษย์เพศหญิง ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติที่แสนจะปกติ
mappa เปิดบทสนทนาเรื่อง ‘ประจำเดือน’ กับคุณหมอแป๊ะว่า ถ้าประจำเดือนคือเลือดที่ดีที่สุด อะไรควรเปลี่ยนและอะไรควรอยู่บ้าง
ประจำเดือนคือก้าวสำคัญ ไม่ควรถูกด้อยค่าด้วยความอาย
“เด็กผู้หญิงตอนที่มีประจำเดือนแรกๆ จะอายไม่กล้าบอกใครเลย แต่จริงๆ แล้วมันเป็นพัฒนาการทางเพศที่ปกติ เพราะเมื่อถึงจุดที่เพื่อนทุกคนในห้องมีประจำเดือนกันแล้ว เรื่องนี้จึงคุยกันได้ กลายเป็นว่าคนที่ไม่มีประจำเดือนจะไม่กล้าคุยกับใคร”
เนื่องจากประจำเดือนเป็นพัฒนาการทางเพศที่ไม่ต่างจากการมีหน้าอกที่ต้องซื้อบราตัวแรก การหัดใช้ผ้าอนามัยก็เช่นกัน – ทั้งหมดนี้คือก้าวสำคัญของชีวิตที่ต้องการความมั่นใจ ไม่ควรถูกด้อยค่าด้วยความอาย
แล้วทำไมเราต้องอาย?
คุณหมอมองว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนตัวที่ผู้หญิงคนหนึ่งไม่จำเป็นต้องบอกใครว่า “ประจำเดือนฉันมาแล้วนะ” หรือตะโกนถามกันว่า “ใครมีผ้าอนามัยบ้าง?” ในพื้นที่สาธารณะ เนื่องจากเป็นมารยาททางสังคม
อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดและมายาคติจากคนรุ่นก่อนโดยเฉพาะกฎเกณฑ์ทางศาสนาที่ทำให้ประจำเดือนและเรื่องเพศไม่ใช่หัวข้อหลักในหลายๆ บทสนทนาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน
“ผมไม่รู้ว่าคนรุ่นก่อนๆ ในยุคล่าอาณานิคม หรือกระทั่งเลยไปขึ้นไปถึงต้นรัตนโกสินทร์ ยุคอยุธยา เขามีเซ็กส์กันยังไง เขาจะมีการเล้าโลม โอ้โลมปฏิโลมกันแค่ไหน เค้ากล้าที่จะสัมผัสอวัยวะเพศกันบ้างไหม เปิดไฟหรือปิดไฟมีเซ็กส์กัน มันน่าสนใจมากว่าเขามองเครื่องเพศว่าอย่างไร สะอาดหรือไม่สะอาด มีการทำออรัลเซ็กส์ให้กันบ้างไหม หรือมีเซ็กส์กันเพียงเพื่อสืบเผ่าพันธุ์มนุษย์ตามหลักศาสนา ไม่ต้องมีอารมณ์เพศเข้ามาเกี่ยวข้อง อะไรทำนองนั้น ไม่รู้จริงๆ เพราะเกิดไม่ทัน แต่คนยุคปัจจุบันไม่ได้มองว่าเรื่องเพศมันเป็นเรื่องสกปรก เราเล้าโลมทางเพศ เราทำออรัลเซ็กส์กันได้”
นอกจากนี้ ผลสำรวจกลุ่มตัวอย่างผู้หญิงมีประจำเดือนจำนวน 1,000 คนของเพจเฟซบุ๊ก Ira Concept พบว่าร้อยละ 56.3 ไม่ได้อายหากมีประจำเดือนแต่เลี่ยงที่จะกล่าวถึงหรือซ่อนผ้าอนามัยไว้ในที่ลับ
ข้อมูลข้างต้นสอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงที่แผนกผู้ป่วยนอกสูตินรีเวชที่คุณหมอแป๊ะดูแลอยู่ ผู้หญิงบางคนเชื่อว่าประจำเดือนคือเลือดเสีย ทำให้รู้สึกอายที่จะต้องเปิดให้คุณหมอดู ในบางมุมคือความรู้สึกว่าเลือดประจำเดือนมันสกปรก หรืออาจจะรู้สึกว่าอวัยวะเพศในช่วงเวลานั้นมันไม่สะอาด เลยไม่อยากให้หมอตรวจ ทั้งๆ ที่อาการที่นำมาหาหมอคือปัญหาจากเรื่องเลือดประจำเดือนนั่นเอง
“แต่ผู้หญิงบางคน ที่เขาไม่อยากให้ตรวจในช่วงที่มีรอบเดือน นั่นไม่ใช่เพราะเขามองว่ามันสกปรก แต่มันเป็นเพราะเขาไม่สะดวกที่จะต้องถอดกางเกงชั้นในที่มีผ้าอนามัยติดอยู่ เขาไม่อยากให้เราเห็นอนามัยเปื้อนเลือดของเขามากกว่า”
ตามหลักการแพทย์ คุณหมออธิบายว่า การตรวจภายในหาความผิดปกติในช่วงที่มีประจำเดือน เช่น อาการปวดประจำเดือน ถือเป็นเรื่องปกติ
“เขาปวดเพราะมีประจำเดือน ดังนั้นการตรวจในช่วงเวลานั้นจึงมีโอกาสที่จะหาจุดที่ทำให้เกิดอาการเจ็บได้ง่ายกว่า”
ดังนั้น ประจำเดือนหรือเรื่องเพศจึงไม่ใช่สิ่งน่าอาย สำหรับคุณหมอประจำเดือนจึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติหรือสกปรก
เมนส์ไม่ใช่เลือดเสีย
เหตุผลที่หลายคนยังเชื่อว่า ประจำเดือน คือการขับเลือดเสียออกจากร่างกายนั้นอาจเป็นเพราะว่า ก่อนหน้าที่จะมีเลือดประจำเดือนออกมาราวสัปดาห์นั้น ผู้หญิงมักจะมีอาการไม่สบายตัว หงุดหงิด ซึมเศร้า รู้สึกร่างกายอึดอัด อ้วนขึ้น มีอาการบวมในส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว กลุ่มอาการต่างๆ ข้างต้น คือการตอบสนองของร่างกายจากฮอร์โมนที่มีชื่อว่าโปรเจสเตอโรน มันถูกหลั่งออกมาจากรังไข่เพื่อเตรียมตัวต่อการตั้งครรภ์ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นก็เพื่อเตรียมตั้งครรภ์ เตรียมไว้เผื่อมีตัวอ่อนมาฝังตัวในโพรงมดลูก
“ทั้งการเก็บน้ำไว้ในร่างกายให้มากๆ ทำให้ตัวบวม การทำให้อารมณ์หงุดหงิด และไม่สบายตัว ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการป้องกันตัวเองจากภัยที่จะมาทำให้การตั้งครรภ์เกิดอันตราย อาการไม่สบายตัวแบบนี้นี่เองที่ทำให้คนโบราณเข้าใจว่า มันเกิดจากการที่มีเลือดเสียที่คั่งค้างอยู่ในร่างกาย จึงเป็นเหตุผลให้ผู้หญิงหลายคนคิดว่าต้องมีเมนส์เพื่อละทิ้งความไม่สบายตัวและแสดงถึงการมีสุขภาพดี”
คุณหมอมองว่า ไม่ว่าอย่างไร ผู้หญิงก็ต้องเสียเลือด และ ประจำเดือนก็ไม่ใช่เลือดเสีย แต่เป็นเลือดที่ดีที่สุด
“ประจำเดือน คือ เลือดที่เก็บในโพรงมดลูกและเป็นเลือดที่ดีที่สุดสำหรับการตั้งท้อง เพราะมันคือสิ่งแวดล้อมที่เด็กคนหนึ่งต้องอยู่ เพียงแต่เมื่อไม่มีการตั้งท้องแล้ว มันจึงไม่ได้ถูกใช้ จึงต้องทำลายเพื่อสลายออกมา แล้วสร้างรอบเดือนใหม่”
และการเสียเลือดไม่ได้แปลว่าดีเสมอไป เพราะมันหมายถึงผู้หญิงต้องเสียทรัพยากรที่ร่างกายสะสมมาไปกับการมีประจำเดือน เสียเลือด และสูญเสียธาตุเหล็ก
“เอาจริงๆ ผู้หญิงต้องทิ้งเลือดทุกเดือน ต้องกินตับ กินไข่แดง เพื่อเก็บธาตุเหล็กและทรัพยากรทุกอย่างมาสร้างเม็ดเลือดแดงเพื่อจะทิ้งในทุกเดือน เดือนละประมาณ 30-50 ซีซี เพราะฉะนั้น ไม่ว่าอย่างไรผู้หญิงก็ต้องเสียเลือด”
“ผู้หญิงที่ไม่เสียเลือดเป็นผู้หญิงที่แข็งแรง ผู้หญิงคนไหนที่กินยาคุมแล้วไม่เสียเลือด (ไม่นับรวมกับผู้มีปัญหาเรื่องสุขภาพ) ผู้หญิงคนนั้นจะสุขภาพแข็งแรงเพราะไม่ต้องทิ้งทรัพยากรที่เก็บเข้าร่างกายไปกับการมีเมนส์”
เรื่องนี้ไม่มีสอนในตำรา แต่เรามักจะรู้จากประสบการณ์นอกห้องเรียนที่คุยกันได้เป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าจะอยู่ในบ้าน โรงเรียน หรือสังคมก็ตาม
สังคมที่ให้ข้อมูลความรู้ ไม่ได้ทำให้เด็กมีเซ็กส์เร็วขึ้น
“เราต้องสอดแทรกเรื่องเพศเข้าไปในชีวิตประจำวันตั้งแต่เริ่มมีลูก บทบาทหน้าที่ของทุกคนในบ้านเป็นอย่างไร เราก็ต้องสอน”
เพราะคุณหมอมองว่าเรื่องเพศและเซ็กส์เป็นเรื่องปกติ ลูกสามารถไปหยิบถุงยางอนามัยแทนพ่อได้พร้อมอธิบายให้ลูกเข้าใจว่า เหตุใดพ่อจึงต้องใช้ถุงยางอนามัย
“ลูกอยากมีน้องเพิ่มไหม ถ้าไม่อยากมี พ่อก็ต้องใช้ถุงยาง เพราะฉะนั้นมันคือสิ่งที่เด็กรู้ รู้ว่ามันทำให้ลูกไม่ต้องมีน้องเพิ่ม ถึงแม้จะไม่เข้าใจการทำงานแต่เมื่อโตถึงระดับหนึ่งเราจึงค่อยสอน”
การสอนเรื่องเพศจึงเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในครอบครัวของคุณหมอ และเมื่อลูกโตขึ้น คุณหมอพบว่าลูกๆ มีความเป็นผู้ใหญ่ มองเรื่องเพศว่าเป็นเรื่องปกติและเข้าใจชีวิตได้ปกติตามที่มันควรจะเป็น
สิ่งหนึ่งที่สำคัญและคุณหมอมองว่าสังคมยังขาดคือการศึกษาและสื่อปัจจุบันลืมให้พื้นที่ของการใช้ชีวิต
“โรงเรียนไม่สามารถทำหน้าที่ที่ดีในการสอนเด็กให้ใช้ชีวิต มีแต่องค์ความรู้และการสอนที่แห้งแล้งขาดรสชาติ ครูไม่รู้จะสอนเรื่องเพศอย่างไร เพราะเขาขาดการเทรนวิธีพูดและประสบการณ์ในการสอน”
ซึ่งตรงนี้คุณหมอมองว่ามันน่าเบื่อ การสอนที่ดีต้องสอนให้สนุก ชัดเจน เข้าใจง่าย เชื่อมโยงได้กับชีวิตจริง เพราะจะส่งผลดีต่อเด็กและสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ที่ดีได้
แต่ปัจจุบันโรงเรียนยังไม่สามารถตอบความอยากรู้ของเด็กได้ เมื่อไม่มีใครช่วยตอบ เขาจึงไปหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต
“เมื่อสองเดือนที่แล้วผมรักษาเด็กนักศึกษาที่ไปทำแท้งมาด้วยยาที่ซื้อจากอินเทอร์เน็ต ถามว่าใช้เว็บไหนในการหาข้อมูลองค์ความรู้ในเรื่องของการทำแท้ง เขาตอบว่าไปหาความรู้มาจาก TikTok ผมนี่จบกันชีวิตนี้ เหมือนโดนตบหน้าฉาดใหญ่ ไปซื้อยาทำแท้งมาจาก TikTok บ้าไปแล้ว”
คุณหมออธิบายว่าถ้าเข้า Google พิมพ์ว่ายาทำแท้ง กรมอนามัย วิธีการขั้นตอนจะขึ้นมาหมด ทั้งสายด่วนท้องไม่พร้อม 1663 หมออาสาทำแท้ง RSA หากเข้าถูกช่องทางจะเจอด้วยว่าปัจจุบันประเทศไทยนั้น รัฐบาลให้ยาทำแท้งฟรี
โดยสถานการณ์ที่คุณหมอยกตัวอย่างมาข้างต้นทำให้เห็นว่าปัจจุบันเด็กนักเรียนยังมี health literacy หรือความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลความรู้เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ด้านสุขภาพได้ไม่มากพอ
แม้ปัจจุบันจะมีสื่อการสอนในบางโรงเรียนเกี่ยวกับเรื่องเพศแต่คุณหมอมองว่ายังไม่ทั่วถึงและเท่าเทียมกันในทุกโรงเรียน และมองว่าเป็นเรื่องของโครงสร้างทางสังคม
“เอาง่ายๆ ตอนนี้เรื่องเซ็กส์ทอยยังเป็นสิ่งผิดกฎหมายอยู่เลย ทั้งๆ ที่มันเป็นเครื่องบำบัดความใคร่ เราใช้แล้วผู้หญิงไม่เจ็บตัว ไม่ติดโรค และไม่ท้องด้วย ถ้าเซ็กส์ทอยถูกกฎหมายน่าจะช่วยลดอัตราการข่มขืนในสังคมได้ ลดการตั้งท้องที่ไม่พร้อม ลดการทำแท้ง ลดการติดโรคทางเพศสัมพันธ์ แต่ปัจจุบันมันดันเป็นของลามกอนาจารทั้งหมดเลย”
โดยคุณหมอมองว่ามันเป็นเรื่องของคนรุ่นเก่าที่ควบคุมระบบการศึกษา เมื่อไรที่คนรุ่นใหม่สามารถเข้าไปออกแบบโครงสร้างของระบบการศึกษาให้ทันตามยุคสมัยและเข้าถึงได้ สังคมจะเปิดกว้างมากขึ้นและมีสื่อที่เข้าถึงให้คนเข้าใจได้มากขึ้น
“สมัยผมตอนอยู่โรงเรียนมัธยม การมีเซ็กส์ในโรงเรียนคือความผิดร้ายแรงต้องโดนไล่ออก แต่ปัจจุบันการมีเซ็กส์ในโรงเรียนเกิดขึ้นได้และควรมีอย่างปลอดภัย แล้วถ้ามันเกิดปัญหาจากการมีเพศสัมพันธ์ขึ้นแล้ว โรงเรียนควรเข้ามาช่วยแก้ปัญหา นี่ผมไม่ได้หมายความว่าจะสนับสนุนให้นักเรียนมีเซ็กส์กันนะครับ ผมกำลังหมายความว่า ไม่ได้อยากให้มี แต่ถ้ามันทนไม่ได้ มันเลี่ยงไม่ได้ ถ้าจะมี ก็ขอให้มีอย่างปลอดภัย ไม่ใช่มีกันตามมีตามเกิด”
คุณหมออธิบายว่าปัจจุบันยังมีคนเข้าใจว่าการสอนเรื่องเพศจะทำให้วัยรุ่นมีเซ็กส์มากขึ้น แต่ความจริงจากผลการศึกษาและวิจัยไม่เป็นแบบนั้น
“วัยรุ่นเขามีเซ็กส์เป็นปกติของเขาอยู่แล้ว” ความเห็นจากคุณหมอแป๊ะ
“ความเชื่อที่ว่าการใช้ถุงยาง ใช้ยาคุมจะทำให้เด็กมีเซ็กส์เร็วขึ้น ผมว่าต้องมองใหม่ เด็กเขามีของเขาอยู่แล้ว การสอนมันก่อให้เกิดความตระหนักและเข้าใจว่ามีเซ็กส์แล้วก่อให้เกิดปัญหา แต่การรู้วิธีป้องกันมันจะช่วยยืดอายุการมีเซ็กส์ครั้งแรกไปได้อีก เพราะเขาตระหนักว่ามันมีการท้องเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้นความจริงกับความเชื่อมันสวนทางกัน”
การสอนสำหรับคุณหมอจึงเป็นเหมือนการเพิ่มทางเลือกในการแก้ปัญหาให้กลุ่มวัยรุ่นมากกว่าเพราะมันทำให้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นนั้นลดลง
“ไม่ต้องสอนลูกว่าการมีเซ็กส์เป็นเรื่องไม่ดี เพราะขนาดพ่อแม่ยังนอนและมีเซ็กส์กันอยู่เลย เพราะมีเซ็กส์จึงมีลูกได้ไง แต่สอนลูกไปเลยว่า มีเซ็กส์มันดี มันคือเรื่องธรรมชาติ แต่ต้องใช้ถุงยางและอธิบายต่อว่าถุงยางนั้นดีอย่างไร”
เพราะฉะนั้น เรื่องเพศและเซ็กส์ควรเป็นเรื่องปกติที่พ่อแม่พูดคุยกับลูกได้ และบอกกับลูกตรงๆ ได้ว่า
“สิ่งที่ยึดเหนี่ยวพ่อแม่ไม่ได้มีแค่ความรัก แต่เซ็กส์ก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคู่เหมือนกัน”
Writer
เพชรดี จันทร์ธิมา
นักศึกษาฝึกงานที่กำลังค้นหาความหมายของชีวิต ชอบท้องฟ้า และเชื่อว่าโลกนี้คือพื้นที่แห่งการเรียนรู้
illustrator
กรกนก สุเทศ
เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง