Learn เล่น เห็น Local: พื้นที่ที่อยากชวนเด็กๆ มาบอกเล่าปัญหา ละเลงไอเดีย แล้วก่อร่างสร้างสิ่งใหม่ 

Learn เล่น เห็น Local: พื้นที่ที่อยากชวนเด็กๆ มาบอกเล่าปัญหา ละเลงไอเดีย แล้วก่อร่างสร้างสิ่งใหม่ 

“อยากให้เด็กกับผู้ปกครองคุยกันมากขึ้น” 

“ถ้าเราสามารถลดช่องว่างระหว่างวัย เด็กจะกล้าปรึกษาพ่อแม่มากขึ้น”

“ในชุมชนเราเด็กๆ เป็น LGBTQ+ กันเยอะ แล้วเราอยากให้พ่อแม่เข้าใจ” 

“เด็กๆ ยังไม่รู้ว่าตัวเองเก่งอะไร” 

“เราอยากเป็นสเปซให้น้องๆ มีพื้นที่รวมกลุ่มทำกิจกรรมสร้างสรรค์ ให้เรารู้สึกว่าเราปลอดภัย” 

บางเสียงจากทีมเด็กและเยาวชนในหลากหลายพื้นที่ที่มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงาน “Learn เล่น เห็น Local” ในวันที่ 28 มกราคม 2567 ที่ผ่าน ซึ่งรวบรวมไอเดียจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อยากออกแบบนวัตกรรมเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ชุมชนของตัวเอง มาแสดงผลงาน เสนอร่างนวัตกรรมและมุมมองต่อปัญหาที่เกิดขึ้นกับชีวิตของพวกเขา โดยมีกลุ่มเยาวชนเข้าร่วมและนำเสนอประเด็นปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหายาเสพติด ช่องว่างระหว่างวัย ความไม่เท่าเทียมทางเพศ ความเหลื่อมล้ำ การค้นหาตัวเอง รวมทั้งเสนอร่างไอเดียนวัตกรรมอย่างหลากหลาย อาทิ กิจกรรมแตกต่างอย่างเข้าใจ เมื่อลูกหลานเป็น LGBTQ+, เวทีเปิดใจ My buddy, บู้บี้ไม่ตลก (keep bully out), พ้อโอกาส พ้อโตเฮา, สตรีทอาร์ตภัยท่อม โดยโครงการนี้เป็นการการขับเคลื่อนระบบสนับสนุนการมีส่วนร่วมของสภาเด็กและเยาวชนในท้องถิ่นทั่วประเทศ โดยความร่วมมือของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธินวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม (SIY) ตลอดจนภาคีเครือข่ายกว่า 30 องค์กร 

“ถ้าสภาเด็กและเยาวชนขับเคลื่อนไปได้ดี มันจะมีประโยชน์ต่อสังคมมาก” 

สุรพล เจริญภูมิ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นที่มาร่วมเปิดงานในครั้งนี้ได้เล่าถึงจุดตั้งต้นที่สำคัญที่สภาเด็กและเยาวชนเข้ามาร่วมกันขับเคลื่อนงานในครั้งนี้ที่เป็นกำลังส่วนสำคัญในการผลักดันความสามารถและพลังของเยาวชนในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะเป็นพื้นที่ให้เด็กๆ ได้มารวมกลุ่มกัน รวมทั้งทำกิจกรรมหลากหลายได้มากขึ้น นอกจากนี้เขายังกล่าวถึงการให้สิทธิเด็กได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเช่นนี้ เป็น 1 ใน 4 ของสิทธิเด็ก ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก  และยังเป็นภารกิจที่มีความสำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อีกด้วย เขายังเล่าว่าเมื่อได้เห็นไอเดียของเด็กและเยาวชนที่มาร่วมเสนอในงานครั้งนี้ทำให้ได้รับรู้มุมมองและไอเดียที่น่าสนใจของเด็กๆ ต่อพื้นที่ที่เขาอยู่ เช่น การออกแบบห้องปรึกษาปัญหาจิตใจ การออกแบบเกมในการแก้ไขปัญหา  

“โลกมันเปลี่ยนเร็ว ทั้งผู้คน  ทั้งเวลา ทุกสรรพสิ่งไม่หยุดนิ่ง การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอด การเรียนรู้เลยเป็นส่วนสำคัญให้เราอยู่รอด วันนี้เรามาตั้งนำเสนอไอเดียมากมายก็เพื่อที่เราจะเรียนรู้กันและกัน”  เขากล่าว 

ด้าน ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัวเล่าถึงปัญหาที่ซับซ้อนของสังคม และการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลก รวมถึงชี้ชวนให้เห็นว่าเด็กรุ่นใหม่ฝันถึงสังคมที่มีพื้นที่ในการเติบโตไปจนถึงมีช่องทางหรือโอกาสในการสื่อสารพูดคุยถึงสังคมของพวกเขาในระดับนโยบาย ดังนั้นการร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดโครงการนี้ขึ้นจึงเป็นส่วนหนึ่งในการเปิดพื้นที่รับฟังเสียงของเด็กๆ ที่อยากทำงานกับพื้นที่ของตัวเอง โดยเป้าหมายในการขับเคลื่อนงานครั้งนี้เป็นไปเพื่อสร้างนักสร้างสรรค์นวัตกรรมสังคม  ไปจนถึงเกิดสมรรถนะในตัวของเด็กที่จะเติบโตไปเป็นพลเมืองของสังคม  ไม่ว่าจะเป็นการคิดเชิงวิพากษ์ (critical Thinking)  การสื่อสาร (communication) การทำงานร่วมกัน (collaboration) ความคิดสร้างสรรค์ (creativity) โดยเธอยังกล่าวอีกว่าการชวนเด็กๆ มามีส่วนร่วมในการแชร์ไอเดียเพื่อพัฒนาเป็นนวัตกรรม หรือการสร้างพื้นที่ที่อยากให้เด็กเข้ามามีส่วนร่วมจริงๆ ไม่ว่ากิจกรรมใดๆ ก็แล้วแต่ควรที่จะให้เด็กได้มีพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นจริงๆ หรือ “มีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย” จริงๆ ซึ่งเธอได้คลี่ขยายคำว่ามีส่วนร่วมว่า   

“การส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายให้เด็กและเยาวชนทุกคน  หมายความว่า ไม่ใช่จัดงานแล้วเอาเขามาเป็นไม้ประดับ เขาต้องมามีส่วนร่วมอย่างมีความหมายมากกว่า อย่างที่ว่า เด็กคิด เด็กทำ เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน เด็กควรได้มีส่วนร่วมอย่างมีความหมายกับทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตของเขา” 

นอกจากนี้ณัฐยายังได้พูดถึง “ผู้ใหญ่” ที่เป็นแรงซับพอร์ตเด็กๆ ในการเติบโตขึ้นมาในสังคมว่า 

“เราต้องเป็นทั้งผู้ใหญ่ใจดีแล้วผู้ใหญ่ใจกว้าง เราต้องเป็นลมใต้ปีกฟูมฟักให้เด็กรุ่นใหม่เก่งกว่าเรา ถ้าเขาไม่เก่งกว่าเรา เขาพาสังคมนี้รอดไม่ได้ในโลกอนาคตที่มีทั้งโรคระบาด ความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วซับซ้อน เราเองเป็นผู้ใหญ่ก็ยังรับมือไม่ไหว  ฉะนั้นเราต้องใจกว้างให้เด็กรุ่นใหม่มีโอกาสพัฒนาแล้วเก่งกว่าเราให้ได้”  

ในกิจกรรมครั้งนี้ พริษฐ์ วัชรสินธุ ประธานกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชนและการมีส่วนร่วมของประชาชน ยังได้มาร่วมแลกเปลี่ยนกับเด็กและเยาวชนที่มาร่วมเสนอไอเดียในครั้งนี้ด้วย ทางด้านพริษฐ์กล่าวถึงข้อสังเกตต่อสังคมไทยว่า เยาวชนมีความตื่นตัวทางการเมือง มีความตื่นตัวต่อประเด็นสาธารณะมากที่สุดในรอบหลายสิบปี ทว่าในขณะที่เด็กๆ ลุกขึ้นมาส่งเสียงและบอกความฝันของพวกเขา เสียงสะท้อนของเด็กและเยาวชนกลับยังไม่ได้รับการรับฟังอย่างจริงจัง เพียงพอและลึกซึ้ง ในทุกๆ กระบวนการตัดสินใจ  “เราจะทำยังไงให้เเสียงของเยาวชนมันไม่เพียงแต่ดัง แต่มันถูกรับฟังอย่างมีความหมาย และนำไปสู่ส่วนร่วมในการตัดสินใจจริง” เขากล่าวพร้อมทั้งชี้ชวนให้เห็นแง่มุมการออกแบบและเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ให้เด็กๆ ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจจริงๆ ของคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง โดยฉายภาพให้เห็น การสร้างการมีส่วนร่วมผ่าน “3 พื้น” ที่ในชีวิตของเด็กๆ ตั้งแต่ระดับโรงเรียนไปจนถึงสังคม  ได้แก่ “พื้นที่ในสถานศึกษา” เนื่องจากเป็นสถานที่สำคัญที่เด็กๆ ใช้ชีวิตอยู่ โจทย์สำคัญคือทำยังไงให้เราเปิดพื้นที่การศึกษาให้เด็กได้มีส่วนร่วมออกแบบสถานศึกษาและกติการในโรงเรียนได้ด้วย เช่น การเปิดพื้นที่ให้นักเรียนที่ได้รับการเลือกตั้งให้มาทำงานในนามคณะกรรมการสถานศึกษาเพื่อเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นและตัดสินใจ  การทำให้ “ธรรมนูญ” ของนักเรียนหรือ สภานักเรียนมีความยึดโยงกับนักเรียนมากขึ้น โดยในกรณีนี้พริษฐ์ได้ยกตัวอย่างโรงเรียนสาธิตฯ มธ. ที่ให้นักเรียนร่วมกันออกแบบธรรมนูญนักเรียนขึ้นมา แล้วมาทำประชามติร่วมกันในโรงเรียนว่านักเรียนจะรับรองกติกานั้นหรือไม่ ข้อเสนออีกประการหนึ่งคือ ทำยังไงให้นักเรียนมีส่วนประเมินบริการการศึกษาที่เขาได้รับ เช่น การเปิดให้มีส่วนร่วมในการประเมินครู เพราะเมื่อครูถูกประเมินอย่างรอบทิศมันก็จะเป็นกลไกให้ครูได้ออกแบบการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับการเรียนการสอนที่เขาได้สร้างให้กับผู้เรียนนั่นเอง 

สำหรับพื้นที่ต่อมาที่พริษฐ์ยกขึ้นมาคือ “พื้นที่ออกแบบมาพิเศษเพื่อเยาวชน”  อย่างเช่น สภาเด็กและเยาวชน จะทำยังไงให้พื้นที่อย่างสภาเด็กฯ ทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นที่จะเชื่อมเยาวชนกับกลไกการเมืองในระบบ  เช่น การปรับที่มาของสภาเด็กฯ ที่ยึดโยงกับเด็กและเยาวชนมากขึ้นผ่านการเลือกตั้งตัวแทนสภาเด็กจากเยาวชนโดยตรง อย่างใน กทม.เองก็มีการนำร่องให้เด็กในพื้นที่เลือกตัวแทนของเขาเข้าสู่สภาเด็กและเยาวชนผ่านทางออนไลน์ หรือจะเป็นการเพิ่มอำนาจสภาเยาวชนในการยื่นแก้ไขในระดับโครงสร้าง อย่างในเกาหลีใต้ก็มีการออกแบบให้สภาเยาวชนสามารถยื่นข้อเสนอไปที่สภาผู้แทนราษฎรได้ 

พื้นที่สุดท้ายที่เขาชี้ชวนให้ปลดล็อกเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของเด็กๆ ให้มากขึ้นคือ “พื้นที่เดียวกันกับผู้ใหญ่”  กล่าวคือ เป็นการเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้มีบทบาทในพื้นที่เดียวกันกับผู้ใหญ่ เช่น การปรับเกณฑ์เรื่องอายุขั้นต่ำในการมีส่วนร่วมทางการเมืองการเลือกตั้งระดับชาติหรือท้องถิ่น พริษฐ์ชี้ชวนให้เห็นว่าประเทศที่เป็นประชาธิปไตยในโลก หากประชาชนที่มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งแล้วก็นับว่าเหมาะสมที่จะมีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งเช่นกัน ซึ่งแตกต่างจากในไทย เขายังทิ้งท้ายในฐานะตัวแทนกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ ว่าการเพิ่มการมีส่วนร่วมในเยาวชน เป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างรอบคอบ ไม่สามารถทำอย่างฉาบฉวย เราต้องทำด้วยความไว้ใจให้เยาวชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการอย่างแท้จริง 

“สำคัญมากว่าเสียงของเยาวชนมันไม่เพียงแต่ดัง แต่มันต้องเป็นเสียงที่ถูกรับฟังอย่างแท้จริง สำคัญมากว่าบทบาทของเยาวชนต้องไม่ใช่ไม้ประดับ ต้องเป็นบทบาทในฐานะเจ้าของร่วมกันของประเทศนี้ รวมถึงเด็กและเยาวชนไม่ใช่อนาคตของชาติเท่านั้น แต่เด็กและเยาวชนเป็นปัจจุบันของชาติด้วย”  

Writer
Avatar photo
ศิรินญา สุวรรณโค

มีฝีมือในการทำอาหารประเภทยำ และอยู่อย่างมีความหวังเสมอ ในวันที่ 1 และ 16 ของทุกเดือน

illustrator
Avatar photo
สิริกร พรอนงค์

ดีไซน์เนอร์, นักวาด และอาร์ตไดมือใหม่ที่ชอบไปทะเล

Related Posts

Related Posts