สนุก ได้ความรู้ และเปิดใจกับบอร์ดเกมสอนเรื่องความหลากหลายทางเพศในคาบ ‘ครูแฮร์รี่ อนันตชัย’

สนุก ได้ความรู้ และเปิดใจกับบอร์ดเกมสอนเรื่องความหลากหลายทางเพศในคาบ ‘ครูแฮร์รี่ อนันตชัย’

นิยามของห้องเรียนที่น่าเรียนของคุณเป็นแบบไหน

ในห้องต้องมีแสงสว่างเพียงพอ ลมโกรกสบาย ไมค์ไม่ดังเกินไป และครูต้องไม่ดุ

‘ครูแฮร์รี่-อนันตชัย โพธิขำ’ ครูวิทยฐานะและครูชำนาญการพิเศษ กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม โรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม บอกว่าที่เราพูดมานั้นถูกต้องทั้งหมด แต่อาจจะขอเพิ่มคุณสมบัติอีกสักข้อสองข้อ   

สำหรับครูแฮร์รี่ ห้องเรียนที่น่าเรียนต้องมีบรรยากาศที่ทำให้เด็กๆ รู้สึกปลอดภัย โอบรับและเข้าใจเงื่อนไขที่แตกต่างของแต่ละคน  ที่สำคัญคือมีข้อตกลงที่เคารพเสียงส่วนใหญ่ของคนในห้อง

เรารู้จักครูแฮร์รี่ครั้งแรกในฐานะครูผู้ริเริ่มการประกวดบอร์ดเกมเพื่อการศึกษาในงาน Open House ที่ชวนเด็กๆ  จากหลายโรงเรียนในภาคอีสานส่งบอร์ดเกมมาแข่งกัน หนึ่งในบอร์ดเกมที่ฉวยความสนใจเราได้พิเศษคือ Interpolaty LGBTQIAN+ บอร์ดเกมที่ชวนให้เด็กๆ รู้จักสถานการณ์แง่ลบที่ชาวเพศหลากหลายต้องเผชิญในสังคม และหาวิธีแก้ไขสถานการณ์ร่วมกัน

นอกจากความสนุกสนาน บอร์ดเกมชุดนี้ยังมุ่งหวังให้เด็กได้เห็นสิ่งที่ชาว LGBT+ ต้องเผชิญ และมีหัวใจที่เปิดกว้างต่อความแตกต่างมากขึ้น เผื่อว่าวันไหนที่พวกเขาเจอสถานการณ์แบบนี้กับตัวเองหรือเพื่อนในโลกความจริง เด็กๆ จะได้รู้ว่าควรรับมืออย่างไร

หากพิจารณาดูจากบอร์ดเกมและนิยามของห้องเรียนที่ดีแล้ว  การโอบรับความแตกต่างหลากหลายดูจะเป็นเรื่องที่ครูแฮร์รี่ให้ความสำคัญ แต่อะไรล่ะที่จุดประกายให้ครูสังคมคนหนึ่งอยากสอดแทรกประเด็นนี้ลงไปในวิชาเรียนอย่างเข้มข้น

บ่ายวันแดดร่ม เราชวนครูแฮร์รี่มานั่งคุยถึงชีวิตการเป็นครู เบื้องหลังการออกแบบบอร์ดเกม และแนวคิดการสร้างบรรยากาศของห้องเรียนที่น่าเรียนในแบบฉบับของตัวเอง

ครูเพื่อความหลากหลาย

ไม่เคยฝันว่าจะเป็นครู แต่ก็มีแววมาตั้งแต่เด็ก น่าจะเป็นคำจำกัดความที่ชัดเจนของความสัมพันธ์ระหว่างเด็กชายแฮร์รี่กับบทบาทการเป็นครู

“เราเติบโตในชนบท ตอนเด็กๆ ไม่รู้จะเล่นอะไรเลยชอบเล่น ‘ตาครู’  การละเล่นที่ชวนเด็กคนอื่นมาเป็นนักเรียนแล้วเราสวมบทเป็นครู ด้วยความที่พ่อแม่เราเป็นครูด้วย เราเลยขอแม่ให้ซื้อกระดานไวท์บอร์ดและกระดาษโรเนียวมาแจกเพื่อนๆ ตอนเล่น” ครูแฮร์รี่หัวเราะเมื่อนึกถึงความหลัง

“ความฝันวัยเด็กไม่ได้อยากเป็นครูหรอก อยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ หมอ หรือทหาร  จุดเปลี่ยนคือตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัย เราสอบติดคณะศึกษาศาสตร์ สาขาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เราไม่อยากไปเรียนกรุงเทพฯ หรือมหาวิทยาลัยอื่นเพราะไม่อยากให้พ่อแม่จ่ายค่าเทอมแพง สุดท้ายก็ได้เรียนที่นี่ ประกอบกับหลังจากจบการศึกษาแล้ว แม่อยากให้รับราชการเป็นครู เราเลยสอบบรรจุครูดู ตอนแรกไปบรรจุที่อำเภอเสิงสาง จังหวัดโคราช สุดท้ายก็ย้ายมาโรงเรียนที่ตัวเองเคยเรียนมาตั้งแต่เด็ก คือโรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม”

ครูแฮร์รี่เล่าว่า ด้วยความเป็นครูด้านสังคมศาสตร์ เรื่องสิทธิมนุษยชนนั้นอยู่ในความสนใจมาตลอดอยู่แล้ว ส่วนเรื่องความหลากหลายทางเพศ ครูแฮร์รี่เป็นเหมือนกับหลายคนที่เพิ่งมาตื่นรู้เรื่องนี้เมื่อขบวนการขับเคลื่อนเรื่องเพศนั้นเข้มข้นขึ้น

“เมื่อก่อนตอนเป็นนักเรียน เราไม่รู้เรื่องเพศเลย แต่ด้วยความที่เรามาทำงานด้านนี้ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการเครือข่ายความหลากหลายทางเพศอีสาน  ความรู้เรื่องเพศก็เติบโตไปพร้อมกับขบวนการของ LGBT+ ในไทย อีกส่วนคือเรามีการเรียนรู้ภายในตัวเองด้วย ก่อนหน้านี้เราไม่ได้เปิดเผยว่าเรามีอัตลักษณ์แบบไหน อาจจะโดนบูลี่บ่อยจนเรามองว่าไม่มีปัญหา แต่พอเราเริ่มเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ เราก็รู้ว่าเราโดนบูลลี่มาตลอดชีวิตเลยนะ

“ตอนนี้เรานิยามตัวเองว่าเป็นนอนไบนารี แต่รสนิยมทางเพศเป็นชายรักชาย เมื่อเรามีอัตลักษณ์ที่ชัดขึ้น เราก็มั่นใจมากขึ้น เราจึงอยากหาโปรเจกต์และพื้นที่ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้เรื่องนี้ด้วย”

ครูแฮร์รี่เล่าต่ออีกว่า ในแบบเรียนปัจจุบัน แม้จะมีการบรรจุเรื่องความหลากหลายทางเพศในวิชาสุขศึกษาแต่ก็มีน้อยมาก และในนั้นแทบจะสอนแค่เรื่องเพศวิถี ครูแฮร์รี่จึงอยากหยิบยกขึ้นมาพูดถึงผ่านเรื่องสิทธิในวิชาหลักสูตรพลเมือง 

“เราให้นักเรียนทำคอนเทนต์เกี่ยวกับเรื่องสิทธิ ด้วยนวัตกรรมแบบไหนก็ได้ มีหลายคนทำเรื่องสิทธิสตรี เพราะช่วงนี้กระแสหนังเรื่อง Barbie กำลังดัง มีคนทำเรื่องสิทธิ LGBT+ เรื่องกรอบเพศทางสังคม ระบบชายเป็นใหญ่ วิเคราะห์เรื่องอำนาจ”

ไม่เพียงแต่ออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอน แต่ครูแฮร์รี่ยังสื่อสารเรื่องความเปิดกว้างและเท่าเทียมทางเพศนอกห้องเรียนอย่างจัดหนักจัดเต็ม ครั้งหนึ่งที่มีงานเกษียณของคุณครูท่านหนึ่ง คณูแฮร์รี่ก็แต่งชุดผู้หญิงไปเข้าร่วม เช่นเดียวกับกีฬาสีของเด็กๆ ที่ครูแฮร์รี่แต่งหญิงและจับจ้องตำแหน่งถือป้ายทุกปี

บอร์ดเกมเพื่อความหลากหลาย

อย่างที่ได้เล่าไปว่า หนึ่งในโจทย์ที่ครูแฮร์รี่มอบหมายให้เด็กๆ ในคาบหน้าที่พลเมืองคือคอนเทนต์ที่เล่าเรื่องสิทธิมนุษยชนผ่านนวัตกรรม

‘บอร์ดเกม’ เป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่เด็กๆ หยิบมาใช้เล่าเรื่องสิทธิ ซึ่งไอเดียตั้งต้นก็ไม่ได้มาจากใครที่ไหน แต่มาจากตัวครูเจ้าของวิชานี่แหละ

“ก่อนหน้านั้นเราก็สอนปกติทั่วไป แต่มีช่วงหนึ่งเราได้เข้าร่วมงานงานหนึ่งของคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะเราอยากอัพเดตความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับการสอน ตอนนั้นไปเจอเวิร์กช็อปที่ให้เด็กเล่นและเรียนรู้ด้วยบอร์ดเกม 

“ตอนแรกเราไม่รู้ว่าบอร์ดเกมคืออะไร  พอได้เข้าเวิร์กช็อปที่สอนทำบอร์ดเกมเบื้องต้นก็รู้สึกชอบ  คงสนุกดีถ้านำไปปรับใช้กับวิชาหน้าที่พลเมืองที่ดูน่าเบื่อ มันน่าจะทำให้วิชานี้มีชีวิตชีวาขึ้นมา”

ครูแฮร์รี่หยิบเทคนิกบอร์ดเกมการศึกษามาใช้ครั้งแรกกับนักเรียนม.5 และเด็กๆ ก็ออกแบบกันเองอย่างสนุกสนาน เล่าเรื่องการบุลลี่ในโรงเรียน โรคซึมเศร้า และแน่นอนว่ามีเรื่องเพศ 

เมื่อจบคาบ ครูแฮร์รี่ก็รู้สึกว่าบอร์ดเกมของเด็กๆ นั้นสนุก และน่าจะไปได้ไกลกว่าการชิ้นงานเก็บคะแนนในห้องเรียนเท่านั้น  ครูแฮร์รี่จึงต่อยอดไอเดียไปจัดประกวดในงาน Open House ของโรงเรียน ชวนเด็กๆ จากหลายโรงเรียนในภาคอีสานส่งบอร์ดเกมมาแข่งกัน แล้วเชิญนักออกแบบบอร์ดเกมมืออาชีพมาเป็นกรรมการตัดสิน

Interpolaty LGBTQIAN+ บอร์ดเกมที่ครูแฮร์รี่ชวนเราเล่นวันนี้ก็มาจากงานประกวดนั้น   ซึ่งในบรรดาบอร์ดเกมที่ว่าด้วยเรื่องของ LGBT+ ทั้งหมด ครูแฮร์รี่บอกว่านี่คือชุดที่เล่นสนุก มีเนื้อหาความรู้อัดแน่น  และสามารถหยิบยกไปใช้ในสถานการณ์จริงได้มากที่สุด

Interpolaty LGBTQIAN+ คือบอร์ดเกมที่ว่าด้วยสถานการณ์ด้านลบที่ชาว LGBT+ เจอในสังคม สิ่งที่ผู้เล่นต้องช่วยกันคือหาวิธีแก้ไขสถานการณ์เหล่านั้นให้ดีที่สุด ผ่านบทบาทต่างๆ ที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งมีตั้งแต่นักเรียน ผู้ปกครอง ไปจนถึงนักกิจกรรม 

ความสนุกอยู่ที่ทุกคนในวงสามารถนำเสนอวิธีแก้ปัญหาได้หมด และสุดท้ายจะโหวตกันว่าวิธีของใครดีที่สุด คนคนนั้นก็จะได้แต้มไป ใครถึง 15 แต้มก่อนจะเป็นผู้ชนะ

เราหยิบการ์ดสถานการณ์ใบแรกขึ้นมา มันระบุว่า ‘เด็กชายบีโดนผู้ใหญ่ล้อเลียนเพราะมีพฤติกรรมและการแต่งตัวที่ไม่ตรงกับเพศกำเนิด’ ส่วนการ์ดบทบาทของเรา สุ่มหวยออกที่ ‘นักกิจกรรม’

“เราจะช่วยแก้ไขปัญหานี้ด้วยการหยิบยกเรื่องนี้มาสื่อสารกับคนในสังคม เพื่อให้ทุกคนเกิดความเข้าใจ และรณรงค์ให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศต่อไป” เราเสนอ ก่อนจะโดนครูแฮร์รี่แย้งขึ้นมาเพื่อจะชิงคะแนน

“กรณีนี้เราอาจจะแย้งได้ว่า เหตุการณ์นี้ไม่ได้บอกว่าเกิดที่ไหน สมมติว่าเราเป็นนักเรียน เราแก้ไขสถานการณ์ด้วยการขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่คนอื่นที่เขาเข้าใจมากกว่า ให้มาคุยกับผู้ใหญ่อีกคนว่า ทำแบบนี้มันไม่ถูก เราสามารถรวมตัวกับเพื่อนๆ เพื่อเรียกร้องได้ เพราะเราเป็นเด็กเหมือนกัน ค่อนข้างที่จะเข้าใจเด็กมากกว่า ถ้าแบบนี้เห็นด้วยไหม เห็นด้วยกับใคร”

“เห็นด้วยกับทั้งคู่เลยครับ” ช่างภาพที่เป็นผู้เล่นอีกคนตอบ เรียกเสียงหัวเราะจากทั้งวง ก่อนที่เราจะยอมศิโรราบ เพราะเห็นว่าวิธีของครูแฮร์รี่นั้นเวิร์กกว่า รอบนี้คุณครูจึงได้คะแนนไป

แล้วการเล่นเกมนี้ทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้เริ่มความหลากหลายเพิ่มยังไง-เราโยนคำถามเมื่อจบรอบ

“เขาได้เรียนรู้ว่าคนที่มีความหลากหลายทางเพศเจออะไรมาเยอะมาก ไม่ว่าจะในที่สาธารณะ โรงเรียน บ้าน หรือที่ทำงาน มากกว่านั้น เด็กๆ จะได้เรียนรู้ว่าวิธีการแก้ไขปัญหามันอาจมีได้มากกว่าหนึ่งวิธี และทุกคนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาได้ด้วย ซึ่งการแก้ไขปัญหาในแต่ละบริบทก็จะแตกต่างกัน 

“เกมนี้เป็นแค่ตัวอย่างจำลองให้ดูเฉยๆ แต่ในสถานการณ์จริง มันอาจมีมากกว่านี้ก็ได้ เมื่อเขาพบเจอเรื่องเหล่านี้ในชีวิตจริง เด็กๆ ก็อาจจะนึกออกว่าควรทำยังไง” ครูแฮร์รี่ยิ้ม

ห้องเรียนเพื่อความหลากหลาย

นอกจากบอร์ดเกม เด็กๆ ในห้องเรียนวิชาหน้าที่พลเมืองยังขยับขยายไปเล่าเรื่องความหลากหลายและประเด็นที่สนใจผ่านสื่ออื่นๆ ทั้งหนังสั้น โปสเตอร์ หรือแม้กระทั่งคลิป TikTok

ไม่เพียงแค่ชิ้นงานมอบหมาย ที่พยายามสร้างให้เด็กมีหัวใจที่โอบรับความหลากหลายหรือ Inclusive เท่านั้น ครูแฮร์รี่ยังสร้างบรรยากาศในห้องเรียนให้เป็นมิตรกับเด็กทุกคน มากกว่านั้นคือสร้างข้อตกลงที่เคารพเสียงของผู้เรียนเป็นสำคัญ

“ตั้งแต่ปฐมนิเทศวิชา เราจะพูดคุยกับเด็กๆ ว่าเขาคาดหวังอะไร ถ้าเราอยู่ด้วยกันเทอมนึง เราต้องมีข้อตกลงอะไรร่วมกันเพื่อให้การเรียนนั้นประสบความสำเร็จ 

“เราให้เด็กๆ คุยเรื่องข้อตกลงกันเอง เพราะอยากให้เด็กรู้สึกว่าข้อตกลงเหล่านี้มาจากตัวพวกเขาเองด้วย แต่เราก็มีเสริมด้วยนะ เพราะจริงๆ เด็กเขาไม่คุ้นเคยกับเรื่องนี้หรอก  เวลาเข้าวิชาอื่นเขาก็จะเจอข้อตกลงที่เขาไม่มีส่วนร่วมด้วยเลย เช่น ต้องตรงต่อเวลา ต้องรักษาความสะอาด ห้ามคุยกัน นั่งเป็นแถวตรงเท่านั้น 

“พอเด็กไม่คุ้นชินกับการทำข้อตกลง สิ่งที่เขาเสนออาจจะแค่เรื่องทั่วไปว่าต้องรักษาความสะอาด ไม่เล่นมือถือระหว่างเรียน ถ้าพ่อแม่โทรมาก็ขออนุญาตออกไปคุย เราอาจเสริมว่า วิชานี้เราจะคุยกันเรื่องสิทธิมนุษยชน เพราะฉะนั้น นักเรียนจะแต่งตัวยังไง ทำทรงผมแบบไหนก็มาได้ในวิชานี้ ครูจะไม่ว่า 

“หรือในเคสอื่นๆ เช่น ถ้ามีการสอนเรื่องอะไรแล้วยกตัวอย่างสิ่งที่กระทบจิตใจเด็กบางคน ประสบการณ์บางอย่างที่ครูไม่รู้ แล้วถ้าเขารู้สึกว่าเรียนต่อจะยิ่งรู้สึกไม่ดี เราก็จะให้เขาขออนุญาตออกไปข้างนอกได้”

ครูแฮร์รี่ย้ำว่า การสร้างข้อตกลงร่วมกันไม่เพียงแต่ช่วยสร้างความทะเยอทะยานอยากเรียนอยากรู้ให้เด็ก แต่ยังทำให้พวกเขารู้สึกปลอดภัย

“เรื่องนี้สำคัญนะ เพราะถ้าบรรยากาศไม่เอื้อ เด็กก็จะปิดกั้นการเรียนรู้ไปเลย เราคิดว่าการเรียนรู้ที่ดีจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเด็กชอบ ชอบวิธีการสอน ชอบบรรยากาศในห้องเรียนที่มีชีวิตชีวา อากาศถ่ายเทสะดวก แสงสว่างเพียงพอ มีมุมให้เด็กๆ ได้นั่งเล่นตอนพักเที่ยง  หรือแม้กระทั่งเรื่องบุคลิกภาพของผู้สอนที่เฟรนด์ลี่ มันคือทุกรายละเอียด ตั้งแต่ตัวเราจนถึงสภาพแวดล้อมในห้อง

“ในฐานะครู เราอยากนำทรัพยากรที่มีไปทำประโยชน์ให้เด็กๆ เยาวชนให้เยอะที่สุด   งานนี้มีความหมายต่อชีวิตของเราในแง่ที่ว่าเรามีความสุขที่ได้ทำประโยชน์นี่แหละ เพราะเราคิดว่าตอนนี้เด็กไทยยังถูกจำกัดหลายเรื่องมาก และไม่สามารถมีโอกาสกับประสบการณ์เท่ากับเด็กในประเทศที่พัฒนาแล้ว เราจึงอยากทำให้เขาได้พัฒนาศักยภาพมากที่สุด 

“เมื่อเขามีประสบการณ์และความรู้ เขาก็จะเอาไปพัฒนาประเทศชาติต่อได้” ครูแฮร์รี่ปิดประโยคด้วยรอยยิ้ม

Writer
Avatar photo
พัฒนา ค้าขาย

นักเขียนจากเชียงใหม่ผู้รักทะเลและฤดูหนาวพอๆ กับหนังสุขซึ้ง สนใจประเด็นเรื่องเพศ ความสัมพันธ์ และเรื่องป๊อปทุกแขนง

Photographer
Avatar photo
ฉัตรมงคล รักราช

ช่างภาพ และนักหัดเขียน

illustrator
Avatar photo
สิริกร พรอนงค์

ดีไซน์เนอร์, นักวาด และอาร์ตไดมือใหม่ที่ชอบไปทะเล

Related Posts

Related Posts