“ไม่มีอะไรในชีวิตสนุกกว่าการเลี้ยงลูกอีกเเล้ว” ทักษะแม่แค่นี้พอของ วีรพร นิติประภา

“ไม่มีอะไรในชีวิตสนุกกว่าการเลี้ยงลูกอีกเเล้ว” ทักษะแม่แค่นี้พอของ วีรพร นิติประภา

  • ทักษะรอบตัวที่คนเป็นเเม่ต้องมี ทำให้เเม่ไม่กล้าเเม้เเต่จะเป็นตัวเอง อีกทั้งยังต้องรับบทหนักเเละเหนื่อยเหลือเกินจากการเป็น ‘เเม่’
  • mappa LIVE ครั้งที่ 4 ชวน ‘เเหม่ม’ วีรพร นิติประภา มาสนทนากับเเม่ๆ ในหัวข้อ “ทักษะที่แม่ไม่ต้องมี เพราะที่มีอยู่ก็ทำไม่ไหวแล้ว” เพื่อโอบกอดมนุษย์เเม่ทุกคนด้วยประสบการณ์จริงของเธอเอง
  • การเลี้ยงลูกเเบบไม่อิงตำรา เเต่เลี้ยงด้วยสัญชาตญาณความเป็นเเม่ของ เเหม่ม วีรพร อธิบายความรู้สึกนี้เอาไว้ว่า “ไม่มีอะไรในชีวิตสนุกกว่าการเลี้ยงลูกอีกเเล้ว”​

คุณชอบเป็นเเม่ไหม?

หลายคนชอบเป็นเเม่ เเต่ไม่ชอบความเป็นเเม่ที่คนอื่นคาดหวังว่า เเม่จะต้องทำได้ทุกอย่าง ตั้งเเต่งานบ้าน เลี้ยงลูก ดูเเลสามี เเละยังต้องเป็นเเม่ที่ดี

เพราะไม่ว่าจะทำอะไรคำว่า ‘เเม่’ กลายเป็นคำเตือนใจว่า ฉันไม่ควรที่จะผิดพลาด ไม่ควรร้องไห้ และไม่ควรที่จะเป็นแม้กระทั่งตัวเอง 

เเต่คำตอบของ ‘เเม่เเหม่ม’ วีรพร นิติประภา ใน mappa Live ครั้งที่ 4 “ศุกร์ 13 สนทนากับวีรพร นิติประภา : ทักษะที่แม่ไม่ต้องมี เพราะที่มีอยู่ก็ทำไม่ไหวแล้ว” เมื่อวันที่ 13 สิงหาคมที่ผ่านมา คือ 

“พี่สนุกกับการเป็นเเม่มาก มันเป็นงานที่ดีที่สุดที่วีรพรเคยทำ”

วีรพรคิดว่า ทักษะจะเกิดขึ้นเมื่อชอบสิ่งนั้น เช่นเดียวกับที่เธอชอบเเละสนุกที่จะเป็นเเม่ด้วยการเฝ้ามองลูกค่อยๆ เติบโตเป็นตัวเขาเอง เพราะลูกคือเพื่อนคนหนึ่งที่อยู่กับเเม่คนนี้ตลอดไป 

ขณะเดียวกันการเลี้ยงลูกเเบบไม่อิงตำรา เเต่เลี้ยงด้วยสัญชาตญาณความเป็นเเม่ของ เเหม่ม วีรพร อธิบายความรู้สึกนี้เอาไว้ว่า “ไม่มีอะไรในชีวิตสนุกกว่าการเลี้ยงลูกอีกเเล้ว”​

ปล่อยให้ลูกตัดสินใจ เเหกกฎบ้าง มันจะเป็นช่วงเวลาที่เเสนพิเศษของเด็กคนหนึ่ง

‘ลูกคือเด็ก เขายังตัดสินใจเองไม่ได้’ คือความกังวลเเละความเป็นห่วงของเเม่ เเต่หากเรารู้จักลูก อาจทำให้เเม่คลายความไม่สบายใจลงไปได้บ้าง 

จุดเริ่มต้นของการทำความรู้จักลูก คือ การถามเเละรับฟัง

“คุณควรจะรู้จักลูกเหมือนเพื่อนเเละเคารพเขาเหมือนเพื่อนคนหนึ่ง หน้าที่ของเราคือฟังเเละถามเหตุผล เมื่อถึงจุดหนึ่งลูกเราจะเป็นคนช่างเล่า เขาจะบอกว่ารู้สึกหรือคิดอะไร เขาเป็นคนเเบบไหน ลูกจะบอกเราตลอดเวลา คุณไม่ต้องขัดเกลาเขามาก เพียงเเต่รับรู้ว่าลูกเป็นคนเเบบไหน เเละ provide choice ให้”

ขณะเดียวกัน การรับฟังอย่างเข้าใจจะทำให้ลูกกล้าที่จะบอกสิ่งที่เขาเจอให้เเม่ฟัง เเละนี่คือสิทธิพิเศษของเเม่

“ระหว่างลูกโต เรากระตุ้นกันไปมา เราไม่ได้ทุ่มเทกับการเป็นแม่อย่างเดียว คำพูดของลูกทำให้เราโตขึ้น เเต่ถ้าเเม่ไม่ฟังลูก ลูกไม่ได้โต เเต่ไม่อยากคุยด้วย เขาจะไม่บอกว่าเขาไปเจออะไรมาเเล้วเเอบไปร้องไห้คนเดียว ไม่แบ่งปันความฝัน ไม่เห็นตาประกายยิบๆ ที่เขาอยากจะเเบ่งปันเรื่องนี้กับคุณ”

ทั้งนี้ เเม่เเหม่มพบว่า เเม่ๆ ยังใช้เวลาไปกับการเข้มงวดให้ลูกอยู่ในกฎระเบียบจนลูกไม่มีความสุข เพราะฉะนั้นจงสปอยล์ลูกเหมือนกับที่คุณสปอยล์ตัวเอง

“จริงๆ คุณสปอยล์ตัวเองตั้งเยอะ เเต่ทำไมกับลูกเข้มงวดจังเลย ทำไมคุณไม่ยอม คิดว่าเขาจะเป็นคนนิสัยไม่ดีหรือโตมากับความด่างพร้อยของการเป็นมนุษย์ วันหนึ่งเขาก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับคนอื่นๆ ให้ได้”

บางครั้งการปล่อยให้ลูกตัดสินใจ เเหกกฎบ้าง อาจเป็นช่วงเวลาที่เเสนพิเศษของเด็กคนหนึ่ง

“เเทนที่จะบอกลูกว่า แปดโมงอาบน้ำ เก้าโมงกินข้าว เเต่สอนให้เขาเลือก Choice is yours หมายความว่าในขณะที่เขาเติบโต เขาควรจะเรียนรู้เองว่าวินัยทำให้ชีวิตง่ายขึ้นเพื่อมีเวลาไปไล่ล่าในสิ่งที่เขาต้องการ”

“เเล้วเขาจะจดจำว่า เป็น One Day In the Life เป็นวันพิเศษ ที่เเม่ให้กินไอติมก่อนกินข้าว ชีวิตมันดีด้วยข้อยกเว้น ดีด้วยความที่ไม่ต้องติดกับระบบเเบบแผนตลอดเวลา”

ป้าข้างบ้านไม่สำคัญ ถ้าลูกทำได้ เเม่ก็ทำได้

หลายครั้งเเม่กลัวที่จะเเสดงความอ่อนเเอต่อหน้าลูก เเม่เเหม่มยอมรับว่า เธอไม่ได้เป็นเเม่ที่สมบูรณ์เเบบ เเต่เเม่คือมนุษย์คนหนึ่งที่มีอารมณ์ดีใจ เศร้าใจ เเละเสียใจได้ไม่ต่างจากลูก

“พี่ไม่ได้เป็นเเม่เพอร์เฟกต์ เคยกรี๊ดใส่หน้าลูก เเล้วขอโทษเขา บอกลูกว่าแม่ขอโทษนะ เเม่เป็นเเค่ผู้หญิงธรรมดา บอกลูกว่าเขาไม่ควรได้รับอะไรเเบบนี้ เเล้วเเม่จะพยายามไม่ให้เกิดขึ้นอีก พี่ไม่เคยโทษว่าเขางี่เง่า เพราะลูกเราเป็นเด็กที่ต้องงี่เง่า เราเป็นเเม่ก็งี่เง่าได้ เสียใจได้ ร้องไห้ได้”

ไม่เพียงเเต่กลัวที่จะเเสดงความรู้สึก เเต่เเม่ยังกังวลว่า ฉันต้องทำทุกอย่างเพื่อลูก ไม่กล้าสั่งอาหารที่ตัวเองชอบ เเต่สั่งเมนูโปรดของลูก ไม่กล้าออกไปสังสรรค์ คิดหนักเสมอว่า ‘เพราะฉันเป็นเเม่ ฉันจะทำนั่นโน่นนี่ไม่ได้’

ความรู้สึกเหล่านี้ คือ ความคาดหวังของเเม่ว่า ถ้าฉันเป็นเเม่ที่ดีเเล้ว ลูกฉันก็จะเป็นเด็กดี ที่เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องอำนาจนิยมในครอบครัวเเละกลัวว่า ‘ป้าข้างบ้าน’ จะมองลูกเราไม่ดี

“ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องอำนาจนิยม เพราะเเม่เองก็เติบโตจากคำว่า ฉันหวังดี ฉันรักเธอ เเต่วิธีการนี้ไม่สามารถทำให้ลูกเราเข้มเเข็งในโลกสมัยนี้ได้ จริงๆ เเล้ว ลูกคือประชากรในโลกที่เราสร้างขึ้นระหว่างเรากับเขา อย่าไปสนคนอื่นมากเลย นั่นคือโลกข้างนอก เขาต้องเรียนรู้ตั้งแต่เล็กๆ ว่าป้าข้างบ้านไม่สำคัญหรอก ถ้าคุณไม่สอนเขาจะมีป้าข้างบ้านเป็นล้านที่คอยกัดกินเขา คนทั้งโลกก็รังเเกเขาได้ ทุกอย่างเป็นบทเรียนเเละการเติบโตของเขา”

“ดูอย่างลูกบ้านโน้นสิ” ขอไว้ประโยคนึง มันคอนโทรลชีวิตลูก

เเม่เเหม่มเลี้ยงลูกด้วยคอนเซปต์ว่า ลูกคือปัจเจกที่ไม่เหมือนใคร เเละเราไม่จำเป็นต้องเดินตามวิธีการเลี้ยงลูกของใคร เเต่เลี้ยงเขาด้วยสัญชาตญาณ

ถึงเเม้จะอ่านหนังสือหลายเล่มเพื่อเตรียมตัวเป็นเเม่ เเต่เเม่เเหม่มบอกว่า สามารถนำเคล็ดลับการเลี้ยงลูกมาใช้ได้ในบางเรื่อง เเต่หลังจากลูกโตพอสื่อสารได้ เธอก็เลือกคุยกับลูกอย่างตรงไปตรงมา

“คอนเซปต์จากหนังสือช่วงก่อนมีลูกเอามาใช้ได้บ้าง เเต่พอลูกเริ่มสื่อสาร ถามตอบได้เเล้ว พี่จะถามตรงๆ เลยว่าเขาอยากได้อะไร หรือเเนะนำว่าสิ่งนี้น่าจะดีเเล้วถ้าไม่เหลือบ่ากว่าเเรง เราจะฝึกเรื่องนี้ไปด้วยกัน เพราะลูกก็ลูกเรา จะไปเอาตำราที่เขียนให้ลูกทุกลูกบนโลกนี้มาใช้ไม่ได้”

ด้วยความเชื่อที่ว่า ลูกฉันไม่เหมือนใคร หน้าที่ของเเม่เเหม่มคือการเฝ้ามองลูกเติบโต เเละเลือกที่จะมองข้ามความคิดของคนอื่น

“ดูอย่างลูกบ้านนู้นสิ พี่ขอไว้ประโยคนึง ประโยคนี้มันคอนโทรลชีวิต อยากได้ลูกบ้านนั้นก็ไปขอผัวเค้ามา ลูกไม่เคยเห็นเเม่คนอื่นดีกว่าเเม่ตัวเอง สิ่งที่พี่หวัง as it is as he is คือผลของคนอื่น วันหนึ่งลูกฉันจะสุดยอดเเบบเขา”

เเต่กับดักของพ่อเเม่ปัจจุบัน คือ เรากำลังอยากให้ลูกประสบความสำเร็จเหมือนคนอื่น

“คุณต้องการเหมือนคนอื่นตลอดเวลา จะสร้างสรรค์อะไร เด็กไทยมีแต่เรื่องไม่สนุกมีชีวิตวัยเด็กที่ไม่สนุก เเต่คุณกลับหวังว่า เขาจะเอาตัวรอดกับอนาคตข้างหน้าได้”

การเชื่อว่าลูกเราไม่เหมือนใคร จะเป็นอีกทางหนึ่งที่แม่แหม่มเชื่อว่าจะช่วยให้ลูกค้นพบว่าตัวเองคือใครเเละกล้าริเริ่มสิ่งใหม่ มีความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นทักษะสำคัญในศตวรรษที่ 21

เเม่เเหม่มมองว่า ทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 คือความคิดสร้างสรรค์ เเต่วิธีการเลี้ยงลูกกลับทำลายความคิดสร้างสรรค์ของเด็กไป จนไม่กล้าริเริ่มสิ่งใหม่ เพราะกลัวว่าสิ่งที่ทำจะเป็นสิ่งที่ผิด

“จริงๆ แล้วลูกของคุณเป็นปัจเจก ลูกของคุณเป็นหนึ่งเดียว ลูกของคุณไม่เหมือนใครในโลกนี้เลย เขาเป็นคนสำคัญเพราะว่าเขาไม่เหมือนใคร มันเริ่มจากโจทย์แบบนี้ คุณก็เลี้ยงเขาให้เติบโตผ่านตัวเขาเองเพื่อให้สามารถค้นหาด้านอื่นๆ เเละเเน่นอนเขาอาจจะอยากเหมือนคนอื่นก็ได้ อันนั้นเป็น choice ของเขา”

ลูกมีสิทธิ์ไม่เชื่อแม่ แต่เชื่อในเเบบที่เขาอยากเชื่อ

ขณะที่การสอนในโรงเรียนถูกตั้งคำถาม เเล้วลูกเราถูกป้อนชุดข้อมูลที่สวนทางกับเเนวทางการเลี้ยงลูกของคนในครอบครัว พ่อเเม่จะทำอย่างไร

เเม่เเหม่มเเนะนำว่า ลูกมีสิทธิ์ที่จะเชื่อใครก็ได้ เเต่เเม่สามารถชวนลูกตั้งคำถามเเละถกเถียงกันด้วยข้อมูลเพื่อช่วยให้เขาเห็นโลกเเละความคิดเห็นที่หลากหลาย

ในฐานะเเม่ควรปล่อยให้ลูกได้ไปเจอประสบการณ์ใหม่ๆ ด้วยเช่นกัน เเละการถกเถียงนั้นอาจทำให้เขาเติบโตเเละมองเห็นวิธีคิดอื่นๆ ได้ ถึงจะขัดเเย้งกันบ้างก็ไม่เป็นไร

“การเเลกเปลี่ยนความเห็นจะนำไปสู่การคิดที่ลึกลงไปได้ บ่อยครั้งที่ลูกขัดเเย้งกับเรา เพราะที่โรงเรียนปลูกฝังอีกแบบหนึ่ง เขาอาจจะได้เหรียญทอง ได้โชว์ตัวหน้าเสาธง โชว์ตัวว่าถูกระเบียบที่สุด เขาก็มีหน้ามีตาแบบนั้น แล้วก็มีความภาคภูมิใจแบบนั้น อาจจะไม่ได้เป็นวิธีคิดที่ถูกต้อง เเต่เราก็ต้องปล่อยให้เขาเชื่อเเบบนั้น”

“แต่อย่างน้อยลูกจะเข้าใจว่า ไม่ได้มีวิธีคิดเดียว เเต่เราช่วยลูกหาทางเพิ่ม 3-4 เเบบ ต่อให้เป็นวิธีที่โง่ที่สุดก็ช่วยเขา เพื่อเขาจะได้เห็นว่าเรื่องหนึ่งมันมีวิธีคิดได้เป็นร้อยๆแบบ”

พ่อเเม่ควรจะบอกให้ลูก ‘ช่างมัน’ ไม่จำเป็นต้องปลอบเขาเสมอไป

ทักษะรอบตัวที่คนเป็นเเม่ต้องมี ทำให้เเม่ต้องรับบทหนักเเละเหนื่อยจากการใช้ทักษะของเเม่ในบ้าน เเต่เเม่เเหม่มอยากให้ เเม่ๆ คิดว่าการเลี้ยงลูกเป็นเรื่องสนุกเเละเป็นการเรียนรู้ที่เราเรียนไปพร้อมกับลูก

“อยากให้เลี้ยงลูกให้สนุก เราไม่ได้มีเวลาเเบบนี้ตลอดชีวิต เเต่พี่พบว่าหลายๆ บ้านเสียเวลาไปกับการเข้มงวด ทะเลาะเบาะแว้ง เสียเวลาไปกับการไม่มีความสุขด้วยกัน  เมื่อถึงเวลาลูกก็ต้องโต เเต่เรามีเวลาอยู่กับเขา 20 ปี น้อยมากนะ” 

“วันหนึ่งลูกต้องโต เราห้ามเขาไม่ได้ เเต่ช่วงเวลาที่เรามีเขาอยู่ 20 ปี น้อยมากนะ เราควรใช้เวลานั้นทำให้เขาเข้มแข็ง ความเข้มแข็งนั้นคือการมีเรา การมีพ่อแม่ที่เข้าใจเขาพอสมควร มีครอบครัวที่มีความสุข มีเวลาให้เขาได้สนุกสนานกับเรื่องต่างๆ”

อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เเม่เเหม่มยังคงสนุกกับการเลี้ยงลูก เพราะเธอมองลูกเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ค่อยๆ เติบโตเป็นตัวเองด้วยเส้นทางที่เขาเป็นคนเลือกเอง

“การเห็นลูกค่อยๆ โต เปลี่ยนเป็นตัวเขาเป็นเรื่องน่าสนใจ เเต่วันนี้เราอยากให้ลูกโตเหมือนพ่อเหมือนเเม่ ทั้งๆ ที่เขามีความสามารถที่จะเป็นอื่นได้ สำหรับพี่การเห็นใครสักคนเติบโตขึ้นเป็นตัวเอง มันบรรเจิด เเล้วคุณเป็นคนเดียวที่ได้เห็นตั้งแต่วันแรกของชีวิตจนโตเป็นผู้ใหญ่ คุณโชคดีขนาดนั้น” 

“โชคดีขนาดที่ว่าเห็นจากเด็กตัวเล็กๆ คนหนึ่ง become ตัวเขา  become ครู become นักกฏหมาย become whatever เเต่คุณไม่อยากเห็นตรงนั้น คุณอยากเห็นเเบบที่คุณอยากเห็น คุณไม่ได้อยากเห็นเขาเป็นเขา คุณอยากเห็นเขาในเเบบที่คุณอยากเห็น”

อีกทั้งความเป็นเเม่ ไม่ว่าลูกจะทำอะไร เรามีหน้าที่เข้าไปสนับสนุนทุกการเดินทางของลูก เเต่ในความเป็นจริง เเม่ไม่สามารถอยู่กับลูกได้ตลอดเวลาหรือบางเรื่องเเม่อาจจะพยายามอย่างที่สุดเเล้วเเต่ก็ทำไม่ได้ 

เเม่เเหม่มมองว่า ถึงเวลาที่เเม่ต้องปล่อยให้ลูกเรียนรู้ที่จะผิดหวังเเละล้มบ้าง ไม่เป็นไรหากเขาสอบไม่ติดมหาวิทยาลัย หรือ อยากจะกินไอติมก่อนกินข้าว

“เราสอนให้ลูกเรียนรู้ที่จะเดิน จริงๆ เเล้วกลไกของการเดินคือการรู้ว่าทำยังไงไม่ให้ล้ม เพราะฉะนั้นลูกต้องรู้ก่อนว่าล้มเป็นยังไง เเต่คุณไม่ได้สอนให้เขาล้ม ไม่ได้ปล่อยให้เขาทำอะไรเลย คุณไม่ปล่อยให้เขาพลาด ไม่ปล่อยให้เขาคิดเอง เขาก็คิดไม่ได้ พอเราเห็นว่าลูกคิดไม่ได้ก็กลัวว่าเขาจะดูเเลตัวเองไม่ได้”

“ถ้าสอนให้เขาคิดได้ก็ไม่ต้องห่วงอะไรเลย เพราะเขาคิดได้ เขาอาจจะคิดได้เท่ากับหรือมากกว่าคุณ ดังนั้นก็ปล่อยเขาให้ทำสิ่งที่เขาอยากทำเถอะ”

เเม่เเหม่มเเนะนำว่า หากลูกต้องเผชิญกับความเครียดจากความเศร้าหรือผิดหวัง พ่อเเม่ควรจะบอกให้ลูก ‘ช่างมัน’ ไม่จำเป็นต้องปลอบเขาเสมอไป

“บางครั้งเราต้องสอนให้ลูกช่างมัน บางเรื่องเราจัดการไม่ได้ก็ช่างมันเพราะเป็นทักษะให้ลูกอยู่รอดในโลกนี้ เเม่ไม่จำเป็นต้องปลอบเขาเสมอไป”

ความขัดเเย้งทางความคิด ไม่จำเป็นต้องมีใครชนะ เเต่ต้องการความนุ่มนวลอย่างมากในการพูดคุยกัน 

สังคมคาดหวังว่า เมื่อเป็นเเม่เเล้ว ต้องเป็นเเม่ที่ดี เเต่สำหรับเเม่เเหม่มเเล้ว เธอวัดความสำเร็จของเเม่ด้วยความหลงใหลใฝ่ฝันของลูก สามารถทำให้คนคนหนึ่งมีชีวิตอยู่ข้างหน้า พร้อมเดินต่อไปได้โดยไม่กลัวชีวิต 

วีรพรกำลังบอกเราว่า เราควรใช้ความเป็นมนุษย์กับลูก อย่างไรก็ตาม เเม่ๆ จะมีความสุขได้เมื่อพวกเธอไม่มีอะไรต้องกังวล เเต่ท่ามกลางสถานการณ์ในปัจจุบันยังทำให้เเม่ยังคงใช้เวลาไปกับการล่ารัฐสวัสดิการ ซึ่งเป็นครึ่งหนึ่งของความหมายของชีวิตที่ดี

“ประเทศเราสนใจชีวิตน้อยมาก เราใช้ครึ่งชีวิตไปกับการล่ารัฐสวัสดิการ ซึ่งเป็นครึ่งหนึ่งของความหมายของชีวิตที่ดี คือ เมืองที่ดี การคมนาคมที่ดี บ้านที่ดี อากาศที่ดี น้ำที่ดี มีเงินพอประมาณ ปรากฏว่าบทบาทความเป็นเเม่ถูกรวมเป็นเเบบนั้น เพราะฉะนั้นลูกจะต้องมีความรู้ จบมามีงานทำ เพื่อมีบ้าน มีรถ มีเงินค่ารักษาพยาบาลตัวเองจะได้ไม่ต้องลำบากมาก”

“บ้านเราแย่ตั้งแต่ตอนอายุ 18 บังคับให้เด็กต้องเลือกเข้าเรียนในมหา’ลัยโดยที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าชีวิตคืออะไร แล้วจะรู้ได้ไงว่าจะใช้ชีวิตแบบไหน 18 อยากทำอะไร ห้ามมีเเฟน เพราะเดี๋ยวลูกเรียนไม่จบ แล้วก็ไม่มีความสุข”

ขณะเดียวกันสังคมไม่ปล่อยเเม่ เเล้วเเม่ก็ไม่ปล่อยลูกด้วย เมื่อลูกออกจากบ้านมาเรียกร้องชีวิตที่ดีขึ้น เเม่เเหม่มบอกว่า หน้าที่ของผู้ปกครอง คือ การออกมาเรียกร้องความปลอดภัยให้ลูก

“ถ้าคุณไม่ได้ขัดแย้งกันทางความคิด แต่ห่วงเรื่องความปลอดภัยที่เป็นความกังวลของแม่ส่วนใหญ่ พี่จะบอกว่าถ้าลูกคุณไม่มีความปลอดภัยจากการออกมาเรียกร้อง ในฐานะพ่อเเม่คุณมีหน้าที่ออกไปเรียกร้องให้เขาปลอดภัย เพราะความไม่ปลอดภัยมาจากรัฐ”

เเต่ตอนนี้ยังมีหลายบ้านที่มีความเห็นไม่ตรงกัน การพูดคุยเเละรับฟัง อาจนำมาสู่ความเข้าใจเเละลดช่องว่างการสื่อสารในครอบครัวได้

“พี่บอกเด็กที่เข้ามาปรึกษาพี่ว่า ความขัดเเย้งทางความคิดก็เหมือนความขัดแย้งอื่นๆ ไม่จำเป็นต้องมีใครชนะ เเต่ต้องการความนุ่มนวลอย่างมากในการพูดคุยกัน ในฐานะลูกในสังคมค่อนข้างเก่าก็ขอให้นุ่มนวลมากๆ ขอให้ใช้เหตุผลให้มากๆ อธิบายให้มากๆ พูดมากๆ ถามว่าพ่อแม่รักไหม พี่ก็มั่นใจว่าพ่อแม่รัก แต่เมื่อไหร่ที่อ้างความปลอดภัยเป็นหน้าที่ของบุพการีที่จะออกมาเรียกร้องให้การชุมนุมมีความปลอดภัย”

หากประเทศเรากลับมาสนใจชีวิต มีสวัสดิการที่เเม่มั่นใจว่า หากวางบทบาทเเม่เเล้ว ลูกจะอยู่รอดในสังคม คงจะไม่จำเป็นต้องมีทักษะความเป็นเเม่เเละกล้าจะใช้ชีวิตด้วยความสุข เพราะถ้าเเม่มีความสุขเเล้ว ทุกคนในครอบครัวก็จะมีความสุขตามไปด้วยเช่นกัน

Writer
Avatar photo
ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์

ชอบดูซีรีส์เกาหลี เพราะเชื่อว่าตัวเราสามารถสร้างพื้นที่การเรียนรู้ได้ สนใจเรื่องระบบการศึกษาเเละความสัมพันธ์ในครอบครัว พยายามฝึกการเล่าเรื่องให้สนุกเเบบฉบับของตัวเอง

illustrator
Avatar photo
กรกนก สุเทศ

เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง

Related Posts

Related Posts