“เราเล่นกับลูก ถูกแล้วหรือเปล่า” คำถามกวนใจ ปลดล็อคได้ด้วย mappa platform

“เราเล่นกับลูก ถูกแล้วหรือเปล่า” คำถามกวนใจ ปลดล็อคได้ด้วย mappa platform

  • คุยกับ ‘แม่เกรซ’ คุณแม่ที่เล่นจบทุกภารกิจและที่รั้งอันดับ 1 ใน platform mappa ณ ตอนนี้
  • “เราเล่นกับลูก ถูกแล้วหรือเปล่า” แม่เกรซเข้ามาเล่นเพราะอยากจะหาคำตอบให้คำถามนี้ที่กวนใจมาหลายปี จะได้รู้ว่าถัดจากนี้ควรจะไปต่อยังไง
  • เล่นจบ แม่เกรซได้คำตอบให้กับตัวเองแล้ว และคนเฉลยไม่ใช่ใคร ‘น้องโรซี่’ ลูกสาววัย 2 ขวบ 8 เดือนนั่นเอง

“เวลาจะไปเที่ยวที่ไหน พอเราโทรถามว่ารับคนสมุทรสาครไหม ส่วนใหญ่เขาก็ไม่รับค่ะ” 

ถ้าไม่มีเสียงหัวเราะตบท้าย เราคงเข้าใจว่าการอยู่ในใจกลางพื้นที่สีแดงเข้มของ ‘คุณแม่เกรซ’ อชิรญา เอื้อจงมานี วัย 34 ปีกับลูกสาว ‘น้องโรซี่’ วัย 2 ปี 8 เดือน เข้าขั้นหนักหนาแน่นอน 

เพราะกิจกรรมปกติของบ้านเอื้อจงมานีคือการเที่ยวต่างจังหวัด พอโควิด-19 เข้ามาปิดประตูแบบนี้ แม่ลูกจึงต้องหาอะไรทำกันสนุกๆ ที่บ้าน 

แต่ก่อนหน้านั้นแม่เกรซก็ต้องอธิบายด้วยการพูดความจริงกับน้องโรซี่ก่อนว่า “มันเกิดอะไรขึ้น”​

“เขายังเล็ก เลยไม่ได้อธิบายลึกขนาดว่ามันคือเชื้ออะไร เพียงแต่บอกว่าข้างนอกมันมีเชื้อโรคเยอะชื่อว่าโควิดที่มันติดต่อกันได้ เพราะฉะนั้นเวลาหนูออกไปข้างนอก ต้องใส่แมสก์อย่าไปจับนู่นนี่นั่นเยอะ ล้างมือบ่อยๆ เวลาไปจับอะไรมาก็ต้องล้างมือ” 

แต่น้องโรซี่ล้างมือเป็นประจำอยู่แล้ว เพราะที่บ้านฝึกให้กินแบบ BLW (Baby-Led Weaning) หรือกินเองตั้งแต่เด็กๆ การล้างมือก่อนกินข้าวจึงเป็นเรื่องปกติ 

ด้วยความที่เป็นแม่ฟูลไทม์ ไหนๆ ก็อยู่บ้านแล้ว แม่เกรซเลยมีเวลาหาอะไรทำสนุกๆ กับลูกอย่างเต็มที่ อย่างงานบ้าน งานครัว ที่คุณแม่เก็บข้อมูลมาแล้วว่าช่วยพัฒนาการของลูก 

“ทำขนมบ้าง งานบ้านบ้าง พยายามหาอะไรเล่นกับเขาอยู่เรื่อยๆ จนไม่รู้จะเล่นอะไรแล้ว” 

จนมาเจอ mappa platform…

ทำไมต้องเกาะอ่าน เกาะบ้าน และเกาะเล่น

เดิมทีแม่เกรซทำอะไร โรซี่จะเข้าไปช่วย เช่น ซักผ้า ก็ช่วยเอาผ้าใส่เครื่อง เวลาเข้าครัวก็เป็นลูกมือตัวจิ๋วทำเมนูง่ายๆ ด้วยกัน หรือไม่ก็เปิดพื้นที่ให้เล่นไปเลย เช่น ระบายสี เล่นทราย ฯลฯ​

แต่ข้อสงสัยอย่างหนึ่งของแม่เกรซคือ ที่ผ่านมา “เราเล่นกับลูก ถูกแล้วหรือเปล่า” 

“ที่เล่นอยู่ทุกวัน มันมีอะไรที่เรายังขาดอยู่บ้าง เราควรทำอะไรที่ต้องทำแต่เรายังทำไม่ครบไหม” 

ต้นเดือนที่ผ่านมา แม่เกรซได้เข้ามาลองเล่นแพลตฟอร์มการเรียนรู้ใหม่ของ mappa ฉบับ beta ที่ชวนแม่กับลูกมาพิชิตเกมการเรียนรู้ ที่แบ่งเป็น 3 เกาะคือ งานบ้าน งานอ่าน และงานเล่น

จนตอนนี้แม่เกรซพิชิตทุกภารกิจสำเร็จแล้ว 

“สารภาพว่าตอนแรกก็ยังไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ ที่ทำการเรียนรู้เป็นเกม เป็นภารกิจต่างๆ ให้เราไปเล่น พอมันผ่านด่าน ได้เก็บแต้ม มี ranking ก็รู้สึก challenge มากขึ้น แต่ส่วนตัวแอบคิดว่าแพลตฟอร์มนี้ทำมาเพื่อพ่อๆ แม่ๆ ที่มีเวลากับลูกไม่เยอะหรือเปล่า บ้านที่มีเวลาเล่นกับลูกจำกัด เลยต้องหากิจกรรมแบบนี้” 

เป็นสิ่งที่คุณแม่เต็มเวลาแอบสงสัย แต่ไหนๆ ก็ไหนๆ ก็ลองเล่นกับโรซี่เลยแล้วกัน 

“ค่อยๆ ทำวันละหนึ่งถึงสองกิจกรรม เขา (ลูกสาว) จะชอบกิจกรรมที่ได้ใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ ได้ใช้พลังงาน หรือทำซูชิข้าวปลาทูทอดในเกาะ (งาน) บ้าน เขาได้มานั่งม้วน นั่งหั่น ถ้าไม่มีกิจกรรมนี้ เราก็คงทำอาหารเมนูเดิมๆ กับเขา” 

งานสวนอย่างปลูกผักโรซี่ก็ชอบ เพราะได้ลงมือลงแรงตั้งหลายอย่าง เหมือนอย่างที่ ‘ครูอุ้ย’ อภิสิรี จรัลชวนะเพท แม่ครูผู้ก่อตั้งอนุบาลบ้านรัก เคยบอกเอาไว้ว่า การได้ทำงานบ้าน งานสวน งานครัว จะช่วยทำให้เด็กๆ รู้ว่า ‘ฉันมีกายแล้ว-ร่างกายฉันทำได้’

อีกกิจกรรมที่โรซี่ชอบคือ ปลูกผัก อีกหนึ่งภารกิจในเกาะ (งาน) บ้าน 

“เขาชอบตรงได้ขุดดิน ได้เอาสายยางมาใส่บัวรดน้ำ แล้วค่อยๆ รด เขาชอบ” 

ภายใต้ความชอบงานสวน งานปลูกผัก มีอีกหนึ่งอย่างที่ถูกปลูกขึ้นในใจเด็กๆ และพ่อแม่ต้องคอยหมั่นรดน้ำ 

“การเห็นจังหวะงอกเงย การเติบโตของผัก ตั้งแต่ยังเป็นเมล็ดจนถึงจานอาหาร ถ้าปลูกแล้วตายก็ไม่เป็นไร นี่คือโอกาสที่เด็กๆ จะได้ดีลกับความเสียใจ” 

เพราะงานบ้าน-งานครัว-งานสวน สำหรับเด็กๆ ไม่เน้นเนี้ยบกริบ สะอาดหมดจด หรือเทียบขั้นเชฟรุ่นจิ๋ว 

“แต่มันคืองานอะไรก็ได้ที่เมื่อเด็กทำแล้ว นอกจากได้ความแข็งแรงของร่างกาย กล้ามเนื้อมัดเล็ก-มัดใหญ่ เขาได้เรียนรู้จังหวะ ความสม่ำเสมอ ให้เขาได้ลองเป็นผู้สังเกตการณ์ วางแผนลำดับขั้นตอน หรือเป็นส่วนหนึ่งกับบรรยากาศรอบๆ ตัว” ครูอุ้ยย้ำ 

มิชชั่นอีกอย่างที่โรซี่ชอบทำคือ เกาะอ่านนิทาน โดยเฉพาะเรื่องปิดไฟ ที่ต้องให้แม่เกรซเล่าซ้ำทุกคืน

“ถ้าขอให้ทำซ้ำ นั่นแสดงว่าเขาชอบแล้ว” 

นอกเหนือจากความชอบที่คุณแม่จับทางได้ การที่เด็กเล็กอย่างน้องโรซี่ชอบการอ่าน โดยไม่มีใครมายัดเยียด ทักษะ literacy skill ได้เกิดขึ้นแล้วอย่างเป็นธรรมชาติ

“คือทักษะการตีความ ไม่ใช่วิเคราะห์เรื่องยากแต่คือการเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าตัวละครนั้นรู้สึกอย่างไร สามารถสวมความรู้สึกระหว่างกันได้ เข้าใจอารมณ์เสียใจ พลัดพราก ดีใจ อบอุ่น การอ่านจึงเป็นสารตั้งต้นของเด็ก เปิดโอกาสให้เด็กเรียนรู้ สร้างความเข้าใจโลกด้วยตนเอง” เจ้าของประโยคนี้คือ ‘เกื้อ’ เกื้อกมล นิยม บรรณาธิการสำนักพิมพ์สานอักษร โรงเรียนรุ่งอรุณ 

ยังมีอีกหนึ่งเกาะคือเกาะเล่น เช่น การ์ดเกมทายคำ หรือเล่นบทบาทสมมุติ (role play) แต่โรซี่วัย 2 ขวบกว่ายังไม่อินเท่าไหร่ ซึ่งแม่เกรซก็ไม่ได้บังคับ ถึงจะรู้ว่าการเล่นคือหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีที่สุด 

“ยิ่งเด็กเล่นมากเท่าไหร่ ยิ่งรักษาพลังที่มีแต่กำเนิดของเขา แต่การหยุดเล่นคือหยุดพลัง เพราะมันไม่สนุกแล้ว ชีวิตในโลกใบนี้ไม่เห็นสนุก” 

ความสำคัญของการเล่นจาก ‘ครูก้า’ กรองทอง บุญประคอง ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก และผู้ก่อตั้งโรงเรียนจิตตเมตต์ (ปฐมวัย)

เทกลางทาง เรื่องปกติ

ณ ตอนนี้น้องโรซี่และแม่เกรซพิชิตสำเร็จทุกภารกิจแล้ว ความรู้สึกแรกคือ…

“รู้สึกดีนะคะ เหมือนมันตอกย้ำว่าที่เราทำมามันก็ใช่แหละ และก็มีกิจกรรมให้เลือกทำเพิ่มขึ้นอีก” 

“ใช่” ของแม่เกรซหมายความว่า platform mappa เหมือนเป็นเพื่อนที่เข้ามาบอกว่า เดินมาถูกทางแล้ว 

ถ้าเต็ม 100 แม่เกรซให้คะแนนตัวเองไว้ที่ 70 เพราะหลายๆ ภารกิจแม่เกรซก็เทกลางทางเพราะลูกสาวไม่อินด้วย 

ซึ่งเป็นเรื่องจริง เพราะไม่มีเด็กเล็กคนไหน พร้อมที่จะเล่น เรียนรู้ ตลอดเวลา แม่เกรซชวนทำอย่างมากแค่วันละ 1-2 กิจกรรม และแอบเป็นห่วงคุณแม่อีกหลายคนที่ทำงานไปด้วยเลี้ยงเจ้าตัวเล็กไปด้วยว่าจะมีเวลาไม่พอมาทำกิจกรรม 

“ถึงบางภารกิจจะให้เวลา 24 ชั่วโมง แต่คนที่ไม่ได้อยู่บ้านกับลูกทั้งวันจะทำทันไหม หรือบางเกมต้องเตรียมเครื่องปรุง วัตถุดิบ ก็ต้องใช้เวลานิดนึง แล้วพอพร้อมจะทำกิจกรรมจริงๆ บางทีลูกไม่อยากเล่น ไม่มีอารมณ์ร่วม จนหมดเวลาไปแล้ว ก็ต้องไปทำใหม่” 

แต่ถึงทำไม่ทันก็ไม่เป็นไรเพราะทีม Learning ออกแบบแต่ละภารกิจภายใต้หลักการ gamification บางภารกิจใช้เวลาแตกต่างกัน สั้นๆ ไม่ถึงครึ่งชั่วโมงบ้าง หรือบางอันก็ปล่อยยาวให้เล่นหลายวัน แต่สามารถเข้าไปทำวันละเล็กละน้อยเพื่อสะสมแต้มได้ 

“เพราะทีมออกแบบเข้าใจดีว่าแต่ละบ้านมีเวลาไม่เท่ากัน สะดวกก่อนแล้วค่อยเข้ามาเล่น” ‘แม่บี’ มิรา เวฬุภาค CEO & Founder, mappa อธิบาย 

วันนี้บ้านเลอะหรือยัง

“ยิ่งเล็กเท่าไหร่ ยิ่งดี” แม่เกรซถือคตินี้ในในการเริ่มต้นเรียนรู้ไปกับลูก

“ปัญหาทางสังคมทั้งหลายในปัจจุบันมันเกิดจากช่วงวัยเด็กเล็กๆ ที่พ่อแม่ไม่มีเวลาให้ ให้คนอื่นเลี้ยง หลายคนเติบโตมามีปัญหาทางอารมณ์ ถ้าพ่อแม่ส่วนใหญ่ได้อยู่กับลูกตั้งแต่เด็ก ปัญหาน่าจะน้อยลง” 

พอรู้ว่าตัวเองท้อง แม่เกรซจึงตั้งใจแน่วแน่ว่าจะเลี้ยงลูกเอง และเลี้ยงแบบลงเสาเอกแน่นๆ หนักๆ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูก 

“ถ้าฐานพีระมิดเขาแข็งแรง ถึงแม้อีก 10 ปีข้างหน้าจะลำบาก เขาจะ suffer กับสิ่งรอบตัว แต่เขาจะมีกำลังใจที่ดี สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ พื้นฐานจิตใจที่ดีจะช่วยให้เขาสามารถเอาตัวรอดได้ในสภาวะที่มันยากมาก” 

ตอนนี้แม่เกรซกำลังอยู่ในช่วงหาโรงเรียนให้น้องโรซี่ เพราะเชื่อว่าโรงเรียนยังสำคัญ ขณะเดียวกันการเรียนรู้ก็สำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ และครอบครัวช่วยกันสร้างได้ 

“เราต้องเป็นคนสนับสนุนเขาในส่วนที่โรงเรียนไม่สามารถให้ได้ เช่น พาเขาเห็นสถานที่จริง ลงมือทำจริงๆ ในเรื่องที่เขาอยากรู้ ช่วยให้เขาคิดหลายๆ ทาง คิดนอกกรอบที่โรงเรียนอาจวางมาให้” 

“วันนี้บ้านเลอะหรือยัง เรามาถูบ้านกันไหม” ความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ หลังจากพิชิตมิชชั่นงานบ้านของน้องโรซี่ที่ทำให้แม่เกรซยิ้ม และย้ำคำตอบให้มั่นใจอีกครั้งว่า 

“เราเล่นกับลูก ถูกแล้ว”

Writer
Avatar photo
tippimolk

คุณแม่ลูกหนึ่งซึ่งคลุกวงในงานข่าวมาหลายสิบปี เพิ่งมาค้นพบตัวเองไม่กี่ปีมานี้ว่าอินกับงานด้านเด็ก ครอบครัว และการศึกษามากเป็นพิเศษ จึงเป็นเหตุให้มาร่วมสร้างแผนที่การเรียนรู้อย่าง mappa

Related Posts

Related Posts