โลกของพลเมือง – พลเมืองของโลก เมื่อเรื่องของ ‘ชาติ’ ไม่อาจแยกขาดจาก ‘สำนึกพลเมืองโลก’

โลกของพลเมือง – พลเมืองของโลก เมื่อเรื่องของ ‘ชาติ’ ไม่อาจแยกขาดจาก ‘สำนึกพลเมืองโลก’

“พลเมืองโลกคือต้นเหตุของความไม่รักชาติและไม่คิดอยากตอบแทนคุณแผ่นดินเกิด”

นี่คือข้อความที่ปรากฏอยู่โพสต์หนึ่งซึ่งผมไถหน้าจอฟีดเฟซบุ๊กไปพบเข้าโดยบังเอิญเมื่อไม่นานมานี้.

เจ้าของโพสต์ยังแสดงความเห็นเกี่ยวกับพลเมืองโลกอีกด้วยว่า 

สิ่งนี้เป็นวาทกรรมที่ว่างเปล่าและเสแสร้ง.

นอกจากผมจะตกใจกับข้อความนี้แล้ว,

สิ่งที่น่าตกใจไม่แพ้กันคือข้อคอมเมนต์ต่างๆ ใต้โพสต์นั้นที่แสดงความเกลียดชังแบบไม่ยับยั้งและความคลั่งชาติแบบไม่ยั้งคิด.

เมื่อผมได้ติดตามอ่านและสังเกตความเป็นไปต่างๆ ในโพสต์นั้นแล้ว,

ผมพบความเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อนและความพร้อมที่จะตัดสินอย่างขาดความรอบคอบ.

ผมเลยตัดสินใจเขียนบทความนี้ขึ้นเพื่อชวนคิดชวนคุยว่า 

พลเมืองโลก (global citizen) คืออะไรกันแน่?

และมันสำคัญอย่างไรต่ออนาคตของมนุษยชาติ?

พลเมืองโลกคืออะไร?

เพื่อความชัดเจน, เราควรเริ่มต้นที่นิยามของคำคำนี้กันก่อน.

องค์การสหประชาชาติหรือ UN ได้กำหนดความหมายพลเมืองโลกไว้ว่า:

“Global citizenship is the umbrella term for social, political, environmental, and economic actions of globally minded individuals and communities on a worldwide scale.”

ตามนิยามข้างต้น, พลเมืองโลกคือผู้ที่ตระหนักว่า

ตนเองเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก,

มีความรู้สึกนึกคิดกว้างไกลกว่าประเทศที่ตนอยู่อาศัย, และไม่ผูกติดอยู่กับ

“ชาติ” ที่ตนเองสังกัดอย่างหลงระเริง.

ความเป็นพลเมืองโลกคิดและตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ,

ไม่ว่าจะเป็นในเชิงสังคม, การเมือง, สิ่งแวดล้อมหรือเศรษฐกิจ,

อย่างมีสำนึกต่อส่วนรวม.

และส่วนรวมนั้นหมายถึงโลกทั้งใบที่ตนเองเป็นส่วนหนึ่ง.

หลายท่านอาจคิดว่า สำนึกแห่งความเป็นพลเมืองโลกเป็นเรื่องใหม่;

แต่อันที่จริง, โซคราตีส, นักปรัชญากรีกคนสำคัญ,

เคยกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้แล้วเมื่อราวๆ 450 ปีก่อนคริสตกาล. 

เขากล่าวว่า “I am a citizen of the world”, ซึ่งหมายถึง “ข้าพเจ้าเป็นพลเมืองของโลก”.

สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า

เขาเชื่อในความเชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออกของผู้คนทั้งหลายในโลกใบนี้. 

และสามารถมองข้ามชายแดนและการแบ่งแยกต่างๆ

ซึ่งเป็นเพียงมายาภาพ.

เมื่อโบราณกาลได้ผันผ่านและล่วงเลยมากว่าสองพันปีสู่ยุคโลกาภิวัตน์ (Globalisation), 

ซึ่งหมายถึงความเป็นหนึ่งเดียวของโลกใบนี้,

ความเป็นพลเมืองโลกก็ยิ่งชัดเจนและจับต้องได้มากยิ่งขึ้น.

สำนึกพลเมืองโลกสำคัญอย่างไร?

หลังสงครามโลกทั้งสองครั้ง, องค์การสหประชาชาติได้ถือกำเนิดขึ้น.

เป้าหมายหลักขององค์การนี้คือการสร้างสันติภาพและความสงบสุขในระดับโลก.

สำนึกพลเมืองโลกเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญที่องค์การสหประชาติให้ความสำคัญ

และพยายามบ่มเพาะวิธีคิดแบบพลเมืองโลก (global mindset) ให้งอกงามในเด็กและเยาวชนทั่วโลก.

แน่นอนว่าการสร้างสันติภาพโลกเป็นเป้าหมายสูงสุดประการหนึ่งของการบ่มเพาะสำนึกพลเมืองโลกให้เกิดขึ้นในคนเรา.

แต่สำนึกพลเมืองโลกก็ยังมีประโยชน์อื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก,

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดนโยบายต่างๆ ภายในประเทศ.

ผมขอยกตัวอย่างเกี่ยวกับการคิดแบบมีสำนึกพลเมืองโลกซึ่งจะมีส่วนในการกำหนดนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม.

ตลอดระยะเวลาสี่ห้าเดือนมานี้, ผมไปอยุธยาทุกเดือนเพราะจู่ๆ ก็เกิด “อิน” กับประวัติศาสตร์, โบราณสถานและสถาปัตยกรรมต่างๆ ในสถานที่ที่ได้รับการยกย่องให้เป็น “มรดกโลก” แห่งนี้.

แต่สิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกหัวร้อนและหงุดหงิดอยู่เสมอก็คือการเก็บค่าเข้าชมวัด,

วัง, และพิพิธภัณฑ์ที่แยกเป็นสองอัตรา. 

คนไทยจ่ายราคาหนึ่ง;

ชาวต่างประเทศจ่ายอีกราคาหนึ่งซึ่งสูงกว่าหลายเท่าตัว.

คำถามที่สำคัญก็คือ

การเก็บค่าเข้าชมในอัตราที่แตกต่างกันเช่นนี้มีแนวคิดใดอยู่เบื้องหลัง?

คนวางนโยบายกำลังคิดอะไรอยู่ในขณะที่ออกนโยบายการเก็บเงินเช่นนี้?

ผมมองไม่เห็นคำตอบอื่นใดที่อยู่เบื้องหลังนอกจากแนวคิดโบราณคร่ำครึซึ่งตกทอดมาถึงทุกวันนี้

ที่มีชื่อว่า “ชาตินิยม”.

พูดก็พูดเถอะ, ไม่มีเหตุผลอันชอบธรรมใดๆ

ที่จะต้องเก็บเงินชาวต่างชาติดังที่เป็นอยู่.

และยิ่งขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองมรดกโลกแล้ว,

สิ่งที่ควรทำคือการต้อนรับและปฏิบัติต่อชาวโลกทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน.

มิเช่นนั้น, ก็ควรจะเรียกตัวเองว่า “เมืองมรดกไทย”

ที่สงวนให้คนไทยโดยเฉพาะ, ใครไม่ใช่คนไทยจะต้องจ่ายแพงกว่า!

สำนึกพลเมืองโลกจึงเป็นหนทางสู่การเป็นเมืองมรดกโลกที่แท้จริงอย่างสง่างาม.

เช่นเดียวกัน, หากเราถือครองสำนึกพลเมืองโลกอย่างเอาจริงเอาจัง,

การบังคับเกณฑ์ทหารในบ้านเมืองเราก็คงจะยกเลิกไปแล้ว.

ในเมื่อเรามองเห็นโลกทั้งใบเป็นชุมชนขนาดใหญ่,

ซึ่งเราทุกคนเป็นหนึ่งในนั้น, และเป็นเพื่อนบ้านกัน.

การบังคับให้คนเป็นทหารนั้นไม่ชอบธรรม เพราะผู้ที่มีสำนึกพลเมืองโลกย่อมเห็นว่า

การฆ่าฟันกันเองกับคนในชุมชนเดียวกันนั้นเป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำ.

สันติภาพ, ซึ่งก่อร่างสร้างรูปได้ด้วยสำนึกพลเมืองโลก,

เป็นทางออกต่อปัญหาและความขัดแย้งใดๆ

ระหว่างมนุษยชาติที่ดีกว่าการ เข่นฆ่ากันเองอย่างแน่นอน.

มิพักเอ่ยถึงความพร้อมช่วยเหลือและอ้าแขนต้อนรับเพื่อนร่วมโลกที่อพยพ

ด้วยความกระเสือกกระสนดิ้นเพื่อชีวิตรอดจากสถานการณ์อันยากลำบาก

หรือเป็นอันตรายต่อชีวิตจากประเทศเขตคามของตน.

แนวทางการกำหนดนโยบายของประเทศจึงแตกต่างออกไปหากเราคิดผ่านกรอบสำนึกพลเมืองโลก,

เพราะวิธีคิดของเรานั้นผูกติดอยู่กับสำนึกที่เราถือครองอยู่อย่างยากจะแยกออกจากกันได้.

อันที่จริง,

สำนึกพลเมืองโลกไม่ใช่คำประดิษฐ์อันว่างเปล่าสวยหรูแต่ประการใด.

“ชาติ” เองต่างหากที่เป็นวาทกรรมโบราณนานมาซึ่งถูกใช้เป็นเครื่องมือในการปกครอง, 

แบ่งแยกและแสวงหาประโยชน์จากผู้คนมานับไม่ถ้วน. 

และที่สำคัญ,

สำนึกนี้ไม่ได้ทำให้เราไม่รักชาติดังที่โพสต์นั้นกล่าวอ้าง.

เรายังคงรักชาติได้แม้มีสำนึกพลเมืองโลก;

แต่ไม่ใช่ความรักชาติแบบมืดบอด, ไม่ใช่ความคลั่งชาติแบบหน้ามืดตามัว.

นอกจากนี้, 

การมีสำนึกพลเมืองโลกยังเป็นการตอบแทนคุณแผ่นดินเกิดอย่างล้ำลึกและทรงคุณค่าในระยะยาว.

การคิดแบบองค์รวมผ่านสำนึกนี้

จะทำให้เกิดการมุ่งพัฒนาบ้านเมืองอย่างต่อเนื่องให้ทัดเทียม

และเท่าเทียมสมกับความเป็นประชาคมโลก,

และก่อให้เกิดสำนึกหวงแหนบ้านเกิดแบบไม่หวงห้ามและต้อนรับพลเมืองโลกอื่นๆ อย่างไม่ปิดกั้น.

กล่าวโดยสรุป, 

สำนึกพลเมืองโลกทำให้เราเห็นอกเห็นใจ, รับฟังและยอมรับกันมากขึ้น.

เป็นสำนึกที่ทำให้เราคิดแบบโอบอ้อมเอิบอาบโดยยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางน้อยลง,

และทำให้เรามองเห็นความเกี่ยวข้องโยงใยอันเป็นหนึ่งเดียวอย่างมิอาจแยกออกได้ของมนุษยชาติอย่างแจ่มชัด.

มันจึงเป็นสำนึกที่สำคัญที่ทำให้เรามองเห็นว่า:

ชายแดนเป็นเพียงขอบเขตตามสมมติและประเทศเป็นเพียงเขตคามตามบัญญัติ.

และเหนือสิ่งอื่นใด, สำนึกพลเมืองโลกทำให้เรารัก “มนุษยชาติ”

มากกว่ารักชาติ.

Writer
Avatar photo
กิตติศักดิ์ โถวสมบัติ

นักเขียน/นักแปล/ล่ามอิสระ เจ้าของเพจชวนคิด, ชวนตั้งคำถามและถ่ายทอดสรรพวิทยา The Wissensdurst.

illustrator
Avatar photo
ชินารินท์ แก้วประดับรัฐ

มีงานหลักคือฟังเพลง งานอดิเรกคือทำกราฟิกที่ไม่มีอะไรตายตัว บางครั้งพูดไม่รู้เรื่องต้องสื่อสารด้วยภาพและมีม

Related Posts

Related Posts