โรงเรียนไทยในสายตา “ครูต่างชาติ”

โรงเรียนไทยในสายตา “ครูต่างชาติ”

ไม่นานมานี้ มีวิดีโอหนึ่งที่กลายเป็นดราม่าร้อนในโลกโซเชียล เมื่อเด็กนักเรียนหญิงคนหนึ่งแสดงท่าทางไม่เหมาะสมกับ “ครูต่างชาติ” ทั้งการยกนิ้วกลางให้ตอนครูหันหลัง หรือแม้แต่ทำหน้าตาล้อเลียน เรียกว่ารถทัวร์ทั่วโซเชียลไปจอดที่เด็กนักเรียนคนนี้โดยพร้อมเพรียงกัน

พอได้เห็นวิดีโอดังกล่าว ก็ทำให้ย้อนนึกกลับไปถึงช่วงวัยเรียน และเชื่อว่านักเรียนไทยส่วนใหญ่ก็คงจะคุ้นเคยกับครูต่างชาติที่เข้ามาสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียน หลายคนอาจจะชื่นชอบวิชาเรียนกับครูต่างชาติ ในขณะที่หลายคนก็อาจจะเกลียดกลัวไปเลยก็มี แต่ในรั้วโรงเรียนไทยที่มี “ปัญหา” ทับถมอยู่มากมาย ครูต่างชาติเหล่านี้มองเห็นหรือได้รับผลกระทบจากปัญหาเหล่านั้นบ้างหรือไม่ Mappa ชวนครูต่างชาติ 4 คนมาแบ่งปันประสบการณ์การสอนในโรงเรียนไทย พร้อมสะท้อนปัญหาที่ได้พบเจอมาในระหว่างการทำงาน 

เด็กนักเรียนไทยน่ารักที่สุด

“เด็กนักเรียนไทยเป็นเด็กที่น่ารัก สุภาพเรียบร้อย และให้ความเคารพผมในฐานะคุณครูมาก ๆ ซึ่งนี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การสอนในโรงเรียนไทยของผมเป็นประสบการณ์ที่สนุกและน่าจดจำ” ครูลาน ครูสอนภาษาอังกฤษชาวรัสเซีย ผู้มีประสบการณ์สอนในโรงเรียนไทยมากกว่า 6 ปี ก่อน เริ่มต้นเล่าให้เราฟัง

ความสุภาพเรียบร้อยของนักเรียนไทย คือสิ่งที่ครูต่างชาติทุกคนยกให้เป็นประสบการณ์ “ที่ยอดเยี่ยม” ของการสอนในโรงเรียนไทย เช่นเดียวกับความมีวินัยที่ครูต่างชาติรู้สึกว่าเป็นเอกลักษณ์ของนักเรียนไทย โดยครูแดน ที่จบปริญญาด้านการศึกษาจากสหรัฐอเมริกา และเคยสอนอยู่ที่ไทยนานกว่า 2 ปี ก็สะท้อนว่า 

“ถ้าครูขอให้นักเรียนช่วยทำอะไร เด็ก ๆ ก็จะทำอย่างเต็มใจ หรือบางครั้งครูไม่ต้องเอ่ยปากขอด้วยซ้ำ นักเรียนลงมือทำกันเองก็มี อย่างเช่นการทำความสะอาดห้องเรียน ซึ่งเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมมาก ๆ เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนักเรียนด้วยกัน ผมรู้สึกว่ามันเกิดขึ้นจากการที่นักเรียนได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่โรงเรียนจัดให้ร่วมกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผมไม่ค่อยเห็นในสังคมโรงเรียนของสหรัฐฯ สักเท่าไร” 

ครูต่างชาติคือคนนอก

“แม้ว่านักเรียนจะน่ารักแค่ไหน แต่ระบบการทำงานของบางโรงเรียนก็แย่มากเลย ฉันเคยสอนที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง และสิ่งที่ฉันได้เจอคือไม่มีการสื่อสารระหว่างครูไทยและครูต่างชาติเลย ฉันเคยมีปัญหากับครูไทยคนหนึ่งเพราะฉันเข้าไปถามเรื่องการสอน แต่นั่นเป็นสาเหตุให้ฉันถูกไล่ออกจากโรงเรียน ฉันเลยรู้สึกว่าในฐานะครูต่างชาติ พวกเราไม่สามารถแสดงความคิดเห็น หรือสื่อสารสิ่งที่ตัวเองคิดว่าจำเป็นกับเด็กนักเรียนได้เลย” ครูโลเร่ จากฝรั่งเศส ระบุ 

ครูต่างชาติมักถูกปฏิบัติเหมือนเป็น “คนนอก” ในกลุ่มครู และไม่ได้รับเชิญให้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนการสอน ทั้งยังไม่ได้รับข้อมูลที่ “จำเป็น” ต่อการปฏิบัติงานจากครูไทย ซึ่งครูต่างชาติหลายคนตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นเพราะครูไทยส่วนใหญ่ไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ (แม้แต่ครูคนไทยที่สอนวิชาภาษาอังกฤษก็ตาม) จึงทำให้ครูต่างชาติถูกมองว่าเป็นคนอื่น และไม่ถูกนับเป็นครูที่สามารถวางแผนการสอนร่วมกันได้ 

“ตอนสอนอยู่ที่โรงเรียนแรก ผมรู้สึกเหมือนเป็นคนนอกเลย เราถูกจัดให้นั่งคนละห้องกับครูไทยจากกลุ่มสาระภาษาอังกฤษ เราไม่มีหนังสือที่ต้องใช้สอนเด็กนักเรียน ซึ่งแปลว่าเราต้องดั้นด้นหาวิธีสอนกันเอง เราไม่เคยถูกเรียกให้เข้าประชุมหรือรับฟังแผนการสอนร่วมกับครูไทย ผมคิดว่าคงจะเป็นผลดีกับนักเรียนมากกว่าถ้าเราสามารถร่วมวางแผนการสอนกับครูไทยได้” ครูแดนกล่าว 

ไม่ใช่แค่ตัวครูผู้สอนเท่านั้น แต่ระบบบริหารของโรงเรียนไทยก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ถูกหยิบยกขึ้นมาบอกเล่าจากปากของครูต่างชาติเอง ซึ่งครูลานขอไม่เปิดเผยรายละเอียดปัญหา แต่สะท้อนว่าฝ่ายบริหารของโรงเรียนที่เคยสอนไม่มีความเป็นมืออาชีพเลย 

“การจัดการห้องเรียนก็ค่อนข้างยากนะครับ บางครั้งผมเจอห้องเรียนที่มีนักเรียนมากถึง 48 คนเลยทีเดียว แล้วถ้าห้องวุ่นวาย นักเรียนไม่เชื่อฟัง โดยเฉพาะกับครูต่างชาติที่ไม่ได้มีอำนาจเหมือนกับครูไทย หรือไม่ได้รับการซัพพอร์ตจากโรงเรียนเลย มันก็ทำให้การสอนกลายเป็นเรื่องยากได้เหมือนกัน” ครูแดนชี้

เจ้าของภาษาแต่สอนไม่เป็น

ครูต่างชาติมักถูกมองว่าเป็น “ครูที่ไม่ได้จบครู” ไม่มีความรู้ด้านการสอน แต่ถูกจ้างให้มาเป็นครูเพราะเป็น “เจ้าของภาษา” เพียงเท่านั้น 

“มันอาจจะฟังดูแย่นะ แต่โรงเรียนไทยมีครูต่างชาติแย่ ๆ เยอะมากเลยครับ แล้วถ้าวิชาเรียนไม่สนุก ไม่สามารถทำให้นักเรียนรู้สึกมีส่วนร่วมได้ เด็กก็จะไม่อยากเรียน มันเลยเป็นปัญหาเรื่องการคัดเลือกครูนี่แหละ ถ้าคุณไปตามโรงเรียนรัฐบาลของไทย คุณจะเจอกับครูต่างชาติที่ไม่มีประสบการณ์การสอนมาเลย หรือไม่ได้เรียนจบด้านการสอนมาโดยตรง เพราะอะไร เพราะโรงเรียนรัฐบาลไม่ได้มีงบประมาณมากพอที่จะจ้างครูต่างชาติดี ๆ ยังไงล่ะครับ” ครูจอนนี่ ร่วมสะท้อน 

ครูจอนนี่เป็นชาวอังกฤษที่เข้ามาสอนในโรงเรียนไทยนานกว่า 10 ปีแล้ว ทำให้เขามีประสบการณ์การสอนในรั้วโรงเรียนไทยเยอะมาก ซึ่งครูจอนนี่ชี้ว่า ครูต่างชาติส่วนใหญ่ที่สอนอยู่ในโรงเรียนไทย ไม่มีประสบการณ์การสอนนักเรียนมาก่อน หรือไม่ได้เรียนจบในด้านที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา สอดคล้องกับครูแดน ที่เล่าว่าตลอด 2 ปีที่ทำงานในโรงเรียน เขาเคยเจอครู “คนเดียว” เท่านั้นที่เรียนจบด้านการสอนมาโดยตรง 

“ฉันคิดว่าการมีประสบการณ์การสอนมาก่อน หรือเรียนจบด้านนี้โดยตรง เป็นสิ่งสำคัญนะคะ เราไม่สามารถให้คนที่ไม่รู้วิธีการสอนเลยมาสอนนักเรียน และไม่ใช่ทุกคนจะสามารถสอนหนังสือได้ การสอนเป็นทักษะที่คุณต้องเรียนรู้ ดังนั้น มันเป็นเรื่องจำเป็นที่ครูต่างชาติต้องมีวุฒิการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการสอนหรือการศึกษา” ครูโลเร่ชี้ 

“ต้องบอกว่าครูต่างชาติที่จบด้านนี้มาโดยตรง แล้วมาสอนในโรงเรียนรัฐบาลไทยมีค่อนข้างน้อยมากจริง ๆ ส่วนใหญ่เขาจะไปสอนโรงเรียนเอกชนหรือโรงเรียนนานาชาติกันหมด แต่ก็จะมีครูจากฟิลิปปินส์หรือจากประเทศอื่น ๆ มาสอนเหมือนกันนะ แต่พวกเขาไม่ได้เป็นเจ้าของภาษา” ครูแดนบอก  

ด้านครูลานก็ร่วมแสดงความคิดเห็นว่า ประสิทธิภาพในเรื่องการสอนของครูต่างชาติไม่ได้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์การสอน หรือวุฒิการศึกษาเท่านั้น แต่เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับ “ตัวปัจเจก” ครูต่างชาติหลายคนสามารถเป็นครูที่ยอดเยี่ยมได้แม้จะไม่เคยมีประสบการณ์สอนมาก่อน แต่ครูลานก็ไม่ปฏิเสธว่าไม่ใช่ครูต่างชาติทุกคนจะเป็นได้แบบนั้น 

“แต่การไม่ได้เป็นเจ้าของภาษาก็ไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องไม่ดีนะ เพราะครูเหล่านี้สื่อสารภาษาอังกฤษได้เหมือนเจ้าของภาษาเลย สำหรับผมแล้ว เป้าหมายของการเรียนภาษาอังกฤษคือการสื่อสารให้ได้ เช่นเดียวกับสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ก็ต้องเอื้อด้วย นักเรียนควรได้เรียนภาษาอังกฤษในสภาพแวดล้อมที่เขารู้สึกปลอดภัย กล้าทำผิดในห้องเรียน และกล้าที่จะสื่อสาร มากกว่าการเรียนแกรมม่าหรือท่องจำคำศัพท์” ครูแดนกล่าวสรุป

Writer
Avatar photo
ณัฐฐฐิติ คำมูล

วัยรุ่นปวดหลังที่ใฝ่ฝันถึงสังคมที่ทุกคนเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง

illustrator
Avatar photo
ชินารินท์ แก้วประดับรัฐ

มีงานหลักคือฟังเพลง งานอดิเรกคือทำกราฟิกที่ไม่มีอะไรตายตัว บางครั้งพูดไม่รู้เรื่องต้องสื่อสารด้วยภาพและมีม

Related Posts

Related Posts