นอกกะลา ท้องฟ้ามีอยู่จริง: อ่าน ‘สังคมศึกษาทะลุกะลา’ คุยกับ ‘ทิว-ธนวรรธน์’ ครูสังคมที่เชื่อว่าปลายทางของห้องเรียนคือพลเมืองที่กล้าฝันถึงสังคมใหม่
นอกกะลา ท้องฟ้ามีอยู่จริง: อ่าน ‘สังคมศึกษาทะลุกะลา’ คุยกับ ‘ทิว-ธนวรรธน์’ ครูสังคมที่เชื่อว่าปลายทางของห้องเรียนคือพลเมืองที่กล้าฝันถึงสังคมใหม่
สังคมศึกษาทะลุกะลา ซึ่งรวมบทความทั้งหมด 10 บทเป็นงานวิชาการของคนรุ่นใหม่ที่คลุกคลีอยู่กับการสอนสังคมศึกษาทั้งก่อนและในอุดมศึกษา ทว่าได้ผลิตงานนอกขนบสังคมศึกษาไทยที่พบเห็นดาษดื่น เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้ คิดว่ามีจุดเด่นที่ได้ค่อยๆ แย้มประตูบานเล็กๆ เปิดสนทนาแบบตรงไปตรงมากับผู้อ่านกับสภาวะแช่แข็งของเป้าประสงค์และขอบข่ายความรู้และการสอนสังคมศึกษาที่…
“มัดตราสังผู้เรียนไว้กับอดีต สร้างปัจจุบันให้เงียบ ไร้จินตนาการถึงโลกใบใหม่”
บางส่วนจากบทนำโดย ศาสตราจารย์ ดร.นงเยาว์ เนาวรัตน์ เขียนไว้ในหนังสือ สังคมศึกษาทะลุกะลา เพื่อขมวดให้เห็นภาพรวมของเนื้อหาอย่างสังเขปของหนังสือเล่มขนาดเหมาะมือซึ่งตั้งต้นขึ้นจากการรวบรวมเครือข่ายครู-นักวิชาการที่ทำงานกับประเด็นการศึกษามาร่วมกันเขียนสื่อสารแง่มุมต่างๆ ว่าด้วยการสอนสังคมศึกษา ทั้งอรรฏชณม์ สัจจะพัฒนกุล, ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์, รพีพรรณ จักร์สาน, ออมสิน จตุพร, ภี อาภรณ์เอี่ยม(เขียนและบรรณาธิการ), อรรถพล ประภาสโนบล(เขียนและบรรณาธิการ), ธนวรรธน์ สุวรรณปาล, ธนัญญา ต่อชีพ, ปาริชาต ชัยวงษ์ และภาคิน นิมมานนรวงศ์ ร้อยเรียงเนื้อหาออกมาทั้งหมดเป็น 3 ภาคคือ ชำแหละกะลา—ส่องนอกกะลา—ทะลุกะลา
บทความนี้จะพาไปมาสอดส่องแง่มุมต่างๆ ว่าด้วยสังคมศึกษาผ่านบทสนทนากับ ทิว–ธนวรรธน์ สุวรรณปาล หนึ่งในผู้เขียนและร่วมก่อร่างหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา เขาคือครูสังคมที่เติบโตมากับหนังสืออีกหลายๆ เล่ม ตั้งแต่วัยเด็กและถูกหล่อหลอมจากการเลี้ยงดูของแม่ที่ชวนสังเกตสิ่งรอบตัวอยู่เสมอ จวบจนเลือกเรียนศึกษาศาสตร์และเริ่มต้นอาชีพครูที่สุขุมวิท การเริ่มต้นครั้งนั้นเองกลายเป็นจุดตั้งต้นสำคัญที่พาเขาออกเดินทางไปยังหมุดหมายใหม่ทางความคิดในฐานะ ‘ครูสังคมศึกษา’
“พอมาเป็นครูอยู่กลางเมืองกลางเส้นสุขุมวิท เราต้องสอนเด็กครึ่งหนึ่งคืออยู่คลองเตย ค่อนโรงเรียนคือเด็กที่พ่อแม่หาเช้ากินค่ำ เป็นแรงงาน เป็นชนชั้นล่าง ต้องอยู่ในชุมชนแออัด เราเห็นชีวิตของเขา ตอนแรกไม่เข้าใจ เหมือนมาอยู่โลกอีกใบ หลังจากที่เราโต เรียนโรงเรียนสาธิตฯ แล้วก็ฝึกสอนโรงเรียนสาธิตฯ ซึ่งเราก็เข้าใจว่านั่นคือโลก คือก็รู้ว่ามันต่างกันแหละ แต่ว่าไม่คิดว่ามันจะต่างกันขนาดนี้ เลยพยายามที่จะไปหาคำตอบว่าทำไมต่างกันขนาดนี้ เกิดอะไรขึ้นกับเด็กเหล่านี้ พอได้รับฟัง ได้ไปดูสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขาบ้างก็ทำให้เราเริ่มมาตั้งคำถามกับการสอนของตัวเองว่า สิ่งที่เราสอนมันทำให้เขาเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับชีวิตเขามากน้อยแค่ไหน ในท้ายที่สุดมันไม่ใช่แค่เรื่องการสอนนะ มุมมองทางเศรษฐกิจสังคมของผมก็เปลี่ยนไป เอาจริงๆ ผมก็มานิยามว่าตัวเองซ้ายหลังจากนั้น”
Mappa ชวนถกถามไปกับครูทิว อะไรคือกะลาที่ครอบการสอนสังคมศึกษาบ้านเรา ขอบฟ้าใหม่ที่สังคมศึกษาจะพาไปถึงได้นั้นอยู่หนแห่งใดกัน แล้วเราจะทะลุออกไปจากสิ่งที่ครอบอยู่นี้เพื่อสัมผัสขอบฟ้านั้นได้อย่างไร
มีอะไรบางอย่างไม่ให้เรากระโดดออกไป
ครูทิวมองว่า ‘กะลาในสังคมไทย’ คือ ความคิดและชุดคุณค่าที่ทำให้เราไม่กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงหรือทำให้เราเปลี่ยนแปลงไม่ได้ กล่าวคือมีความคิดความเชื่อบางอย่างที่ถูกรักษาไว้ ในขณะเดียวกันเราก็ต้องการการก้าวไปข้างหน้า ซึ่งมันสวนทางกัน นำไปสู่การปิดกั้นมุมมองใหม่ๆ ปิดพื้นที่ในการพูดคุยถกเถียงหลายๆ เรื่องไป
“มันทำให้เรามองไม่เห็นว่าจริงๆ แล้วท้องฟ้ากว้างใหญ่ขนาดไหน หรือว่าทุ่งหญ้ามีพื้นที่ที่เราสามารถวิ่งเล่นได้ไหม เพราะว่ามีอะไรบางอย่างไม่ให้เรากระโดดออกไป ไม่ให้เราก้าวออกไปได้ สิ่งนั้นคือกะลา”
ในประเด็นเดียวกันนี้ครูทิวได้คลี่ขยายภาคแรกของหนังสือสังคมศึกษาทะลุกะลาที่ใช้ชื่อ ‘ชำแหละกะลา’ ซึ่งเป็นภาคสำคัญของหนังสือที่พาตั้งต้นทบทวนประวัติศาสตร์การสอนสังคมศึกษาของไทย พาไปสำรวจก่อนว่ามีอะไรที่ครอบเราอยู่ มีอะไรที่อาจจะเป็นความเคยชินของเรา หรือที่เราเป็นมาแต่อาจจะไม่เข้าใจ อาจจะไม่เห็นบริบท อาจจะไม่เห็นว่ามันคืออะไร แล้วส่งผลต่อวิธีคิดของเราอย่างไรบ้าง ซึ่งบทนี้ก็จะชวนเราตั้งคำถามว่า แล้วเราควรจะทำอย่างไร
“อย่างบทของอาจารย์อรรฏชณม์พาไปพูดถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาว่าพลวัตของวิชาสังคมศึกษาในไทยมีที่มาที่ไปยังไง แล้วมันสะท้อนถึงอะไรบ้างผ่านบริบททางประวัติศาสตร์ตั้งแต่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การสร้างรัฐชาติขึ้นมา บทของอาจารย์ภิญญพันธุ์ก็รื้อเอาหลักสูตรสังคมศึกษาออกมากางเลย แล้วก็เอาแว่นเรื่องกษัตริย์นิยม เอาแว่นเรื่องอำนาจนำ เรื่อง hegemony มาวิเคราะห์ว่ามีเนื้อหาหรือมีตัวชี้วัดอะไรที่กำหนดมาบ้าง เพื่อชี้ให้เห็นว่ามันถูกเน้นหนักไปที่เรื่องอะไรและมีวัตถุประสงค์ที่จะสร้างให้คนมีความรู้หรือมีชุดคุณค่าอะไรบ้างที่แฝงอยู่ ส่วนบทของอาจารย์รพีพรรณพูดถึงนิติอธรรม พูดถึงสังคมศึกษาว่าเป็นการเรียนเรื่องการใช้ชีวิตในสังคม ทำให้คนอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุขผ่านการทำความเข้าใจเรื่องกฎหมายหรือกติกาในการอยู่ร่วมกัน แต่คำถามคือแล้วกติกาแบบไหนล่ะที่สังคมไทยอยู่ร่วมกันตอนนี้”
เธอเห็นท้องฟ้านั่นไหม?
ปราศจากการแง้มออกไปสำรวจท้องฟ้าของสังคมอื่นๆ แนวคิดที่หลากหลาย ไปจนถึงความเป็นไปได้แบบใหม่ๆ ย่อมทำให้เรามองไม่ชัดว่าแนวคิดหรือวิธีการของเราเป็นอย่างไรและมีข้อน่ากังขาอย่างไรบ้าง ไปจนถึงไม่อาจเชื่อมโยงตัวเองกับความแตกต่างหลากหลายและความเปลี่ยนแปลงที่เป็นส่วนหนึ่งในการเคลื่อนไปของโลกใบนี้ได้ หากพูดในทางเปรียบเทียบก็อาจคล้ายกับการอยู่ภายใต้กะลาจนเคยชินกับความมืดมิดภายใน ทำให้เราค่อยๆ ตัดขาดออกจากโลกรอบๆ อย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว เราจึงต้องชำแหละกะลาแล้วเริ่มแง้มมันขึ้นบ้าง อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อเป็นการพิสูจน์ความเชื่อเดิมของเราว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่
ครูทิวบอกว่าหัวใจสำคัญหนึ่งเรื่องในการสอนสังคมศึกษาคือมองเห็นความเชื่อมโยงของชุดคความรู้และปรากฏการณ์แบบต่างๆ ว่าทำงานกับเราอย่างไร
“การที่เราจะเข้าใจสิ่งต่างๆ มากขึ้น หัวใจของมันคือการเอานำศาสตร์ต่างๆ มาอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเรา กับสังคมที่เราอยู่ เราเข้าใจมัน แล้วเราสามารถที่จะ crack มันได้ ไม่ใช่ว่าเป็นความรู้ดิ่งเดี่ยวเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่เป็นการมองให้เห็นความเชื่อมโยงของสิ่งต่างๆ รวมถึงความรู้ต่างๆ ด้วย และนั่นคือการที่จะทำให้เรามีองค์ความรู้ มีความเข้าใจมากพอที่จะไปตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้น มีแว่นตาในการมองปรากฏการณ์ต่างๆ ว่าสิ่งนี้มันควรจะเป็นไปอย่างไร ความเป็นธรรม ความไม่เท่าเทียม ความไม่เป็นประชาธิปไตย มันเกิดจากอะไร แล้วมันควรจะไปยังไง”
ภาคที่ 2 ‘ส่องนอกกะลา’ กับเนื้อหาที่พาไปต่อหลังจากสำรวจสิ่งที่ครอบเราอยู่ก็ได้พาแง้มกะลา ส่องออกไปดูข้างนอก ไล่สายตาไปตามเส้นขอบฟ้าที่ห่างไกล ครูทิวบอกว่าเป็นบทที่พาเราเดินทาง
“ออกไปเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ เพื่อให้เห็นว่าโลกใบนี้มีแนวคิดอะไรอยู่อีกบ้าง แนวคิดที่เราไม่ได้ใช้ เราไม่ได้ทำ หรือไม่ได้อยู่ในกระแสหลักของการสอนสังคมศึกษาในห้องเรียนไทย”
ครูทิว: บทความแรกในภาคที่ 2 ของอาจารย์ออมสินพูดถึงเรื่อง postcolonial จริงๆ ในต่างประเทศเขามีแนวคิดเรื่องนี้ในการจัดการศึกษากันมาพอสมควรแล้ว ทั่วโลกตอนนี้หลายที่กำลังตั้งคำถามถึง ‘มรดกของอาณานิคมโดยคนผิวขาว’ คือการที่มี white supremacy ในช่วงศตวรรษที่ 19 ศตวรรษที่ 20 มา ถึงแม้ว่าหลายพื้นที่มีอิสระในการปกครองของตนเองแล้วแต่ร่องรอยมรดกทางการศึกษาหรือชุดคุณค่าบางอย่างยังฝังอยู่ และมันไม่ใช่แค่เรื่องของคนผิวขาว แต่หมายถึงคนที่มีอำนาจเหนือกว่าที่ฝากร่องรอย ฝากวิธีคิดอะไรบางอย่างไว้ แล้วไปกดทับคนที่มีอำนาจด้อยกว่า อาจารย์ออมสินชวนตั้งคำถาม พาไปดูว่ามันทำงานกับสังคมยังไง ในบทเรียนวิชาสังคมศึกษาผลิตซ้ำตรงนี้ยังไงบ้าง โดยในบริบทประเทศไทยก็หยิบคอนเซ็ปต์ที่นักประวัติศาสตร์หลายคนพูดถึงอย่างการเป็นอาณานิคมภายในที่เราจะเห็นว่าสังคมมีความหลากหลาย แต่มันถูกหลอมรวมเป็นแผ่นดินเดียวกันที่มีการปกครองหรือชุดคุณค่าจากกรุงเทพฯ ไปกดทับพื้นที่อื่นๆ กดทับอัตลักษณ์ตัวตนของผู้คนในภูมิภาคต่างๆ แล้วทำยังไงที่จะทำให้เสียงของผู้คนเหล่านั้นกลับคืนมา
ถัดมาก็เป็นบทความเรื่องการสืบสอบเชิงปรัชญาโดยคุณภี อาภรณ์เอี่ยม ซึ่งก็เป็นวิธีคิดสากลที่ในหลายประเทศใช้จัดการศึกษา ไม่ใช่แค่เพียงในวิชาสังคมศึกษา กล่าวคือทำอย่างไรที่จะให้เกิดการตั้งคำถามเชิงปรัชญา แล้วก็เกิดการสืบสอบ เกิดการถกเถียง พูดคุยเพื่อให้ไปถึงแก่นถึงชุดคุณค่าในประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นทางสังคม คุณภีเองก็แบ่งออกมาเป็นแต่ละสาระเพื่อให้เห็นความเป็นไปได้ในการตั้งคำถาม พาขบคิดว่าเราจะชวนตั้งคำถามเชิงปรัชญาอย่างไรได้บ้าง
สอดคล้องกับบทต่อมาเรื่อง narrative หรือ ‘ที่ใดเรื่องเล่าที่นั่นมีสังคมศึกษา’ ของคุณอรรถพลที่พูดถึงการเรียนสังคมศึกษาที่ถูกกำหนดจากใครก็ไม่รู้แหละว่า ควรจะเรียนเรื่องนี้ ควรจะเรียนสิ่งนี้ แล้วหลายครั้งมันอาจจะไม่ได้สอดคล้องหรือชีวิตของเด็ก รวมไปถึงทำให้เด็กไม่สามารถเข้าใจสภาพที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเขาจริงๆ ได้ แต่เมื่อใดที่เราสามารถที่จะดึงเรื่องเล่า ดึงภาษา ดึงสิ่งที่อยู่ในเนื้อในตัวของเขาออกมา แล้วก็ทำให้เกิดการเรียนรู้จากตัวเขา ตรงนั้นมันอาจทำให้เขากลับเข้าไปในภายในตัวเอง มองเห็นตัวตนของตัวเองมากขึ้น
‘พลเมืองแบบใดห์’ ที่เธอต้องการ
“สังคมศึกษาเป็นเครื่องมือของรัฐในการสร้างพลเมือง แต่คำถามคือ ‘พลเมืองแบบใดห์’ ที่รัฐต้องการ แล้วมันเพียงพอหรือไม่กับโลกในยุคปัจจุบัน”
ครูทิวมองว่าสังคมศึกษารวมถึงการศึกษาทั้งหมดในภาพรวมนั้นล้วนเป็นไปเพื่อเป้าหมายในการสร้างพลเมือง หากแต่ปัญหาและคำถามสำคัญของสังคมไทยคือพลเมืองที่พยายามสร้างผ่านระบบการศึกษานั้นเป็นพลเมืองแบบไหน ตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงที่สลับซับซ้อนหรือไม่ หรือยังคงวนเวียนอยู่พื้นที่เล็กแคบที่ตีกรอบเราเอาไว้อยู่ “เราต้องการพลเมืองที่เชื่องและเชื่อฟังเหรอ แน่นอนเราต้องการคนที่รับผิดชอบต่อตนเอง รับผิดชอบต่อสังคม แต่มันแค่นั้นหรือเปล่า เราต้องการแค่คนทำตามกฎหมายหรือเปล่า เราต้องการแค่คนทำตามจารีตประเพณีหรือเปล่า หรือต้องการคนที่เข้าไปแอ็กชันทำอะไรบางอย่างกับสังคม หรือต้องการคนที่เข้าไปสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับเล็กๆ ระดับตัวเอง จนไปถึงระดับสังคม”
“สำหรับผมวิชาสังคมศึกษามันคือการสร้างพลเมืองที่จะออกไปสร้างสังคมใหม่ ไปเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น รวมถึงการทำให้เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในโลก ในสังคมมนุษย์ และกล้าจินตนาการถึงสังคมใหม่ๆ”
ภาคสุดท้ายของหนังสือสังคมศึกษาทะลุกะลาอย่างภาค ‘ทะลุกะลา’ ดูเหมือนจะเล่าประเด็นนี้อย่างเข้มข้นเช่นกัน เป็นพาร์ตที่พาทุบกะลากระโดดออกไปแตะขอบฟ้าของความเป็นไปได้ที่ไม่เพียงแค่ชวนมองเห็นความเป็นไปได้แบบต่างๆ หากแต่เป็นการบอกอย่างแม่นมั่นว่าการสอนสังคมศึกษาที่ทำให้เราเป็นพลเมืองซึ่งจินตนาการถึงชีวิตและสังคมที่ดีขึ้นนั้นเป็นเรื่องที่ ‘เป็นไปได้’ และมากไปกว่าการจินตนาการถึงได้คือการเชื่อมั่นว่ามันเกิดขึ้นได้จริงด้วย ครูทิวไล่เรียงแต่ละบทในภาคนี้ให้เราฟังอย่างสังเขปซึ่งทำให้เห็นประเด็นสำคัญที่น่าสนใจ
ครูทิว: ภาคที่ 3 เปิดมาบทแรกเป็นผม ต่อด้วยครูธนัญญา ครูปาริชาต แล้วก็ครูภาคิน 4 บทความในภาคนี้จะมีทั้งแนวคิดและเรื่องเล่าหรือบทสนทนาจากห้องเรียนของแต่ละคนว่ามีการออกแบบห้องเรียนยังไง ตั้งคำถามแบบไหน อย่างบทสังคมศึกษาเพื่อความเป็นธรรมในสังคม ผมก็จะพูดกว้างๆ เลยว่า ความหมายของความเป็นธรรมทางสังคมมันไม่ได้ถูกพูดถึงในหนังสือแบบเรียนหรือแม้แต่ในหลักสูตรของไทย ขณะที่คอนเซ็ปต์เรื่อง social justice อยู่ในหลักสูตรของหลายประเทศ มันถูกพูดถึงในสังคมที่มีความหลากหลาย ดังนั้นในการเรียนการสอนที่เป็นอยู่ที่เราสอนตามหลักสูตรนี้ เราจะสอดแทรกเรื่อง social justice เข้าไปได้อย่างไร เพื่อทำให้ผู้เรียนได้มองเห็นสังคมที่มันไม่เป็นธรรม แล้วทำให้เขาจินตนาการเห็นสังคมที่มันดีกว่าได้
คล้ายคลึงกับบทต่อมา แต่บทต่อมาจะพูดถึงเรื่องการสอนศาสนาเป็นหลัก ซึ่งจริงๆ มันเป็นยาขมมากสำหรับเด็ก หรือแม้แต่สำหรับครูเอง ครูสังคมนี่ขยาด เพราะเขาทรีตเหมือนครูเป็นพระหรือเป็นมัคนายก ครูธนัญญาก็จะพาไปสำรวจว่า แล้วเราจะทำอย่างไรล่ะที่จะสอนให้เด็กเข้าใจเรื่องศาสนาที่เป็นชุดคุณค่าความเชื่อของคนในสังคมและยังเป็นตัวกำหนดด้วยซ้ำว่าสังคมนี้จะไปทิศทางไหน หรืออยู่บนชุดคุณค่าแบบไหน
ไฮไลต์ที่พาทุกคนชวนคิดชวนฝันไปอีกขั้นหนึ่ง คือ บทความของครูปาริชาตที่พูดถึง ‘สังคมศึกษาศึกษาเพื่อจินตนาการใหม่’ หมายความว่าเราเรียนสังคมศึกษาไปเพื่อความเข้าใจสังคมโลก ทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคมหรือชีวิตเรา ชวนคิดว่าเราจะอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุขยังไง แต่สิ่งสำคัญคือการทำให้เด็กมีความสามารถในการจินตนาการถึงสังคมใหม่หรือสังคมที่มันดีกว่าเดิมได้เป็นโจทย์ที่ยาก บทนี้ชวนตั้งคำถามว่าทำไมกัน หลายครั้งแม้ว่าเราพยายามจะสอนในเชิงวิพากษ์ จนเขาเริ่มมองเห็นปัญหาแล้ว เข้าใจปัญหาแล้ว แต่เขาก็ยังรู้สึกว่า ‘เอ๊ะ’ ปัญหามันยังไม่หายไปได้สักที นั่นก็เพราะว่าเขามองไม่เห็นความเป็นไปได้ เขารู้สึกไร้อำนาจ เราจะทำอย่างไรให้เขาเห็นมัน
สุดท้ายก็คือบทของครูภาคินที่พูดถึงประวัติศาสตร์ ซึ่งหลายคนก็พูดถึงประวัติศาสตร์กันเยอะมาก แต่บทนี้ชวนมองประวัติศาสตร์ต่างออกไป คือการมองประวัติศาสตร์ที่พาเราไปสู่อนาคต โดยชวนตั้งคำถามย้อนกลับไปว่าสุดท้ายแล้วเราเรียนประวัติศาสตร์ไปเพื่ออะไร ความทรงจำต่างๆ มันมีความหมายยังไง แล้วมันเป็นความทรงจำของใคร เป็นภาษาของใคร จะนำพวกเราไปสู่อนาคตไปสู่สังคมแบบไหน
ครูทิวยังเล่าอีกว่านักเขียนทั้ง 4 คนในภาคที่ 3 ล้วนเป็นครูที่ยังสอนอยู่ในโรงเรียนมัธยมทั้งสิ้น การที่ชื่อพาร์ตนี้คือ ‘ทะลุกะลา’ ในทางหนึ่งก็เพื่อให้เห็นว่า ผู้เขียนทั้งหมดที่เป็นครูที่ทำงานอยู่ในโรงเรียนและกำลังทำงานสอนที่มุ่งพานักเรียนตั้งคำถามและเปิดมุมมองใหม่ๆ นี้มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงจากในห้องเรียนของตน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ‘ครู’ เป็นพลังสำคัญหนึ่งในการพานักเรียนทะลุออกนอกกะลาไปมันเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่เป็นไปได้จริงๆ ผ่านห้องเรียนของพวกเขา
ครูในฐานะ ‘ผู้ทำงานทางการเมือง’
“ถ้าเสาหลักของการศึกษาคือ ‘คณะครุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์’ ทั่วประเทศที่ผลิตครู ให้ความรู้ในการพัฒนาครู รวมถึงสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการศึกษาในสังคมไทยนี้ ผมว่าสิ่งที่ยังขาดคือมุมมองเชิงวิพากษ์ มันขาดศาสตร์ที่เราเรียกว่า critical pedagogy ถ้ามองเป็นแนวการเมืองก็อาจจะเรียกว่า neo-Marxist ในฟากรัฐศาสตร์หรือเศรษฐศาสตร์เราจะเห็นว่าเขามีปีกแบบ liberal หรือเป็น conservative ก็มี หรือเป็น Marxist, neo-Marxist ก็จะเห็นปีกชัดเจน คือเราจะเห็นโลกทั้งขวาทั้งซ้ายและอื่นๆ แต่ทั้งที่ศึกษาศาสตร์ก็เป็นศาสตร์ แล้วก็มีปรัชญาการศึกษาที่มีเฉดอันหลากหลายของมันเหมือนกัน กลับน้อยมากที่จะพูดถึงแง่มุมในเชิงวิพากษ์ การตั้งคำถามให้เห็นเรื่องอำนาจ หรือบทบาทของครูในฐานะผู้ทำงานทางการเมือง ผู้ทำงานทางวัฒนธรรม”
เมื่อพูดถึงประเด็นว่าด้วย ‘ครู’ ในฐานะคนทำงานด้านการศึกษาที่จะพาทะลุออกไปยังโลกแบบต่างๆ ผ่านห้องเรียน ครูทิวชี้ชวนให้เห็นถึงปัญหาของระบบผลิตครูในระดับอุดมศึกษาที่มุ่งเน้นไปเฉพาะเรื่องเชิงเทคนิค เช่น สอนอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ teach what, how to teach แต่ขาดหายในการนำเสนอเฉดที่แตกต่างทางความคิด คอนเสปต์ต่างๆ ในโลก ไปจนถึงการสร้างระบบที่รัดรึงครูเอาไว้กับการสอนเพื่อผลสัมฤทธิ์เท่านั้น ทำให้มองไม่เห็นว่าความแตกต่างหลากหลายของผู้เรียนไปจนถึงสังคมว่าสำคัญต่อการเคลื่อนไปของสังคมอย่างไร
“เราควรจะทำให้คนเป็นครูมองเห็นว่า จริงๆ แล้วเด็กที่นั่งเรียนอยู่ในห้อง 20-30 คนมีความแตกต่างหลากหลาย มันคือการเข้าไปเห็นว่ามีความไม่เท่ากันอยู่ มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมอยู่ การสอนแบบนี้มีเด็กบางคนได้เปรียบ มีบางคนเสียบเปรียบ มันมีชุดคุณค่าบางอย่างที่ผลิตซ้ำแล้วทำให้คนบางคนรักษาอำนาจ รักษาผลประโยชน์ได้อยู่ ขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งรู้สึกว่าเสียอำนาจ ระบบแบบนี้มันกำลังไปทำให้เด็กกลายเป็นพลเมืองที่ก้มหน้าก้มตาไปรับใช้คุณค่าบางอย่างที่หลอกว่าพวกเขาจะมีโอกาส มีชีวิตที่ดีขึ้นได้ แต่สุดท้ายเขาก็ยังทำงานเป็นหนูถีบจักรเพื่อคนอื่น แต่ตัวเองไม่มีวิธีมีชีวิตดีขึ้นได้”
ครูทิวยังเล่าถึงวิธีการที่ครูจะลุกขึ้นมาทำงานทางการเมืองในเงื่อนไขของระบบนี้ว่า การจะชวนนักเรียนตั้งคำถามและต่อรองกับชุดความรู้เดิมในหลักสูตรผ่านห้องเรียนของตัวเองได้นั้นในมุมของครูทิวมีอยู่ 2 ประเด็นหลัก ประเด็นแรกคือก่อนที่ครูจะพานักเรียนไปสำรวจโลกใบนี้ ครูต้องเข้าใจโลกใบนี้ก่อน ครูอาจจะต้องอ่านเยอะขึ้น ฟังเยอะขึ้น เรียนรู้เยอะขึ้น เพื่อเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เข้าหากันได้ ครูทิวอ้างอิงถึงนักการศึกษาเชิงวิพากษ์คนหนึ่งที่พูดถึง “teacher as intellectual work” คือครูในฐานะ “ผู้ทำงานทางภูมิปัญญา” ซึ่งไม่ใช่แค่ทำงานเชิงเทคนิค แต่ครูต้องมีหลักคิด เข้าใจคอนเซ็ปต์หลายๆ อย่างมามากพอสมควร
ประการที่สองครูทิวมองว่าเป็นเรื่องของ “ความกล้าหาญล้วนๆ” ที่จะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายภายใต้ะบบที่หล่อหลอมให้ครูเต็มไปด้วย ‘ความกลัว’ เช่นนี้
“บางครั้งเราถูกกักขังโดยกรงที่เรามองไม่เห็น หรืออาจจะเหมือนคนยุคสมัยหนึ่งที่ไม่กล้าออกเดินทางไปไหนเพราะเชื่อว่าโลกแบน ถ้าเรามีความรู้ มีความเข้าใจบางอย่างมากขึ้น เราก็จะรู้สึกกล้ามากขึ้น หลายครั้งเรากลัวว่าเราไม่รู้ กลัวว่ามันจะผิดไหม มันจะใช่หรือเปล่า ครูเนี่ยกลัวทั้งผิดในการปฎิบัติหน้าที่ ผิดในเชิงวิชาการ ก็คือถ้าเกิดว่าหลุดกรอบจากหนังสือ แสดงว่าไม่ใช่ เคยมีเพื่อนครูที่เห็นแย้งกับประเด็นในหนังสือเรียน ครูผู้ใหญ่สวนมาบอกว่า ‘คุณเป็นใครจะมาเก่งกว่าคนเขียนหนังสือได้ยังไง’ นึกออกไหม ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วมันเป็นสิ่งที่ถกเถียงได้ อีกอย่างคือกลัวความขัดแย้ง หมายถึงว่ากลัวจะทำให้นักเรียนขัดแย้ง กลัวว่าจะมีคนมาขัดแย้งกับครู กลัวว่าใครจะไม่สบายใจจากบทสนทนาหรือจากสิ่งที่สอน ครูมันมีความกลัวเต็มไปหมดเลย ฉะนั้นสิ่งสำคัญก็คือความกล้าหาญ กล้าหาญทางจริยธรรม กล้าหาญทางวิชาการที่จะยืนหยัดกับอะไรบางอย่าง”
นอกจากนี้ครูทิวยังชี้ชวนให้เห็นถึงอุปสรรคในการสอนสังคมศึกษา โดยเฉพาะจากองค์กรและจากภาครัฐโดยมองว่ามันมีความพยายามควบคุมโดยรัฐอยู่อย่างที่เราไม่อาจจะไม่รู้ตัว ทั้งผ่านหนังสือเรียน ผ่านแบบเรียน ผ่านนโยบาย ผ่านระบบการวัดและประเมินผล
“ระบบวัฒนธรรมอำนาจนิยมที่มันเป็นอยู่ ไม่ได้ส่งผลแค่ตัวหลักสูตรหรือแบบเรียน แต่มันส่งผลทำให้ครูรู้สึกว่าตัวเองตัวเล็กตัวน้อยด้วย ทีนี้ก็รู้สึกว่าต้องก้มหน้าก้มตาทำต่อไป ดังนั้นผมว่าอุปสรรคใหญ่คือการที่ครูยังไม่ได้ถูกสร้างให้เป็นผู้กระทำการหรือเชื่อว่าตัวเองสามารถที่จะลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง หรือมีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างได้”
อย่างไรก็ตามแม้ ‘ครู’ จะเป็นกุญแจสำคัญหนึ่งในการพาทะลุกะลาหรือสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ แต่โจทย์สำคัญมากในเรื่องนี้คือการเรียกร้องถึงกลไกและระบบที่จะมาซัปพอร์ตอาชีพครูด้วย
“มันก็ต้องมีกลไกที่จะมาซัปพอร์ตครูได้ ทุกวันนี้ถามว่าจะให้ไปเรียกร้องหรือขูดรีดเอาจากครูว่า ครูจะต้องมีความรู้ จะต้องตระหนักถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้แล้วสามารถที่จะสอนนักเรียนให้ตั้งคำถามได้ เอาแค่ใช้ชีวิตแต่ละวันนี่ก็ยากแล้ว ดังนั้นเราก็ต้องคิดว่าทั้งรัฐเอง ทั้งสถาบันผลิตครูที่หล่อหลอมสร้างครูคนหนึ่งออกมา หรือแม้แต่ตัววัฒนธรรมในการทำงานในโรงเรียนเองจะสนับสนุนหรือซัปพอร์ตครูให้มีพลังอำนาจ ตระหนักถึงพลังอำนาจของตัวเองอย่างไร เพราะว่าสุดท้ายแล้วคนที่ใกล้ชิดนักเรียนที่สุดและจะสร้างการเรียนรู้ได้ดีที่สุดก็คือครู ต่อให้เราไปเปลี่ยนอะไรบางอย่างหรือคนสั่งการจากข้างบน แต่ครูยังต้องทำงานอยู่ในคอนดิชั่นเดิม อยู่ด้วยวิธีคิดแบบเดิม วัฒนธรรมแบบเดิม ห้องเรียนมันก็จะไม่เปลี่ยน ผู้เรียนก็จะไม่เปลี่ยน สังคมก็จะไม่เปลี่ยน”
และเมื่อถามครูทิวว่าหนังสือสังคมศึกษาทะลุกะลาอยากให้ใครได้อ่านมากที่สุด ครูทิวตอบทันทีว่าอยากให้ ‘ทุกคน’ ได้อ่าน แต่ถ้าให้เลือกก็อยากจะให้ ‘ครู’ ได้อ่าน เพราะครูคือคนที่สร้างการเรียนรู้ที่สำคัญ เขาทิ้งท้ายว่า
“อย่างน้อยๆ ถ้าหนังสือเล่มนี้มันจะช่วยได้ ผมก็เชื่อว่ามันจะเติมแรงให้ครูได้เห็นถึงพลังอำนาจของตัวเองที่จะเปลี่ยนแปลงห้องเรียน ทำให้ครูเห็นความเป็นไปได้ว่า เราก็ทำได้ หรือถ้าเราจะทำต้องไปค้นคว้าอะไรเพิ่มเติมบ้าง พวกเราอยากสร้างความมั่นคง ความมั่นใจ แล้วก็ความกล้าหาญให้กับครูมากยิ่งขึ้นจากหนังสือเล่มนี้”
…เธอเห็นท้องฟ้านั่นไหม ท้องฟ้ากว้างใหญ่ที่สามารถมองเห็น ‘ความเป็นไปได้’ ไม่รู้จบ…
Writer
ศิรินญา
หาทำอะไรไปเรื่อยๆ ตามประสาวัยลุ้น
Photographer
ฉัตรมงคล รักราช
ช่างภาพ และนักหัดเขียน
illustrator
สิริกร พรอนงค์
ดีไซน์เนอร์, นักวาด และอาร์ตไดมือใหม่ที่ชอบไปทะเล